bloggang.com mainmenu search






แรดอินเดียในอุทยานแห่งชาติจิตวัน





แรดอินเดีย จัดเป็นแรด 1 ใน 3 สายพันธุ์ที่พบได้ในทวีปเอเชีย และเป็นสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดที่พบในทวีปแห่งนี้

แรดอินเดีย เป็นแรดนอเดียว มีลักษณะเด่นที่แตกต่างไปจากแรดสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด คือ ตามลำตัวแลดูเหมือนมีเกราะหุ้มลำตัวไว้ถึง 2 ชั้น

หนังเป็นปุ่มนูนเห็นได้ชัด ง่ามก้นเป็นร่อง มีหนังพับข้ามหลัง 2 แห่ง คือ ที่ด้านหลังของไหล่ และด้านหน้าของสะโพก แต่ไม่มีพับหนังข้ามคอ มีหางสั้น มีสีลำตัวน้ำตาลเทา

ขนาดเมื่อโตเต็มที่สูงประมาณ 2 เมตร น้ำหนัก 2-4 ตัน มีการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียใต้ ที่ประเทศอินเดีย เชิงเทือกเขาหิมาลัย ปากีสถาน เนปาล ภูฏาน จนถึงชายแดนที่ติดกับพม่า

แรดสายพันธุ์นี้ เชื่อว่าปรากฏขึ้นในดินแดนยูเรเชียครั้งแรก ในช่วงปลายยุคอีโอซีน (33.5-37 ล้านปีก่อน) และแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ในยุคเพลอิสโตซีน (1-2 ล้านปีก่อน)

หลังจากที่สัตว์กลุ่มแรดมีวิวัฒนาการขึ้นเมื่อประมาณ 60-65 ล้านปีก่อน หรือในยุคอีโอซีนจากกลุ่มสัตว์เท้ากีบคี่

แรดอินเดีย ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทุ่งหญ้าและที่ราบลุ่ม ที่มีน้ำท่วมถึง เพราะมักหากินพืชจำพวกหญ้าและพืชน้ำต่าง ๆ มักชอบหากินอยู่ตามลำพัง ยกเว้นแม่แรดที่ต้องมีลูกอยู่เคียงข้าง

ซึ่งแรดตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์พร้อมมีลูกได้เมื่ออายุ 4 ปี ตั้งท้องนาน 474-488 วัน และออกลูกครั้งละ 1 ตัว ส่วนตัวผู้จะพร้อมผสมพันธุ์นานกว่านั้นคือ เมื่ออายุ 9 ปี มีอายุโดยเฉลี่ย 30-40 ปี

แรดอินเดียมีสายตาสั้น แต่มีประสาทดมกลิ่นได้ดี หูก็สามารถฟังเสียงได้ดีมาก แม้จะแลดูตัวใหญ่เทอะทะแต่ก็สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว โดยเฉพาะในเวลากลางคืนไปจนถึงรุ่งเช้า

วิ่งได้เร็วถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังว่ายน้ำได้เก่งอีกด้วย มีอุปนิสัยดุร้าย ขี้หงุดหงิดเช่นเดียวกับแรดสายพันธุ์ที่พบในทวีปแอฟริกา

ปัจจุบัน แรดอินเดียมีจำนวนเพิ่มขึ้นคือ ประมาณ 2,400 ตัว (ข้อมูล ค.ศ. 2005) แต่ยังคงถูกจัดเป็นสัตว์เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เพราะตัวใหญ่แต่อ่อนแอ จากการติดโรคต่าง ๆ และการล่าจากมนุษย์

แรดอินเดียในประเทศไทยในปัจจุบัน มีการเลี้ยงอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เป็นต้น

อนุกรมวิธาน

แรดอินเดียเป็นแรดชนิดแรกที่รู้จักกันในยุโรป ชื่อ Rhinoceros มาจากภาษากรีก "rhino" แปลว่าจมูก และ "ceros" แปลว่าเขา แรดอินเดียไม่มีชนิดย่อย Rhinoceros unicornis เป็นชนิดต้นแบบของวงศ์แรด ถูกจัดจำแนกครั้งแรกโดยคาโรลัส ลินเนียสในปี ค.ศ. 1758

ลักษณะ

แรดอินเดียมีขนาดพอๆ กับแรดขาวในแอฟริกาซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด ในบรรดาแรดทั้งหมด เมื่อโตเต็มที่เพศผู้จะตัวใหญ่กว่าเพศเมีย เพศผู้หนัก 2200-3000 กก.เพศเมียหนัก 1600 กก. สูง 1.7-2 ม.อาจยาวถึง 4 ม.ตัวอย่างที่มีการบันทึกไว้หนักประมาณ 3500 กก.

แรดอินเดียมีนอเดียวไม่ว่าเพศผู้หรือเพศเมีย แต่แรดแรกเกิดจะไม่มีนอ นอจะเริ่มงอเมื่ออายุ 6 ปี ทั่วไปแล้วนอยาว 25 ซม. แต่มีบันทึกว่ามีนอยาวถึง 57.2 ซม. นอโค้งไปด้านหลัง ปกติมีสีดำ ในกรงเลี้ยงแรดหลุดไปเหลือเพียงปุ่มหนาบ่อยๆ

แรดอินเดียมีหนังหนา ลำตัวแลดูเหมือนมีเกราะหุ้ม หนังมีสีน้ำตาลเงินและเปลี่ยนเป็นสีอมชมพูเมื่อเข้าใกล้รอยพับ มีหนังพับข้ามหลัง 2 แห่ง คือ ที่ด้านหลังของไหล่ และด้านหน้าของสะโพก

เพศผู้มีรอยพับหนาที่คอ ด้านบนขาและไหล่ปกคลุมด้วยปุ่มนูน ลำตัวมีขนเล็กน้อย นอกเหนือไปจากขนตา ขนหู และขนหาง

ในกรงเลี้ยงมีแรด 4 ตัวเท่าที่ทราบมีอายุมากกว่า 40 ปี แก่สุดมีอายุ 47 ปี

การกระจายพันธุ์

แรดอินเดียพบได้ทั่วทั้งประเทศอินเดียไปยังประเทศพม่า และประเทศบังกลาเทศและอาจมีร่อนเร่ไปในประเทศจีน เพราะอิทธิพลจากมนุษย์ทำให้การกระจายพันธุ์หดลง

ปัจจุบันเหลือเพียงกลุ่มประชากรเล็กๆ ในทางตะวันออกเฉียงเหนือประเทศอินเดียและประเทศเนปาล

ประชากรแรดในประเทศภูฏานดูเหมือนจะสูญพันธุ์ไปแล้ว และในประเทศปากีสถานมีแรดอินเดีย 2 ตัวอยู่ใน Lal Suhanra National Park (Punjab) ในปี ค.ศ. 1983 แต่ไม่มีการขยายพันธุ์เพิ่มอีก


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์ศุกรวาร สิริมานรมเยศค่ะ
Create Date :11 มิถุนายน 2553 Last Update :31 กรกฎาคม 2553 16:07:40 น. Counter : Pageviews. Comments :0