Group Blog
 
<<
มีนาคม 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
9 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 
ท่านพระสารีบุตรบันลือสีหนาทต่อผู้กล่าวโทษ (ต่อ)

(ต่อ)

สมิทธิสูตร

[๒๑๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระสมิทธิเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระสมิทธิว่า ดูกรท่านสมิทธิ วิตกอันเป็นความดำริของบุรุษ มีอะไรเป็นอารมณ์เกิดขึ้น ท่านพระสมิทธิตอบว่า วิตกอันเป็นความดำริของบุรุษ มีนามรูปเป็นอารมณ์เกิดขึ้น ท่านผู้เจริญ ฯ

ส. ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น ย่อมถึงความต่างกันในอะไร ฯ

ส. ในธาตุทั้งหลาย ท่านผู้เจริญ

สา. ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นสมุทัย ฯ

ส. มีผัสสะเป็นสมุทัย ท่านผู้เจริญ ฯ

สา. ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นที่ประชุมลง ฯ

ส. มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง ท่านผู้เจริญ ฯ

สา. ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นประมุข ฯ

ส. มีสมาธิเป็นประมุข ท่านผู้เจริญ ฯ

สา. ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นใหญ่ ฯ

ส. มีสติเป็นใหญ่ ท่านผู้เจริญ ฯ

สา. ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นยิ่ง ฯ

ส. มีปัญญาเป็นยิ่ง ท่านผู้เจริญ ฯ

สา. ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นแก่น ฯ

ส. มีวิมุตติเป็นแก่น ท่านผู้เจริญ ฯ

สา. ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นที่หยั่งลง ฯ

ส. มีอมตะเป็นที่หยั่งลง ท่านผู้เจริญ ฯ

สา. ดูกรท่านสมิทธิ เมื่อเราถามท่านว่า ดูกรท่านสมิทธิ วิตกอันเป็นความดำริของบุรุษ มีอะไรเป็นอารมณ์เกิดขึ้น ท่านตอบว่า มีนามรูปเป็นอารมณ์ ท่านผู้เจริญ เมื่อเราถามว่า ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้นถึงความต่างกันในอะไร ท่านตอบว่า ในธาตุทั้งหลาย ท่านผู้เจริญ เมื่อเราถามว่า ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นสมุทัย ท่านตอบว่ามีผัสสะเป็นสมุทัย ท่านผู้เจริญ เมื่อเราถามว่า ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นที่ประชุมลง ท่านตอบว่า มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง ท่านผู้เจริญ เมื่อเราถามว่า ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นประมุข ท่านตอบว่า มีสมาธิเป็นประมุข ท่านผู้เจริญ เมื่อเราถามว่า ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นใหญ่ ท่านตอบว่า มีสติเป็นใหญ่ ท่านผู้เจริญ เมื่อเราถามว่า ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นยิ่ง ท่านตอบว่า มีปัญญาเป็นยิ่ง ท่านผู้เจริญ เมื่อเราถามว่า ดูกร ท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นแก่น ท่านตอบว่า มีวิมุตติเป็นแก่น ท่านผู้เจริญ เมื่อเราถามว่า ดูกรท่านสมิทธิ ก็วิตกอันเป็นความดำรินั้นมีอะไรเป็นที่หยั่งลง ท่านตอบว่า มีอมตะเป็นที่หยั่งลง ท่านผู้เจริญ ดูกรท่านพระสมิทธิ ดีละ ดีละ เป็นการดีแล้ว ท่านอันเราถามปัญหาก็แก้ได้ แต่ท่านอย่าทะนงตน ด้วยการแก้ปัญหานั้น ฯ
[ท่านพระสารีบุตรถามท่านพระสมิทธิในข้อธรรม ท่านพระสมิทธิสามารถตอบได้ คำถามและคำตอบเป็นดังนี้
ปุจฉา-วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นอารมณ์เกิดขึ้น
วิสัชชนา-มีนามรุปเป็นอารมณ์
ปุจฉา-วิตกอันเป็นความดำรินั้น ต่างกันในอะไร
วิสัชชนา-ในธาตุทั้งหลาย
ปุจฉา-วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นเหตุ
วิสัชชนา-มีผัสสะเป็นเหตุ
ปุจฉา-วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นผลสรุปลง
วิสัชชนา-มีเวทนาเป็นผลสรุปลง
ปุจฉา-วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นธรรมผู้นำ
วิสัขขนา-มีความตั้งจิตมั่นเป็นธรรมผู้นำ
ปุจฉา-วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นใหญ่
วิสัชชนา-มีความระลึกได้เป็นใหญ่
ปุจฉา-วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นยิ่ง
วิสัชชนา-มีปัญญาเป็นยิ่ง
ปุจฉา-วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นแก่น
วิสัชชนา-มีวิมุตติเป็นแก่น
ปุจฉา-วิตกอันเป็นความดำรินั้น มีอะไรเป็นที่หยั่งลง
วิสัชชนา-มีอมตะเป็นที่หยั่งลง]


จบสูตรที่ ๔

คัณฑสูตร

[๒๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนฝีที่เกิดขึ้นหลายปี ฝีนั้นพึงมีปากแผล ๙ แห่ง มีปากแผลที่ยังไม่แตก ๙ แห่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะพึงไหลออกจากปากแผลนั้น สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดทั้งนั้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งพึงไหลเข้า สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดทั้งนั้น ฉันใด คำว่าฝีนี้แล เป็นชื่อของกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องลูบไล้นวดฟั้น มีความกระจัดกระจายเป็นธรรมดา กายนั้นมีปากแผล ๙ แห่ง มีปากแผลที่ยังไม่แตก ๙ แห่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมไหลออกจากปากแผลนั้น สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดทั้งนั้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมไหลเข้า สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดทั้งนั้น ฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงเบื่อหน่ายในกายนี้ ฯ
[ภิกษุควรเบื่อหน่ายในกายนี้ อันประกอบด้วยธาตุทั้ง4 เกิดจากบิดามารดา เจริญด้วยอาหาร มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา มีปากแผลที่ยังไม่แตก9แห่ง สิ่งที่ไหลเข้าออก ล้วนเป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียด เป็นดังฝี]

จบสูตรที่ ๕

สัญญาสูตร

[๒๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๙ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ๙ ประการเป็นไฉน คือ อสุภสัญญา ๑ มรณสัญญา ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ อนิจจสัญญา ๑ อนิจเจทุกขสัญญา ๑ ทุกเขอนัตตสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๙ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ฯ
[สัญญา9ประการนี้ เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสุ่ความสิ้นกิเลส
1.อสุภสัญญา-ความกำหนดรู้ถึงร่างกายต้องมีความเป็นซากศพในที่สุด
2.มรณสัญญา-ความกำหนดรู้ถึงความตายย่อมมาถึงเมื่อใดก็ได้
3.อาหาเรปฏิกูลสัญญา-ความกำหนดรุ้ถึงอาหารว่าเป็นของปฏิกูล
4.สัพพโลเกอนภิรตสัญญา-ความกำหนดรู้ว่าแม้โลกอันวิจิตรนี้ไม่น่าใคร่
5.อนิจจสัญญา-ความกำหนดรุ้ว่าสิ่งต่างๆไม่เที่ยง
6.อนิจเจทุกขสัญญา-ความกำหนดรู้ว่าสิ่งต่างๆเป็นทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้
7.ทุกเขอนัตตสัญญา-ความกำหนดรู้ว่าสิ่งต่างๆไม่ใช่ตัวตน
8.ปหานสัญญา-ความกำหนดรู้ว่าการทำลายกิเลส
9.วิราคสัญญา-ความกำหนดรู้ว่าการคลายกำหนด]


จบสูตรที่ ๖

กุลสูตร

[๒๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตระกูลประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ ภิกษุยังไม่เข้าไปก็ไม่ควรเข้าไป หรือเข้าไปแล้วก็ไม่ควรนั่ง องค์ ๙ ประการเป็นไฉน คือ ไม่ต้อนรับด้วยความพอใจ ๑ ไม่ไหว้ด้วยความพอใจ ๑ ไม่ให้อาสนะด้วยความพอใจ ๑ ปิดบังของที่มีอยู่ ๑ ของมีมากให้น้อย ๑ มีของประณีตก็ให้ของเลว ๑ ให้ด้วยความไม่เคารพ ไม่ให้ด้วยความเคารพ ๑ ไม่นั่งใกล้เพื่อฟังธรรม ๑ ไม่ยินดีภาษิตของภิกษุนั้น ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตระกูลประกอบด้วยองค์ ๙ ประการนี้แล ภิกษุยังไม่เข้าไปก็ไม่ควรเข้าไป หรือเข้าไปแล้วก็ไม่ควรนั่ง ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตระกูลประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ ภิกษุยังไม่เข้าไปก็ควรเข้าไป หรือเข้าไปแล้วควรนั่ง องค์ ๙ ประการเป็นไฉน คือ ต้อนรับด้วยความพอใจ ๑ ไหว้ด้วยความพอใจ ๑ ให้อาสนะด้วยความพอใจ ๑ ไม่ปิดบังของที่มีอยู่ ๑ ของมีมากก็ให้มาก ๑ มีของประณีตก็ให้ของประณีต ๑ ให้ด้วยความเคารพ ไม่ให้ด้วยไม่เคารพ ๑ นั่งใกล้เพื่อฟังธรรม ๑ ยินดีภาษิตของภิกษุนั้น ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตระกูลประกอบด้วยองค์ ๙ ประการนี้แล ภิกษุยังไม่เข้าไปก็ควรเข้าไป หรือเข้าไปแล้วควรนั่ง ฯ
[ตระกุลประกอบด้วยองค์9ประการนี้ ภิกษุไม่ควรเข้า แม้เข้าแล้วก็ไม่ควรนั่ง (ด้วยความไม่ดูถูกตนเอง)
1.ไม่ต้อนรับด้วยความพอใจ
2.ไม่ไหว้ด้วยความพอใจ
3.ไม่ให้อาสนะด้วยความพอใจ
4.ปิดบังของที่มีอยู่
5.ของมีมากให้น้อย
6.มีของประณีตก็ให้ของเลว
7.ให้ด้วยความไม่เคารพ ไม่ให้ด้วยความเคารพ
8.ไม่นั่งใกล้เพื่อฟังธรรม
9.ไม่ยินดีภาษิตของภิกษุนั้น

ตระกูลประกอบด้วยองค์9ประการนี้ ภิกษุไม่เคยเข้าก็ควรเข้า หรือเข้าไปแล้วก็ควรนั่ง
1.ต้อนรับด้วยความพอใจ
2.ไหว้ด้วยความพอใจ
3.ให้อาสนะด้วยความพอใจ
4.ไม่ปิดบังของที่มีอยู่
5.ของมีมากก็ให้มาก
6.มีของประณีตก็ให้ของประณีต
7.ให้ด้วยความเคารพ ไม่ให้ด้วยความไม่เคารพ
8.นั่งใกล้เพื่อฟังธรรม
9.ยินดีภาษิตของภิกษุนั้น]


จบสูตรที่ ๗

สัตตสูตร

[๒๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมตระหนักชัดดังนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศาตรา มีความละอาย เอื้อเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศาตรา มีความละอาย เอื้อเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์แม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๑ นี้ ฯลฯ พระอรหันต์ทั้งหลายละการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ งดเว้นจากการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ สำเร็จการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนต่ำ คือ บนเตียงหรือเครื่องปูลาดด้วยหญ้าตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ งดเว้นจากการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ สำเร็จการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนต่ำ คือ บนเตียงหรือเครื่องปูลาดด้วยหญ้า ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์ แม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๘ นี้ บุคคลมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ อุโบสถชื่อว่าประกอบด้วยองค์ที่ ๙ นี้ ด้วยประการดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้วอย่างนี้แลจึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก ฯ
[การอยู่อุโบสถของภิกษุประกอบด้วยองค์9ประการ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก องค์9ประการคือ
1.พระอรหันต์ทั้งหลายละปาณาติบาต วันนี้แม้เราก็ควรละปาณาติบาต
2.พระอรหันต์ทั้งหลายละอทินนาทาน วันนี้แม้เราก็ควรละอทินนาทาน
3.พระอรหันต์ทั้งหลายละกาเมสุมิจฉาจาร วันนี้แม้เราก็ควรละกาเมสุมิจฉาจาร
4.พระอรหันต์ทั้งหลายละมุสาวาท วันนี้แม้เราก็ควรละมุสาวาท
5.พระอรหันต์ทั้งหลายละการดื่มสุราเมรัย วันนี้แม้เราก็ควรละการดื่มสุราเมรัย
6.พระอรหันต์ทั้งหลายละการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล บริโภคเพียงวันละมื้อเดียว วันนี้แม้เราก็ควรละการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล บริโภคเพียงวันละมื้อเดียว
7.พระอรหันต์ทั้งหลายละการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคม ดูการเล่นอันเป็นข้าศึก และการทัดทรง ประดับตบแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัวตลอดชีวิต วันนี้แม้เราก็ควรละการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคม ฯลฯ
8.พระอรหันต์ทั้งหลายละการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ สำเร็จการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนต่ำ วันนี้แม้เราก็ควรละการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ สำเร็จการนั่งการนอนบนที่นั่งที่นอนต่ำ
9.ภิกษุมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทุกทิศ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน]


จบสูตรที่ ๘

เทวตาสูตร

[๒๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ในราตรีนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาเป็นอันมาก มีผิวพรรณงดงาม ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้น ให้สว่างไสว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ แต่ไม่กราบไหว้ ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานยังไม่บริบูรณ์ มีความกินแหนงใจ มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นเลว ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาอีกพวกหนึ่งเป็นอันมาก เข้ามาหาเราแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ แต่ไม่ให้อาสนะ ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานไม่บริบูรณ์ มีความกินแหนงใจ มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นเลว ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาอีกพวกหนึ่งเป็นอันมาก เข้ามาหาเราแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลาย เมื่อเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้และให้อาสนะ แต่ไม่แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาอีกพวกหนึ่งเป็นอันมาก เข้ามาหาเราแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลาย เข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อยังเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ และแบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง แต่ไม่เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม ฯลฯ

... ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง และเข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม แต่ไม่เงี่ยโสตลงสดับธรรม ฯลฯ

... ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง และเงี่ยโสตลงสดับธรรม แต่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ ฯลฯ

... ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เงี่ยโสตลงฟังธรรม และฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ฯลฯ

... ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ แต่หารู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานไม่บริบูรณ์ มีความกินแหนงใจ มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นเลว ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาอีกพวกหนึ่งเป็นอันมาก เข้ามาหาเราแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อยังเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันสิ่งของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม เงี่ยโสตลงสดับธรรม ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ และรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานบริบูรณ์ ไม่มีความกินแหนงใจ ไม่มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นประณีต ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่ง อย่าประมาทเลย อย่ามีความเดือดร้อนใจในภายหลัง เหมือนเทวดาพวกต้นๆ เหล่านั้น ฯ
[บุคคลเมื่อยังเป็นมนุษย์ บรรพชิตเข้ามายังเรือน พึงปฏิบัติครบองค์9ประการดังนี้เพื่อให้มีการงานบริบูรณ์ ไม่กินแหนงแคลงใจ ไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นประณีต มิใช่เข้าถึงความเป็นเทวดาชั้นเลว
1.ลุกรับ
2.กราบไหว้
3.ให้อาสนะ
4.แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง
5.เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม
6.เงี่ยโสตสดับธรรม
7.ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้
8.พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้
9.รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม]


จบสูตรที่ ๙

เวลามสูตร

[๒๒๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี ในตระกูลของท่าน ยังให้ทานอยู่บ้างหรือหนอ ฯ

ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในตระกูลของข้าพระองค์ยังให้ทานอยู่ แต่ท่านนั้นเป็นของเศร้าหมอง เป็นปลายข้าว มีน้ำผักดองเป็นที่สอง ฯ

พ. ดูกรคฤหบดี คนให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ ไม่ทำความนอบน้อมให้ ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่เหลือ ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน ทานนั้นๆ ย่อมบังเกิดผลในตระกูลใดๆ ในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ส่งจิตไปที่อื่นเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ทั้งนี้เป็นเพราะผลแห่งกรรมที่ตนกระทำโดยไม่เคารพ ฯ

ดูกรคฤหบดี บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่ไม่เหลือ เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน ทานนั้นๆ บังเกิดผลในตระกูลใดๆ ในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็เชื่อฟังดี เงี่ยหูฟัง ไม่ส่งจิตไปที่อื่น ข้อนั้นเพราะเหตุไร ทั้งนี้เป็นเพราะผลของกรรมที่ตนกระทำโดยเคารพ ฯ

ดูกรคฤหบดี เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ พราหมณ์ผู้นั้นได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง ผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชมด มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสอง ให้ผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียด จะป่วยกล่าวไปไยถึงข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค เครื่องลูบไล้ ที่นอน ไหลไปเหมือนแม่น้ำ ดูกรคฤหบดี ก็ท่านพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น ผู้อื่นไม่ใช่เวลามพราหมณ์ผู้ที่ให้ทานเป็นมหาทานนั้น ดูกรคฤหบดี แต่ท่านไม่ควรเห็นอย่างนี้ สมัยนั้น เราเป็นเวลามพราหมณ์ เราได้ให้ทานนั้นเป็นมหาทาน ก็ในทานนั้นไม่มีใครเป็นพระทักขิเณยยบุคคล ใครๆ ไม่ชำระทักขิณานั้นให้หมดจด ดูกรคฤหบดี ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีผู้เดียวบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยรูปบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานะแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ดูกรคฤหบดี ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่ามหาทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว ... การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ... และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม ฯ
[พระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีดังนี้ว่า บุคคลเมื่อให้ทาน ไม่ว่าเป็นทานของเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม พึงให้ด้วยองค์5ประการนี้
1.ให้ทานโดยเคารพ
2.ให้ด้วยความนอบน้อม
3.ให้ด้วยมือตนเอง
4.ให้ของที่มิใช่ของเหลือ
5.เชื่อกรรมและผลของกรรมในการให้ทาน
ผุ้ให้ทานในตระกูลใดๆ ให้ทานด้วยองค์5ประการนี้ จิตผุ้ให้ทานย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี บริโภคผ้าอย่างดี บริโภคยานอย่างดี บริโภคกามคุณ5อย่างดี บริวารชนก็เชื่อฟัง

ผลานิสงส์ของทานที่ให้แก่บุคคลต่างๆเป็นดังนี้
1.ทานแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่พราหมณ์ให้มหาทานแก่ผู้ปราศจากธรรมอันควรแก่การรับ
2.ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค
3.ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค
4.ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีร้อยท่านบริโภค
5.ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยรูปบริโภค
6.ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค
7.ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค
8.บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค
9.การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
10.การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานะแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
11.การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ
12.การที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม]


จบสูตรที่ ๑๐

จบสีหนาทวรรคที่ ๒

****************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ


Create Date : 09 มีนาคม 2549
Last Update : 9 มีนาคม 2549 17:05:43 น. 0 comments
Counter : 547 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.