กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤศจิกายน 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
21 พฤศจิกายน 2566
space
space
space

กามคุณ กามสุข




235กามสุขของมนุษย์ ของสวรรค์ และความสุขที่ดีกว่านั้น

     เพื่อเสริมความเข้าใจ  จะนำคำชี้แจงทางธรรมที่ควรทราบเกี่ยวกับความสุขเหล่านี้มาแสดงไว้ตามสมควร

        “ภิกษุทั้งหลาย กามคุณมี ๕ อย่างดังนี้ คือ รูปทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยตา ... เสียงทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยหู ... กลิ่นทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยจมูก ... รสทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยลิ้น ... โผฏฐัพพะทั้งหลายที่รู้ได้ด้วยกาย ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้อยาก เย้ายวนชวนให้ติดใจ เหล่านี้แล คือ กามคุณ ๕ อาศัยกามคุณ ๕ ประการเหล่านี้ มีความสุข ความฉ่ำใจ  (โสมนัส) ใดเกิดขึ้น นี่คือส่วนดี  (อัสสาทะ ความหวานชื่น) ของกามทั้งหลาย”  (ม.มู.12/197/168)  “นี้ เรียกว่า กามสุข” (ม.ม.13/398/371 ฯลฯ)

        “คำว่า กาม โดยหัวข้อ ได้แก่ กาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม  ๑

        “วัตถุกาม  เป็นไฉน ? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชื่นชอบใจ เครื่องลาด เครื่องห่ม ทาสี ทาส แพะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี รัฐ ประเทศ กองทัพ คลังหลวง วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความติดใคร่ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ชื่อว่าวัตถุกาม อีกอย่างหนึ่ง กามทั้งหลาย ที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต ที่เป็นปัจจุบัน กามที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ทั้งภายในและภายนอก ชนิดเลว ชนิดปานกลาง ชนิดประณีต ที่เป็นของสัตว์ในอบาย ที่เป็นของมนุษย์ ที่เป็นทิพย์ ที่ปรากฏเฉพาะหน้า ที่บันดาลเอง ที่ผู้อื่นบันดาลให้ ที่ครอบครอง ที่ไม่ได้ครอบครอง ที่หวงแหน ที่ไม่ได้หวงแหน ธรรมที่เป็นกามาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นรูปาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นอรูปาวจรแม้ทั้งหมด ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งตัณหา เป็นอารมณ์ของตัณหา ชื่อว่ากาม ด้วยอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความอยาก ด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม

        “กิเลสกาม  เป็นไฉน ?   ความพอใจก็เป็นกาม   ราคะก็เป็นกาม ความพอใจติดใคร่ก็เป็นกาม ความดำริก็เป็นกาม   ราคะก็เป็นกาม   ความครุ่นคิดติดใคร่ก็เป็นกาม  กามฉันทะ กามราคะ กามนันทิ กามตัณหา กามเสน่หา ความเร่าร้อนกาม ความหลงใหลกาม ความหมกมุ่นกาม กามท่วมใจ กามผูกรัดใจ ความถือมั่นในกาม นิวรณ์คือกามฉันท์  กามในข้อความว่า  “นี่แน่ะกาม เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้วว่า เจ้าเกิดขึ้นมาจากความดำริ เราจักไม่ดำริถึงเจ้าล่ะ เมื่อทำอย่างนี้ เจ้าก็จักไม่มี” เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม”  (ขุ.ม.29/2/1; 34/31)

        “ภิกษุทั้งหลาย   เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการ จึงมีการตั้งครรภ์ เมื่อใด มารดาบิดาร่วมกัน   มารดาคราวฤดู ทั้งสัตว์ที่จะเกิดก็ปรากฏ เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการอย่างนี้   จึงมีการตั้งครรภ์  มารดาอุ้มท้องประคับประคองครรภ์นั้นตลอดเวลา ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง ด้วยความเสี่ยงชีวิตเป็นอย่างมาก   ทั้งเป็นภาระอันหนัก   ครั้นล่วง ๙ เดือน ๑๐ เดือนแล้ว  มารดาก็คลอดทารกในครรภ์   ด้วยความเสี่ยงชีวิตเป็นอันมาก   อย่างเป็นภาระอันหนัก  แล้วเลี้ยงทารกที่เกิดนั้น   ด้วยโลหิตของตน   ภิกษุทั้งหลาย  ในธรรมเนียมของอริยชน ถือน้ำนมของมารดานี้ว่าคือโลหิต”  (ม.มู.12/452/487)

        “เด็กอ่อนไร้เดียงสา    นอนหงายแบเบาะ   ย่อมเล่นแม้แต่อุจจาระปัสสาวะของตนเอง เธอจะเห็นประการใด   ความสนุกนี้  เป็นความสุขสนุกของเด็กอ่อนอย่างเต็มที่สิ้นเชิง ใช่หรือไม่”

        “เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า”

        “สมัยต่อมา   เด็กนั้นแล   อาศัยความเจริญเติบโต   อินทรีย์ทั้งหลายแก่กล้าขึ้น  ย่อมเล่นเครื่องเล่นทั้งหลายสำหรับเด็ก คือ เล่นไถน้อยๆ เล่นตีไม้หึ่ง เล่นหกคะเมน เล่นกังหันน้อยๆ เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ  เธอจะเห็นประการใด  ความสนุกนี้  ดีกว่าและประณีตกว่าความสนุกอย่างก่อน ใช่หรือไม่”

        “เป็นเช่นนั้น    พระเจ้าข้า”

        “สมัยต่อมา   เด็กนั้น    อาศัยความเจริญเติบโต   อินทรีย์ทั้งหลายแก่กล้าขึ้น มีกามคุณทั้ง ๕ พรั่งพร้อมบริบูรณ์    ย่อมบำเรอตนด้วยรูปทั้งหลาย ... ด้วยเสียง ... กลิ่น ... รส... โผฏฐัพพะทั้งหลาย   ซึ่งน่าปรารถนา   น่าใคร่   น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้อยาก เย้ายวนชวนติดใจ เธอจะเห็นประการใด ความสนุกนี้ ดีกว่า และประณีตกว่าความสนุกอย่างก่อนๆ ใช่หรือไม่”

        “เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า”


     บุคคลผู้สูงเลิศประเสริฐสุดในโลกมนุษย์ทางฝ่ายคฤหัสถ์   ก็คือพระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุด เพียบพร้อมด้วยโภคสมบัติทุกประการ และตามคติพระพุทธศาสนาถือว่าจะต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรมอย่างสูงเยี่ยมด้วย โดยนัยนี้ พระเจ้าจักรพรรดิจึงนับว่าเป็นผู้มีความสุขพรั่งพร้อมมากที่สุด เหนือกว่ามนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง   พระพุทธเจ้าทรงยกเอาความสุขของพระเจ้าจักรพรรดิ ขึ้นมาบรรยายเป็นตัวอย่าง แสดงความสุขอย่างสมบูรณ์ที่สุดของมนุษย์ เพื่อเปรียบเทียบกับความสุขประเภทและระดับอื่นๆ ให้เห็นลำดับขั้นความประณีตของความสุขทั้งหลาย

     พระเจ้าจักรพรรดิตามอุดมคติ ทรงมีรัตนะ ๗ และฤทธิ์ ๔ ประการ รัตนะ ๗ ประการ คือ

     ทรงมีจักรแก้ว อันแสดงถึงพระราชอำนาจที่เกิดขึ้นโดยธรรม และประกอบด้วยความชอบธรรม ทำให้พระองค์แผ่ขยายอาณาจักรแห่งความร่มเย็นออกไปได้ทั่วผืนแผ่นดิน จดขอบมหาสมุทรทั้งสี่ทิศ ด้วยธรรมวิธีและโดยความชื่นชมยินดีของผู้ยอมรับพระราชอำนาจนั้น

     ทรงมีช้างแก้ว และม้าแก้ว ซึ่งสามารถนำพระองค์เสด็จตรวจดูพระราชอาณาทั่วผืนแผ่นดินได้หมดสิ้นภายในเวลารวดเร็ว

     ทรงมีแก้วมณี ซึ่งทรงพลังส่องแสงสว่างกว้างไกล จะให้ยกทัพใหญ่ไปยามราตรี หรือให้ปรากฏทำงานในยามค่ำคืนดุจเวลากลางวันก็ได้

     ทรงมีนางแก้ว ซึ่งนอกจากจะมีรูปร่างผิวพรรณงดงามเหนือกว่าสตรีมนุษย์ไม่ว่านางใดแล้ว ยังมีมีสัมผัสกายอันแสนวิเศษ ดังคำพรรณนาว่า นุ่มนวลละมุนดังสำลีหรือปุยนุ่น ยามหนาว กายนางก็อุ่น ยามร้อน กายนางก็เย็น กลิ่นหอมดังกลิ่นจันทร์ กลิ่นปากก็หอมดังกลิ่นบัว อีกทั้งพูดเพราะ รู้จักปรนนิบัติ ถูกพระทัยทุกประการ

     ทรงมีขุนคลังแก้ว ผู้มีตาทิพย์มองเห็นแหล่งทรัพย์สินทั่วไป สามารถหาเงินทองมาให้พระองค์ใช้ได้ตามพระทัยปรารถนา และ

     ทรงมีปริณายกแก้ว ผู้มีความสามารถยอดเยี่ยมในการปกครอง ไม่แต่เพียงถวายคำแนะนำในข้อราชการต่างๆ ได้ถูกต้องเท่านั้น ยังสามารถบัญชางาน สั่งราชการแทนพระองค์ ได้ทุกอย่างทุกประการอีกด้วย

     ส่วนฤทธิ์ หรือสัมฤทธิคุณ ๔ ประการ คือ พระเจ้าจักรพรรดิทรงมีพระรูปโฉมงามสง่าเหนือกว่ามนุษย์ทั้งหลายอื่น ทรงมีพระชนมายุยืนยาวยิ่งกว่ามนุษย์อื่น ทรงมีสุขภาพแข็งแรง มีพระโรคน้อย และประการสุดท้าย ทรงเป็นที่รักของประชาราษฎร์ ซึ่งจงรักภักดีต่อพระองค์ดังลูกรักพ่อ และพระองค์ก็รักของประชาราษฎร์ดังพ่อรักลูก เมื่อยามเสด็จไป ณ ที่ไหนๆ ประชาราษฎร์จะเฝ้ารับเสด็จและอยากเห็นพระองค์นานๆ ไม่จืดตา และพระองค์ก็ทรงปรารถนาจะพบปะกับประชาราษฎร์นานๆ เช่น เดียวกัน

     ความสุขของพระเจ้าจักรพรรดิเช่นนี้ ย่อมดีกว่า เยี่ยมกว่าความสุขของเด็กหนุ่มที่กล่าวมาแล้ว ตลอดจนความสุขของมนุษย์ทั้งหลายโดยทั่วไป

     อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้พระเจ้าจักรพรรดิจะทรงมีความสมบูรณ์ถึงเพียงนี้ แต่เมื่อเทียบกับความสุขอันเป็นทิพย์ในสวรรค์แล้ว ความสุขของพระเจ้าจักรพรรดิก็เป็นของเล็กน้อยเหลือเกิน ไม่ถึงแม้แต่เศษเสี้ยว เหมือนนำเอาก้อนหินเล็กๆ ก้อนเท่าฝ่ามือ ไปวางเทียบกับภูเขาหิมาลัย (ม.อุ.14/490-501/324-332. ผู้ต้องการทราบคติธรรมจากความรุ่งเรื่องของพระเจ้าจักรพรรดิเพิ่มอีก พึงดู มหาสุทัสสนสูตร)


     ถึงแม้ทิพยสุขในสรวงสวรรค์จะเป็นกามสุขที่ล้ำลึก ยอดเยี่ยมกว่ากามสุขของมนุษย์อย่างมากมาย แต่ก็ยังมีความสุขที่ประณีตล้ำลึกยิ่งกว่าทิพยสุขนั้นขึ้นไปอีก และเป็นความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม ไม่ต้องพึ่งสิ่งเสพจากภายนอก ผู้ที่ได้ประสบความสุขอย่างนี้ประจักษ์กับตัวแล้ว ถึงแม้มาเห็นมนุษย์ที่มีความสุขพรั่งพร้อมบริบูรณ์กำลังเสพเสวยความสุขอยู่ ก็จะไม่รู้สึกอิจฉามนุษย์นั้น หรือนึกอยากได้ความสุขอย่างนั้นบ้างแต่ประการใดเลย เหมือนเทวดาที่เสวยทิพยสุข มาเห็นมนุษย์เสพสุขที่ทรามกว่า จะไม่รู้สึกอิจฉาหรือนึกยินดีอยากได้แต่อย่างใด และมิใช่เพียงกามสุขของมนุษย์เท่านั้น แม้แต่ทิพยสุขของเทวดา ท่านก็ไม่ปรารถนา เพราะท่านได้พบความสุขที่ดีกว่า สูงกว่าแล้ว


     ในเรื่องนี้   พระพุทธเจ้าทรงเล่ากรณีของพระองค์เองเป็นตัวอย่าง    ดังบาลีว่า (ม.ม.13/281-2/274-6)

        “ดูก่อนมาคัณฑิยะ เรานี้แหละ ครั้งก่อน เมื่อยังครองเรือนอยู่ มีกามคุณทั้งห้าพรั่งพร้อมเต็มที่ บำรุงบำเรอด้วยรูป ... เสียง ... กลิ่น ... รส ...โผฏฐัพพะทั้งหลาย ... ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ ชวนให้รัก ชักให้อยาก เย้ายวนชวนติดใจ เรามีปราสาท ๓ หลัง ปราสาทหนึ่ง สำหรับฤดูฝน ปราสาทหนึ่ง สำหรับฤดูหนาว ปราสาทหนึ่ง สำหรับฤดูร้อน เรานั้นได้รับการบำเรอด้วยดนตรีทั้งหลาย ที่ล้วนแต่สตรี ไม่มีบุรุษเจอปนเลย อยู่ในปราสาทประจำฤดูฝน ไม่ต้องลงจากปราสาทเลยตลอดเวลาสี่เดือน

        “สมัยต่อมา เรานั้น ได้ล่วงรู้ถึงความเกิดขึ้น ความคงอยู่ไม่ได้ คุณและโทษของกามทั้งหลาย กับทั้งทางออก หรือภาวะรอดพ้นของมัน ตามความเป็นจริง จึงละกามตัณหา บรรเทาความร่านรนเพราะกามเสียได้ หมดความกระหายอยาก เป็นอยู่โดยมีจิตสงบระงับภายใน

        “เรานั้น มองเห็นสัตว์ทั้งหลายอื่น ผู้ยังไม่หมดราคะในกามทั้งหลาย ถูกกามตัณหาเกาะกิน ถูกแผดเผาด้วยความเร่าร้อนแห่งกาม เสพเสวยกามทั้งหลายอยู่ ก็มิได้นึกใฝ่ทะยานต่อสัตว์เหล่านั้น ไม่รู้สึกยินดีในกามนั้น ข้อนั้น เพราะเหตุไร ? ก็เพราะว่า เรารื่นรมย์อยู่ด้วยความชื่นชมยินดี ที่ไม่ต้องมีกาม ไม่ต้องมีอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงไม่ใฝ่ทะยานถึงความสุขที่ทรามกว่า ไม่นึกยินดีในความสุขที่ทรามกว่านั้น

        “ดูก่อนมาคัณฑิยะ เปรียบเหมือนว่า คฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี ผู้มั่งคั่ง ร่ำรวยทรัพย์ มีโภคะมาก มีกามคุณทั้ง ๕ พรั่งพร้อมบริบูรณ์ ได้รับการบำรุงบำเรอ ... เขาประพฤติสุจริต ... เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ เทพบุตรนั้น แวดล้อมด้วยหมู่หมู่นางอัปสร มีกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ พรั่งพร้อมบริบูรณ์ ปรนเปรออยู่ ในสวนสวรรค์นันทวัน เทพบุตรนั้น มองเห็นคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีที่มีกามคุณ ๕ พรั่งพร้อมบริบูรณ์ บำรุงบำเรออยู่ เธอจะเห็นประการใด ? เทพบุตรนั้น ... จะนึกอิจฉาต่อคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี หรือใฝ่ทะยานต่อกามคุณทั้ง ๕ อย่างมนุษย์ หรือจะประหวัดใจถึงกามทั้งหลายอย่างมนุษย์ หรือหาไม่

        “ไม่เลย ท่านพระโคดมผู้เจริญ เพราะเหตุใด ก็เพราะกามทั้งหลายที่เป็นทิพย์ ดีเยี่ยมกว่าประณีตกว่ากามทั้งหลายอย่างของมนุษย์

        “ดูก่อนมาคัณฑิยะ    ฉันนั้นเหมือนกัน เรานั้น ... ไม่นึกใฝ่ทะยานต่อสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ไม่รู้สึกยินดีในกามนั้น ... ก็เพราะเรารื่นรมย์อยู่   ด้วยความชื่นชมยินดี   ที่ไม่ต้องมีกาม ไม่ต้องมีอกุศลธรรม อีกทั้งเป็นสุขเหนือกว่าทิพยสุข   จึงไม่ใฝ่ทะยานต่อความสุขที่ทรามกว่า ไม่นึกยินดีในความสุขที่ทรามกว่านั้น”



* จะเห็นได้ในตอนต้นๆ แล้วว่า ผู้ที่ได้สุขในฌานสมาบัติ  ที่วกเวียนกลับมาหากามสุขอีก มีตัวอย่างเป็นอันมาก และหลายท่านได้สุขในฌานสมาบัติทั้งที่ยังอยู่ครองเรือน จึงเสพเสวยสุขทั้งสองอย่างไปด้วยกัน อย่างไรก็ดี ท่านเหล่านี้ทั้งสองพวก ย่อมมีพื้นความพร้อมมากกว่าคนทั่วไป ที่จะสลัดกามสุข และเดินหน้าในการปฏิบัติธรรมที่สูงขึ้นไป


พึงเข้าใจคำว่า กาม กามคุณ กามสุข ในความหมายที่กว้างของภาษาบาลี ไม่ใช่แคบอย่างในภาษาไทย

วัตถุกาม    วัตถุอันน่าใคร่   สิ่งที่อยากได้ 

กิเลสกาม   กิเลสที่ทำให้ใคร่   ความอยากที่เป็นตัวกิเลส



 


Create Date : 21 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 8 มกราคม 2567 16:13:03 น. 0 comments
Counter : 168 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space