Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2550
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
17 สิงหาคม 2550
 
All Blogs
 
ชาวบ้าน ต.สะเอียบ’ ลุกต้านสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ประกาศไม่ไปลงประชามติ 19 ส.ค.นี้



16ส.ค.50 ที่บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชาวบ้าน ต.สะเอียบ จาก 4 หมู่บ้านคือ บ้านดอนชัย หมู่ 1 บ้านแม่เต้น หมู่ 5 บ้านดอนแก้ว หมู่ 6 และบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 ร่วมกับคณะกรรมการชาวบ้านอนุรักษ์ป่าสักทองธรรมชาติ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ จำนวนกว่า 1,000 คน นำโดยนายชุม สะเอียบคง กำนันตำบลสะเอียบ,นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9 ตำบลสะเอียบ,นายภิญโญ ชมภูมิ่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ ร่วมกับเครือข่ายเขื่อนสมัชชาคนจน ได้รวมตัวเดินขบวนประท้วงคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยมีการกล่าวโจมตีนายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสหกรณ์ และ นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ที่ออกมาผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในพื้นที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ อีกครั้ง



ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านได้อ่านหนังสือเปิดผนึกถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ โดยระบุว่า ตามที่นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าขณะนี้กรมชลประทานได้ทำการสำรวจ และได้ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยอ้างว่าประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับ และเห็นด้วยประมาณ 80 %แล้ว และยังเปิดเผยว่า ถ้าลงพื้นที่อีกครั้งความขัดแย้งไม่มี ก็จะกราบบังคมทูลขอพระราชทานอนุญาตทำเป็นโครงการพระราชดำริที่ประชาชนในพื้นที่เสียสละให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ถวายในหลวงเนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษา คำกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดเลย ไม่รู้ว่าไปเอาข้อมูลการยอมรับของคนในพื้นที่มาจากไหน ถือว่าเป็นการโกหกคนทั้งประเทศและโกหกสถาบันเบื้องสูง การผลักดันเรื่องเข้าสู่มติ ครม. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2550 เพื่อเข้าดำเนินการในพื้นที่ก่อสร้างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นการละเมิดมติ ครม. 29 เมษายน 2540 ที่มีมติร่วมกับสมัชชาคนจน และยังถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนอีกด้วย



หนังสือระบุอีกว่า เรายังยืนยันที่จะคัดค้านต่อสู้ พิทักษ์ผืนป่าสักทองอันเป็นสมบัติของประเทศ เพื่อสนองพระราชดำรัสพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2550 และจะถวายการดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืน โดยไม่ให้มีการสร้างเขื่อน และทำลายป่าอีกต่อไป ขณะนี้ชาวตำบลสะเอียบ ชาวอำเภอเชียงม่วน และประชาชนหลายพื้นที่ยังมีการคัดค้านอย่าง 100% และจะคัดค้านทุกวิถีทางจนกว่ารัฐบาลจะประกาศยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น



ทั้งนี้ ชาวตำบลสะเอียบได้มีมติที่ประชุมว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ประสานงานไปยังอธิบดีกรมชลประทานเพื่อแจ้งให้ทราบ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่มารับหนังสือจากชาวตำบลสะเอียบ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2550 เวลา 09.00น.ถ้าหากผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ไม่มารับหนังสือตามวันเวลาดังกล่าว ชาวตำบลสะเอียบประกาศชัดเจนว่า “จะไม่ไปลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 นี้อย่างแน่นอน ”



ทั้งนี้ ในหนังสือฉบับดังกล่าว ได้แนบสำเนาหนังสือพิมพ์เหนือแพร่ ประจำวันที่ 21 – 31 กรกฎาคม 2550 (ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม 2550) และสำเนาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2550 แนบมาด้วย



ในขณะที่ นายอุดม ศรีคำภา ประธานคณะกรรมการ 4 หมู่บ้าน ได้ให้สัมภาษณ์กับ “สำนักข่าวประชาธรรม” ว่า การชุมนุมของชาวบ้าน ต.สะเอียบในวันนี้เป็นการตอบโต้คำพูดของนายสามารถ โชคคนาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ที่ให้ข่าวสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บางฉบับในวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมาโดยระบุว่า กรมชลประทานได้ทำการสำรวจและทำความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่จนได้รับการยอมรับประมาณ 80% แล้วที่ยินดีที่จะให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นใน จ.แพร่ แต่ข้อเท็จจริงพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง



“ชาวบ้าน ต.สะเอียบยืนยันเหมือนเดิมว่าจะคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างถึงที่สุด การต่อสู้ที่ผ่านมา 10 กว่าปีนั้นเราให้ความร่วมมือที่ดีกับเจ้าหน้าที่จากส่วนต่างๆที่เข้ามาในพื้นที่มาโดยตลอด แต่ระยะหลังมานี้มักมีการกล่าวอ้างข้อมูลต่างๆขึ้นมาลอยๆเพื่อที่จะสร้างโครงการขึ้นมาให้ได้ อย่างล่าสุดก็จากนายสามารถ ที่อ้างว่าชาวบ้าน 80%เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงเลย” นายอุดม กล่าว



นายอุดม กล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดขึ้นชาว ต.สะเอียบ จึงเห็นร่วมกันว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราจะไม่ยอมให้หน่วยงานใดเข้ามาในพื้นที่เพื่อที่จะผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอีกต่อไป ชาวบ้านจะไม่เจรจาด้วยเพราะมีบทเรียนความเจ็บปวดจากหน่วยงานต่างๆเหล่านั้นมาเยอะแล้ว และที่สำคัญให้นายสามารถมาชี้แจงข้อเท็จจริงกับชาวบ้านด้วยว่า กรณีชาวบ้าน 80% เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้นนายสามารถเอาข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน



รายงานแจ้งว่า หลังจากที่ชาวบ้านประกาศว่า ถ้าหากผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ไม่มารับหนังสือตามวันเวลาดังกล่าว ชาวตำบลสะเอียบประกาศชัดเจนว่าจะไม่ไปลงประชามติในวันที่ 19 ส.ค.นี้นั้น ต่อมา ทางจังหวัดได้ส่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ลงมารับหนังสือ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ชาวบ้านจะแยกย้ายการชุมนุมได้มีการร่วมรุมประชาทัณฑ์หุ่นนายสามารถ โชคคนาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ที่ออกมาปลุกให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ครั้งล่าสุด.







จดหมายเปิดผนึก

ถึง พี่น้องประชาชนทุกท่าน

เหตุผลที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

และแนวทางการจัดการลุ่มน้ำยม เพื่อแก้ไขปัญหา น้ำแล้ง น้ำท่วม








ทุกฤดูแล้ง ทุกฤดูฝน ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ต้องออกมาต่อต้าน คัดค้าน โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมานานนับสิบปี เนื่องจากว่าเป็นช่วงที่รัฐบาล และกรมชลประทาน ได้โอกาสในการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยอ้างว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น จะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ ทั้งที่มีผลการศึกษาจากหลายหน่วยงานได้ข้อสรุปแล้วว่า โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ อาทิ

1. ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์

2. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

3. ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก

4. การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ

5. ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

6. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

7. ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่

8. ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น

พื้นที่อ่างเก็บน้ำของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จะกระทบต่อผืนป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศไทย ซึ่งมีไม้สักทองขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น กว่า 40,000 ไร่ ริมแม่น้ำยม ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ โดยกรมชลประทานอ้างว่าพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่มีสภาพป่าแล้ว ขณะที่ชาวบ้านตำบลสะเอียบต้องเชิญชวนสื่อมวลชนไปพิสูจน์สภาพป่าสักทองเป็นประจำทุกปี

พิธี บวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ เป็นประเพณีที่ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จัดเป็นกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมกันอนุรักษ์ป่าสักทองและขอขมาต่อแม่น้ำยม อีกทั้งเป็นการประกาศจุดยืนในการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นมาโดยตลอด หากแต่ป่าสักทองธรรมชาติผืนนี้ กลับเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักแสวงประโยชน์ ที่ไม่ได้คำนึงถึงอนาคตของรุ่นลูกรุ่นหลาน นอกจากงบประมาณที่จะมาพร้อมกับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น กว่า 12,000 ล้านบาท ยังมีไม้สักทองอีกกว่า 40,000 ไร่ ซึ่งมูลค่าไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท จึงไม่แปลกที่โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นเสมือนผีที่ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพมาตลอดทุกยุคทุกสมัย



แนวทางในการแก้ไขปัญหา ภัยแล้ง น้ำท่วม ลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

การจัดการน้ำแบบบูรณาการ ลุ่มน้ำยมทั้งระบบ ได้มีการศึกษาและวางแผนโดยกรมทรัพยากรน้ำกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ผลสรุปออกมาแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ซึ่งในแผนนี้ใช้งบประมาณน้อยกว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก แต่ระบบราชการไทย ถือประเพณีไม่ขัดขวางผลประโยชน์ของหน่วยงานราชการด้วยกัน แผนการจัดการลุ่มน้ำยมทั้งระบบของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ได้ดำเนินการให้เป็นจริง การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ลุ่มน้ำยมได้ แต่ทำไมไม่เลือก

1. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน

2. การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว หากแต่บางจังหวัด บางพื้นที่ที่ยังติดขัดเรื่องงบประมาณในการดำเนินการ เพราะผู้แทนราษฎรในพื้นที่นั้นๆ ไม่มีศักยภาพในการดึงงบประมาณมาดำเนินการ ตรงข้ามกับพื้นที่ที่มีผู้แทนราษฎร มีรัฐมนตรี การดำเนินการแล้วเสร็จลุล่วงไปหลายโครงการ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ เพราะโครงการต่างๆ ยังไม่ครบตามแผนที่วางไว้ทั้งระบบ

3. การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับห้วยหนองคลองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด

4. การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม

5. การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณมากกว่าความจุของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก

6. การซ่อมบำรุง ปรับปรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้ว ปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% การจัดการด้วย DSM โดยการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำจะสามารถทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานถ้าใช้ระบบ DSM จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน

7. การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม สามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น

8. การพัฒนาระบบประปา การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภค–บริโภค ในเมืองใหญ่ได้ อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

ทางเลือกในการจัดการน้ำที่ดำเนินการศึกษาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก เสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ 19 แบบ คือ 1.ปลูกป่าป้องกันน้ำท่วม 2. เกษตรแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 3.อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 4.ป้องกันไฟและแนวซับน้ำ 5.พื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อป้องกันภัยน้ำท่วมบนที่สูง 6.คลองเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน 7.ชลประทานแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 8.ศูนย์อพยพเพื่อบรรเทาภัยน้ำท่วมหมู่บ้าน 9.ตุ่มน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม 10.ถนนเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วม 11.สะพานและทางระบายน้ำเฉลิมพระเกียรติ 12.อ่างเก็บน้ำหน้าเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 13.แนวคันดินป้องกันเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 14.พื้นที่กักเก็บน้ำชั่วคราวป้องกันน้ำท่วม 15.ฝายพิเศษป้องภัยน้ำท่วม 16.ระบบเตือนภัยธรรมชาติสู่ภูมิภาค 17.โครงการศึกษาเพื่อการป้องภัยธรรมชาติ 18.ความร่วมมือกองทัพบกในการขุดคลอง คู อ่างเก็บน้ำ แนวคันดิน 19.ความร่วมมือตำรวจตระเวนชายแดน ให้ความรู้แก่ประชาชน



ขอแสดงความนับถือ

คณะกรรมการชาวบ้านอนุรักษ์ป่าสักทองธรรมชาติ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่









ที่มา : ประชาไท วันที่ : 17/8/2550




Create Date : 17 สิงหาคม 2550
Last Update : 17 สิงหาคม 2550 18:31:13 น. 0 comments
Counter : 481 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.