bloggang.com mainmenu search





สำรวจ"เสือโคร่ง" "ดงพญาเย็น-เขาใหญ่"



ปริญญา ผดุงถิ่น
มูลนิธิฟรีแลนด์ เอื้อเฟื้อภาพ



จากป่าที่เคยขึ้นชื่อเรื่องเสือสางในอดีต ถึงขนาดมีตำนาน "เสือกินคน" เกิดขึ้นมาแล้วถึง 2 ครั้ง

อุทยานฯ เขาใหญ่กลับกลายเป็นป่าที่นักวิจัยเสือเชื่อว่า ไม่มีเสือโคร่งเหลืออีกแล้ว!

ตรงข้ามกับผืนป่า "ตะวันตก" อย่างห้วยขาแข้ง อันถือเป็น "เมืองหลวงเสือ" ของไทย กลับยังมีเสือโคร่งอยู่อย่างหนาแน่น สมศักดิ์ศรีชื่อชั้นมรดกโลก

พูดกันว่า หากใครจะขอทุนจากเมืองนอก เพื่อสำรวจและวิจัยเสือในผืนป่า "ตะวันออก" แถวเขาใหญ่ จะไม่มีทางได้ทุนเด็ดขาด!

อย่างไรก็ดี กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กำลังกู้ศักดิ์ศรีมรดกโลกของตัวเองกลับคืน

เพราะล่าสุดมีการยืนยันแน่ชัดแล้วว่า ในผืนป่าดงพญาเย็น อันประกอบด้วย "4 อุทยาน" เขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา และตาพระยา กับอีก "1 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า" ดงใหญ่ ยังมีเสือโคร่งเป็นเจ้าป่าอยู่ ไม่ได้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว อย่างที่เคยเชื่อกัน

ผู้ที่ควรได้เครดิตเต็มๆ จากเรื่องนี้ก็คือ มูลนิธิฟรีแลนด์ (FREELAND Foundation) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทย จับงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและค้ามนุษย์ มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง

พวกเขาใช้เทคโนโลยี กล้องดักถ่าย หรือ Camera Trap จำนวน 40 ตัวในปัจจุบัน (และกำลังเพิ่มจำนวนกล้องทุกๆ เดือน) เป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพ

จนได้หลักฐานรูปถ่ายของเสือลายพาดกลอน จำแนกลายอันต่างกันได้ถึง 12 ตัว!

"รูปถ่ายเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ค่ะ" น.ส.ทัตฑยา พิทยาภา นักชีววิทยาและผู้ประสานงานภาคสนามของฟรีแลนด์ว่า "พอมีรูปเสือมายืนยัน ตอนนี้เราสามารถขอทุนสนับสนุนจาก US Fish and Wildlife Service ได้แล้ว เช่นเดียวกับป่าตะวันตก"

ทัตฑยาเล่าความเป็นมาว่า ก่อนหน้านี้ ฟรีแลนด์เคยร่วมมือกับองค์กร "WCS Thailand" สำรวจสัตว์ป่าอยู่ในอุทยานฯเขาใหญ่ ตั้งแต่ฟรีแลนด์ยังใช้ชื่อ "WildAid" แล้วเปลี่ยนมาเป็น "เพื่อนป่า"

ต่อมามีปัญหาขัดข้องจากทางเขาใหญ่ เลยออกไปหาอุทยานเกรดรองๆ ที่อยู่ใกล้กัน และเข้าไปช่วยอบรมเพิ่มประสิทธิภาพให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อน

จากนั้นมอบกล้องดักถ่ายให้เจ้าหน้าที่ไปติดตั้งตรงจุดที่เคยมีเบาะแสเสือโคร่ง ผลที่ออกมาดีเกินคาด เพราะได้รูปเสือโคร่งในทันที!

"เขาใหญ่มีการวางกล้องดักถ่ายมาร่วม 6-7 ปี ไม่เคยเจอเสือ หลายคนคิดว่าขนาดเขาใหญ่ยังไม่มีเสือ อุทยานเล็กๆ ในกลุ่มป่านี้จะไปมีได้ไง มันกลายเป็นว่าที่เราเจอนั้น ดีกว่าเขาใหญ่ซะอีก" ทัตฑยาเล่าถึงความกลับตาลปัตร

สิ่งที่ฟรีแลนด์มุ่งสนับสนุนทางอุทยาน คือช่วยพัฒนาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้รู้จักการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และการจัดการระบบข้อมูลงานลาดตระเวน ที่เรียกว่าระบบ MIST อันเป็นระบบที่ฝั่งห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวรใช้อยู่ก่อนแล้วอย่างมีประสิทธิภาพ

ดึงเจ้าหน้าที่อุทยานมารับการอบรม ว่าต่อไปนี้จะไม่เดินตรวจป่าเรื่อยเปื่อย แต่จะต้องบันทึกและเก็บข้อมูลรายทางไปด้วย เช่น รอยสัตว์ รอยพราน โดยกรอกข้อมูลลงแบบฟอร์ม ถ่ายรูปเป็นหลักฐาน ลงจุดพิกัดดาวเทียมแน่ชัด และที่ขาดไม่ได้ ต้องมีความรู้ในการวางกล้องดักถ่าย

พร้อมกันนั้น จัดหาอุปกรณ์เดินป่าและสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยบันทึกข้อมูลให้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะกล้องดักถ่าย กล้องดิจิตอล เครื่องจีพีเอส คู่มือรอยเท้าสัตว์ แบบฟอร์มที่ออกแบบให้กรอกข้อมูลได้ง่ายที่สุด แม้แต่ของใช้อย่างหม้อสนาม

ข้อมูลเกี่ยวกับเสือโคร่งในพื้นที่ จึงไหลมาอย่างต่อเนื่อง

"เราไม่ได้มุ่งไปที่การวิจัยเสือ จับติด ปลอกคออะไรพวกนั้น แต่อยากให้ทางอุทยานได้ประโยชน์จากเรา ในด้านเพิ่มประสิทธิภาพให้เจ้าหน้าที่มากกว่า" ทัตฑยาอธิบายแนวคิดของฟรีแลนด์ "แต่ถ้ามีนักศึกษาป.โท-ป.เอก อยากจะมาศึกษาต่อยอด ก็พร้อมสนับสนุนข้อมูลพื้นฐานให้"

กล้องดักถ่ายที่เรียงรายตามเส้นทางในป่าลึกแห่งดงพญาเย็น เผยให้รู้ว่าเสือใช้เส้นทางและพื้นที่ไหน เสือตัวผู้บางตัวตกเป็นจุดสนใจของทีมงาน เมื่อรูปถ่ายฟ้องว่ามันเดินทะลุจากอุทยานหนึ่งข้ามไปถึงอุทยานหนึ่งเลยทีเดียว

ถึงไม่ต้องจับสัญญาณวิทยุอย่างการวิจัยเต็มรูปแบบ ทีมงานก็ยังรู้อาณาเขตคร่าวๆ ของเสือได้อยู่ดี

นอกจากเสือโคร่งแล้ว ยังมีสัตว์อีกมากมายที่ถูก "ดักถ่าย" ไม่ว่าจะเสือลายเมฆ เสือไฟ หมีควาย หมีคน กระทิง วัวแดง ช้าง เลียงผา หมาใน เม่น ชะมด อีเห็น ไก่ฟ้าพญาลอ

แม้แต่สัตว์เล็กที่หายากยิ่งกว่าเสือ อย่างชะมดแปลงลายจุด ซึ่งเดิมเชื่อกันว่ามีแต่ในพื้นที่ป่าดิบแถวภูเขียวที่อยู่เหนือขึ้นไป ก็ยังลงมาถึงดงพญาเย็น โผล่เข้ากล้องเห็นตัวชัดเจน

ทั้งยังมีการค้นพบที่น่าประหลาดใจ เมื่อกล้องดักถ่ายในพื้นที่ป่าแห่งหนึ่ง ถ่ายรูปชะมดแผงหางปล้องกับชะมดแผงสันหางดำได้จากจุดเดียวกัน ทั้งที่ปกติชะมดที่หน้าตาคล้ายกันนี้ จะแยกพื้นที่อาศัยออกจากกัน ถ้าพบชนิดหนึ่ง ก็จะไม่พบอีกชนิดหนึ่ง

แต่นอกจากสัตว์ป่าแล้ว สิ่งที่กล้องดักถ่ายจับภาพได้ ยังมีพวกพรานป่ารวมอยู่ด้วย บางรายเห็นหน้าชัด บางรายเห็นแต่มอเตอร์ไซค์ แต่ก็พอจะเห็นเลขทะเบียนรถ

ทัตฑยาเล่าว่า พรานบางคนพยายามใส่หมวกปิดบังใบหน้าตอนเดินผ่านกล้อง แต่ที่ตลกก็คือ เจ้าหน้าที่เกิดจำหมาที่ตามพรานมาได้ ว่าเป็นหมาของใคร!

หรือพรานคนหนึ่งถูกบันทึกภาพไว้ จะออกจากป่าด้วยเส้นทางเดิมๆ ช่วงเวลาประมาณตีสามตีสี่

เพราะฉะนั้น กล้องดักถ่ายจึงมีบทบาทในด้านป้องกันปราบปรามการล่าสัตว์ได้ด้วยระดับหนึ่ง มีบทบาทคล้ายคลึงกับกล้องวงจรปิดตามเมืองใหญ่นั่นเอง



ปัจจุบันกล้องดักถ่ายมีราคาถูกลงมากกว่าแต่ก่อน เหลือเพียงกล้องละประมาณ 4 พันบาท แต่ต้องมีอุปกรณ์เสริมอย่างกล่องเหล็กหนาเตอะ "Elephant Proof" ที่สั่งทำพิเศษ และก็สะลิงเส้นโตกับกุญแจกันขโมย

ที่เป็นรายจ่ายประจำเดือนเลย คือถ่านอัลคาไลน์ก้อนใหญ่ 6 ก้อน แต่ละกล้องจะมีค่าถ่านที่ว่าเดือนละ 350 บาท คูณจำนวนกล้องเข้าไปก็เป็นเงินไม่ใช่น้อย

ทุกเดือนที่ฟรีแลนด์ไปกู้กล้อง ถ่านจะเหลือพลังงานเฉลี่ยประมาณ 60% ก็จะยกถ่านให้เจ้าหน้าที่อุทยานไปใช้ใส่ไฟฉายหรือวิทยุต่อไป แล้วเปลี่ยนถ่านชุดใหม่แทนเสมอ

ในการติดกล้องดักถ่าย หากเป็นการเจาะจงถ่ายเสือโคร่ง จะติดตามต้นไม้สูงจากพื้นประมาณ 3 ฟุต และเลี่ยงต้นไม้ใหญ่ ซึ่งมักเป็นที่สนใจของช้างป่า

อาจมีการใช้เหยื่อล่อช่วยด้วย แค่ใช้ "ปลาร้า" ราดตามพื้น เพื่อชะลอให้เสือหรือสัตว์นักล่าอื่นๆ หยุดก้มดมกลิ่นสักนิด จะได้ผลกว่าดักรอจังหวะเดินอย่างเดียว ซึ่งกล้องดักถ่ายอาจตื่นจาก"โหมดหลับ"ไม่ทัน

จากจำนวนเสือโคร่งที่จำแนกลวดลายได้แล้ว 12 ตัว ทัตฑยาคาดว่าทั้งหมดของเสือแห่งดงพญาเย็นไม่น่าจะเกิน 20 ตัว

โอกาสที่เสือโคร่งจะฟื้นคืนชีพที่เขาใหญ่ จึงต้องหวังพึ่งการเชื่อมผืนป่า (Wildlife Corridor) ระหว่างเขาใหญ่กับทับลาน ซึ่งบัดนี้มีถนนสาย 304 กบินทร์บุรี-นครราชสีมา ขนาด 4 เลน แยกป่าสองฝั่งออกจากกันไปเรียบร้อยแล้ว

การเชื่อมป่าเป็นเงื่อนไขที่ทางคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโกกำหนด นับตั้งแต่การตัดสินใจรับ "กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่" เป็นมรดกโลก โดยย้ำหลายครั้งให้ไทยลงมือทำได้แล้ว

แต่ฝ่ายไทยก็ศึกษาแล้วศึกษาอีก โดยยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ จนทุกวันนี้ ว่าจะลงมือก่อสร้างแบบไหน จะอุโมงค์หรือจะทางลอยฟ้า เพื่อเปิดช่องทางให้สัตว์ไปมาหาสู่กันเสียที

คำถามที่ว่า แล้วทำไมเสือโคร่งที่เคยมี จึงหายไปจากเขาใหญ่ นักวิชาการสันนิษฐานว่า เพราะที่ทำการ บ้านพักทั้งหลาย ล้วนแต่เข้าไปตั้งอยู่ใจกลางบ้านดั้งเดิมของเสือทั้งหมด รถราก็แล่นกันอึกทึกมาก

ในดงป่านอกสายตานักท่องเที่ยว ยังมีชาวบ้านเดินหาไม้หอมกันแทบทุกตารางนิ้วอีกต่างหาก วุ่นวายเกินกว่าเสือจะใช้ชีวิตอยู่ได้

ดังนั้น การสำรวจพบเสือตามอุทยานต่างๆ ใกล้เคียง จึงเหมือนเป็นกระจกเงาสะท้อนความผิดพลาดในการจัดการอุทยานของเขาใหญ่ มุ่งรองรับการท่องเที่ยวจนเสียสมดุล

แต่กระนั้น การพบเสือดงพญาเย็นก็จุดประกายความหวัง ทัตฑยาเชื่อว่าหากมีการปูพรมกล้องดักถ่ายไปตามป่าใหญ่อื่นๆ ที่ยังขาดการสำรวจอย่างละเอียด จะมีข้อมูลดีๆ ให้ได้ฮือฮาอีกมาก

"ตอนนี้ไม่มีข้อมูล ไม่ได้แปลว่าไม่มีเสือไม่มีสัตว์ที่สำคัญ มันแค่รอการสำรวจเท่านั้น"

หน้า 21


ขอขอบคุณ

ข่าวสดออนไลน์
คุณปริญญา ผดุงถิ่น
มูลนิธิฟรีแลนด์


วุธวารสิริสวัสดิ์ค่ะ
Create Date :27 กรกฎาคม 2554 Last Update :27 กรกฎาคม 2554 12:11:46 น. Counter : Pageviews. Comments :0