กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤศจิกายน 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
21 พฤศจิกายน 2566
space
space
space

ถึงยังเสพกามสุข ก็ต้องมีปัญญารักษาอิสรภาพไว้


235 พระพุทธเจ้ายืนยันว่า ทรงมีความสุขยิ่งกว่าบุคคลที่โลกถือว่ามีความสุขที่สุด

     พระพุทธเจ้าเอง ก็ทรงยืนยันว่า พระองค์ทรงมีความสุขอย่างยิ่ง สุขยิ่งกว่าบุคคลที่โลกถือกันว่ามีความสุขที่สุด คือพระราชามหากษัตริย์

     ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบพวกนักบวชนิครนถ์ ซึ่งกำลังบำเพ็ญตบะ ประพฤติพรตทรมานตนต่างๆ และทรงสนทนากับนิครนถ์เหล่านั้น เกี่ยวกับข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดหมายแห่งศาสนาของเขา

     พวกนิครนถ์บำเพ็ญตบะทรมานตน  เพราะเขาถือหลักการอย่างหนึ่งว่า ความสุขจะบรรลุด้วยความสุขหาได้ไม่ ความสุขจะบรรลุได้ด้วยความทุกข์ และเพื่อให้มีหลักฐานเสริมคำอ้างของตน พวกนิครนถ์ก็ยกเอาพระเจ้าพิมพิสารมาเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้าว่า ถ้าคนลุถึงความสุขได้ด้วยความสุขละก็ พระเจ้าพิมพิสารก็จะต้องทรงบรรลุความสุข  (หมายถึงความสุขสูงสุดที่เป็นจุดหมายของศาสนา) เพราะพระเจ้าพิมพิสารเป็นอยู่สุขสบายกว่าพระพุทธองค์

     การที่พวกนิครนถ์กล่าวอย่างนี้ ก็เพราะพูดไปตามความรู้สึกสามัญที่ว่า พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีทรัพย์สมบัติและพระราชอำนาจพรั่งพร้อมบริบูรณ์ทุกอย่างทุกประการ ก็คงเป็นอยู่สุขสบายกว่าพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงสละโลกิยสมบัติแล้ว เที่ยวจาริกเร่ร่อนไปประทับนอนตามภูผาป่าไม้ และปฏิบัติศีลวัตรทางศาสนา ซึ่งก็คงทุกข์ยากลำบากลำบนเหมือนกับพวกตน

     แต่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธโดยทรงแสดงให้เห็นว่า แม้แต่หลักฐานที่พวกนิครนถ์ยกขึ้นอ้างเพื่อสนับสนุนหลักการของพวกตนนั้น ก็เป็นหลักฐานที่ผิดพลาด ใช้ไม่ได้เสียแล้ว เพราะพระเจ้าพิมพิสารมิได้มีความสุขกว่าพระองค์เลย แต่ตรงข้าม พระองค์มีความสุขยิ่งกว่าพระเจ้าพิมพิสาร

     อย่างไรก็ตาม การที่จะพิสูจน์ว่าพระองค์มีความสุขกว่าพระเจ้าพิมพิสาร ถ้ามองด้วยสายตาของคนสามัญ ย่อมเห็นได้ยาก เพราะคนทั่วไปย่อมมองที่ความเป็นอยู่อันพรั่งพร้อมสมบูรณ์ภายนอก   เหมือนอย่างที่พวกนิครนถ์มองนั่นเอง   เช่นดูที่ทรัพย์สมบัติ อำนาจ ยศศักดิ์ บริวาร เป็นต้น ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสละหมดแล้ว และซึ่งว่าโดยความจริงแล้ว ก็ไม่อาจใช้วัดความสุขที่แท้จริงของคนได้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงเสนอข้อพิสูจน์ด้วยสิ่งเหล่านั้น

     แต่การที่จะวัดความสุขแท้จริงภายในใจ ซึ่งมองไม่เห็น  ก็ทำได้ยาก  พระพุทธเจ้าจึงทรงเสนอข้อพิสูจน์ซึ่งวัดความสุขภายใน  ชนิดที่แสดงออกมาให้เห็นได้ภายนอกอย่างชัดเจน เป็นข้อตัดสินให้เห็นชัดได้เด็ดขาด   โดยตรัสถามว่า   พระเจ้าพิมพิสารจะประทับนั่ง ไม่ไหวติงร่างกาย ไม่พูดอะไรเลย   อยู่เสวยแต่ความสุขอย่างเดียวล้วนๆ ตลอดเวลา ๗ วัน หรือแม้แต่เพียงชั่วคืนเดียววันเดียว  ได้หรือไม่  ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ได้   แล้วตรัสถึงพระองค์เองบ้างว่า ทรงสามารถประทับนิ่ง ไม่ไหวติงร่างกาย  ไม่พูดอะไรเลย   เสวยแต่ความสุขอย่างเดียวล้วนๆ ตลอด ๒ วันก็ได้ ๓ วันก็ได้ ตลอดจน ๗ วันก็ได้   พวกนิครนถ์จึงยอมรับว่า   พระพุทธเจ้าทรงมีความสุขยิ่งกว่าพระเจ้าพิมพิสาร  (ม.มู.12/220/187)

     ท่านเปรียบปีติความเอิบอิ่มใจที่ได้จากกามคุณทั้ง ๕ ว่า  เป็นเหมือนจุดไฟโดยใช้หญ้าและไม้ เป็นต้น เป็นเชื้อ ถึงจะมีแสงสว่าง แต่ก็ไม่เจิดจ้าแจ่มนวลมากนัก เพราะมีสิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง เช่น ควัน เป็นต้น ส่วนปีติที่ไม่ต้องอาศัยกาม ไม่อาศัยอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นเหมือนจุดไฟที่ไม่ต้องใช้หญ้าและไม้เป็นเชื้อ แสงสว่างจะบริสุทธิ์ใสนวลแจ่มจ้า ไม่มีควันหรือมลทินใดรบกวน  (ม.ม.13/724/659 ฯลฯ. ตามความในสูตรว่า   ไฟที่จุดโดยไม่ใช้หญ้าและไม้เป็นเชื้อกัน เป็นเพียงข้อสมมติ เป็นไปไม่ได้ในเวลานั้น นอกจากบันดาลด้วยฤทธิ์ แต่ในสมัยปัจจุบัน พอจะเห็นว่ามีฤทธิ์สมัยใหม่ที่จะทำไฟเช่นนั้นได้)


235 เทียบกามสุขต่ำไว้ เพื่อให้เร่งพัฒนาความสุข จะได้มีสุขที่เลือกได้ และก้าวขึ้นไปให้ถึงสุขที่สูงสุด


     เมื่อมีความสุขที่ประณีตกว่าเข้ามาเทียบ   ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่กามสุขจะตกต่ำ มีค่าน้อย ดังคำที่ท่านใช้เรียกกามสุขโดยเปรียบเทียบกับฌานสุขว่า  กามสุข  เป็นปุถุชนสุข (สุขของปุถุชน) เป็นมีฬหสุข (สุขเลอะเทอะ หรือสุขหมักหมม) เป็นอนริยสุข (สุขของผู้ยังไม่เป็นอริยะ) พร้อมทั้งบรรยายโทษว่า เป็นสิ่งที่มีทุกข์ มีความอึดอัด ข้องขัด คับแค้น และเร่าร้อน เป็นมิจฉาปฏิปทา คือทางดำเนินที่ผิด

     ทั้งนี้  ตรงข้ามกับ ฌานสุข หรือสุขด้านใน (อัชฌัตตสุข) ซึ่งเป็นเนกขัมมสุข (สุขปลอดจากกาม) เป็นปวิเวกสุข (สุขอิงความสงัด) เป็นอุปสมสุข (สุขที่ช่วยให้เกิดความสงบ หรือช่วยให้บรรลุนิพพาน) เป็นสัมโพธิสุข (สุขที่ช่วยให้ตรัสรู้) และมีลักษณะที่เป็นคุณ คือ เป็นสิ่งที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีความอึดอัดขัดข้องคับแค้น ไม่มีความเร่าร้อน และเป็นสัมมาปฏิปทา คือทางดำเนินหรือข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นอิสระหลุดพ้น หรือนิพพาน  (ม.อุ.14/659/427)

     อย่างไรก็ตาม   การที่ท่านมักพูดกด และแสดงโทษของกามสุข อย่างมากมาย และบ่อยครั้งนี้ ไม่พึงมองเป็นว่าท่านตั้งหน้าตั้งตาจะประณาม หรือ มุ่งเหยียดหยามกามสุข

     ในแง่หนึ่ง   อาจจะมองว่า   ท่านพยายามชี้ให้เห็นความจริงตามสภาวะที่มันเป็นอยู่นั่นเอง แต่ใจปุถุชนมีกิเลสลุ่มหลงมันอยู่ จึงเห็นเป็นว่าท่านว่ารุนแรง

     อีกแง่หนึ่ง มองได้ว่า ในการเปรียบเทียบกันนั้น เมื่อกามสุขที่คนนิยมกันอยู่ ท่านยังว่าต่ำด้อยค่าถึงเพียงนี้ ก็ย่อมเป็นการเชิดชูสุขอย่างประณีตที่ท่านนำมาวางเทียบ ให้เห็นสูงเด่นชัดเจนยิ่งขึ้น

     แต่แง่แท้ที่ควรมอง ก็คือ เพราะเหตุที่กามสุขเป็นบ่วงรัด หรือเป็นกับดักที่เหนี่ยวแน่น คนทั้งหลายลุ่มหลงกันนัก ยากที่จะปลีกตัวออกได้ ท่านจึงระดมตีกามสุขให้หนัก พร้อมกับยกย่องแสดงคุณของสุขที่ประณีตขึ้นไป เพื่อเป็นการเร่งเร้าชักชวนให้คนพากันขมีขมันปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงที่ประณีตนั้น โดยไม่นิ่งนอนใจ

     อนึ่ง ในทางปฏิบัติ ก็มิใช่ว่า ท่านที่บรรลุสุขประณีตแล้ว จะละทิ้งเลิกราจากกามสุขทันทีเสมอไป หลายท่านก็ยังดำเนินชีวิตโดยเสพเสวยสุขควบกันไปทั้งสองอย่าง หรือทั้งสองระดับ

     ในกรณีนี้   ก็เท่ากับว่า ท่านที่บรรลุความสุขประณีตอย่างสูงแล้ว มีทางเลือกในการเสวยสุขมากขึ้น เป็นผู้ได้กำไร หรือได้เปรียบในเรื่องความสุข เหนือกว่าคนทั่วไป

     รวมความแล้ว   จุดมุ่งของท่านอยู่ที่ต้องการให้ไม่ประมาท และให้ตระหนักว่า ถึงอย่างไรๆ ไม่ว่าจะละเลิกกามสุขหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่จะทำก็คือ จะต้องพยายามทำความสุขที่ประณีตให้เกิดขึ้นแก่ตนให้ได้ หรือจะต้องหาทางรู้จักมัน ได้ประสบมันประจักษ์กับตัวบ้างให้ได้ และพัฒนาสุขที่สูงขึ้นไป จนถึงความสุขที่สูงสุด



235 ถึงจะยังบริโภคกามสุข  ก็ต้องมีปัญญารักษาอิสรภาพไว้  รู้หนทางปลอดภัยจากกามทุกข์


     อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่า ตามปกติ กามสุข กับ ความสุขอย่างประณีตนั้น ไปด้วยกันไม่ค่อยได้ เพราะกามสุขพัวพันอยู่กับอารมณ์ที่ให้ตื่นเต้น ประกอบด้วยความเร่าร้อนกระวนกระวาย หาอารมณ์มาสนองระงับให้เกิดความสงบ ส่วนความสุขประณีตเริ่มต้นจากความสงบ ดังจะเห็นว่า ฌานสุขจะเกิดขึ้น ต่อเมื่อจิตสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายก่อน

     ดังนั้น สำหรับปุถุชน การที่จะเสวยทั้งกามสุข และทั้งได้ความสุขประณีต โดยเฉพาะฌานสุขด้วย จึงเป็นไปได้ยาก เพราะปุถุชนพอใจอะไรแล้ว มักติด มักหมกมุ่นหลงใหลง่าย เมื่อฟุ้งซ่านกระวนกระวายเพริดไปด้วยแรงปรารถนากามสุขแล้ว ก็ยากที่จะให้สงบเข้าสู่แนวแห่งฌานสุข จึงปรากฎเรื่องราวที่ฤษีและนักบวชเสื่อมจากฌาน เพราะติดใจกามกันบ่อยๆ ต่อเมื่อเป็นอริยชน อย่างบุคคลโสดาบัน จึงจะอยู่กับกามสุขได้ด้วยดีโดยปลอดภัย


     ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนย้ำให้รู้จักวางใจอย่างถูกต้องต่อกามสุข ให้มีปัญญาที่จะสลัดตัวออกได้ ดังท่าทีในการปฏิบัติที่ตรัสไว้ต่อไปนี้

     ในปาสราสิสูตร (ม.มู.12/328/333) ท่านเปรียบกามคุณเหมือนบ่วงดักของนายพราน แล้วกล่าวถึงสมณพราหมณ์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ไว้ ๓ พวก


     พวกที่หนึ่ง คือ สมณพราหมณ์ที่บริโภคกามคุณทั้ง ๕  โดยมีความติด หลงใหล หมกมุ่น ไม่รู้เท่าทันเห็นโทษ ไม่มีปัญญาพาตัวรอด เป็นเหมือนเนื้อป่าที่ติดบ่วงและนอนทับบ่วงอยู่ ย่อมจะประสบความเสื่อม ความพินาศ ถูกพรานทำเอาได้ตามปรารถนา

     พวกที่สอง คือ สมณพราหมณ์ที่บริโภคกามคุณทั้ง ๕ โดยไม่ติด ไม่หลงใหล ไม่หมกมุ่น รู้เท่าทันเห็นโทษ มีปัญญาพาตัวรอดได้ เป็นเหมือนเนื้อป่าที่นอนทับบ่วง แต่ตัวไม่ติดบ่วง ย่อมจะไม่ประสบความเสื่อมความพินาศ ไม่ถูกพรานคือมารร้ายทำอะไรเอาตามปรารถนา

     พวกที่สาม คือ ภิกษุที่สงัดจากกาม ปลอดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ได้บรรลุรูปฌาน และอรูปฌาน ขั้นใดขั้นหนึ่ง ตลอดจนบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธและเป็นผู้สิ้นอาสวะแล้ว (ประสบสุขประณีตสูงสุดแล้ว) ได้ชื่อว่าทำให้มารตาบอด มองไม่เห็นร่องรอย ถึงภาวะที่มารมองไม่เห็น เป็นเหมือนเนื้อป่าเที่ยวไปในป่าใหญ่ จะเดินจะนั่งจะนอน ก็ปลอดโปร่งเบาใจ เพราะไม่อยู่ในสายตาของนายพราน

     ข้อที่ต้องการในพระสูตรนี้ ก็คือ ตามความในสูตรนี้ จะเห็นว่า พระพุทธเจ้ามิได้ทรงเพ่งแต่จะสอนให้ละเลิกความเกี่ยวข้อกับกามคุณไปถ่ายเดียว แต่ทรงสอนให้รู้จักปฏิบัติต่อกามคุณอย่างถูกต้อง โดยยังคงความเป็นอิสระอยู่ได้ ไม่ตกไปเป็นทาสของกามคุณ และมิให้กามคุณกลายเป็นสิ่งก่อโทษทุกข์ภัย

     การเกี่ยวข้องเสพกามคุณตามแบบของสมณพราหมณ์พวกที่สอง  นับว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่พึงเน้นมากที่สุดสำหรับคนทั่วไป ตามวิธีปฏิบัติแบบนี้ คำแสดงหลักที่ควรสังเกตเป็นพิเศษ คือคำว่า ปัญญาพาตัวรอด ซึ่งแปลจาก “นิสสรณปัญญา” จะแปลว่า ปัญญารู้ทางรอดก็ได้ หมายถึง ปัญญาที่รู้จักทำตนให้เป็นอิสระได้ อาจเรียกแบบง่ายๆว่า ปัญญาที่ทำให้ตัณหาล่อเอาไว้ไม่อยู่ หรือปัญญาที่ทำให้ตัณหาดักไม่ติด


     นิสสรณปัญญา นี้ ตามปกติอรรถกถาทั้งหลายอธิบายว่า หมายถึงการรู้จักพิจารณาเมื่อบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ โดยมองถึงความมุ่งหมายที่แท้จริงของการบริโภคสิ่งเหล่านั้น คือ มองที่ตัวประโยชน์ หรือคุณค่าที่แท้ของสิ่งเหล่านั้นต่อชีวิต เช่น ใช้เครื่องนุ่งห่มเพื่อป้องกันหนาวร้อนแดดลมเหลือบยุง และปกปิดที่อาย มิใช่มุ่งเพื่อยั่วยวนอวดโก้หรูหรา เป็นต้น บริโภคอาหารเพื่อยังชีพให้ร่างกายมีกำลังอยู่สบายทำกิจได้ด้วยดี มิใช่เพื่อสนุกสนานมัวเมาหรืออวดโก้ฟุ้งเฟ้อ เป็นต้น

     การรู้จักบริโภคโดยใช้ปัญญาพิจารณาอย่างนี้ นอกจากจะทำให้จิตใจเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ ไม่ก่อให้เกิดโทษ และความทุกข์ ที่เกิดจากการวกเวียนวุ่นอยู่ในวงจรอันคับแคบแห่งความหงุดหงิดดีใจเสียใจ สมใจผิดหวังแล้ว ยังทำให้เกิดความพอดีในการบริโภคหรือใช้สอย ซึ่งเป็นคุณแก่ชีวิตอีกด้วย ท่านจึงเรียก การปฏิบัติด้วยนิสสรณปัญญา ว่าเป็นความรู้จักประมาณ

     ผู้ปฏิบัติถูกต้องต่อกามสุข ย่อมก้าวหน้าไปสู่สุขที่ประณีตได้ง่ายขึ้น เมื่อประสบสุขประณีตแล้ว สุขประณีตน้้น ก็กลับเป็นเครื่องช่วยควบคุมการแสวงหาและการเสพกามสุข ให้อยู่ในขอบเขตแห่งความถูกต้องดีงาม เพราะบุคคลผู้นั้นเห็นคุณค่าของสุขประณีตที่สุขกว่า และความสุขประณีตต้องอาศัยกุศลธรรม

     ครั้นบุคคลนั้นบรรลุภูมิธรรมสูงยิ่งขึ้นไปอีก   ประสบสุขประณีตยิ่งขึ้นไปอีก  ในที่สุดก็จะไม่วกเวียนมาหากามสุขอีกเลย




* ข้อย้ำความหมายของกามคุณ ๕ ว่า มิใช่มีขอบเขตแคบๆ อย่างที่มักเข้าใจกัน รูปสวยงามที่บำเรอตา เสียงไพเราะที่บำเรอหู รสอาหารอร่อยที่ถูกลิ้น สัมผัสที่นั่งที่นอนอ่อนนุ่มเป็นต้นที่ปรนเปรอกาย ล้วนเป็นกามคุณทั้งสิ้น พูดง่ายๆว่า กามมิใช่เฉพาะเรื่องทางเพศเท่านั้น แต่ครอบคลุมสิ่งที่เสพเสวยเพื่ออามิสสุขทั้งหมด ดังนั้น แม้แต่นักบวช ก็ยังเกี่ยวข้องเสพกามคุณได้


 


Create Date : 21 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2566 13:00:29 น. 0 comments
Counter : 235 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space