กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤศจิกายน 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
19 พฤศจิกายน 2566
space
space
space

ความเข้าใจหลักธรรม ตามหลักฐานทางวิชาการ



ความเข้าใจหลักธรรม ตามหลักฐานทางวิชาการ

"ฉันทะ"  คือ คำหลัก ที่ต้องแยกแยะความหมาย ให้หายสับสนทางภาษา


    ได้ชี้แจงทำความเข้าใจแล้วว่า  ความเข้าใจพร่ามัวสับสนต่อความหมายของความอยาก ที่มองกันแคบๆ โดยเอาความอยากเป็นตัณหาไปหมดนั้น   เป็นความเข้าใจผิดพลาด  เนื่องจากปัญหาทางภาษา   เกี่ยวกับความหมายของถ้อยคำภาษาบาลี   ที่นำมาใช้ในภาษาไทย และรู้เข้าใจกันไม่เพียงพอ

     ทีนี้   ดูในภาษาบาลีบ้าง   คำบาลีที่มีความหมายว่าเป็นความอยาก   ก็มีหลายคำ และบางคำก็มีความซับซ้อนทั้งในด้านความหมาย และในการใช้พูด ใช้เขียน พูดได้ว่า ชวนให้สับสนมาก จึงต้องค่อยๆทำความเข้าใจกันให้ดี

    เบื้องแรก ขอนำคำสำคัญที่ซับซ้อนมาตั้งให้ดู แล้วสะสางให้คลายสงสัยไปตามลำดับ เมื่อเข้าใจหายสับสนในคำสำคัญที่ซับซ้อนนี้แล้ว ก็จะเข้าใจได้ดีโล่งตลอด ขอย้ำว่า ให้ค่อยๆแยกแยะ ทำความเข้าใจไปตามขั้นตอน จนกว่าจะได้หลักที่ชัดเจน

    คำศัพท์ธรรมในกรณีนี้   ที่น่าศึกษา ซึ่งมีการใช้ทั้งในแง่ที่เป็นคำกลางสำหรับความอยาก มีความหมายพื้นฐานกว้างที่สุด   ครอบคลุมความอยากในแง่ต่างๆ ได้ทั้งหมด  และในแง่ที่เป็นคำหลัก ซึ่งมีความหมายเฉพาะทางด้านกุศล เป็นฝ่ายดี   ได้แก่   ”ฉันทะ”

    ฉันทะ  โดยทั่วไป  แปลกันว่า  ความพอใจ  แต่ที่จริงแปลได้มากมายหลายอย่าง เช่น ว่า ความยินดี   ความพอใจ   ความชอบ   ความชื่นชม   ความอยาก   ความปรารถนา   ความต้องการ  ความใฝ่ ความรัก   ความใคร่

    เพื่อความสะดวก   ในที่นี้  ขอใช้คำแปลคำเดียวเป็นคำกลางไว้ก่อนว่า  ”ความอยาก”

    เมื่อประมวลความตามที่พระอรรถกถาจารย์จัดแยกไว้   จำแนกได้ว่า ฉันทะ มี ๓ ประเภท คือ (ดู นิทฺ.อ.1/20,73 ฯลฯ)

        ๑. ตัณหาฉันทะ    ฉันทะคือตัณหา หรือฉันทะที่เป็นตัณหา เป็นฝ่ายชั่ว หรืออกุศล

        ๒. กัตตุกัมยตาฉันทะ    ฉันทะคือความใคร่เพื่อจะทำ  ได้แก่  ความต้องการทำ  หรืออยากทำ บางทีถือเป็นคำกลางๆ เข้าได้ทั้งกุศลและอกุศล   แต่ในที่ทั่วไป   ท่านใช้ในความหมายที่เป็นกุศล เป็นฝ่ายดี

        ๓. กุศลธรรมฉันทะ    ฉันทะในกุศลธรรม หรือธรรมฉันทะที่เป็นกุศล  เป็นฝ่ายดีงามหรือกุศล  มักเรียกสั้นๆเพียง ว่า กุศลฉันทะ (ความรักดี ความใฝ่ดี) หรือธรรมฉันทะ (ความรักธรรม หรือความใฝ่ธรรม)


     ข้อที่ ๑  ฉันทะที่เป็นตัณหาฉันทะนั้น ท่านใช้เป็นไวพจน์คำหนึ่งของตัณหา เช่นเดียวกับราคะ และโลภะ เป็นต้น  ฉันทะประเภทนี้  ในบาลีมีใช้มากมาย   ที่คุ้นตากันมาก  คือ ในคำว่า ”กามฉันทะ”  ซึ่งเป็นข้อแรกในนิวรณ์ ๕   กามฉันทะนี้  ท่านว่าได้แก่กามตัณหานั่นเอง

    ฉันทะนี้  บางแห่งมาด้วยกันกับไวพจน์ทั้งหลายเป็นกลุ่ม  เช่น  ในพุทธพจน์ว่า

        “ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา อุปาทาน ... ใดๆ ในจักษุ ในรูป ในจักขุวิญญาณ ในธรรมทั้งหลายที่พึงทราบด้วยจักขุวิญญาณ (และในหมวดอายตนะอื่นครบทั้ง ๖) ... เพราะสลัดทิ้งได้ซึ่งฉันทะ ... เหล่านั้น  เราย่อมรู้ชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว” 

     แต่ส่วนมากมาลำพังโดดๆ  ถึงกระนั้น  ก็สังเกตไม่ยากว่า  มีความหมายเท่ากับตัณหา เพราะถ้าเอาคำว่าตัณหาใส่ลงไปแทนที่ฉันทะในกรณีนั้นๆ  ก็จะได้ความเหมือนกัน  เช่น  ฉันทะในภพ  ฉันทะในกามคุณทั้งหลาย   ฉันทะในกาย   ฉันทะในเมถุน   ฉันทะในสิ่งที่ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ ไม่เป็นอัตตา คือ รูป เวทนา เป็นต้น  เสียง กลิ่น รส เป็นต้น 


     ที่สร้างรูปเป็นศัพท์เฉพาะอย่างเดียวกับตัณหา  ก็มี  เช่น  รูปฉันทะ สัททฉันทะ คันธฉันทะ รสฉันทะ  โผฏฐัพพฉันทะ  และธรรมฉันทะ  แม้แต่ฉันทะในคนก็มี  ซึ่งก็หมายถึงความรักใคร่ หรือความมีใจผูกพันนั่นเอง  ดังจะเห็นได้ชัดในคันธภกสูตร  ตรัสถึงฉันทะในบุตรและภรรยา และในสูตรเดียวกันนี้  ตรัสว่า ”ฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์”  ตรงกับที่ตรัสในอริยสัจข้อที่ ๒ ว่า ตัณหาเป็นสมุทัย คือ เหตุเกิดแห่งทุกข์ และอีกแห่งหนึ่ง  ตรัสว่า  พึงละฉันทะ  (ในสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา) เท่ากับที่ตรัสในธรรมจักรว่า ตัณหาเป็นสิ่งที่พึงละเสีย


    ข้อที่ ๒  ฉันทะที่เป็นกัตตุกัมยตาฉันทะ   หมายถึง   ความต้องการจะทำ หรือความอยากทำ ดังได้กล่าวแล้ว ฉันทะประเภทนี้ ตรงกับที่อภิธรรมจัดเข้าเป็นเจตสิกอย่างหนึ่ง ในจำพวกปกิณณกเจตสิก คือ เจตสิกที่เรี่ยรายแพร่กระจายทั่วไป เกิดกับจิตฝ่ายกุศลก็ได้ ฝ่ายอกุศลก็ได้

    กัตตุกัมยตาฉันทะที่คุ้นกันดีที่สุด   ก็คือฉันทะที่เป็นธรรมข้อแรกในอิทธิบาท ๔ และที่เป็นสาระของสัมมัปปธานทั้ง ๔ ข้อ  (เช่น องฺ.จตุกฺก.21/69/96ฯลฯ) ฉันทะประเภทนี้  มีความหมายใกล้เคียงกับวิริยะ หรือวายามะ (ความพยายาม) และอุตสาหะ  บางทีท่านก็กล่าวซ้อนกันไว้ เพื่อเสริมความหมายของกันและกัน  (เช่นในพุทธพจน์แสดงสัมมัปปธาน) นับว่าเป็นคุณธรรมสำคัญที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติธรรม และการบำเพ็ญกิจกรณีย์ต่างๆ

    อย่างไรก็ดี  กัตตุกัมยตาฉันทะนี้  ท่านมักรวมเข้ากันไว้ด้วยกันกับฉันทะประเภทที่ ๓ คือ กุศลธรรมฉันทะ เสมือนจะถือว่าฉันทะ ๒ ประเภทนี้เป็นอย่างเดียวกัน เช่น ฉันทะในอิทธิบาท ๔ และในสัมมัปปธาน ๔ นั้น ก็เป็นทั้งกัตตุกัมยตาฉันทะ และกุศลธรรมฉันทะ ดังนั้น จึงขอผ่านไปยังฉันทะประเภทที่ ๓ ทีเดียว  ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมจึงจัดกัตตุกัมยตาฉันทะเข้าร่วมกับกุศลธรรมฉันทะ จะได้กล่าวกล่าวข้างหน้า


    ข้อที่ ๓  ฉันทะที่เป็นกุศลธรรมฉันทะ   ที่เรียกชื่อเต็ม มีที่มาแห่งหนึ่งในพระสูตร ซึ่งตรัสแสดงองค์ประกอบ ๖ ประการ  อันยากที่จะปรากฏให้ได้พบในโลก (องฺ.ฉกฺก.22/367/491)  กุศลธรรมฉันทะนี้  เป็นองค์ประกอบข้อสุดท้ายใน ๖ ข้อนั้น  ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยให้บุคคลได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา หรือสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม  เพราะบุคคลใด  แม้จะมีองค์ประกอบ ๕ ข้อแรกครบถ้วนแล้ว    แต่ถ้าบุคคลนั้นขาดกุศลธรรมฉันทะเสียอย่างเดียว ก็ไม่สามารถใช้องค์ประกอบข้ออื่นๆ ให้เป็นประโยชน์ได้   ดังพุทธพจน์ ณ ที่นั้นว่า

         “ภิกษุทั้งหลาย   ความปรากฏขึ้นแห่งองค์ประกอบ ๖ ประการ  เป็นของหาได้ยากในโลก ... คือ   ความปรากฏขึ้นแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ๑  บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว  ๑ การได้กำเนิดเกิดมาในถิ่นแดนของอารยชน (อริยายตนะ)  ๑  ความเป็นผู้อินทรีย์ไม่บกพร่อง  ๑  ความไม่เป็นใบ้เบอะบะปัญญาอ่อน  ๑ ความใฝ่ในกุศลธรรม (กุศลธรรมฉันทะ) ๑”


    ฉันทะที่กล่าวถึงในการปฏิบัติธรรม   ส่วนมากเป็นฉันทะในสัมมัปปธาน ๔ คือ ในข้อความว่า

        “บุคคลนั้น   ยังฉันทะให้เกิดขึ้น  พยายาม  ระดมความเพียร  ยกชูจิตไว้ ยืนหยัดเพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ... เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ... เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ... เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนรางไป เพื่อความเพิ่มพูน ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว”

    ขอแทรกตรงนี้   พึงสังเกตเป็นพิเศษว่า   พุทธพจน์นี้   ซึ่งถือเป็นคำจำกัดความของสัมมัปปธาน   (ความเพียงชอบ ความเพียรสมบูรณ์แบบ)   แสดงฉันทะว่าเป็นตัวนำ หรือตัวแท้ของความเพียร ที่เป็นโพธิปักขิยธรรม

    แม้ฉันทะที่มาในข้อความอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ก็มีรูปความคล้ายกัน เช่น ฉันทะเพื่อบรรลุกุศลธรรมทั้งหลาย  ฉันทะในการสมาทานสิกขา  ฉันทะเพื่อเจริญปัญญินทรีย์

    ทำนองเดียวกันนี้   ในขั้นรวบยอดเลยทีเดียว เช่น ฉันทะเพื่อละสรรพกิเลส (ขุ.ปฏิ.31/455/337) เกิดฉันทะในนิพพาน  (ขุ.ธ.25/26/44(ธ.อ.6/141 ว่าเป็นกัตตุกัมยตาฉันทะ)

    ดังนั้น   จึงจัดว่าเป็นทั้งกัตตุกัมยตาฉันทะ และกุศลธรรมฉันทะ คือเป็นทั้งฉันทะที่อยากจะทำ และเป็นฉันทะในสิ่งที่ดีงาม   พูดง่ายๆ ว่า ต้องการทำสิ่งที่ดีงาม

    คัมภีร์วิภังค์แห่งพระอภิธรรมปิฎก   อธิบาย "ฉันทะ"   ในสัมมัปปธาน ๔ และในอิทธิบาท ๔ ว่า เป็นกัตตุกัมยตากุศลธรรมฉันทะ   ดังความตามบาลีว่า

    ในปธาน ๔ :  ฉนฺทํ ชเนตีติ:  ตตฺถ กตโม ฉนฺโท ?   โย  ฉนฺโท  ฉนฺทิกตา  กตฺตุกมฺยตา กุสโล ธมฺมจฺฉนฺโท  อยํ  วุจฺจติ  "ฉนฺโท"

    "บทว่า  ยังฉันทะให้เกิด:  ไขความว่า  ฉันทะ  เป็นไฉน ?   ความพอใจ  ความมีใจใฝ่อยู่ ความเป็นผู้ใคร่จะทำ ฉันทะในธรรม ซึ่งเป็นกุศล อันใด นี้เรียกว่า ฉันทะ"

     ในอิทธิบาท ๔:   ตตฺถ กตโม ฉนฺทิทฺธิปาโท ?   อิธ  ภิกฺขุ  ยสฺมึ สมเย  โลกุตฺตรํ ฌานํ ภาเวติ ...โย ตสฺมึ สมเย ฉนฺโท ฉนฺทิกตา กตฺตุกมฺยตา กุสโล ธมฺมจฺฉนฺโท อยํ วุจฺจติ  "ฉนฺทิทฺธิปาโท"

     "ในอิทธิบาท ๔ นั้น  ฉันทอิทธิบาท  เป็นไฉน ?   ในสมัยใด  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญโลกุตรฌาน ..., ความพอใจ  ความมีใจใฝ่อยู่  ความเป็นผู้ใคร่ที่จะทำ  ฉันทะในธรรม ซึ่งเป็นกุศล อันใด ในสมัยนั้น  นี้เรียกว่า  ฉันทอิทธิบาท"

      คำอธิบายในคัมภีร์วิภังค์ข้างบนนี้  นับว่า  เป็นต้นแบบของคำอธิบายฉันทะฝ่ายดีในอรรถกถาทั้งหลาย และคงจะเป็นต้นเค้าของการจัดเอาฉันทะประเภทที่ ๒ มารวมเข้าเป็นข้อเดียวกับฉันทะประเภทที่ ๓ นี้





* คำว่า  ตัณหาฉันทะ  กัตตุกัมยตาฉันทะ  และกุศลธรรมฉันทะ  ตามปกติ  เป็นเพียงคำสำหรับใช้อธิบาย (โดยมากใช้ในอรรถกถา)  ว่า  ฉันทะในกรณีนั้นๆ  เป็นฉันทะประเภทใด  ในบาลีใช้เพียงว่า "ฉันทะ"  ผู้ศึกษาจะต้องกำหนดแยกเอาเอง

ไวพจน์ของตัณหา  นอกจากฉันทะ  ราคะ  และโลภะ  มีอีกหลายคำ  เช่น  อนุนัย  นันทิ   อิจฉา  มายา  ปณิธิ  สิเนห  (เสน่หา)  อาสา   อภิชฌา ฯลฯ

ที่มาตรงกับฉันทะ ๓  ประเภทที่อ้างแล้ว เฉพาะอย่างยิ่ง  นิทฺ.อ.1/73  (กามฉันทะ  แปลว่า  ความพอใจ หรือความอยากในกาม  หรือแปลว่า  ฉันทะคือความใคร่  ก็ได้)


* องค์ประกอบ ๖ ประการนี้  ยากที่ใครๆ จะได้ประสบครบถ้วน  ถ้าประสบเข้าแล้ว  ก็นับว่าเป็นโอกาสยิ่งเพราะเป็นการได้ปัจจัยต่างๆ  พรั่งพร้อมบริบูรณ์สำหรับการปฏิบัติธรรม  หรือเจริญก้าวหน้าในอริยธรรม


Create Date : 19 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2566 17:43:21 น. 0 comments
Counter : 125 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space