Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
24 สิงหาคม 2555
 
All Blogs
 
ไม่อยากร่วงโล้นแบบนาโอมิ! กรณีใดไม่ควรต่อผม ยาวหนาปลอดภัยต้องทำอย่างไร

       สาวไทยผวากันทั้งแผ่นดินเมื่อเห็นภาพข่าวนางแบบผิวดำคนดัง นาโอมิ แคมป์เบล (Naomi Campbell) ในสภาพแมนจู หัวโล้นไปครึ่งศีรษะ ด้วยเหตุต่อผม!
       
       
จริงหรือไม่ ต่อผมแล้วเส้นผมต้องหลุดร่วง… กรณีนี้เกิดขึ้นกับทุกคนหรือเปล่า… เราในฐานะสาวไทยรักแฟชั่นเลิฟความงามซึ่งมีความอยากหรือความจำเป็นต้องต่อผม ควรมีวิธีป้องกันระวังอย่างไร
       
       
ประเด็นนี้ต้องไปหาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ นพ.อานนท์ ชวาลา ศัลยแพทย์ & Hair Restoration Medicine ท่านกล่าวทันทีว่า
       
       “2-3 ปีที่ผ่านมา ผมมักเจอคนไข้ผู้หญิง ซึ่งไปทำการต่อผมมาและมีอาการผมร่วง เกิดการดึงรั้ง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Traction Alopecia หรือTraumatic Alopecia แต่ถ้าเปรียบเทียบกับคนต่างประเทศ ถือว่าคนไทยน้อยมาก เจอในคนต่างประเทศมากกว่า”
       
       
คนแอฟริกันอเมริกัน/ชาวซิกข์ เรื้อรังร่วงชัวร์
       
       
หมออานนท์ บอกว่า ‘Traction Alopecia’ เป็นคำที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัย โดยตามตำราแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน
       
       
“กลุ่มแรกคือ กลุ่มคนแอฟริกันอเมริกัน (African-American) ลักษณะทางกายภาพของเส้นผมมีลักษณะหยิก และเล็ก พวกนี้จะพยายามปกปิดอำพรางเพื่อให้ผมตัวเองดูไม่หยิกฟู อย่างไปถักเปียเป็นฝักข้าวโพด หรือต่อผม ซึ่งพอทำนานๆ จะเกิดการดึงรั้งแบบเรื้อรังเกิดขึ้น
       
       
กลุ่มที่สองเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ได้แก่ ชาวซิกข์ เขามีวัฒนธรรมในการมวยผมและเกล้าผมแบบดึงรั้ง ถอดหมวกผ้าออกมาเห็นเลยว่ามีการดึงรั้งมาก ผมที่ถูกดึงรั้งจะเป็นแนวผมด้านหน้า ดึงซ้ำแล้วซ้ำอีก ดึงไปที่รากผมเรื้อรัง มันก็เกิดปัญหาเซลล์รากผมที่ถูกดึงเรื้อรังได้รับการบาดเจ็บ
       
       
พอบาดเจ็บปั๊บ วันดีคืนดีมันจะมีการบิดเบี้ยวของรากผมเป็นรูปวงรีและมีการติดเชื้อซ้ำเติม ผิวหนังบริเวณนี้จะมีการอักเสบและเกิดตะปุ่มตะปั่ม บางคนกลายเป็นแผลเป็นเรื้อรังแรมเดือนแรมปี มันจะไม่ย้อนกลับ คือ รักษาอย่างไรผมตรงนั้นก็ไม่ขึ้น คนไข้ที่มาหาคือ ขอมาทำศัลยกรรมแล้ว
       
       
กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มผู้หญิงชาวญี่ปุ่น จะมีการถักรัดตรงด้านหลัง ซึ่งผมไม่ทราบ เพราะผมยังไม่เจอ แต่ในตำรากล่าวถึงกลุ่มนี้ไว้”

       หมออานนท์จัดให้ซูเปอร์โมเดลนาโอมิอยู่ในกลุ่มแรก ที่นิยมอำพรางปมด้อยเส้นผมหยิกฟูของตัวเองด้วยการต่อผม จากข้อมูลข่าวชี้ว่า เธอเข้าขั้นหมกมุ่นทอผมต่อผมให้ยาวสลวยมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งนอกจากทำมากเกินเลยไปแล้ว ยังเลือกในจุดที่ไม่ควรทำ อย่าง บริเวณคอ ตีนผม และใกล้หนังศีรษะมากเกินไป
       
       
“กลุ่มที่ต่อผมจะเป็นปัญหาในกรณีที่ดึงรั้งแบบยาวนานเรื้อรังเกิน 6 เดือนขึ้นไป ร่วงในลักษณะผิวหนังตรงนั้นตะปุ่มตะปั่ม และมีการติดเชื้อซ้ำ ซ้ำเติมซ้ำซ้อน เรียกว่า ผมร่วงแบบมีแผลเป็น ผมไม่ขึ้นแล้ว ถ้าจะรักษา มักลงเอยด้วยการทำศัลยกรรมปลูกผม ตำแหน่งที่ผมจะร่วงคือ ตำแหน่งไรผมด้านหน้า กับตรงบริเวณทัดดอกไม้ ถ้าเป็นพวกชาวซิกข์ กลุ่มนี้มักร่วงตรงกลางศีรษะ
       
       
ดังนั้นคนไทยไม่ค่อยมีปัญหาหรอก เพราะลักษณะกายภาพเส้นผมแตกต่างกับพวกแอฟริกันอเมริกัน คนไทยไม่ต่อตรงโคน แต่มักต่อตรงปลาย และคนไทยไม่ต่อนาน อย่างมากก็ต่อเป็นบางช่วง จะไปงานเลี้ยงถึงต่อ และต่อประเดี๋ยวประด๋าวก็เอาออก จึงไม่น่ากังวล”
       
       
ทว่าประเด็นน่ากังวลคือ สาวไทยที่มองว่าตัวเองผมบาง เจอแรงยุจากช่างผมว่า การต่อผมจะช่วยทำให้ผมดูหนาสวยขึ้น โดยหารู้ไม่ว่าตนเองอยู่ในข่ายกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะผมร่วงง่ายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุกินยาลดความอ้วน เป็นไทรอยด์ หรือพกความเครียดเป็นประจำ ฯลฯ
       
       
ต่อผมเพื่อกลบแก้ปัญหาผมร่วงผมบาง คือวิธีที่ผิด
       
       
หมออานนท์บอกว่ามีคนที่มีปัญหาผมร่วงเพราะต่อผม 2 รูปแบบ
       
       
“รูปแบบหนึ่งคือ ต่อผมระยะเวลานาน 3 เดือน 6 เดือน และเทคนิคการต่อผมที่ผมเห็นจากคนไข้ที่มาหา มีทั้งแบบคลิปแบบหลอด มีการกระทำต่อรากผมซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำแล้วเอาออกเอาเข้าอีก เป็นระยะเวลานาน
       
       
อีกรูปแบบคือ ต่อผมแล้ว 1-2 อาทิตย์ เส้นผมก็ร่วง ส่วนใหญ่มีรายงานบอกว่าไม่น่าเกิดจากการต่อผม แต่กลุ่มนี้มักมีสาเหตุอื่นที่เร่งเร้าผมที่มีแนวโน้มจะร่วงอยู่แล้ว และพอไปต่อ ก็ร่วง”
       
       
หมออานนท์อธิบายธรรมชาติอายุขัยเส้นผมคนเรา เพื่อความเข้าใจชัดเจนขึ้น
       
       
“ผมที่อยู่บนหนังศีรษะเรา 90% เป็นผมที่มีความแข็งแรง อยู่ในระยะเวลากำลังเจริญเติบโต อีก 10% คือ ผมที่เจริญเติบโตมาแล้วหมดอายุ อยู่ในระยะพักตัว ใน 10% นี้ติดอยู่บนหนังศีรษะ 30-90 วัน และร่วงตามธรรมชาติ เรียกว่า รอบวงจรผลัดตามปกติ

       ฉะนั้นถ้าเฉลี่ยใน 30-90 วัน ผมคนเรามี 1 แสนเส้น 10% ก็ประมาณ 1 หมื่นเส้น ดังนั้นโดยเฉลี่ยคนที่ไม่มีปัญหาเส้นผมไม่มีปัญหาหนังศีรษะ ผมจะร่วงเป็นปกติวิสัยอยู่แล้ววันละ 100 เส้น ทีนี้เผอิญมีภาวะอะไรก็ตามที่ทำให้เส้นผมเราที่อยู่ในปกติ 90% ระยะเวลาเจริญเติบโต มันเข้าไปอยู่ในระยะพักตัวมากขึ้น
       
       
เช่น ความเครียด ซึ่งผมเจอคนไข้เคสนี้บ่อย, ยาบางชนิดที่กิน อาทิ ยาลดความอ้วน ยาสลายไขมัน ยาลดไขมันบางตัว ยาลดความดันบางชนิด ยาสลายลิ่มเลือดในคนที่เป็นโรคหัวใจ ฯลฯ
       
       
รวมทั้งภาวะโลหิตจาง กรณีนี้เจอมากในคนไทย โดยเฉพาะผู้หญิงที่พิถีพิถันเรื่องอาหารการกินเพื่อให้ร่างกายสะโอดสะองเอวบางร่างน้อย คุมอาหารมาก พอคุมอาหารมาก โภชนาการก็พร่อง จึงเจอบ่อยมากว่าเป็นภาวะโลหิตจาง และยิ่งผู้หญิงมีรอบเดือน จะเสียเลือดเยอะ โลหิตก็จะจางลงไปอีก ภาวะโลหิตจางซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตไปอยู่ในระยะพักตัว
       
       
และโรคประจำตัวบางอย่างที่เจอบ่อยคือ คนที่เป็นไทรอยด์สูงหรือไทรอยด์ต่ำ เป็นได้ทั้งสองอัน
       
       
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาคือ คนไข้กลุ่มนี้มีแนวโน้มผมจะร่วงอยู่แล้ว แต่ดันไปต่อผม บางคนไม่รู้ตัวว่ามีปัจจัยเร่งเร้า หรือเหตุส่งเสริมที่ทำให้ผมร่วงง่าย แต่บางคนรู้ตัวและเลือกใช้วิธีแก้ไขด้วยการต่อผม เท่ากับเข้าสู่วงจรอุบาทว์”
       
       
หยุดต่อ หยุดมัด หยุดดึงรั้งซ้ำซาก คือวิธีที่ถูก
       
       
“ผมเห็นส่วนใหญ่เทคนิคต่อผมเป็นแฮร์คลิป เป็นหลอด และที่ดูเนียนมากคือ ต่อเส้นต่อเส้นเลย คนไข้ที่มาหาผมบอกเสียค่าต่อเป็นหมื่นๆ”
       
       
แต่ถ้าคุณเกิดปัญหาผมร่วง จงตัดใจ อย่าไปเสียดายเงิน เอาผมที่ต่อออกก่อน
       
       
“หลักการแก้ไขเบื้องต้นง่ายๆ คือ เอาออกก่อน” หมออานนท์เน้นอีกครั้ง

       “การต่อผมเป็นการซ้ำเติมปัญหา วิธีสังเกตง่ายๆ ว่าตัวเองเป็นคนผมร่วงหรือเปล่า หนึ่ง-เจ้าตัวจะรู้สึกเองว่าปริมาณผมน้อยลง ไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน สอง-ลูบก็ร่วง สาม-ติดที่บริเวณหมอน สี่-เวลาใช้ห้องน้ำ ถ้าใช้คนเดียว ห้องน้ำจะตันเร็ว อย่ารอให้ถึงขั้นเห็นตัวเองผมบางเพราะนั่นมาทีหลัง ต้องเสียความหนาแน่นไป 25% แล้วถึงสังเกตเห็น แสดงว่าผมร่วงไปเยอะมากแล้ว
       
       
รวมทั้งผู้หญิงที่มัดผมที่เดิมประจำแน่นๆ ด้วย ผมมักแนะนำคนไข้ที่มาหาผมว่า ถ้ารัดก็รัดหย่อนๆ เพื่อไม่ให้เกิด Traction Alopecia ดึงรั้งซ้ำแล้วซ้ำอีก”
       
       
เท่านั้นไม่พอ หมออานนท์ยังเตือนถึงสาวๆ ที่นิยมทำสี ประโคมสารเคมีจัดแต่งทรงผมต่างๆ ว่าเป็นเหตุเพิ่มพูนความอ่อนแอให้กับเส้นผมและหนังศีรษะ
       
       
“การรักษาผมร่วงผมบางส่วนใหญ่ที่เป็นเรื่องกรรมพันธุ์ซึ่งเกี่ยวกับฮอร์โมน โอเค…ตรงนั้นมาหาแพทย์ แต่หลักการโดยทั่วไปผมบอกคนไข้ให้ท่องไว้เลย วิตามินเพียงพอ (กลุ่มวิตามินบี สุดยอด) โภชนาการดี (แซลมอนมาที่หนึ่ง) หลีกเลี่ยงสารเคมีและยา
       
       
ควรเลี่ยงการยืด โกรก ย้อม ดัด และเจลสเปรย์ แต่มีข้อยกเว้นคือ รู้จักเลือก อย่างเช่น แฮร์เดรสซิ่งแต่งผม เบี่ยงไปใช้มูส เพราะมูสเป็นตัวทำอันตรายรากผมน้อยที่สุด ยิ่งมูสที่เขียนว่าfree alcohol ยิ่งแนะนำ หรือยาย้อมผม หันไปหาพวกเฮนน่าเปลือกสนเปลือกไม้
       
       อย่าไปใช้พวกที่มีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์หรือแอมโมเนียผสม เพราะสารเคมีสองตัวนี้ทำให้เกิดการแพ้ง่าย เวลาคนไข้มาหาผม ผมแหวกผมดูเห็นชัดเลยลักษณะหนังศีรษะหนา สีขาว เหมือนฝ่าเท้าที่เป็นตาปลา เสียดสีเรื้อรัง มันจะหนาขึ้น คล้ายๆ ข้อศอกด้าน เป็นปื้นหนา”
       
       
สรุป คงความเป็นธรรมชาติดีที่สุด เพราะนั่นคือ ความงามที่แท้จริง



Create Date : 24 สิงหาคม 2555
Last Update : 24 สิงหาคม 2555 7:49:06 น. 0 comments
Counter : 811 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






Friends' blogs
[Add ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.