Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
3 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
สัมภาษณ์ เจษฎา โชติกิจภิวาท (กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ) "ชาวบ้านไม่ได้โง่ ดักดาน และถูกซื้อ"




การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ผ่านมา มีหลายกลุ่มที่รักประชาธิปไตย-คัดค้านรัฐประหาร ออกมารณรงค์ให้ประชาชนออกมาโหวต “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าเราไม่ต้องการรัฐประหาร หนึ่งในหลายๆ กลุ่มที่ทำงานอย่างขยันขันแข็งและต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ คือ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ปรส.) ซึ่งผู้ปฏิบัติงานของกลุ่มนี้เป็นบุคคลที่ทำงานสนับสนุนเรื่องสิทธิและความเป็นธรรมด้านต่างๆ ให้กับคนยากคนจน เกษตรกร คนจนในเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ใช้แรงงาน และนักศึกษาภาคเหนือมาเป็นเวลานานพอควร

ประชาไทจะนำท่านผู้อ่านไปพูดคุยกับ เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ หนึ่งในผู้ปฏิบัติงานของกลุ่ม เกี่ยวกับผลการลงประชามติที่ผ่านมา และก้าวต่อไปของประชาชนในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ



+ประเด็นเรื่องปัญหาประชาชนคนจน คนชายขอบกับเรื่องการคัดค้านรัฐประหารเกี่ยวกันอย่างไร แล้วมวลชนคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ?

ก่อนอื่นขอย้ำว่า ปัญหาของประชาชนคนจน ไม่ว่าเกษตรกรรายย่อย, ประมงพื้นบ้าน, กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นั้น คิดว่า รัฐไทย ไม่ว่าพรรคการเมืองใดของนายทุนหรือระบบราชการที่มีทหารครองอำนาจรัฐก็ตาม ล้วนมีความจงใจออกนโยบาย กฎหมาย มติ ครม.มาตรการต่างๆ ที่จะยึดปล้นทรัพยากรธรรมชาติจากของชุมชนส่วนรวมมามอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายทุน เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสินค้าและจงใจทำให้ประชาชนคนจนเหล่านั้นกลายสภาพเป็นเพียงแรงงานรับจ้าง เป็นกรรมกรที่มีแรงงานเป็นสินค้า มีนโยบายส่งเสริมนายทุนไม่ว่าต่างชาติหรือนายทุนในประเทศ เพื่อให้แรงงานราคาถูกไม่มีหลักประกันด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ไม่ส่งเสริมการรวมตัวของคนงานในรูปแบบสหภาพแรงงาน แม้จะมีกฎหมายรองรับก็ตามแต่ ซึ่งเป็นไปตามการเคลื่อนตัวของระบบทุนนิยมไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ตาม แม้ว่าจะอ้างความพอเพียง พึ่งตนเองก็ตาม

ยิ่งปัจจุบันเดินแนวทางเสรีนิยมใหม่ เร่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ทั้งการศึกษามหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งการค้าหากำไรของกลุ่มทุนมากกว่าเพื่อบริหารสังคมยิ่งชัดเจนขึ้น เพียงแต่การเติบโตของขบวนการภาคประชาชน มีการเคลื่อนไหวปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิพื้นฐาน ได้อย่างสันติวิธี จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนต้องมีเสรีภาพ สังคมต้องมีประชาธิปไตย สื่อไม่ถูกปิดกั้นควบคุมไม่ว่าด้วยรูปแบบไหนก็ตาม

การคัดค้านระบอบทหาร รัฐประหาร จึงปฏิเสธมิได้สำหรับองค์กรภาคประชาชน องค์กรประชาชนที่ตื่นตัว เข้าใจประวัติศาสตร์สังคมเศรษฐกิจการเมือง สำนึกถึงฐานะประวัติศาสตร์ จึงต้องเคลื่อนไหว เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย ที่มิใช่เพื่อทักษิณ แต่เพื่อการเติบโตของภาคประชาชน เพื่อปกป้องอำนาจประชาชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐได้อย่างเสรี

มีหลายคนอ้างว่า ประชาชนที่รับร่าง รธน.50 นั้น ไม่รู้ข้อมูล ทำนองโง่ ติดกับการถูกอุปถัมภ์ เป็นการดูถูกดูแคลน แท้ที่จริงแล้วประชาชนจำนวนมากเมื่อมีโอกาสฟังข้อมูล ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทางภาคเหนือ เช่น เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายสื่อ เครือข่ายคนจนเมือง สหภาพแรงงาน นักศึกษา พวกเขามีศักยภาพ ปลดปล่อยจากความคิดแบบอุปถัมภ์ ไม่ยึดติดตัวบุคคล แม้ว่าเขาอาจจะเคยเคลื่อนไหวร่วมกับนักพัฒนาองค์กรเอกชน นักวิชาการ สายที่รับร่าง รธน.แต่พวกเขากลับประกาศไม่รับร่าง รธน.ซึ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติอย่างคุณเจิมศักดิ์ ผู้ที่รับใช้อำนาจ คมช.กลับตั้งใจที่จะไม่เข้าใจ และเวลาพูดถึงรัฐธรรมนูญ 50 ก็พูดเพียงบางส่วนพูดไม่หมดไม่เชื่อมโยง

แน่นอนว่า องค์กรประชาชนต้องเป็นอิสระจากพรรคทักษิณ ประชาธิปัตย์ มัชฌิมา รวมใจไทย รักชาติ พลังประชาชน และจากราชการ รวมทั้งพวก สส. สว. สนช. หรือเอ็นจีโอด้วย เพียงแต่บทเรียนที่ผ่านมาชี้ว่า ทั้งทักษิณ และรัฐบาลราชการที่มาจากรัฐประหารล้วนแล้วแต่มีนโยบายเพื่อนายทุนและระบบทุนนิยม ไม่ว่า แปรรูปรัฐวิสาหกิจ การศึกษา สาธารณูปโภค การทำจีเอ็มโอ เอฟทีเอ และอื่นๆ ตลอดทั้งไม่มีนโยบายเก็บภาษีก้าวหน้า ปฏิรูปที่ดิน สร้างสังคมสวัสดิการ และอื่นๆ

บทเรียนที่ผ่านมาบอกกับองค์กรประชาชนว่า การต่อสู้กับระบบราชการที่มีกฎอัยการศึก อำนาจนิยมแบบเก่านั้น ได้ปิดพื้นที่ให้แคบลงสำหรับภาคประชาชน การออกกฎหมายต่างๆ มีลักษณะงุบงิบภายในหมู่อำมาตอภิสิทธิ์ชน ไม่เปิดเผย ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ภาคประชาชนไม่มีโอกาสคััดค้านได้อย่างเสรีในยุคที่เสรีภาพหดหาย ยิ่งสื่อมวลชนจำนวนมากเชียร์ชอบระบอบทหาร ยิ่งซ้ำเติมในการปิดพื้นที่ภาคประชาชนมากขึ้นด้วย และมีกฎหมายหลายฉบับถูกบิดเบือนบิดเบี้ยวไป เช่น พรบ.ป่าชุมชน พรบ.รัฐวิสาหกิจ พรบ.คุ้มครองสุขภาพ สิ่งแวดล้อมคนงาน กฎหมายควบคุมสื่อ 70 ฉบับ และอื่นๆ รวมทั้ง พรบ.ความมั่นคงฯ ที่จะสร้างรัฐทหารขึ้นถ้าผ่าน สนช.และมีบางคนที่ใกล้ชิด องค์กรประชาชนไม่น้อย คาดหวังว่าเมื่อไล่ทักษิณแล้วฟ้าจะสีทอง แต่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ใช่เลย


+ช่วยวิเคราะห์ผลคะแนนของเสียงที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในช่วงการลงประชามติที่ผ่านมา ว่ามันสะท้อนอะไรบ้าง ?

มันชี้ให้เห็นว่าสังคมมันเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หลังจากบทบาททหารเพิ่มขึ้นมาอีกครั้งหลังจากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และทางรัฐก็พยายามใช้กลไกมหาดไทย กลไกราชการ กลไกทหาร สสร. เข้าไปโฆษณาต่างๆ เพื่อให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ มันไม่ง่ายแล้ว ในสังคมที่พัฒนาประชาธิปไตยมาพอสมควร และกลไกที่สำคัญ สังคมที่มีการเลือกตั้ง กลไกของนักการเมืองกลไกของพรรคการเมืองมันจะมีบทบาทมากขึ้น พร้อมๆ กับจุดเด่นของไทยรักไทย ก็คือบทบาททางด้านนโยบาย อาจจะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านจับต้องได้ตอนนี้ ชาวบ้านไม่ได้โง่ ไม่ได้ดักดาน ไม่ได้ถูกซื้ออย่างกับปัญญาชนคนชั้นกลางในเมืองกรุงกล่าวประณามกัน มันจะสะท้อนแบบนั้นไม่ได้แล้ว ชาวบ้านเขาก็มีสิทธิ์เลือก แล้วก็สำนึกแห่งความเป็นประชาธิปไตยมันมีสูงมากขึ้นด้วย แล้วว่าอย่างน้อยผู้แทนก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง จะมาใช้อำนาจแบบเจ้าขุนมูลนายแบบเดิม คำสั่งจากระดับบนลงมา อย่างนี้ใช้ไม่ได้แล้ว สังคมมันไปไกลแล้ว อย่างที่เห็นชัดๆ ในภาคอีสานและภาคเหนือ



+มีหลายคนที่ออกมาพูดว่าเสียงที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีความสัมพันธ์กับพรรคไทยรักไทยเดิม คิดว่าอย่างไร ?

ผมไม่รู้ข้อมูลมากนัก เพียงแต่รู้ว่ากลไกรัฐพยายามไม่ให้รับร่าง แต่ว่ากระแสไม่รับร่างก็มี โดยเฉพาะตอนท้ายๆ ที่กลุ่มไม่รับร่างมีโอกาสออกทีวี ออกวิทยุ ออกอะไรต่างๆ ทำให้ชาวบ้านได้รับข้อมูล ได้รู้ถึงการวิเคราะห์ของกลุ่มไม่เห็นด้วยมากขึ้น ในการคิดต่อ ในการตัดสินใจ แต่ก็น่าเสียดายที่มีเวลามันสั้นมาก และผมก็มีโอกาสได้จัดเวทีฝ่ายรับร่างและฝ่ายไม่รับร่างเป็นการดีเบตภายในองค์กร เห็นชัดเลยหลังจากชาวบ้านฟังข้อมูล น้ำหนักเสียงคือการไม่รับร่างสูง คือถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลจริงๆ ตามหลักการจริงๆ ตามหลักสากลจริงๆ ได้ฟังข้อมูลทั้งสองส่วน ชาวบ้านฟังข้อมูล ฟังเหตุฟังผล มีเหตุมีผล แล้วเขาก็พร้อมจะตัดสินใจ

ถ้าโดยตรรกะแล้ว เราก็เห็นว่าเหตุผลของฝ่ายรับ รธน.ซึ่งถึงที่สุดแล้วอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง อยู่ที่ฝ่ายราชการ โดยที่ชาวบ้านไม่มีส่วนเชื่อมโยงไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในสิทธิของเขาเลย พอเขาฟังข้อมูล เขาก็ไม่เอา เพราะประสบการณ์ของเขาโดนราชการเอาเปรียบมาตลอดไม่ว่าจะเป็นเรื่องดินเรื่องป่า เรื่องเขื่อน และอื่นๆ การรวมศูนย์อำนาจ เขาโดนตลอด พอ รธน. จะนำพาเขาไปเจอแบบนี้อีก เขาก็ไม่เอา อันนี้เป็นกลุ่มที่ผมจัดนะ



+แสดงว่าชาวบ้านเบื่อระบบราชการ ?

ใช่ แต่ว่าพรรคการเมืองปัจจุบันไม่ใช่ทางออกทั้งหมด ผมพยายามจะเปรียบเทียบส่วนได้ส่วนเสีย การมีโอกาสต่อรองมากกว่า เช่นเรื่องเขื่อนปากมูน พอมีมติ ครม.ปั๊บ ทหารลงพื้นที่โครมครามๆ ชาวบ้านก็กลัวหรือว่ากังวล แต่พอเป็นนักการเมืองก็ต่อรอง แต่เป็นแบบราชการมันทำอะไรไม่ได้เลยเขาก็มีประสบการณ์ อย่างกรณีชาวบ้านปากมูน เขาก็ต่อรองเรื่องเขื่อน เรื่องค่าชดเชยได้ อันนี้เขาทำมาตลอดเป็นประสบการณ์ตรงของชีวิต แต่พอทหารขึ้นมามีอำนาจเขาเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้เลย เมื่อทหารมาเยี่ยมถึงหมู่บ้านับร้อยๆ คน ถ้าพูดง่ายๆ ให้ชาวบ้านไปเจอทหารกับเจอนักการเมือง เจอหัวคะแนน ชาวบ้านเลือกไปเจอหัวคะแนน ไปเจอนักการเมือง ชาวบ้านสบายใจกว่า มึงหลอกกู-กูหลอกมึง ก็ต่อรองกันไป ชาวบ้านก็มีบทเรียนของเขา การที่บอกว่าชาวบ้านโง่ ชาวบ้านถูกซื้อมันไม่จริง ผมว่าวิธีคิดแบบนี้ไม่ไหวแล้ว ปัญญาชนต่างๆ ที่ออกมาแล้วก็มีคนออกมาเปรียบเทียบว่า ถ้าคุณบอกว่าคนชั้นกลางในกรุงเทพฉลาด ทำไมคนอีสานมาออกเสียงมากกว่าคนกรุงเทพล่ะ คนกรุงเทพฉลาดกว่าหรือว่าไม่มีการตื่นตัวทางการเมืองประชาธิปไตยมากกว่ากันแน่



+มองว่าคะแนนที่ไม่รับร่าง มีความสัมพันธ์กับไทยรักไทย ?

ก็อาจจะมีความสัมพันธ์ด้วย แล้วมันผิดตรงไหนกัน ถ้าจะบอกว่าพรรคการเมืองเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่มันเป็นระบบประชาธิปไตย ระบบที่ประชาชนมีสิทธิมีเสรีภาพมีเสียง ที่สามารถต่อสู้ต่อรองได้โดยสันติวิธี เขาก็ต้องเลือกระบบไปทางพรรคการเมืองมากกว่าระบบทหาร แต่ว่ากลไกไทยรักไทยไปรณรงค์มากมายขนาดไหนผมไม่รู้นะ แต่เท่าที่ผมมีโอกาสได้คุย ชาวบ้านเขาชื่นชมระบบรัฐสภามากกว่า และก็ไม่แปลกที่เขาจะชอบไทยรักไทย เพราะไทยรักไทยยังให้อะไรกับเขาบ้าง เช่น การรักษาทุกโรค มีหลักประกันอะไรให้เขาบ้าง มันก็ไม่แปลกที่ชาวบ้านจะชอบ ระบบทหารมีไหมล่ะ มีแต่จัดการกับชาวบ้านปากมูน ออกกฎหมายไม่รู้ตอนนี้กี่ฉบับ กฎหมายป่าไม้ที่ดิน ที่จำกัดสิทธิชาวบ้าน ประมาณ 7-8 ฉบับ เหมือนกฎหมายด้านสื่อ กฎหมายแรงงานด้วย เป็นกฎหมายที่รวมศูนย์อำนาจให้ราชการหน่วยใดหน่วยหนึ่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากมายเลย จำกัดสิทธิชาวบ้าน เราก็รู้อยู่แล้วว่าพวก สนช.ก็เต็มไปด้วยข้าราชการ อำมาตยาธิปไตย พวกขุนนาง พอเข้าไปก็ออกกฎหมายโดยราชการเพื่อราชการ ชาวบ้านก็รับรู้เขาก็บอกว่าต้องหยุด เพราะมันไม่ชอบธรรม และก็อีกไม่กี่เดือนก็จะมีการเลือกตั้ง ควรปล่อยให้รัฐบาลใหม่ดีกว่า

ที่สำคัญ มันจะเป็นบทเรียนให้กับองค์กรประชาชนด้วย ในเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่องค์กรประชาชนหลายองค์กรคิดง่ายๆ หรือถูกทำให้เชื่อว่าเมื่อไหร่ทักษิณไปแล้ว จะทำให้กฎหมายต่างๆ ที่มันลิดรอนสิทธิเสรีภาพ กฎหมาย นโยบายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ จะหายไป ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเอฟทีเอวอทช์ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ และอื่นๆ และเช่นเดียวกับสมัยก่อน เมื่อรัฐบาลจิ๋ว รัฐบาลชวน ไม่แก้ปัญหา ก็จะตกอยู่ในมายาคติ ทำนองเดียวกันว่า ต้องไล่รัฐบาลก่อนแล้วปัญหาจะได้รับการแก้ไข ซึ่งมันไม่ใช่

ถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเครื่องกันภายในว่า การที่เราเชื่อแนวคิดแบบผู้นำง่ายๆ ไม่ได้ มีคนเตือนกันมาแล้วว่ามันจะหนักกว่าเก่า เราก็เห็นชัดว่าพอรัฐบาลชุดนี้ขึ้นมาก็หนักกว่าเก่าจริง และถ้าคนเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมือง เข้าใจเรืองเหล่านี้ก็น่าจะประเมินออกแล้วว่ามันเป็นจริง ผมคิดว่าองค์กรภาคประชาชน องค์กรเอ็นจีโอ เหล่านี้ต้องกลับมาทบทวนตรวจสอบบทบาทและก็ยกเครื่องกันภายในด้วย ถ้าตอนนี้ยังอิงแอบไปทางแนวคิดแบบเก่าก็ต้องถอนตัวออกมา ไม่ใช่ว่าไปเชื่อคนที่เขาตั้งตัวว่าเป็นองค์กรประชาชนแล้วก็เดินตามแนวทางแบบเดิม คือมันมีบทเรียนครั้งสำคัญด้วยนะ เป็นสิ่งที่ผมเป็นห่วงอยู่ ที่เดินตามการเคลื่อนไหวของ สนธิ ลิ้มทองกุล พันธมิตรประชาธิปไตย เราต้องเป็นอิสระด้วย ไม่ต้องเป็นนอมินีเขา ต้องถือว่าเขาเป็นแค่องค์กรหนึ่งที่สนับสนุนแนวทางรัฐประหารไม่ว่าจะแก้ตัวให้ดูดีก็ตาม

ถ้าเราตามการเคลื่อนไหวของเขาก็จะเห็นว่า สนธิลิ้มพูด ประสงค์ชี้นำ พันธมิตร สุริยะใส สมเกียรติ พิภพ เสริม ทำนองนี้ ลองพิจารณาดูกรณีตำแหน่ง ผบทบ.ซิ ที่ออกมาเชียร์พลเอกสะพรั่ง หรือกรณีอื่นๆ เขาน่าจะเป็นสายเดียวกัน พวกเขาล้วนเป็นนอมินิของพลเอกสะพรั่ง แต่องค์กรประชาชนที่แท้จริงต้องไม่เป็นนอมินิชนชั้นนำเหล่านั้น ทั้ง คมช.และทักษิณ และปัจจุบันนี้เราต้องเป็นอิสระแล้ว



+คิดว่าภาคประชาชนที่เข้าไปร่วมกับสนธิ ลิ้มทองกุล โดนหลอก ?

อาจจะไม่โดนหลอก แต่เขาอาจจะเชื่อ แต่สิ่งที่เขาเชื่อมันไม่ใช่ แล้วเราก็ต้องยอมรับว่าองค์กรประชาชนที่ผ่านเคลื่อนประเด็นเฉพาะปัญหาของตนเอง จนลืมเรื่องการเมืองในเชิงโครงสร้าง คือประเด็นพื้นฐานเอาอยู่แล้ว เพียงแต่คิดว่าเปลี่ยนผู้มีอำนาจใหม่แล้วประเด็นของเราก็แก้ได้ แต่มันไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของระบบ เป็นเรื่องของโครงสร้าง เป็นเรื่องของการเคลื่อนตัวของทุนนิยมต่างๆ

ปัญหาของประชาชน คือ เราจะมีเสรีภาพได้อย่างไรในการต่อสู้ภายใต้ระบบทุนนิยม เพราะฉะนั้นระบบรัฐสภามันเอื้อกว่า สำหรับการเติบโตอย่างสันติวิธี แต่ระบบทหารมันไม่ใช่อยู่แล้ว ระบบราชการมันไม่ใช่อยู่แล้ว ไม่ได้บอกว่าทักษิณดี แต่ว่าระบบแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นทักษิณ เป็นประชาธิปัตย์ เป็นอะไรขึ้นมามีอำนาจ การต่อรองมันเอื้อกว่าต่อภาคประชาชนในการเคลื่อนขบวน ในการจัดองค์กรในการชุมนุมประท้วง ในการเรียกร้องสิทธิ์ มันต้องมีเสรีภาพ เพราะเสรีภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญให้กับองค์กรประชาชนในการเติบโตในการเคลื่อนไหวโดยสันติวิธี ถ้าไม่มีเสรีภาพ เราคงไม่ได้ข่าวกันใช่ไหมว่าคนนับพันถูกฆ่าจากนโยบายยาเสพติดสมัยทักษิณ ใครใช้นโยบายรุนแรงเหวี่ยงแหที่ภาคใต้ แล้วเราก็ต่อต้านนโยบายเหล่านี้้กัน



+ตอนนี้ผลรัฐธรรมนูญผ่านแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรกับการเคลื่อนไหวภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจะไปในทิศทางใด ?

มันมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไข รธน.แต่ประสงค์ สุ่นศิริ บอกว่าแก้ไม่ได้ มันยาก แต่เมื่อก่อนบอกว่าแก้ได้ แค่ห้าหมื่นชื่อก็แก้ได้แล้ว ก็พูดกลับไปกลับมา ก็ว่ากันไป เรื่องแก้ไข รธน. ในมาตราที่เรามองว่าเป็นปัญหา เช่น การแต่งตั้ง สว. การกำหนดวุฒิการศึกษา องค์กรอิสระ ก็คงต้องสู้กันต่อไปในการแก้ไข รธน.และมีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ต้องมีหลักการลดอำนาจรัฐทั้งฟากราชการและการเมือง เพิ่มพื้นที่ภาคประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะนโยบายการสร้างรัฐสวัสดิการ เก็บภาษีคนรวย ฯลฯ ที่มิใช่ประชานิยมเชิงสงเคราะห์ของทักษิณ และวาระประชาชนของประชาธิปัตย์ของอภิสิทธิ์

และเฉพาะหน้าตอนนี้ต้องยกเลิกกฎอัยการศึก และมีกฎหมายหลายฉบับที่อยู่ใน สนช.ที่รอการนำออกมา เราต้องออกมาคัดค้านและเรียกร้องให้ยุติบทบาทของ สนช.ได้แล้ว และก็รอรัฐบาลใหม่ แต่เท่าที่รู้ก็คือ สนช กำลังฉวยโอกาส เร่งออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนในระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน ชาวนา หรือประมงพื้นบ้าน มันกำลังบีบให้เราเดือดร้อนขึ้น องค์กรภาคประชาชนก็ต้องคัดค้าน พรบ.เหล่านี้ เช่น พรบ.ความมั่นคงฯ ที่เป็นกฎหมายเผด็จการ พรบ.ป่าชุมชน และอื่นๆ ที่ให้อำนาจราชการรวมศูนย์กันต่อไป

การปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจการเมืองเป็นสิงที่ดี แต่คิดว่าสิ่งที่องค์กรประชาชนต้องให้ความสำคัญมากๆด้วยเช่นกัน ก็คือการปฏิรูปองค์กรประชาชนด้วยเช่นกัน เพราะการสร้างองค์กรประชาชนที่เข้มแข็งคงมีหลายด้าน ทั้งด้านความคิดขององค์กร การสร้างการนำรวมหมู่ มีผู้นำหมุนเวียน การมีโรงเรียนขององค์กรประชาชนเอง สร้างปัญญาทางชนชั้นของตนเอง มีกระบวนการการจัดองค์กรที่เป็นประชาธิปไตยมีการตรวจสอบถ่วงดุลภายใน การสร้างองค์ความรู้ของภาคประชาชน การระดมทุนจากภายใน และอื่นๆ ที่ต้องขบคิดกัน ตลอดทั้งการจัดความสัมพันธ์กับเอ็นจีโอ นักวะ 4ชาการ ปัญญาชน องค์กรต่างๆ อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

การเคลื่อนไหวต่อไป แน่นอนว่า ต้องคัดค้านนโยบายเสรีนิยมใหม่ ใช้กลไกตลาดเสรีแบบพวกทักษิณ ประชาธิปัตย์และทุกพรรคการเมืองก็ว่าได้ และสกัดพวกรัฐประหารด้วยเช่นกัน และต้องระวังพวกฉวยโอกาสตีสองสามหน้าหาประโยชน์เฉพาะหน้าส่วนตนด้วยเหมือนกัน เพราะการเมืองภาคประชาชนต้องมั่นคงมีเอกลักษณ์ของตนเองต้องไม่นิยมขุนนางในหมู่ประชาชน พฤติกรรมแบบวีรชนเอกชน แบบพวกนักการเมืองจากพรรคการเมือง นักการเมืองจากระบบราชการ และต้องสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ภายในองค์กรด้วย คัดค้านความคิดที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าผ่านการล็อบบี้ของผู้ที่่แอบอิงอำนาจด้วยเหมือนกัน ที่สำคัญต้องคิดสร้างให้องค์กรประชาชนชนชั้นล่างนำตนเองได้อย่างแท้จริง เพื่อความเข้มแข็งขององค์กรที่มิใช่เพียงบุคคลเท่านั้น



ที่มา : ประชาไท วันที่ : 3/9/2550




Create Date : 03 กันยายน 2550
Last Update : 3 กันยายน 2550 16:08:06 น. 0 comments
Counter : 447 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.