bloggang.com mainmenu search





“เฟนเน็คฟ็อกซ์” คู่ละแสน
สุนัขจิ้งจอกสายพันธุ์จิ๋วที่สุดในโลก




สัตว์เลี้ยงแสนแปลกอย่าง “เฟนเน็คฟ็อกซ์” เจ้าสุนัขจิ้งจอกแห่งทะเลทรายซาฮารา ความกว้างใหญ่ไพศาลบนพื้นทรายที่เวิ้งว้างว่างเปล่า ยังคงมีสุนัขจิ้งจอกที่ตัวเล็กที่สุดในโลกอาศัยอยู่

ลักษณะนิสัยและหน้าตาที่น่ารัก ทำให้หลายคนจับจองเป็นสัตว์เลี้ยงแก้เหงาที่ไม่ซ้ำใคร เห็นตัวเล็กอย่างนี้แต่ราคาไม่ธรรมดาเลยทีเดียว และถ้าใครเกิดหลงรักเจ้าเฟนเน็คฟ็อกซ์กันแล้วล่ะก็เตรียมทุ่มเงินหมื่นรอรับไปเลี้ยงได้เลย

ในประเทศไทยมีฟาร์มเดียวเท่านั้นที่เพาะพันธุ์อยู่ตอนนี้ ยิ่งกระแสเฟนเน็คฟ็อกซ์ได้รับความนิยมมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ผู้ชื่นชอบสัตว์เลี้ยงกระตือรือร้นอยากเป็นเจ้าของ ซึ่งฟาร์มแห่งเดียวนี้เป็นของ โอ๊ต-ปิยสิชฌ์ พัฒนะพราหมณ์ เจ้าของร้าน Mini Zoo Cafe' ย่านจตุจักรพลาซ่า

และวันนี้ M-pet นัดหมายเขาเพื่อนำสาระดีๆ ที่เกี่ยวกับเฟนเน็คฟ็อกซ์มาฝากกัน

“เราเริ่มเลี้ยงจากที่เห็นคนอื่นเอาเข้ามาเลี้ยงแล้วมันมีลูก เรามาสะดุดกับเจ้าตัวนี้เพราะเป็นสุนัขจิ้งจอกที่เล็กที่สุดในโลกและมีหน้าตาประหลาดดี มีนิสัยเหมาะกับคนที่ไม่ต้องใช้พื้นที่เลี้ยงเยอะ อาจให้อยู่กรงแคบๆ หรืออยู่ในคอนโดก็ได้ ซึ่งเขาไม่ต้องการเอาใจใส่เหมือนสุนัขบ้าน

มีความรักสันโดษ มีความเป็นส่วนตัวสูง ไม่ชอบให้ใครบังคับ มีลักษณะคล้ายๆ แมว เวลาเล่นก็จะเล่นของเขาไปเรื่อย ไม่มาสนใจเจ้าของ แต่พอเบื่อเขาก็จะกลับมาเล่นกับเรา มันเหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลสัตว์มาก”


สุนัขจิ้งจอกตัวเล็กที่สุดในโลก

เฟนเน็คฟ็อกซ์ (Fennec Fox) เป็นจิ้งจอกที่เล็กที่สุดในโลกแห่งทะเลทรายซาฮารา กินอาหารทั้งพืชและสัตว์ ดำรงชีวิตอยู่ในทะเลทรายที่แห้งแล้ง ขนที่อุ้งเท้ามีความหนาเป็นพิเศษเพื่อให้พวกมันสามารถเดินบนทรายที่ร้อนระอุได้ ขนสีน้ำตาลอมส้มช่วยให้สามารถอำพรางตัวได้ดีในทะเลทราย

“เฟนเน็คฟ็อกซ์ เป็นสุนัขจิ้งจอกพันธุ์เล็กที่สุดในโลก มันอยู่ในตระกูลของสุนัขจิ้งจอก เพราะฟ็อกซ์ส่วนใหญ่แล้วจะสูงเป็นฟุตทั้งนั้นเลย อย่างที่รับมาจากต่างประเทศถามว่าหายากไหม ถ้าเทียบก็เหมือนกับลิงบ้านเราคือมันเป็นสัตว์ท้องถิ่นและอาศัยอยู่ในทะเลทราย”

จุดเด่นของเฟนเน็คฟ็อกซ์อยู่ที่ความเล็กของขนาดตัวกับความพิเศษของหู เมื่อเติบโตเต็มที่ใบหูจะมีขนาดใหญ่ และสามารถใช้ใบหูระบายความร้อนตอนอยู่กลางทะเลทราย ฉะนั้นใบหูจะช่วยระบายความร้อนได้ดี และนอกจากนี้ยังช่วยในการจับเหยื่อ

เพราะขนที่หูด้านในไวต่อการดักจับเสียง ซึ่งสามารถได้ยินเสียงแมลงตัวเล็กๆ ได้ไกลเป็นเมตรเลยทีเดียว

“ลักษณะพิเศษของหูเฟนเน็คฟ็อกซ์ ถ้าเป็นเสียงสื่อสารของเขากันเอง สามารถได้ยินเกือบ 4-5 กิโลเมตร เขาจะมีเสียงความถี่ของเขาซึ่งบางทีคนเราไม่ได้ยิน แต่ถ้าเทียบกับเสียงแมลงเดินอยู่ห่างกันประมาณ 10-20 เมตรก็ได้ยินแล้ว เขาสามารถรู้ได้ว่าบริเวณนั้นมีแมลงอยู่กี่ตัว และจะไปหาอาหารได้ที่ไหน”

“รัฐบาลของประเทศซูดานมีการอนุญาตให้จับเฟนเน็คฟ็อกซ์โดยให้โควตาในการจับ เพื่อนำมาขยายพันธุ์ ไม่ใช่จับมาเพื่อส่งออก ซึ่งเป็นลูกเพาะที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงในฟาร์ม ดังนั้นแต่ละตัวจะมีใบอนุญาตทั้งหมด ฟาร์มจะเพาะเลี้ยงได้จากการขอจากรัฐบาลซูดานก่อน และจะมีโควตาด้วยว่าปีหนึ่ง จะสามารถส่งออกได้กี่ตัว ถ้าหมดโควตาแล้วก็ไม่สามารถส่งออกได้”

Mini Zoo Cafe' ได้มองการเพาะขยายพันธุ์ภายในฟาร์มส่วนตัวว่าเป็นการอนุรักษ์อย่างหนึ่ง เพื่อทำการขยายพันธุ์ไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ “ถ้าเราเอามาเพาะเลี้ยง ก็จะสามารถให้คนและประชาชนทั่วไปได้ใกล้ชิดมากกว่าที่มันอยู่ในป่าด้วยซ้ำ

แต่ถามว่าส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์มันเป็นส่วนของภาครัฐบาลที่ต้องจัดการ ส่วนของเราในมุมของคนเลี้ยง คือเราทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้มันตาย ทำอย่างไรก็ได้ให้มันขยายพันธุ์ออกมา เมื่อมีคนนิยมเลี้ยงกันเยอะก็จะทำให้ภาวะสูญพันธุ์ไม่เกิดขึ้น”


พฤติกรรมตามธรรมชาติ

เฟนเน็คฟ็อกซ์ อาศัยอยู่ในทะเลทรายซาฮารา ขนสีน้ำตาลของมันจะกลืนไปกับผืนทราย บนพื้นทะเลทรายไม่มีต้นไม้ ไม่มีน้ำ มีเพียงพืชอย่างต้นตะบองเพชรที่เจริญเติบโตได้ เฟนเน็คฟ็อกซ์ดำรงชีวิตในแต่ละวันด้วยการหากินตามทะเลทราย และอาศัยอยู่ในรูลึกที่ขุดขึ้นเอง

ภายในมีห้องเป็นสัดส่วน ทั้งห้องเลี้ยงลูก ห้องนอน ซึ่งอุณหภูมิภายในรูจะแตกต่างจากบนพื้นทะเลทรายมาก อุณหภูมิข้างบนอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียส แต่ข้างล่างจะเย็นลงเหลือเพียง 20-25 องศาเซลเซียสเท่านั้น

ในช่วงเช้าเฟนเน็คฟ็อกซ์จะออกหากินและวิ่งเล่นรับแดด ส่วนตอนกลางคืนอุณหภูมิจะติดลบ เนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นทะเลทรายจะมีความผันผวนของอุณหภูมิสูง ถ้าร้อนก็ร้อนจัด ถ้าเย็นก็เย็นจนติดลบ นอกจากนี้ยังมีภัยธรรมชาติอย่างพายุทะเลทรายอีกด้วย

ดังนั้น เฟนเน็คฟ็อกซ์จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพของพื้นที่ ขนของมันจะเป็นฉนวนกันความร้อนและความเย็นไปด้วยในตัว สามารถกันความร้อนและเก็บความอุ่นไว้เพื่อรับกับสภาพอากาศตอนกลางคืน ฉะนั้นพอผ่านช่วงกลางคืนที่หนาวสุดไปแล้ว

ในตอนเช้าจึงต้องออกมารับแดดเพื่อให้ขนเก็บความอบอุ่นไว้เพื่อต่อสู้กับสภาพอากาศในคืนต่อไป และจะทำเช่นนี้เป็นกิจวัตรประจำวัน

“ส่วนวิธีการหาอาหาร เฟนเน็คฟ็อกซ์มีความว่องไวเหมือนพังพอนสามารถจับแมลงได้อย่างรวดเร็ว สามารถกินงูหางกระดิ่งได้ หรือกินแมงป่องที่มีพิษได้เพราะเคลื่อนไหวเร็วกว่า เฟนเน็คฟ็อกซ์ จะตะปบจนเหล็กในหลุดหรือหักก่อนแล้วถึงจะกิน

บางทีก็อาจจะกินลูกหนูขนาดเล็ก หรือไข่นกที่วางอยู่ตามพื้น เขาจะได้กินน้ำจากพืชเป็นส่วนใหญ่ อย่างพวกตระกูลตะบองเพชรเพราะในทะเลทรายหาน้ำยาก เขาก็จะกินน้ำจากพืชที่พอหาได้ ซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติแล้วจะหากินแยกกันเป็นคู่และไม่ออกล่าเป็นฝูงอย่างที่เราเคยเห็น”

“ข้อดีของเฟนเน็คฟ็อกซ์ ที่ได้รับความนิยมกว่าสุนัขจิ้งจอกชนิดอื่น เนื่องจากเขาเป็นสุนัขจิ้งจอกที่ไม่ล่าเหยื่อ กินเพียงแมลงตัวเล็กๆ กินพืช ผัก ผลไม้ จึงไม่มีสัญชาตญาณของความก้าวร้าว แต่ถ้าเป็นสุนัขจิ้งจอกขนาดใหญ่จะออกล่าสัตว์ใหญ่ประเภทกวาง เก้ง

เพราะฉะนั้นความดุร้ายจึงมีมากกว่า ทำให้มีลักษณะพฤติกรรมการหาอาหารแตกต่างกัน และต่อให้เป็นตัวที่ดุที่สุดมันก็ไม่ทำร้ายคน”


ส่งออกคู่ละแสน !

ตัวแรกที่ร้าน Mini Zoo Cafe' เลี้ยง มาจากทะเลทรายซาฮารา ประเทศอียิปต์ แต่ช่วงหลังๆ นำเข้ามาจากประเทศซูดาน เนื่องจากมีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตอนแรกนำเข้ามาประมาณ 20 ตัว เจ้าของร้านบอกว่า

“จริงๆ แล้วสัตว์พวกนี้ได้รับความนิยมมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ที่เมืองไทยกำลังจะเริ่มนิยมกัน เพราะเพิ่งจะหาซื้อได้ไม่นาน จึงยังไม่มีข้อมูลในเรื่องของการเลี้ยงเพาะพันธุ์มากเท่าไหร่ ยังอยู่ในกลุ่มเล็กๆ

แต่ตอนนี้ก็เริ่มขยายวงกว้างขึ้น เพราะว่ามันเหมือนเป็นอีกทางเลือกของคนเลี้ยงที่ต้องการเลี้ยงสัตว์ไม่ซ้ำใคร สำหรับเมืองไทยในร้อยคนจะมีสักหนึ่งคนที่เลี้ยงเฟนเน็คฟ็อกซ์”

ความพร้อมในการผสมพันธุ์ สำหรับตัวเมียประมาณ 15 เดือน ตัวผู้ 1 ปี ตั้งท้องประมาณ 2 เดือน แต่จะออกลูกปีละครั้งเท่านั้น เฉลี่ยประมาณ 1-3 ตัว/ครอก หรือบางครั้งอาจมีมากกว่านั้น

อายุขัยเฉลี่ย 8- 10 ปีในธรรมชาติ แต่ถ้าอยู่ในที่เลี้ยง สามารถอยู่ได้ถึง 15 ปี แรกคลอดจะกินนมเพียงอย่างเดียว ขนยังขึ้นไม่เต็มตัว อวัยวะหลายส่วนยังไม่แข็งแรงพอ กระดูกอ่อนยังเดินไม่ได้ หูยังไม่เปิด ตายังไม่ลืม ในช่วงนี้ยังคงต้องกินนมแม่ประมาณ 1 เดือน ถึงจะเริ่มหย่านม

น้ำหนักโตเต็มที่ไม่เกิน 2-3 กิโลกรัม ร้าน Mini Zoo Cafe' จะขายลูกเพาะเมื่อมีอายุมากกว่า 1 ปีครึ่ง สำหรับคนที่ต้องการเลี้ยงให้เชื่องจึงควรเลี้ยงตั้งแต่เล็ก

“ส่วนการขยายพันธุ์เราเพิ่งเริ่มปีนี้ ได้ลูกมาบ้างแต่ก็ไม่เยอะพอที่จะขาย ส่วนใหญ่ก็จะเลี้ยงไว้ศึกษาพฤติกรรมเขาตั้งแต่วัยเด็กก่อน ตอนนี้จึงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิธีการเลี้ยงของเราอยู่ สำหรับที่ขยายพันธุ์ได้เองก็เป็นครอกที่ 3 แล้วออกลูกครั้งหนึ่งประมาณ 1-3 ตัว เขาจะออกลูกได้น้อยเนื่องจากตัวเขาเล็ก”

“เรื่องของลูกค้านั้น ส่วนใหญ่แล้วจะส่งออกและบางส่วนก็จะเก็บไว้ขายในไทยบ้าง เคยขายในไทยไปประมาณ 20 ตัว ลูกค้าที่ส่งออกก็จะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง แต่ส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่นเพราะญี่ปุ่นเขาชอบมาก ซื้อจากในไทยเขาไปขายที่นั่น คู่หนึ่งประมาณ 300,000 กว่าบาท

คือคนญี่ปุ่นเขาต้องการของดีที่สุดและของแปลกที่สุด อะไรที่ดีที่สุดจะขายได้ในญี่ปุ่นเพราะเขายอมจ่ายกับสัตว์เลี้ยงหนึ่งตัวที่ต้องการจริงๆ โดยไม่สนใจว่าราคาจะแพงแค่ไหน

ดังนั้นราคาคนไทยกับต่างชาติก็จะต่างกัน สำหรับคนไทยเราจะขายราคา 55,000 บาท/ตัว ส่วนต่างชาติราคาจะแพงกว่าแต่ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนที่ซื้อ ถ้าเขาสั่งทีหนึ่งประมาณ10 -20 คู่ ก็คิดราคาเหลือคู่ละประมาณ 100,000 บาท แล้วแต่ละครั้ง

อย่างล็อตหนึ่งถ้าซื้อ 1 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะเหลือราคาต้นทุนแล้วแต่การต่อรอง ตอนนี้ขายได้ทั้งชาวไทยและต่างชาติรวมแล้วก็ประมาณ 100 กว่าตัว ส่วนราคาที่ตั้งไว้ขึ้นอยู่กับความหายากของตัวเขา จริงๆ แล้วพวกนี้ไม่ใช่ว่าทุกร้านจะหามาได้ และตอนนี้ร้านเราก็เป็นเจ้าเดียวที่ทำตลาดในไทย”

เจ้าของร้านได้บอกอีกว่า “ราคาไม่ได้ขึ้นอยู่ที่อายุ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเรตราคานี้ทั้งหมด หรืออาจขึ้นมาอีก 5,000-10,000 บาท/ตัวขึ้นอยู่กับความเชื่องและเพศ ช่วงแรกๆ ที่นำเข้ามาขายตัวเมียจะแพงกว่าตัวผู้ ร้านเราจะขายเป็นคู่ ถ้าในกรณีแยกขายจะขายเฉพาะตัวผู้ เพราะถ้ามีตัวผู้ตัวเดียวก็สามารถที่จะคุมตัวเมีย 5-6 ตัวได้หมดเลย

เพราะฉะนั้นการตั้งราคาแบบนี้เป็นแง่ของการตลาดในส่วนหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าเอาตัวเมียไปขยายพันธุ์ สัตว์ทุกชนิดก็เหมือนกันถ้าหากคิดจะซื้อตัวเมียแยกอาจจะเพิ่ม 5,000 บาทแล้วแต่ชนิดของสัตว์”


ไม่ยาก...ถ้าคิดจะเลี้ยง

วิธีการเลี้ยงสำหรับคนที่ไม่เคยเลี้ยงเฟนเน็คฟ็อกซ์มาก่อน ขั้นตอนง่ายๆ เหมือนกับการเลี้ยงสุนัขทั่วไป มีอุปกรณ์พื้นฐานได้แก่ กรงเลี้ยง ถ้วยอาหาร กระบอกขวดน้ำ และอาหารเม็ด

อาจเสริมด้วยเนื้อไก่ต้ม เฟนเน็คฟ็อกซ์เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายแต่ต้องอยู่ในความดูแลเพราะเป็นสุนัขจิ้งจอกพันธุ์เล็ก มีกระดูกอ่อน ดั้งนั้นจึงเล่นขย้ำเหมือนสุนัขทั่วไปไม่ได้เพราะอาจจะทำให้เกิดกระดูกหักได้

หลักๆ ควรให้อาหารสุนัขชนิดเม็ดเกรดดี เพราะเฟนเน็คฟ็อกซ์ต้องการโปรตีนสูง และไม่ควรให้อาหารซ้ำซากจำเจ อาจเปลี่ยนเป็นผลไม้อย่างเช่น มะม่วง กล้วย มะละกอ ซึ่งสัตว์ชนิดนี้กินได้หมด แต่ไม่ควรให้ทุกวัน

อาจสลับหมุนเวียนกันไป อาหารเม็ดบ้าง ผักผลไม้บ้าง และก็เนื้อไก่เสริมวันเว้นวันหรือจะเป็นไข่ต้มก็กินได้เช่นกัน

“ส่วนสถานที่เลี้ยงแนะนำให้เลี้ยงปล่อยในบ้านหรือในกรงก็ได้ ถ้าปล่อยได้ก็จะดีที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้สัตว์เกิดความเครียด อย่างในห้องนอนเวลาเราอยู่เราก็ปล่อยเขาไว้ ให้เขาวิ่งเล่นบ้างเพราะพวกนี้เขาต้องการใช้พลังงานเยอะ

เพราะปกติในวันหนึ่งเขาต้องออกไปหาอาหารกินหลายกิโลเมตร ในทะเลทรายไม่ใช่ว่าหาอาหารได้ง่ายๆ มันจะต้องเดินไปเรื่อยๆ และก็กลับมาที่อาศัยใหม่ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เฟนเน็คฟ็อกซ์จะต้องเดินหาอาหารในระยะทางประมาณ 5-10 กิโลเมตรเลยทีเดียว”

ข้อควรระวังสำหรับเฟนเน็คฟ็อกซ์ คือเรื่องกระดูกที่หักเปราะง่ายและอาการท้องเสียเนื่องจากอาหารที่ผู้เลี้ยงให้ ทั้งต้องระวังเรื่องของเชื้อโรค หากยังให้วัคซีนไม่ครบซึ่งในระยะนี้ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะว่าเฟนเน็คฟ็อกซ์สามารถติดโรคที่อยู่ในเมืองได้ง่าย

เนื่องจากในป่าไม่ค่อยมีโรค ไม่มีไข้หัด ไม่มีลำไส้อักเสบ อย่างที่เราพบเจอบ่อยในสัตว์เลี้ยง ฉะนั้นถ้าเป็นโรคเหล่านี้เฟนเน็คฟ็อกซ์ก็อาจจะตายได้เร็วกว่าสัตว์ประเภทอื่น

“อย่างโรคในป่าถ้าเป็นสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติ เมื่อเป็นแล้วก็จะตายเลย และจะโดนสัตว์ตัวอื่นเอาซากไปกิน มันก็เหมือนเป็นการกำจัดเชื้อโรค ลดการแพร่ระบาด พอมาอยู่ในเมือง เชื้อโรคของเมืองจะแตกต่างจากเชื้อโรคที่อยู่ในป่า

ดังนั้นถ้าระยะที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนให้ระวังเรื่องความสะอาด การเอาออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน และอย่าให้เลียมือเล่นหากวัคซีนยังฉีดไม่ครบ แต่ถ้าฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้ว เขาก็จะมีภูมิต้านทานเหมือนสุนัขและสัตว์เลี้ยงทั่วไป”

ใครสนใจสัตว์เลี้ยงไม่ซ้ำใครอย่างเฟนเน็คฟ็อกซ์ สามารถติดต่อได้ที่ร้าน Mini Zoo Cafe' จตุจักรพลาซ่า โซน D ซอย 7 โทร.08-1567-4299


ขอขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์


โสรวารสวัสดิ์วัฒนาค่ะ

Create Date :11 มิถุนายน 2554 Last Update :11 มิถุนายน 2554 11:39:03 น. Counter : Pageviews. Comments :0