กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
กรกฏาคม 2566
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
space
space
9 กรกฏาคม 2566
space
space
space

ต่อ จบ

ต่อ

ค) คุณสมบัติในแง่ละได้ และที่เป็นผล

     235 “เมื่อรูป  (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)  มีอยู่  อาศัยรูป  (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ) เพราะยึดมั่นรูป  (เวทนา ฯลฯ วิญญาณ)  จึงเกิด ทิฏฐิ (ทฤษฎี) ขึ้นดังนี้ว่า

     - มิใช่ลมพัด  มิใช่น้ำไหล  มิใช่หญิงมีครรภ์คลอด  มิใช่ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์อุทัย หรือลับไป (สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น)  ตั้งคงตัวอยู่อย่างนั้นเอง

     - นี้ของเรา  เราเป็นนี่  นี่เป็นตัวตนของเรา

     - อัตตาก็อันนั้น โลกก็อันนั้น   เราละ (ชีวิตนี้) ไปแล้ว   จักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา  (สัสสตวาท)

     - ถ้าเราไม่มี   ก็คงไม่มีแก่เรา เราจักไม่มี ก็จักไม่มีแก่เรา (อุจเฉทวาท)

     - ทานที่ให้ไม่มีผล   การบูชาไม่มีผล   สักการไม่มีผล  ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำไว้ดีไว้ชั่วไม่มี ไม่มีโลกนี้  ไม่มีปรโลก  มารดาไม่มี  สัตว์อุปปาติกะไม่มี  สมณพราหณ์ผู้ดำเนินไปชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ซึ่งโลกนี้และปรโลก  แล้วประกาศให้ทราบ  ไม่มีในโลก  คนเรานี้มีแต่ธาตุ ๔ เมื่อใดตาย  ดินก็ไปตามพวกดิน  น้ำก็ไปตามพวกน้ำ  ไฟก็ไปตามพวกไฟ  ลมก็ไปตามพวกลม  อินทรีย์ทั้งหลายก็ไปตามอากาศ  มีแต่คน ๔ รวมเป็น ๕  ทั้งเตียง  พาคนตายไป รอยเท้าปรากฏเพียงแค่ป่าช้า  มีเหลือแต่กระดูกสีเทา  การเซ่นสรวงบูชาจบแค่ขี้เถ้า  ทานนี้คนโง่บัญญัติไว้   คำพูดของพวกที่สอนอัตถิกวาท   เป็นแต่คำเปล่า  คำเท็จ  คำพร่ำเพ้อ เพราะกายสลาย   ทั้งพาล  ทั้งบัณฑิต   ย่อมขาดสูญ  พินาศ  หลังจากตายไป  ย่อมไม่มี    (นัตถิกวาท)

     - บุคคลทำเองก็ดี  ใช้ให้ผู้อื่นทำก็ดี  ตัดเองก็ดี  ใช้ให้ผู้อื่นตัดก็ดี  เผาผลาญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นเผาผลาญก็ดี  ก่อความเศร้าโศกเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นก่อความเศร้าโศกก็ดี  ก่อความลำบากเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นก่อความลำบากก็ดี ทำให้ดิ้นเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่น ทำให้ดิ้นก็ดี ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดช่อง ปล้นทั้งหมู่ ปล้นหลังเดียว ปล้นตามหนทาง ทำชู้เมียเขา พูดเท็จก็ดี ผู้ทำก็ไม่ชื่อว่าทำบาป แม้หากผู้ใดจะใช้จักรซึ่งมีคมโดยรอบ สังหารเหล่าสัตว์บนผืนปฐพีนี้ ทำให้เป็นลานเนื้อ เป็นกองมังสะอันเดียวกัน  บาปที่เกิดจากการกระทำนั้น  ก็ไม่มี  ไม่มีบาปมาถึงได้  แม้หากใครจะไปยังฝั่งขวาของแม่น้ำคงคา  เที่ยวฆ่าเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าบ้าง  ตัดเองบ้าง  ใช้ให้ผู้อื่นตัดบ้าง  ทำความเดือดร้อนเองบ้าง ใช้ผู้อื่นให้ทำความเดือดร้อนบ้าง  บาปที่เกิดจากการกระทำนั้นย่อมไม่มี ไม่มีบาปมาถึงได้ แม้ทางใครจะไปยังฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคา ให้ทานเองบ้าง ใช้ผู้อื่นให้บ้าง บูชาเองบ้าง ใช้ผู้ให้บูชาบ้าง  บุญที่เกิดจากการกระทำนั้นก็ไม่มี  ไม่มีบุญมาถึงได้  บุญด้วยทาน  ด้วยการฝึกตน ด้วยการสำรวม  ด้วยการกล่าวคำสัตย์  ย่อมไม่มี  ไม่มีบุญมาถึงได้  (อกิริยวาท)


     - ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ก็เศร้าหมองเอง ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ก็บริสุทธิ์เอง กำลังงานไม่มีผล ความเพียรไม่มีผล เรี่ยวแรงของคนไม่มีผล ความบากบั่นของคนไม่มีผล สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผันแปรไปตามความกำหนดตายตัว ความประจวบ และภาวะ เสวยสุขทุกข์ไปในอภิชาตทั้ง ๖ เท่านั้นเอง (อเหตุกวาท)


     - สภาวะ ๗ กองนี้  ไม่มีใครสร้าง  ไม่มีใครสร้างแบบแผน ไม่มีใครเนรมิต ไม่มีใครเนรมิตแบบแผน  เป็นสภาพไม่มีผล  คงอยู่เฉยเหมือนยอดเขา  คงตัวอยู่มั่นเองดังเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองเหล่านั้น  ไม่หวั่นไหว  ไม่ผันแปร  ไม่บีบคั้นกันและกัน  ไม่อาจสุข หรือทุกข์ให้แก่กัน สภาวะ ๗ กองนั้น  คือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะ  ถึงแม้ผู้ใดจะเอาศัสตราคมตัดศีรษะกัน  ก็ไม่ชื่อว่าใครปลงชีวิตใคร  เป็นเพียงศัสตราสอดเข้าไปตามช่องระหว่างสภาวะ ๗ เท่านั้นเอง อนึ่ง  กำเนิดประมาณ ๑,๔๐๖,๖๐๐ กรรม ๖,๐๐๐ ฯลฯ อันตรกัลป ๖๒  อภิชาต  ๖ ปุริสภูมิ ๘ ฯลฯ นรก ๓,๐๐๐  ฯลฯ  มหากัลป์ ๘๔๐,๐๐๐ เหล่านี้  เป็นที่ทั้งพาล และบัณฑิตท่องเที่ยวเร่ร่อน (เวียนว่ายายเกิดไป)  ก็จักทำความจบสิ้นทุกข์ไปเอง  ความสมหวังว่า  “เราจักบ่มกรรมที่ยังไม่ออกผล ให้ออกผล หรือว่าเราสัมผัสกรรมที่ออกผลแล้ว  จักทำให้  (กรรมนั้น)  หมดสิ้นไป  ด้วยศีล ด้วยพรต   ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้”   ย่อมไม่มีในสังสารวัฏนั้น   สุขทุกข์ที่ทำให้มีที่จบสิ้น เหมือนตวงของให้หมดไปด้วยทะนาน  ย่อมไม่มีในสังสารวัฏได้ด้วยวิธีอย่างนี้เลย  ไม่มีความเสื่อม ไม่มีความเจริญ  ไม่มีการเลื่อนขึ้นเลื่อนลง  ทั้งพาล และบัณฑิตเร่ร่อนไป  ก็จะหมดทุกข์ไปเอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไป  ย่อมคลี่หมดไปเอง   (สัสสตวาท อกิริยวาท และสังสารสุทธิกทิฏฐิ)

     - โลกเที่ยง  โลกไม่เที่ยง  โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด  ชีวะก็อันนั้น  สรีระก็อันนั้น  ชีวะก็อย่าง สรีระก็อย่าง  ตถาคตมีอยู่หลังจากตาย  ตถาคตหลังจากตาย  ทั้งมีอยู่  ทั้งไม่มีอยู่  ตถาคตหลังจากตาย มีอยู่ก็มิใช่  ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่   (อันตคาหิกทิฏฐิ ๑๐)


      “ภิกษุทั้งหลาย   พวกเธอเข้าใจอย่างไร ?  รูป  (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แม้กระทั่งสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ได้แจ้งใจ ได้ถึง ได้แสวงหา ได้ใคร่ครวญแล้วด้วยใจ)  เป็นของเที่ยง หรือว่าไม่เที่ยง ?   (ทูลตอบว่า ไม่เที่ยง)   ก็สิ่งใดไม่เที่ยง   สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือว่าเป็นสุข ?   (ทูลตอบว่า เป็นทุกข์)   ก็สิ่งใดไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา  ไม่ยึดติด  สิ่งนั้นแล้ว จะพึงเกิดทิฏฐิอย่างนี้  (ดังแสดงข้างต้นทั้งหมด)   ขึ้นได้หรือ ?   (ทูลตอบว่า ไม่เกิด)

      "เมื่อใด   อริยสาวกละความสงสัย (กังขา) ในฐานะทั้ง ๖ เหล่านี้ (คือ ในขันธ์ ๕ และในสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน เป็นต้น) ก็จะเป็นอันละได้ซึ่งความสงสัย แม้ในทุกข์ ในสมุทัยแห่งทุกข์ ในนิโรธแห่งทุกข์ และในปฏิปทาให้ถึงนิโรธแห่งทุกข์ด้วย อริยสาวกนี้ เรียกว่าเป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้แน่นอนแล้ว เดินหน้าสู่ความตรัสรู้ * (สํ.ข.17/417-444/248-265 แปลรวบรัดเอาแต่ความที่ไม่ซ้ำ)


     235 “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทิฏฐิสัมบันบุคคล (ผู้มีสัมมาทิฏฐิ เพียบพร้อม คือ พระโสดาบัน) ละได้แล้ว กล่าวคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะที่ให้ถึงอบาย โทสะที่ให้ถึงอบาย โมหะที่ให้ถึงอบาย ... ทิฏฐิสัมบันบุคคล เป็นผู้ไม่มีทางเป็นไปได้ ที่จะทำให้เกิดธรรม ๖ ประการเหล่านี้”

     “ภิกษุทั้งหลาย มีอภัพพฐาน (กรณีที่ไม่มีทางเป็นไปได้) ๖ ประการ ดังนี้ กล่าวคือ ทิฏฐิสัมบันบุคคล เป็นผู้ไม่มีทางเป็นไปได้ ที่จะอยู่อย่างไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในพระศาสดา ... ในธรรม ... ในสงฆ์ ... ในสิกขา ... ที่จะยึดถือสิ่งที่ไม่ควรถือ ... ที่จะยังภพที่ ๘ ให้เกิด”

     “ภิกษุทั้งหลาย มีอภัพพฐาน ๖ ประการ ดังนี้ กล่าวคือ ทิฏฐิสัมบันบุคคล เป็นผู้ไม่มีทางเป็นไปได้ ที่จะยึดถือสังขารไรๆ โดยความเป็นของเที่ยง ... โดยความเป็นสุข ... โดยความเป็นอัตตา ... ที่จะกระทำอนันตริยกรรม ... ที่จะเชื่อถือความบริสุทธิ์ด้วยมงคลตื่นข่าว ... ที่จะแสวงหาทักขิไณย นอกหลักคำสอนนี้

     “(อภัพพฐานอีก ๖) ... ที่จะปลงชีวิตมารดา ... ที่จะปลงชีวิตบิดา ... ที่จะปลงชีวิตพระอรหันต์ ... ที่จะมีจิตประทุษต่อพระตถาคตถึงกับทำพระโลหิตให้ห้อ ... ที่จะทำลายสงฆ์ (สังฆเภท) ... ที่จะถือศาสดาอื่น

     “(อภัพพฐานอีก ๖) ... ที่จะเชื่อถือว่าสุขทุกข์เป็นสิ่งที่ตนสร้างเอง ... ว่าสุขทุกข์ตัวการอื่นสร้างให้ ... ว่าสุขทุกข์ทั้งตนสร้างเอง และตัวการอื่นสร้างให้ ... ว่าสุขทุกข์เกิดขึ้นเองลอยๆ ตนมิได้สร้าง ... ว่าสุขทุกข์เกิดขึ้นเองลอยๆ ตัวการอื่นมิได้สร้าง ... ว่าสุขทุกข์เกิดขึ้นเองลอยๆ ทั้งตนก็มิได้สร้างตัวการอื่นก็มิได้สร้าง ข้อ ที่มิได้เชื่อถือ ดังนั้น เพราะเหตุไร ? ก็เพราะว่า ทิฏฐิสัมบันบุคคลมองเห็นชัดเจนดีแล้ว ทั้งเหตุ และธรรมที่เกิดแต่เหตุ”


     235 “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๕ อย่างได้ จึงเป็นผู้มีทางเป็นไปได้ ที่จะประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล คือ อาวาสมัจฉิรยะ กุลมัจฉิรยะ ลาภมัจฉิรยะ วัณณมัจฉิรยะ ธรรมมัจฉิรยะ”


     ในคราวเลือกพระเถระ   เพื่อทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ประธานได้คัดเอาแต่พระอรหันต์ ๔๙๙ รูป และได้เลือกเอาพระอานนท์เข้าร่วมเป็นรูปที่ ๕๐๐  ทั้งที่ท่านยังเป็นเสขะ  นอกจากเพราะเหตุที่ท่านได้เรียนธรรมวินัยไว้มากในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว   ก็เพราะท่านเป็นพระโสดาบัน  “เป็นผู้ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะถึงอคติ   เพราะชอบ ชัง หลง หรือกลัว” (วินย.7/615/380)



     235 พระเจ้ามหานามศากยะ ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว  กราบทูลความนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า 

        “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   พระนครกบิลพัสดุ์นี้ มั่งคั่ง เจริญรุ่งเรือง มีประชาชนมาก ผู้คนจอแจ ถนนก็แออัดยัดเยียด   หม่อมฉันมานั่งใกล้ชิดพระผู้มีพระภาค หรือพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจแล้ว   ถึงเวลาเย็น   เมื่อกลับเข้าสู่พระนครกบิลพัสดุ์   ย่อมผ่านพบช้างบ้าง  ม้าบ้าง  รถบ้าง เกวียนบ้าง  คนบ้าง ซึ่งไปมากกันขวักไขว่  เวลานั้น  สติของหม่อมฉัน  ที่ปรารภพระผู้มีพระภาค   ก็เผลอไป   สติปรารภพระธรรม ก็เผลอไป  สติปรารภพระสงฆ์ ก็เผลอไป  หม่อมฉันจึงมีดำริดังนี้ว่า    ถ้าเราสิ้นชีวิตในเวลานี้    คติของเราจะเป็นอย่างไร   ที่ไปข้างหน้า (อภิสัมปรายะ) ของเรา จะเป็นอย่างไร ?”

     “อย่ากลัวเลย  ท่านมหานาม   อย่ากลัวเลย   ท่านมหานาม  พระองค์จักมีมรณกรรมไม่เลวร้าย   จักมีกาลกิริยา   ไม่เลวร้าย    ท่านมหานาม   บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดก็ตาม  มีจิตที่อบรมบ่มแล้วด้วยศรัทธา ... ด้วยศีล ... ด้วยสุตะ ... ด้วยจาคะ ... ด้วยปัญญา   ตลอดกาลยาวนาน  ร่างกายอันนี้ของเรา   ซึ่งเป็นสิ่งมีรูป   ประกอบด้วยธาตุ ๔ เกิดจากมารดาบิดา  เติบโตขึ้นมาด้วยข้าวและขนมเป็นของไม่เที่ยง   ต้องขัดสี   ต้องนวดฟั้น และจะต้องแตกทำลายกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา กาบ้าง แร้งบ้าง เหยี่ยวบ้าง สุนัขบ้าง สุนัขจิ้งจอกบ้าง สัตว์ต่างชนิดบ้าง ก็ย่อมกัดกินกายนั้นไป ส่วนจิตของเขา ซึ่งอบรมบ่มแล้วด้วยศรัทธา   อบรมบ่มแล้วด้วยศีล สุตะ จาคะ และปัญญามาแล้ว ตลอดเวลายาวนาน  จิตนั้นย่อมเป็นสิ่งไปสูง ไปวิเศษ ...”

     “อย่ากลัวเลย ท่านมหานาม อย่ากลัวเลย ท่านมหานาม  ท่านจักมีมรณกรรมที่ไม่เลวร้าย จักมีกาลกิริยาไม่เลวร้าย   อริยสาวก   ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ  (โสตาปัตติยังคะ ๔) ย่อมเป็นผู้เอนไปหานิพพาน  โน้มน้อมไปหานิพพาน ...” (สํ.ม.19/1507-1512/463-466)

     235 “ภิกษุทั้งหลาย   อานิสงส์ในการประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล ๖ ประการ ดังนี้ กล่าวคือ บุคคลนั้นเป็นผู้แน่นอนในสัทธรรม  เป็นผู้มีความไม่เสื่อมถอยเป็นธรรมดา ทุกข์ของเขาถูกจำกัดขอบเขตแล้ว  เป็นผู้ประกอบด้วยญาณที่ไม่สาธารณะ   เป็นผู้มองเห็นเหตุชัดเจนดีแล้ว และมองเห็นธรรมที่เกิดจากเหตุชัดเจนดีแล้ว (องฺ.ฉกฺก.22/368/491)

     235 “บุคคลผู้เป็นทิฏฐิสัมบัน  พ้นแล้วจากอบายอันใหญ่ใด   ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ... นี้สมุทัยแห่งทุกข์ ... นี้นิโรธแห่งทุกข์ ... นี้ปฏิปทาให้ถึงนิโรธแห่งทุกข์ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ปฏิปทาให้ถึงนิโรธแห่งทุกข์” * (สํ.ม.19/1719/552)

     235 “ภิกษุทั้งหลาย  เปรียบเหมือนว่า  ถ้ามหาสมุทรพึงถึงความเหือดแห้งหมดสิ้นไป เหลือน้ำอยู่เพียง ๒ – ๓ หยด   เธอทั้งหลายจะเห็นอย่างไร   อย่างไหนจะมากกว่ากัน  น้ำในมหาสมุทรที่เหือดแห่งหมดสิ้นไปแล้ว หรือว่าน้ำ ๒ – ๓ หยดที่ยังเหลืออยู่ ?

     “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในมหาสมุทรทีเหือดแห่งหมดสิ้นไปแล้วนั่นแหละ มากกว่า น้ำ ๒ – ๓ หยดที่ยังเหลืออยู่ มีนิดหน่อย ไม่ถึงเศษร้อย ไม่ถึงเศษพัน ไม่ถึงเศษแสน

     “ภิกษุทั้งหลาย   ฉันนั้นเหมือนกัน   สำหรับบุคคลผู้เป็นอริยสาวก   เป็นทิฏฐิสัมบัน  บรรลุธรรมแล้ว ความทุกข์ส่วนที่หมดสิ้นไปแล้วนั่นแหละ มากกว่า ส่วนที่เหลืออยู่ มีนิดหน่อย ไม่ถึงเศษร้อย ไม่ถึงเศษพัน ไม่ถึงเศษแสน คือ มีภพเพียง ๗ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง ธรรมาภิสมัย (การบรรลุธรรม) มีประโยชน์ยิ่งใหญ่อย่างนี้  การได้ธรรมจักษุ  มีประโยชน์ยิ่งใหญ่อย่างนี้”*

     235 “กามสุขในแดนโลก ก็ดี   สุขที่เป็นทิพย์ ก็ดี   ทั้งหมดนั้น มีค่าไม่ถึงเศษเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขที่ได้จากความสิ้นไปแห่งตัณหา” (ขุ.อุ.25/52/87)

     235 “ภิกษุทั้งหลาย    ถ้าบุรุษวางก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อน ไว้ที่ขุนเขาสิเนรุ เธอทั้งหลายจเห็นอย่างไร   ก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่บุรุษวางไว้  กับขุนเขาสิเนรุอย่างไหนจะมากกว่ากัน ?

     “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ขุนเขาสิเนรุนั่นแหละมากกว่า ฯลฯ”

     “ภิกษุทั้งหลาย    ฉันนั้นเหมือนกัน    คุณวิเศษที่ได้บรรลุของสมณพราหมณ์ ปริพาชก ชาวลัทธิอื่นๆ ทั้งหลาย เมื่อเทียบกับผลที่ได้บรรลุของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ซึ่งเป็นทิฏฐิสัมบัน ย่อมไม่ถึงเศษเสี้ยวที่ร้อย เสี้ยวที่พัน เสี้ยวที่แสน ทิฏฐิสัมบันบุคคล มีผลที่บรรลุยิ่งใหญ่อย่างนี้ มีอภิญญายิ่งใหญ่อย่างนี้” (สํ.นิ.16/331-2/168-9)


ง) คุณสมบัติและข้อปฏิบัติก่อนเป็นโสดาบัน 
 
     พึงสังเกตความหมายของศรัทธา  ศีล  จาคะ ปัญญา   ระดับนี้   เทียบกับในตอนว่าด้วยพระโสดาบันโดยตรงที่ผ่านมาแล้ว
 
     • “ผู้ใด   ไม่มีโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการ  (ศรัทธาในพระรัตนตรัย และศีลที่อริยชนชื่นชม หรือยอมรับ) เลยโดยประการทั้งปวง, ผู้นั้น   เราเรียกว่ายังเป็นคนนอก   อยู่ข้างฝ่ายปุถุชน”
 
     • พระเจ้ามหานาม:  พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลจึงจะชื่อว่า เป็นอุบาสก ?
 
     พระพุทธเจ้า:    เพราะการที่บุคคลเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ  ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ, ด้วยเหตุเพียงนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นอุบาสก
 
     พระเจ้ามหานาม:  พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล?
 
     พระพุทธเจ้า:  เพราะการที่อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต...จากอทินนาทาน...จากกาเมสุมิจฉาจาร...จากมุสาวาท...จากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน, ด้วยเหตุเพียงนี้แล อุบาสกชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
 
     พระเจ้ามหานาม:   พระองค์ผู้เจริญ  ด้วยเหตุเพียงไร  อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา?
 
     พระพุทธเจ้า:   ในข้อนี้   อุบาสกเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อโพธิ (ปัญญาตรัสรู้) ของตถาคตว่า ด้วยเหตุผลดังนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นพระผู้ทรงพระเจริญ, ด้วยเหตุเพียงแค่นี้ อุบาสกชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
 
     พระเจ้ามหานาม: พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ?
 
     พระพุทธเจ้า: ในข้อนี้ อุบาสกอยู่ครองเรือน ด้วยใจปราศจากมลทินคือความหวงแหน ฯลฯ ยินดีในการให้การแบ่งปัน, ด้วยเหตุเพียงนี้แล อุบาสกชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ
 
     พระเจ้ามหานาม: พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา?
 
     พระพุทธเจ้า: ในข้อนี้ อุบาสกเป็นผู้มีปัญญา ฯลฯ ทะลวงกิเลสได้ (หรือเจาะสัจธรรมได้) อันให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ, ด้วยเหตุเพียงนี้แล อุบาสกชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา”
 
     ขอนำความหมายของสัทธานุสารี และธัมมานุสารี ซึ่งเป็นรองจากพระโสดาบันมาแสดง อีกครั้งหนึ่ง
 
     • “ภิกษุทั้งหลาย ตา (หู จมูก ลิ้น กาย ใจอารมณ์  ๖  วิญญาณ  ๖ ฯลฯ  ขันธ์  ๕) ไม่เที่ยง เป็นของปรวนแปร กลายเป็นอย่างอื่นได้, ผู้ใดเชื่อ น้อมใจดิ่งต่อธรรมเหล่านี้อย่างนี้, ผู้นี้เรียกว่าเป็นสัทธานุสารี...
 
     “สำหรับผู้ใด   ธรรมเหล่านี้   ทนการเพ่งพิสูจน์ด้วยปัญญาอย่างนี้บ้างพอประมาณ, ผู้นี้เรียกว่าเป็นธัมมานุสารี...”
 

     ต่อนี้ไป   จะแสดงโสตาปัตติยังคะ ๔ ที่ต่างออกไปอีกหมวดหนึ่ง  ซึ่งมิใช่เป็นคุณสมบัติของผู้ที่เป็นโสดาบันแล้วอย่างหมวดก่อนๆ   แต่เป็นองค์ปฏิบัติที่จะทำให้เป็นโสดาบัน หรือข้อปฏิบัติที่นำไปสู่ความเป็นโสดาบัน
 
     • พระพุทธเจ้า:  สารีบุตร   พูดกันว่า โสตาปัตติยังคะ โสตาปัตติยังคะ (องค์คุณเครื่องบรรลุโสดา), โสตาปัตติยังคะ  เป็นไฉน?
 
     พระสารีบุตร:  พระองค์ผู้เจริญ  การเสวนาสัตบุรุษ  (สัปปุริสสังเสวะ) เป็นโสตาปัตติยังคะ ๑ การฟังธรรมของสัตบุรุษ (สัทธัมมสวนะ) เป็นโสตาปัตติยังคะ ๑ การคิดหาเหตุผลโดยถูกวิธี (โยนิโสมนสิการ)  เป็นโสตาปัตติยังคะ ๑ การปฏิบัติธรรมหลักย่อยคล้อยแก่หลักใหญ่ (ธัมมานุธัมมปฏิบัติ) เป็นโสตาปัตติยังคะ ๑”
 
     “ภิกษุทั้งหลาย  โสตาปัตติยังคะ ๔ ประการเหล่านี้  กล่าวคือ  การเสวนาสัตบุรุษ การฟังธรรมของสัตบุรุษ การคิดหาเหตุผลโดยถูกวิธี การปฏิบัติธรรมหลักย่อยคล้อยแก่หลักใหญ่”
 
     “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเหล่านี้ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล”
 
     ความจริง   ธรรมหมวดนี้   มิใช่จะเป็นไปเพื่อโสดาปัตติผลเท่านั้น   แต่อำนวยผลเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางปัญญาทุกระดับจนถึงการบรรลุอรหัตตผล   จึงอาจเรียกชื่ออื่น ๆ ได้อีกหลายอย่าง แต่ท่านเน้นสำหรับการปฏิบัติขั้นนี้   จึงมีชื่อเฉพาะว่าโสตาปัตติยังคะ*
 
 
 
 
- ทิฏฐิ หรือทฤษฎีนี้   จัดเป็นอุจเฉททิฏฐิ   (ความเห็นว่าขาดสูญ) พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในบรรดาทิฏฐินอกพุทธศาสนาทั้งหลาย   ทิฏฐินี้เป็นเลิศ คือดีที่สุด   เพราะผู้มีทิฏฐิเช่นนี้ ย่อมหวังได้ว่าจะรังเกียจภพ และไม่รังเกียจความดับแห่งภพ

* ใน สํ.สฬ.18/549/354 ท่านว่า ทิฏฐิต่างๆ ทั้ง ๖๒ อย่าง เกิดขึ้น เพราะสักกายทิฏฐิเป็นปัจจัย เมื่อไม่มีสักกายทิฏฐิ   ทิฏฐิเหล่านั้นก็หมดไป


* ในบาลีต่อจากที่อ้างในเชิงอรรถก่อน....กล่าวว่าธรรม 4 อย่างนี้เป็นไปเพื่อประจักษ์สกทาคามิผล จนถึงอรหัตตผล และเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางปัญญาอีกมากมายหลายอย่าง เช่น เพื่อความเจริญงอกงามแห่งปัญญา เพื่อความไพบูลย์แห่งปัญญา เพื่อความมีปัญญาแหลมคม เพื่อความมีนิพเพธิกปัญญา คือปัญญาที่จะทำลายกิเลสได้ ฯลฯ โดยเฉพาะที่ว่าเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามแห่งปัญญานั้น ทำให้ได้ชื่อว่า “ปัญญาวุฒิธรรม” ด้วย ซึ่งภายหลังนิยมเรียกเพียงสั้นๆ ว่า วุฒิ 4 หรือวุฒิธรรม 4; ใน องฺ.จตุกฺก. 21/248-249/332   ก็แสดงไว้ในแง่ว่า เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา คือเป็นปัญญาวุฒิธรรม และเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่ผู้เป็นมนุษย์ ซึ่งอาจเรียกง่ายๆ ว่า พหุการธรรม.


 * ต้นสูตร นี้เปรียบเทียบให้เห็นความยิ่งใหญ่ของอบาย  ในอีกสูตรหนึ่ง ที่ สํ.ม.19/1411/428 ได้ตรัสเปรียบเทียบระหว่างพระเจ้าจักรพรรดิกับอริยสาวกโสดาบันว่า  พระเจ้าจักรพรรดิ แม้จะครองราชย์เป็นอิสราธิบดีทั้ง ๔ ทวีป  และสรรคแล้วไปเสวยทิพยสมบัติในสวรรค์  แต่ไม่เป็นโสดาบัน  ก็ไม่พ้นจากนรก ไม่พ้นจากอบาย  ส่วนอริยสาวกผู้เนโสดาบัน  แม้จะเลี้ยงชีพด้วยก้อนข้าวที่เดินบิณฑบาตได้มา  นุ่งห่มผ้าปอนๆ แต่ก็พ้นจากนรก  พ้นจากอบาย

 
เป็นข้อความตอนหนึ่ง  ใน สํ.นิ.16/311-330/162-168  ซึ่งเปรียบเทียบระหว่างความทุกข์ส่วนที่เหลืออยู่ของพระโสดาบัน  กับ  ส่วนที่หมดไปแล้ว  อีกหลายนัย  คือว่า เหมือนฝุ่นที่ปลายเล็บ  กับผืนแผ่นดินทั้งหมด  เหมือนน้ำที่ติดปลายหญ้าคา  กับน้ำเต็มสระโบกขรณีที่กว้างยาวลึกด้านละ ๕๐ โยชน์   เหมือนก้อนดินเท่าเมล็ดกระเบา ๗ ก้อน กับมหาปฐพี   เหมือนก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด  ๗  ก้อน  กับขุนเขาหิมวันต์     รวมทั้งหมด   ๑๐  สูตรสั้นๆ   พระสูตรชุดเดียวกันนี้  มาใน สํ.ม.19/1745-1756/569-577 ด้วย  ต่างกันเพียงคำสรุปท้าย  เปลี่ยนเป็นว่า  “สำหรับบุคคลผู้เป็นอริยสาวก  เป็นทิฏฐิสัมบัน  บรรลุธรรมแล้ว  ผู้รู้ตามเป็นจริงแล้วว่า  นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ปฏิปทาให้ถึงนิโรธแห่งทุกข์   ทุกข์ที่สิ้นไปแล้ว   นั่นแหละมากกว่า  ส่วนที่เหลืออยู่  มีนิดหน่อย  ไม่ถึงการนับ  การเปรียบเทียบ  หรือแม้เศษเสี้ยว คือภาวะที่มีภพ  ๗  ครั้งเป็นอย่างยิ่ง   เพราะฉะนั้นแล   เธอทั้งหลายพึงทำความเพียร  เพื่อรู้ตามเป็นจริงว่า  นี้ทุกข์ ฯลฯ”   และมีสูตรเพิ่มมากขึ้นไปอีก  ๒  สูตร  ใช้ก้อนหินขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗  ก้อน  กับขุนเขาสิเนรุ  เป็นเครื่องเปรียบเทียบ    ความทั่วไปไม่มีอะไรแปลก

 


Create Date : 09 กรกฎาคม 2566
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2566 8:32:40 น. 0 comments
Counter : 323 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space