กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤศจิกายน 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
20 พฤศจิกายน 2566
space
space
space

อธิบายเชิงเปรียบเทียบตัณหา กับ ฉันทะ


อธิบายเชิงเปรียบเทียบ


  สรุปความเท่าที่กล่าวมา เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับทำความเข้าใจกันต่อไป ดังนี้


     ๑. ตัณหา     มุ่งประสงค์เวทนา และจึงต้องการสิ่งสำหรับเอามาเสพเสวยเวทนา หรือสิ่งที่จะปรนปรือตัวตน   ตัณหาอาศัยอวิชชาคอยหล่อเลี้ยงและให้โอกาส   พัวพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับเรื่องตัวตน เอาอัตตาเป็นศูนย์กลาง และนำไปสู่ปริเยสนา หรือการแสวงหา


     ๒. ฉันทะ    มุ่งประสงค์อัตถะ คือ ตัวประโยชน์   (หมายถึงสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิต คล้ายกับที่ปัจจุบันเรียกว่า คุณภาพชีวิต) และจึงต้องการความจริง  สิ่งที่ดีงาม หรือภาวะที่ดีงาม ต้องการทำให้ดีงามสมบูรณ์เต็มสภาวะ   ฉันทะก่อตัวขึ้นจากโยนิโสมนสิการ คือ ความรู้จักคิด หรือคิดถูกวิธี  คิดตามสภาวะและเหตุผล   เป็นภาวะกลางๆ ของธรรม ไม่ผูกพันกับอัตตา และนำไปสู่อุตสาหะ หรือ วิริยะ คือ ทำให้เกิดการกระทำ


   ข้อควรย้ำในตอนนี้ มี ๒ อย่าง คือ

 
       ก. เพื่อจะแยกว่า เมื่อใครคิด พูด ทำ อะไร จะเป็นตัณหาหรือไม่ ถึงตอนนี้ จะเห็นชัดว่า ความต้องการหรือกิจกรรมใด ไม่เกี่ยวกับการหาสิ่งมาเสพเสวยเวทนา ไม่เกี่ยวกับการปกป้องรักษาหรือเสริมขยายความมั่นคงถาวรของอัตตา (ลึกลงไปแม้แต่การที่จะบีบคั้นลิดรอนอัตตา) ความต้องการหรือกิจกรรมนั้น ไม่ใช่เรื่องของตัณหา

       ข. ข้อความใด   ตัณหานำไปสู่การแสวงหา   ฉันทะทำให้เกิดการกระทำ นี้เป็นจุดสำคัญที่จะให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างตัณหา กับ ฉันทะ ได้ชัดเจน เป็นขั้นออกสู่ปฏิบัติการ และเป็นขั้นตอนสำคัญที่มีผลในทางจริยธรรมเป็นอย่างมาก จึงจะหันมาพิจารณากันที่จุดนี้ต่อไป


    ดังได้กล่าวแล้วว่า ตัณหาต้องการสิ่งที่จะเอามาเสพเสวยเวทนา ความสมประสงค์ของตัณหาอยู่ที่การได้สิ่งนั้นๆ มา วิธีการใดๆ ก็ตาม ที่จะให้ได้สิ่งนั้นมา เรียกเป็นคำเฉพาะในที่นี้ว่า การแสวงหา หรือ ปริเยสนา

   ในการได้สิ่งเสพเสวยมาอย่างหนึ่ง   วิธีการที่จะได้   อาจมีหลายวิธี   บางวิธีไม่ต้องมีการกระทำ (เช่น มีผู้ให้)  บางวิธีอาจต้องมีการกระทำ   แต่ในกรณีที่ต้องมีการกระทำ  สิ่งที่ตัณหาต้องการ จะไม่เป็นเหตุเป็นผลกันกับการกระทำนั้นโดยตรง  ยกตัวอย่าง

   นาย ก. กวาดถนน ได้เงินเดือน ๙๐๐ บาท

   ถ้าหนูหน่อยอ่านหนังสือเล่มนี้จบ คุณพ่อจะพาไปดูหนัง

   หลายคนคิดว่า การกวาดถนนเป็นเหตุให้ได้เงินเดือน จึงสรุปว่า การกระทำคือการกวาดถนนเป็นเหตุ เงินเดือนเป็นผล การได้เงินเดือนเป็นผลของการกระทำ คือ การกวาดถนน แต่ตามความจริงแท้ ข้อสรุปนี้ผิด เป็นเพียงระบบความคิดแบบสะสมเคยชิน และหลอกตัวเองของมนุษย์

    ถ้าจะให้ถูกต้อง ต้องเติมสิ่งที่ขาดหายไปแทรกเข้ามาด้วย ได้ความใหม่ว่า การกระทำคือการกวาดถนน เป็นเหตุให้ถนนสะอาด ความสะอาดของถนนจึงเป็นผลที่แท้ของการกระทำ คือ การกวาดถนน  ส่วนการกวาดถนนแล้วได้เงินเดือน เป็นเพียงเงื่อนไขที่มนุษย์กำหนดวางกันขึ้น หาได้เป็นเหตุเป็นผลกันแท้จริงไม่   (เงินไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการกวาดถนน บางคนอาจกวาดถนนแล้วไม่ได้เงิน หรืออีกหลายคนได้เงินเดือนโดยไม่ต้องกวาดถนน)


    คำพูดที่เคร่งครัดตามหลักเหตุผลในกรณีนี้ จึงต้องว่า การกวาดถนนเป็นการกระทำที่เป็นเหตุให้ถนนสะอาด แต่เป็นเงื่อนไขให้นาย ก. ได้เงินเดือน ๙๐๐ บาท

    ในตัวอย่างที่ ๒ ก็เช่นเดียวกัน หลายคนคงคิดว่า การอ่านหนังสือจบเป็นเหตุ และการได้ไปดูหนังกับคุณพ่อเป็นผล  แต่ความจริง การอ่านหนังสือจบเป็นเพียงเงือนไขให้ได้ไปดูหนัง  ส่วนที่เป็นเหตุแท้จริง ก็คือ การอ่านหนังสือจบ เป็นเหตุให้ได้ความรู้ในหนังสือนั้น การกระทำคือการอ่านเป็นเหตุ และการได้ความรู้เป็นผล

    ตามตัวอย่างทั้ง ๒ นี้ ถ้าพฤติกรรมของนาย ก. และหนูหน่อย เป็นไปตามตัณหา นาย ก. ย่อมต้องการเงินเดือน หาได้ต้องการความสะอาดของถนนไม่ และเขาก็ย่อมไม่ต้องการทำการกวาดด้วย แต่ที่ต้องกวาด ก็เพราะจำต้องทำ เพราะเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้เงิน
 
    ส่วนหนูหน่อย  ก็ย่อมต้องการดูหนัง  หาได้ต้องการความรู้จากหนังสือนั้นไม่ และโดยนัยเดียวกัน ก็มิได้ต้องการที่จะกระทำการอ่านหนังสือ แต่ที่กระทำคืออ่านหนังสือ ก็เพราะเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้สิ่งที่ตัณหาต้องการ คือ การดูหนัง

    โดยนัยนี้  พูดตามกฎธรรมชาติ หรือตามกระบวนธรรมแท้ๆ ตัณหาไม่ทำให้เกิดการกระทำ และไม่ทำให้เกิดความต้องการที่จะทำ การกระทำเป็นเพียงวิธีการอย่างหนึ่งตามเงื่อนไข ที่จะช่วยให้การแสวงหารสิ่งเสพเสวยสำเร็จลุล่วงตามความต้องการของตัณหา


    ตัวอย่างทั้ง ๒ นั้น  แสดงความหมายของฉันทะชัดเจนอยู่ด้วยแล้ว ฉันทะต้องการกุศล หรือต้องการตัวธรรม ต้องการภาวะดีงามหรือความรู้เข้าใจในความจริงแท้

    ถ้ามีฉันทะ นาย ก. ย่อมต้องการความสะอาดของถนน และหนูหน่อยก็ต้องการความรู้ในหนังสือนั้น  ความสะอาดเป็นผลของการกระทำ คือ การกวาดถนน  ความรู้ก็เป็นผลของการอ่านหนังสือ ทั้งสองคนต้องการผลของการกระทำโดยตรง ผลเรียกร้องเหตุ คือ ชี้บ่งหรือกำหนดการกระทำ เมื่อกระทำ ผลก็เกิดขึ้น การกระทำ คือ การก่อผล หรือการกระทำ คือ การเกิดผล เมื่อนาย ก. กวาด ความสะอาดก็เกิดขึ้น และเกิดขึ้นทุกขณะที่กวาด  เมื่อหนูหน่อย อ่านหนังสือ ความรู้ก็เกิด และเกิดเรื่อยไปพร้อมกับที่อ่าน การกระทำคือการได้ผลที่ต้องการ

    ฉันทะต้องการภาวะดีงาม   ที่เป็นผลของการกระทำ  และจึงต้องการกระทำที่เป็นเหตุของผลนั้นด้วย

    โดยนัยนี้   ฉันทะทำให้เกิดการกระทำ และทำให้เกิดความต้องการที่จะทำ หรือทำให้อยากทำ ความข้อนี้ ย้อนหลังไปบรรจบกับหลักที่อ้างไว้ข้างต้น คือ ทำให้มองเห็นเหตุผลว่า ทำไมท่านจึงจัดรวมฉันทะประเภทที่ ๒ คือ กัตตุกัมยตาฉันทะ (ความต้องการที่จะทำ หรือความอยากทำ) เข้าเป็นข้อเดียวกับกุศลฉันทะหรือธรรมฉันทะ*

    ถ้าพฤติกรรมเป็นไปโดยฉันทะ นาย ก. ก็มีความตั้งใจกวาดถนน ที่เป็นส่วนต่างหากจากการได้เงินเดือน หนูหน่อย ก็อ่านหนังสือได้ โดยคุณพ่อไม่ต้องล่อด้วยการพาไปดูหนัง และมิใช่เพียงเท่านั้น ผลทางจริยธรรมมีมากกว่านี้ แต่ตอนนี้  เอาแค่รู้ว่า  ตัณหา คือ ต้องการเสพ  ฉันทะ คือ ต้องการธรรม และต้องการทำ


235 ปัญหาจากระบบเงื่อนไขของตัณหา


     การมีตัณหา หรือมีฉันทะ   เป็นแรงจูงใจในการกระทำ  ก่อให้เกิดผลในทางจริยธรรม หรือผลในทางปฏิบัติแตกต่างกันออกไปได้มาก

     เมื่อบุคคลมีตัณหาเป็นแรงจูงใจ   การกระทำเป็นเพียงเงื่อนไข   สำหรับการได้สิ่งเสพเสวยมาปรนเปรอตน   เขาไม่ต้องการทั้งการกระทำ และผลของการกระทำนั้น   จุดมุ่งประสงค์ของเขา  อยู่ที่การได้สิ่งเสพเสวยนั้นมา

    ในหลายกรณี   การกระทำที่เป็นเงื่อนไขนั้น   เป็นเพียงวิธีการอย่างหนึ่งที่จะให้ได้สิ่งที่เขาต้องการ ดังนั้น


      ก) ถ้าเขาสามารถหาวิธีการอื่นที่จะให้ได้โดยไม่ต้องทำ เขาก็จะหลีกเลี่ยงการกระทำนั้นเสีย หันไปใช้วิธีที่จะได้โดยไม่ต้องทำแทน เพราะถ้าเป็นไปได้ การได้โดยไม่ต้องทำ ย่อมตรงกับความต้องการของตัณหามากที่สุด

      ข) ถ้าจำเป็นจริงๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเงื่อนไขนั้นได้ เขาก็จะทำด้วยความรังเกียจ จำใจ ไม่เต็มใจ และไม่ตั้งใจจริง

  โดยนัยนี้  ผลเท่าที่พอมองเห็นได้ ก็คือ

     - เมื่อจะหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นเงื่อนไข เขาอาจหันไปใช้วิธีลัด หรือวิธีอื่นใด ซึ่งง่ายที่จะให้ได้สิ่งเสพมาโดยไม่ต้องทำ ผลอย่างแรงคือการทุจริต ในรูปต่างๆ เช่น นาย ก. อยากได้เงิน ไม่มีฉันทะ และอุตสาหะในงานเสียเลย เขาทนทำงานรอเวลาอยู่ไม่ได้ จึงหันไปหาเงินด้วยวิธีลักขโมยแทน หรือ หนูหน่อยอยากไปดูหนัง ทนอ่านหนังสือไม่ได้ อาจขโมยเงินคุณแม่ไปดูเอง โดยไม่ต้องรอให้คุณพ่อพาไป

     - ในเมื่อเขามีแต่ตัณหาที่อยากได้ แต่ไม่มีฉันทะที่อยากทำ เขาจึงทำงานที่เป็นเงื่อนไขอย่างชนิดสักว่าทำหรือทำพอให้เสร็จ หรือทำคลุมๆ พอให้เขาเห็นว่าได้ทำ ผลคือไม่ได้ความประณีตหรือความดีเลิศของงาน และผู้ทำก็เพาะนิสัยไม่ดีให้แก่ตนเอง กลายเป็นผู้ขาดความใฝ่สัมฤทธิ์ มักง่าย จับจด เป็นต้น เช่น นาย ก. สักว่ากวาดถนนไปวันๆ พอครบเดือนๆ เพื่อได้เงิน หนูหน่อยอ่านหนังสือพอให้คุณพ่อเห็นว่าจบแล้ว โดยไม่ได้ความรู้ความเข้าใจ หรืออาจคดโกงหลอกลวง เช่น ไม่ได้อ่านเลย หรืออ่านหน้าแรก หน้ากลาง หน้าหลัง รอจนเวลาผ่านไปพอควร ก็มาบอกคุณพ่อว่าอ่านจบแล้ว

     - ในเมื่อเงื่อนไขหลักมีช่องโหว่ เกิดความย่อหย่อน หละหลวม เลี่ยงหลบ หลอกได้ เป็นต้น ก็เป็นเหตุให้ต้องสร้างเงื่อนไขรองต่างๆ เข้ามากระหนาบ เพื่อป้องกัน กวดขัน และอุดทางรั่ว ซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ทำให้ระบบต่างๆซับซ้อน สับสน นุงนัง ยืดยาดยิ่งขึ้น เช่น ต้องหาคนมาคุมนาย ก. ทำงาน ตั้งผู้ตรวจงาน สำรวจเวลาทำงาน หรือ ให้พี่มาคอยดูหนูหน่อยอ่านหนังสือ  คุณพ่อซักถามปัญหาเกี่ยวกับเนื้อเรื่องในหนังสือที่อ่าน เป็นต้น

     ครั้นตัณหาเข้าไปครอบงำพฤติกรรมในการปฏิบัติเงื่อนไขรองนั้นได้อีก ความทุจริตหละหลวม ย่อหย่อนทั้งหลาย ก็เกิดแทรกซ้อนมากมาย จนอาจทำให้ระบบทั้งหมดฟอนเฟะ หรือเน่าเละไป

     - ในเมื่อสิ่งที่ผู้กระทำต้องการเป็นอย่างหนึ่ง  แต่สิ่งที่เป็นผลของการกระทำนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ผลของการกระทำก็ไม่อาจเป็นตัวกำหนด หรือบ่งชี้ปริมาณ และคุณภาพของการกระทำได้ เพราะการกระทำไม่เป็นไปเพื่อผลของมันเอง แต่กลายเป็นเพียงทาสสำหรับรับใช้สิ่งอื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมเกิดความไม่พอเหมาะพอดีระหว่างการกระทำ กับ ผลที่พึงประสงค์ กล่าวคือ เมื่อตามความจริง ภาวะดีงามที่ควรจะมีควรจะเป็น คือ อย่างนี้ อยู่ตรงนี้ และจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำเท่านี้ แต่การกระทำของผู้ทำ กลับเกินเลยมากไปเสียบ้าง ขาดหย่อนน้อยไปเสียบ้าง ไม่พอดีที่จะให้เกิดภาวะ ซึ่งเป็นผลดีอันพึงประสงค์นั้น  ทั้งนี้ เพราะการกระทำนั้นไปมุ่งรับใช้ความต้องการสิ่งเสพเสวย ที่เป็นผลตามเงื่อนไข การได้เสพเสวยจึงกลายเป็นตัวกำหนดหรือบ่งชี้การกระทำ

     สูตรสัมพันธ์สำหรับการกระทำที่เป็นเงื่อนไขของการได้สิ่งเสพเสวย หรือสูตรของตัณหา มีว่า ”ยิ่งได้สิ่งเสพ ก็ยิ่งทำๆ"   หรือ  ”ยิ่งได้เวทนาอร่อย ก็ยิ่งทำๆ”   ซึ่งเป็นสูตรเปิดท้าย ทำไปไม่รู้จบ และถ้ามองกลับด้าน ก็กลายเป็นว่า ”ถ้าไม่ได้สิ่งเสพ ก็ไม่ทำ” หรือ ”ถ้าไม่ได้เวทนาอร่อย ก็ไม่ทำ”

     เมื่อการกระทำไม่เป็นไปเพื่อผลของมัน และไม่พอดีกับผลที่เป็นภาวะพึงประสงค์ นอกจากผลดีนั้นจะบกพร่องแล้ว ยังจะก่อให้เกิดโทษ หรือผลร้ายต่างๆ ได้มากมายอีกด้วย ตัวอย่าง ที่เห็นง่ายๆ ก็คือ การกินอาหาร เมื่อกินด้วยตัณหาล้วนๆ คราวอร่อย ก็กินจนอืดเกินอิ่ม  ครั้นไม่อร่อยอย่างใจ ก็กินน้อยจนท้องร้องครวญ ไม่พอดีกับความต้องการของร่างกาย ทำให้เจ็บป่วย เกิดโรค   (การกระทำคือการกิน เป็นเหตุของผล คือ ร่างกายได้รับอาหารพอแก่สุขภาพ และเป็นเงื่อนไขของการได้เสพรสอร่อย)

     ผลร้ายในข้อนี้ มีได้อย่างซับซ้อน ตั้งแต่ในชีวิตของบุคคล จนถึงปัญหาสังคมในวงกว้าง ดังจะพิจารณาในตัวอย่างต่อๆไปอีก

    ในเมื่อการกระทำ กับ สิ่งที่ตัณหาต้องการ ไม่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันโดยตรง ตัณหาจึงรังเกียจการกระทำ คือ ไม่ต้องการทำ ตัณหาพยายามหลีกเลี่ยงการทำ โดยพยายามให้ได้โดยไม่ต้องทำ และเมื่อจำเป็นต้องทำ ก็ทำโดยจำใจ ดังกล่าวแล้ว ผู้กระทำด้วยตัณหา (ตามระบบเงื่อนไข) จึงย่อมไม่ได้ความสุข ความพึงใจในการกระทำนั้น และแม้ในผลสำเร็จของการกระทำที่เกิดมีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆควบคู่ไปกับการกระทำ

     มองอีกแง่หนึ่ง สิ่งที่ตัณหาต้องการ คือ ของเสพเสวยนั้น ตั้งอยู่ลอยๆ ไม่สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน กับ การกระทำ ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้สิ่งเสพเสวย ความกระหายอยากต่อสิ่งนั้นก็ไม่เปลี่ยนแปลง ยิ่งกว่านั้น ความเป็นไประหว่างกระทำตามเงื่อนไขนั้นแหละ อาจกลายเป็นตัวเร่งเร้าหรือกดดันให้ตัณหาตื่นเต้นหวั่นไหวหรือหวั่นหวาดยิ่งขึ้น

    โดยนัยนี้  ภาวะทางจิตของผู้เป็นอยู่หรือกระทำด้วยตัณหา  จึงได้แก่ความร้อนรน  กระวนกระวาย ความฟุ้งซ่าน  ความเครียด  ความกระสับกระส่าย  พ่วงด้วยอกุศลธรรมอื่นๆ  อันอาจเกิดตามมา เช่น ความหวาดกลัว  ความระแวง  ความริษยา  เป็นต้น

     ความไม่สมคาดในระหว่าง ก็ดี  การไม่ได้สมหวังในบั้นปลาย ก็ดี  ล้วนนำไปสู่ผลร้ายทางจิตใจที่รุนแรง ให้เกิดความข้องคับใจ  ตลอดถึงโรคทางจิต  ผลร้ายทางจิตข้อนี้  เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง  เพราะเป็นสิ่งก่อปมปัญหาทางจิตใจ  ที่ระบายขยายออกไปเป็นปัญหาชีวิต  ปัญหาสังคมที่กว้างขวาง พึงเทียบกับผลของฉันทะด้วย  เพื่อความชัดเจนเพิ่มขึ้นในบางแง่


235 ผลดีจากระบบตรงไปตรงมาของฉันทะ


     ส่วนบุคคลผู้มีฉันทะเป็นแรงจูงใจ   ต้องการภาวะที่เป็นผลของการกระทำโดยตรง อันเป็นเหตุให้เขามีความต้องการทำ ดังได้กล่าวแล้ว  ดังนั้น ผลที่ติดตามมา จึงปรากฎในทางตรงกันข้าม กับ ตัณหา ซึ่งจะเห็นได้โดยพิจารณาเทียบเอาจากเหตุผลที่แสดงไว้แล้วในตอนว่าด้วยตัณหาข้างต้น ในที่นี้ จะกล่าวไว้เพียงโดยย่อ กล่าวคือ

     - ไม่ทำให้เกิดทุจริต แต่ทำให้เกิดความสุจริต ความขยัน อดทน ความซื่อตรงต่องาน และแม้แต่ความซื่อตรงต่อเหตุผลที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ

     - ทำให้ตั้งใจทำงาน นำไปสู่ความประณีต ความดีเลิศของงาน เพาะนิสัยใฝ่สัมฤทธิ์ ทำจริงจัง เอางานและสู้งาน

     - ตรงข้ามกับความสับสนซับซ้อนในระบบ และการคอยจ้องจับผิดกัน จะมีความร่วมมือมือร่วมใจ การประสานงาน และการมีส่วนร่วม เพราะต่างมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน ที่เป็นจุดหมายร่วมกัน มิใช่มุ่งสิ่งเสพเสวยเพื่อตัวเพื่อตน ที่จะต้องคอยฉกฉวยเกี่ยงแย่งชิงกัน

     - เนื่องด้วยการกระทำเป็นไปเพื่อผลของมัน ผลจึงเป็นตัวกำหนด หรือชี้บ่งปริมาณและคุณภาพของงานที่เป็นเหตุของมัน ดังนั้น จึงย่อมเกิดความพอเหมาะพอดี ระหว่างการกระทำกับผลที่พึงประสงค์ คือ ทำเท่าที่ภาวะซึ่งเป็นผลดีจะเกิดมีขึ้น เช่น กินอาหารพอดี ที่จะสนองความต้องการของร่างกายให้มีสุภาพดี โดยไม่ตกเป็นทาสของการเสพรส

     - เนื่องด้วยผู้ทำด้วยฉันทะ  ต้องการผลของการกระทำโดยตรง  และต้องการทำให้ผลนั้นเกิดขึ้น อีกทั้งเขาย่อมได้ประจักษ์ผลที่เกิดต่อเนื่องไปกับการกระทำ เพราะการกระทำ  คือ  การก่อผลซึ่งเขาต้องการ  ความต้องการ  ก็ดี  การประจักษ์ผลต่อเนื่องไปกับกระทำทุกขั้นตอน ก็ดี  ทำให้เขาได้รับความพึงพอใจ  ความอิ่มใจ  ปีติปราโมทย์  ความสุข  และความสงบตั้งมั่นของจิตใจ*


      - ด้วยเหตุนี้  ในทางธรรม  จึงจัดฉันทะเข้าเป็นอิทธิบาทอย่างหนึ่ง  อิทธิบาทเป็นหลักสำคัญในการสร้างสมาธิ   ฉันทะจึงทำให้เกิดสมาธิ  ซึ่งท่านให้ชื่อเฉพาะว่า  ฉันทสมาธิ*  และจึงเป็นเครื่องส่งเสริมสุขภาพจิต  ตรงข้ามกับตัณหาที่ทำให้เกิดโรคจิต


     แม้ในกรณีที่ทำไม่สำเร็จ  คือไม่สามารถทำให้ผลของการกระทำนั้นเกิดมีจนลุถึงที่สุด  ฉันทะก็ไม่ก่อให้เกิดทุกข์   ไม่ทำให้เกิดปมปัญหาในใจ  ทั้งนี้  เพราะการกระทำที่สำเร็จผลหรือไม่  ก็คือความเป็นไปตามเหตุผล   เหตุเท่าใด  ผลก็เท่านั้น  หรือเหตุเท่านี้  ปัจจัยขัดขวางเท่านั้น  ผลก็มีเท่านี้ เป็นต้น  ผู้ทำด้วยฉันทะ  ได้เริ่มต้นการกระทำมาจากความคิด หรือความเข้าใจเหตุผล และได้ประจักษ์ผลควบมากับการกระทำที่เป็นเหตุ  จึงไม่เกิดทุกข์หรือปมในใจ เพราะฉันทะ


     ถ้าทุกข์หรือปมนั้นจะเกิดขึ้น ก็เป็นเพราะเปิดช่องให้ตัณหาสอดแทรกเข้ามา   (เช่น เกิดความห่วงกังวลเกี่ยวกับตัวตนขึ้นว่า คนนั้น คนนี้ จะว่าเราทำไม่สำเร็จ หรือว่า ทำไมเขาทำได้ เราทำไม่ได้ ดังนี้ เป็นต้น)




* อ้างหลักฐานเพิ่มอีกแห่งหนึ่งว่า  "กตฺตุกมฺยตาลกฺขโณ กุสลฉนฺโท"  แปลว่า  กุศลฉันทะ มีความต้องการจะกระทำ เป็นลักษณะ หรือ แปลอย่างง่ายๆ ว่า  ลักษณะของกุศลฉันทะ คือ อยากทำ  (วินยฺ.ฎีกาา 2/291)
 

ความตอนนี้    อาจยกเอาคำบรรยายการเจริญอานาปานสติ ใน ขุ.ปฏิ.31/390/265 เป็นตัวอย่างประกอบ ณ ที่นั้น ท่านกล่าวถึงว่า  เมื่อผู้เจริญอานาปานสติ  กำหนดลมหายใจเขา - ออกอยู่   เมื่อฉันทะเกิดขึ้น   ลมหายใจก็ละเอียดขึ้น   กำหนดลมหายใจนั้นต่อไป  ปราโมทย์ก็เกิด  ดังนี้  เป็นต้น (ดูประกอบ วินย.ฎีกา 2/291)

* ถ้าภิกษุอาศัยฉันทะ  ได้สมาธิ  ได้ภาวะจิตมีอารมณ์เดียว  นี้เรียกว่า ฉันทะสมาธิ (สํ.ม.19/1150/344)

ความคิดลักษณะนี้  เป็นขั้นมานะ  แต่ต้องมีตัณหายืนพื้นอยู่  คือ ความอยากในความมั่นคงถาวรของตน  ซึ่งโยงไปจนถึงมานะในตอนที่่เป็นความอยากให้เราได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำสำเร็จ (พึงอ้าง อภิ.ป.42/418/241 แต่บาลีตอนนี้คงตกข้อความสำคัญไป  ดังปรากฏข้อความเต็มที่นำไปอ้างใน วิสุทฺธิ.ฎีกา 3/117 เฉพาะส่วนที่ประสงค์ในที่นี้  ได้แก่  ข้อความว่า มานสังโยชน์  อาศัยภวราคสังโยชน์  (เกิดขึ้นได้โดยเหตุปัจจัย)  ตามหลักอภิธรรมถือว่า มานะมีโลภะเป็นปทัฏฐาน และเกิดเฉพาะในจิตที่เป็นโลภมูล หรือโลภสหรคต (ประกอบด้วยโลภะ) พูดอย่างง่ายๆ มานะก็สืบทอดมาจากตัณหานั่นเอง ดู อภิ.สํ 34/919/358 สงฺคห. 9 สงฺคห.ฎีกา 109 วิสุทฺธิ. 3/44)

 


Create Date : 20 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2566 12:35:14 น. 0 comments
Counter : 124 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space