|
นักวิเคราะห์แห่ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ยุคสังคมเสมือนจริง
นักวิเคราะห์แห่ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ยุคสังคมเสมือนจริง
การเติบโตของสังคมเสมือนบนโลกออนไลน์กำลังกลายเป็นจุดสนใจของนักวิจัย นักวิเคราะห์สำนักต่าง ๆ มากขึ้น เนื่องจากสังคมดังกล่าวเริ่มมีความสมจริงในแง่ของการแสดงความรู้สึกมนุษย์ และสามารถตอบรับความต้องการของคนยุคใหม่ได้รวดเร็วทันใจ ไม่เพียงเท่านั้น คนส่วนมากเริ่มปรับพฤติกรรมให้เข้ากับเทคโนโลยีทันสมัยได้มากขึ้น ทั้งในกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญและผู้เริ่มต้นใช้งานคอมพิวเตอร์ ทำให้การใช้งานเทคโนโลยีค่อนข้างแพร่หลายและมีบุคคลหลายกลุ่มเข้ามาอยู่รวมกันในสังคมแห่งนี้ งานวิจัยจาก The USC Annenberg Digital Future Project ระบุว่า พฤติกรรมการหาเพื่อนใหม่บนโลกออนไลน์ของชาวอเมริกันได้รับการยอมรับมากขึ้น เฉลี่ยแล้วผู้ตอบแบบสอบถามมีเพื่อนใหม่ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น 1.6 คนต่อปีจากการพูดคุยทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้น ยังมีเพื่อนที่คบหากันเฉพาะบนอินเทอร์เน็ต (ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.65 คนด้วย ผลการวิจัยพบว่า ชาวอเมริกัน 43 เปอร์เซ็นต์ให้ความเชื่อมั่นกับโลกเสมือนแห่งนี้มากขึ้น รวมถึงความสัมพันธ์ของบุคคลบนชุมชนออนไลน์ก็มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนั้น ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ยังระบุด้วยว่า การเล่นอินเทอร์เน็ตช่วยเติมเต็มความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกับครอบครัวหรือเพื่อน ๆ ด้วยเช่นกัน เจฟฟรีย์ โคล (Jeffrey Cole) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาด้านดิจิตอลแห่งอนาคต ยูเอสซี แอนเนนเบิร์ก (The USC Annenberg School Center for the Digital Future) กล่าวว่า "ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เว็บไซต์ได้รับการยอมรับในหมู่สาธารณชน เราตั้งความหวังว่า อินเทอร์เน็ตจะทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชน ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการสร้างปรากฏการณ์ทางสังคม และเราแน่ใจว่ามันจะต้องมาถึงในสักวัน การวิจัยในครั้งนี้เป็นบททดสอบที่ดีเกี่ยวกับความสำคัญของเว็บในประเด็นดังกล่าว" ปัจจุบัน จำนวนของผู้เขียนบล็อก (Blog) หรือ Blogger ในสหรัฐอเมริกาคิดเป็น 7.4 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนประชากรอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกับยอดผู้ใช้ในปี 2003 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับผู้ที่นิยมโพสต์ภาพบนอินเทอร์เน็ตก็เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว คิดเป็น 23.6 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด พร้อมกันนี้ รายงานยังได้ระบุจำนวนชั่วโมงการเล่นอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยของชาวอเมริกันอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นเท่ากับ 8.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จุดประสงค์หลักของนักเล่นเน็ตในการออนไลน์นั้น ส่วนมากคือการพูดคุยสื่อสารกับเพื่อนคนสนิทอย่างน้อย วันละ 1 ครั้ง และ 20 เปอร์เซ็นต์ของคนออนไลน์ระบุว่า เพื่อนหรือสังคมบนอินเทอร์เน็ตเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้พวกเขาริเริ่มทำสิ่งแปลกใหม่ในชีวิตประจำวันด้วย ขณะที่ผู้ปกครองชาวอเมริกันส่วนหนึ่งไม่คิดแบบนั้น จึงมีความเห็นไปในทางที่ว่า บุตรหลานของตนหมกมุ่นกับเทคโนโลยีมากเกินไป และการเล่นอินเทอร์เน็ตไม่ได้ช่วยให้ผลการเรียนของเด็กเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้ปกครองอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่า บุตรหลานของตนใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสมแล้ว และอินเทอร์เน็ตก็มีเครื่องมือต่าง ๆ ช่วยเหลือเด็ก ๆ ในการทำการบ้านด้วย
ข่าวจาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ : 7 ธันวาคม 2549 เวลา 09:58 น.
Create Date : 07 ธันวาคม 2549 |
Last Update : 6 เมษายน 2551 19:56:28 น. |
|
0 comments
|
Counter : 595 Pageviews. |
|
|
|
| |
|
|