Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
27 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 
ฮิตเลอร์และมุสโสลินีกับการลงประชามติ: ทรราชเสียงข้างมาก

สาระเกี่ยวกับการลงประชามติ เกี่ยวเนื่องกับร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐
ฮิตเลอร์และมุสโสลินีกับการลงประชามติ: ทรราชเสียงข้างมาก

สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง
บรรณาธิการเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน



ฝ่ายที่คัดค้านการทำประชามติ
บรรดานักวิจารณ์เกี่ยวกับการทำประชามติได้ให้เหตุผลว่า ผู้ออกเสียงทั้งหลายในการลงประชามติ เป็นไปได้ที่จะถูกขับเคลื่อนโดยความคิดเพ้อฝันที่ไม่แน่นอนต่างๆ ยิ่งกว่าที่จะมีการหารือกันอย่างรอบคอบ หรือพวกเขาไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจในประเด็นปัญหาที่มีความซับซ้อนหรือปัญหาทางเทคนิค. ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาผู้ออกเสียงยังอาจถูกโน้มน้าวด้วยบุคลิกภาพที่เข้มแข็ง หรืออิทธิพลที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งของการโฆษณาชวนเชื่อ หรือการรณรงค์ด้วยการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างบ้าคลั่ง. James Madison ให้เหตุผลว่า ประชาธิไตยทางตรงคือ "ทรราชย์ของเสียงข้างมาก"( tyranny of the majority)

ฝ่ายที่คัดค้านการทำประชามติบางคนกล่าวทำนองว่า วิธีการดังกล่าวถูกใช้โดยบรรดาผู้เผด็จการทั้งหลาย อย่างเช่น ฮิตเลอร์และมุสโสลินี ซึ่งทั้งคู่ต่างช้การลงคะแนนเสียงชี้ขาดโดยประชาชนเพื่อปลอมแปลงหรือย้อมสีนโยบายกดขี่ต่างๆ ด้วยการหลอกลวงต้มตุ๋นผ่านวิธีการมติมหาชน. การใช้ประโยชน์เกี่ยวกับคะแนนเสียงข้างมากของฮิตเลอร์ คือเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไม นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา มันจึงไม่มีการลงประชามติในระดับรัฐอีกเลยในประเทศเยอรมนี
(บางส่วนจากสารานุกรมวิกีพีเดีย : Referendum)

เกริ่นนำ
เดิมทีวัตถุประสงค์ของงานค้นคว้าเรียบเรียงขนาดสั้นชิ้นนี้เกี่ยวกับการทำประชามติ ต้องการศึกษาประวัติความเป็นมาของเรื่องดังกล่าวในต่างประเทศ ซึ่งได้ก่อกำเนิดวิธีการทำประชามติในหลายรูปแบบและมีความสลับซับซ้อนในตัวมันเองอยู่พอสมควร เพื่อเป็นตัวอย่างและทำความเข้าใจกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ภายใต้บรรยากาศที่กำลังมีการรณรงค์เพื่อให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ที่จะมีขึ้นในวันที่ ๑๙ สิงหาคมปีนี้

ในการศึกษาดังกล่าวพบว่า การทำประชามติในปัจจุบัน ยังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอยู่ถึงข้อดีและข้อเสียของมันอย่างหลากหลาย รวมไปถึงแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงกระบวนการ และหมายรวมถึงเรื่องของจำนวนเสียงว่าเท่าไหร่จึงจะนับว่าเป็นมติมหาชน (หรือทรราชย์เสียงข้างมาก ที่ได้คะแนนชี้ขาดมาด้วยการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์) ด้วยเหตุนี้ การทำประชามติ จึงไม่ใช่เรื่องที่มีความบริสุทธิ์ในตัวมันเอง และเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันอย่างสุขุม

1. นิยามความหมายเกี่ยวกับคำว่า"การลงประชามติ"
Referendum การลงประชามติ (plural: 'referendums' or 'referenda') หรือ plebiscite การลงคะแนนเสียงชี้ขาดโดยประชาชน (from Latin plebiscita, เดิมทีเป็นเรื่องของ Concilium Plebis) [The Plebeian Council (Latin: concilium plebis) was a political feature of Ancient Rome. Established in 494 BC] คือการออกเสียงโดยทางตรงที่ประชาชนซึ่งมีสิทธิ์เลือกตั้ง ถูกขอให้ยอมรับหรือปฏิเสธข้อเสนออันใดอันหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, การปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การออกกฎหมายที่สำคัญฉบับหนึ่ง, การถอดถอนการเลือกตั้งที่เป็นทางการ หรือการยกเลิกนโยบายทางการเมืองบางอย่างของรัฐบาล เป็นต้น. กล่าวกันว่า การลงประชามติหรือการลงคะแนนเสียงชี้ขาดโดยประชาชน ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของประชาธิปไตยทางตรง(direct democracy)

ในสหรัฐอเมริกา ศัพท์คำว่า"การลงประชามติ" โดยแบบแผนแล้วเป็นการอ้างถึงเสียงของประชาชนในการล้มล้างบทบัญญัติทางกฎหมายที่ได้รับการผ่านโดยรัฐ หรือการปกครองระดับท้องถิ่น (โดยมากใช้กันทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา). ในทางตรงข้าม "การริเริ่มกระบวนการทางกฎหมาย" ประกอบด้วยการร่างบทบัญญัติทางกฎหมายขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้รับการเสนอโดยตรงจากเสียงของประชาชนในฐานะทางเลือกหนึ่งของการยอมรับโดยสภานิติบัญญัติ. โดยรวมแล้ว การลงประชามติและการเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา ได้รับการอ้างอิงร่วมกันในฐานะมาตรการในการออกเสียงลงคะแนน, เกี่ยวกับการเริ่มต้นด้านกฎหมาย หรือข้อเสนอต่างๆ

2. กระบวนการเกี่ยวกับการลงประชามติ
การลงประชามติ อาจเป็นเรื่องที่มีบทบัญญัติซึ่งบังคับให้กระทำการ(mandatory) กล่าวคือ กฎหมาย (ตามปกติคือรัฐธรรมนุญ) ที่ตราขึ้นเพื่อควบคุมการใช้อำนาจต่างๆ จะต้องมีการลงประชามติในสาระสำคัญดังกล่าว (ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ หรือการฟ้องร้องผู้นำรัฐ เช่นเดียวกับการให้สัตยาบันเกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ) และเป็นข้อผูกมัด. การลงประชามติอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและอำนาจของปวงชน นั่นคือมันสามารถเป็นการริเริ่มในฐานะเจตจำนงของอำนาจประชาชนหรือพลเมืองที่มีสิทธิที่จะกระทำการดังกล่าว

"การลงประชามติ"ในระดับรากฐาน หรือ"การลงคะแนนเสียงชี้ขาดของประชาชน" อาจได้รับการร่างขึ้นโดยที่ประชุมสภารัฐธรรมนูญ ก่อนนำเสนอสู่ผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหลาย. ส่วนสถานการณ์อื่นๆ การลงประชามติ ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นการเริ่มต้นโดยสภานิติบัญญัติ หรือตัวของพลเมืองเองโดยวิธีการเรียกร้องให้มีขึ้น. กระบวนการเกี่ยวกับการริเริ่มการลงประชามติโดยการร้องเรียนถูกรู้จักในฐานะการริเริ่มของประชาชนหรือพลเมือง

ในสหรัฐอเมริกา ศัพท์คำว่า"การลงประชามติ"(referendum) บ่อยครั้งได้รับการสงวนไว้เพื่อการออกเสียงโดยตรง ที่เริ่มต้นขึ้นมาโดยสภานิติบัญญัติ ขณะที่การเริ่มต้นด้วยการร้องเรียนของพลเมืองได้รับการอ้างอิงถึงในฐานะที่เป็น"การริเริ่ม"(initiative), ให้มี"มาตราการในการออกเสียงลงคะแนน", หรือ"การทำข้อเสนอ"

ในหลายๆ ประเทศที่การลงประชามติจะต้องได้รับการเสนอขึ้นโดยรัฐสภา ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องของการบังคับให้กระทำการที่ผูกพันกับการที่ต้องจัดให้มีการลงประชามติในข้อเสนอบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น การปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ. ส่วนในบางประเทศอย่างเช่นสหราชอาณาจักร การลงประชามติไม่ได้เป็นการบังคับให้ต้องกระทำ และไม่ถือเป็นข้อผูกมัดใดๆ อย่างไรก็ตาม ขนบจารีตที่เป็นธรรมเนียมของระบบอังกฤษ ซึ่งไม่ได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีนัยยะสำคัญบางประการจะต้องมีการเสนอให้ลงประชามติ เพราะนั่นจะยังผลให้ได้รับการเคารพทางกฎหมายตามมา

โดยธรรมชาติเกี่ยวกับผลลัพธ์ต่างๆ ของมัน. "การลงประชามติ"อาจเป็นข้อผูกมัด หรือไม่เป็นข้อผูกมัดก็ได้. กรณีที่ไม่เป็นข้อผูกมัด การลงประชามติเป็นเพียงข้อเสนอแนะหรือการปรึกษาหารือเท่านั้น ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร อันนี้จะถูกทิ้งให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือสภานิติบัญญัติเป็นผู้ตีความผลต่างๆ เกี่ยวกับการลงประชามติที่ไม่มีข้อผูกพันดังกล่าว และรัฐหรือสภาฯ อาจเลือกที่จะเมินเฉยเสียต่อเรื่องเหล่านี้ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อันนี้เป็นกรณีที่รัฐต่างๆ ซึ่งดำเนินรอยตามขนบจารีตแบบ Westminster เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของรัฐสภา [Westminster - the Palace of Westminster which houses the Parliament of the United Kingdom.]

ในประเทศนิวซีแลนด์เป็นตัวอย่าง ปัญหาสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการลงประชามติที่ริเริ่มขึ้นโดยพลเมือง [citizen-initiated referendum (CIR)] เป็นแถลงการณ์อย่างกว้างๆ เกี่ยวกับเจตจำนง ซึ่งไม่มีรายละเอียดทางด้านกฎหมายรองรับ. การดำเนินรอยตามเสียงการลงประชามติ ตัวของรัฐสภาเองมีอำนาจโดยตัวมันเองที่จะร่าง, อภิปรายถกเถียง และผ่านกฎหมายที่เป็นไปได้ต่างๆ หรือจะเมินเฉยเสียต่อเสียงการทำประชามติก็ได้

อย่างไรก็ตาม เสียงส่วนใหญ่ 77 เปอร์เซนต์ของผู้มีสิทธิ์มีเสียง ตามการสำรวจขององค์กรการศึกษาเกี่ยวกับการเลือกตั้งของนิวซีแลนด์(the New Zealand Election Study) เชื่อว่า การลงประชามติที่ริเริ่มโดยพลเมือง ทำให้บรรดานักการเมืองทั้งหลายมีความรับผิดชอบมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ความเชื่อถือในบรรดานักการเมืองได้เพิ่มมากขึ้นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ นับจากได้มีการนำเสนอวิธีการดังกล่าว

3. เรื่องของจำนวนเสียงเกี่ยวกับการทำประชามติ
ในการลงประชามติส่วนใหญ่ เพื่อทำให้มันเป็นมาตรการที่ได้รับการยอมรับโดยคนส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และเพื่อทำให้มันได้รับการสนับสนุน กรณีนี้การลงประชามติอาจเรียกร้องต้องการการสนับสนุนด้วยเสียงของคนส่วนใหญ่จำนวนมาก(super-majority) อย่างเช่น สองในสามของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง.ในยุโรปบางประเทศ อย่างเช่น ลิธัวเนีย ข้อเสนอบางอย่างซึ่งมีความสำคัญจะต้องได้รับการรับรองโดยเสียง 75 เปอร์เซนต์ของคนส่วนใหญ่ (ท่ามกลางข้อเสนอที่สำคัญเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ข้อเสนอที่ขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญของลิธัวเนีย มาตราที่ 148 ซึ่งระบุว่า "ลิธัวเนียเป็นสาธารณะรัฐเสรีประชาธิปไตย" เป็นต้น)

ในบางประเทศในยุโรปรวมทั้งอิตาลี มีการเรียกร้องด้วยว่า การชุมนุมของคนจำนวนขั้นต่ำของประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เพื่อที่จะยังผลให้เกิดการทำประชามติได้รับการพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย. อันนี้มีเจตนาเพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าผลลัพธ์ดังกล่าว เป็นตัวแทนของเจตจำนงของประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน และมีความคล้ายคลึงกับจำนวนขั้นต่ำขององค์ประชุมตามกฎหมายที่ต้องการในสภานิติบัญญัติหรือคณะกรรมการฯ ชุดต่างๆ ที่เป็นทางการ

การได้รับสิทธิพิเศษในการลงประชามติถือเป็นเรื่องไม่จำเป็น เช่นเดียวกับการเลือกตั้งต่างๆ โดยทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ในสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เพียงแค่เป็นพลเมืองเท่านั้น ก็ได้รับสิทธิ์ออกเสียงในการลงประชามติ ในทางที่สอดคล้องต้องกัน พลเมืองของสหภาพยุโรปทั้งหมดที่พำนักอาศัยอยู่ในรัฐ ได้รับการให้สิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งทั่วๆ ไป

4. การลงประชามติที่มีคำตอบให้เลือกมากกว่าหนึ่ง (Multiple-choice referendums)
การลงประชามติ ปกติแล้วจะให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมีทางเลือกเพียงสองทาง คือ"ยอมรับ"หรือ"ไม่ยอมรับ"ข้อเสนอเท่านั้น, แต่กรณีดังกล่าวไม่จำต้องเป็นเช่นนี้เสมอไป. ในสวิสเซอร์แลนด์เป็นตัวอย่าง ทางเลือกอันหลากหลายหรือมากกว่าสองเกี่ยวกับการลงประชามติเป็นเรื่องธรรมดามาก; การลงประชามติที่มีคำตอบแบบ 2 ข้อมีการใช้ในสวีเดนในปี ค.ศ.1957 แต่ในปี 1980 ได้ยินยอมให้ผู้ออกเสียงทั้งหลายมีทางเลือกถึง3 ข้อ. ส่วนในประเทศออสเตรเลียที่มีการทำประชามติในปี 1977 เกี่ยวกับกำหนดเพลงชาติ ได้เปิดให้มีการลงประชามติถึง 4 ข้อ (multiple-choice referendum)

ทางเลือกหลากหลายคำตอบในการลงประชามติได้ก่อให้เกิดปัญหาที่ว่า ผลลัพธ์ที่ได้รับการตัดสินนั้นไม่เป็นหนึ่งเดียวที่สะท้อนถึงเสียงส่วนใหญ่อย่างเด็ดขาดของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงสนับสนุน(ยกตัวอย่างเช่น เกินกึ่งหนึ่ง). อันนี้สามารถได้รับการตัดสินโดยการใช้ระบบการออกเสียง ที่ออกแบบขึ้นมาสำหรับการเลือกข้อที่ได้คะแนนสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว ของการลงประชามติแบบหลากหลายคำตอบ

5. คำประกาศสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ
Eleanore Roosevelt et al. ได้เขียนคำประกาศสิทธิมนุษยชนขึ้นมา หลังจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (passed into Law 10.12.1948), ที่ประชาธิปไตยทางตรง(การลงประชามติ) เป็นส่วนหนึ่งของ(Article 21:) "1. ทุกๆ คนมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐบาลของประเทศตน โดยทางตรง หรือโดยผ่านการเลือกตัวแทนต่างๆ อย่างอิสระ"

6. คำวิจารณ์เกี่ยวกับการทำประชามติ
แม้ว่าบางคนจะให้การสนับสนุนเกี่ยวกับประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งการลงประชามติกลายเป็นสถาบันที่มีความสำคัญโดดเด่นของรัฐบาล ในทางปฏิบัติและโดยหลักการแล้วในเกือบทุกกรณี การลงประชามติดำรงอยู่ลำพัง ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบที่สมบูรณ์อย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ได้ถูกกระทำโดยสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง

กรณีพิเศษอันหนึ่งที่ได้รับการอ้างถึงอยู่บ่อยๆ คือ การปกครองระดับท้องถิ่นของ Glaris ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของสวิสเซอร์แลนด์ การพบปะกันที่จัดการขึ้นที่ลานสนามหญ้าของหมู่บ้าน มักใช้เป็นที่สถานที่ตัดสินใจร่วมกันในเรื่องสาธารณะซึ่งเป็นที่สนใจหรือเกี่ยวพันกับคนในหมู่บ้าน. แต่โดยส่วนใหญ่ของเขตอำนาจที่มีการใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ การลงประชามติไม่ค่อยจะปรากฏขึ้นมามากนัก และถูกจำกัดความสำคัญของมันลงไป

ผู้ที่ให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการลงประชามติได้ให้เหตุผลว่า การตัดสินใจบางอย่าง จะเป็นการดีที่สุดหากว่ามันกระทำโดยผ่านการยกมือของผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการตัดสินโดยตรงมาจากประชาชน. บางคนให้การยอมรับนิยามความหมายที่เข้มงวดของประชาธิปไตยกล่าวว่า รัฐสภาที่ได้รับการเลือกขึ้นมานั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความเป็นไปได้ในแบบแผนเกี่ยวกับการปกครองส่วนใหญ่ รัฐประชาชาติสมัยใหม่ แม้ว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนจะเป็นที่นิยมชมชอบ แต่อย่างไรก็ตาม การลงประชามติก็มีฐานะที่ดีกว่าการตัดสินใจของรัฐสภา

ส่วนผู้ให้การสนับสนุนคนอื่นๆ ยืนยันว่า หลักการเกี่ยวกับอธิปไตยของปวงชน เป็นสิ่งสำคัญต่อข้อเสนอหรือข้อกฎหมายบางอย่างที่มีผลผูกพันกับประชาชนโดยรวม ยกตัวอย่างเช่น การยอมรับหรือการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การแยกตัวออกจากรัฐๆ หนึ่ง, หรือการปรับเปลี่ยนพรมแดนประเทศ สิ่งเหล่านี้ควรได้รับการตัดสินใจด้วยการแสดงออกโดยทางตรง ด้วยการยินยอมของผู้คนทั้งหลาย. สำหรับผู้ให้การสนับสนุนประชาธิปไตยแบบตัวแทนกล่าวว่า การลงประชามติถูกใช้โดยบรรดานักการเมืองทั้งหลาย เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากหรือการตัดสินใจที่นำไปสู่ปัญหาข้อถกเถียงที่จะตามมาต่างๆ

7. คำวิจารณ์บางแง่มุมเกี่ยวกับประชาชนที่ไปลงประชามติ
บรรดานักวิจารณ์เกี่ยวกับการทำประชามติได้ให้เหตุผลว่า ผู้ออกเสียงทั้งหลายในการลงประชามติ เป็นไปได้ที่จะถูกขับเคลื่อนโดยความคิดเพ้อฝันที่ไม่แน่นอนต่างๆ ยิ่งกว่าที่จะมีการหารือกันอย่างรอบคอบ หรือพวกเขาไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจในประเด็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน หรือเกี่ยวข้องกับปัญหาทางเทคนิค. ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาผู้ออกเสียงยังถูกทำให้โอนเอียงไปโดยบุคลิกภาพที่เข้มแข็ง มีเสน่ห์ หรืออิทธิพลที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งของการโฆษณาชวนเชื่อ หรือการรณรงค์ด้วยการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างบ้าคลั่ง. James Madison ให้เหตุผลว่า ประชาธิไตยทางตรงคือ "ทรราชย์ของเสียงข้างมาก"( tyranny of the majority)

ฝ่ายที่คัดค้านการทำประชามติบางคนกล่าวทำนองว่า วิธีการดังกล่าวถูกใช้โดยบรรดาพวกเผด็จการทั้งหลาย อย่างเช่น ฮิตเลอร์และมุสโสลินี ซึ่งทั้งคู่ต่างใช้การลงคะแนนเสียงชี้ขาดโดยประชาชนเพื่อปลอมแปลงหรือย้อมสีนโยบายกดขี่ต่างๆ ด้วยการหลอกลวงต้มตุ๋นผ่านวิธีการอ้างถึงมติมหาชน. การใช้ประโยชน์เกี่ยวกับคะแนนเสียงข้างมากของฮิตเลอร์ คือเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไม นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา มันจึงไม่มีการลงประชามติในระดับรัฐอีกเลยในประเทศเยอรมนี

8. คำวิจารณ์ของ Chris Patten
นักการเมืองอนุรักษ์นิยมชาวอังกฤษ Chris Patten (อดีตผู้บังคับการสูงสุดของเกาะฮ่องกงคนสุดท้าย) ได้สรุปถึงข้อถกเถียงมากมายที่ถูกนำมาใช้โดยผู้ที่มีความเห็นคัดค้านต่อการทำประชามติ. ในการให้สัมภาษณ์คราวหนึ่งกับบีบีซี. ในปี ค.ศ.2003 เมื่อมีการสนทนาถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการทำประชามติในประเทศอังกฤษ ต่อเรื่องของรัฐธรรมนูญสหภาพยุโรป ดังมีใจความต่อไปนี้:

ผมคิดว่าการลงประชามติเป็นเรื่องที่น่ากลัว มันเป็นรูปแบบที่ได้รับความโปรดปรานเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบคะแนนเสียงชี้ขาดโดยประชาชนของฮิตเลอร์และมุสโสลินี. มันเป็นการกัดเซาะ Westminster [รัฐสภา]. สิ่งที่มันให้ความมั่นใจ ดังที่พวกเราเห็นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาคือ ถ้าคุณมีการทำประชามติในประเด็นดังกล่าว บรรดานักการเมืองในช่วงระหว่างที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจะกล่าวว่า โอ้ เราจะไม่พูดถึงเรื่องนั้น เราไม่ต้องการพูดถึงเรื่องนั้น นั่นเป็นเรื่องของการทำประชามติ. ดังนั้น ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งหลังสุด เรื่องยูโรจึงแถบไม่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงอภิปรายกันแต่อย่างใดเลย. ผมคิดว่าการลงประชามติ โดยพื้นฐานแล้ว เป็นการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยในระบบของเรา และผมก็ไม่มีอะไรที่จะต้องไปเกี่ยวพันกับมัน. โดยทั้งหมด รัฐบาลต่างๆเพียงยอมรับมัน เมื่อรัฐบาลเหล่านั้นอยู่ในภาวะที่อ่อนแอเท่านั้น (BBC, 2004).

บรรณานุกรม
- Interview with Chris Patten, EU Commissioner for External Affairs (2003). bbc.co.uk. Retrieved 13 Oct. 2004 from //news.bbc.co.uk/1/hi/programmes/breakfast_with_frost/2954232.stm.


- Emerson, P J. Defining Democracy puts both two-option and multi-option referendums into their historical context, and suggests which are the more accurate measures of "the will of the people". The de Borda Institute is at //www.deborda.org/


- Referendum - Wikipedia, the free encyclopedia.htm

See also
- Direct democracy (history in the United States)
- List of politics-related topics
- Political science
- Referendums related to the European Union
- Initiative
- Initiative and referendum
- United Nations in Kashmir
- Independence referendum

(//en.wikipedia.org/wiki/Referendum)



++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวก: สัมภาษณ์ ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์: ว่ากันด้วยเรื่องประชามติ
(นำมาจากเว็บไซต์ ประชาไทออนไลน์)

แม้ประเทศไทยจะมีคำว่า 'ประชามติ' บัญญัติไว้มานานนม หรือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 ในมาตรา 174 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492 แต่เราก็ไม่เคยได้ลองใช้กันสักที จนหลังเกิดการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549. รัฐธรรมนูญปี 2549 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ร่างโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ระบุให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการยกร่างขึ้น ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
เพื่อทำความเข้าใจกับประชามติ 'ประชาไท' ได้ไปพูดคุยกับ ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง สำนักงานกรรมการการเลือกตั้ง ที่ทำงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง

แนวคิดประชามติโดยทั่วไปเกิดขึ้นได้อย่างไร
ประชามติเป็นรูปแบบของประชาธิปไตยแบบหนึ่ง เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตย ประชาธิปไตยคือ อำนาจในการตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ที่ประชาชน แต่ที่ผ่านมาในการบริหารดูแลบ้านเมือง เราไม่สามารถให้ทุกคนมาดูแลจัดการบ้านเมืองได้ รูปแบบประชาธิปไตยจึงเป็นการเลือกคนมาทำหน้าที่แทน ซึ่งเรามักเข้าใจว่า การที่คนมาทำหน้าที่แทนตรงนั้นเป็นการตัดสินใจทั้งหมดแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เหมือนกับเรามอบอำนาจให้ทนายความทำสัญญาแทนเรา แต่มันก็เฉพาะเรื่อง เฉพาะกิจ การมอบให้ใครดูแลปัญหาบางอย่างให้เราจึงไม่ได้หมายความว่า เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องนั้นๆ ไม่ได้เลย เราก็ยังเป็นเจ้าของ ยังรับผิดชอบกับสิ่งที่เรามอบไป เมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้อง เราในฐานะเจ้าของอำนาจก็ต้องสามารถเข้าไปแทรกแซง บอกว่าได้ ไม่ได้ หรือควรเป็นอย่างไร

ประเทศใดบ้างที่เป็นตัวอย่างในเรื่องการทำประชามติ
ในประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็ง โดยเฉพาะในยุโรป เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เป็นตัวอย่างของประเทศที่ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นประชาธิปไตยค่อนข้างเต็มใบ ในแง่ที่ว่าทุกเรื่องแม้จะมีระบบการเลือกตั้ง มีรัฐสภา หลายเรื่องเขาก็ยังต้องถามประชาชนก่อน ผู้แทนเขาจะมาถามก่อน อย่างจะสร้างสระน้ำในหมู่บ้านนี้ ผู้แทนในระดับท้องถิ่นเขาก็ต้องมาถามประชาชนก่อน เพราะอาจมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อยากให้โครงการพัฒนาในชุมชนท้องถิ่นอันไหนมีความสำคัญลำดับต้นๆ ก็ต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน จะถามทุกครั้งเวลามีโครงการกิจกรรม นี่เป็นเรื่องที่เขาทำกันอย่างปกติและทำกันได้ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญก็เลยเป็นความสำคัญที่ต้องถาม

โดยทั่วไป รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดใช้บังคับเป็นกติกา และส่วนใหญ่แล้วก็ต้องยกร่างฯ โดยผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งหรือแก้ไขโดยประชาชนมีส่วนร่วม อย่างรัฐธรรมนูญปี 40 ก็มีกระบวนการให้ได้มาโดยคนร่างมาจากประชาชนจริงๆ เนื้อหารับฟังความเห็นจากประชาชน นี่อาจเป็นเหตุให้ รัฐธรรมนูญ 49 เขียนว่า ให้มีการทำประชามติ เพราะเห็นว่ากระบวนการร่างฯ ที่มาของผู้ร่างฯ ไม่ได้มาจากประชาชนเลย อาจจะมีปัญหาความชอบธรรมได้ ก็เลยมีข้อบัญญัตินี้ ให้รัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งในสากล ถ้าผ่านเสียงประชามติ เขาก็ยอมรับกันได้ เพราะถือว่าได้รับการยืนยันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับความชอบธรรมในการนำมาบังคับใช้กับประชาชน

ในทางสากล การตั้งประเด็นเพื่อถาม หรือตั้งประเด็นประชามติ มีตัวเลือกให้ประชาชนแค่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบใช่ไหม
ในสวิตเซอร์แลนด์ การจัดรัฐธรรมนูญจัดทำหลายปีกว่าจะออกมาได้โดยผ่านกระบวนการปรึกษาหารือรับฟังความเห็นของประชาชนและประชามติหลายๆ ครั้ง โดยดึงประเด็นแต่ละเรื่องมาหาประชามติ และหาข้อสรุปจนได้รัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์
ขณะที่ของบ้านเราเอามาทั้งฉบับ บางคนไม่ชอบเรื่องที่มาของ ส.ว. ที่มันไม่ค่อยเป็นตัวแทนของประชาชนโดยตรงจริงๆ แต่หมวดอื่นชอบกว่ารัฐธรรมนูญ 40 โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน ก็เป็นวิจารณญาณของแต่ละคนที่จะชั่งว่า ข้อนี้หนักหนาสาหัสไหม ถ้าเขารู้สึกว่ามันหนักหนาสาหัสก็แล้วแต่ดุลยพินิจของแต่ละคนที่จะตัดสิน

สมมติว่าจะทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ จะทำประชามติเรื่องอะไร
รัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกันและเป็นกติกาหลัก ในแง่อุดมคติ น่าจะเอาประเด็นเรื่องที่มาของผู้ที่จะมาบริหารปกครองประเทศ ผู้ที่จะมาตรวจสอบ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน การกระจายอำนาจ สาระหลักๆ ตามหมวดที่เขาแยกไว้ในร่างรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วมาสรุปเป็นสาระสำคัญ แล้วจึงเอามาแจกแจงลงประชามติเป็นครั้งๆ แต่อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญประเภทนั้น ในสภาพการณ์ของบ้านเมืองเรา ดูเหมือนจะรอไม่ได้ ถ้าเช่นนั้น อาจเป็นทางออกว่า ให้มีเลือกตั้งก่อน มีผู้มาจากการเลือกตั้ง แล้วค่อยมาดูว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเอามาแก้ไขปรับปรุงใหม่อย่างไร

ถ้าอยากจะได้อย่างที่ใจต้องการ ฉบับที่ยกร่างอยู่นี้ก็มีเปิดช่องให้ 5 หมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อกันขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็ทำให้มีช่องในการหายใจสำหรับกลุ่มคนที่คิดว่าไม่พอใจ แต่อยากให้มันมีการพัฒนาขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

พูดถึงช่องในการหายใจ ขณะนี้มีการพูดกันว่าจะลงมติรับไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รับก็ได้ฉบับ ส.ส.ร. คือฉบับ 50 ไม่รับก็ได้รัฐธรรมนูญของ คมช. ที่จะหยิบมาแก้ไขเอง ในการลงประชามติเราจะเพิ่มทางเลือกมากกว่านี้ได้หรือไม่
ดูเหมือนว่าตามกฎหมายแล้วจะมีทางเลือกเท่านี้ ตามที่ผู้อำนาจได้ขีดเส้นให้เราเดิน หรือถ้าไม่ออกมาใช้สิทธิ์ ในกรณีนี้ ก็มีคนตีความคล้ายกับกรณีรัฐธรรมนูญ 40 ที่เสียงผ่าน 20 เสียง ก็แปลว่าอีก 80 เสียงให้ผ่าน (มาตรา 214 รัฐธรรมนูญ 2540) [1] มันก็ตีความอย่างนั้นได้ในทางตรงข้ามกัน เพราะคุณไม่ได้ออกมาค้าน มันก็ตีความได้อย่างนั้นเหมือนกัน

ในรัฐธรรมนูญ 40 มาตรา 214 บอกว่า ถ้าคนมาลงคะแนนเสียงไม่ถึง 1 ใน 5 แปลว่า คนไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ พอมารัฐธรรมนูญ 49 มาตรา 32 บอกแค่เสียงข้างมากของคนที่มาออกเสียง เห็นอย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้น แม้คนมาออกเสียงน้อยหรือไม่ถึง 20 เปอร์เซนต์ก็ตาม อย่างนี้จะถูกตามหลักประชาธิปไตยหรือ?
ประเด็นอยู่ที่ว่า คนจะสนใจมาออกเสียงมากเพียงพอจนเป็นเสียงข้างมากของประเทศจริงๆ ไหม
ถ้าคนมาออกเสียงเพียง 10% แล้วออกเสียงรับรัฐธรรมนูญ แน่นอนคงไม่ใช่ตัวแทนของคนทั้งประเทศ แต่อีกนัยยะหนึ่งก็บอกว่า คนอีก 90 คนไม่ออกมา ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ก็อาจหมายถึงว่า คน 90 คนยอมให้คน 10 คนไปเล่นเกมแทนให้

ถ้าคนอีก 90 คนไม่สนใจ ก็เป็นสภาวะของสังคมในช่วงหนึ่งๆ อาจจะมองได้หลายด้าน คนอาจจะไม่สนใจ หรือรอดูไปก่อน ยังไงก็มีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว คือ 90 คนก็ยอมรับสภาพว่า จะได้อะไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม 10 คนออกมา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะผ่าน อาจจะมาออกเสียงไม่รับก็ได้

ถ้าอย่างนั้น เลือกตั้งเรายังมีโนโหวต แต่กับอันนี้มันไม่มี
ช่องโนโหวต ในสถานการณ์การเลือกตั้ง หนึ่ง เนื่องจากกฎหมายถือเป็นหน้าที่ว่าคนต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถ้าไม่ไป จะโดนตัดสิทธิ 10 ประการ ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ลงชื่อถอดถอน ออกกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ 40) ดังนั้น เขาจึงบอกว่า ถ้าคุณไม่ชอบใครเลยแทนที่จะทำให้บัตรเสีย ก็เลยเปิดช่องให้ "ไม่เลือก" ก็คือ "โนโหวต" ซึ่งตรงนี้จะช่วยเป็นสัญญาณบอกผู้สมัคร พรรคการเมืองทั้งหลายให้ปรับตัวให้ดี ถ้ามีโนโหวตจำนวนมาก ก็จะสะท้อนให้พรรคการเมืองเห็นว่า ผู้สมัครของพรรคไม่มีใครเลือก ก็มีนัยยะของมัน แต่อันนี้มันไม่ใช่ มันคนละกรณี ก็เลยเอามาใช้กับโนโหวตไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องมีโนโหวต

ถ้ามีโนโหวต อาจเป็นการบอกว่าเราไม่รับกระบวนการนี้
ไม่รับก็ไปกาว่าไม่รับ ซึ่งก็มีช่องให้กาว่าไม่รับ ก็เป็นนัยยะอยู่แล้วว่า ไม่รับเพราะอะไร เพราะเนื้อหา เพราะกระบวนการได้มา ก็สามารถไปแสดงเจตนาตรงนั้นได้

โดยปกติ วิธีการให้ข้อมูลกับประชาชนก่อนทำประชามติมีอะไรบ้าง
ผู้ที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เข้าใจในเนื้อหาสาระของเรื่องที่จะไปออกความเห็น เช่น จะสร้างสวนสาธารณะ มีโครงการพัฒนาในท้องถิ่น อาจต้องอธิบายให้คนเข้าใจว่า ทำไมโครงการนี้จึงดีกับท้องถิ่นนั้น ไม่มีอย่างอื่นดีกว่านี้แล้วหรือ หรือทำไมไม่ทำห้องสมุด ต้องสามารถอธิบายถึงข้อดีข้อเสีย และเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ แต่แน่นอนผู้ที่เสนออาจจะอยากจูงใจให้คนเห็นคล้อยด้วย ทั้งนี้ ก็ย่อมมีคนไม่เห็นด้วยออกมาชี้ให้เห็นว่า ทำอย่างนี้จะเกิดปัญหาแบบนี้ ก็ต้องคุยกัน และมีเวทีที่เอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยน

ถ้าเช่นนั้น คิดเห็นอย่างไรกับการรณรงค์เรื่องประชามติตอนนี้
การรณรงค์ยังน้อยอยู่ หลายคนยังไม่เข้าใจตั้งแต่เรื่องความหมายของประชามติ ยังไม่เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระอะไรบ้าง ยังต้องรณรงค์กันอย่างหนักถ้าจะให้มันมีผลสัมฤทธิ์ มีการประชามติอย่างมีคุณภาพ ประชาชนต้องเข้าใจในสาระของรัฐธรรมนูญ คือไม่จำเป็นต้องไปเข้าใจทุกมาตราหรอก แต่ควรเข้าใจสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ว่ามีเนื้อหาสำคัญในเรื่องอะไร เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการ เรื่องการตรวจสอบ การมีส่วนร่วมของประชาชน เนื้อหามีอะไรบ้างที่ควรจะเข้าใจเพื่อที่จะมีความเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ก็ควรรับรู้ ตามหามาอ่าน ส.ส.ร. จะส่งให้ทุกบ้านก็ต้องลองพิจารณา

รัฐธรรมนูญคือกติกาที่จะมาบังคับใช้กับเรา กับครอบครัวของเรา สังคมของเรา ถ้าเราไม่รู้เรื่องอะไรก็เท่ากับยอมรับการถูกบังคับใช้โดยปริยาย

การโฆษณาของ ส.ส.ร. ตามหน้าหนังสือพิมพ์ นอกจากรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ยังอ้างด้วยว่า รับเพื่อให้มีการเลือกตั้ง อย่างนี้จะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อไหม
ก็อาจเป็นอย่างนั้น เพราะเขาเป็นคนร่าง เขาก็มีความต้องการจะรณรงค์ให้คนเห็นด้วยกับสิ่งที่เขายกร่างขึ้นมา ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ

ในรัฐธรรมนูญ 49 ก็บอกว่าถึงประชามติไม่ผ่าน คมช. กับรัฐบาลก็ต้องเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาแก้ไขให้เสร็จภายในสามสิบวัน ซึ่งแปลว่าหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวต้องมีการเลือกตั้งอยู่แล้ว การออกโฆษณาอย่างนี้จะถือว่าบิดเบือนหรือไม่

บิดเบือนหรือไม่อยู่ที่เขานำเสนอเนื้อหาที่ต่างไปจากเนื้อหาที่เป็นอยู่หรือเปล่า เช่น ส.ว.จากการเลือกตั้งซึ่งจริงๆ มันเป็นแบบผสมผสาน แต่ไปโฆษณาว่า ส.ว. มาจากการเลือกตั้งก็อาจจะเข้าข่ายบิดเบือนได้ เพราะข้อเท็จจริงในรัฐธรรมนูญนี้คือหยิบมาจากการสรรหา อย่างนี้ป็นต้น ก็ต้องขึ้นกับเนื้อหาที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ ก็เหมือนกับการโฆษณาสินค้า ถ้าโฆษณาว่ายารักษาได้ทุกโรคก็เกินจริง เพราะไม่มียาอะไรที่รักษาได้ทุกโรค

ผิดข้อเท็จจริงไหม
ก็ไม่ได้ผิดข้อเท็จจริง เขาอยากให้ไปรับ ก็รณรงค์ให้ไปรับ แต่ประเด็นคงอยู่ที่ว่า เขาใช้อำนาจหน้าที่ที่เหมาะสมหรือเปล่า ในฐานะที่เป็นคนยกร่าง แต่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ก็อาจเป็นข้อที่พูดได้ว่า เอาเงินมาใช้จ่ายฝ่ายเดียว ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรงนี้ได้ เพราะว่าถ้ารัฐจะเป็นกลางจริงๆ ก็ต้องเปิดเวทีให้ทั้งสองฝ่าย หรือถ้าจะให้งบ ส.ส.ร. ในการรณรงค์รับร่าง ก็ต้องพร้อมให้คนไม่เห็นด้วยในกับการรับร่างด้วย แต่ถ้าในฐานะ ส.ส.ร. จะรณรงค์โดยหน้าที่ก็เพื่อการเผยแพร่เนื้อหาสาระ แต่ขั้นรณรงค์รับร่าง ส.ส.ร. โดยปัจเจก อยากจะทำก็น่าจะทำได้ เพราะเขาร่าง เขาคิด เขาเขียนมา ก็อยากให้คนเห็นด้วยก็เป็นเรื่องธรรมชาติ

แต่ประเด็นที่ต้องถกเถียงก็คือ เมื่อยกร่างฯ เสร็จแล้วเผยแพร่ก็คือเผยแพร่ แต่ถ้าก้าวไปถึงขั้นรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งถ้าใช้งบของแผ่นดินในการรณรงค์ ในรัฐที่เป็นกลางก็ต้องเอื้อแก่ฝ่ายไม่เห็นด้วยเช่นกัน ในแง่ของเวทีประชามติก็ต้องพร้อมสนับสนุนทุกฝ่าย งบประมาณเป็นงบที่มาจากภาษีอากร ก็ต้องเป็นกลาง ถ้ามองอย่างไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่ง โดยหลักการคือเงินต้องใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองส่วน เอามาชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย เอามาคุยกัน บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับเรื่อง ส.ว. ว่า ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้ง อีกฝ่ายอาจจะบอกไม่ควร ก็เถียงกันบนเวทีแล้วให้คนที่ติดตามใช้ดุลพินิจตัดสินเอา นั่นคือ นัยยะของการออกเสียงประชามติ คือให้คนมาคุยกันถกเถียงกัน เข้าใจในเรื่องนั้นๆ แล้วก็ไปลงคะแนน

รัฐบาล ถ้าใจกว้างพอก็ต้องพร้อมเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นโดยการให้งบสนับสนุนหรืออะไรก็แล้วแต่ แม้ตอนนี้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญไม่ได้ อนาคตก็อาจจะเกิดแนวความคิดให้มีการแก้ไขปรับปรุงต่อไปได้อีก เกิดการถกเถียงให้มีโลกทัศน์ที่แตกต่างออกไป

ในสถานการณ์ตอนนี้มีเรื่องอะไรที่ควรนำมาประชามติอีกไหม
บรรดากฎหมายสำคัญๆ อย่างร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน ซึ่งกระทบกับชีวิตของประชาชน มีการรวบอำนาจให้กับคณะบุคคลในการตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ในนามความมั่นคงซึ่งขยายความกันกว้างเกินเหตุ หรือการดำเนินการต่างๆ ที่มีผลกระทบ จริงๆ ไม่ควรมีการตัดสินใจในรัฐบาลนี้ ควรจะรอรัฐบาลชุดใหม่ การเซ็นสัญญาที่จะมีผลผูกมัดกับประเทศชาติควรจะรอไว้ ถ้ารอไม่ได้ก็ควรจะถามความเห็นของประชาชน เพราะภาษีก็เป็นของประชาชนและเราก็บอกว่าประชาธิปไตยคือ อำนาจอธิปไตยอยู่ที่ประชาชน ก็ต้องทำส่วนนี้ให้เป็นจริง ไม่ใช่เพียงวาทกรรมสวยหรูแล้วก็หลับหูหลับตาทำอะไรลงไป


ที่มา //www.midnightuniv.org/




Create Date : 27 กรกฎาคม 2550
Last Update : 27 กรกฎาคม 2550 15:44:52 น. 1 comments
Counter : 819 Pageviews.

 
แล้วการที่ พปช.อ้างเสียงประชาชน มันต่างกันอย่างไรเล่า


โดย: Kaizer IP: 58.147.44.198 วันที่: 2 พฤษภาคม 2551 เวลา:21:04:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.