กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
กรกฏาคม 2566
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
space
space
10 กรกฏาคม 2566
space
space
space

คุ ณ ส ม บั ติ ห ลั ก ของบุคคลโสดาบัน


235 คุณสมบัติหลักของบุคคลโสดาบัน

ความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติสำคัญของบุคคลโสดาบัน

     เนื่องด้วยธรรม ๕ ประการ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา เป็นคุณสมบัติสำคัญของอริยสาวกซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสเน้นอยู่เสมอ และใช้เป็นเครื่องวัดความเจริญความก้าวหน้าของอริยสาวก ทั้งก่อนบรรลุโสดาปัตติผล และเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว นอกจากนั้น ยังมีขอบเขตครอบคลุมโสตาปัตติยังคะ (องค์คุณของพระโสดาบัน) เข้าไว้ทั้งหมด จึงเห็นควรกล่าวถึงคุณสมบัติ ๕ ข้อนี้ไว้เป็นการเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง

     ในการนี้ ขอให้สังเกตคุณสมบัติข้อที่ ๑ คือ ศรัทธาไว้เป็นพิเศษ ว่าเหตุใดจึงเป็นคุณสมบัติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในทุกกรณี สำหรับการปฏิบัติระดับนี้ ทั้งที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ถือปัญญาเป็นธรรมสำคัญสุดยอดในกระบวนการปฏิบัติ


     เมื่อพูดอย่างภาษาของคนสมัยปัจจุบัน ธรรม ๕ ประการ ที่เรียกว่า สัมปทา บ้าง ทรัพย์ บ้าง อริยาวัฒิ (อารยวัฒิ) บ้าง มีความหมายโดยย่อดังนี้

     ๑. ศรัทธา คือ ความเชื่อ ความมั่นใจ เพราะได้พิจารณาไตร่ตรองมองเห็นเหตุผลด้วยปัญญาแล้ว แยกย่อยออกได้เป็น ๓ ด้าน คือ

        ก. ความเชื่อ    ความมั่นใจในพระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นบุคคลต้นแบบ ซึ่งยืนยันถึงวิสัยความสามารถของมนุษย์ว่า มนุษย์สามารถหยั่งรู้สัจธรรม เข้าถึงความจริงและความดีงามสูงสุดได้ ด้วยสติปัญญา และความเพียรพยายามของมนุษย์เอง

     มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้    เจริญงอกงามขึ้นได้ ทั้งในด้านระเบียบชีวิต ที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางกาย วาจา ทั้งในด้านคุณธรรม ที่พึงอบรมให้แก่กล้าขึ้นในจิตใจ ทั้งในด้านปัญญาความรู้คิดเหตุผล จนสามารถหลุดพ้นจากเครื่องผูกมัดบีบคั้น ที่เรียกว่ากิเลสและกองทุกข์ ทำทุกข์ให้สิ้นไป ประสบความเป็นอิสระดีงามเลิศล้ำสมบูรณ์ได้ และในการที่จะเข้าถึงภาวะเช่นนี้ ย่อมไม่มีสัตว์วิเศษใดๆ ไม่ว่าจะโดยชื่อว่า เทพ มาร หรือพรหม ที่จะเป็นผู้ประเสริฐ มีความสามารถเกินกว่ามนุษย์ ซึ่งมนุษย์จะต้องหันไปหา หรือรีรอเพื่อขอฤทธานุภาพดลบันดาล

     อนึ่ง บุคคลผู้ฝึกตนจนลุถึงภาวะนี้แล้ว ย่อมมีคุณความดีพิเศษมากมาย ซึ่งสมควรดำเนินตาม และเมื่อมนุษย์มั่นใจในความสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ ก็ควรพยายามปฏิบัติสร้างคุณความดีพิเศษนั้นให้มีขึ้นในตน หรือปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมที่บุคคลต้นแบบนั้นได้ค้นพบ และนำมาแสดงไว้แล้ว

        ข. ความเชื่อ ความมั่นใจในธรรม ทั้งความจริงและความดีงาม ที่บุคคลต้นแบบซึ่งเรียกว่า พระพุทธเจ้า ได้แสดงไว้นั้น ว่าเป็นสิ่งที่พระองค์ได้ปฏิบัติเห็นผลประจักษ์กับตนเองมาก่อน เรียกว่าค้นพบแล้ว จึงนำมาประกาศเปิดเผยไว้

     ธรรมนั้น เป็นสภาวะดำรงอยู่ หรือเป็นไปตามธรรมดาของมันเอง   เป็นกฎเกณฑ์อันแน่นอน คือนิยามแห่งเหตุและผล   อย่างที่เรียกว่าเป็นกฎธรรมชาติ   ไม่ขึ้นกับการอุบัติของตถาคต คือ ไม่ว่าจะมีใครค้นพบหรือไม่ เป็นกลาง เที่ยงธรรมต่อทุกคน ท้าทายต่อปัญญาและการเพียรพยายามฝึกอบรมตนของมนุษย์   บุคคลทุกคนเมื่อพัฒนาตนให้พร้อม   มีปัญญาแก่กล้าพอแล้ว ก็รู้และลุได้ประจักษ์กับตน เมื่อรู้หรือบรรลุแล้ว ก็สามารถแก้ปัญหา ดับทุกข์ หลุดพ้นเป็นอิสระได้จริง

        ค. ความเชื่อ ความมั่นใจในสงฆ์ คือ ชุมชน หรือสังคมแบบอย่าง ซึ่งเป็นพยานยืนยันว่า มนุษย์ทั่วไปมีความสามารถที่จะบรรลุความจริงความดีงามสูงสุดได้อย่างบุคคลต้นแบบ แต่ชุมชนหรือสังคมนั้นจะมีขึ้นได้เป็นไปได้ ก็ด้วยการยอมให้ธรรม คือความจริง ความดีงาม ปรากฏผลประจักษ์ออกมาทางบุคคล ด้วยการปฏิบัติ

     ชุมชนหรือสังคมนี้ ย่อมประกอบด้วยบุคคลทั้งหลาย ผู้ฝึกปรือ ศึกษา ซึ่งมีความสุกงอมแก่กล้าไม่เท่ากัน ก้าวหน้างอกงามอยู่ในระดับแห่งพัฒนาการต่างๆกัน แต่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะมีหลักการร่วมกัน คือมีธรรมเป็นแกนร่วม มีธรรมเป็นเครื่องวัด เป็นที่รองรับผลประจักษ์ และเป็นที่แสดงออกของธรรม จึงเป็นชุมชนที่มีความดีงามน่าชื่นชม ควรเชิดชูรักษาและเข้าร่วม เพราะเป็นสังคมที่มีสภาพเอื้ออำนวยมากที่สุด แก่การที่จะดำรงธรรมให้สืบต่อไว้ในโลก เป็นแหล่งแพร่ขยายความดีงามและประโยชน์สุขแก่โลก

     รวมความหมายของศรัทธา ๓  อย่างนั้น ได้แก่ ความมั่นใจว่า ความจริง ความดีงาม และกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล มีอยู่ธรรมดาของธรรมชาติ มนุษย์มีความสามารถที่จะเข้าถึง และหยั่งรู้ความดีงามและกฎธรรมชาตินั้นได้ และได้มีบุคคลผู้ประเสริฐซึ่งได้ค้นพบ เข้าถึง และนำความจริงนั้นมาเปิดเผย เป็นเครื่องยืนยันและนำทางไว้แล้ว ผู้ที่มีความมั่นใจในกฎธรรมดาแห่งเหตุผล และมั่นใจในความสามารถของมนุษย์แล้ว ย่อมเพียรพยายามปฏิบัติเพื่อให้ผลสำเร็จเกิดจากเหตุคือการกระทำ เชื่อการกระทำ และผลของการกระทำที่เป็นไปตามนิยามแห่งเหตุและผล จนมีหลักประกันความเข้มแข็งทางจริยธรรม พยายามศึกษาให้รู้เข้าใจและกระทำการไปตามทางแห่งเหตุปัจจัยอย่างมั่นคง ไม่หวังพึ่งอำนาจบันดาลจากภายนอก และจะมั่นใจว่า สังคมที่ดีงาม หรือสังคมอุดมคตินั้น มนุษย์สามารถช่วยกันสร้างขึ้นได้ และประกอบด้วยมนุษย์ผู้ดำเนินชีวิตดีงามตามเหตุผลนี้เอง ซึ่งได้ฝึกอบรมตนเพื่อเข้าถึงธรรม หรือเพื่อบรรลุคุณความดีพิเศษอย่างพระพุทธเจ้า

     สรุปคุมอีกชั้นหนึ่งว่า เมื่อตรองเห็นเหตุผลแล้ว มั่นใจว่าพระพุทธเจ้ารู้จริงดีจริง จึงเชื่อว่าธรรมที่พระองค์ตรัสเป็นจริงดีจริง แล้วเชื่อว่า หมู่ชนที่เป็นอยู่ด้วยธรรมนั้น มีได้จริง ได้มีจริง ควรให้มี และควรเข้าร่วมจริง


     ๒. ศีล  คือ  ระเบียบความประพฤติ หรือถ้าจะพูดให้เต็มความหมายแท้จริง คือระเบียบความเป็นอยู่ ทั้งส่วนตัว และที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางกาย วาจา ตลอดถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งได้กำหนดไว้ เพื่อทำให้ความเป็นอยู่นั้น กลายเป็นสภาพอันเอื้ออำนวยแก่การปฏิบัติกิจต่างๆ ที่เป็นไปเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่ดีงาม ซึ่งเป็นอุดมคติของคนในสังคมหรือชุมชนนั้น

     โดยทั่วไประเบียบความประพฤตินี้ มีลักษณะเป็นการปิดกั้นโอกาสที่จะทำความชั่ว และส่งเสริมโอกาสสำหรับทำความดี โดยฝึกคนให้รู้จักสร้างความสัมพันธ์ด้านกาย วาจาที่ดีงาม กับสภาพแวดล้อ อันจะก่อผลเอื้ออำนวยแก่การดำรงอยู่ ทั้งของตน และชุมชนหรือสังคมของตน และเอื้ออำนวยแก่การทำกิจต่างๆ ที่ยิ่งๆขึ้นไป พร้อมกันนั้น ก็เป็นการฝึกอบรมชีวิตด้านกายและวาจาของบุคคล ให้มีความพร้อมยิ่งขึ้น ในอันที่จะเสวยผล และที่จะทำกิจเชนนั้นด้วย

     เฉพาะอย่างยิ่ง เน้นความสำพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางสังคม คือการอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เพื่อว่า ในสภาพที่เกื้อกูลเช่นนั้น สมาชิกแต่ละคน นอกจากจะสามารถดำรงตนอยู่ได้ด้วยดีแล้ว ก็จะมีโอกาสกระทำสิ่งที่ดีงาม และพัฒนาตนให้เข้าถึงสิ่งที่มีคุณค่าสูงขึ้นไปอีกด้วย

     สำหรับสังคมมนุษย์ในวงกว้าง ระเบียบความประพฤติขั้นต้นอย่างน้อยที่สุด หรือศีลขั้นพื้นฐานที่จะสร้างสภาพเกื้อกูลให้เกิดขึ้น ก็คือหลักที่เรียกว่าศีล ๕ ซึ่งมีสาระสำคัญ ได้แก่ การไม่ละเมิดต่อชีวิต ต่อทรัพย์สินต่อของรักของกันและกัน การไม่ใช้วาจาละเมิดความจริง เพราะเห็นแก่ตนและมุ่งทำลายผู้อื่น และการไม่ยอมทำลายสติสัมปชัญญะหรือความสำนึกผิดชอบชั่วดีของตนด้วยการตกไปในอำนาจของสิ่งเสพติด*

     ส่วนระเบียบความประพฤติที่ซับซ้อนไปกว่านี้   ย่อมรวมไปถึงข้อกำหนดกฎเกณฑ์ ขนบธรรมเนียม และข้อปฏิบัติปลีกย่อยต่างๆ ที่วางไว้เพื่อความเรียบร้อยดีงาม และเพื่อให้เกิดสภาพการดำรงชีวิตอันเกื้อกูลแก่การที่จะเข้าถึงจุดหมายจำเพาะของชุมชนนั้น สังคมนั้น หรือระบบการนั้นๆ  ศีลจึงมีความเข้มงวดกวดขัน เคร่งครัดหยาบ ประณีต และรายละเอียดต่างๆกัน ดังมีศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นตัวอย่าง

     เมื่อว่าโดยสรุป  ศีลตามความหมายของพระพุทธศาสนา มีลักษณะสำคัญ คือ

        ๑) ทำให้เกิดสภาพความเป็นอยู่ ที่เกื้อกูลแก่การปฏิบัติกิจต่างๆ รวมทั้งการพัฒนา เพื่อเข้าถึงจุดหายที่ดีงามโดยลำดับ จนถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิต

        ๒) ทำให้สมาชิกของสังคมหรือชุมชนนั้นอยู่ร่วมกันด้วยดี สังคมสงบเรียบร้อย สมาชิกต่างดำรงอยู่ด้วยดี และมุ่งหน้าปฏิบัติกิจของตนๆ โดยสะดวก

        ๓) ฝึกหัดขัดเกลาตนเอง ทำให้กิเลสเบาบางลง ด้วยการควบคุมยับยั้งสังวร ปรับการแสดงออกทางกาย วาจา ให้เอื้อแก่สภาพความเป็นอยู่ที่เกื้อกูลและการอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้น อันเป็นขั้นต้นของการพัฒนาชีวิตของตน ให้พร้อมที่จะเป็นที่รองรับของกุศลธรรมทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่งคือเป็นพื้นฐานของสมาธิ หรือการฝึกปรือคุณธรรมทางจิตใจที่สูงขึ้นไป*

     แม้ว่าจะมีศีลที่สูงกว่าศีล ๕ อีกหลายระดับ หลายประเภท แต่ศีลหรือระเบียบความประพฤติทุกอย่าง ซึ่งเป็นที่ต้องการในการปฏิบัติธรรม ดังที่เรียกว่า ศีลซึ่งอริยชนชื่นชม (อริยกันตศีล) นั้น มีสาระอย่างเดียวกันทั้งหมด คือ เป็นศีลที่ประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามหลักการ ไม่เขวไปเพราะตัณหา ที่มุ่งแสวงหาอิฏฐารมณ์เป็นผลตอบแทน หรือเพราะทิฏฐิ ที่นำเอาความยึดถือเกี่ยวกับตัวตนมาปิดบังวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของศีล ปฏิบัติโดยเข้าใจความมุ่งหมาย มิใช่สักว่ายึดถือ ทำตามๆกันไปโดยงมงาย

     สำหรับชาวบ้านทั่วไป เมื่อปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้แล้ว แม้เพียงศีล ๕ ก็เป็นปฏิปทาของพระโสดาบัน


     ๓. สุตะ    แปลว่า    สิ่งที่ได้สดับ หมายถึงความรู้ที่ได้จากการได้ยินได้ฟัง การสดับ เรื่องราวข่าวสาร การอ่าน การเล่าเรียน อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่ได้จากการศึกษาศิลปวิทยาต่างๆ เกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ และการประกอบกิจต่างๆ ในโลก แม้จะเป็นสุตะ แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับความเป็นอริยสาวก

     สำหรับความเป็นอยู่และกิจการทั้งหลายในโลกนั้น บุคคลหนึ่งๆ อาจมีสุตะในศิลปวิทยาเพียงอย่างหนึ่งก็พอสำหรับการดำรงชีวิต คนหนึ่งก็มีสุตะในเรื่องหนึ่ง ต่างคนก็ต่างสุตะกันไป สุตะของคนหนึ่ง ไม่จำเป็นสำหรับอีกคนหนึ่ง ไม่มีสุตะใดที่จำเป็นสำหรับทุกคนเสมอเหมือนกัน นอกจากนั้น สุตะประเภทนี้ ยังมิใช่สุตะที่ปราศจากโทษ แม้ว่าโดยความมุ่งหมายเดิม สุตะเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหา ทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากทุกข์ ประสบอิสรภาพและมีความสุข แต่มีบ่อยครั้งที่กลับเกิดผลตรงข้าม กลายเป็นเครื่องมือสร้างปัญหา ก่อความทุกข์ให้หนักและซับซ้อน แก้ไขยากยิ่งขึ้น จึงมิใช่เป็นสุตะที่เต็มตามความหมายในที่นี้

     สุตะที่เป็นคุณสมบัติของอริยสาวกนั้น    หมายถึง    ความรู้ที่จำเป็นสำหรับทุกคน เพื่อให้รู้จักวิธีที่จะดำเนินชีวิตให้ดีงาม ทำให้รู้จักใช้สุตะอื่นๆ มีวิชาชีพเป็นต้น ไปในทางที่เป็นคุณเป็นคุณประโยชน์ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นเป็นส่วนเสริมสำหรับปิดกั้นโทษ ช่วยทำให้สุตะอื่นมีคุณค่าเต็มบริบูรณ์ เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาตามความหมายที่แท้จริง เป็นคุณด้านเดียว

     ยิ่งกว่านั้น สุตะอย่างนี้เท่านั้น เป็นความรู้ที่ทำปุถุชนให้กลายเป็นอริยะหรืออารยชนได้ สุตะนี้ก็คือความรู้ในอริยธรรม คือหลักความจริงความดีงามที่อริยชนแสดงไว้ หรือคำแนะนำสั่งสอนต่างๆ ที่แสดงหลักการครองชีวิตประเสริฐ ชี้มรรคาไปสู่ความเป็นอริยชน

     สุตะในศิลปวิทยาต่างๆ จะต้องมีสุตะในอริยธรรมนี้ควบหรือแทรกอยู่ด้วย เป็นส่วนเติมเต็มเสมอไป จึงจะพอให้เกิดความมั่นใจว่า จะเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เครื่องมือสร้างเสริมปัญหา

     อย่างไรก็ตาม สุตะทุกอย่าง    รวมทั้งสุตะในอริยธรรม    แม้จะเป็นความรู้ที่ถูกต้อง แต่ก็ยังเป็นเพียงความรู้อย่างคลังสำหรับเก็บสะสมวัตถุดิบ ยังไม่สำเร็จกิจแท้จริง อย่างดี ถ้าก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ก็กลายเป็นความรู้ที่ย่อยเข้าเป็นของตัวเองแล้ว ที่เรียกว่าทิฏฐิ หรือความรู้ระดับทฤษฎี ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ จะต้องนำไปใช้เป็นอุปกรณ์ของปัญญา ซึ่งเป็นความรู้ระดับแยกแยะ วิจัย วินิจฉัย และจัดการ โดยนำไปปฏิบัติตามหลักที่ว่า ให้หลักย่อยคล้อยแก่หลักใหญ่ (ธรรมนุธรรมปฏิบัติ) จึงจะสำเร็จผลในการใช้งานอย่างแท้จริง


     ๔. จาคะ    แปลว่า    การสละ หรือสละให้ หมายถึง การให้ที่แท้จริง ซึ่งเป็นการสละออกไป สละทั้งข้างนอกและข้างใน ข้างนอกสละวัตถุ ข้างในสละกิเลสความโลภ ไม่มีความรู้สึกตระหนี่หวงแหน ไม่ปรารถนาผลได้ตอบแทน เพราะการให้ของอริยสาวกนั้น ท่านกระทำด้วยจิตที่สูงพ้นระดับความต้องการผลตอบแทนใดๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สุข หรือสวรรค์ ก็ตาม

     ลักษณะด้านจาคะของอริยสาวก  เท่าที่ท่านบรรยายไว้  เช่นคำว่า  ชอบให้ ชอบริจาค (ทานสังวิภาครัต = ยินดีในการให้การแจก) แสดงอยู่ในตัวถึงการมีความสุขสบายใจในการกระทำเช่นนั้น และการที่มิได้กระทำเพราะมุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทนแก่ตน อริยสาวกจึงไม่มีปัญหาในเรื่องที่จะมาเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน หรือความเศร้าโศกผิดหวังในภายหลังว่า ทำแล้ว ไม่ได้อย่างนั้น ไม่ได้อย่างนี้ เพราะในเมื่อความโลภไม่ครอบงำใจ ไม่หมายใจคิดจะเอา ไม่มีความหวงแหนปิดบังอยู่ข้างในแล้ว ใจก็เปิดกว้างออก ความเข้าใจผู้อื่นก็เกิดขึ้น มองเห็นความทุกข์ความเดือดร้อนของเขาโดยง่าย จิตใจก็โน้มน้อมไปเองในทางที่จะให้ มุ่งแต่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือ ให้เขาได้รับประโยชน์ แก้ปัญหาให้เขา ทำให้เขามีความสุข มีความยินดีพอใจสุขใจในการให้

     การสละ และการแบ่งปันนั้นๆ ถ้าจะคิดในแง่ผลตอบแทน การให้นั่นแหละเป็นการได้อยู่ในตัว เพราะอริยสาวกมีฉันทะในกุสลธรรม คือ ต้องการทำความดี หรือต้องการให้มีสิ่งที่ดีงาม ด้วยการให้นั้น อริยสาวกก็เป็นอันได้กระทำสิ่งที่ดีงาม และความดีงามก็ได้เกิดมีขึ้น อริยสาวกมีเมตตา ปรารถนาให้โลกมีความสุข และที่ได้ให้นั้น ก็ด้วยอำนาจเมตตากรุณา ด้วยการให้นั้น โลกก็มีความสุขเพิ่มขึ้นแล้ว

     นอกจากนั้น อริยสาวกยังได้ความมีใจบริสุทธิ์ ความมีจิตผ่องใส ความมีกิเลสลดน้อยลงไป การได้ฝึกฝนอบรมตน ความก้าวหน้าในธรรม ความสุขความอิ่มใจจากสภาพที่เป็นบุญเป็นกุศลเหล่านั้น และความใกล้จุดหมายของพระศาสนามากยิ่งขึ้น* (เหตุที่คนให้ทาน ดูบันทึกพิเศษท้ายบท)

     ในเรื่องนี้ พึงอ้างวจนะของพระสารีบุตรที่ว่า
 
        “บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่ให้ทานเพราะเห็นแก่อุปธิสุข ย่อมไม่ให้ทานเพื่อภพใหม่ แต่บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมให้ทานเพื่อกำจัดกิเลส เพื่อไม่ก่อภพต่อไป” (ขุ.ม.29/825/517)


     นอกจากการให้การแบ่งปัน เพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์โดยทั่วไปแล้ว จาคะของอริยสาวกยังแสดงออกอีกด้านหนึ่ง หรืออีกขั้นหนึ่ง คือสามารถเฉลี่ยสิ่งของต่างๆ กับคนที่มีศีลมีกัลยาณธรรม (คนประพฤติชอบและมีความดีงาม) ทั้งหลายได้ เหมือนดังว่า ยอมให้ทรัพย์สมบัติของตนเป็นของสาธารณะ สำหรับคนมีศีลมีธรรมจะร่วมใช้ร่วมบริโภคได้ทั้งหมด หรือว่า ในสังคมของคนมีศีลมีธรรม แต่ละคนยินดีสมัครใจให้ทรัพย์สินของตนเป็นของกลาง ใช้สอยบริโภคร่วมกันได้

     อนึ่ง  ในฐานะที่อริยสาวกเป็นสัตบุรุษ  ย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ* ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่ท่านเน้นไว้เกี่ยวกับการให้อย่างสัตบุรุษ ได้แก่ การให้โดยเคารพ คือ ให้ด้วยความตั้งใจจริง ให้ความสำคัญแก่ผู้รับ แก่สิ่งของที่ให้ และแก่การให้นั้น ไม่ว่าผู้รับจะตกอยู่ในสภาพอย่างใด ต่ำต้อยด้อยเพียงใด ก็ไม่ดูถูกเหยียดหยาม ไม่แสดงอาการดังว่า จะทิ้งเสีย หรือหน้านิ่วคิ้วขมวดรำคาญ แต่มีเมตตากรุณา ให้ด้วยความเต็มใจ มุ่งให้เขาได้รับประโยชน์


     ๕. ปัญญา    แปลว่า    ความรู้ทั่ว หรือรู้ชัด ได้แก่ ความเข้าใจ ความหยั่งรู้เหตุผล หรือความรู้ประเภทจำแนกแยกโยงวิจัยจัดแจง สามารถวินิจฉัยได้ว่า จริง เท็จ ดี ชั่ว ถูก ผิด ควร ไม่ควร คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ รู้ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล หรือปัจจัยต่างๆ รู้ภาวะตามเป็นจริงของสิ่งต่างๆ รู้ว่าจะนำไปใช้ หรือปฏิบัติอย่างไร จึงจะแก้ปัญหาได้ หรือให้สำเร็จผลที่มุ่งหมาย เป็นความรู้ระดับเข้าถึง หรือแก้ปัญหา แต่ในที่นี้ ท่านหมายถึงเฉพาะความรู้ที่จะใช้แก้ปัญหาชีวิตของมนุษย์ คือดับทุกข์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ความรู้ที่จะทำให้รู้จักดำเนินชีวิตให้ถูกต้องดีงาม ไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ให้เป็นที่มาของทุกข์

     ปัญญาในความหมายนี้   มีวิธีพูดได้หลายด้าน เช่นว่า ความเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง หรือรู้อริยสัจ หรือมองเห็นปฏิจจสมุปบาท หรือความคิดเห็นผลที่ไม่ถูกนิวรณ์ ๕ ครอบงำ หรือที่ท่านแสดงไว้เป็นความหมายของปัญญาสัมปทา ในฐานะคุณสมบัติของอริยสาวกว่า ปัญญาที่หยั่งถึงความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไป  (หรือ รู้เท่าทันคติธรรมดาของโลกและชีวิต เช่น เกิดแก่เจ็บตาย ความเจริญและความเสื่อม)   อันเป็นอริยะ  ทะลวงกิเลส (หรือ เจาะสัจธรรมได้) อันจะให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ แต่ไม่ว่าจะบรรยายโดยสำนวนความอย่างใด ก็มีสาระสำคัญอย่างเดียวกัน

     ไม่ว่าใครจะมีโลกียปัญญายักเยื้องแก่กล้าแตกกันออกไปอย่างใด ซึ่งทำให้เป็นผู้เก่งกล้าสามารถในการดำเนินกิจการต่างๆ ในโลก เช่น โดดเด่นในการเมือง รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เป็นนักประดิษฐ์เชี่ยวชาญประยุกตวิทยา หรือเป็นนักค้นคว้าและค้นพบทางวิทยาศาสตร์ แต่ความรู้ที่ขาดไม่ได้ หรือจำเป็นสำหรับทุกคน ในการที่จะแก้ปัญหาชีวิตของตน หรือที่จะดำเนินชีวิตอยู่ด้วยดี ก็คือ ปัญญาที่เป็นคุณสมบัติของอริยสาวกนี้

     อย่างไรก็ดี   ความรู้ประเภทสุตะ ก็เป็นอุปกรณ์สำคัญของปัญญา ซึ่งทำให้ปัญญาได้ข้อมูลที่จะนำไปใช้และสร้างความเข้าใจได้ชัดเจนกว้างขวางยิ่งขึ้น สุตะจึงเป็นปัจจัยแก่ปัญญาด้วย

     ไม่เฉพาะแต่สุตะทางธรรมเท่านั้น ที่เป็นปัจจัยแก่ปัญญาของอริยสาวกได้ แม้แต่สุตะทางโลก ก็เป็นปัจจัยแก่ปัญญาทางธรรมได้ โดยเฉพาะประสบการณ์ชีวิต เพราะผู้ที่รู้จักคิด (โยนิโสมนสิการ) อาจเกิดปัญญาเข้าใจโลกและชีวิตได้ จากสุตะในวิชาการและอาชีพต่างๆ ที่ตนประกอบ

     แต่เมื่อกล่าวอย่างรวบยอด สำหรับการดำเนินชีวิตที่ดีงาม หรือความก้าวหน้าในธรรม ความสำเร็จเด็ดขาดอยู่ที่ปัญญา บางคนมีสุตะมาก แต่ไม่รู้จักคิด ก็หาเกิดปัญญาไม่ และไม่สามารถใช้สุตะให้เป็นประโยชน์ บางคนมีสุตะเพียงเล็กน้อยจนแทบไม่ต้องพูดถึง แต่มีปัญญามาก รู้จักคิด ก็รู้จักดำเนินชีวิตที่ดี แก้ปัญหาได้

     สำหรับผู้มีปัญญา   ยิ่งมีสุตะมาก    ปัญญาก็ยิ่งทำการสำเร็จประโยชน์มาก แต่ถึงขาดแคลนสุตะ ก็อาจทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ ในการแสดงคุณสมบัติของอริยสาวก จึงมีหลายครั้งที่ปรากฏว่า เมื่อจะต้องลดจำนวนข้อลงให้เหลือเพียง ๔ เอาไว้แต่ที่จำเป็นมากกว่า ท่านจึงลดสุตะออกไป เหลือเพียง ศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา

     อนึ่ง ปัญญา ไม่เพียงแต่ให้ความสำเร็จแก่สุตะเท่านั้น แต่เป็นฐานรองรับ และให้ความถูกต้องแก่คุณสมบัติข้ออื่นๆ ทั้งหมด ปัญญาทำให้ศรัทธา เป็นศรัทธาที่ถูกต้องตามหลัก ไม่ผิดพลาดกลายไปเป็นความงมงาย ปัญญาทำให้ประพฤติศีล ได้ถูกต้อง เป็นศีลที่อริยชนชื่นชมยอมรับ อย่างที่เรียกว่าอริยกันตศีล ไม่กลายไปเป็นสีลัพพตปรามาส ปัญญาทำให้มี จาคะ ที่เป็นความสละแท้จริงได้ เพราะถ้าไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจโลก และชีวิตตามความเป็นจริง ยังไม่มองเห็นสภาวะที่แท้และคติธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย และยังไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่าแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องให้คุณค่าแก่วัตถุกามเป็นอย่างสูง ยากที่จะไม่หลงใหลปรารถนามากขึ้นไปในโลกิยสุข และจึงยากที่จะทำการสละออกไปโดยไม่หวังผลได้ตอบแทน เป็นกามคุณ หรือ ความเป็นความมีในรูปใดรูปหนึ่ง

     โดยนัยนี้  ปัญญาจึงเป็นแกน  และเป็นตัวคุมคุณสมบัติอื่น   เป็นคุณสมบัติหลักของอริยสาวก และเป็นจุดมุ่งของการฝึกอบรมตนของอริยสาวกต่อๆไป


(มีต่อ)


 


Create Date : 10 กรกฎาคม 2566
Last Update : 27 ธันวาคม 2566 19:49:59 น. 0 comments
Counter : 212 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space