กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤศจิกายน 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
19 พฤศจิกายน 2566
space
space
space

กลไกชีวิตในการกระทำ


235 กลไกชีวิตในการกระทำ

      มีข้อสงสัยว่า   คนทั้งหลายที่ทำอะไรต่ออะไรต่างๆนี้   ก็ทำด้วยความอยากทั้งนั้น คือ มีความอยากจะทำ จึงทำ และอยากทำอะไร ก็ทำอันนั้น  ถ้าหมดตัณหา ไม่มีความอยากเสียแล้ว ไม่มีตัณหาเป็นแรงชักจูงให้ทำโน่นทำนี่แล้ว ก็ไม่ต้องเคลื่อนไหวอะไรเลย แล้วจะอยู่ได้อย่างไร  มิกลายเป็นคนนิ่งเฉย ไม่กระตือรือร้น ไม่มีชีวิตชีวาไปหรือ คงเป็นอย่างที่เรียกว่า หมดอาลัยตายอยาก

      ข้อสงสัยนี้  ที่จริงไม่ต้องตอบ  เดี๋ยวก็เข้าใจเอง ตอนแรก ขอให้มองง่ายๆ ว่า ที่ว่าทำอะไรต่ออะไรทุกอย่างนั้น ก็รวมอยู่ในการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะทำอะไร ก็เคลื่อนไหวทั้งนั้น (แม้แต่ "ทำการไม่เคลื่อนไหว" ก็ต้องมีการเคลื่อนไหวในใจ)

      เป็นธรรมดาตามธรรมชาติ   การเคลื่อนไหวเป็นลักษณะที่สำคัญของชีวิต  เมื่อเป็นชีวิต  และยังมีชีวิตก็มีการเคลื่อนไหว  ถามว่า   ที่คนสัตว์ทั้งหลายเคลื่อนไหวทำอะไรๆนั้น  เคลื่อนไหวทำไปได้อย่างไร  หรือว่าชีวิตมีกลไกการทำงานอย่างไร   ในการเคลื่อนไหวทำการต่างๆ
 
      อย่างที่เคยพูดแล้ว  คนสัตว์ไม่เหมือนใบไม้กิ่งไม้  ที่สะบัดไหวแกว่งไกวไปตามแรงลม เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก    แต่คนสัตว์เคลื่อนไหวทำอะไรได้เองจากปัจจัยภายใน  แล้วปัจจัยภายในเหล่านั้น มีอะไรบ้าง
 
      เมื่อด้านร่างกายอวัยวะยังดี  พร้อมที่จะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแล้ว ในใจ เริ่มด้วยต้องมีความรู้ว่า ข้างหน้าข้างหลัง   ข้างบนข้างล่าง   ที่ไกลที่ใกล้ ตรงไหนมีหรือไม่มีอะไร  ฯลฯ   พูดอย่างง่ายๆ ว่ารู้ที่ที่จะไปได้ คือ มีความรู้
 
      เมื่อรู้ที่ไปแล้ว   ทีนี้ก็ต้องเลือก  ตกลง  ตัดสินใจว่าจะไปที่ไหน ทางไหน ตลอดจนว่าจะทำอะไร อย่างไร ตัวการในใจที่ทำการตัดสินตกลงใจ หรือตัวเจ้าของอำนาจตัดสินใจนี้ ซึ่งเป็นตัวบงการ หรือ สั่งการนั้น เรียกว่า เจตนา

      ถามต่อไปว่า   เมื่อรู้ที่ที่จะไป  รู้เรื่องที่จะทำแล้ว  เจตนาจะเลือกตัดสินใจไปไหน  จะทำอันใด ตรงนี้แหละสำคัญ คือ เจตนาก็มีแรงจูงใจให้เลือกตัดสินใจ  โดยทำตามแรงจูงใจนั้น  ถ้าพูดให้ง่ายๆ อย่างภาษาชาวบ้าน  แรงจูงใจนี้  ก็คือ ความอยาก   เมื่ออยากไปไหน  อยากได้  อยากทำอะไร  เจตนาก็เลือกตัดสินใจเคลื่อนไหวไปนั่น ไปทำอันนั้น

      ก็ถามต่อไปว่า   ความอยากนี้ คือ อะไร อย่างง่ายๆ ก็บอกว่า ความอยากก็มาจากความชอบใจ และไม่ชอบใจ   ตัวชอบอะไร  อะไรถูกลิ้น  ถูกหู  ถูกตา  ถูกใจ  ก็อยากได้  อยากเอา  อยากกิน อยากเสพ  ฯลฯ   ถ้าอะไรไม่ถูกลิ้น ไม่ถูกหู  ไม่ถูกตา ไม่ถูกใจ  ตัวไม่ชอบ  ก็อยากหนีไปเสีย อยากทิ้ง  อยากทำลาย ฯลฯ   แล้วเจตนาก็ตัดสินใจทำไปตามนั้น   ความอยาก  ที่ชอบใจ  หรือไม่ชอบใจแล้วจะเอาหรือไม่เอานี้  เรียกว่า  ”ตัณหา


     เป็นอันว่า ในการเคลื่อนไหวทำอะไรๆ นี้ มีปัญญาช่วยบอกช่วยส่องสว่างให้ความรู้ว่ามีอะไรอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร แล้วตัณหาอยากจะเอาไม่เอาอะไร  เจตนาก็สั่งให้ชีวิตร่างกายเคลื่อนไหวทำอะไรๆ ไปตามนั้น
 
     แต่ตรงนี้  หยุดนิด มาคิดดูหน่อย   การที่ชีวิตจะเคลื่อนไหว  ทำ  หรือไม่ทำอะไรนี้  ที่จริงนั้น ชีวิตมีความประสงค์  มีความต้องการ    พูดง่ายๆว่า มีความอยากที่ลึกลงไปอีก คือ อยากเป็นอยู่ อยากรอด อยากปลอดภัย อยากแข็งแรงสมบูรณ์ อยากมีความสุข อยากเป็นอยู่ให้ดีที่สุด พูดรวมๆว่า อยากมีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์
 
     ทีนี้ ก็ถามว่า ที่ปัญญารู้ว่ามีอะไรอยู่ที่ไหนตรงไหน เป็นของกินได้ หรือไม่ได้ อร่อยไหม ฯลฯ แล้วตัณหาชอบใจ อยากกิน อย่างไหนที่อร่อยถูกลิ้น ไม่ชอบไม่อยากกินที่เห็นว่าไม่อร่อย แล้วเจตนาก็ให้กินและไม่ให้กินไปตามเสียงชักจูงกระซิบบอกของตัณหานั้น   ถามว่า อย่างนี้แค่นี้พอไหม ที่จะให้มีชีวิตดีงามสุขสมบูรณ์
 
     ตอนนี้  ปัญญาเองนั่นแหละก็จะบอกว่า  รู้แค่นั้นไม่พอหรอก  จะไปพออะไรกัน  มองเห็น  รู้ว่าอันนั้นอร่อย  แถมแต่งสีเสียสวย  น่ากิน  ตัณหาบอกว่าอยากกิน  ลองกินเข้าไปสิ  ก็เหมือนใส่ยาพิษให้ทีละน้อย  นานไปในระยะยาวจะแย่แน่ๆ  ถึงอันโน้นก็เถอะ  ไม่ถึงกับมียาเทียมพิษ  ตัณหาว่าอร่อย  อยากนัก   ลองกินเปิบเข้าไปๆ  ตามใจตัณหาสิ ไม่ช้าหรอก  จะเป็นโรคอ้วน ฯลฯ รู้แค่นั้นไม่พอเลย   ความรู้แค่นั้นใช้ไม่ได้   แค่รู้สึกเท่านั้นเอง   ก็เอาชื่อฉันไปใช้   แต่ที่จริงไม่ใช่ ยังไม่เป็นปัญญา   เป็นความรู้โง่ๆ เป็นอัญญาณ์เท่านั้น  ไม่ใช่ปัญญา ก็อวิชชานั่นแหละ  รู้ไม่พอ แล้วก็ไว้ใจไม่ได้
 
     ปัญญาเก๊บอกว่า     ที่โน่นมีแหล่งเที่ยวสนุก  มีการเล่น  มีของกินของเสพมั่วได้เต็มที่ มีวิธีไปให้สะดวกอย่างนี้ๆ เจ้าตัณหาได้แง่จากความรู้  จับเอาที่ถูกใจ ชอบใจ อยากไปเที่ยวเล่นกิน เสพ สนุกสนาน  บอกว่าอย่าไปเลยโรงเรียน  ฟังวิชาทำกิจกรรมทักษะเหนื่อยยาก ไม่สนุกสนาน บอกเจตนาสั่งการให้หนีเรียนไปเที่ยวสถานอบายมุขแทน

     เมื่อปัญญาพัฒนาขึ้นไป    เป็นปัญญาจริง    นอกจากรู้ว่าที่ไหนมีอะไร อันนั้นอันนี้เป็นอะไรแล้ว ก็รู้ด้วยว่า ที่ชีวิตต้องการจะเป็นชีวิตดีงามมีความสามารถสมบูรณ์ดีมีความสุขจริงนั้น อะไรจะทำให้ชีวิตเป็นอย่างนั้นได้ อะไรมีคุณมีโทษอย่างไร มองเห็นเหตุปัจจัยในกาลทั้งใกล้ทั้งไกล ว่าทำอันไป ในระยะสั้นได้ผลอันนี้แล้ว ต่อไปในระยะยาวจะมีผลอันนั้นตามมาอีก  รู้เข้าใจเหตุผลว่าทำไมจึงควรทำอันนี้อย่างนี้  ทำไมไม่ควรทำอันนี้อย่างนั้น  รู้ว่าถ้าไปเที่ยวมั่วที่สถานอบายมุข  จะสนุกสนานเฉพาะหน้า  แต่ในเวลายาวไกล  ทั้งร่างกายของตัว  และพ่อแม่ครอบครัวตลอดไปจนถึงสติปัญญา จะย่ำแย่ทั้งหมด  ส่วนในทางตรงข้าม  ถ้ายอมงดสนุก  ไปเรียนวิชาทำกิจกรรมทักษะ ถึงเดี๋ยวนี้จะขี้เกียจไม่ได้  ต้องขยันและเหนื่อยบ้าง แต่นานไปเราจะได้พัฒนาทุกด้าน และทุกอย่างก็จะดีขึ้นสำหรับชีวิต
 
 
     เจ้าตัณหานี่ละ  เป็นตัวการ  อยากนั่นอยากนี่  จะเอาอย่างนั้นอย่างนี้  ทั้งที่เจ้าปัญญาเก๊ไม่รู้จริงว่า อันนั้นอันนี้ อันไหนดีจริงหรือไม่ มีคุณมีโทษ ในระยะสั้นระยะยาวอย่างอย่างไร รู้นิดรู้หน่อย รู้ผิดๆ  ยังไม่ทันรู้จริง  ไม่รู้ชัด  เจ้าตัณหาได้แง่ที่ชอบใจ  เอาแค่อยาก  ก็บอกหัวหน้าเจ้าเจตนาให้สั่งการไป ขืนอยู่อย่างนี้ ในที่สุด ชีวิตจะแย่ เอาดีไม่ได้
 
     เป็นอันว่า เมื่อปัญญาแท้จริงมา  รู้ว่าจะตามใจตัณหา เอาตามที่ตัวชอบตัวอยากว่าจะได้เสพได้สนุกเท่านั้นไม่ได้   จะก่อปัญหาพาทุกข์โทษภัยมาให้  ขบวนการอวิชชา – ตัณหา - เจตนา ก็สะดุด หยุดชะงัก หรือผ่อนซาไป


     ดังที่ว่าแล้ว ปัญญารู้จริงว่าอะไรดีหรือไม่ดี อะไรเป็นคุณเป็นประโยชน์  อะไรมีโทษ รู้เหตุผล รู้จักพิจารณาแยกแยะสืบสาว   มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลาย  เช่น  รู้ว่าชีวิตจะดีมีความสุข   ต้องมีสุขภาพดี  แล้วปัญญาก็บอกช่องทางหาข่าวสารข้อมูล   พร้อมทั้งมองเหตุผล และความสัมพันธ์ อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย แล้วปัญญาก็บอกได้ว่า จะให้ชีวิตมีสุขภาพดี ควรกินอันนั้นๆ ควรอยู่อย่างนั้นๆ  ควรจัดสภาพแวดล้อมเช่นนั้นๆ  ควรทำกิจวัตรวิธีนั้นๆ  ควรบริหารร่างกาย บริหารจิตใจ  รู้จักใช้เวลาอย่างไรๆ  ฯลฯ
 
     แต่สิ่งที่ปัญญาบอกทั้งหมดนี้ ไม่มีอะไรที่ตัณหาชอบใจอยากได้อยากเอาเลย ตัณหา เอาแต่สิ่งที่ชอบใจ อยากให้ตัวได้ ให้ตัวเสพ ให้ตัวอร่อย ให้ตัวโก้ ให้ตัวโอ่ ให้ตัวพอง ให้ตัวยิ่งใหญ่ และอะไรที่ไม่ชอบ ก็ขัดตา ขัดใจ อยากจะให้ตัวพ้นไป อยากจะทำลาย หรือกำจัดเสีย
 
     เป็นอันว่า    สิ่งที่ปัญญารู้และบอกให้ว่าเป็นสิ่งที่ดีจริงแก่ชีวิตนี้ ตัณหาไม่เอาด้วย อาศัยตัณหาไม่ได้ ก็เลยไม่มีแรงจูงใจที่จะไปกระซิบชวนให้เจตนาสั่งการให้ทำอะไรมากมายที่ปัญญาบอกให้ ขบวนงานของชีวิตก็ติดขัด ทำท่าจะไม่เดิน

     ตรงนี้แหละ    ที่มีแรงจูงใจอีกอย่างหนึ่ง    หรืออีกตัวหนึ่งเข้ามา คือ ที่จริงนั้น คนเรามีความอยาก หรือ ความต้องการอีกอย่างหนึ่งประจำอยู่ในใจ   แต่ในชีวิตประจำวันนั้น  อะไรๆที่เข้ามาทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  และสัมผัสกาย  ซึ่งเป็นส่วนเปลือกผิวของชีวิต  ก็จะเป็นของเด่นของไว พอเห็น  ได้ยิน หรือเจออะไร  ความรู้สึกที่สบาย  ไม่สบาย  ถูกหู  ถูกตาหรือไม่  ก็นำหน้าออกมา แล้วก็ตามด้วยชอบ หรือชัง  นี่คือ เข้าทางของตัณหา  แล้วตัณหาก็อยากได้  อยากเอา  สิ่งที่ตัวชอบ   อยากหนี  อยากทำลาย  สิ่งที่ตัวเกลียด  ชัง ไม่ชอบ  แล้วเจตนา ก็สั่งการให้ชีวิตทำการไปตามนั้น   ถ้าชีวิตเป็นของตื้นๆ ไม่มีอะไรลึกซึ้งซับซ้อน  เราก็พออาศัยตัณหาพาชีวิตวนเวียนเรื่อยเปื่อยไปได้อย่างนี้  เหมือนอย่างแมว  อย่างหนู  หรือปู กุ้ง กา ไก่ จนกว่าจะหมดเวลาถึงคราชีวิตต้องจากไป

      แต่อย่างที่ว่าแล้ว  ในชีวิตของคนที่ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐนั้น  เรามิใช่มีตัณหาเท่านั้นเป็นแรงจูงใจ แต่เรามีความอยาก  หรือความต้องการอีกอย่างหนึ่ง  ที่ประณีตลึกลงไป  นั่นคือความใฝ่ดี  ได้แก่ความต้องการให้ชีวิตดีงาม   ดำเนินไปอย่างถูกต้อง   มีความสุขที่แท้จริงยั่งยืน  ให้ชีวิตมีคุณสมบัติทุกอย่างถูกถ้วนสมบูรณ์อย่างที่มันควรจะมีจะเป็นไปได้ และไม่เฉพาะชีวิตของตนเท่านั้น  ไม่ว่าจะไปพบพาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอะไรๆ  ก็อยากให้สิ่งนั้นๆดีงาม  สมบูรณ์เต็มตามสภาวะที่ควรจะเป็นของมัน   แล้วก็ไม่ใช่แค่อยากให้มันดีงามสมบูรณ์เท่านั้น แต่อยากทำให้มันดีงามสมบูรณ์เต็มสภาวะของมันด้วย

      ขอให้ทุกคนมองลึกเข้าไปข้างในจิตใจ   จะเห็นว่าเรามีความต้องการอันนั้นอยู่   ความอยาก ความต้องการอันนี้ คือ แรงจูงใจ ที่เรียก ว่า “ฉันทะ


      เป็นอันว่า   คราวนี้   ขบวนงานของชีวิตที่เคลื่อนไหวทำอะไรๆ ก็เปลี่ยนใหม่ เรียกว่า พัฒนาขึ้นมาสู่ขั้นของการพัฒนาคุณภาพชีวิต  โดยมีปัญญาช่วยบอกช่วยส่องสว่างให้ความรู้ว่าอะไรไม่มีโทษ อะไรดีมีคุณค่าเป็นประโยชน์   และจะทำให้ดีงามสมบูรณ์ได้อย่างไร แล้วฉันทะก็ต้องการให้ดีงามสมบูรณ์และอยากทำให้ดีงามสมบูรณ์อย่างนั้น   ตามด้วยเจตนาก็สั่งให้ชีวิตร่างกายเคลื่อนไหวทำอะไรๆ ไปตามนั้น

     เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้นๆ ชีวิตก็ปลดลดขบวนงานของ อวิชชา => ตัณหา => เจตนา (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อวิชชา => ตัณหา => อกุศลกรรม) ให้เข้ามาปฏิบัติการได้น้อยลงไปๆ

     พร้อมกันนั้น  ก็เปิดให้ขบวนงานที่ก้าวหน้าของปัญญา => ฉันทะ =>เจตนา (หรือเรียกให้ชัดขึ้นอีกว่า ปัญญา => ฉันทะ => กุศลกรรม) เข้ามาดำเนินการมากขึ้นๆ จนกลายเป็นวิถีชีวิตของอริยชนในที่สุด

     เมื่อปัญญาแท้มา   ปัญญาเทียมคืออวิชชาหลีกหลบไป พอปัญญาแท้บอกอย่างที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้ว่า ชีวิตต้องการสุขภาพที่ดี โดยมีวิธีปฏิบัติอย่างนี้ๆ สิ่งที่ปัญญาแท้บอกนั้นไม่ถูกใจอย่างที่ตัณหาชอบ อย่างที่ตัณหาอยากเอาอยากเสพเลย เป็นอันว่า ตัณหาชอบใจเมื่อได้อวิชชาคอยพะเน้าพะนอ แต่ปัญญาแท้มา ตัณหาไม่เอาด้วยและอยู่ไม่ได้ ตอนนี้แหละ ฉันทะจะได้โอกาส

     พอปัญญาแท้บอกให้  ว่า ชีวิตจะดีงามสมบูรณ์มีสุขภาพได้  สิ่งนี้มีคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อชีวิตอย่างนี้ๆ ควรปฏิบัติจัดทำอะไรต่างๆ อย่างนี้ๆ ฉันทะ ที่อยากให้ดีงามสมบูรณ์ และอยากทำให้ดีงามสมบูรณ์   ก็เข้ามารับเรื่องจากปัญญา   แล้วก็แจ้งจูงเจตนาให้สั่งการบัญชาออกมาเป็นการกระทำทั้งหลายที่จะให้สำเร็จผลตามนั้น

     เท่าที่พูดมา คงพอให้ได้ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องแรงจูงใจ คือ ความอยาก ความปรารถนา หรือ ความต้องการ ที่มี ๒ อย่าง คือ ตัณหา กับ ฉันทะ และคงชัดเจนแล้วว่า แตกต่างกันอย่างไร

     ก่อนผ่านไป   มีข้อที่ขอให้สังเกต   อันจะช่วยให้ยิ่งเห็นความหมายของความต้องการ ๒ อย่างนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ ในสายขบวนของอวิชชา - ตัณหา นั้น  พอเริ่มต้นโดยมีความรู้สึกชอบใจ หรือไม่ชอบใจขึ้นมา   อยากได้   อยากเอา   อยากเสพ   ก็จะเกิดมีตัวตนขึ้นมารับสมอ้างเป็นผู้ได้ เป็นผู้เอา   เป็นผู้เสพขึ้นมาทันที   แล้วแน่นอน   ก็ย่อมมีเป็นคู่กันขึ้นมาว่าเป็น ตัวเรา ตัวกู ผู้ได้ ผู้เอา ผู้เสพ กับ สิ่งที่จะเอาจะได้จะเสพ (ต่อจากนั้น  ยังจะมีตัวเขา ตัวมึง  ตัวมัน ที่จะมาคุกคาม มาขัดมาขวาง มาแย่ง มาชิง ฯลฯ ต่อไปอีก)

     แล้วลึกลงไป   ก็จะอยากให้ตัวเรา ตัวกู ที่จะได้จะเอาจะเสพนั้น มั่นคง ถาวร ยั่งยืน จะได้เสพเรื่อยไปตลอดไป  แล้วก็ให้ตัวเรา ตัวกู นั้นยิ่งใหญ่  จะได้แน่ใจที่จะเสพจะได้ให้มากที่สุด โดยไม่มีตัวอื่นมาขัดขวางได้  ฯลฯ     (รวมทั้งถ้าเจอสิ่งที่ไม่อยาก ไม่ปรารถนา ไม่ต้องการ ก็จะต้องพ้นไปให้ได้ จะต้องกำจัด ทำลาย หรือถ้าไม่ไหว ก็ตีกลับมา บางที ถึงกับอยากให้ตัวเรา ตัวกู นี้มลายตายหายสูญจากมันไป)

     แต่ในกระบวนของปัญญา - ฉันทะ นั้น  ตรงกันข้าม เมื่ออยากให้สิ่งนั้นๆ ดีงามสมบูรณ์ ก็เป็นความอยากเพื่อความดีงาม ความสมบูรณ์ ของสิ่งนั้นๆ ตามสภาวะของมัน โดยไม่ต้องมีตัวตนที่ไหน ไม่ว่าตัวเรา ตัวเขา หรือ ตัวใคร ที่จะต้องมาเป็นผู้อยาก ผู้อะไรๆ คือ เป็นธรรมชาติอยู่ตามสภาวะอย่างนั้นเอง


   
    ทีนี้    ก็สรุปไว้ให้สั้นอีกครั้งหนึ่ง  ว่าความอยาก ความปรารถนา ความต้องการ ที่เป็นแรงจูงใจให้คนทำการ หรือทำกรรมต่างๆ นั้น มี ๒ อย่าง ได้แก่

       ๑.ตัณหา  คือ ความอยากเสพ  อยากได้  อยากเอาเข้ามาให้แก่ตัว  เอามาบำเรอตัว อยากให้ตัวเป็น หรือไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นความต้องการเพื่อตัวตน

       ๒.ฉันทะ  คือ ความชื่นชม  ยินดี  ในความดีงามสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ อยากให้สิ่งนั้นๆ อยู่ในภาวะที่ดีงามสมบูรณ์ และอยากทำให้มันดีงามสมบูรณ์  เต็มตามสภาวะของมัน เป็นความต้องการเพื่อความดีงามสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆเอง


     ขอย้ำที่ว่า ต้องการเพื่อความดีงามสมบูรณ์ของสิ่งนั้น ก็รวมทั้งความต้องการเพื่อความดีงามสมบูรณ์ของชีวิตของเรานี้ด้วย   เช่น   อยากให้แขน  ขาของเรานี้  ดีงามสมบูรณ์  แต่เป็นความอยากให้แขน ขา นั้น ดีงามสมบูรณ์ ในฐานะ และตามสภาวะที่มันเป็นแขน ขา  ซึ่งเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของชีวิตนี้   ที่ควรจะให้ดีงามมีสุขภาวะสมบูรณ์ตามสภาวะของมันนั้น  (ลองพิจารณาดูว่า ความอยากที่มีต่อ แขน ขา ตรงตามสถานะ และสภาวะนี้ จะดีกว่าอยากให้แขน ขา ของตัวตนของเราสวย ดี น่าชอบใจ หรือไม่ ?   นี่ก็ฉันทะ กับ ตัณหา ที่ท้าทายปัญญาผู้แยกแยะ)
 


Create Date : 19 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2566 16:57:12 น. 0 comments
Counter : 142 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space