ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
22 ธันวาคม 2550

ย้อนยุทธ์ ตอนที่ 5 ขึ้นต้นเป็นนครหินอ่อน



ย้อนยุทธ์มา 3-4 ตอน ท่านผู้อ่านคงนึกสงสัย
อายุอานามกูผู้รู้ขอบสนามนายนี้เท่าไหร่กันแน่
ก็เลยขอตอบว่ายังวัยวุ่น วัยรุ่นอยู่นะครับ
เดินห้างสรรพสินค้า (เห็นแต่ด้านหลัง) กลมกลืนกับเด็กๆได้สบาย
ถ้าไม่เอาแว่นขยายมาส่องหน้าเห็นผมหงอกๆ
รอยประทับบาทากาไก่มากเกินจำเป็น
เข้าแถวยืนรอคิวสั่งแฮมเบอร์เกอร์ฮิตๆก็ไม่หงุดหงิด
หรือบ่นเมื่อยขาให้น่ารำคาญใจ

ว่าแล้วย้อนยุทธ์ตอนนี้จะพูดถึงประสบการณ์เดินห้างเสียหน่อย
สมกับยุคที่การท่องเที่ยวอยากให้กรุงเทพเป็น
Shopping Paradise เสียนักหนา

กูรูเกิดไม่ทันยุคของห้างไทยๆอย่าง ห้างใต้ฟ้า เยาวราช
ห้างแมวดำแถวราชวงศ์
หรือรุ่นถัดมาหน่อย ห้างไนติงเกล โอลิมปิค แถวถนนตรีเพชร
พอจำได้แต่สโลแกนเลาๆ ว่า “ราชาแห่งเครื่องดนตรี ราชินีแห่งเครื่องสำอางค์” ไม่มีโอกาสทันขึ้นบันไดเลื่อนตัวแรกของเมืองไทยที่ไทยไดมารู
ห้างเก่าแก่ย่านราชประสงค์
ได้ยินแต่เสียงสรรพคุณของความอัศจรรย์ใจของนวตกรรมก่อสร้างชิ้นนี้
ที่จุคนได้นับสิบๆพาขึ้นชั้นช้อปปิ้งไม่ต้องเสียกำลังขา

พูดถึงบันไดเลื่อนก็มีเกร็ดเล็กๆอีกนั่นแหละ
บันไดเลื่อนเป็นศัตรูอย่างแรงกล้ากับแฟชั่นคุณสุภาพสตรี
โดยเฉพาะกางเกงทรงขาบาน 6 ชิ้น 8 ชิ้นกรอมเท้าที่เคยฮิตนักหนา
เพราะเคยเกิดกรณีหวาดเสียว ซี่ฟันของบันไดเลื่อน
(ไม่รู้เรียกอย่างนี้ถูกหรือเปล่า) งับชายขอบกางเกงคุณผู้หญิงท่านหนึ่ง
ในห้างสรรพสินค้าอีกแห่ง(ไม่ใช่ไทยไดมารู)
เกิดความชุลมุนอลหม่านเพราะคุณเธอตกใจ ไม่รู้จะทำอย่างไร
จะถอดกางเกงต่อหน้าธารกำนัลก็คงจะอาย
แต่ถ้าไม่ถอด ส่วนล่างของร่างกายก็จะต้องถูกดึงไป
ชะรอยมีสุภาพบรุษท่านหนึ่งได้แสดงวีรกรรมอย่างอาจหาญ
คว้าตัวคุณผู้หญิงขึ้นพร้อมให้สลัดกางเกงออก
ปล่อยให้กางเกงถูก(ซี่ฟัน)งับขาด
แล้วคุณผู้ชายก็ถอดเสื้อตัวเองคลุมส่วนล่างให้คุณผู้หญิงอย่างรวดเร็ว
ท่ามกลางความใจหายใจคว่ำของผู้พบเห็น
(คุณผู้หญิงท่านนั้นคงเข็ดหลาบไม่กล้าใส่กางเกงขาบานอีกนาน
ส่วนคุณผู้ชาย... แฟ้มบุคคลรายวันขอปรบมือให้ดังๆ)

เมื่อเทียบแรงดึงดูดระหว่างห้างกับศูนย์การค้า
สถานที่หลังอาจจะน้อยหน้าหน่อย
เนื่องจากบรรยากาศเป็นร้านเล็กๆเปิดภายใต้หลังคาเดียวกัน
ลูกค้าต้องเจาะจงเข้าหาซื้อของจำเพาะจริงๆ
ไม่สามารถเดินทอดน่อง ทอดสายตา เอ้อระเหยได้
จึงเสียเปรียบเรื่องปริมาณคนเดินที่โหรงเหรงกว่า

เพลินจิตอาเขตเป็นศูนยการค้ายุคแรกๆย่าน (แต่ก่อน)ชานเมือง
หลังจากที่ปล่อยให้วังบูรพาล้ำยุคไปก่อน
มีแม่เหล็กคือเพลินจิตโบล์ดึงดูดหนุ่มสาวเสื้อฟิตกางเกงบานเดินฉวัดเฉวียน
หลังจากนั้นก็ถึงยุคสยามสแควร์ และสยามเซ็นเตอร์
คนรุ่นเดียวกับกูรูต้องเคยนั่งขั้นบันไดหน้าสยามเซ็นเตอร์
มองดูผู้คนเดินไปมา เพื่อนคนไหนรีบกลับก่อนก็หาสกัดกั้นไม่ให้ขึ้นรถ
บางทีก้าวขาเหยียบขั้นบันไดไปแล้วก็พยายามยื้อยุดฉุดลงมาจนได้
กระทั่งพลบค่ำนั่นแหละครับ ค่อยโหนรถเมล์ต่องแต่งกลับบ้าน
ถือเป็นเรื่องเท่ร่วมสมัยทีเดียว

เมื่อผู้คนนิยมเดินเข้าห้างมากขึ้น
บรรดาห้างเองก็พยายามจัดกิจกรรม ลด แลก แจกแถม
สร้างสรรค์บรรยากาศให้เจริญหูเจริญตา
การแตกขยายของห้างไปตามชุมชนต่างๆก็มีมากขึ้น
นำโดยพี่เอื้อยใหญ่ห้างเซ็นทรัล( ที่ประกาศฉลองครบรอบแซยิค 60 ปีเร็วๆนี้)
จนธุรกิจห้างสรรพสินค้าต้องจับตลาดแข่งขัน แย่งกันเกิด แย่งกันโต
(และถ้าไม่รอดก็หลีกทางซบ)

มีอยู่ปีหนึ่ง วันหนึ่ง ซึ่งธุรกิจห้างสรรพสินค้าถือฤกษ์ดีมีชัย
เปิดบริการพร้อมกันทีเดียวกันถึง 3 แห่งนั่นก็คือ
โรบินสัน สีลม ห้างบิ๊กเบลล์ (ปัจจุบันคืออาคารมหาทุนพลาซ่า เพลินจิต)
ส่วนอีกห้างจำไม่ได้ครับ

ผลก็คือ จราจรติดขัดไปทั้งเมืองทั้งๆที่เป็นวันเสาร์

เมื่อห้างสรรพสินค้าเดินหน้าทำคะแนนกันยกใหญ่
บรรดาศูนย์การค้าจะน้อยหน้ากว่าได้อย่างไร
ติดที่กำลังทรัพยากรไม่เพียงพอจะ Renovate หรือทำกิจกรรมแข่งขัน
ปล่อยให้ค่ายเงินหนาๆปฏิบัติการเป็นแนวหน้ากล้าตายไปก่อนดีกว่า

และหนึ่งในแนวหน้านั้นก์คือ ผู้ผลิตหินอ่อนรายใหญ่ที่พลิกผันมาสร้าง
นครหินอ่อนย่านปทุมวัน มาบุญครองเซ็นเตอร์ อันลือลั่น

สิ่งที่ผู้บริหารการค้าปลีกรุ่นใหม่ตระหนักก็คือ
ความอืดอาดขาดพลังของช้อปปิ้งอาเขตแบบเก่าๆ
บรรยากาศที่เป็น Exclusive เกินไป จำกัดกลุ่มผู้บริโภคในวงแคบๆ
ไม่ค่อยต้อนรับหรือยินดียินร้ายกับผู้บริโภค
ลูกค้าแปลกหน้าทำได้เพียงด้อมๆมองๆ Window Shopping เท่านั้น
ฉะนั้นกลยุทธ์แม่เหล็กหนึบหนับ ดึงดูดมวลชนจึงเกิดขึ้น

คู่แข่งที่เกิดไล่เรี่ยกับมาบุญครอง
ก็คือยักษ์ใหญ่เจ้าเดิมแถวราชประสงค์ อัมรินทร์พลาซ่า
( และอีกรายหนึ่งซึ่งอยู่นอกเมืองออกไปโขใน พ.ศ. ขณะนั้นคือ
เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว ) จึงเป็นศึกหนักของทั้ง 2 ฝ่าย
ในการแย่งชิงร้านค้าย่อยให้มาเปิดพื้นที่บริการในศูนย์
บรรดาร้านค้าชื่อดังก็พากันรีๆรอๆว่าห้างไหนมีข้อเสนอที่ดีกว่า
หรือมีแม่เหล็กตัวไหนดึงดูดให้ประชาชนเดินเข้ามามากกว่ากัน
ศึกชิงแม่เหล็กจึงเกิดขึ้นด้วยกำลังเงินพอฟัด พอเหวี่ยง ทั้ง 2 ค่าย

ยักษ์ใหญ่ราชประสงค์ได้เปรียบในการเปิดตัวก่อน
จึงสามารถสร้างข่าวและรุดหน้าสรรหาแม่เหล็กรูปแบบต่างๆ
ชิงประกาศออกมาเป็นระยะๆ
ฟากยักษ์ใหญ่ปทุมวันไม่ยอมแพ้ ประกาศแม่เหล็กตัวเขื่องๆออกมาได้แก่

1. ศูนย์อาหารที่ใหญ่ที่สุด
โดยหยิบยืมแนวความคิดของ Food Court จากประเทศใกล้เคียง
ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ไม่มีใครดำเนินมาก่อน ขณะนั้นมีบริการที่คล้ายคลึงกัน
แต่จำกัดในวงแคบกว่าก็คือ Food Court โรงแรม แอมบาสซาเดอร์
ศูนย์อาหารจะเป็นแม่เหล็กตัวมหึมาสร้างรายได้ที่มั่นคง สม่ำเสมอ
และเรียกซ้ำลูกค้าเก่า เชื้อเชิญลูกค้าใหม่ได้ตลอดเวลา
( คนเราก็ต้องกินอาหารวันละ 3 มื้อโดยปกติ และมื้ออปกติอีกนับไม่ถ้วน )

2. ห้างสรรพสินค้าชื่อดังจากเมืองนอก
สมัยนั้นผู้บริโภคชื่นชมห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่น
ด้วยมีตัวอย่างอันดีจากห้างญี่ปุ่นเก่าแก่
เมื่อยักษ์ใหญ่อัมรินทร์ประกาศเอาห้างโซโก้เข้ามาได้
ยักษ์ใหญ่ปทุมวันเสียหน้าเล็กน้อยเพราะหมายมั่นปั้นมือไว้เหมือนกัน
ภายหลังเจรจาตกลงพักใหญ่ก็เอาห้างโตคิวมาช่วยกู้หน้าไว้
แม้จะไม่อินเตอร์เท่า (ในวงการผิดคาด เพราะคิดว่าน่าจะได้ห้างเกรดหรูเลิศ
อย่าง มิตซูโคชิหรือ ทากาชิมายามาประดับยอดมงกุฎของนคร )

3. สะพานเลื่อนข้ามฟากแห่งแรก
จากบทเรียนบันไดเลื่อนของไทยไดมารู
เป็นกิมมิคที่ทางศูนย์คาดว่าใครๆจะต้องเห่อมาใช้บริการ
( ผลปรากฏว่า แป๊กครับ คนไม่ค่อยเห่อเท่าที่ควร
เพราะก่อนหน้านั้นก็มีสิ่งแรกอื่นๆที่ชวนตื่นเต้นมาแล้ว เช่น ลิฟท์แก้วตัวแรก
สวนสัตว์ลอยฟ้า เป็นต้น ส่วนสะพานเลื่อนนะเหรอที่ดอนเมืองก็มีแล้ว )

4. International Chain Restaurants
เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาชิมร้านดังๆระดับนานาชาติ
ที่มาเปิดบริการสาขาแรกในเมืองไทย
ใครจะรู้บ้างมั้ยว่า McDonald สาขาแรกก็เกือบจะลงเอยที่มาบุญครองแล้ว
หากไม่ติดเงื่อนไขที่ว่า อัมรินทร์พลาซ่าเร่งกำหนดเสร็จก่อน
อย่างไรก็ตามเมื่อมาบุญครองสร้างเสร็จ
ยักษ์ใหญ่แฮมเบอร์เกอร์รายนี้ก็ไม่รอช้าเช่นกัน

มาบุญครองเซ็นเตอร์ เปิดให้บริการปี 2528
ด้วยบรรยากาศโอ่อ่าเลิศหรู สมเป็นนครหินอ่อน
และเตรียมขยับขยายในส่วนของโรงแรมระดับเดอลุกซ์ 5 ดาวต่อไป

หากกิจการดำเนินได้ระยะหนึ่งก็เกิดอุปสรรคด้านการเงินจึงถูกขาย
เปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่มาเป็นเครือบริษัทดุสิตธานี
ซึ่งประสพความสำเร็จจากการบริหารศูนย์การค้าหรูเพนนินซูล่า ราชดำริ
( เลื่องชื่อเรื่องก๋วยเตี๋ยวเรือชามละ 35 บาท ขณะที่อนุสาวรีย์ชัยฯเจ้าเก่ายังชามละ 10-12 บาท ) เปลี่ยนนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินต่างๆ
และเปลี่ยนชื่อเป็น MBK เซ็นเตอร์ ปรับสู่ตลาดล่างมากขึ้น
ลดตำแหน่งลงมาให้เป็นมวลชนกว่าเดิม ซอยพื้นที่ให้เล็กลง
เพิ่มจำนวนร้านค้าย่อยมากขึ้น ลดสัดส่วนของการประดับหินอ่อนที่ไม่จำเป็นลง เพิ่มกิจกรรมโปรโมชั่น

ส่วนห้างโตคิวก็คงเพียงแต่ชื่อห้างเท่านั่นที่เป็นญี่ปุ่น
แต่รูปแบบ สินค้า การจัดบรรยากาศกลายเป็นไทยล้วน
ส่วนพื้นที่ของโรงแรมก็ได้ Princess ในเครือดุสิตธานีมาลงให้
(โรงแรมเดียวกับที่ยอมปรับโฉมห้องพักใหม่ให้กับนักร้องชื่อก้องจากเกาหลี
ที่มาโปรยปรายสายฝนเย็นฉ่ำเมื่อเร็วๆนี้เองครับ)

ถึงทุกวันนี้
มาบุญครองเซ็นเตอร์ได้เป็นแลนด์มาร์คของ Shopping Center ไทยไปแล้ว
ชาวต่างชาติทุกคนจะต้องหาโอกาสแวะเดินเพื่อหาซื้อของทุกประเภท
ราคาถูก ต่อรองได้ในบรรยากาศติดแอร์เย็นฉ่ำ
เวลาเพื่อนต่างชาติมาเมืองไทยจะขอไปช้อปปิ้ง 2 ที่เท่านั้น
คือ ตลาดจตุจักร (เพื่อซื้องานฝีมือ)
และ MBK (เพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมภาคก๊อปปี้)

ส่วนอัมรินทร์พลาซ่าเองก็ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบหลายวาระ
หลังจากห้างโซโก้ถอนตัวออกไป เอา Factory Outletเข้ามา
ซึ่งก็ไม่ช่วยให้ธุรกิจกระเตื้องขึ้น
จนในที่สุดถูกซื้อกิจการจากศูนย์การค้า Hi End ใกล้เคียง
ห้างสรรพสินค้าที่เคยเร่งกันเปิดเป็นดอกเห็ดก่อนหน้านั้นก็ค่อยๆหุบตัวลง
หรือแปรสภาพเป็นอย่างอื่นไปเพื่อความอยู่รอด

ตำนานของนครหินอ่อนจึงเลือนหายไปกับวันเวลาด้วยประการล่ะฉะนี้ครับ


Create Date : 22 ธันวาคม 2550
Last Update : 2 เมษายน 2551 23:28:06 น. 1 comments
Counter : 445 Pageviews.  

 
ถ้าท่านกูรูได้เรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับ อุตสาหกรรมศูนย์การค้าก็น่าจะดีนะครับ ในประเทศไทยหาอ่านไม่ค่อยได้เลย

ขอบคุณสำหรับความรู้ในเรื่องนี้ มา ณ ที่นี้ ครับ


โดย: moonfleet วันที่: 8 ธันวาคม 2551 เวลา:21:57:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รุ้งพลบ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ใช้ชีวิตแสวงหามาหลายปี ปัจจุบันก็ยังแสวงหาไม่รู้จักเสร็จ
บางอารมณ์เหนื่อยๆ ก็หยุดพัก แล้วตรองนิ่งเขียนบันทึกในสิ่งที่พบเห็น

บางอารมณ์ที่โมแรนติค ชอบดูสายรุ้งตอนโพล้เพล้
New Comments
[Add รุ้งพลบ's blog to your web]