กรรม เกิดจาก เจตนา เจตนา คือ ตัวกรรม
Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
20 มกราคม 2555
 
All Blogs
 
สมาธิสูตร .... ว่าด้วยสมาธิเป็นเหตุเกิดปัญญา

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

๕. สมาธิสูตร
ว่าด้วยสมาธิเป็นเหตุเกิดปัญญา
[๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
*เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ. ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง. ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็น
จริงอย่างไร. ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป ความเกิดและความดับแห่งเวทนา ความ
เกิดและความดับแห่งสัญญา ความเกิดและความดับแห่งสังขาร ความเกิดและความดับแห่ง
วิญญาณ.
[๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นความเกิดแห่งรูป อะไรเป็นความเกิดแห่ง
เวทนา อะไรเป็นความเกิดแห่งสัญญา อะไรเป็นความเกิดแห่งสังขาร อะไรเป็นความเกิดแห่ง
วิญญาณ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่.
ก็บุคคลย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ ซึ่งอะไร. ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง
ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป ความยินดีก็เกิดขึ้น ความยินดีในรูป
นั่นเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาส. ความ
เกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้น ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้. บุคคลย่อมเพลิดเพลินซึ่งเวทนา ฯลฯ
ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสัญญา ฯลฯ ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสังขาร ฯลฯ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง
ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ ความยินดีย่อมเกิดขึ้น
ความยินดีในวิญญาณ นั่นเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัสและอุปายาส. ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย นี่เป็นความเกิดแห่งรูป นี่เป็นความเกิดแห่งเวทนา นี่เป็นความเกิดแห่งสัญญา นี่เป็น
ความเกิดแห่งสังขาร นี่เป็นความเกิดแห่งวิญญาณ.
[๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นความดับแห่งรูป อะไรเป็นความดับแห่งเวทนา
อะไรเป็นความดับแห่งสัญญา อะไรเป็นความดับแห่งสังขาร อะไรเป็นความดับแห่งวิญญาณ?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่.
ก็ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งอะไร. ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อม
ไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป ความ
ยินดีในรูปย่อมดับไป เพราะความยินดีของภิกษุนั้นดับไป อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ
ภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้. ภิกษุย่อมไม่
เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำ ซึ่งเวทนา ... ซึ่งสัญญา ... ซึ่งสังขาร ...
ซึ่งวิญญาณ เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งเวทนา ... ซึ่งสัญญา ... ซึ่งสังขาร ...
ซึ่งวิญญาณ ความยินดีในเวทนา ... ในสัญญา ... ในสังขาร ... ในวิญญาณ ย่อมดับไป เพราะความ
ยินดีของภิกษุนั้นดับไป อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกอง
ทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความดับแห่งรูป นี้เป็นความดับ
แห่งเวทนา นี้เป็นความดับแห่งสัญญา นี้เป็นความดับแห่งสังขาร นี้เป็นความดับแห่งวิญญาณ.
จบ สูตรที่ ๕.

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๒๙๓ - ๓๓๑. หน้าที่ ๑๓ - ๑๔. //www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=293&Z=331&pagebreak=0 ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- //www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=27 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ //www.84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๑๗ //www.84000.org/tipitaka/read/?index_17


อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ นกุลปิตวรรคที่ ๑
สมาธิสูตร

อรรถกถาสมาธิสูตรที่ ๕
ในสมาธิสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นผู้เสื่อมจากความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งแล้ว ทรงทราบว่า เมื่อภิกษุเหล่านี้ได้ความมีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง กรรมฐานจักเจริญ ดังนี้แล้วจึงได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า สมาธึ เป็นต้น
บทว่า อภินนฺทติ ได้แก่ย่อมปรารถนา.
บทว่า อภิวทติ ความว่า ภิกษุย่อมกล่าวด้วยความยินดียิ่งนั้นว่า แหมอารมณ์นี้ช่างน่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ ดังนี้
อนึ่ง เมื่อเธอยินดียิ่งซึ่งอารมณ์นั้นอาศัยอารมณ์นั้นทำให้เกิดความโลภขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่าย่อมกล่าวยกย่อง.
บทว่า อชฺโฌสาย ติฏฺฐติ ได้แก่ กลืนเสร็จสรรพรับไว้.
บทว่า ยา รูเป นนฺทิ ได้แก่ ความเพลิดเพลินกล่าวคือความปรารถนาในรูปอย่างแรงกล้า.
บทว่า ตทุปฺปาทานํ คือ ชื่อว่าอุปาทาน เพราะอรรถว่ายึดมั่นอารมณ์นั้น.
บทว่า นาภินนฺทติ ได้แก่ ไม่ปรารถนา.
บทว่า นาภิวทติ ความว่า เธอย่อมไม่กล่าวว่า อารมณ์น่าปรารถนา น่าใคร่ ด้วยอำนาจแห่งความปรารถนา คือ ภิกษุผู้มีจิตใจประกอบด้วยวิปัสสนาแม้เมื่อทำการเปล่งวาจาว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ก็ชื่อว่าย่อมไม่กล่าวยกย่องทั้งนั้น.

จบอรรถกถาสมาธิสูตรที่ ๕
๑๑. สัจจสังยุต
สมาธิวรรคที่ ๑
สมาธิสูตร
ผู้มีใจตั้งมั่นย่อมรู้ตามความเป็นจริง
[๑๖๕๔] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุผู้มีใจ
ตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ย่อมรู้อะไรตามความเป็นจริง ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า
นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุ
ผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย
พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธ-
*คามินีปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๑

อ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

โรหิตัสสวรรคที่ ๕
สมาธิสูตร
[๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้ ๔ ประการ
เป็นไฉน คือ สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป
เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันมีอยู่ ๑ สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มาก
แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะมีอยู่ ๑ สมาธิภาวนาอันบุคคล
เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ ๑ สมาธิภาวนา
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะมีอยู่ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็น
ไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจาก
อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุ
ทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก
ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ มีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระ
อริยะสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน
ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคล
เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็น
ไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มนสิการอาโลก-
*สัญญา อธิษฐานทิวาสัญญา ๑- ว่า กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือน
กลางคืน มีใจอันสงัด ปราศจากเครื่องรัดรึง อบรมจิตให้มีความสว่างอยู่ ดูกร-
*ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็น
ไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว
@๑. ความสำคัญหมายว่ากลางวัน
กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้
รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่ดับไป รู้แจ้งสัญญาที่
เกิดขึ้น รู้แจ้งสัญญาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งสัญญาที่ดับไป รู้แจ้งวิตกที่เกิดขึ้น
รู้แจ้งวิตกที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งวิตกที่ดับไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคล
เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้น
อาสวะเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปรกติพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความ
เสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้
ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นดังนี้ ความ
ดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้ สัญญาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นดังนี้
ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้ สังขารเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นดังนี้
ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้ วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้
ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคล
เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง คำต่อไปนี้ เรากล่าวแล้ว
ในปุณณปัญหาในปรายนวรรค หมายเอาข้อความนี้ว่า
ความหวั่นไหวไม่มีแก่บุคคลใด ในโลกไหนๆ เพราะรู้ความ
สูงต่ำในโลก บุคคลนั้นเป็นผู้สงบปราศจากควันคือความโกรธ
เป็นผู้ไม่มีความคับแค้น เป็นผู้หมดหวัง เรากล่าวว่า ข้าม
ชาติและชราได้แล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๑

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๑๑๘๘ - ๑๒๓๓. หน้าที่ ๕๒ - ๕๓. //www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=21&A=

อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ โรหิตัสสวรรคที่ ๕
๑. สมาธิสูตร

โรหิตัสสวรรคที่ ๕
อรรถกถาสมาธิสูตรที่ ๑
พึงทราบวินิจฉัยในสมาธิสูตรที่ ๑ วรรคที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ญาณทสฺสนปฏิลาภาย ความว่า เพื่อได้ญาณทัสนะคือทิพยจักษุ.
บทว่า ทิวา สญฺญํ อธิฏฺฐาติ ความว่า ย่อมตั้งความกำหนดหมายอย่างนี้ว่ากลางวัน ดังนี้.
บทว่า ยถา ทิวา ตถา รตฺตึ ความว่า ทำในใจถึงอาโลกสัญญาความกำหนดหมายว่าแสงสว่างในเวลากลางวันฉันใด ย่อมทำในใจถึงอาโลกสัญญานั้น แม้ในกลางคืนก็ฉันนั้นนั่นแหละ.
แม้ในบทที่สองก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า สปฺปภาสํ ได้แก่ มีแสงสว่างคือทิพยจักษุญาณ แม้ทำจิตให้เป็นเสมือนแสงสว่างได้แล้วก็จริง ถึงกระนั้น บัณฑิตก็พึงกำหนดเนื้อความอย่างนี้. แต่ในที่นี้ท่านประสงค์แสงสว่างคือทิพยจักษุญาณ.
บทว่า วิทิตา ได้แก่ ปรากฏแล้ว.
ถามว่า อย่างไร เวทนาที่รู้แล้ว ชื่อว่าเกิดขึ้น ที่รู้แล้ว ชื่อว่าดับไป.
ตอบว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมกำหนดวัตถุ ย่อมกำหนดอารมณ์ เพราะภิกษุนั้นกำหนดวัตถุและอารมณ์แล้ว เวทนาที่รู้อย่างนี้ว่าเวทนาเกิดขึ้นอย่างนี้ ตั้งอยู่อย่างนี้ ดับไปอย่างนี้ ชื่อว่าเกิดขึ้น ที่รู้แล้ว ชื่อว่าตั้งอยู่ ที่รู้แล้ว ชื่อว่าดับไป. แม้ในสัญญาและวิตกก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า อุทยพฺพยานุปสฺสี แปลว่า พิจารณาเห็นความเกิดและความเสื่อม.
บทว่า อิติ รูปํ ความว่า รูปเป็นอย่างนี้ รูปมีเท่านี้ รูปอื่นนอกนี้ไม่มี.
บทว่า อิติ รูปสฺส สมุทโย ความว่า ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้.
ส่วนบทว่า อตฺถงฺคโม ท่านหมายถึงความแตกดับ.
แม้ในเวทนาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า อิทญฺจ ปน เม ตํ ภิกฺขเว สนฺธาย ภาสิตํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำเป็นต้นว่า สงฺขาย โลกสฺมิ ใด เรากล่าวแล้ว ในปุณณกปัญหา (โสฬสปัญหา). คำนั้นเรากล่าวหมายถึงผลสมาบัตินี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า สงฺขาย ได้แก่ รู้ด้วยญาณ.
บทว่า โลกสฺมิ ได้แก่ ในโลกคือหมู่สัตว์.
บทว่า ปโรปรานิ ได้แก่ ความยิ่งและหย่อน คือสูงและต่ำ.
บทว่า อิญฺชิตํ ได้แก่ ความหวั่นไหว.
บทว่า นตฺถิ กุหิญฺจิ โลเก ความว่า ความหวั่นไหวของผู้ใด ในที่ไหนๆ ไม่ว่าจะในขันธ์หนึ่งก็ดี อายตนะหนึ่งก็ดี ธาตุหนึ่งก็ดี อารมณ์หนึ่งก็ดี ย่อมไม่มีในโลก.
บทว่า สนฺโต ความว่า ผู้นั้นเป็นคนสงบ เพราะสงบกิเลสที่เป็นข้าศึก.
บทว่า วิธูโม ความว่า เป็นผู้ปราศจากกิเลสดุจควัน เพราะควันคือความโกรธ.
ในพระสูตรนี้ ตรัสถึงเอกัคคตาในมรรค ในคาถาตรัสผลสมาบัติอย่างเดียวด้วยประการฉะนี้แล.

จบอรรถกถาสมาธิสูตรที่ ๑
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ โรหิตัสสวรรคที่ ๕ ๑. สมาธิสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 40อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 41อ่านอรรถกถา 21 / 42อ่านอรรถกถา 21 / 274
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
//www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=1188&Z=1233

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อนุโมทนาสาธุ


Create Date : 20 มกราคม 2555
Last Update : 20 มกราคม 2555 22:28:51 น. 3 comments
Counter : 1182 Pageviews.

 

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ ค่ะ


โดย: กิ่งไม้ไทย วันที่: 21 มกราคม 2555 เวลา:14:18:35 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ค่ะคุณ shadee..


ฟ้ามาอวยพรเนื่องในวันตรุษจีนนี้ค่ะ ขอให้คุณคิดหวังสิ่งใดจงได้สมหวัง...
สมปรารถนา มีแต่ความสุขมั่งคั่ง สุขภาพแข็งแรง
โชคดีร่ำรวยตลอดปี นะคะ




โดย: พิรุณร่ำ วันที่: 22 มกราคม 2555 เวลา:8:00:37 น.  

 
สาธุ ครับ


โดย: ปชาบดี IP: 180.24.186.43 วันที่: 5 กันยายน 2560 เวลา:22:23:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

shadee829
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add shadee829's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.