Group Blog
ตุลาคม 2565

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
ทนายอ้วนชวนเที่ยวเมืองอ่างทอง - วัดเขียน วิเศษชัยชาญ อ่างทอง
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดเขียน วิเศษชัยชาญ อ่างทอง, อ่างทอง Thailand
พิกัด GPS : 14° 36' 9.19" N 100° 21' 0.29" E

 






วัดเขียน  วิเศษชัยชาญ  อ่างทอง






วัดเขียน  อ่างทอง  ตั้งอยู่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย  เลขที่  50  หมู่  8  บ้านคลกะพัน  ตำบลศาลเจ้าโรงทอง  อำเภอวิเศษชัยชาญ   จังหวัดอ่างทอง  ห่างจากตัวอำเภอเมืองอ่างทองประมาณ  12  กิโลเมตร



 
 
จากตัวเมืองอ่างทองใช้ทางหลวงหมายเลข  3195   (ถนนสายอ่างทอง-วิเศษชัยชาญ-สุพรรณบุรี )  มุ่งหน้ามายังอำเภอวิเศษชัยชาญ  ผ่านตลาดศาลเจ้าโรงทองถึงสี่แยกคลองชลประทานที่เชื่อมถึงอำเภอโพธิ์ทอง  เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข  3454  ตรงไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็น  
วัดเขียน  อ่างทอง  ตั้งอยู่ทางขวามือ
 
 





วัดเขียน  อ่างทอง    เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย  มีพื้นที่โดยรอบรวม 19 ไร่
 





 

วัดเขียน  อ่างทอง   สร้างขึ้นสมัยใดไม่ปรากฎ   แต่มีข้อมูลว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2270   สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช   ต่อมาถูกปล่อยให้รกร้างอยู่นาน  เมื่อมีผู้คนมาอาศัยอยู่มากขึ้นกลายเป็นชุมชน  จึงได้มีการบูรณะ  วัดเขียน  อ่างทอง  ขึ้น  เพื่อเป็นศูนย์รวมของชุมชน
 
 
 



สำหรับชื่อ 
วัดเขียน  มีผู้รู้ให้กรุณาให้ความเห็นไว้  2  กรณี  กรณีแรก  เนื่องจากภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนที่สวยงามจึงเรียกว่า   วัดเขียน  ตามอย่างโบสถ์เขียนหรือวิหารเขียนที่วัดป่าโมก  จังหวัดอ่างทอง  ตามแนวคิดของสมเด็จฯ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์   
อีกกรณีหนึ่งคือ  เดิมวัดนี้ชื่อ  
 วัดเขียน  อยู่แล้ว แต่เพื่อให้สมกับชื่อจึงมีการเขียนภาพไว้ในพระอุโบสถ
 





 
จากหลักฐานทางด้านโบราณสถาน  เช่น  อุโบสถ (เก่า)   ใบเสมา  เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง  พออนุมานได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย  รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถก็เป็นภาพที่เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกัน
 
 


 
 
 

พระอุโบสถหลังเดิม  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  มีขนาดย่อม  ก่ออิฐถือปูน  มีประตูทางเข้าทางเดียวทางด้านหน้าพระประธาน  ผนังด้านข้างมีหน้าต่างข้างละ  3  บาน  เป็นหน้าต่างสี่เหลี่ยมเล็กๆ  2  บาน ที่เหลืออีกบานหนึ่งเป็นหน้าต่างหลอก  เสาภายในอาคารเป็นเสาเหลี่ยมติดผนัง  บัวหัวเสาเป็นหัวกลีบยาวซึ่งเป็นลักษณะของบัวหัวเสาในสมัยอยุธยาตอนปลาย  หน้าบันเป็นไม้ขนาดเล็กแกะสลักลวดลายเป็นลายเทพนมและลายกระจังรวน  สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสกุลเมืองวิเศษชัยชาญสมัยอยุธยาตอนปลาย
 












 
ในปี พ.ศ. 2516  สมเด็จพระกณิษฐาธิราชเจ้ากรมพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  เสด็จมาพระราชทานกฐิน  ณ  วัดเขียน  อ่างทอง  เมื่อทรงทอดพระเนตรสภาพความทรุดโทรมของอุโบสถจนทำให้น้ำฝนไหลชะภาพเขียนภายในเสียหายเป็นอันมาก  รับสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถขึ้นใหม่โดยการรักษาสภาพเดิมไว้ส่วนใหญ่แต่รื้อหลังคาเดิมออกเนื่องจากชำรุดมาก จากนั้นได้ก่อผนังขนาบภายนอกเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้าง  7.40  เมตร ยาว  9.60  เมตร ให้คร่อมทับอุโบสถเดิม  เปลี่ยนโครงเครื่องบนใหม่ทั้งหมดทำเป็นหลังคาชั้นเดียวแต่มีชั้นลดเพิ่มเป็น  2  ชั้น  มุงหลังคาด้วยกระเบื้องแผ่นตามแบบปัจจุบัน  แต่ยังคงลักษณะของอาคารหลังเดิมคือมีทางเข้าทางเดียว








 
 



 










ใบเสมา  ใบเสมาทำจากหินทรายสีขาวที่ตั้งอยู่รอบพระอุโบสถทั้ง  8  ทิศ  สันนิษฐานว่าเป็นใบเสมาเก่าสมัยอยุธยาตอนปลาย  ซึ่งลักษณะพิเศษของใบเสมาสมัยนี้คือ  ใบเสมาจะทำด้วยหินทรายขาวทั้งหมดเป็นชนิดใบเสมานั่งแท่น  ซึ่งตั้งอยู่บนฐานสิงห์และฐานบัวกลุ่ม  เนื่องจากใบเสมามีขนาดเล็กและแบบบาง  จึงต้องมีการก่ออิฐถือปูนเป็นฐานรองรับ  มีแถบเส้นกลางขนาดใหญ่เท่าขอบเสมา  ตรงกลางแถบจะมีนมเสมาซึ่งทำเป็นลายประจำยามลักษณะคล้ายทับทรวง  ส่วนอกเสมาเหนือนมเสมาเป็นรูปดอกไม้กลมทั้งสองข้าง  เรียกว่า ตาเสมา  ยอดเสมาทำเป็นรูปมงกุฎครอบท้องเสมาเป็นลายประจำยามครึ่งเดียว  และมีกระหนกตัวเหงาอยู่ที่เอวเสมา  จากลักษณะและรายละเอียดทีปรากฏบนใบเสมาเป็นศิลปะช่วงระยะต้นของปลายสมัยอยุธยา  เนื่องจากการสร้างพระอุโบสถจะต้องมีการกำหนดพัทธสีมาในคราวเดียวกัน  ดังนั้นจึงชื่อว่าพระอุโบสถหลังเก่านี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย








 
 
ภายในพระอุโบสถมี  
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง  สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือช่างในสมัยปลายอยุธยา  ใช้สีสด  เช่น  แดง  น้ำเงิน  และดำ   เป็นพื้น  เพื่อจะตัดเส้นสีทองให้สุกใสขึ้น
 
 




“ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในสมัยอยุธยาตอนปลายใช้สีเรียบแบนระบายบางๆ
โทนสีส่วนใหญ่เป็นแดงเขียนแบบคตินิยมทั่วไป จิตรกรสมัยโบราณท่านนิยมใช้สีแดงสดเป็นพื้น
เพื่อจะคัดทองคำของพระพุทธรูปในอาคารให้ดูแจ่มใสมลังเมลืองขึ้น
 
จึงนิยมต่อๆ กันมาว่าจะต้องระบายสีท้องฟ้าของปราสาท ภาพไตรภูมิ ภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ให้เป็นสีแดงเชื่อมกันหมด เพื่อที่จะให้เนื้อหาของโครงสร้างภาพเขียนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอด
 
จากนี้ในที่อื่นๆ เช่นที่ภายในช่องปราสาทก็เป็นสีแดงด้วย หรือภาพบางอย่าง เช่น ภาพวิวภูเขาต้นไม้
บางทีก็ระบายเป็นท้องฟ้าสีแดงเสียด้วย   ในสมัยรัตนโกสินทร์จะหันมานิยมเขียนแบบธรรมชาติ
คือระบายสีท้องฟ้าด้วยสีเทาดำๆ และเมฆสีขาว เป็นแบบธรรมชาตินิยม (Realism) มากขึ้น
ดังนั้น ในบางตอนก็เขียนรูปเป็นไปในแบบธรรมชาติ แต่บางตอนก็ยังคงแบบฉบับไอเดียลิสม์ (Idealism) แบบเดิมไว้”
 
(น. ณ ปากน้ำ)

 
 
 




“จิตรกรรมไทยโบราณนั้น มักจะเขียนบนแผ่นผนังที่เตรียมการลงพื้นและทาสีขาวเป็นสีพื้นเรียบร้อยแล้วด้วยสีฝุ่นผสมกาว  สีฝุ่นนั้นเป็นสีจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ดินแดง สีดินขาว สีดำจากเขม่าไฟ ซึ่งการจะนำสีต่างๆ มาเขียนก็จะต้องบดสีด้วยโกร่งอันทำด้วยดินเผาหรือดินเผาเคลือบ ใช้เวลาบดสีประมาณ ๑-๔ ชั่วโมง หากว่าก้อนสีจับตัวแข็งก็จะต้องแช่น้ำไว้สัก ๑ หรือ ๒ ชั่วโมง บางทีจิตรกรผู้เขียนจะนำเอาแอลกอฮอล์เทลงไปด้วย เพื่อให้สีละลายเร็วขึ้น
 
 
สีขาวนั้นจะใช้ปูนขาว เมื่อจะเอามาทาพื้นเป็นการลงพื้นก็จะเอาสีขาวที่บดแล้วมาผสมกับกาวยางไม้ เช่น กาวกระถิน กาวยางสน หรือกาวจากยางบง ในตำราของช่างเขียนบางคน ท่านใช้ดินขาวหรือดินสอพองมาบดละเอียดกับน้ำ แล้วเอากาวจากเม็ดมะขามต้มจนเหนียวเป็นกาวใส่ลงไปด้วย เรียกว่า "ฝุ่น"
 
สีดำน้้นเอาเขม่าจากก้นหม้อ ก้นกระทะในครัว เอามาบดปนไปกับน้ำและกาวธรรมชาติ เสร็จแล้วเป็นสีผสมกาวเรียกกันว่า "เขม่า" ส่วนสีจากดินธรรมชาติอื่นๆ เช่น สีเหลือง สีน้ำตาล สีน้ำตาลเข้มจนแดงจัด หรือสีน้ำตาลไหม้ น้ำตาลเหลือง ก็เรียกตามสีของดินสีนั้นๆ บางทีก็เอาสีจากดินผุหรือหินผุนำมาบดเช่นเดียวกัน แต่จำต้องบดนานเป็นพิเศษ แล้วเอาสีที่บดแล้วแต่ละสีแยกออก เทใส่ภาชนะที่มีฝาปิดได้ เช่น กระปุกหรือโกร่งขนาดย่อม เติมน้ำเล็กน้อยกันสีแห้ง แล้วปิดฝาทิ้งไว้ เมื่อจะใช้ก็เอามาบด แล้วตักเอาปริมาณที่ต้องการมาใส่ภาชนะเป็นจานเขียนสีก็จะมีสีต่างๆ นำมาใช้ได้ทันท่วงที
 
สีบางอย่างจะใช้ในการย้อมผ้า เป็นสีที่ใช้แช่เปลือกไม้หรือแท่งไม้อันเป็นสีค่อนข้างใส ไม่นิยมเอามาเขียนในงานจิตรกรรม หรือสีที่นำมาใช้ในการทำขนม เช่น สีของดอกอัญชัน สีแดงจากไม้ฝาง ฯลฯ นิยมใช้ในการย้อมผ้ามากกว่า
 
สีที่ใช้ในการเขียนรูปจิตรกรรมไทย มักเป็นสีประเภททำจากวัตถุธาตุ เช่น ดินสีต่างๆ หรือหินผุ จะทำให้สีอ่อนแก่ก็โดยการบดสีกับกาวผสมไว้แล้วในโกร่งที่เรียกว่า "น้ำยา"
 
จิตรกรรมที่เขียนตามผนังพระอุโบสถสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาหรือสมัยอยุธยาตอนต้นนั้นจำกัดในเรื่องการใช้สี เพราะมีสีที่ใช้จากสีวัตถุธาตุธรรมชาติในบ้านเมืองเรา เช่น ฝุ่นขาว เขม่าดำ สีดินแดง สีดินเหลือง มีอยู่เพียง ๔ สีเท่านั้น ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลางมีสีแปลกๆ ทำจากวัถุธาตุพวกสีฝุ่นจากหินผุ เช่น สีเขียว สีคราม ยิ่งสมัยอยุธยาตอนปลายก็มีสีสดใสอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกคือ สีเสน สีคราม สีเขียวสด ดังเช่นภาพเขียนในสมุดข่อยวัดหัวกระบือ บางขุนเทียน สมัยอยุธยาตอนปลาย
 
ในสมัยอยุธยาตอนปลายสุดหรือรัตนโกสินทร์มีสีสดใสจากจีนเข้ามาขาย เช่น สีแดงแสด สีแดงเสน สีชาด สีเหลืองสด สีเขียวแจ่มใส สีฟ้า ได้แยกผสมเป็นน้ำยาไว้พิเศษ เช่น สีดินแดง ทำจากดินแดงบด  เมื่อมาผสมกับสีชาดหรือสีแดงเสนก็จะมีสีแดงสด มีรสสีแดงฉ่ำ ถ้าจะใช้เป็นสีแดงทึบ เช่น สีน้ำตาลเข้ม ก็เอาเขม่าดำมาผสม หรือจะใช้เป็นสีแดงอ่อน เช่น สีดอกกุหลาบ ก็ผสมกับดินเหลืองและฝุ่นขาวเรียกว่า หงสบาท  คือสีของเท้าหงส์กับนกต่างๆ  สีเขียวเมื่อนำมาผสมกับดินผุหรือผสมกับฝุ่นขาวกลายเป็นสีเขียวอ่อนก็เรียกว่า สีก้านดอกมะลิ  เมื่อแซมเหลืองเข้าไปก็กลายเป็น สีตองอ่อน  เป็นสีเหมือนกับธรรมชาติที่เคยชิน ในภาษาช่างสมัยก่อนจึงมีชื่อสีต่างๆ เช่น สีขาบ คือสีน้ำเงินเหมือนสีนกตะขาบ  สีกรมท่า คือสีน้ำเงินเข้ม เป็นสีผ้านุ่งของข้าราชการกรมท่า  สีกลาโหม ก็คือสีน้ำตาลแดง  สีดอกบัวโรย  สีดอกอัญชัน  สีเขียวหัวเป็ด เป็นต้น” 


น. ณ ปากน้ำ

 


 
 
บริเวณเหนือหน้าต่างของผนังทั้งซ้ายขวาเขียนลายหน้ากระดานรองรับภาพเทพชุมนุมชั้นเดียว ภายในเส้นสินเทา พื้นทาแดงชาด เหนือขึ้นไปเป็นภาพนักสิทธิ์ วิทยาธร เขียนได้สนุกสนานยิ่ง บ้างก็แต่งกายแบบจีนแมนจู ผมเปีย บ้างก็ดำทะมึน บ้างอุ้มมักกะลีผล บ้างก็ยิ้มเริงร่า ห้อยคอด้วยปลัดขิก บ้างก็ยกขวดเหล้าเท
 











 
ด้านหลังพระประธานเขียนลายดอกไม้ร่วงบนพื้นสีดำ  ตอนบนสุดเป็นลายเฟื่องอุบะ















 
ด้านตรงข้ามพระประธานเขียนเรื่องสุธนชาดก 












ผนังด้านซ้าย - ขวา  พระประธานเขียนเป็นเรื่องทศชาติ เท่าที่ปรากฏมีมหาชนก สุวรรณสาม มโหสถ จันทกุมาร วิทูรบัณฑิต และเวสสันดร
 




 














 
เข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย



 
ประตูวัดเปิด  06.00-18.00 น.
 



ประตูโบสถ์เปิด  09.00-10.00 น.  และ  13.00-15.30 น.
 
 








ขอขอบคุณท่านผู้มีอุปการะคุณข้อมูลด้วยครับ





 
วัดเขียน – สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง


วัดเขียน – วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


วัดเขียน – หนังสือพิมพ์เอกราชนิวส์

 
วัดเขียน – ที่เที่ยว.คอม

 
วัดเขียน  -  สุขใจ.คอม

 
วัดเขียน  -  Abstract การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดเขียน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
โดย จารุณี ภาคเจริญ วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม. (ประวัติศาสตร์ศิลปะ))  สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ  --มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533


 
วัดเขียน  -  FB  เรือนหลวง

 
วัดเขียน  -  gplace.com

 
วัดเขียน  -  nina.az
 







 
 










134136139
 



Create Date : 31 ตุลาคม 2565
Last Update : 31 ตุลาคม 2565 13:07:44 น.
Counter : 1117 Pageviews.

24 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณอุ้มสี, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณปัญญา Dh, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณtoor36, คุณคนผ่านทางมาเจอ, คุณกะว่าก๋า, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณSleepless Sea, คุณสองแผ่นดิน, คุณSweet_pills, คุณหอมกร, คุณtuk-tuk@korat, คุณNENE77, คุณกิ่งฟ้า, คุณnewyorknurse, คุณEmmy Journey พากิน พาเที่ยว, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณnonnoiGiwGiw, คุณ**mp5**, คุณเนินน้ำ, คุณJohnV

  
ตามตามตามไปเที่ยว
โดย: อุ้มสี วันที่: 31 ตุลาคม 2565 เวลา:13:35:46 น.
  
ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังดูสวย ขลัง มากเลยนะครับ
จากบล็อก
ก๊วนที่ผมตีอยู่ก็นั่งเมาท์ และพากันไปกินเหมือนกันครับ ผมหลังจากดื่มเบียร์น้อยลง กับกินน้อยลง น้ำหนัก็ลดลงมาครับ แต่ก่อนนี่ยิ่งตียิ่งอ้วนครับ เพราะกินเยอะมาก กินอะไรก็อร่อยไปหมด 555
พรุ่งนี้มาใหม่ครับ
โดย: The Kop Civil วันที่: 31 ตุลาคม 2565 เวลา:13:43:17 น.
  
อุโบสถใหม่หลังจากบูรณะปฏิสังขรณ์แล้ว
สวยงามราวกับเงาะถอดรูปเลยค่ะ
โดย: ฟ้าใสวันใหม่ วันที่: 31 ตุลาคม 2565 เวลา:13:54:10 น.
  
มาชมวัดด้วยครับ
โดย: ปัญญา Dh วันที่: 31 ตุลาคม 2565 เวลา:14:26:15 น.
  
เห็นภาพเขียนน่าจะวินเทจ หรือกว่านั้นลอกชำรุดเสียหายไปตามการเวลา
เสียดาย

...
เห็นภาพแบบข้างบนทำให้นึกถึง ตอนที่ผมสอบเข้าเรียน รร.เพาะช่าง
สอบวาดภาพ สองสามอย่างผ่าน

สอบวิจารณ์ศิลป.. เขาให้ดูภาพพวกนี้ความที่แหะ ๆ ปากจัด(และไม่ค่อย
รู้เรื่องอะไร) ก็เขียนวิจารณว่า เป็นภาพแบน ๆ ไม่ค่อยมีมุมลึก
เป็นภาพตัวละครสมัยโบราณไม่เหมือนของจริง

ผลคือ อาจารย์คงเขม่นที่ปากจัดมั้งให้ สอบผ่านไปก่อน แต่ยังหรอก
ต้องสัมภาษณ์ เจออาจารย์สามท่านต้อนซะ เอาเราจนมุมพูดไม่เป็น
เพราะปกติไม่ค่อยพูดกับใครอยู่แล้ว ได้แต่เขียนหนังสือบรรยายท้อง
ทุ่งสายลมแสงแดด
สรุปท่านคงรู้ว่า หมอนี่ไม่รู้อะไรจริง สอบตกเลยไม่ได้เรียน รร.เพาะช่าง 555
โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 31 ตุลาคม 2565 เวลา:14:43:16 น.
  
ก่อนบูรณะทรุดโทรมอย่างเห็นได้จัดเลย พบูรณะแล้วสวยงามครับ พวกภาพตามฝาผนังผมเคยเห็นแนวคิดใหม่อย่างหนึ่งคือ ทำภาพจิตรกรรมลงผ้าแล้วเอาผ้าไปแขวนแทน เห็นว่าแบบนั้นซ่อมบำรุงง่ายกว่าอายุยืนนานกว่าวาดลงไปที่ผนังเลย บางวัดเริ่มใช้แนวยคิดนี้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะแพร่หลายได้มากสักแค่ไหนเหมือนกัน
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 31 ตุลาคม 2565 เวลา:15:45:21 น.
  
สวัสดีค่ะ..

เห็นภาพผนังที่ทรุดโทรมแล้ว..น่าสงสารจัง..

คงจะอยู่ในระหว่างการดำเนินการบูรณะนะคะ..


โดย: คนผ่านทางมาเจอ วันที่: 31 ตุลาคม 2565 เวลา:15:58:32 น.
  
ทรงโบสถ์ของวัดในภาคกลาง
มักจะสูงโปร่ง มีความชลูดนะครับ
ภาพวาดสวยงามมากครับคุณบอล
แม้มีบางส่วนเริ่มทรุดโทรมหลุดลอกบางแล้วก็ตาม



ผมยังชอบอ่านหนังสือเล่มมากว่าครับ
เมื่อวานก็เอาหนังสือเก่าๆมาอ่านอีก 10 กว่าเล่ม

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 31 ตุลาคม 2565 เวลา:19:49:14 น.
  
ตามมาเที่ยว ไหว้พระ ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วยครับ
ภาพจิตรกรรมฝาผนังงามมากครับ

โดย: สองแผ่นดิน วันที่: 31 ตุลาคม 2565 เวลา:22:26:06 น.
  
กราบพระค่ะคุณบอล
ภาพจิตรกรรมฝาผนังงดงามทรงคุณค่ามากค่ะ

โดย: Sweet_pills วันที่: 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา:0:53:08 น.
  

อรุณสวัสดิ์ครับคุณบอล

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา:5:30:00 น.
  
สวัสดีครับคุณบอล

ตามมาเป็นลูกทัวร์วัดเขียนอีกคนครับ
บูรณะเสร็จแล้วงดงามมากเลย

ขอบคุณสำหรับกำลังใจนะคร้าบ
โดย: มาช้ายังดีกว่าไม่มา วันที่: 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา:6:58:48 น.
  
คุณบอลนี่ก็ไปเที่ยวบ่อยเหมือนกันนะ

โดย: หอมกร วันที่: 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา:7:53:26 น.
  
ไม่รู้ว่าน้ำท่วมถึงหรือเปล่าเนาะ
เคยไปราวปี 2553 ค่ะ
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา:13:50:01 น.
  
วันก่อนกรมอุตุฯ
บอกว่า 29 ตุลาเป็นต้นไป
อากาศจะหนาวมาก

จนถึงวันนี้เชียงใหม่ร้อนทุกวันครับ
ไม่มีวันไหนหนาวเลย 5555



เจ็บขนาดต้องกายภาพ
ไปเที่ยวก็คงลำบากเลย
ขอให้หายเร็วๆนะครับ

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา:15:29:41 น.
  
สวัสดีค่ะคุณบอล ขอบคุณที่ไปให้กำลังใจบล็อกหมูย่างนะคะ

ตามมาชมวัดเขียนที่อ่างทองค่ะ จังหวัดอ่างทองยังไม่เคยแวะไปเลยค่ะ ได้เห็นภาพวิจิตรสวยงามบนฝาผนังแล้วชอบมากค่ะแต่น่าเสียดายภาพบางส่วนหลุดลอกออกไปคงเพราะกาลเวลาที่ยาวนานหากมีการซ่อมแซมคงสวยงามน่าดูชมนะคะ

โหวต Travel Blog

โดย: กิ่งฟ้า วันที่: 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา:22:05:55 น.
  

อรุณสวัสดิ์ครับคุณบอล

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 2 พฤศจิกายน 2565 เวลา:5:04:28 น.
  
เห็นจิตกรรมฝาผนังแล้วขนลุกเลยค่ะ เก่ามาก ดูขลังมาก
โดย: Emmy Journey พากิน พาเที่ยว วันที่: 2 พฤศจิกายน 2565 เวลา:10:07:09 น.
  
แวะมาเยี่ยมและส่งกำลังใจครับ

Best of the blog ทนายอ้วน
โดย: **mp5** วันที่: 2 พฤศจิกายน 2565 เวลา:10:30:31 น.
  
ช่วงนี้เรารู้สึกว่าแต้มบุญหายไปเยอะเลย
เริ่มอยากเข้าวัดเข้าวาให้สบายใจมั่งแล้ว
โควิดก็เป็นไปแล้ว หลังๆ เริ่มไม่กลัวเท่าไรแล้วแหละ

อ่างทอง จริงๆ ก็ไม่ไกลจากบ้านเราเนอะ
แต่เรายังไม่เคยไปเที่ยวเลยอ่ะ
ไปแถวนั้นทีไรก็อยู่แค่กินกุ้งยุดยาทุกทีเลย
โดย: nonnoiGiwGiw วันที่: 2 พฤศจิกายน 2565 เวลา:15:00:58 น.
  
สวัสดีครับ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยมากๆเลยครับ
ขอบคุณสำหรับกำลังใจนะครับ

โดย: Sleepless Sea วันที่: 2 พฤศจิกายน 2565 เวลา:16:55:59 น.
  
อยากให้คุณลุงของคุณบอลเป็นผู้นำครับ
ผมก็ชอบผู้นำหรือผู้ใหญ่ที่สงบ ใจดี ไม่โกรธคนง่าย
ไม่ขี้โมโห ไม่โทษคนอื่น

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 3 พฤศจิกายน 2565 เวลา:14:43:45 น.
  
ตามมาไหว้พระด้วยค่ะน้องบอล
โดย: เนินน้ำ วันที่: 3 พฤศจิกายน 2565 เวลา:15:50:02 น.
  
อรุณสวัสดิ์ครับคุณบอล

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 4 พฤศจิกายน 2565 เวลา:5:33:52 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทนายอ้วน
Location :
นนทบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 156 คน [?]