ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
25 ธันวาคม 2550

ย้อนยุทธ์ ตอนที่ 11 คำจริง ทิ่มใจ



บางครั้งคำพูดตรงไปตรงไปมาจากใจจริงของคนภายนอก
ก็แทงทิ่มใจดำเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้เหมือนกันครับ
หากพลิกด้านบวกจากคำพูดมาตริตรอง
ก็สามารถเป็นแรงดลใจแก้ไขข้อบกพร่องที่ผ่านมา

ซูเปอร์มาร์เก็ตอาหารทะเลสดแห่งหนึ่งในเมืองลุงแซม
มักจะเชิญกลุ่มลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านธรรมดา
มาร่วมพบปะพูดคุยกันเป็นประจำ
นัยว่าเพื่อกระชับความสัมพันธ์และสอบถามความคิดเห็น
ด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ตลอดจนบริการ

ครั้งหนึ่งมีสุภาพสตรีสูงอายุแสดงความคิดเห็นต่อบรรดาปลาสดที่เอามาจำหน่าย

“ นี่พ่อหนุ่ม อะไรๆในร้านนี้ก็อยู่หรอก แต่มีอยู่อย่างที่ฉันไม่ชอบ”
“ อะไรหรือครับ คุณนาย” ผู้จัดการหนุ่มน้อมฟังอย่างสุภาพ
“ ปลาของเธอน่ะ ไม่สด” คุณนายแม่บ้านพูดด้วยเสียงมั่นใจ
“ แต่คุณนายครับ ปลาของเรามาสดๆจากท่าเรือทุกเช้าเลยนะครับ
เราไม่เคยเอาปลาเหลือเก็บหรือค้างคืนมาขายต่อเลย”
ผู้จัดการหนุ่มแก้ตัวเป็นพัลวัน ทว่าคุณนายท่านเดิมขมวดคิ้วยืนกราน
“ จะสดได้อย่างไรล่ะ ก็ถูกแพคห่อพลาสติกวางทิ้งไว้อย่างนี้ ก็หายสดแล้วซิ”

ผู้จัดการหนุ่มจึงถึง “บางอ้อ” และเข้าใจความหมายของ “Perception is Reality” ทันที

ในความรับรู้ของผู้บริโภค ปลาทะเลสดๆต้องหมายถึงปลาที่เห็นทั้งตัว
(ถ้าให้สดสุดๆก็คือ ยังว่ายไปว่ายมาได้) ไม่ผ่านการชำแหละ แล่ใดๆทั้งสิ้น
ฉะนั้นคุณแม่บ้านรายนี้จึงอนุมานว่าปลาของห้างที่ผ่านกรรมวิธีการแล่
และแพคใส่ภาชนะบรรจุเพื่อความสะดวกหยิบได้ทันทีนั้น
จึงไม่ใช่ปลาสดจริงๆ

ผู้บริหารซูเปอร์มาร์เก็ตจึงปรึกษากัน
ตกลงจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของแผนกอาหารทะเล
เพื่อนำปลาเป็นๆทั้งตัวมาวางขาย
โดยยอมเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขอนามัยของสถานที่
เพื่อให้ลูกค้าอย่างคุณนายรายนี้ได้ของสดๆดังใจ
ขณะที่ตู้แช่เย็นก็ยังมีปลาแล่ใส่แพ็คสำเร็จ
นำไปประกอบอาหารได้เลยสำหรับแม่บ้านที่ต้องการความสะดวก

ผลจากคำจริง ทิ่มใจ
ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตอาหารทะเลสดมียอดขายเพิ่มขึ้นนับเท่าตัว

กูรูขอบสนามเริ่มบทความย้อนยุทธ์ตอนนี้
จากบทเรียนของบริษัทผู้จำหน่ายอาหารสดรายใหญ่ในต่างแดน
ที่ริเริ่มแผนกอาหารทะลสดๆเห็นเป็นตัวๆเพราะเพียงคำพูดตรงไปตรงมา
ยังมีกรณีศึกษาอีกหลายเรื่องครับ
อันเกิดจากคำพูดซื่อๆทว่าโดนใจที่รับรู้มา

เหตุการณ์แรก ผ่านมาหลายปีแล้วครับ
บริษัทคอนซูเมอร์โปรดักส์แห่งหนึ่งออกโปรโมชั่น
ให้ส่งฝากล่องผลิตภัณฑ์มาชิงโชค
โดยผู้ส่งต้องเขียนที่อยู่ตัวเองให้ชัดเจนครบถ้วน
เมื่อหมดช่วงระยะเวลาส่งแล้ว
ทีมงานก็เริ่มนับจำนวนชิ้นส่วนจากทั่วประเทศ
ปรากฏมีอยู่ภาคพื้นที่หนึ่งที่ส่งชิ้นส่วนมาน้อยมากจนน่าแปลกใจ
ทีมงานอดรนทนไม่ได้ถึงกับเดินทางไปหาหน่วยงานขายย่อยประจำท้องถิ่น
ซักถามชาวบ้านว่าทำไมไม่ค่อยมีใครส่งชิ้นส่วนร่วมรายการเลย
คำตอบที่ได้ทำเอาทีมงานคาดไม่ถึง

ชาวบ้านส่วนใหญ่เคยเห็นและรับทราบรายการชิ้นส่วนชิงโชคครับ
ทั้ง รู้กติกาดีว่าต้องเขียนชื่อ - ที่อยู่ลงบนฝากกล่องผลิตภัณฑ์
แต่ที่ไม่ได้ส่งเพราะ ไม่มีปากกาสวยๆเหมือนด้ามที่เห็นในโฆษณา
อีกทั้งไม่มีที่อยู่ที่ใกล้เคียงกับที่อยู่อันปรากฏในโฆษณาด้วย
( ที่อยู่สมมติส่วนใหญ่มักจะระบุแถวๆ ถ.สุขุมวิท พระโขนง
เพราะ ตัวสะกดน้อย จำง่าย กล้องถ่ายได้ชัด
เมื่อเทียบกับ ถ.จรัลสนิทวงศ์ ถ. วิภาวดีรังสิต หรือเขตสัมพันธวงศ์
ป้อมปราบศัตรูพ่าย) ก็เลยไม่ส่ง เพราะอย่างไรเสียก็คิดว่าคงไม่ได้

บทเรียนนี้จึงทำให้บรรดาบริษัทที่รับถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งหลาย
ตระหนักถึงความละเอียดละออในบางฉาก
เมื่อต้องถ่ายฉากขณะเขียนชื่อที่อยู่ ถ่ายให้เห็นแค่ปลายปากกาพอ
และจะไม่โชว์ที่อยู่สมมติครบถ้วนบนหน้าจอ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดอีก

เห็นมั๊ยครับ เรื่องบางเรื่องที่เราคิดไม่ถึงก็สามารถเป็นเรื่องได้

ตัวอย่างคำพูดจริงใจในกรณีต่อมา ใกล้ตัวชาว VI มากครับ

บริษัทสำนักช่าวสารจากเมืองผู้ดีที่มาเปิดดำเนินธุรกิจ
ด้านข้อมูลสารสนเทศในบ้านเรามานานพอสมควร
แทบทุกคนรู้จักสำนักข่าวแห่งนี้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญข่าวสงคราม
การรบราที่ไม่มีวี่แววจะสิ้นสุดในตะวันออกกลาง
มาครั้งนี้สำนักข่าว ต้องการจะเปิดแผนกข้อมูลธุรกิจ
เพื่อเจาะตลาดการลงทุนสำหรับนักลงทุนสถาบันและรายย่อย
ซึ่งในตลาดมีจ้าวผูกขาดอยู่ก่อนแล้ว
ก่อนจะเปิดดำเนินการก็อยากจะรู้ความต้องการของนักลงทุนว่า
ยังมีช่องว่างอะไรที่รายเก่าไม่สามารถบริการได้บ้าง
จึงมอบหมายทีมงานให้ทำกลุ่มสนทนาคนเล่นหุ้นขึ้นมา
ซึ่งกูรูได้มีโอกาสเฝ้าสังเกตการณ์ด้วย

ในระหว่างวงสนทนา
มีการไถ่ถามถึงความสนใจติดตามเรื่องข่าวสารต่างๆเพื่อตัดสินใจ
ส่วนใหญ่จะอ่านข่าวหนังสือพิมพิ์ทุกวันประมาณ 10 – 15 นาที
โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวข้องกับหุ้นที่ตัวเองเกี่ยวข้อง

“ วันไหนลงข่าวหรือประกาศเต็มหน้า จะอ่านนานเป็นพิเศษ”
ท่านผู้ร่วมสนทนาคนหนึ่งกล่าว
“ วันไหนลงประกาศเต็มหน้า ผมขายเลย ไม่อ่าน”
ท่านนักลงทุนผู้อาวุโสอีกท่านเสริมท่ามกลางความสงสัย
และเมื่อขอให้ขยายความเพิ่มก็ได้รับคำตอบว่า
“ ข่าวดี ไม่เคยประกาศยาวๆ “
หรือแปลง่ายๆมีแต่ข่าวร้ายเท่านั้นครับที่ต้องแจกแจงรายละเอียด
จนต้องใช้หน้าหนังสือพิมพ์ถึงหนึ่งหน้าเต็ม
“ มัวอ่านจนจบ หุ้นรูดไปถึงไหนแล้วไม่รู้ ” ( ฮา.....)

ข่าวประกาศสั้น ยาว เลยกลายเป็นจุดตัดสินใจของนักลงทุน (บางคน)
และกลายเป็นเคล็ดเล็กๆที่ถ่ายทอดรู้กัน
ก็ไม่ทราบว่าบรรดาบริษัททั้งหลายจะนำไปเป็นข้อคิด
ในการเผยแพร่ข่าวอย่างไรต่อ

แต่ในความคิดของกูรูคงเหมือนกับท่านผู้อ่านหลายคนแหละครับ
บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด
ควรแจ้งเนื้อหาข่าวให้ละเอียดที่สุดว่าเกิดอะไรขึ้น ผลเป็นอย่างไร
และบริษัทมีแผนดำเนินการจัดการเหตุการณ์นั้นอย่างไรบ้าง
พยายามจบให้ได้ในวันเดียว
ไม่ใช่ปล่อยให้กระปริบกระปรอยเรื้อรังให้สาธารณะชนเดากันเอง


คำพูดจากใจจริงในกรณีสุดท้ายเป็นเรื่องน่ารักๆครับ

ไม่บ่อยนักที่ทีมงานจะมีโอกาสทำกลุ่มสนทนากับเด็ก
โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งกว่าจะได้ตัวมา
ก็ต้องขออนุญาตบรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย
คนชักชวนจะต้องให้ความมั่นใจว่า ไม่ได้เอาคุณหนูๆมากระทำมิดีมิร้าย
ตัดแขน ตัดขาไปขอทานตามข่าวคราวที่ได้ยิน
(แต่ถ้ากูรูไปชวนเอง คงเปลี่ยนใจแน่ๆ)
อีกทั้งบรรดาคุณหนูเล็กๆเหล่านั้นล้วนมีสมาธิสั้นมาก
ต้องล่อหลอกให้หายตื่นด้วยเกมส์ละเล่นมากมาย
บางคนก็ช่างพูดเป็นต่อยหอย บางคนก็ขี้อายไม่พูดสักคำ
มิหนำซ้ำพอถูกซักมากเข้าหน้าก็ชักเหย ปากเริ่มเบะ
ร้องไห้อยากกลับบ้าน
ฉะนั้นคนที่นำกลุ่มสนทนาเด็กได้จนจบไม่ล่มกลางครัน
ต้องยอดเยี่ยมจริงๆครับ

วงสนทนาเด็กครั้งหนึ่ง
เราพูดถึงพฤติกรรมการกินไอศกรีมของเด็กๆ
โดยเฉพาะไอศกรีมรถเข็นตามบ้านให้เหล่าคุณหนูๆแต่ละคน
เล่าประสบการณ์ชอบ ไม่ชอบกินไอศกรีมจากรถเข็นกุ๋งกิ๋งทั้งหลาย
ส่วนใหญ่ไอศกรีมรถเข็นจะขายดีช่วงปิดเทอม และเสาร์ อาทิตย์
เพราะเด็กๆจะอยู่บ้าน

มีคุณหนูผู้ชายคนหนึ่งเล่าเรื่องจริงแต่ทิ่มใจให้ฟังว่า
ปกติเป็นคนที่ชอบซื้อไอศกรีมจากรถเข็นกินประจำ
เพราะสะดวก ไม่ต้องออกไปนอกบ้าน ซื้อปุ๊บกินเย็นๆ ทันที
ไอศกรีมไม่ทันละลาย

“ วันหนึ่ง นั่งเล่นอยู่บนระเบียงบ้าน
เห็นรถไอติมจ้าวประจำแล่นเข้ามาในหมู่บ้าน ก็จะลงไปข้างล่าง
แต่เห็นคนถีบหยุดรถก่อนถึงบ้าน เดินไปที่เสาไฟฟ้าแล้ว.......
(กูรูขอเว้นไว้ให้ผู้อ่านจินตนาการเอาเองนะครับ) แล้วก็ขึ้นมาถีบรถต่อ
เลยเลิกกินไอศกรีมรถถีบตั้งแต่วันนั้นเลย”

หวังว่าผู้อ่านคงสามารถคล้อยตามเรื่องราว
จากปากคำใสซื่อของเด็กชายรายนี้ได้นะครับ
มือที่ปฏิบัติภารกิจส่วนตัวเสร็จหยกๆยังไม่ได้ล้าง
ต้องเป็นมือเดียวที่ควานหา หยิบและยื่นแท่งไอศกรีมให้แน่นอน

ความนัยดังกล่าวล่วงรู้ไปถึงหูผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแห่งหนึ่ง
ที่กำลังจะออกไอศกรีมตัวใหม่ในตลาด
เหล่าผู้บริหารสุมหัวกันอย่างเห็นความสำคัญ
ถึงกับระบุในแผนปฏิบัติงานรถเข็นไอศกรีม
ให้คนถีบระมัดระวังการทำกิจวัตรส่วนตัว อย่าประเจิดประเจ้อ
และทุกครั้งที่หยิบไอศกรีมต้องสวมถุงมือสะอาดเสมอ

คำพูดใสๆไร้เดียงสา เลยกลายเป็น Best Practice ในวงการรถเข็นไอศกรีมไปเลยครับ


Create Date : 25 ธันวาคม 2550
Last Update : 1 เมษายน 2551 20:47:50 น. 0 comments
Counter : 313 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]