bloggang.com mainmenu search





‘ผีเสื้อแห่งแสงจันทร์’ ขนาดใหญ่ใกล้สูญพันธุ์




เมื่อวันที่ 5 ต.ค. น.ส.ปรัศนี กูลเรือน เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์งานพืชสวนโลก เปิดเผยว่า พบกับความมหัศจรรย์แห่งโลกกลางคืนที่ใกล้จะสูญพันธุ์และหาชมได้ยากกับผีเสื้อแห่งแสงจันทร์

โดยกรมอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรได้จัดเตรียมเพาะพันธุ์ ให้ทันวันเปิดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ 2554 ในส่วนจัดแสดงอาคารโลกแมลง โซนที่ 3 พงไพรพินาศเสื่อมสลายโลกร้อนกระหน่ำซ้ำทำลายแมลงเริ่มหายมลายสูญ

ผีเสื้อแสงจันทร์มีลักษณะงดงาม เรียกอีกชื่อว่า ผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายตรง (Indian Moon Moth) เป็นผีเสื้อกลางคืนในสกุล แอคเชียสเซเรเน่ (Actias) ซึ่งในประเทศไทย มีทั้งสิ้น 4 ชนิด ประกอบด้วย A.maenas, A. rhodopneuma, A. selene และ A. sinensis

มีลักษณะเด่นที่ปีกคู่หลังมีหางยาวคล้ายว่าว สีเหลืองเขียวอมส้มอ่อนๆ มีจุดรูปพระจันทร์เสี้ยวทั้งปีกหน้าและปีกหลัง รวม 4 จุด ปีกคู่หน้ามีเส้นสีน้ำตาลเทาขวางเส้นปีก ปีกคู่หลังมีหางยาวโค้งรูปดาบมีสีชมพูรูปพระจันทร์เสี้ยวที่ขอบหาง ปีกสามารถเรืองแสงได้ในเวลากลางคืน

ความกว้างของปีกตั้งแต่ 3-8 นิ้ว นับเป็นผีเสื้อกลางคืนที่ตัวใหญ่มาก โดยวัฏจักรของผีเสื้อแอคเชียสเซเรเน่นี้ จะใช้ระยะเวลาจากไข่เป็นตัวหนอนประมาณ 2 อาทิตย์ ต่อจากนั้นจะเข้าสู่การเป็นดักแด้ประมาณ 2 เดือนครึ่ง และกลายเป็นผีเสื้อ

พืชอาหารของผีเสื้อชนิดนี้เป็นพวกใบฝรั่ง ใบเมเปิ้ล และอโวคาโด พื้นที่แพร่กระจายของผีเสื้อสายพันธุ์ Actias คือ อัฟกานิสถาน อินเดีย จีน เกาหลี พม่า ไทย มาเลเซีย หมู่เกาะซุนดา เป็นต้น

ซึ่งในปัจจุบันผีเสื้อในตระกูลนี้หาพบได้ยากมากและกำลังจะสูญพันธุ์ จึงถูกจัดเป็นแมลงคุ้มครอง 1 ใน 20 ชนิด ของพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ใครฝ่าฝืนมีไว้จำหน่ายและครอบครองมีโทษปรับถึง 4 หมื่นบาท

ผู้สนใจสามารถรับชมได้ภายในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ 2554 ในส่วนจัดแสดงอาคารโลกแมลง ระหว่างวันที่ 9 พ.ย. 54 – วันที่ 15 ก.พ. 55

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักบริหารจัดการ งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ 2554 (ฝ่ายประชาสัมพันธ์) 225 หมู่ 3 ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100 โทร. 053 - 114188 ต่อ 110


ขอบคุณ ข่าวสดออนไลน์
Create Date :08 ตุลาคม 2554 Last Update :8 ตุลาคม 2554 13:39:47 น. Counter : Pageviews. Comments :0