Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
24 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 
การเมืองเหนือรัฐธรรมนูญ

ความคิดเปิดผนึก
อภิชาต สถิตนิรามัย





ทันทีที่ทราบผลการตัดสินของคณะตุลาการกรณียุบพรรคไทยรักไทยแล้ว ความหดหู่ก็เข้าครอบงำความรู้สึก ยอมรับว่าหดหู่น้อยกว่าในคืนที่ 19 กันยายน 2549 แต่ก็ไม่มากนัก มันไม่ต่างกับการรัฐประหารซ้ำสักเท่าไร ข้อปลอบใจหนึ่งของผมก็คือ ยังมีตุลาการเสียงข้างน้อย 3 ท่านที่ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษย้อนหลัง ตัดสิทธิ์กรรมการพรรค ทรท. เล่นการเมือง 5 ปี ซึ่งเป็นการตัดสินใจโดยคำนึงถึงหลักนิติธรรม (rules of law) อยู่บ้าง แต่ผลการตัดสินโดยรวมแล้ว สะท้อนความต้องการของกลุ่มการเมืองเหนือรัฐธรรมนูญอยู่ดี อภิสิทธิ์ชน-ชั้นสูงกลุ่มนี้รังเกียจการเมืองของพรรคการเมือง นักการเมือง และพรรคการเมือง ซึ่งหลังๆ นี้สะท้อนออกมาในการเรียกร้องหา “การเมืองแบบใสสะอาด มีคุณธรรม” อันมีนัยว่า เฉพาะกลุ่มตนเท่านั้นที่มีคุณธรรมพอเพียง และเหมาะที่จะเป็นผู้ปกครอง ส่วนนักการเมืองจากการเลือกตั้งนั้นเป็นเวไนยสัตว์ที่ปราศจากคุณธรรม โกงชาติกินเมือง ดังนั้นจึงต้องถูกควบคุมไม่ให้มีอำนาจนำ การตัดสิทธิเลือกตั้งย้อนหลัง 5 ปีจึงเป็นการทำหมันทางการเมืองต่อ “นักเลือกตั้ง” กลุ่มนี้

ภายหลังรัฐบาลหอย ธานินทร์ กรัยวิเชียร อภิสิทธิ์ชน-ชั้นสูงกลุ่มนี้รู้ดีว่าการเมืองแบบคณาธิปไตยของอภิชนโดยไม่มีการเลือกตั้งนั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว ดังนั้นโจทย์ทางการเมืองคือ จะกำกับการเมืองภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบใดให้กลุ่มตนคงอำนาจนำไว้ได้ ทางออกในช่วงแรกคือระบอบเปรมาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง แต่มีนายกฯมาจากคนนอก พร้อมๆ ไปกับการสร้างระบบหรือกติกาการเลือกตั้งที่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผลิตรัฐบาลที่อ่อนแอเช่นเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค พรรคการเมืองไม่เป็นเอกภาพ หัวหน้าคุมลูกพรรคไม่ได้ จนพรรคการเมืองไทยกลายเป็นเพียงการรวมกลุ่มอย่างหลวมๆ ของหัวหน้ามุ้งการเมืองเท่านั้น หลายครั้งก็เป็นเพียงการรวมกลุ่มเฉพาะกิจ เช่นพรรคสามัคคีธรรมเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร รสช. ในขณะที่หัวหน้าพรรคหรือหัวหน้ามุ้งจะคุม ส.ส. ได้ก็ต่อเมื่อตนมีน้ำเลี้ยงหรือกระสุนที่พอเพียงเท่านั้น สาเหตุที่น้ำเลี้ยงหรือกระสุนสำคัญนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกติกาการเลือกตั้งก่อนปี 2540 ที่เป็นแบบเขตเลือกตั้งหลายคนเรียงเบอร์ (multiseats constituency) เขตเลือกตั้งแบบนี้สร้างแรงจูงใจสูงให้กับผู้สมัคร ส.ส. ที่จะแข่งขันกันบนพื้นฐานของชื่อเสียงและคุณสมบัติส่วนตัวของ ส.ส. คนนั้นๆ ผ่านกลไกระบบอุปถัมภ์ภายในพื้นที่ เช่นสามารถเป็นที่พึ่งได้ในยามฉุกเฉิน โดยชื่อเสียงและนโยบายของพรรคการเมืองที่ตนสังกัดมีผลน้อยมากต่อการชนะการเลือกตั้ง จนกระทั่งแม้แต่ผู้สมัครพรรคเดียวกันในเขตเลือกตั้งเดียวกันก็มีแรงจูงใจสูงที่จะแข่งกันเอง จนเกิดศัพท์การเมือง “ยิงลูกโดด” ในอดีต ซึ่งเป็นยุทธวิธีเพื่อชนะการเลือกตั้งที่ใช้เงินสูง และไม่แปลกเลยที่พรรคการเมืองไทยจะเป็นพรรคที่ไร้วินัย พรรคไม่สามารถคุม ส.ส. ในสังกัดได้ ในขณะเดียวกันเขตเลือกตั้งแบบนี้ก็จะผลิตรัฐบาลผสมหลายพรรค เพราะมันยากที่จะมีพรรคใดชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก

เมื่อเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ย่อมหมายความว่า แม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลที่มีจำนวน ส.ส. ไม่มากนัก มีอำนาจต่อรองสูง เพราะเขามีศักดิภาพที่จะเดินออกจากรัฐบาลไปร่วมกับพรรคฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่แปลกอีกเช่นกันที่รัฐบาลก่อน 2540 จะเป็นผู้ริเริ่มหรือผลักดันนโยบายใหม่ๆ หรือสำคัญๆ น้อยมาก แรงจูงใจของหัวหน้ามุ้งและหัวหน้าพรรครัฐบาลไม่ใช่การคิดค้นหรือผลักดันนโยบายใหม่ เพื่อการแข่งขันทางการเมืองกับพรรคอื่นๆ ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป งานหลักของเขาคือหาน้ำเลี้ยงและกระสุนป้อนลูกพรรคและตัวเอง ซึ่งจะหาได้จากที่ใดเล่า นอกจากการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ภายใต้นโยบายที่กำหนดโดยข้าราชการประจำและเทคโนแครต จนกระทั่งรัฐไทยถูกนักวิชาการนิยามว่าเป็นอมาตยาธิปไตย หรือรัฐราชการ กล่าวแบบนี้แล้ว การเมืองที่ “น้ำเน่าและไร้คุณธรรม” นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลของกติกาการเมืองที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ก่อน 2540 (พูดอีกแบบก็คือการคอร์รัปชั่น เพื่อเล่นการเมืองนั้นมันถูก build in อยู่ภายในกติกาการเมืองไทย) ซึ่งต้องการผลิตรัฐบาลผสมที่มีความอ่อนแอต่อทั้งการกำหนดและการผลักดันนโยบาย เพื่อเอื้อต่อการมีอิทธิพลของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน-ชั้นสูงผ่านระบบราชการ

วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ชี้ให้เห็นข้อเสียของกติกาการเมืองข้างต้น เห็นได้ชัดเจนจากคำขวัญของกระแสปฏิรูปการเมืองในช่วงนั้นว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญที่ “ปิดทุจริต เปิดประสิทธิภาพ และสร้างภาวะผู้นำ” (ของนายกฯ) ดังนั้นกติกาการเมืองของรัฐธรรมนูญ 2540 จึงถูกออกแบบโดยตั้งใจให้ผลิตรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีประสิทธิผลทางนโยบาย นับตั้งแต่การเปลี่ยนเขตเลือกตั้งให้เป็นแบบ one-man one-vote และระบบปาร์ตี้ลิสต์ ที่ต้องการสร้างพรรคขนาดใหญ่ให้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา เคยมีผู้คำนวณไว้ว่า กฎการเลือกตั้ง 2540 นั้น ทำให้พรรคไทยรักไทยได้เปรียบในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 เป็นจำนวน ส.ส.กว่า 40 คน เมื่อเทียบกับกรณีสมมุติว่า ทรท.ต้องแข่งขันภายใต้กฎการเลือกตั้งก่อนปี 2540 นอกจากเปลี่ยนเขตเลือกตั้งแล้ว กติกาอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เอื้อให้รัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลที่มีประสิทธิผล เช่นกฎสังกัดพรรค 90 วัน ในขณะที่การเลือกตั้งต้องมีขึ้นภายใน 60 วันหลังการยุบสภา กฎนี้ต้องการเพิ่มอำนาจนายกฯ ในการควบคุม ส.ส.โดยตรง หรือกฎที่เมื่อเป็นรัฐมนตรีแล้วต้องขาดจากสมาชิกภาพของรัฐสภาก็คือการเพิ่มอำนาจต่อรองให้นายกฯ เมื่อเทียบกับ รมต. ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือหัวหน้ามุ้งการเมือง

ในแง่นี้รัฐธรรมนูญ 2540 จึงประสบความสำเร็จมากในการสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีประสิทธิผลทางนโยบาย เป็นครั้งแรกในรอบ 75 ปีของระบอบการเมืองไทยที่มีรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียว และอยู่เป็นรัฐบาลครบ 4 ปี พร้อมกับชนะการเลือกตั้งครั้งที่สองอย่างขาดลอย ที่สำคัญคือชัยชนะทั้ง 2 ครั้งของ ทรท.เป็นชัยชนะที่มีฐานจากการแข่งขันทางนโยบายที่โดนใจผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง และนี่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของประชาธิปไตยไทย ไม่ว่านโยบายประชานิยมเหล่านั้นจะมีข้ออ่อนอย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าการออกแบบกติกาการเมืองของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เน้นการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารไม่ให้ abuse of power นั้นล้มเหลว ซึ่งตัวอย่างมีมากมาย และทราบกันดีจนไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำในที่นี้ ความเข้มแข็งทางการเมืองของ ทรท. โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความนิยมของชนชั้นล่างนี้เองที่ท้าทายการเมืองเหนือรัฐธรรมนูญของอภิสิทธิ์ชน-ชั้นสูง และด้วยความร่วมมือของชนชั้นกลาง การรัฐประหาร 19 ก.ย.จึงเกิดขึ้น

ไม่ว่า สสร.ที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้จะตระหนักหรือไม่ก็ตาม กติกาการเลือกตั้ง (ที่ยังไม่แน่นอน) ที่เสนอว่าต้องการย้อนกลับไปเป็นแบบเขตใหญ่ และไม่มีระบบปาร์ตี้ลิสต์นั้น จะเป็นการหวนกลับไปสร้างรัฐบาลที่อ่อนแอและไร้ประสิทธิผลขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจและการเมืองไทยต่อไปดังเช่นในอดีต แต่จะเอื้ออำนวยการสืบทอดอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน-ชั้นสูงต่อไป

ในแง่นี้ ดาบที่หนึ่งของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน-ชั้นสูงคือรัฐประหาร ดาบที่สองคือการตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี ในขณะที่กติกาการเลือกตั้งใหม่จะเป็นดาบที่สาม ภายใต้ยุทธศาสตร์การดำรงอำนาจนำเหนือรัฐธรรมนูญต่อไปในระยะยาว




ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2550 เผยแพร่ใน //www.onopen.com




Create Date : 24 กรกฎาคม 2550
Last Update : 24 กรกฎาคม 2550 18:17:49 น. 0 comments
Counter : 345 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.