Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2555
 
3 กรกฏาคม 2555
 
All Blogs
 
เมื่อลูกของเราเป็นเด็กเรียนรั้งท้าย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เก่ง/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

       

จำได้ว่าเมื่อสมัยครั้งเป็นเด็กนักเรียน บรรดาเด็กเรียนดีเรียนเก่งทั้งหลายจะนั่งอยู่ด้านหน้าของชั้นเรียน ในขณะที่เด็กหัวปานกลางก็จะขยับไปนั่งแถวกลาง ๆ ของชั้น และแน่นอนบรรดาเด็กเรียนอ่อนก็มักไปนั่งอยู่ท้ายห้อง เรียกว่าแทบเป็นธรรมชาติของชั้นเรียนในห้องแทบทุกยุคสมัย
       
       ขณะอยู่ในห้องเรียนคุณครูก็มักจะชื่นชมชื่นชอบเด็กเรียนดีหรือเด็กหน้าชั้น เพราะตั้งใจเรียน ครูก็จะให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในขณะที่เด็กหลังห้องกลับไม่ได้รับความสนใจ หรือไม่ก็มักถูกดุอยู่เป็นประจำ
       บรรดาเด็กหลังห้องที่เรียนอ่อนอยู่แล้ว เมื่อไม่ได้รับความสนใจก็ยิ่งไม่สนใจเรียนเข้าไปอีก และอาจกลายเป็นเด็กเกเรไปในที่สุดก็มีจำนวนไม่น้อย
       
       เราต้องยอมรับว่าในสังคมนี้เปิดพื้นที่ให้สำหรับเด็กที่เก่งวิชาการเป็นอย่างมาก ในขณะที่โครงสร้างการศึกษาบ้านเราก็มุ่งเน้นไปในเรื่องการแข่งขัน และใช้ระบบแพ้คัดออกตลอดตั้งแต่เล็ก ยิ่งเท่ากับเป็นการกำหนดทิศทาง เปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้เด็กเรียนเก่งเท่านั้น 
       
       เด็กเรียนดีเรียนเก่งมักได้รับการยอมรับทั้งจากพ่อแม่ คุณครู คนรอบข้าง รวมไปถึงผู้คนในสังคม เพราะทำให้ได้รับการนับหน้าถือตา และมักได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันทางด้านวิชาการสารพัดรายการ รวมไปถึงการแข่งขันเพื่อไปสู่เป้าหมายของการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
       
       คำถามก็คือ แล้วเด็กที่เรียนรั้งท้ายหรือเรียนไม่เก่งล่ะ เด็กเหล่านี้ไม่มีที่ยืนหรือ พวกเขาไปอยู่ที่ไหน สังคมเปิดพื้นที่ให้เด็กเหล่านี้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด
       

       แล้วเด็กรั้งท้ายเหล่านี้หมายความว่าเป็นเด็กไม่เก่งกระนั้นหรือ..!!
       
       ที่ผ่านมาเราให้คุณค่าและส่งเสริมให้เด็กเรียนเก่งทางวิชาการ เราจึงพบเห็นสถาบันกวดวิชาเต็มบ้านเต็มเมือง เพราะพ่อแม่ต่างก็อยากช่วงชิงให้ลูกเป็นเด็กเก่ง เป็นที่หนึ่ง เพราะรู้ว่าจะทำให้มีโอกาสในอนาคตมากในสังคมยุคนี้
       
       ด้วยสภาพสังคมที่เน้นเรื่องการแข่งขันทางด้านวิชาการอย่างระห่ำ ทำให้เราต้องสูญเสียศักยภาพของเด็กจำนวนมากที่เขาเก่งในเรื่องอื่น แต่เด็กขาดโอกาส ขาดการได้รับการส่งเสริมตั้งแต่ในบ้าน ความไม่รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพอย่างอื่น และขาดการรับรู้ว่าแม้เรียนไม่เก่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความสามารถในด้านอื่นๆ
       
       เด็กจำนวนมากที่เรียนไม่เก่ง แล้วถูกพ่อแม่เคี่ยวเข็ญต่าง ๆ นา ๆ ด้วยเหตุผลเพื่ออนาคตของลูก แต่หารู้ไม่ว่าเท่ากับเป็นการทำร้ายลูก และทำลายศักยภาพในตัวลูกอีกต่างหาก
       
       ถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมไปถึงครูบาอาจารย์ลองเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมอง แล้วหันมามองเด็กอย่างเข้าใจและช่วยค้นหาศักยภาพ ความถนัดของเด็ก จากนั้นก็ส่งเสริมสนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่ถนัดและชอบ คุณอาจจะพบว่าเด็กคนนั้นมีความสามารถพิเศษสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างน่าทึ่งก็ได้
       

       อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ในบ้านเราอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเข้าใจและความคิดที่ว่าเด็กเรียนอ่อนหรือเรียนไม่เก่งหรือเด็กรั้งท้าย คือ เด็กขี้เกียจ ไม่ใส่ใจเรื่องการเรียน ไม่มีความพยายาม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจัยที่ทำให้เด็กเรียนดีมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งเรื่องกรรมพันธุ์ สติปัญญา สภาพอารมณ์ หรือแม้แต่เด็กบางคนหัวดีแต่ผลการเรียนต่ำก็มีถมไป อาจเป็นเพราะมีปัญหาในช่วงระยะเวลานั้น ๆ ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งตัดสินเด็กด้วยผลการเรียนอย่างเดียว
       
       แล้วถ้าลูกของเราเป็นเด็กเรียนรั้งท้ายล่ะ พ่อแม่ควรทำอย่างไร
       
       ประการแรก ประเมินศักยภาพลูกของเราด้วยสายตาที่เป็นจริง ไม่ใช่สายตาที่พ่อแม่อยากให้เป็น เพราะมันจะมีความแตกต่างกันมาก จากนั้นเมื่อพบว่าลูกของเราเข้าข่ายเด็กเรียนไม่เก่งหรือเด็กรั้งท้ายในเรื่องวิชาการ ก็ควรต้องยอมรับว่าลูกของเราไม่ใช่เด็กหัวดีประเภทหน้าห้อง แต่ก็ควรส่งเสริมให้ลูกตั้งใจเรียนให้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ และมีความสุขกับการเรียน อย่าพยายามกดดันเปลี่ยนตัวตนของลูกด้วยการให้ลูกเรียนพิเศษเพื่อจะได้เรียนเก่งเหมือนคนอื่น
       
       ประการที่สอง ส่งเสริมให้ลูกเรียนหนังสืออย่างมีความสุข ไม่กดดัน โดยพ่อแม่เข้าไปมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้เขารับผิดชอบต่อการเรียนของตัวเอง ทำให้เต็มที่ และให้ความมั่นใจกับลูกว่า ไม่ว่าผลการเรียนออกมาจะเป็นอย่างไรถ้าลูกทำเต็มที่แล้ว พ่อแม่ก็ภูมิใจในตัวลูก
       
       ประการที่สาม ให้กำลังใจลูกถ้าเพียงลูกเรียนได้คะแนนดีขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็ควรให้ความชื่นชมและส่งเสริมแรงบวก ไม่ใช่โวยวายดุว่า ที่ทำไมพยายามแล้วทำคะแนนได้เท่านี้เองหรือ
       
       ประการที่สี่ ลดความคาดหวังลง กรณีที่ลูกเรียนเก่งอยู่แล้ว ก็มักเป็นที่คาดหวังของพ่อแม่ อยากให้ได้เรียนที่ดี ๆ ได้เกรดดี ๆ แต่สำหรับคนที่เรียนไม่ดี พ่อแม่ก็ควรลดความคาดหวังลง ไม่ต้องถึงขนาดเคี่ยวเข็ญมาก ขอให้เรียนจบไม่สอบตกก็พอ ก็จะทำให้ลูกไม่ต้องกดดันมากจนเกินไป เขายังสามารถเดินตามความฝันของเขาได้เต็มที่แบบไม่ต้องเครียด
       
       ประการที่ห้า ให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง อย่าไปแคร์ว่าใครจะมาล้อเลียน หรือเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร ขอให้เปรียบเทียบกับตัวเองก็พอ ให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือเรียนได้ดีขึ้นในระดับที่ตัวเองพอใจ
       
       ประการสุดท้าย ค้นหาศักยภาพในตัวลูก เด็กที่เรียนวิชาการไม่เก่งจำนวนมาก ที่มีความสามารถทางด้านอื่นๆ เพียงแต่อาจไม่เคยรู้ หรือรู้แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่ง ถ้าพ่อแม่ลองสังเกตทักษะทางด้านอื่น ๆ ของลูก ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งเขาอาจจะประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยทักษะที่เขามี และพ่อแม่เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุน รวมถึงยื่นโอกาสให้เขาได้เดินทางชีวิตในหนทางที่ถนัดก็ได้
       
       การเป็นเด็กเรียนเก่งในวันนี้ ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดว่าจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในวันหน้าหรือไม่ เพราะองค์ประกอบของความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเรียนเก่งเท่านั้น ตรงกันข้าม เด็กที่รู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีความถนัดอะไร ทำสิ่งใดได้ดี และมีความชอบเป็นทุนด้วย มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่า
       

       อย่าเพิ่งรีบตัดสินเด็กเพียงเพราะเขาเรียนเก่งอย่างเดียว…
       
       เด็กเรียนไม่เก่ง ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนไม่เก่ง 




Create Date : 03 กรกฎาคม 2555
Last Update : 3 กรกฎาคม 2555 19:25:20 น. 0 comments
Counter : 753 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






Friends' blogs
[Add ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.