bloggang.com mainmenu search


       สมาร์ทโฟนจากออปโป้ตระกูล N มีความโดดเด่นเรื่องกล้องถ่ายภาพมาตั้งแต่รุ่น N1 กับกล้องหมุนได้เพื่อตอบรับกับยุคเซลฟีที่ผู้ใช้ต้องการกล้องหน้าความละเอียดสูง

มาในปีนี้ออปโป้ยังคงเดินรอยตามความสำเร็จเดิมแต่มีการปรับแนวทางกล้องหมุนได้ให้สดใหม่และโดดเด่นยิ่งขึ้นใน OPPO N3 (รหัส N5206) กับการใส่ชุดมอเตอร์ไฟฟ้าช่วยให้กล้องหมุนได้แบบอัตโนมัติเพื่อการใช้งานที่หลากหลายกว่าเดิมไม่ว่าจะเป็น การถ่ายภาพหมู่แบบพาโนรามาอัตโนมัติหรือการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ที่ทำได้ง่ายขึ้น



       ยกตัวอย่างจากคลิปวิดีโอด้านบนจะเห็นว่าใน OPPO N3 ระบบกล้องหมุนอัตโนมัติด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าช่วยให้การถ่ายภาพมีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมกล้องหมุนได้จะเน้นโหมดเซลฟีความละเอียดสูงเป็นหลัก

การออกแบบ



       เริ่มจากการออกแบบ OPPO N3 มีการปรับเปลี่ยนจากรุ่นก่อนหน้าในเรื่องโครงสร้าง ความแข็งแรงด้วยการเน้นวัสดุแบบอลูมิเนียมมากขึ้นและปรับวัสดุส่วนพลาสติกให้แข็งแรงพร้อมเก็บงานประกอบต่างๆ ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้ตัวเครื่องมีน้ำหนัก 192 กรัม หนา 8.7 มิลลิเมตร ขนาดตัวเครื่อง 161.2x77 มิลลิเมตร

       ด้านจอภาพใช้ IPS Panel ขนาดหน้าจอ 5.5 นิ้ว ความละเอียด 1,920x1,080 พิกเซล ความหนาแน่นพิกเซลต่อตารางนิ้วอยู่ที่ 403ppi ใต้จอภาพเป็นปุ่มคำสั่งแบบสัมผัส 3 ปุ่มได้แก่ ปุ่มเรียกเมนู/Recent Apps, ปุ่มโฮมและปุ่มย้อนกลับ




       ส่วนด้านล่างสุดจะเห็นว่าขอบเครื่องอลูมิเนียมมีการทำส่วนเว้าให้ห่างออกจากตัวเครื่อง ส่วนหนึ่งเพื่อให้ลำโพงที่ติดตั้งอยู่ด้านล่างนี้สามารถสะท้อนเสียงกับขอบอะลูมิเนียมได้ อีกส่วนเพื่อสะท้อนแสงไฟแจ้งเตือน Skyline Notification 2.0 ใหม่ให้ชัดเจนขึ้น และสุดท้ายสำหรับใส่สายคล้องต่างๆ




       มาดูด้านหลังจะพบกล้องตัวใหม่ที่ออกแบบหรูหราขึ้นด้วยวัสดุพลาสติกกัดลายเลียนแบบหนัง ส่วนเลนส์ปรับให้ดีขึ้นด้วยการเลือกใช้ชิ้นเลนส์ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ Schneider Kreuznach จากเยอรมัน ขนาดเซนเซอร์รับภาพ 1/2.3 นิ้วประกบหน่วยประมวลผลภาพ Pure Image 2.0+ รูรับแสงกว้างสุด f2.2 รองรับความละเอียดภาพสูงสุด 16 ล้านพิกเซลพร้อมด้วยไฟแฟลชคู่แบบ LED นอกจากนั้นทางออปโป้ยังเพิ่มมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาในแกนหมุนเลนส์ 206 องศาเพื่อสอดคล้องกับฟีเจอร์ภายในที่ปรับเปลี่ยนไปรวมถึงสร้างการถ่ายภาพที่ได้มุมมองแปลกใหม่ขึ้น

       ถัดลงมาใต้โลโก้ OPPO จะเป็นส่วนของเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ (Fingerprint security) ที่เป็นลักษณะปุ่มกดทำหน้าที่แทนปุ่มเปิดปิดหน้าจอได้ด้วย




       ด้านข้างเครื่อง ซ้ายจากบนสุดจะเป็นช่องใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์ รองรับซิมการ์ดแบบ Dual Sim ในถาดเดียว โดยซิมที่ 1 จะเป็น MicroSIM รองรับ 4G LTE ซิมที่ 2 จะเป็น NanoSIM รองรับเฉพาะ 3G และช่องใส่การ์ดความจำ MicroSD ในช่องเดียวกัน ซึ่งผู้ใช้จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าใส่ซิมในช่องที่ 2 จะไม่สามารถใส่การ์ดความจำเพิ่มได้หรือถ้าใส่การ์ดความจำก็จะไม่สามารถใส่ซิมที่ 2 ได้


จุดสังเกตอุปกรณ์และสายไฟที่รองรับระบบชาร์จเร็ว VOOC จะใช้พอร์ตเชื่อมต่อสีเขียว


       ถัดจากช่องใส่ซิมจะเป็นสวิตซ์ปิด-เปิดตัวเครื่อง และล่างสุดจะเป็นช่อง MicroUSB รองรับระบบชาร์จไฟแบบเร็ว VOOC mini ผ่านอะแดปเตอร์ชาร์จไฟพิเศษที่ออปโป้แถมมาให้กับ N3 (สามารถชาร์จไฟ 75% ได้ในเวลาเพียง 30 นาที)



       อีกด้านจะเป็นปุ่มปรับเพิ่มลดระดับเสียงและช่องเชื่อมต่อหูฟัง Smalltalk ขนาด 3.5 มิลลิเมตร



       ส่วนรีโมท O-Click 2.0 รุ่นใหม่จะรองรับการปรับหมุนกล้องอัตโนมัติผ่านวงแหวนสีเงินด้านนอกพร้อมความสามารถอื่นๆ เช่น เป็นรีโมทกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ ควบคุมการเล่นเพลง แจ้งตำแหน่งโทรศัพท์และมาพร้อมระบบแจ้งเตือนสายที่ไม่ได้รับรวมถึงแจ้งเตือนข้อความต่างๆ ได้ด้วย

สเปก



       ด้านสเปก OPPO N3 ออปโป้เปลี่ยนไปใช้ซีพียู Qualcomm Snapdragon 801 Quad-core ความเร็ว 2.3GHz แรมให้มา 2GB รอม 32GB เหลือให้ใช้จริง 25.15GB กราฟิกชิป Adreno 330 แบตเตอรี Li-Po ให้มา 3,000mAh สามารถเพิ่มการ์ดความจุ MicroSD ได้สูงสุด 128GB ส่วนระบบปฏิบัติการที่เลือกใช้เป็นแอนดรอยด์ 4.4.4 KitKat ครอบด้วย ColorOS เวอร์ชัน 2.0

สำหรับสเปกด้านเครือข่ายรองรับ 3G (ความเร็วดาวน์โหลดสูงสุด 42Mbps อัปโหลดสูงสุด 5.76Mbps) และ 4G LTE (ความเร็วดาวน์โหลดสูงสุด 150Mbps อัปโหลดสูงสุด 50Mbps) ทุกคลื่นความถี่ในประเทศไทย WiFi รองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac, WiFi Direct, WiFi Display และ DLNA ส่วนบลูทูธรองรับเวอร์ชัน 4.0 พลังงานต่ำ (Low Energy) เพื่อรองรับกับอุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพและ O-Click

ฟีเจอร์เด่น



Fingerprint security (จำลายนิ้วมือสูงสุด 5 ลายนิ้วมือ) นอกจากเรื่องกล้องที่สามารถพลิกหมุนได้แบบอัตโนมัติแล้ว เรื่องระบบสแกนลายนิ้วมือถือว่าเป็นจุดเด่นที่ออปโป้พัฒนามาได้ยอดเยี่ยมมาก จากเดิมที่ระบบสแกนลายนิ้วมือในแอนดรอยด์ต้องใช้วิธีปาดนิ้วให้ระบบตอบรับลายนิ้วมือของเรา แต่ใน N3 ผู้ใช้เพียงแค่แตะเบาๆ ที่บริเวณเซนเซอร์เท่านั้น ระบบจะปลดล็อกทันทีถ้าลายนิ้วมือตรงกับที่บันทึกไว้ในระบบ

       และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือด้านหลังยังทำหน้าที่เป็นปุ่มเปิดหน้าจอด้วย เมื่อผู้ใช้กดที่ปุ่มด้วยนิ้วมือที่ตรงกับลายนิ้วมือที่จัดเก็บไว้ภายในระบบ หน้าจอจะติดและพาเข้าสู่หน้าโฮมสกรีนทันที



       นอกจากนั้น N3 ที่มาพร้อม ColorOS ตัวใหม่ยังรองรับ Gestures และใช้เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวภายในเครื่องได้ฉลาดและลื่นไหลขึ้น เช่น ระหว่างที่หน้าจอปิดอยู่ ผู้ใช้สามารถวาภาพหรือใช้ท่าทางต่างๆเพื่อให้ระบบเข้าสู่การทำงานตามที่ผู้ใช้ตั้งค่าไว้ได้ เป็นต้น



       ในส่วน O-Click ทางออปโป้ได้ให้แอปพลิเคชันควบคุมการทำงานมาเหมือนเดิม โดยการเชื่อมต่อจะเป็นแบบ “เชื่อมต่อตลอดเวลาบนเทคโนโลยีบลูทูธ 4.0 Low Energy” บริโภคพลังงานต่ำ



       ในส่วนของระบบแจ้งเตือนที่ออปโป้เลือกใส่มาได้ฉลาดมากก็คือ “ระบบจัดการดาต้าอินเตอร์เน็ต” ที่ปรับปรุงให้ทำงานได้ดีขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะเวลาผู้ใช้เชื่อมต่อ 3G/4G LTE ไว้แล้วใช้ข้อมูลดาต้าเป็นจำนวนมาก จะมีป๊อปอัพขึ้นแจ้งเตือนเพื่อป้องกันการใช้ดาต้าอินเตอร์เกินข้อจำกัดจนไปสู่ค่าบริการรายเดือนที่สูงผิดปกติ



       มาถึงแอปพลิเคชันกล้องถ่ายภาพที่ถือเป็นหัวใจหลักของ OPPO N3 ด้านอินเตอร์เฟสไม่แตกต่างจากแอปฯกล้องที่ออปโป้เลือกใช้ในยุคหลัง ทั้งเรื่องฟีเจอร์ถ่ายภาพที่ไม่ได้ติดตั้งมาให้ทั้งหมดแต่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดผ่านสโตร์ได้เอง หรือแม้แต่รูปแบบการใช้งานที่ปรับให้ถ่ายภาพได้ง่ายขึ้นด้วยระบบเลือกซีนภาพอัตโนมัติ

ในส่วนฟีเจอร์ที่เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อให้สอดรับกับสเปกกล้องที่ปรับเปลี่ยนไปใน OPPO N3 ก็ถูกติดตั้งมาอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ Auto Panorama ที่ใช้ความสามารถของกล้องหมุนได้อัตโนมัติแบบ seamless rotation หมุนกล้องบันทึกภาพมุมกว้างพิเศษ Face Recogonition ระบบจดจำใบหน้า Tracking Foucs หรือโฟกัสติดตามวัตถุและสุดท้ายโหมดที่ขาดไม่ได้ก็คือ Beauty Mode เมื่อเปลี่ยนเป็นกล้องหน้าและถ่ายภาพตัวเอง ระบบจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถใส่ฟิลเตอร์ให้ภาพเซลฟีและเพิ่มความสดใสให้ใบหน้าของเราได้ด้วย

ทดสอบประสิทธิภาพ



       สำหรับการทดสอบ ออปโป้ก็ยังคงเป็นออปโป้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยน แอปฯทดสอบหลายตัวทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพนักเพราะไม่รู้จัก OPPO N3 (ปัญหาเดียวกับตอนทดสอบ N1 เลย) แต่ก็ยังดีที่ทีมงานยังได้รับผลคะแนนจาก AnTuTu มาให้ชมถึงแม้จะขึ้นสถานะ Non Verified ก็ตาม ส่วนผลทดสอบการสัมผัสหน้าจอแบบมัลติไม่สามารถทดสอบได้เนื่องจากไปตีกับระบบ Gestures ที่มีลูกเล่นมากมาย

       ส่วนการทดสอบใช้งานจริงตลอดสัปดาห์เต็มพบว่า OPPO N3 ใช้งานได้ลื่นไหลมาก ColorOS 2.0 ใช้งานได้ดีขึ้นกว่าเดิมโดยเฉพาะเวลาเดินถ่ายภาพและจำเป็นต้องปิดเปิดแอปฯกล้องบ่อยครั้ง จากเดิมที่มักพบอาการ Force Close แรมหมดบ้างแต่ใน N3 ไม่พบอาการดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว จะพบก็เพียงอาการขอบเครื่องที่เป็นอลูมิเนียมเกิดความร้อนบ้างเป็นครั้งคราว



       มาถึงเรื่องการใช้เล่นเกม 3 มิติ จากสเปกเครื่องที่จัดว่าไฮเอนด์ไม่น่าจะเกิดปัญหาใดๆ แต่สุดท้ายก็มีปัญหาเกิดขึ้นเหมือนตอน N1 ก็คือเกม 3 มิติหลายเกมไม่รู้จักรุ่นสมาร์ทโฟนเครื่องนี้ทำให้ไม่สามารถเลือกติดตั้งจาก Google PlayStore ได้ ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นกับออปโป้มานานมากและดูเหมือนว่ายังไม่ถูกแก้ไขเสียที



       ด้านการบริโภคพลังงาน แบตเตอรีขนาด 3,000mAh ก็ถือว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานทั้งวัน ระบบการจัดสรรพลังงานภายในจากแอนดรอยด์ 4.4.4 KitKat ดีมากแม้ระบบเครื่องจะมี Gesture ต่างๆ ทำงานระหว่างปิดเครื่องตลอดเวลาก็ตามแต่ก็สามารถใช้งาน OPPO N3 แบบหนักหน่วงได้ตลอดทั้งวันแน่นอน (ประมาณ 11-14 ชั่วโมง)

       อีกทั้งเมื่อรวมกับระบบชาร์จไฟแบบรวดเร็ว VOOC ด้วยแล้วถือว่า OPPO N3 น่าจะเป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้งานทั้งวันไม่มีอาการสะดุดเพราะแบตเตอรีหมดลงแน่นอน

ทดสอบกล้อง 16 ล้านพิกเซล Schneider Kreuznach

IMG20150130151700


IMG20140101061008


IMG20150131104357


IMG20150131111915


IMG20150131112128


IMG20150130175415


IMG20150131100429


IMG20150202143350


IMG20150203104441


IMG20150203153735


IMG20150205151613


       ทุกภาพถ่ายด้วยกล้อง OPPO N3 ดิบๆ ไม่ผ่านการตกแต่งใดๆ จะเห็นว่าเรื่องของความคมชัด มิติภาพและสีสันยังคงเป็นเอกลักษณ์ของกล้องในตระกูล N มาตั้งแต่ N1 เพียงแต่ใน N3 ด้วยการเลือกใช้เซ็นเซอร์รับภาพที่ใหญ่กว่าเดิมและใหญ่กว่าคู่แข่งไฮเอนด์หลายเจ้า ประกบหน่วยประมวลผลภาพ Pure Image 2.0+ รวมถึงคุณภาพจากเลนส์ติดลิขสิทธิ์ Schneider Kreuznach ทำให้ภาพค่อนข้างคมชัดและมิติที่ดี ความผิดเพี้ยนของเม็ดสีน้อยลงกว่ารุ่นก่อนหน้ามาก แถมให้สีสดเป็นพิเศษจนทีมงานอยากจะยกให้ OPPO N3 เป็นสมาร์ทโฟนที่ถ่ายภาพนิ่งสวยติดอันดับต้นๆ โดยเฉพาะการถ่ายย้อนแสงและในสถานการณ์ที่เกิดความต่างของแสงสีค่อนข้างมาก จะเห็นว่าระบบกล้องรวมทั้งเซนเซอร์และหน่วยประมวลผลภาพสามารถเก็บแสงสีตลอดจนไฟล์ภาพที่นำมาตกแต่งต่อยอดได้ด้วยไดนามิกที่กว้างมาก HDR ถือเป็นโหมดไม้ตายที่ให้ผลลัพท์ภาพที่ดีมาก

IMG20140101061853


       ส่วนอีกหนึ่งโหมดที่ออปโป้ทำได้ยอดเยี่ยมมากก็คือ Auto Panorama ที่นอกจากจะช่วยให้การถ่ายภาพพาโนรามาทำได้ง่ายด้วยมอเตอร์หมุนเลนส์เองแล้ว ยังสามารถนำมาประยุกต์เพื่อถ่ายภาพหมู่บุคคลหรือจะถ่ายแนวตั้งทำภาพเซลฟี 206 องศาแบบแหวกแนวตามภาพประกอบด้านบนก็ได้



       มาถึงการทดสอบวิดีโอ 1080p กันบ้าง ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นส่วนที่แย่สุดของ OPPO N3 ทั้งเรื่องคุณภาพวิดีโอ การบันทึกเสียงที่ทำได้น่าผิดหวัง อีกทั้งสีสันของวิดีโอก็ดูไม่เป็นธรรมชาติเสียเลย



       ถ้าจะกล่าวว่า OPPO N3 เป็นสมาร์ทโฟนที่เน้นกล้องได้โดดเด่นกว่าทุกรุ่นในปัจจุบันก็คงไม่ผิด เพราะในครั้งนี้ออปโป้ปรับระบบกล้องมาได้ดีและน่าสนใจมากกว่าส่วนระบบปฏิบัติการที่ไม่แตกต่างจากไฮเอนด์สมาร์ทโฟนทั่วไปนัก โดยเฉพาะกลุ่มสมาร์ทโฟนออปโป้รุ่นหลังๆ ที่ใช้ ColorOS 2.0 จะมีหน้าตาและการใช้งานเหมือนกันทั้งหมด

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?

ข้อดี

       - วัสดุ งานประกอบเครื่องทำได้ดี หรูหราและแข็งแรงขึ้น
       - กล้องหมุนได้อัตโนมัติใช้งานได้จริงและน่าสนใจมาก
       - ไฟล์ภาพคือจุดขายหลัก โดยเฉพาะการเซลฟีที่ทำได้ดีมาก
       - สแกนลายนิ้วมือแบบสัมผัสทำได้น่าประทับใจ ปุ่มและเซนเซอร์วางไว้ในตำแหน่งที่ใช้งานได้สะดวก
       - Skyline Notification 2.0 ดูหรูหรา

ข้อสังเกต

       - ขอบเครื่องเกิดความร้อนง่ายมาก โดยเฉพาะเวลาใช้กล้องถ่ายรูป
       - คุณภาพงานถ่ายวิดีโอยังไม่น่าประทับใจ
       - O-Click 2.0 มีอาการดีเลย์บ้าง



ราคาเปิดตัว OPPO N3 อยู่ที่ 19,990 บาท จุดขายของ OPPO N3 ค่อนข้างชัดเจนมากในเรื่องกล้องถ่ายภาพและถือเป็นไฮเอนด์สมาร์ทโฟนอีกหนึ่งเครื่องที่อัดแน่นฟีเจอร์ซึ่งได้รับการปรับปรุงจากรุ่นก่อนหน้าได้อย่างลงตัวและราคาไม่สูงจนเกินไป ถ้าผู้อ่านไม่ติดภาพลักษณ์เรื่องแบรนด์จีนและกำลังมองหาสมาร์ทโฟนไฮเอนด์เน้นกล้องถ่ายภาพเป็นหลัก OPPO N3 ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและคุ้มค่ามาก หลายฟีเจอร์นั้นไม่สามารถหาได้จากสมาร์ทโฟนราคาสองหมื่นบาทขึ้นไป

Company Related Link :
OPPO
Create Date :16 กุมภาพันธ์ 2558 Last Update :16 กุมภาพันธ์ 2558 21:51:34 น. Counter : 1161 Pageviews. Comments :0