Group Blog All Blog
|
คุยกับตัวเองในวัยเด็ก #เด็กคอนแวนต์
#คุยกับตัวเองในวัยเด็ก #เด็กคอนแวนต์
วิธีการหนึ่งที่จะก้าวออกมาจากอดีตแล้วก้าวต่อไปอย่างมั่นใจ เพื่อให้ชีวิตดียิ่งขึ้นในทุกย่างก้าว คือ เลือกที่จะค้นหาตัวตนในวัยเด็ก ด้วยการการคิดออกมาดัง ๆ (Thinking Out Loud) จัดระเบียบความคิดและระบายสิ่งที่อยู่ในหัว ใช้การขีด ๆ เขียน ๆ ให้เห็นภาพความทรงจำชัดเจนขึ้น สิ่งที่เคยมองตัวเองว่าเป็นเช่นไร นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับที่มองหรือวาดภาพฝันในอนาคต แล้วก้าวเดินตามรอยฝันไปให้สุดจุดหมาย ชีวิตเด็กหญิงหนึ่งคนอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กอีกเป็นร้อยพันหมื่นแสน แล้วแต่กระแสคลื่นความคิดจะพัดพาโชยไปหายังผู้ใด แล้วทำให้เขาได้ก้าวต่อด้วยความสุข ไม่โดนคลื่นแห่งความชั่วร้ายพลัดตกลงในทะเล ประสบการณ์ของหนึ่งคน เป็นบทเรียนให้คนอื่นได้ โดยไม่ต้องถลำตกลงไปด้วยตนเอง บทเรียนที่ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนและจำต้องผ่านด้วยตนเอเท่านั้น พลาสติคต้นตอโลกร้อน
#พลาสติคต้นตอโลกร้อน
#พรรณีเกษกมล มหัศจรรย์วันนั้นกลายเป็นปัญหาใหญ่ในวันนี้ ใครจะไปรู้ว่า สิ่งมหัศจรรย์ที่ทำให้คนกระดี๊กระด๊ากันทั่วทั้งโลกในวันนั้น ก่อเกิดปัญหาใหญ่โตในวันนี้ แล้วมันใช่ต้นตอแห่งปัญหาโลกร้อนจริง ๆ หรือไม่ เพราะวัสดุที่ใช้ทุกเรื่อง ทุกที่คือพลาสติคนี่แหละ ตอนเป็นเด็ก ไปตลาดซื้ออาหาร เขาจะใช้ใบตองห่อ ไม่ว่าจะเป็นทอดมัน กุ้งสด ก๋วยเตี๋ยวได้เฉพาะแห้ง ถ้าเป็นน้ำต้องใช้อวย ปัญหาตอนที่จะไปซื้อก๋วยเตี๋ยวน้ำมากินที่บ้าน ทำไมไม่กินที่ร้าน จะได้ประหยัดไง แทนที่จะเสีย 50 สตางค์หรือสองสลึง ก็บอกปุ๋ยคนละสลึง เอามากินกับข้าว อิ่มจังตังค์อยู่ครบไง รู้จักประหยัดเงินแต่ยังเด็ก กินกันได้สองพี่น้องกับปุ๋ย ต้องหิ้วอวยไปใส่ รุ่นนี้คงไม่คุ้นกับคำว่า “อวย” อวยเป็นหม้อหูหิ้ว หม้ออวย ถ้าโดนกระแทก อาจเห็นเนื้อใน เป็นสนิมได้ เพราะเคลือบสีด้านนอก แต่ก่อนใช้ใส่อาหาร หิ้วไปไหนมาไหนได้ง่าย สะดวกกว่าหม้อหุงต้มที่มีสองหู ใส่อะไรก็ได้ทั้งนั้น เช่น ใส่น้ำมันหมูที่เจียวแล้ว สมัยใหม่โฆษณาเป็นหม้ออเนกประสงค์ที่ผลิตจากอลูมิเนียมอย่างดี น้ำหนักเบา ไม่เป็นสนิม มีหูหิ้ว หนา แข็งแรง จับถนัดมือ สะดวกในการเคลื่อน ย้ายอาหาร พอวิทยาการสมัยใหม่เจริญ จำว่า ตอนไปดูงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี เขาวิจัยพลาสติคกันอย่างจริงจัง แรกเริ่มมีแต่ถุงพลาสติคเย็น ใส่ได้แต่ของเย็น เมื่อวิจัยดีขึ้น ใส่ของร้อนได้ เลยเรียกถุงร้อน ถ้ามีถุงร้อนแต่เด็กคงไม่ต้องหิ้วอวยไปใส่ก๋วยเตี๋ยวน้ำแล้วล่ะ ต่อจากนั้นพลาสติคพัฒนาไปได้เร็วมาก มีถุงก๊อบแก๊บหิ้วของแทนถุงกระดาษ ถ้วยชามจานเป็นพลาสติค แม้แต่เก้าอี้ โต๊ะ เฟอร์นิเจอร์ พลาสติคเป็นนวตกรรม สิ่งมหัศจรรย์ของทั้งโลก ผ่านไปแค่ช่วงรุ่นเดียว เจนบีเริ่มแก่เฒ่า คนรุ่นใหม่บอก นี่คือการสร้างปัญหามลพิษให้แก่โลก เปลี่ยนไปสู่สภาวะโลกร้อน ปัญหาอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ปัญหาขยะพลาสติคล้นเมือง ปัญหาที่รุ่น gen B สร้างทิ้งให้ลูกหลาน ปัญหาโลกร้อน จากเดิมไทยมี 3 ฤดู ร้อน ฝน หนาว ตอนนี้มีแต่ร้อน ร้อนมาก กับร้อนที่สุด แต่ก่อน ใคร ๆ รู้ดีว่า เมษานี่มันร้อนจริง ๆ แต่ถ้ารู้ว่าผ่านไปอีกหกสิบกว่าปี ไอ้ที่บ่นกันว่าร้อน ๆ นัก เทียบกันไม่ได้เลย จากยี่สิบกว่าองศา พรวดพราดกลายเป็นสี่สิบกว่าองศา ด้วยสาเหตุที่โทษกันไปโทษกันมาระหว่างผู้คนที่เห็นแก่ตัวกับธรรมชาติที่โหดร้าย ใครผิดใครถูกไม่รู้ล่ะ คนรับกรรมคือชาวบ้านตาดำ ๆ ที่ไม่มีเงินซื้อเครื่องปรับอากาศและจ่ายค่าไฟ ทว่าจะโชคดีเมื่อสิ้นเดือนและลมร้อนคลายลง ส่วนคนที่ทนร้อนไม่ไหว ลงทุนจ่ายเงินซื้อเครื่องปรับอากาศ มีคำเตือนว่า ที่บ่นว่าร้อนกันนัก พอเห็นบิลค่าไฟจะหนาวกันขึ้นมาทันที คงแจ้งแก่ใจใครต่อใครหลายคน ที่ดับร้อนด้วยการเปิดแอร์ทั้งวันทั้งคืน เมื่อก่อนหน้าร้อน เรารู้สึกว่าร้อน เอาน้ำเย็นลูบกาย พอคลายร้อนกันได้บ้าง ชาวไร่ชาวนายังทำงานกลางแจ้งได้ แต่ตอนนี้สิ มันร้อนแบบแสบผิวหนังทีเดียวเทียว ขนาดคนอยู่บ้านสองชั้น ต้องแอบมานอนชั้นล่างกัน เพราะชั้นสองร้อนจนสุดจะทน อันที่จริง เราก็ทน ๆ กันมาได้ ยิ่งเป็นคนจน ความอดทนเป็นของคู่กายเสมอมา เพราะร้อนจัดมากเมื่อไร เมื่อนั้นฝนตกลงมาห่าใหญ่ทุกที แล้วความเย็นจะผ่านเข้ามาแทนที่ ทำให้ไม่ต้องทนร้อนชั่วนาตาปี หรือร้อนจนทนกันไม่ไหว ต้องโอดโอยว่า “ร้อนจนตับแตกแล้ว” เขาถึงว่า พอร้อนมาก ๆ ฝนจะกระหน่ำเทลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา เรียกกันว่าพายุฤดูร้อน ช่วงสงกรานต์จึงมีการเล่นสาดน้ำกันให้เปียกชุ่ม แถมน้ำที่สาดต้องแช่น้ำแข็งให้เย็นชื่นอุรา ภาพของสงกรานต์เปลี่ยนจากน้ำอบหอมกรุ่นค่อย ๆ ประพรมลงบนฝ่ามือผู้สูงอายุ เพื่อขอรับพรในวันขึ้นปีใหม่ กลายเป็นวัยรุ่นนั่งท้ายปิ๊กอัพสาดน้ำราดกลุ่มอื่นอย่างเมามัน เมืองชลจะมีงานสงกรานต์ที่หน้าศาล แต่ละอำเภอจะมาสร้างซุ้มหรือสถานที่สวยงามมาก ๆ และมักโดนถล่มด้วยพายุฤดูร้อนนี่แหละ ผู้สร้างจึงต้องทำอย่างแข็งแรง ทนแดดทนฝน บางปีเละตุ๊มเป๊ะ เพราะนายอำเภอมาจากต่างที่ ไม่รู้ฤทธิ์เดชของพายุที่โคตรรุนแรง ทำให้งานพังไม่เป็นท่า ธรรมดาชาวบ้านร้อนจนตับแตก มีคนอธิบายว่า ตับในที่นี้หมายถึงจากที่มุงหลังคามัดกันเป็นตับ ๆ พอร้อนจัด จากที่มัดไว้จะแตกออกจากกัน ไม่ใช่ตับของคนในร่างกายแตกหรอกนะ บางทีบอกร้อนจนตับแลบ ความหมายเช่นเดียวกัน ตับในที่นี้คือใบจากที่มัดกันเป็นตับ ๆ นั่นเอง ส่วนจากคือใบจากต้นจากที่ขึ้นริมชายทะเล มีแต่คนเท่านั้นที่ทำให้เกิดปัญหา ไม่มีสัตว์อื่นใดทำได้เลย เมื่อเรียนผูก ต้องเรียนแก้ รุ่นปู่สร้างปัญหา รุ่นหลานตามแก้นะ วิถีแห่งการเรียนรู้
วิถีแห่งการเรียนรู้
#พรรณีเกษกมล แต่ละยุค คิดเห็นและรับรู้ต่างกัน อะไร ๆ มันก็เปลี่ยนไปได้ทั้งนั้น อย่าไปยึดมั่นถือมั่นให้คงเดิมเลย ต้องเรียนให้เก่งเป็นเจ้าคนนายคน สมัยก่อน การได้เป็นข้าราชการนับเป็นเป้าหมายหนึ่ง ได้เป็นเจ้าคนนายคน มีอำนาจบาตรใหญ่ในกำมือ บ้างสามารถสร้างฐานอำนาจ มีเครือข่ายจนกินสินบาทคาดสินบน ร่ำรวยเป็นเศรษฐีได้ในช่วงชีวิตเดียว การเข้ารับราชการได้ต้องสอบแข่งขันกับคนจำนวนมาก และได้ในลำดับต้น ๆ จึงจะได้เลือกงานดี ๆ ทำ คนเรียนเก่ง ต้องได้คะแนนสูง ๆ จากการเรียนในห้องเรียนเท่านั้น การฟังคำสอนของครูอย่างตั้งใจ ดูหนังสือ อ่านท่องจำให้ได้มากที่สุด เพื่อจะทำข้อสอบได้ ไม่มีหรอกที่จะให้คิดวิเคราะห์ ถามนอกกรอบ คะแนนเกิดจากเอาคะแนนทุกวิชามารวมกัน คิดเป็นร้อยละ ไม่ใช่แค่ให้ผ่านในแต่ละรายวิชา แล้วให้เกรดในทุกวันนี้ วิชาเด่นต้องเป็นภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จึงจะเอาตัวรอดได้ในอนาคต เคยมีคนวาดรูปว่า คนที่ตะกายบนบ่าคนอื่น เพื่อขึ้นไปยืนสูงสุด บนบ่าของคนมากมายได้นั้น จึงจะได้เจ้าคนนายคน การเรียนภาษาอังกฤษสมัยที่ยังเป็นเด็ก บ้านเราเน้น Grammar การฟัง การอ่าน มากกว่า การสื่อสารกับเจ้าของภาษาให้ได้ ตอนเด็กเรียนภาษาอังกฤษ รุ่นเราคงจำได้ต้องเริ่มจากท่องพยัญชนะ 21 ตัว แล้วสระ A- E- I- O- U อีก 5 ตัว ซึ่งจะเอามาใช้ตอนเล่นปิดตาด้วย กับต้องท่อง C - A - T แคท แมว R - A - T แรท หนู H - A - T แฮท หมวก อะไรทำนองนี้กันทุกคน ตอนเด็กเรียนคอนแวนต์ เน้นภาษาอังกฤษ อยู่ ป. 6 เก่งมากแล้ว แต่ไม่เคยท่องไวยากรณ์ พอโตขึ้นมาหน่อย เรียนมัธยมปลาย โรงเรียนรัฐ ไวยากรณ์ต้องแม่นเป๊ะ ถึงแม้เขาจะเริ่มเรียนตอนมัธยมต้นก็ตาม ต้องท่องหลักมากมาย ในขณะที่เราทำได้ด้วยความเคยชิน รู้ว่าต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้น ไม่มีหลักต้องท่อง ต่อมา พอได้มาเป็นครู รู้ว่านักเรียนไม่ต้องแม่นเป๊ะในไวยากรณ์ ขอแค่พูดสื่อสารกับฝรั่งแถวตรอกข้าวสารเป็นใช้ได้ ฟุตฟิตฟอไฟไปตามเรื่องก็ผ่านแล้ว ไม่รู้ว่าแบบใดดีกว่า ถ้าเก่งได้ทุกแบบคงได้เป็นอัจฉริยะด้านภาษาไปแล้ว พูดถึงเรื่องเก่งภาษา คนรุ่นใหม่บอก เป็นผู้นำต้องฟุตฟิตฟอไฟ สำเนียงเป๊ะเว่อร์เหมือนฝรั่ง จึงจะสุดยอด เมื่อฝรั่งมาสัมภาษณ์ต้องเจรจาได้ทันท่วงที ชาวบ้านบอกเก่งจัง แต่มีบางคนต้องแอบเจาะแล้วโพนทะนาบอก ที่พูดน่ะไม่ถูกต้อง พร้อมอธิบายให้ชาวบ้านฟังเป็นฉาก ๆ ขนาดคนที่เรียนที่เมืองนอกตั้งแต่เป็นเด็ก ยังโดนข้อหาว่า ไม่ถูกเลย อีกคนเรียนที่โรงเรียนแม่ชีฝรั่ง แล้วจบโทที่อเมริกา ยังโดนค่อนแคะอีกว่า ตอบไม่ตรงประเด็น ฟังฝรั่งพูดไม่รู้เรื่อง จึงตอบมั่วไปหมด คนค่อนแคะนี่ ไม่รู้เก่งเป๊ะเว่อร์ ถูกต้องตามแบบฝรั่งขนาดไหน อยากรู้จัง ที่รู้ ฝรั่ง ไม่ว่ายุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่ละถิ่นที่ออกเสียง สำเนียง แม้แต่การสะกดคำอาจแตกต่างกันได้ ผู้ค่อนขอดนี่ชอบด้อยค่าคนอื่น มัวแต่ใส่ใจและค่อนขอดคนอื่น เลยไม่ได้เป็นนายกสักที เป็นได้แค่คนที่ชอบด้อยค่าคนใหญ่คนโต ห้อยโหนกระแส เผื่อมีคนชมว่าตัวเองเก่งบ้าง สมัยก่อนจีไอเข้าประเทศ พวกทหารอเมริกันน่ะ นี่เป็นเรื่องเล่าระดับมหาวิทยาลัยวิชาภาษาอังกฤษ เมื่อเด็กไทยไม่เก่งไม่แม่น โดนครูดุ เด็กสวนทันควัน พ่อผมไม่ใช่ จีไอ ได้ฮาครืนทั้งห้อง แม้แต่คณิตศาสตร์ เราจะบวกลบเลขจากหลักหน่วยมายังหลักสิบ หลักร้อย ก็รู้และทำมาตลอดชีวิต พอไปดูแลโครงการคุมองในโรงเรียนสตรีวิทยา เขาบังคับให้ครูทำแบบฝึกจะได้แม่นในหลักการของเขา น่าแปลกไม่ต้องมีครูสอน แต่สมองจะสั่งการให้บวกจากหลักร้อย หลักสิบ หลักหน่วย ไปได้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อไปถามเจ้าของที่นำคุมองเข้ามาในไทย เขาบอกว่าเราได้ทำแบบฝึกจริงจัง ต่างจากครูอีกคนที่ไม่ได้ทำจึงไม่รับรู้หลักการของเขา แม้แต่การทดสอบเพื่อเลื่อนระดับ ถ้าใช้นิ้วนับจะต้องเริ่มจากขั้นแรกสุด ในขณะที่เราใช้นิ้วนับเลขในใจตอนเด็ก ถ้าไม่พอยังแอบนับนิ้วเท้าผสมไปด้วย คนเรียนเก่งแต่ละยุค อาจมีวิถีการเรียนรู้ให้เก่งแตกต่างกันไป ตามความต้องการของสังคมในขณะนั้น มีหลายสิ่งมากอย่างที่ต่างกัน อย่าไปยึดมั่นให้จีรัง ว่าทุกสิ่งต้องถูกต้อง ตามที่เคยเรียนรู้มาเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน
ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน
#พรรณีเกษกมล แต่ละยุค คิดเห็นและรับรู้ต่างกัน อะไร ๆ มันก็เปลี่ยนไปได้ทั้งนั้น อย่าไปยึดมั่นถือมั่นให้คงเดิมเลย การเรียนภาษาอังกฤษสมัยที่ยังเป็นเด็ก บ้านเราเน้น Grammar การฟัง การอ่าน มากกว่า การสื่อสารกับเจ้าของภาษาให้ได้ ตอนเด็กเรียนภาษาอังกฤษ รุ่นเราคงจำได้ต้องเริ่มจากท่องพยัญชนะ 21 ตัว แล้วสระ A- E- I- O- U อีก 5 ตัว ซึ่งจะเอามาใช้ตอนเล่นปิดตาด้วย กับต้องท่อง C - A - T แคท แมว R - A - T แรท หนู H - A - T แฮท หมวก อะไรทำนองนี้กันทุกคน ตอนเด็กเรียนคอนแวนต์ เน้นภาษาอังกฤษ อยู่ ป. 6 เก่งมากแล้ว แต่ไม่เคยท่องไวยากรณ์ พอโตขึ้นมาหน่อย เรียนมัธยมปลาย โรงเรียนรัฐ ไวยากรณ์ต้องแม่นเป๊ะ ถึงแม้เขาจะเริ่มเรียนตอนมัธยมต้นก็ตาม ต้องท่องหลักมากมาย ในขณะที่เราทำได้ด้วยความเคยชิน รู้ว่าต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้น ไม่มีหลักต้องท่อง พอเป็นครู นักเรียนไม่ต้องแม่นเป๊ะในไวยากรณ์ ขอแค่พูดสื่อสารกับฝรั่งแถวตรอกข้าวสารเป็นใช้ได้ ฟุตฟิตฟอไฟไปตามเรื่องก็ผ่านแล้ว ไม่รู้ว่าแบบใดดีกว่า ถ้าเก่งได้ทุกแบบคงได้เป็นอัจฉริยะด้านภาษาไปแล้ว พูดถึงเรื่องเก่งภาษา คนรุ่นใหม่บอก เป็นผู้นำต้องฟุตฟิตฟอไฟ สำเนียงเป๊ะเว่อร์เหมือนฝรั่ง จึงจะสุดยอด เมื่อฝรั่งมาสัมภาษณ์ต้องเจรจาได้ทันท่วงที ชาวบ้านบอกเก่งจัง แต่มีบางคนต้องแอบเจาะแล้วโพนทะนาบอก ที่พูดน่ะไม่ถูกต้อง พร้อมอธิบายให้ชาวบ้านฟังเป็นฉาก ๆ ขนาดเรียนที่เมืองนอกตั้งแต่เป็นเด็ก ยังโดนข้อหาว่า ไม่ถูกเลย อีกคนเรียนที่โรงเรียนแม่ชีฝรั่ง แล้วจบโทที่อเมริกา ยังโดนค่อนแคะอีกว่า ตอบไม่ตรงประเด็น คนค่อนแคะนี่ ไม่รู้เก่งเป๊ะเว่อร์ ถูกต้องตามแบบฝรั่งขนาดไหน อยากรู้จัง ที่รู้ฝรั่ง ไม่ว่ายุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่ละถิ่นที่ออกเสียง สำเนียง แม้แต่การสะกดคำอาจแตกต่างกันได้ ผู้ค่อนขอดนี่ชอบด้อยค่าคนอื่น มัวแต่ใส่ใจและค่อนขอดคนอื่น เลยไม่ได้นายกสักที เป็นได้แค่คนด้อยค่า สมัยก่อนจีไอเข้าประเทศ พวกทหารอเมริกันน่ะ ระดับมหาวิทยาลัยวิชาภาษาอังกฤษ เมื่อเด็กไทยไม่เก่งไม่แม่น โดนครูดุ เด็กสวนทันควัน พ่อผมไม่ใช่ จีไอ ได้ฮาครืนทั้งห้อง แม้แต่คณิตศาสตร์ เราจะบวกลบเลขจากหลักหน่วยมายังหลักสิบ หลักร้อย ก็รู้และทำมาตลอดชีวิต พอไปดูแลโครงการคุมองในโรงเรียนสตรีวิทยา เขาบังคับให้ครูทำแบบฝึกจะได้แม่นในหลักการของเขา น่าแปลกไม่ต้องมีครูสอน แต่สมองจะสั่งการให้บวกจากหลักร้อย หลักสิบ หลักหน่วย ไปได้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อไปถามเจ้าของที่นำคุมองเข้ามาในไทย เขาบอกว่าเราได้ทำแบบฝึกจริงจัง ต่างจากครูอีกคนที่ไม่ได้ทำจึงไม่รับรู้หลักการของเขา แม้แต่การทดสอบเพื่อเลื่อนระดับ ถ้าใช้นิ้วนับจะต้องเริ่มจากขั้นแรกสุด ในขณะที่เราใช้นิ้วนับเลขในใจตอนเด็ก ถ้าไม่พอยังแอบนับนิ้วเท้าผสมไปด้วย มีหลายสิ่งมากอย่างที่ต่างกัน อย่าไปยึดมั่นให้จีรัง ว่าทุกสิ่งต้องถูกต้อง ตามที่เคยเรียนรู้มาเท่านั้น สอนให้กล้า เก่ง และแกร่ง
#สอนให้กล้า เก่ง และแกร่ง
#เลี้ยงลูกเช่นไรได้เช่นนั้น เด็กประดุจผ้าขาว ที่แต่งแต้มสีใด ได้สีเช่นนั้นนั่นเอง คงจะเคยได้ยินนิทานเรื่องนกแขกเต้าฝาแฝดสองตัวพลัดหลงกัน ตัวหนึ่งไปอยู่กับฤๅษีชีไพรที่คอยฟูมฟักและอบรมสั่งสอนให้มีคุณธรรม อีกตัวไปอยู่กับโจรป่าห้าร้อยที่เห็นถึงการปล้นฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ เมื่อนกแขกเต้าฝาแฝดสองตัวเติบโตขึ้น ได้มีโอกาสมาเจอกันและเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาให้แก่กันและกันฟัง จึงได้รู้ว่าถึงจะเป็นแฝดแท้ สายเลือดและกรรมพันธุ์เดียวกัน แต่ได้รับการอบรมบ่มเพาะต่างกัน อุปนิสัยย่อมแตกต่างกันตามไปด้วย คนเราจะเก่งอย่างเดียวคงไม่พอ ยิ่งในสังคมที่มีการแก่งแย่งชิงดีกันสูง ทำตัวเป็นพ่อพระบางครั้งเหมือนคนอ่อนปวกเปียก ปล่อยให้เขาย่ำยีทั้งกายและใจอยู่ร่ำไป ครั้นจะต่อสู้ให้รู้ดำรู้แดงจะเหมือนคนบ้านป่าเมืองเถื่อน เมื่อเป็นเด็กจำได้ว่า เป็นคนอ่อนแอมาก ๆ เมื่อโดนเพื่อนแกล้งจะเอาแต่ร้องไห้ ไม่กล้าสู้คน ผิดกับพี่ชายชกได้เป็นชก และความอ่อนแอนี้เองจะคอยถอยหนีไม่กล้าเผชิญหน้า ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในบางครั้ง เมื่อได้เรียนจิตวิทยา รู้ว่าภาวะซึมเศร้าหรือถอยหนีไม่ดี ต้องรู้วิธีเผชิญ หน้า หลายครั้งที่ลองทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าตัวเองควรจะทำ แล้วได้ผลดีเกินคาด กลายเป็นผู้กำชัยชนะในยกสุดท้ายได้ หลานของเราเมื่อหกล้ม จะไม่ร้องไห้ พร้อมพูดเองว่า ไม่เจ็บ ๆ สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้จะช่วยให้แกร่งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเมื่อโตขึ้น ความพอดีอยู่ตรงไหน ระหว่างการเป็นคนดี คนเก่ง ที่ไม่สู้คนยอมแพ้อยู่ร่ำไป กับแกร่งพอที่จะเผชิญหน้ากับศัตรู ช่วงของการอบรมบ่มเพาะ ถ้าได้เรียนวิชาสังคมวิทยาหรือจิตวิทยาคงจะได้ยินคำภาษาอังกฤษที่ว่า socialization หรือสังคมประกิตจนคุ้นหู และคงจะไม่ซาบซึ้งตรึงใจถ้าไม่ถึงวัยที่ได้เลี้ยงดูลูกหลานด้วยตัวเอง เมื่อเห็นเด็กทำขัดตาขัดใจ จึงเข้าใจว่า นี่คือหน้าที่ที่ต้องบอกกล่าวและให้ทำให้เป็นในสิ่งที่ต้องการ ส่วนพี่ไทยคงคุ้นกับคำว่า มันห่าม ต้องบ่มเพาะให้สุก ยิ่งเมื่อเข้าวัยรุ่น มันจะยิ่งห่ามมากยิ่งขึ้น แต่ถ้ารอให้โตรู้เรื่องแล้วค่อยอบรมสั่งสอนคงไม่ทันการณ์ จึงมีหนังสือดังเล่มหนึ่ง ที่ชื่อ รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว สะกิดให้คิดว่า จะสอนให้รู้คงต้องทำแต่วัยเยาว์ เด็กเล็กเหมือนผลไม้ที่ยังดิบไม่สุกหรือห่าม ๆ มันคงไม่หวานอร่อย ถ้าปล่อยให้สุกคาต้นจะหวานหอมยิ่งนัก แต่ถ้ารีบเด็ดคงแทบกินไม่ได้ เช่นเดียวกับเด็กที่ต้องคอยอบรมบ่มเพาะให้รู้ว่าสิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร ซึ่งต่างคนต่างวิธี ตอนเป็นเด็กจำได้ว่า เคยกระทืบเท้าขึ้นบันไดเสียงดังมาก หลังจากที่โดนแม่ดุ บันได้ไม้แบบห้องแถวคงแทบพังลงมาทีเดียวเชียว คนเป็นแม่ควรทำเช่นไร ปล่อยไปพร้อมอมยิ้มอย่างเอ็นดู คิดในใจว่า ดูดู๋มันทำ ไว้โต กว่านี้ค่อยบอกกล่าว ไม่ควรทำ หรือเฆี่ยนตีให้หนำใจที่บังอาจก้าวร้าว เล็กหรือไม่เล็กไม่รู้ล่ะ กล้านักนะ อวดดีเช่นนี้ต้องเฆี่ยนตีสั่งสอนมันซะหน่อย แม่เรียกเราให้เดินลงมา พร้อมพูดอบรม เราแอบค่อนในใจว่า โดนเทศนากัณฑ์ใหญ่ แล้วแม่สั่งให้เราเดินขึ้นลงบันไดหลายรอบด้วยเสียงเบากริบ คงต้องย่องแทนการขึ้นลงธรรมดา หลังจากกระทืบเท้าด้วยความแค้น แต่นั้นมาจะรู้ว่า ห้ามกระแทกแดกดันทำพยศใส่แม่เด็ดขาด ไม่อบรมสั่งสอนในวัยเด็ก ให้รู้ผิดชอบชั่วดี คงสายไปแล้วเมื่อเติบใหญ่ จะไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร โรงเรียนที่ไม่ตีเด็กด้วยไม้เรียว แต่ก่อนมักใช้วิธีลงโทษ ด้วยไม้เรียว บางบ้านอาจใช้ไม้ก้านมะยม สายเข็มขัด หรือด้ามไม้กวาด โหดสุด ๆ เราได้ดี ไม่เคยผ่านไม้เรียวหรือการลงโทษทางกาย ไม่รู้ว่าเพราะแม่ชีฝรั่งเรียนรู้วิธีการเลี้ยงเด็กให้ดีตามหลักจิตวิทยาหรือไม่ ไม่ลงโทษ แต่งดให้รางวัลเพราะทำผิด แค่รู้แล้วหลาบจำ ไม่จำเป็นต้องเฆี่ยนตีดุจแส้ฟาดวัวควาย เพราะเด็กจะด้านไม้ และใช้ความแข็งแรงกว่าทำร้ายเด็กและสตรีที่อ่อนแอ วนเวียนในสังคม มิรู้จบสิ้น ก่อเกิดอาชญากรฆ่าข่มขืนเด็กให้เป็นข่าวหน้าหนึ่งต่อไป การเติบโตในบ้านที่แม่รู้จักวิธีอบรมบ่มเพาะ ครูที่เข้าใจในธรรมชาติวัยซน และเลือกใช้คำพูดให้รู้ผิดชอบชั่วดี ทำให้เราเป็นเรา ที่กล้า เก่ง และแกร่ง ได้ในระดับหนึ่ง อาจไม่ได้ยืนอยู่แถวหน้าในสังคมชั้นสูง แต่มีโอกาสสั่งสอนลูกศิษย์ ให้เข้าใจคำว่า กล้า เก่ง และแกร่ง แต่น่ารัก แถมท้ายตามไปด้วย #พรรณีเกษกมล |
สมาชิกหมายเลข 4665919
![]() ![]() ![]() ![]() ดร.พรรณี เกษกมล นักเขียน ข้าราชการบำนาญ ครูซี 9 แนะแนว
Friends Blog Link |