Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2550
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
22 สิงหาคม 2550
 
All Blogs
 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ 'รัฐธรรมนูญถอยหลัง'


กองบรรณาธิการ ไทยโพสต์ 31 ธันวาคม 2549




"ประการที่สองคือรัฐธรรมนูญใหม่จะถูกร่างบนพื้นฐานที่ไม่เชื่อมั่นระบอบประชาธิปไตย รู้สึกว่าประชาชนไทยไม่พร้อมที่จะกำหนดวิถีชีวิตของตัวเขาเอง บอกว่าเลือกตั้งมาก็มีการซื้อเสียง คนมีเงินเข้ามาก็ซื้อประเทศได้ มองประชาชนเป็นคนซึ่งไร้ความสามารถ ต้องมีผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลอยู่ ความคิดอย่างนี้อาจจะไปสอดคล้องกับที่บางท่านพูดถึงเรื่องการกลับมาของอำมาตยาธิปไตย"
"ถ้าอะไรก็องค์กรอิสระ ให้อำนาจมาก ตรวจสอบฝ่ายบริหารให้มาก มันจะเกิดวิกฤติข้างหน้า ก็คือวิกฤติการตรวจสอบผู้ตรวจสอบ องค์กรที่ไปตรวจสอบคนอื่นแล้วตัวเองถูกใครตรวจสอบ จะเป็นองค์กรเทวดาหรือเปล่า"

นักกฎหมายหนุ่มผู้ยืนหยัดนำเสนอหลักการที่เขาเห็นว่าถูกต้อง-แต่ไม่ค่อยถูกใจคนสักเท่าไหร่
แต่ต่อให้คนที่ไม่ชอบเขาก็ต้องฟัง เมื่อวรเจตน์เสนอความเห็น แม้ปากจะไม่ยอมจำนนแต่ทุกคนก็ต้องยอมรับว่าวรเจตน์มีหลัก และมั่นคงในหลัก ซึ่งอรรถาธิบายได้อย่างมีเหตุผลทางวิชาการ
เจ้าตัวรับว่าไม่ค่อยอยากแสดงความเห็นนักในช่วงหลัง แต่บางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากอยู่ในทีมนักวิชาการที่ร่วมกับสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แห่ง TDRI รวบรวมความเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว "ที่จริงผมตั้งใจจะหยุดเลยนะ ไม่ได้พูดเลย เพราะผมอยากดูว่าเขาทำอะไรกันตอนนี้ แต่มีตรงนี้เลยทำให้เราต้องพูด"

รัฐธรรมนูญแบบไทยๆ
เท้าความให้ฟังว่าก่อนนี้เขาก็ไปอภิปรายที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ประเด็นแลไปข้างหน้า รัฐธรรมนูญปี 2550
"พูดง่ายๆ คือให้ผมไปลองคาดหมายสถานการณ์ดู ผมก็บอกว่าผมไม่ใช่นักพยากรณ์ พวกนี้ต้องใช้ศาสตร์หรือการมองเรื่องทางการเมือง ผมเป็นนักกฎหมาย ศาสตร์นักกฎหมายคือการชี้วินิจฉัยว่าถูกผิด แต่ผมก็จะลองดูแล้วกัน โดยประมวลจากสถานการณ์ปี 2549 และมองไปข้างหน้า ผมก็เริ่มต้นพูดถึงประวัติศาสตร์นิดหน่อยว่าประเทศไทยเคยมีจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ครั้งหนึ่ง ปี 2489 ต่อปี 2490"
"ปี 2489 มีเหตุการณ์สำคัญก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ในหลวงรัชกาลปัจจุบันครองราชย์ ตอนต้นปีมีคดีอาชญากรสงคราม มีการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก มีรัฐธรรมนูญปี 2489 ซึ่งผมถือว่าดีฉบับหนึ่ง เป็นรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนผ่านจากปี 2475 เป็นการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยที่ไม่ได้เกิดจากการรัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญ 2489 ใช้อยู่ปีเดียว ปี 2490 จอมพลผินก็ปฏิวัติ หลังจากนั้นก็เข้าสู่วังวนของการทำรัฐประหารมาตลอด 60 ปี ปี 2489-2490 ผมถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสังคมไทย และผมก็บอกว่าวันนี้เรามาครบรอบ 60 ปีพอดี ก็ตั้งคำถามชวนคิดว่ามันจะมีเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไหม ในช่วงปี 2549-2550"
"ผมประเมินว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 จะอยู่บนหลักหรือพื้นฐานอะไรบ้าง มันน่าจะอยู่บนความเชื่อ 2 ประการ อันแรกคือเราจะมีความเชื่ออันหนึ่งที่พูดถึงรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มาว่าเป็นแบบต่างประเทศ รับต่างประเทศมาเยอะ เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างความเป็นไทย มันมีคำพูดผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบางท่านบอกว่ามัวแต่ไปลอกต่างประเทศมา ทำไมไม่ทำแบบไทย ประชาธิปไตยมันต้องงอกออกมจากผืนดินแบบไทยๆ อันนี้เป็นไปได้เหมือนกันว่าถ้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีทัศนคติแบบนี้ ก็อาจจะเกิดทัศนคติเชิงปฏิเสธของที่เคยรับมา เพราะรับมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เราก็มาหาคุณค่าแบบไทย"
"ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งลวง เพราะรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาหลายฉบับ จริงๆ มันถูกทำให้เป็นไทยมาตลอด ยิ่งฉบับหลังๆ ยิ่งมีความเป็นไทยมากขึ้นในเชิงกลไกและเชิงโครงสร้าง คือทางรูปแบบมันเป็นแบบต่างประเทศ ต่างประเทศมีองค์กรแบบไหนเราก็มี ปี 2540 ชัดเจนที่สุดเรามีองค์กรที่รับมาจากต่างประเทศ เอาของหลายๆ ประเทศที่เขามีมารวมกันในรัฐธรรมนูญของไทย แต่ถามว่ามันเป็นต่างประเทศไหม ผมคิดว่าไม่เป็น เพราะเราเอามาแต่ตัวรูปแบบ แต่ในเชิงเนื้อหา เชิงกลไก เราไม่ได้เอามา รัฐธรรมนูญมันมีทั้ง 2 ส่วน วิญญาณเราไม่ได้เอามาอยู่แล้ว อันนี้เราต้องเพาะสร้างด้วยตัวเอง"
"แต่ว่าในเชิงโครงสร้างเชิงกลไก เราเอามาก็เอามาปรับให้เป็นแบบของเรา เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งเข้าใจว่าเอามาจากอินเดีย พอเป็นแบบไทยเราก็ทำให้มันเป็นองค์กรที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งผมพูดมาตั้งแต่ปี 2542-2543 แล้วว่าจะเป็นปัญหาในวันข้างหน้า เพราะมันไม่รับกับระบบที่ควรจะเป็น นั่นคือการแบ่งแยกอำนาจ การถ่วงดุลและการตรวจสอบ ก็ไม่มีใครสนใจฟังเท่าไหร่เพราะสโลแกนการกำจัดนักการเมืองชั่วเป็นคำขวัญที่คนพูดกันเยอะ ถ้ายังจำได้มี กกต.บางท่านพูดว่าจะไม่ยอมให้คนชั่วเหยียบบันไดสภาเลยแม้แต่คนเดียว ซึ่งความคิดอย่างนี้เป็นไปไม่ได้ ทัศนคติอย่างนี้จะเป็นปัญหาของการผลักระบอบประชาธิปไตยไปข้างหน้า เรากลับไปฝันว่าจะมีคนที่เป็นอรหันต์เพียบพร้อมมาอยู่ในองค์กร ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ผ่านมา 7 ปีมันก็พิสูจน์แล้วว่าที่ผมเคยพูดว่าจะมีปัญหา มันน่าจะจริง ดูเหมือนเสียงจะตรงกันแล้วว่า เออ มันจะต้องมีองค์กรมาตรวจสอบการใช้อำนาจของ กกต.นะ"
"รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ไม่ได้เขียนให้ กกต.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนะครับ ผู้ร่างบางท่านบอกว่ามีเจตนารมณ์อย่างนั้น แต่ว่าผมว่าในเชิงระบบมันไม่รับกัน ไม่ต้องพูดถึงองค์กรหรือผู้ตรวจการของรัฐสภา หรือคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งแม้มีอยู่ในหลายประเทศ แต่ก็ไม่ได้มีบริบทแบบเดียวกับเรา เขาไม่ได้เป็นองค์กรในรัฐธรรมนูญ เรารับเอาศาลรัฐธรรมนูญจากต่างประเทศมาเราก็ทำเป็นแบบไทย สร้างองค์คณะซึ่งใหญ่มาก และก็ไม่มีกฎหมายกำหนดวิธีพิจารณา ปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญไปทำข้อกำหนดพิจารณาเอง ผมเคยทำงานวิจัยให้ศาลรัฐธรรมนูญ เคยทำร่างตัวข้อกำหนดให้ ว่าควรจะมีวิธีพิจารณาอย่างไรที่จะไม่เกิดปัญหา การตั้งประเด็นที่ทำให้โหวตสวนกัน อย่างคดีซุกหุ้นของอดีตนายกฯ ทักษิณเป็นต้น พวกนี้แหละที่สภาต้องทำกฎหมายให้ ซึ่งเราไม่ทำ"
"นี่คือแบบไทยที่ผมบอก เพราะฉะนั้นถ้าเราไปปฏิเสธของต่างประเทศเสียแล้ว และจะทำเป็นแบบไทย ผมเกรงว่าจะเข้ารกเข้าพงมากขึ้น เรื่องบางเรื่องที่เขาทำมาแล้วมันเป็นบทสรุปจากประสบการณ์หลายสิบปีของเขา ประเด็นก็คือเราต้องศึกษาให้ถ่องแท้ ดูให้เข้าใจลึกซึ้งทั้งหมด นี่เป็นปัญหาเรื่ององค์ความรู้ของเรานะ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ดี เรารู้จริงแล้วถึงเอามา ขั้นต่อไปถึงจะ apply ได้"
กกต.อินเดียไม่เหมือนเราตรงไหนบ้าง
"เท่าที่ผมทราบเขาไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จให้ใบแดงอย่างเรา ถ้าเกิดกระทบสิทธิยังสามารถฟ้องศาลได้ ซึ่งคือหลักสากล ที่ว่าองค์กรที่ใช้อำนาจในเชิงที่เป็นอำนาจไปตรวจสอบ เป็นอำนาจกระทำการเอง ริเริ่มการได้เอง เขาจะไม่มีอำนาจสุดท้ายด้วยตัวของเขาเอง อำนาจตรงนี้จะไปที่ศาล เพราะศาลเริ่มการเองไม่ได้"
"ประเด็นตรงนี้ต้องตระหนักให้มาก การที่ศาลเริ่มการเองไม่ได้มันส่งผลในมุมกลับ คือพอศาลตัดสินถือเป็นที่ยุติ เพราะเขาไม่ได้เริ่มจับผู้ร้ายเอง หน่วยอื่นส่งมาให้เขา แต่คนที่จับผู้ร้ายไม่ได้พิพากษาเอง อันนี้เราบอกให้ กกต.จับเอง ตรวจสอบการเลือกตั้งเอง และคุณให้เขาให้ใบแดงเองด้วย แล้วจบในตัว ถามว่าแล้วใครตรวจสอบ กกต. นี่คือสิ่งที่ผมบอกว่าเราไปปฏิเสธไม่ได้นะ ของต่างประเทศมันไม่ใช่เป็นของเลวร้ายทั้งหมดหรอก ถ้าเราจะเอามาเราศึกษามันให้กระจ่าง ให้แจ่มชัด"
คนไทยชอบอะไรที่มันศักดิ์สิทธิ์เบ็ดเสร็จ อย่างนั้นหรือเปล่า
"คนไทยมีคาแรคเตอร์อย่างหนึ่ง คือเราชอบสร้างองค์กร พอสร้างไปสักพักจะเกิดเป็นอาณาจักรขึ้น คือจะมีแดนของมัน อาณาจักรข้าใครอย่าแตะ มันจะเกิดความเข้าใจตลอดเวลาที่ผ่านมาว่าองค์กรอิสระแตะต้องไม่ได้ บางคนที่อยู่ในองค์กรเข้าใจว่าไม่มีใครตรวจสอบได้เลย ผมว่าอย่างนี้ตาย อย่างนี้คุณใหญ่กว่ารัฐมนตรีอีก ความคิดในเชิงอำนาจมีอยู่เยอะ คิดถึงเรื่องของความเป็นอาณาจักร ที่ผมรู้สึกว่าทัศนคติอย่างนี้ต้องเปลี่ยน"

ผู้อนุบาล
"ประเด็นที่สองก็คือรัฐธรรมนูญใหม่อาจจะถูกร่างบนพื้นฐานที่ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยเท่าที่ควรจะเป็น คนร่างหรือประชาชนจำนวนหนึ่งอาจจะรู้สึกว่าประชาชนไทยไม่พร้อมที่จะกำหนดวิถีชีวิตของตัวเขาเอง บอกว่าเลือกตั้งมาก็มีการซื้อเสียง คนที่มีเงินเข้ามาก็ซื้อประเทศได้ ความคิดอย่างนี้จะทำให้เกิดความหวาดระแวง ความหวาดระแวงนี้อาจจะปรากฏตัวแทรกอยู่ในรัฐธรรมนูญ พวกนี้มองประชาชนว่าเป็นคนซึ่งไร้ความสามารถ คือต้องมีผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลประชาชนอยู่ ความคิดอย่างนี้อาจจะไปสอดคล้องกับที่บางท่านพูดถึงเรื่องการกลับมาของอำมาตยาธิปไตย ซึ่งจะมาพิทักษ์ประชาชน ไม่ให้ประชาชนถูกผู้นำหลอกไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งความคิดอย่างนี้ถึงที่สุดแล้วไม่ส่งเสริมพัฒนาการประชาธิปไตยเลย ผมว่าต้องให้ประชาชนเขาตัดสินใจนะ มันต้องเข้าสู่ระบบว่าคนที่มีอำนาจทำอะไรไม่ถูก องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบต้องเข้ามาจัดการ แต่ไม่ใช่ว่าจะมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งมาคอยทำหน้าที่เป็นเหมือนกับคนที่คุ้มครองประชาชนอีกชั้นหนึ่ง คือไม่ให้ทำให้คนมันโตขึ้น"
"ผมมองว่าประชาธิปไตยของเรามันไปแล้วสะดุดๆ คือไปถึงจุดหนึ่งมันถูกดึงกลับ มันเป็นแบบนี้มาเกือบจะตลอด และเราโทษประชาชนไม่ได้นะ เพราะว่าเขาไม่มีโอกาสเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง คือคนไทยก็โชคร้ายอย่างหนึ่ง ผมถามว่าคนที่เป็นชาวบ้านอยู่ชนบทในเชิงคุณภาพมันไม่ดีขึ้นเลยเหรอ ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาเขาไม่รู้เรื่องเลยเหรอ เรื่องการเมือง ผมว่าไม่ใช่นะ ผมคิดว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพในระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่มากพออย่างที่ควรจะเป็น ต้องแก้โดยการให้การศึกษาเขา และฟังว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ไปตัดสินใจแทน หรือไปมีองค์กรซึ่งมาเป็นคนที่มาทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์เขา เพราะคิดว่ารู้ดีกว่าประชาชน"
"มีคนบอกว่าผมพูดแบบนี้มันซาดิสต์ไปไหม สมมติว่าตัดสินใจแล้วบนพื้นฐานของเสียงข้างมาก แล้วบ้านเมืองมันจะไปไม่ได้อีก ผมก็รับได้ ผมคิดว่าบางทีการที่สังคมเผชิญอะไรบางอย่างที่แย่ๆ ที่เลวร้าย มันจะสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมในวันข้างหน้า คนจะเรียนรู้ด้วยกัน แต่ถ้ายังไม่ถึงจุดนั้นแล้วมีคนพยายามทำนายว่าบ้านเมืองจะพินาศจะหายนะแน่ อย่างที่พยายามทำกันอยู่ และดึงคนซึ่งไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศเข้ามาเป็นผู้พิทักษ์ เป็นผู้อนุบาล มันไม่โตหรอก ประชาธิปไตยบ้านเราก็ไม่มีทางงอกงามขึ้นมาได้ ในบรรยากาศการร่างรัฐธรรมนูญอย่างนี้ ความคิด ความไม่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยมันจะติดอยู่ในหัวสมองของคนจำนวนหนึ่ง"
วรเจตน์บอกว่าทั้ง 2 ความเชื่อจะมีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญอย่างสำคัญ
"ถ้า 2 เรื่องนี้ผนวกมาด้วยกันก็พอจะมองว่ารัฐธรรมนูญอาจจะถอยหลังกลับ ถ้าเราเอาประชาธิปไตยเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย เช่น วุฒิสภาอาจจะไม่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ทั้งที่ความจริงวุฒิฯ มาจากการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้ว มันอาจจะถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานความคิดที่ไม่ชัดเจนแต่แรก เลยไปโทษว่าการเลือกตั้งวุฒิฯ มันพัง เพราะเบื้องต้นเราก็บอกแล้วว่าไม่ให้หาเสียง พยายามเอาคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย ซึ่งการดีไซน์สถาบันทางการเมืองบนพื้นฐานแบบนี้เป็นความฝัน เป็นอุดมคติ เพราะการเมืองคือปฏิสัมพันธ์พูดคุยกัน คุณบอกให้แนะนำตัวเท่านั้น ไม่ให้เขาสังกัดพรรคการเมือง แต่ทางความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้"
"วันนี้มีคนจะไปไกลกว่านั้นอีก บอกว่าต่อไปก็เขียนบังคับด้วยว่าญาติพี่น้องวุฒิสมาชิกไม่ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อกันไม่ไห้มีสภาผัวเมีย แล้วถ้าเกิดมีน้าของ ส.ส.ลงสมัครเป็น ส.ว. ก็ลงไม่ได้ เพราะเป็นน้าหลานกัน ทั้งนี่อาจมีความคิดทางการเมืองไม่เหมือนกันเลย พอพยายามที่จะแก้ปัญหาไปในอีกทิศทางหนึ่ง มันไม่มีหลักเลย คิดจากเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วมันก็สะเปะสะปะ ไม่มีทิศทาง"
"วันก่อนมีการอภิปรายเรื่องระบบเลือกตั้งที่ป้องกันการซื้อขายเสียงได้ ผมบอกไม่มีหรอก มันไม่เกี่ยวกัน ระบบเลือกตั้งคุณต้องคิดว่าทำยังไงให้คนที่มาลงคะแนนมีความยุติธรรม คะแนนเสียงทุกคะแนนได้รับการคำนวณ คะแนนเสียงตกน้ำไปควรจะมีสักเท่าไหร่ เพราะปัจจุบันระบบเลือกตั้งเราเป็น 2 ระบบคือแบบเสียงข้างมากกับแบบสัดส่วน คู่ขนานกันไป 400 คนมาจากเสียงข้างมาก 100 คนมาจากระบบสัดส่วน ระบบเสียงข้างมากเวลาเลือก ส.ส.ในเขต คนที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็น ส.ส. ที่เหลือเป็นคะแนนเสียงตกน้ำไป ในแง่มุมนี้ระบบเสียงข้างมากดีตรงที่มันง่าย มีข้อเสียตรงที่คะแนนข้างน้อยไม่ถูกนำมาคิด ขณะที่ระบบสัดส่วนมีความยุติธรรมกว่าเพราะคะแนนทุกคะแนนถูกนำมาคำนวณ คุณเลือกพรรคไหนเขาเอาคะแนนคุณมาคำนวณทั้งสิ้น"
"ถ้ามันมีปัญหาว่า 5 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นการตัดพรรคเล็กพรรคน้อย ก็มาพูดกันว่าเราจะยอมให้มีพรรคการเมืองพรรคเล็กพรรคน้อยอยู่ในสภาไหม เราต้องพูดกันบนฐานตรงนี้ แต่เรื่องซื้อเสียงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง มันเป็นสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มันก็ต้องไปแก้ในอีกหนทางหนึ่ง ต้องรณรงค์ ทั้งมีระบบป้องกันปราบปราม ต้องพยายามแก้ตรงจุดนั้น แต่ถ้าเราเอา 2 อันนี้มาปนกันว่าเราจะคิดระบบเลือกตั้งไม่ให้มีการซื้อเสียง คิดให้ตายมันก็ไม่สำเร็จ และก็จะผิดไปหมด"

อย่าบิดเบี้ยว
แต่ก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ 2550 จะออกมาแย่เสียทีเดียว วรเจตน์คาดว่าอย่างน้อยจะต้องมี "จุดขาย"
"อันหนึ่งที่ผมคาดหมายก็คือรัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องเอาไปลงประชามติ เพราะฉะนั้นคนร่างรัฐธรรมนูญเขาจะต้องมีจุดขาย ที่ทำให้ประชาชนรับ เพื่อให้ผ่านประชามติไปให้ได้ รัฐธรรมนูญจะมีโครงสร้าง 2 ส่วนใหญ่ๆ คือส่วนที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎร หมวดนี้ก็เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ส่วนที่ 2 ก็คือส่วนที่พูดถึงเรื่องสถาบันทางการเมือง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผมฟันธงได้เลย มั่นใจว่าบทบัญญัติสิทธิเสรีภาพจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากโฉมหน้าปี 2540 ถ้าเปลี่ยนจะเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น หมวดนี้ไม่มีปัญหา น่าจะเป็นจุดขาย จะเอาจากปี 2540 มาเพิ่มในฉบับนี้ และอาจจะเพิ่มในบางประเด็นเข้าไป และจะเป็นจุดขายว่าประชาชนได้สิทธิดีเท่าๆ หรือดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 อันนี้ไม่มีปัญหา"
"แต่ส่วนที่ 2 เป็นประเด็น ส่วนที่ว่าด้วยโครงสร้างในทางการเมือง จุดนี้จะเป็นจุดที่มีการพูดกัน แต่ผมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน อันแรกที่จะไม่มีการแตะเลยก็คือประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะถอดมาจากปี 2540 ถ้าเราพูดกันจริงๆ ก็มีความเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญปี 2534 อยู่ 2 เรื่อง ซึ่งบางคนก็ไม่ค่อยทราบเท่าไหร่ คือปี 2534 มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่เกิดขึ้นหลัง รสช.เปลี่ยนแปลงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ 2 ประเด็น ก็คือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลในการสืบสันตติวงศ์ แต่เดิมเป็นอำนาจของรัฐสภา ซึ่งต้องกระทำโดยวิธีการเช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญปี 2534 บัญญัติให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ อันที่สองคือเรื่องการสืบราชสมบัติ ก่อนปี 2534 การเสด็จขึ้นครองราชย์จะต้องได้รับความยินยอมความเห็นชอบจากรัฐสภา ปี 2534 ให้สภารับทราบ กฎเกณฑ์นี้จะถูกรับต่อไปในปี 2550 โดยที่ไม่น่าจะถูกแตะ เรื่ององคมนตรีก็จะถูกรับต่อไปในปี 2550 ทั้งที่ความจริงต้องเรียนว่าวันนี้มีคนตั้งคำถามบทบาทองคมนตรีไม่น้อยเลย องคมนตรีซึ่งหลายส่วนออกมาให้ความเห็นในทางการเมือง มีการพูดกันในวงวิชาการแต่ไม่ได้พูดกันในวงกว้าง"
"ส่วนที่ว่าด้วยสถาบันทางการเมือง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ เขามีเวลา 3-4 เดือน ถ้าแตะมากก็จะมีปัญหา แต่จริงๆ ในส่วนนี้จะต้องปรับ องค์กรอิสระหลายองค์กรอาจต้องทบทวนการมีอยู่ ถ้ามีอยู่จะเป็นระดับองค์กรในรัฐธรรมนูญหรือเปล่า แต่ประเด็นนี้อาจจะไม่ถูกแตะ ผมคิดว่าแม้แต่ ป.ป.ช. 9 คนนี่เยอะไปหรือเปล่า อำนาจ ป.ป.ช.ที่ตรวจสอบทั้งระดับชาติและข้าราชการควรจะรื้อไหม กกต.ทำงานเลือกตั้งระดับชาติก็เหนื่อยแล้ว แต่เขาต้องไปทำท้องถิ่นทั่วประเทศ นี่คือสภาพปัญหาที่ต้องมาพูดกัน แต่ไม่แน่ใจว่าจะพูดกันอย่างถึงแก่นของปัญหาหรือไม่ คนพูดส่วนหนึ่งต้องเป็นคนอยู่วงนอก ซึ่งวันนี้เราไม่ให้นักการเมืองมีส่วนร่วมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่องค์กรอิสระไม่ได้ห้าม ผมถามว่าอย่างนี้แฟร์หรือเปล่า เพราะองค์กรอิสระก็มา protect องค์กรของตัว เกณฑ์พวกนี้มันเป็นเกณฑ์ double standard ในการกำหนด คือมันมีอคติบางอย่างแฝงอยู่กับตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราว"
คือจะจำกัดนักการเมือง
"แต่นักการเมืองที่สุดเขาก็มาอยู่ดี ก็มาใช้กติกานี้ คุณปิดตรงนี้เขาก็มีช่องไปทางอื่น"
รัฐธรรมนูญปี 2550 ส่วนที่จะถูกลิดรอนมากที่สุดคือนักการเมืองใช่ไหม
"ผมเดาอย่างนั้น และส่วนที่จะเพิ่มมากที่สุดคือองค์กรอิสระ ทิศทางแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้น โดยที่บางทีถ้ากระแสขึ้น อาจจะลืมไปว่าองค์กรอิสระมันมากไปหรือไม่ ผมทำนายเอาไว้ว่าถ้าอะไรก็องค์กรอิสระ ให้อำนาจมาก ตรวจสอบฝ่ายบริหารให้มาก มันจะเกิดวิกฤติข้างหน้า ก็คือวิกฤติการตรวจสอบผู้ตรวจสอบ องค์กรที่ไปตรวจสอบคนอื่นแล้วตัวเองถูกใครตรวจสอบ จะเป็นองค์กรเทวดาหรือเปล่า ถ้าไม่ระวัง มันต้องคิดตรงนี้ด้วย ผมคิดว่าประเด็นที่จะเอาคนดีเป็นอรหันต์มานั่งในองค์กร ลืมไปเถอะ ไม่สำเร็จหรอก มันต้องวางระบบ คนกับระบบอะไรสำคัญกว่ากัน สำคัญทั้งสองอย่างแหละ แต่คนมันแก้ไม่ได้ แต่ระบบเรา set ได้ นักกฎหมายไม่ได้หวังว่าจะได้คนดี แต่ได้คนดีมาก็ดี สมมติได้คนไม่ดีระบบจะต้องเอาให้อยู่"
มองว่านักการเมืองจะถูกลิดรอนอย่างไรบ้าง
"ผมคิดว่าอันหนึ่งที่จะมีการจัดการคือระบบเลือกตั้ง ผมเดาเอานะ คนร่างรัฐธรรมนูญจะมองไปที่การเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ไทยรักไทยชนะ ครั้งแรกชนะ ครั้งที่ 2 ชนะขาดลอยเลยด้วยซ้ำ อาจจะมีคนคิดว่า ระบบแบบนี้มันเป็นระบบที่ทำให้พรรคมันโตขึ้นมามาก ก็อาจจะไปรื้อในตัวระบบเลือกตั้งที่เป็น duo track ก็คือที่เป็นระบบหน่วยเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก กับเลือกตั้งแบบสัดส่วน ตอนนี้มีการพูดถึงการย้อนกลับไปใช้แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ มีคนบอกว่ามันซื้อเสียงยาก แต่ว่าเราก็ต้องไม่ลืมว่าแบ่งเขตเรียงเบอร์เขตมันไม่เท่ากัน มันมีปัญหาเรื่องความยุติธรรมในระบอบประชาธิไตย คนหนึ่งอยู่ในเขตนี้ จังหวัดเล็กๆ มันได้แค่คนเดียว แต่จังหวัดใหญ่ได้ 3 คน และผมก็ไม่รู้ว่ากลับไปสู่ระบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ มันจะดีหรือไม่ดีมากน้อยแค่ไหน มันอาจจะซื้อหนักขึ้นก็ได้ มันอาจต้องใช้เงินมากขึ้น"
"ประเด็นเรื่องซื้อเสียงต้องคิดแยกจากเรื่องระบบเลือกตั้ง มันเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราต้องค่อยๆ แก้กันไป เคยมีงานวิจัยไปถามชาวบ้านว่าถ้าคนคนนี้เป็นคนดีด้วย-ชาวบ้านเขาเชื่อว่าเป็นคนดีนะ และคนนี้เวลามาหาเสียงให้เงินด้วยจะเลือกไหม เขาก็เลือก และชาวบ้านเขาเข้าใจหรือเปล่าว่านี่คือการซื้อเสียง ไม่ใช่ ความเข้าใจเรื่องซื้อเสียงขายเสียงมันอาจจะไม่ตรงกัน ความเข้าใจในทางทฤษฎีของคนเมืองกับความเข้าใจของคนชนบท"
"ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งเสียดายที่ไม่มีโอกาสเห็นต่อไปอีกหน่อย คือผมคิดว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเขาเริ่มมองนโยบายของพรรค ดีหรือไม่ดีเราไม่รู้ แต่อย่างน้อยไทยรักไทยทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงว่า ถ้าคุณเลือกพรรคการเมืองนี้มันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับวิถีชีวิตของคุณ แล้วจะจริงหรือไม่จริงต่อไปก็จะแสดงให้เห็นเอง นี่ยังไม่ทันเจ๊ง หลายคนก็บอกว่าเฮ้ยแล้วจะรอให้มันเจ๊งก่อนเหรอ ผมบอกแล้วคุณรู้ได้ยังไงว่ามันจะเจ๊ง หรือเจ๊งแบบหายนะหรือเจ๊งยังไง โอเคมันอาจจะมีปัญหา พอถึงจุดหนึ่งชาวบ้านเขาก็เห็น เขาก็เปลี่ยนขั้วเลือก แต่เรากลัวไง คนซึ่งเป็นคนระดับนำของประเทศรับไม่ได้ เล็งเห็นว่าเลือกครั้งหน้าก็ชนะอีก อยู่ไป 4 ปี หรือ 12 ปี มันนานเกินไป มันมีความคิดอย่างนี้อยู่ ไม่ปล่อยให้ตัวระบบไปจัดการ บอกว่ามันเกิดวิกฤติองค์กรอิสระ แต่ถามว่ามันพังหมดเลยเหรอ ผมคิดว่ามันไม่เจ๊งหมดหรอก บางองค์กรก็ยังทำงานของมันอยู่ แต่ว่าอาจจะไม่ได้อย่างที่เราอยากให้เป็น ศาลเขาก็ทำงานของเขาอยู่ เราก็ใช้ระบบของการฟันทิ้งเลย เมื่อวันที่ 19 ก.ย. กลับไปสภาวะเดิม"
"แล้วถามว่าแก้ปัญหาไหมครับ รัฐประหาร 19 ก.ย. ผมไม่รู้สึกว่าแก้ปัญหาอะไรเลย ความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคมยังมีอยู่อย่างเดิม และถ้ามันมีปัจจัยตัวอื่นเข้ามาเสริมมันหนักกว่าเดิมนะ-ถ้าไม่มีก็แล้วไป เพราะรัฐประหารอย่างน้อยก็เห็นความสงบ พันธมิตรฯ ไม่ออกมา ถ้าทักษิณกลับมาอาจจะมีอีกนะ แต่ถามว่าไม่ให้เขากลับได้เหรอ อันนี้พูดกันตรงๆ คุณกล่าวหาเขาเรื่องนั้นเรื่องนี้ เขาต้องกลับมาแก้ข้อกล่าวหา ถ้าจะใช้กระบวนการทางกฎหมาย ให้เขากลับมาสิแล้วมาดูว่าเฮ้ยเขาผิดหรือถูก ฟัง คตส.ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเขาว่ายังไง"
กลับไปที่ระบบเลือกตั้ง วรเจตน์ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยถ้าจะเลิกปาร์ตี้ลิสต์
"มีคนพยายามพูดแล้วว่าไม่มีปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ปาร์ตี้ลิสต์เป็นระบบที่ยุติธรรมมากๆ ในระบบของคะแนน คือทุกคะแนนที่ลงไปมีความหมายหมด ถูกนำมาคำนวณ หลักในการเลือกตั้งมีว่าคนต้องเสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะต่างกันในเชิงการศึกษา ฐานะ ระบบประชาธิปไตยเราเคารพคนที่ตัดสินใจ ซึ่งการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากมันมีข้อเสียตรงนี้ เพราะว่าคะแนนที่ลงให้กับคนแพ้เป็นคะแนนที่ตกหายไป ไม่ถูกเอามาคิด แต่ระบบปาร์ตี้ลิสต์ทุกคะแนนมีความหมายหมด บังเอิญระบบของเราคราวที่แล้วมัน cut off ถูกตัด 5% พรรคที่ได้ไม่ถึง 5% ตกน้ำหายไป แต่ถ้าเราบอกต่อไปนี้ไม่มี cut off 5% ทุกคะแนนมีความหมายหมด ผมว่าระบบอย่างนี้ควรจะมี"
"ระบบปาร์ตี้ลิสต์จะช่วยให้คนมองไปที่นโยบายของพรรค มากกว่ามองไปที่ตัวคนในเขต แรกๆ ครั้งสองครั้งไม่เห็นหรอก มันเพิ่งลองมาแค่ 2 ครั้งเอง ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อน แต่นานเข้าคนจะถูกฝึกให้มองนโยบายของพรรค พรรคการเมืองในประเทศไทยจะได้มีนโยบายที่ชัดเจนในแต่ละพรรค มันเริ่มเห็นเป็นลำดับ ผมอาจจะไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับนโยบายพรรคที่ชนะเลือกตั้งไม่เป็นไร แต่ผมรู้สึกว่าทิศทางมันจะไปในทิศทางที่น่าจะเป็น อีกหน่อยเราอาจจะมีพรรคที่พูดถึงสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แบบในต่างประเทศที่เขามี มันจะค่อยๆ พัฒนาไปสู่จุดนั้น การเมืองจะยกระดับในเชิงคุณภาพ แต่ถ้าวันนี้กลับไปเป็นแบบเดิม แบ่งเขตเรียงเบอร์ ย้อนยุคกลับไปอีกมันก็กลับไปซื้อเสียงเหมือนเดิม ทีนี้ก็มีคนบอกว่าปาร์ตี้ลิสต์นายทุนพรรคเป็นคนกำหนดบัญชี ผมบอกคุณก็ต้องไปแก้เรื่องพรรคการเมืองสิ มันคนละเรื่องกับการเลือกปาร์ตี้ลิสต์ ปาร์ตี้ลิสต์ดีคุณก็คงไว้ แต่ถ้าคุณบอกคนที่มีอำนาจในพรรคการเมืองกำหนดลิสต์ คุณต้องไปจัดการเรื่องกฎหมายพรรคการเมือง วางระบบทำยังไงไม่ให้เกิดการผูกขาดขึ้นในพรรค ซึ่งอาจจะแก้ไม่ได้ในทันทีหรอกนะ มันต้องอดทนและใช้เวลาทั้งนั้น แต่ว่าเราเอาประเด็นที่มันไม่เกี่ยวพันกันมาปนกัน มันก็เละ คุณบอกนายทุนทำบัญชีพรรคเพราะฉะนั้นเลิกมันเถอะ มันเป็นเรื่องเดียวกันไหมล่ะครับ"
ลึกๆ แล้วมีความกลัวการอ้างบารมี 16 ล้านเสียง 19 ล้านเสียงแบบทักษิณ
"มันเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีเหตุผลในทางสาระเท่าไหร่นัก 19 ล้านก็ 19 ล้าน ก็เขาได้มา 19 ล้าน แต่ว่าเราต้องทำความเข้าใจกับประชาชน หรือกับคุณทักษิณด้วยที่ชอบพูด 16 ล้าน 19 ล้าน โอเคคนจำนวนนี้ไว้ใจเขา แต่ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่คุณทำมันถูก คุณไม่สามารถเอา 19 ล้านไปล้างความผิดถ้ามันผิด คนละเรื่อง มันต้องใช้เวลาอธิบาย แต่จะไปบอกว่าไอ้นี่อ้าง 19 ล้านแล้วเลิกไปเลย มันไม่เกี่ยว ผมไม่ซีเรียสที่เขาอ้าง 19 ล้าน ก็เขาได้มาจริง แต่ต้องบอกว่า 19 ล้านไม่มีผลเลยนะกับการทำผิดกฎหมาย หรือดำเนินนโยบายที่ไม่เหมาะสม 19 ล้านไม่ได้หมายความว่าทุกคนเห็นด้วยกับนโยบายทั้งหมด แต่อย่างน้อยตัว 19 ล้านเป็นฐานความชอบธรรม เขามาโดยคนเลือก จะบริสุทธิ์แค่ไหนอีกประเด็นหนึ่ง เขาไม่ได้มาโดยเอารถถังเข้าไปยึด เขายังมีความชอบธรรมมากกว่า"
วรเจตน์เห็นว่าในส่วนของ ส.ส.อาจจะมีการปรับบางอย่าง แต่น้ำหนักจะไปอยู่ที่วุฒิสภา
"หนึ่ง การเลือกตั้งอาจจะปรับ อาจจะไปปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมนตรีกับสภา หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ จะง่ายขึ้น อันนี้ดี ผมว่าโอเค"
"แต่วุฒิสภาคงจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้ว จะเป็นระบบผสม หรือเป็นระบบเลือกตั้งทางอ้อม หรือจะเป็นระบบแบบมีลิสต์มา มีการคัดคนลงในตัวบัญชีแล้วให้คนถูกจำกัดเลือกจากบัญชีนั้น ผมว่าจะไม่พ้นตรงนี้ โดยที่เราอาจจะไม่ตั้งคำถามด้วยว่าตกลงวุฒิสภาเอาไว้ทำอะไรบ้าง เพราะหน้าที่หลักๆ คือคัดคนเข้าองค์กรอิสระ หน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ที่สภาผู้แทนฯ อยู่แล้ว หน้าที่ของวุฒิสภามีอยู่ 2 เรื่อง คือคัดคนเข้าองค์กรอิสระและกับกลั่นกรองกฎหมาย แต่ว่าโฉมหน้าวุฒิฯ จะเปลี่ยน นายกฯ จะถูกอภิปรายง่ายขึ้น มีการทอนอำนาจนายกฯ ลง รวมทั้งประเด็นเรื่องยุบสภาอาจจะมีการพูดกัน แต่หลักๆ ถ้าเราจะยังความเป็นนายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภาเอาไว้ มันจะเปลี่ยนไปไม่มาก แต่ถ้าเราไประแวงมาก เอาคุณทักษิณเป็นแบบ เขียนตัดอำนาจ นายกฯ คนใหม่ก็ทำอะไรไม่ได้ ก็กลายเป็นปลัดของประเทศ จะเอาหรือครับอย่างนั้น เรากลับไปนายกฯ กระดิกนี่โดนนั่นแตะ โดนตรวจสอบ อาจจะไปอีกจุดหนึ่ง"
จะมีแนวโน้มให้อำนาจระบบราชการมากขึ้นไหม เช่นอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย
"เขาคงจะหาวิธีเขียนแต่มันจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ประหลาดมากๆ มีคนพูดถึงขนาดต่อไป ครม.หมดอายุให้จบเลย แล้วให้ กกต.ตั้งนายกฯ คุณเอาความชอบธรรมมาจากไหน ที่มาตั้งนายกฯ คือต้องคิดจากหลักก่อน รัฐบาลทักษิณรักษาการ 9 เดือนเป็นภาวะพิเศษทางการเมือง ปกติรักษาการนานแบบนี้ไหม เต็มที่ก็ 2 เดือน มันเป็นความคิดที่นักการเมืองชั่ว องค์กรอิสระเป็นผู้วิเศษ ก็เหมือนกับปี 2535 ที่แบ่งพรรคเทพพรรคมาร สื่อก็แบ่งเป็นฝายเทพฝ่ายมาร แล้วมีไหมล่ะครับ มันก็เทากันทั้งนั้นแหละ มันขาวบริสุทธิ์ผุดผ่องเหรอ ผมไม่เชื่อนะ และต่อให้ขาวหรือเป็นคนดีก็ตามนะ คนดีกับการบริหารบ้านเมืองมันคนละเรื่องกัน คนดีอาจจะบริหารบ้านเมืองได้ห่วยมากๆ ก็ได้ แต่เป็นคนดี"
"รัฐธรรมนูญถ้าเราไม่คุยกันที่หลักก่อน มันก็สะเปะสะปะ มันก็กลายเป็นดูประเด็นปลีกย่อย ไม่วางฐานจากหลักก่อน เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่เอาหลัก คิดตามประสบการณ์เฉพาะคราว แล้วเอามาเขียน ก็จะไม่เป็นระบบและจะเป็นปัญหาต่อไป เราจะพ้นจากปัญหานี้ไปก็จะไปเจอกับปัญหาใหม่ ซึ่งบอกไม่ได้ว่าหนักกว่าเดิมหรือเปล่า"

องค์กรอิสระสายตรง
"รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นปัญหาอันหนึ่ง แต่ไม่เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญชัดๆ โดยตรง ความจริงมันเป็นปัญหาจากที่เราไม่คุ้นเคยกับการที่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้อำนาจเด็ดขาดไปจากการเลือกตั้ง มันเป็นสิ่งใหม่ในระบบการเมืองไทย ไปดูต่างประเทศอย่างเยอรมนี เฮลมุต โคห์ล เป็นนายกรัฐมนตรีผ่านระบบการเลือกตั้ง 16 ปี โทนี แบลร์ เลย 8 ปีไปแล้ว ถามว่าทำไมเขาไม่รู้สึก ก็อำนาจในสภาฯ 4 ปีไปเลือกตั้งใหม่ แต่เราคุ้นเคยว่า 4 ปีอำนาจต้องเปลี่ยน ใครครองอำนาจยาวเกินมันจะเจ๊ง เรามองอย่างนั้น ประกอบกับบุคลิกคุณทักษิณด้วย เขาใช้อำนาจมาก"
"ผมคิดว่าถ้าเปลี่ยนองค์กรอิสระ ก็จะมีเสียงเรียกร้องให้ศาลเข้ามามากขึ้นแน่ๆ ศาลจะส่งคนหรือมีคนของศาลเข้ามาอยู่ในองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งในทางหลักการเป็นปัญหานะครับ คนมาจากองค์กรศาลและมาอยู่ในอีกองค์กรหนึ่ง หรือแม้แต่เข้ามาสรรหา ไม่เคยพูดกันว่าในเชิงระบบมันถูกไหม ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด เข้ามานั่งสรรหา พอได้ตัวคนที่ได้รับเลือกมา พอคนพวกนี้ทำงานกลับไปฟ้องคดีที่ศาล คดีย้อนกลับไปที่ศาล เราบอกในรัฐธรรมนูญว่าศาลเป็นองค์กรที่เอามาพัวพันกับการเมืองให้น้อยที่สุด ศาลเดียวที่พัวพันโดยตรงคือศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมจะไม่ เพราะตัดสินคดีแพ่ง-คดีอาญาเป็นสำคัญ บทบาทมันต้องดูว่าอยู่ตรงไหน ถ้าส่งไปอยู่ในองค์กรอิสระหมด มันไม่ถูกหลัก เพราะคุณเป็นองค์กรที่จะต้องคอยตรวจสอบคนอื่น แต่นี่เรากำลังคิดว่าจะเอาบุคลากรจากองค์กรเหล่านั้นให้มาอยู่ในองค์กรพวกนี้หมด"
วรเจตน์มีไอเดียในการตั้งองค์กรอิสระที่ไม่เหมือนใคร
"ผมคิดง่ายๆ ผมคิดว่าระบบสรรหาองค์กรอิสระมันยุ่งยากนัก ไอเดียผมคือเลิกเลยกระบวนการทั้งปวง เรื่องคุณหญิงจารุวรรณเถียงกันเป็นปี เลิกไปเถอะระบบอย่างนี้ คุณอยากให้ศาลเข้ามามีส่วนใช่ไหม ให้มีการคัดเลือกคนในองค์กรที่ต้องการความรับผิดชอบผลใช่ไหม เอาอย่างนี้ไหมคุณแบ่งไปเลยแล้วกัน นายกรัฐมนตรีหรือ ครม. สมมติเลือก กกต.2 คน ประธานศาลฎีกาหรือที่ประชุมศาลฎีกาเลือกเลยคนหนึ่ง ไม่ต้องมาสรรหาอะไรเลย เลือกเข้าไปเลย ประธานรัฐสภาหรือฝ่ายค้าน เลือกเข้าไปเถอะ แล้วมันจะเห็นเลยว่าคนนี้ใครส่งมา ไม่ต้องไปผ่านกระบวนการกลไก แล้วพอเขาไปทำงานก็บอกว่าไอ้นี่ไปสัมพันธ์กับคนนั้นคนนี้ จริงหรือไม่ก็ไม่รู้ มันซื้อกันเข้าไปมันบล็อกโหวตกันเข้าไป มันจริงมากจริงน้อยแค่ไหนก็ไม่รู้"
"ให้พวกนี้เลือก แต่เลือกจากคนที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย อยากได้สเปกแบบไหน แล้วก็ให้องค์กรพวกนี้เลือก แบ่งกันไป ให้นายกฯ เลือกกี่คน ครม.เลือกกี่คน จะให้นายกฯ เป็นคนเลือกหรือเป็นมติ ครม. สภาฯ เลือกกี่คนบนกรอบคุณสมบัติแบบนี้ แล้วส่งคนเหล่านี้เข้าไปในองค์อิสระ เมื่อคนเหล่านี้ทำงานก็จะเห็นว่าองค์กรไหนเลือกมา มันก็เห็นความรับผิดชอบชัดเจน เอาละมีคนบอกว่าก็เล่นเส้นสิ มันก็ไปวิ่ง มันก็ทำกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเชื่อในศักดิ์ศรีองค์กรพวกนั้น-มันก็จบ ก็ไม่ต้องมานั่งปวดหัวว่าคณะกรรมการสรรหาฯ ส่งชื่อมาที่วุฒิฯ วุฒิฯ ไม่เห็นด้วยปวดหัวตาย เรามาเสียเวลากับเรื่องพวกนี้"
ถ้าคิดแบบนี้ก็ไม่ต้องมีวุฒิสภา?
"วุฒิฯ มีหรือไม่-ไม่รู้ แต่หน้าที่ตรงนี้ไม่มีแล้ว แล้วองค์กรอิสระในความหมายของผมอาจจะไม่ต้องเยอะ องค์กรที่เหลือคุณปล่อยให้เป็นองค์กรในทางปกครอง ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ และคราวนี้ที่มาก็จะแยกแต่ละแบบแต่ละองค์กรไม่เหมือนกัน คุณก็ไปว่ากันในชั้นกฎหมายพระราชบัญญัติ ป.ป.ช.หน้าตาเป็นแบบไหน มาจากคนแบบไหน ก็ดีไซน์มา ตั้งคณะกรรมการซึ่งอาจให้สภาตั้งขึ้นเลือกคนเข้าสู่องค์กร ก็ทำกันในชั้นของพระราชบัญญัติ ไม่ต้องใส่ในรัฐธรรมนูญให้มันรกรุงรัง เอาเฉพาะองค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญจริงๆ อย่างศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเราก็จะ simple ขึ้น"
ในฐานะอาจารย์กฎหมายมหาชน วรเจตน์อธิบายว่าองค์กรอิสระที่เราเห็นกันอยู่ส่วนใหญ่ จริงๆ แล้วไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ
"ทางวิชาการมันไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญเลยนะ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ป.ป.ช. หรือแม้แต่ กกต. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผมยังไม่เห็นเลยว่าองค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่างไร เพราะเขาไม่ได้ใช้อำนาจในระดับรัฐธรรมนูญ เขาใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ ก็เหมือนกับกระทรวงแต่เป็นอิสระเท่านั้นเอง แต่เราเข้าใจผิดว่าใช่ อย่างนี้มันจึงเป็นคอนเซ็ปต์ที่มีอยู่แต่ประเทศไทย ดูในโลกไม่มีนะ เรามีองค์กรตามรัฐธรรมนูญมากที่สุด และบางทีเกิดการปะทะกันทางอำนาจมากที่สุด และก็หาคำตอบไม่ได้ มันจึงเถียงกันไม่รู้ถูกไม่รู้ผิด เพราะไม่มีทฤษฎีรองรับ"
"องค์กรตามรัฐธรรมนูญก็มีแค่ศาลรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา สภา 2 สภา หลักง่ายๆ การดูว่าเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดูตอนทำรัฐประหาร ถ้ายุบอันไหน อันนั้นคือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มันไม่สามารถดำรงอยู่ได้ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ามันอยู่ได้ต่อไปและคณะรัฐประหารให้อยู่ แปลว่าพวกนี้ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญแท้ๆ หรอกนะครับ มันใช้อำนาจในอีกลักษณะหนึ่ง เป็นอำนาจในทางปกครอง ซึ่งชั้นอำนาจเป็นอีกแบบหนึ่ง ปัญหารัฐธรรมนูญปี 2540 คือเราไปทำองค์กรที่เป็นอำนาจในทางปกครองโดยเนื้อหา ยกระดับมันขึ้นเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่เนื้อของอำนาจเป็นอำนาจในทางปกครอง ผมจึงบอกว่าถ้าคุณจะทำองค์กรเหล่านี้ให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คุณต้องเขียนอำนาจองค์กรพวกนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญนะ หรืออำนาจต้องไม่ซ้ำกัน อำนาจตาม พ.ร.บ.เป็นอำนาจขององค์กรศาลปกครอง และถ้าคุณใช้คุณถูกตรวจสอบจากศาลปกครองนะ มันก็จะชัด แต่การร่างรัฐธรรมนูญไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์เลย อยากให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ไปพูดคุยกัน แล้วก็ยัดให้อยู่ในรัฐธรรมนูญ โดยโครงสร้างมันเป็นไม่ได้ ก็ประนีประนอมกัน"
"องค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กรควรยุบ หรืออาจจะเอามารวมกัน เช่น คณะกรรมการสิทธิฯ กับผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ต้องดูนะว่าเขามีอำนาจยังไง กรรมการสิทธิฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในหลายประเทศเขาเป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติ รัฐธรรมนูญอาจจะเขียนประกันความเป็นสถาบันเอาไว้ แม้แต่ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง คนบอกว่าเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ผมว่าไม่เป็น เขาใช้อำนาจอธิปไตยตรงไหน เขาใช้อำนาจตุลาการในการตัดสินคดีนะ แต่ศาลรัฐธรรมนูญนี่เป็น เพราะฉะนั้นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ไม่ได้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรอก แต่เป็นองค์กรที่ต้องมี เพราะรัฐธรรมนูญเขียนบังคับว่าให้มันมี"
"คำของผมที่ผมใช้ รัฐธรรมนูญประกันความเป็นสถาบันขององค์กรพวกนี้ คือไม่มีไม่ได้ มันจึงมีพระราชบัญัติจัดตั้งศาลปกครองไง และการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ไม่เกี่ยวกับอำนาจของเขานะ ศาลยุติธรรมตัดสินประหารชีวิต เขาก็ยังมีอำนาจประหารชีวิตคน มันไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ นี่คืออันที่หนึ่งเรื่องปรับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ปัญหาความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างจะน้อยลง แต่ปัญหาถูกถ่ายทอดลงไปตอนทำกฎหมายตั้งองค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญต้องประกันความเป็นสถาบันเอาไว้ ต้องเขียนกฎหมายว่าสภาฯ มีหน้าที่ต้องจัดให้มีองค์กรเหล่านี้ ซึ่งอันนี้คนทำรัฐธรรมนูญต้องทำออกมาพร้อมกันเป็นแพ็กเกจ แต่ว่ามันจะไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแม่บทตัวใหญ่"
"ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องอยู่แน่ๆ รัฐบาล สภาผู้แทนฯ วุฒิสภา หลักๆ ส่วนองค์กรอื่นอนุโลมได้อีกอัน คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถ้าคิดว่าเป็นลักษณะพิเศษก็แก้ไขตรวจสอบ แต่ถ้าไม่คิดว่าต้องมีลักษณะพิเศษก็เป็น พ.ร.บ. ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.จัดการเลือกตั้ง วินิจฉัย หรือเราจะบอกว่าใช้ไอเดียเดิม กกต.มีอำนาจเด็ดขาด ใบแดงจบเลย อันนี้อาจต้องเขียนในรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่จำเป็น คุณอาจจะเขียนบอกว่าในหมวดที่ว่าด้วยองค์กรอิสระ ต้องบอกว่าให้มีกฎหมายหรือมีองค์กรที่มีคณะกรรมการการเลือกตั้งตามที่สภาฯ จะตรากฎหมายต่อไป โดยกฎหมายต้องมีเนื้อหาสาระอยางน้อยต่อไปนี้ ก็ว่าไปเรื่องระบบเลือกตั้ง"
"ผมไม่คิดว่าของเดิมมีปัญหามาก ถ้าเราจัดองค์กรตรวจสอบดีแล้วก็ให้เขาบริหารไป มันก็หมดข้อครหาว่าพรรคการเมืองไปคุมองค์กรอิสระ มันก็จะได้คนหลากหลาย ภายใต้คุณสมบัติ ไม่ได้ไปเลือกเอาตามใจชอบ สำคัญที่สุดคือศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้จะเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว การปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นฐานอยู่ตรงนี้"
วรเจตน์บอกว่า ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญก็ควรเป็นแบบเดียวกัน ง่ายๆ ให้แต่ละองค์กรเลือกมาแล้วรับผิดชอบกันเอง แต่ต้องเป็นนักกฎหมาย
"ผมคิดว่ามันต้องไปกับนิติศาสตร์ คนอาจจะมองว่าเพราะผมเรียนกฎหมายมา แต่ในโลกนี้ไปดูสินิติศาสตร์ทั้งนั้น ปัญหาคือนิติศาสตร์บ้านเรามันก็มีปัญหาอยู่ เรื่องนี้ผมเคยเสนอโครงสร้างว่าให้มีนิติศาสตร์จาก 3 ทาง ถ้าเอาในเชิงคุณสมบัติ จากผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดกลุ่มหนึ่ง จากฝ่ายวิชาการกลุ่มหนึ่ง จากคนซึ่งเป็นอัยการหรือทนายความที่ทำอาชีพ หรือจะเปิดช่องให้กลุ่มเอกชนเข้าไปได้กลุ่มหนึ่ง โดยหวังว่าเราจะได้ mix กันระหว่าง 3 ส่วน แต่สมมติจะมีรัฐศาสตร์ผมตั้งข้อรังเกียจไหม-ก็ไม่ขนาดนั้น แต่คงจะต้องเป็นข้างน้อยในศาล เพราะเราต้องเข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญคือศาล ต้องตัดสินโดยหลักนิติศาสตร์ หลักรัฐศาสตร์ตัดสินไม่ได้"
"เถียงกันเยอะในสังคมไทยหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ต้องเข้าใจให้ชัด บ้านเราผู้หลักผู้ใหญ่ชอบพูดกันนี้เรื่องนี้ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ ผมถามว่าแล้วทำไมไม่นิติศาสตร์ล่ะ และความเข้าใจนิติศาสตร์คืออะไร ทำไมคุณถึงไม่ใช้มัน หรือว่ามันตามใจคุณ วันนี้คุณอารมณ์รัฐศาสตร์ก็ใช้รัฐศาสตร์ เลยไม่รู้ว่าตกลงนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์คืออะไร ที่เราพูดว่ารัฐศาสตร์ ในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมายมหาชนมันคือนิติศาสตร์นะครับ มันเป็นนิติวิธีในการตีความกฎหมาย แต่เราไปผลักให้นิติศาสตร์เป็นเรื่องตัวบทเรื่องตัวอักษร ถ้านิติศาสตร์เป็นแบบนั้นมันไม่งอกงามมาเป็น 2 พันปีหรอก มันมีหลักวิชาของมัน ผมเคยไปออกทีวีพูดเรื่องหลักรัฐศาสตร์-นิติศาสตร์กับนักรัฐศาสตร์ท่านหนึ่ง พอผมพูดเรื่องหลักนิติศาสตร์ วิธีการตีความทางกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ท่านนั้นบอกว่านี่คือหลักรัฐศาสตร์ ผมบอกไม่ใช่ รัฐศาสตร์มันเป็นศาสตร์ซึ่งไม่ใช่วินิจฉัยชี้ขาด รัฐศาสตร์พูดเรื่องพยากรณ์ในทางการเมือง ซึ่งแบบนี้บางเรื่องมันอยู่ในแดนรัฐศาสตร์ที่เราต้องวิเคราะห์วิจารณ์ แต่นักกฎหมายชี้โดยมีเกณฑ์ว่ามันถูกหรือผิดในทางกฎหมาย ผมถามว่าไม่ใช่เพราะหลักรัฐศาสตร์หรือครับ คุณทักษิณถึงไม่ต้องคดีในซุกหุ้นครั้งแรก คนที่มาเย้วๆ ไล่คุณทักษิณ ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนตอนนั้นก็พูดว่าเขาเลือกมา 10 กว่าล้านเปิดโอกาสให้เขาบริหารประเทศ ก็เราไม่เอาหลักกันไงครับ สังคมเราก็บิดไปบิดมาแบบนี้"




Create Date : 22 สิงหาคม 2550
Last Update : 22 สิงหาคม 2550 18:27:49 น. 3 comments
Counter : 376 Pageviews.

 
มีหรือไม่สืบทอด
กลับไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ วรเจตน์เห็นว่าต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ง่าย
"ในส่วนของรัฐบาลผมเห็นว่าไม่ต้องอภิปรายรัฐมนตรีนะ รัฐมนตรีทำไม่ดีอภิปรายนายกฯ นายกฯ ก็ต้องรับผิดชอบงานของรัฐมนตรี จริงๆ ก็คืออภิปรายตัวนายกฯ ว่าทำไมนายกฯ ปล่อยให้รัฐมนตรีทำแบบนี้ ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศ นายกฯ ก็ต้องไปปรับเอารัฐมนตรีคนนี้ออก รัฐมนตรีต้องบริหารภายใต้แนวที่คณะรัฐมนตรีวางเอาไว้ มันควรจะต้องเป็นอย่างนั้น อภิปรายนายกฯ หรืออภิปราย ครม. ที่ผ่านมาอภิปรายรัฐมนตรี นายกฯ ก็ลอย บางทีอาจจะสลับตำแหน่งก่อนด้วยซ้ำ"
"เราไม่ควรสร้างภาวะผู้นำให้นายกฯ โดยระบบที่อภิปรายไม่ได้ ภาวะผู้นำของนายกฯ อาจจะเกิดได้ทางตรงกันข้าม คือเมื่อนายกฯ แสดงความเป็นผู้นำ รับผิดชอบต่อประชาชน เราอยากเห็นนายกฯ มีความเป็นผู้นำแบบนี้ ไม่ใช่นั่งอยู่เฉยๆ ลูกน้องก็โดนด่าไป ผมคิดว่าการแยกตำแหน่งรัฐมนตรีกับ ส.ส.ออกจากกันไม่เหมาะสม นอกจากทำให้เกิดความคิดว่ารัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่ง ส.ส.แบบเขตอาจจะมีความสามารถดีกว่าพวกปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้ เขาไม่ได้เป็นรัฐมนตรีเพราะถ้าเลือกตั้งซ่อมเขาต้องไปจ่ายเงิน ในแง่นี้รัฐมนตรีอาจจะกล้าพูดขึ้นด้วยซ้ำไป เดิมถ้านายกฯ ปลดเขาออกจากรัฐมนตรี เขาไม่มีที่ยืนในสภาฯ อย่างน้อยในช่วงสภาฯ ที่ยังอยู่เขาก็ไม่มีบทบาททางการเมืองเลย"
"ที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ต้องดูให้ดีว่าจะต้องทำยังไง ต้องทำกฎหมายพิจารณาให้เขา เพราะนี่คือตัวคุมศาล ศาลไม่ได้ถูกคุมโดยใครโดยสภาพ เว้นแต่เป็นระบบถอดถอน ซึ่งต้องมาคิดกันว่าทำยังไง ซึ่งไม่ควรจะง่ายเกินไปและไม่ควรจะยากเกินไป ถ้ามันง่ายมากไปคนไม่มีความมั่นคงในตำแหน่ง ตัดสินอะไรไปจากความเชื่อตัวเขาเอง แต่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ไปถอดถอนเขาก็ตาย มันประกันความมั่นคงในตำแหน่งเขาด้วย ให้เขาสามารถแสดงความมีอิสระ"
"อีกเรื่องที่ผมคาดหมายว่าจะมีปัญหา เรื่องประชามติ รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ต้องออกไปทำประชามติ มันไม่ใช่การทำประชามติที่ให้ประชาชนเปรียบเทียบ ปกติเวลาเขาทำประชามติจะมีข้อเปรียบเทียบว่าจะเอาสิ่งที่เสนอไหม ในฝรั่งเศสเขามีการทำประชามติว่าจะเอารัฐธรรมนูญอียูหรือเปล่า คนฝรั่งเศสรู้ว่าถ้าเขาเอา หน้าตารัฐธรรมนูญจะเป็นยังไง ถ้าไม่เอาคือเป็นอย่างเดิม แต่ประชามติที่เราจะทำคนไม่เห็นนะครับ ถ้าไม่เอา-เฮ้ยไม่รู้จะได้อะไรมา เพราะรัฐธรรมนูญไปกำหนดให้ คมช.กับ ครม.ไปหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปัดฝุ่น แล้วก็ให้ใช้บังคับไปได้ ไม่รู้จะปัดฝุ่นแค่ไหน นี่คือปัญหา ถ้าโหวตไม่เอาจะเจออะไร"
อาจจะเจอที่แย่กว่า
"คือมันไม่มีตัวเปรียบเทียบ ถ้ามันห่วยมากก็ต่อต้าน เพราะในเมื่อคนเขียนรัฐธรรมนูญมาอย่างนี้ เราไม่มีตัวเทียบ"
นักการเมืองอาจจะไม่รับ
"ผมว่าไม่แน่ นักการเมืองเขาอาจจะคิดว่าให้มันจบๆ จะได้เข้ามาเล่นสักที อยากเลือกตั้งแล้วก็เป็นไปได้"
"เราต้องคิดอย่างนี้ก่อนว่ารัฐธรรมนูญสอดคล้องกับ คมช.ไหม คมช.รับได้หรือเปล่า เพราะถ้าร่างออกมาแล้ว คมช.เขารับไม่ได้ เขาอาจจะไปรณรงค์ไม่ให้รับ พูดถึงเรื่องสืบทอดอำนาจ ท่านอดีตนายกฯ พล.อ.สุจินดาบอกว่าไม่เชื่อว่า คมช.จะสืบทอดอำนาจ ลองไปดูที่ผ่านๆ มาไม่เคยเห็นไม่สืบทอด เพราะได้อำนาจแล้วตอนคุณจะลงคุณต้องระวัง ถ้าลงไปห้วนๆ ไปจัดการใครเขาไว้บ้าง จะถูกเช็กบิลไหม ผมจึงเชื่อว่าจะมี อาจจะเปลี่ยนหน้า คือมันต้องมีการแปลงกาย จะแปลงกายเป็นรูปแบบไหนเรายังไม่รู้"
"คำว่าสืบทอดอำนาจมันหมายความได้หลายนัย ในระดับที่อ่อนที่สุดคือ คมช.ไม่ได้มีอำนาจอย่างเป็นทางการต่อไปแล้ว แต่ว่าจะถ่ายทอดไปยังองค์กรที่แต่งตั้งขึ้นมา วุฒิสมาชิกก็จะมีนะ มีการแต่งตั้งเข้ามา ซึ่งแบบนี้ผมคิดวาเป็นการสืบทอดเหมือนกัน มันมีระดับความเจือจางแต่ว่าก็มีอยู่ หรืออีกทางไปทางพรรคการเมือง คมช.ไป link กับพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญก็อาจจะเอื้อตรงนี้ อันนี้ก็เป็นการแปลงกายอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าบอกว่าไม่มีเลย ไม่มีทางเป็นไปไม่ได้"
องค์กรอิสระที่แต่งตั้งไว้ควรอยู่ต่อไปหรือไม่
"เขาอาจจะทำหน้าที่ไปช่วงหนึ่ง ผมไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนบทเฉพาะกาลไว้หรือไม่ แต่เขามาจากประกาศ คปค.นะครับ ป.ป.ช. กกต.มีคนเสนอให้อยู่ต่อ เอาความชอบธรรมที่ไหนมาอยู่ต่อ นี่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องรับเงินประจำตำแหน่ง หลักก็คืออันไหนสูงสุดคุณเอาอันนั้น ผมว่าโอเคนะ หรือให้เป็นเบี้ยประชุม แต่ไม่ใช่เป็นเงินเดือนประจำแล้วซ้อนกัน บางคนเป็น 2-3 ตำแหน่ง มันคงต้องตรวจสอบกันบ้าง ไม่อย่างนั้นก็ว่าคนอื่นเขาแต่ตัวเองก็ไม่ดีไปกว่าคนอื่น มันไม่ถูก พูดอย่างนี้คนไม่ชอบหน้า คือมันต้องถามว่าหลักเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องทำตัวเราแบบนี้นะ ผมถึงบอกว่ากรมบัญชีกกลางกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินช่วยดูตรงนี้หน่อย สนช.เท่ากับ ส.ว. ส.ส.ได้เงินเดือนเท่ากัน มีผู้ช่วยระดับเดียวกัน บินเครื่องบินแบบเดียวกัน ผมว่าระบบนี้ไม่ใช่ เขาไม่ได้เป็นสภาในสภาพปกติ คุณไปทำเป็นว่าเขามีความชอบธรรมแบบเดียวกับสภาปกติ ผมว่าไม่ได้ ก็เท่ากับยอมรับโดยปริยายว่ารัฐประหารสร้างความชอบธรรมให้กับการได้มาซึ่งตำแหน่ง เกียรติยศ ศักดิ์ศรีทางสังคม"



ล้อมกรอบ
กฎหมายกับดี-ชั่ว

"อำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่อาจจะเป็นอันตรายน้อยที่สุด ถ้าเทียบกับอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร แต่อำนาจตุลาการอาจจะอันตรายมากที่สุดเช่นกัน ถ้าอำนาจเยอะอาจจะอันตรายยิ่งกว่าอำนาจอื่นใดเลย ถ้าอำนาจของเขาเป็นอำนาจที่สามารถเริ่มได้เองหรือเมื่อการเริ่มมันง่าย"

"นักกฎหมายหรือคนที่วินิจฉัยต้องมีความกล้า คุณต้องตีความว่ากล้าคืออะไร กล้าที่จะบอกว่าคนผิด ผิดในเรื่องที่เขาผิด และต้องกล้าที่จะบอกว่าเขาไม่ผิดในเรื่องที่เขาไม่ผิด กล้าที่จะบอกว่าเขาผิดแค่นี้ ถ้าเขาผิดแค่นี้อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ากล้า ถ้าคุณมันต้องผิดๆๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องดูตรงนี้ กล้าที่จะบอกว่าเขาผิดโดยยุติธรรม กล้าที่จะบอกว่าเขาไม่ผิดเมื่อข้อกฎหมายเขาไม่ผิด โดยยุติธรรม มันต้องมีเกณฑ์วินิจฉัย ไม่อย่างนั้นอย่าใช้กฎหมายมาเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยเลย"
วรเจตน์ปรารภถึงการเอากฎหมายมาเป็นเครื่องมือฟาดฟันกัน บอกว่าถ้าอย่างนั้นใช้อำนาจรัฐประหารไปเสียเลยดีกว่า
"เอาแบบนั้นไปเลย ไม่ต้องแฝงมาในนามของกฎหมาย ผมเป็นนักกฎหมายผมศร้าใจตรงนี้แหละ สมมติว่าคุณใช้กฎหมายเป็นเกณฑ์ คุณมาในนามของกฎหมาย กฎหมายมันต้องไปกับความยุติธรรมนะ กฎหมายกับความยุติธรรมมันต้องไปด้วยกัน ไม่ว่าคนที่อยู่เบื้องหน้าเราเป็นคนชั่วหรือไม่ แต่พอมาอยู่เบื้องหน้าเสมอกันในทางกฎหมายและต้องมีหลักวินิจฉัย"
"อุดมคติอย่างนี้ปรากฏอยู่ในตำนานของกรีกโบราณ สัญลักษณ์ของกฎหมายคือรูปเทพี มีผ้าปิดตาอยู่ มือถือตราชู อีกมือถือกระบี่ ผ้าที่ปิดตาแสดงให้เห็นว่าเบื้องหน้ากฎหมายทุกคนเสมอกัน ไม่ได้ดูว่าเป็นใคร ตราชูคือความเที่ยงธรรม กระบี่คืออำนาจ ประกอบกัน 3 ส่วนนี้ความยุติธรรมถึงเกิดขึ้นได้ ถ้าคุณจะใช้กฎหมาย แต่ถ้าคุณบอกว่าอันนี้เป็นเรื่องการเมืองก็ไม่เอากฎหมาย คุณใช้อำนาจรัฐประหาร-กล้าหรือเปล่า ต้องกล้าๆ นะ ถ้าปัจจัยคุณคิดว่าผิดแน่แล้วกฎหมายจัดการไม่ได้ เพราะกฎหมายก็มีข้อจำกัดของมัน แต่ถ้าจะเอากฎหมายต้องมีหลัก เพราะนี่คือสิ่งซึ่งคุ้มครองพวกเราทุกคน นักปราชญ์สมัยโรมัน ซิเซโรบอกว่าเรายอมเป็นทาสของกฎหมายเพื่อที่เราจะได้มีเสรี เพราะว่ามันอยู่บนพื้นฐานอันเดียวกัน แต่ถ้าคุณคิดว่ามันใช้ไม่ได้ ถ้าใช้กฎหมายไปแล้วประเด็นนี้มันหลุด ก็ใช้อำนาจเสียเลย อย่าแฝงมาในนามของกฎหมาย เพราะถ้าใช้ไม่ตรงมันน่าเศร้า นั่นคือการทำลายหลัก"
"รัฐประหาร 19 ก.ย. ผมบอกให้อย่างหนึ่งว่ามันพัฒนาหลักเกณฑ์ในการเขียนกฎหมายรองรับความชอบธรรมในการรัฐประหาร ขึ้นถึงจุดสูงสุดหรือใครจะมองว่าจุดต่ำสุดก็ได้ ผมอ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราว ผมเข้าใจเลยว่าการทำรัฐประหารหลายครั้งมันสร้างความเชี่ยวชาญให้คนเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราวอย่างไร ลองไปอ่านดู นิรโทษกรรมเรียบร้อยในตัวรัฐธรรมนูญ เขียนไปด้วยว่าการกระทำต่างๆ ของคณะปฏิรูปฯ นั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่เคยมีมาก่อน นี่คือพัฒนาการเขียนการใช้อำนาจมาถึงจุดสูงสุดแล้ว ผมจึงออกมาพูดเรื่องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งว่า เฮ้ยคุณออกประกาศ คปค.มันย้อนหลังนะ ถ้าคุณจะถอนก็ถอนเลย มันไม่ใช่ย้อนหลังอย่างเดียวนะ เขาตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นร้อย ผมถามว่าทั้งร้อยคนเหรอที่เขามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน"
"ที่ผมเศร้าคือมันใช้ตรงนี้ มีรัฐธรรมนูญรับรองต่อไปอีกว่าประกาศ คปค.ให้ถือว่าชอบรัฐธรรมนูญ ผมรับการใช้อำนาจแบบนี้ไม่ได้ คือถ้าอย่างนี้คุณใช้อำนาจรัฐประหารไปตรงๆ เลย ประกาศยุบพรรคไปเลย ตรงๆ ไปเลย ไม่ต้องมาแฝงในนามของกฎหมาย อย่างนี้ตัวกฎหมายไม่เสีย คนจะยังรู้สึกเชื่อถือกฎหมายต่อไปได้ ไม่ดึงองค์กรอื่น องค์กรศาล เข้ามาพัวพันในเรื่องนี้ด้วย แต่นี่ดึงมา ศาลก็ต้องมาตัดสิน"
ก็เอาตุลาการมาเป็นรัฐมนตรี เป็นปลัดยุติธรรม เป็นองค์กรอิสระ เป็น คตส.
"เข้ามาหมด คปค.อาจจะไม่กล้า หรือเขาคิดว่าต้องทำแบบนี้แหละ แต่มันเป็นเรื่องการเมืองทั้งนั้น มันก็คงมีผิดบ้างไม่ผิดบ้างผสมกันไป ผมเดาเอานะ แต่ว่าไอ้จั๋งๆ ผมยังไม่เห็นเลย"
หมายความว่าถ้าเรื่องไหนเป็นเรื่องการเมืองก็ใช้อำนาจรัฐประหารไปเลยใช่ไหม
"ได้ถ้าต้องการอย่างนั้น แต่ต้องกล้าๆ หน่อย ผมเข้าใจว่าเขาอาจจะไม่กล้า ทำไมจึงเป็นแบบนี้ เพราะรัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการสนับสนุนของคนจำนวนมาก รัฐประหารต่างจากการปฏิวัติ ปฏิวัติเกิดจากพลังประชาชน เหมือนกับ 14 ตุลา แต่นี่มันไม่ใช่ มันเป็นความเห็นในทางการเมือง เป็นความนิยมชมชอบในตัวบุคคลที่ไม่เหมือนกัน คนที่เขาชอบก็ยังชอบ คนที่เกลียดก็เกลียด ซึ่งอย่างนี้จะทำยังไง มันก็ต้องฝ่ากันไปด้วยระบบของการเลือกตั้ง และเรากำลังเดินไปสู่ทิศทางแบบนั้นอยู่แล้ว กกต.ชุดใหม่ก็ได้มาแล้ว พรรคฝ่ายค้านก็บอกจะไปเลือกตั้ง ก็มาตัดตอนมัน โดยบอกว่าจะนองเลือด ผมไม่เชื่อนะ คิดง่ายๆ มีคนบอกว่ารัฐบาลจะปฏิวัติตัวเอง ทำไปตัวเองอยู่ได้ไหม logic ง่ายๆ ไม่มีทางเลยที่จะอยู่ได้ ผมจึงเชื่อว่าไทยรักไทยต้องเดินไปสู่การเลือกตั้ง พยายามทุกวิถีทางให้ไปสู่การเลือกตั้ง ผมจึงรับกับการรัฐประหาร 19 ก.ย.ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง ผมดูพัฒนาการแล้วผมเสียดายที่มันถูกตัดตรงนี้ หลังจากเลือกตั้งทุกพรรคก็บอกจะปฏิรูปการเมือง แต่มาอย่างนี้มันตัด ระบบมันเสีย มันไม่เหมือนครั้งอื่น"
"แล้วคราวนี้มันอ้างความดี อันนี้น่ากลัวนะ มนุษย์เราน่ากลัวที่สุดคือเรื่องของความเชื่อ พอเชื่อว่าดีเสียแล้วจะไม่ถามแล้ว จะไม่ใช้เหตุผลตั้งคำถามเพราะเชื่อแล้วว่าเป็นคนดี เมื่อเป็นคนดีแล้วพูดอะไรมาก็ต้องดี ทัศนะของเขาในเรื่องนั้นเรื่องนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความดี อย่าสงสัยอย่าไปถามเขา ซึ่งมันคนละเรื่องกัน มีคนดีหลายคนที่ในทางส่วนตัวผมนับถือว่าดี ยกมือไหว้สนิทใจเพราะเป็นคนดี แต่ว่าความคิดในทางการเมืองผมรับไม่ได้-ไม่เห็นด้วย คิดกันคนละอย่าง มันเป็นคนละเรื่องกัน และผมก็บอกว่าผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ดี มันคนละเรื่องแต่ตอนนี้กำลังจะเอา 2 อันนี้มาผสมกัน อันนี้เจ๊งนะครับ จากตรงจุดที่คนดีเห็นและเราเห็นต่างไป ไอ้นี่เป็นคนชั่ว มันแบ่งกันอย่างนี้แล้ว อย่างนี้ไม่พังเหรอ อยู่กันไม่ได้ถ้ามันถูกปั่นให้เป็นอย่างนี้"
ตอนนี้ก็มีแนวคิดเรื่องตุลาการภิวัตน์
"อ.ธีรยุทธเป็นคนใช้คำนี้ ซึ่งก็คือการที่ศาลใช้อำนาจตุลาการไปทบทวนการกระทำของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบการตรากฎหมายของรัฐสภา ศาลปกครองไปตรวจสอบการบริหารปกครองของฝ่ายปกครองว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็คือการเข้าไปตรวจการใช้อำนาจในทาง active เกิดครั้งแรกที่อเมริกา คดีมาร์เบอรี ปี 1803 เป็นกรณีที่ศาลสูงสุดไปตรวจสอบว่ากฎหมายที่สภาตราขึ้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และของไทยก็ใช้ในกรณีอาชญากรสงครามเหมือนกัน"
"ตุลาการภิวัตน์ต้องพูดอย่างนี้ว่า อำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่อาจจะเป็นอันตรายน้อยที่สุด ถ้าเทียบกับอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร แต่อำนาจตุลาการอาจจะอันตรายมากที่สุดเช่นกัน ถ้าอำนาจเยอะ อาจจะอันตรายยิ่งกว่าอำนาจอื่นใดเลย ถ้าอำนาจของเขาเป็นอำนาจที่สามารถเริ่มได้เองหรือเมื่อการเริ่มมันง่าย อันนี้อันตราย"
"ยกตัวอย่างมีคนเสนอว่า ต่อไปข้างหน้าให้การฟ้องคดีทำได้ง่าย เรื่องเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ผมคิดดูนะ ในโลกนี้ไม่มีใครให้สิทธิประชาชนทั่วไปฟ้องคดีได้โดยที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันหรือเป็นผู้เสียหาย มันต้องมีความผูกพันในระดับหนึ่งระหว่างคนฟ้องคดีกับความเสียหายที่เขาได้รับ เอาละกรณีประโยชน์สาธารณะอาจจะให้รวมตัวกันฟ้องคดีได้ มันต้องมีระดับในระดับหนึ่ง ถ้าปล่อยให้คนหนึ่งไปฟ้องกันได้ง่าย ศาลตัดสินมาแล้วต้องเข้าใจว่าคำพิพากษามันผูกพันนะครับ เรื่องบางเรื่องมันเป็นฟ้องซ้ำ เกิดใครตั้งนอมินีฟ้องคดีขึ้นมาแล้วแพ้ในศาล คดีนั้นมันก็ฟ้องอีกไม่ได้ต้องระวัง อันที่สอง อำนาจศาลที่จะเข้ามามันมีเยอะ ถ้ามุมของคนฟ้องคดีฟ้องง่าย อำนาจศาลมหาศาลเลย เพราะฉะนั้นคนที่จะฟ้องแม้เป็นเรื่องสาธารณะก็ต้องมีการรวมตัวกัน เป็นสหภาพ เป็นสมาพันธ์ ที่เห็นได้ชัดว่ามันมีคนจำนวนมากพอสมควรพอที่จะให้เขามีสิทธิ์ฟ้องคดีได้ เรื่องนี้ต้องระวังเหมือนกัน อำนาจตุลาการ เพราะตัดสินไปแล้วมันจบนะ มันเกิดผลในทางกฎหมาย"
"อีกอันมีการพูดถึงฟ้องคดีแบบไม่มีอายุความ รื้อทุจริต ฟังดูก็ดีนะ แต่ถามว่ามันดีจริงเหรอ แปลว่า 100 ปีก่อนก็ฟ้องได้ใช่ไหม ทุจริต 100 ปีที่แล้ว ถามว่าทำไมถึงต้องมีอายุความในกฎหมาย มันสร้างความมั่นคงในระบบกฎหมาย คืออุดมการณ์ทางกฎหมายมันไม่ใช่เป็นเรื่องความยุติธรรมอย่างเดียว กฎหมายมีอุดมการณ์ 2 ด้าน ด้านหนึ่งก็คือให้เกิดความเป็นธรรม อีกด้านหนึ่งให้เกิดความมั่นคงแน่นอนในทางนิติฐานะของบุคคล ซึ่งมันอาจจะขัดกันนะ ความมั่นคงแน่นอนอาจจะไม่เกิดความเป็นธรรมได้ เช่นคุณเป็นหนี้ผม แต่ผมไม่ยอมฟ้องคดี คดีขาดอายุความ ถามว่ามันยุติธรรมกับผมไหม-ไม่ เพราะเป็นหนี้กันต้องใช้ แต่ถามว่าแล้วทำไมถึงมีระบบนี้ เพราะกฎหมายต้องการสร้างความมั่นคงแน่นอน ไปถึงจุดหนึ่งแล้วจะไม่รื้ออะไรขึ้นมากันฟุ่มเฟือยสะเปะสะปะ มันทำให้คนต้องตระหนักและระแวดระวังในสิทธิของตัว ระบบกฎหมายที่ดีจึงต้องผสาน 2 เรื่องนี้ให้ได้ดุลกัน ไม่ใช่ไปด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ใช่ว่าผมจะคัดค้านเรื่องการเคลื่อนไหวของประชาชนหรอก แต่มันจะมั่วถ้าจัดการไม่ดี ฟ้องราชการ ใครๆ ก็ฟ้อง ข้าราชการไม่ตายเหรอ ทุกอย่างเป็นดาบ 2 คมทั้งนั้น"
ถ้ามองระบบตุลาการภิวัตน์แบบเชิดชูคนดี เอาความดีมาล้างความชั่ว โดยไม่อยู่บนหลักกฎหมาย วรเจตน์บอกว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว
"ผมรับตรงนี้ไม่ได้ ผมคิดว่าเวลามองต้องมองให้ยาวๆ ผมเชื่อว่ากฎหมายถ้าใช้ตรงไปตรงมามันก็ใช้ได้อยู่นะ มันอาจจะไม่สมใจเราทุกเรื่อง คือคนอ้างศีลธรรม-ต้องอธิบายว่ากฎหมายกับศีลธรรมสัมพันธ์กันยังไง สังคมที่เป็นรัฐสมัยใหม่ที่ซับซ้อน คนมันมีผลประโยชน์หลากหลาย ระบบศีลธรรมเดี่ยวๆ ที่วัดดีชั่วมันไม่สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินได้ มันอาจจะเป็นศีลธรรมที่รัฐธรรมนูญจะปลูกฝัง แต่ไม่ใช่กฎหมาย อย่างเรื่องหวยบนดิน ผมเห็นด้วยนะ เอาขึ้นมาเถอะ เราต้องรับกันเถอะว่าเป็นข้อเท็จจริงในสังคมและไม่ได้ชั่วช้ามากหรอก แต่เอาขึ้นมาแล้วรัฐต้องจัดการ มีวิธีการรณรงค์ไม่ให้ไปเล่นแบบไม่ลืมหูลืมตา มันเหมือนเรื่องหนังโป๊ บ้านเราซื้อได้ง่ายมาก ง่ายกว่าเมืองนอกเสียอีก เมืองนอกเขาไม่ห้ามแต่มีที่ให้ขายโดยเฉพาะ เขาจำกัดอายุคนเข้า เยาวชนไม่มีสิทธิ์ ทำไมเราไม่ทำอย่างนั้น เราเป็นพวกปากว่าตาขยิบ แล้วเราก็จะเอาความดีมาปราบ เรารับได้ไหมล่ะว่ามันมีโสเภณี มีหนังโป๊ ก็จัดระบบให้มันมีที่อยู่ และบังคับกฎหมายจริงๆ ไม่มีการรีดไถกัน แต่เรามี พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี เราบอกเราไม่มี-ก็มันมี ฝรั่งมาบ้านเราก็งง คือกฎหมายกับความจริงในสังคมมันคนละเรื่องเลย เหมือนน้องแน็ทที่โดนจับ ฝรั่งงงว่าบ้านเราการถ่ายหนังโป๊ผิดกฎหมายด้วยหรือ เพราะมันเห็นเกลื่อน เหมือนกำหนดเวลาโฆษณาเหล้า ก็บอกกลัวจะโฆษณาแฝง คุณก็ไปจัดการกับโฆษณาแฝงสิ แต่ไม่ใช่เลิกหมด ห้ามตลอด 24 ชั่วโมง สังคมเราพยายามแยกดีชั่วแล้วมันแยกไม่ได้"
หวยบนดินก็จะเอาผิดทักษิณ 80 กระทง
"คุณช่วยบอกหน่อยว่าผิดกฎหมายอาญามาตราไหน วันนี้ที่ผมเป็นห่วงสังคมไทย คือเวลาวินิจฉัยเรื่องสักเรื่องไม่รู้ว่าอะไรเป็นเกณฑ์ กฎหมายถูกใช้จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นเกณฑ์ หลายคนบอกว่าต้องตีความกฎหมายแบบเดียวกับศีลธรรม-ตายเลยถ้าเป็นอย่างนั้น ความดีเถียงกันหลายมิติ ผมว่าถอยหลัง"
"ผมไม่เชื่อหลายคนที่พยายามทำตัววางเกณฑ์มาตรฐานความดีให้สังคม คดีซุกหุ้นนายกฯ ทักษิณเป็นไง ผมซะอีกโดนด่า ผมบอกมันมีปัญหาวิธีพิจารณา ปัญหาการลงมตินะ บางท่านบอกถ้าไม่ตัดสินอย่างนี้ศาลถูกเผาแล้ว ผมบอกศาลรัฐธรรมนูญถูกเผาดีกว่าหลักกฎหมายถูกเผา พอวันนี้มาแบบสุดโต่ง คนเดียวกัน กลุ่มเดียวกัน ไม่น่าเชื่อ มันเลยเป็นการเอาความพอใจ-ไม่พอใจมาเป็นเกณฑ์"
"แล้วมันจะไหวไหมนี่ ถ้าไม่ชัดเจนแบบนี้จะลำบาก และตอนนี้ที่น่าห่วงคือไม่มีใครฟังใครแล้ว ทุกคนหมดไปพร้อมๆ กัน แม้แต่ทางวิชาการ ทุกคนคิดว่าตัวเองถูกหมด บนเกณฑ์ที่ตัวเองคิดว่าทำเพื่อความดี เมื่อทำเพื่อความดีแล้วต้องถูก ถ้ามันง่ายอย่างนั้นก็เอาพระอรหันต์ปกครอง หรือเอาศีล 227 ข้อมาเป็นกฎหมายซะเลย ถ้ามันง่ายแบบนั้นกับสังคมมนุษย์ เพราะมันไม่ง่ายแบบนั้นมันถึงต้องมีเกณฑ์ทางกฎหมาย ซึ่งมันอาจจะเป็นคนละเกณฑ์กับศีลธรรม"





โดย: Darksingha วันที่: 22 สิงหาคม 2550 เวลา:18:28:15 น.  

 

นับถือในความคิดเห็นเชิงวิชาการที่ฟังแล้ว"เพียว"ของอาจารย์ วรเจตน์ ครับ
ยอมรับว่า ท่านเที่ยงตรงและแม่นยำในหลักการ มากครับ
แน่นอนว่า "ใจ"ของท่านมีส่วนสำคัญมาก


โดย: เนื่อง มาจากเหตุ วันที่: 24 สิงหาคม 2550 เวลา:15:10:05 น.  

 
วิเคราะห์ รัฐบาลสมัคร อยู่หรือไป ด้วยเหตุผลอะไร


โดย: joy IP: 203.113.20.56 วันที่: 19 มิถุนายน 2551 เวลา:9:38:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.