Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
8 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 

ปฏิปทาเพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

หัวข้อวันนี้เป็นเรื่องของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผมดูในพระไตรปิฎกเล่มที่30แล้วเห็นว่าเป็นการอธิบายพระสูตรเกี่ยวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เคยนำมาลงไว้ครั้งหนึ่งคือ //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aragorn&month=03-2006&date=30&group=4&blog=1 ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างยาวครับ คิดว่าจะอธิบายแต่ส่วนต้นเพียงเล็กน้อยครับ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือคิดว่ามีหลายๆท่านไม่ทราบชัดเจนว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าหมายถึงบุคคลเช่นไร ดังนั้นก็ขอแนะนำลิงค์ที่จะให้ความรู้เรื่องนี้แก่ท่านที่สนใจ เพราะว่าถ้าสามารถเห็นภาพรวมของความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ การศึกษาพระสูตรด้วยตัวท่านเองก็จะไม่ใช่เรื่องลำบากแน่ครับ แนะนำลิงค์นี้ครับ
//www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-misc/bd-misc-11-01.htm
และ
//www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-misc/bd-misc-11-02.htm

ช่วงนี้เทศกาลกีฬาฟุตบอลโลกกำลังจะเริ่ม ดังนั้นจะไม่รบกวนความสนุกสนานของท่านครับ ยังเหลือเนื้อหาพระสูตรเพียงสามเล่ม จะมาแนะนำเท่าที่ทราบและเห็นว่าเป็นประโยชน์ทุกวันอาทิตย์ครับหากท่านจะติดตาม หากใช้เวลากับพระสูตรเล่มละสองบล็อกก็จะใช้เวลาราวเดือนครึ่งครับ ต้องขอบพระคุณทุกท่านที่เข้ามาชมอีกครั้งครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 22 ขุททกนิกาย ขัคควิสาณสุตตนิทเทส ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

***************************************
ว่าด้วยการเที่ยวไปผู้เดียว

[๖๖๓] พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า
บุคคลวางแล้วซึ่งอาชญาในสัตว์ทั้งปวง ไม่เบียดเบียนสัตว์
เหล่านั้นแม้แต่ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่พึงปรารถนาบุตร จักปรารถนา
สหายแต่ไหน พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น.

[๖๖๔] คำว่า ทั้งปวง ในอุเทศว่า สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺทํ ดังนี้ ความว่า
ทั้งปวงโดยกำหนดทั้งปวง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือ. คำว่า ทั้งปวง เป็นเครื่องกล่าวรวมหมด.
สัตว์ทั้งหลายทั้งผู้สะดุ้ง ทั้งผู้มั่นคง ท่านกล่าวว่า สัตว์ ในคำว่า ภูเตสุ ดังนี้. สัตว์เหล่าใด
ยังละตัณหาไม่ได้ และสัตว์เหล่าใดยังละความกลัวและความขลาดไม่ได้ สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่า
ผู้สะดุ้ง.

เหตุไรท่านจึงกล่าวว่าผู้สะดุ้ง? สัตว์เหล่านั้นย่อมสะดุ้ง หวาดเสียว ครั่นคร้าม ถึง
ความสยดสยอง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ผู้สะดุ้ง. สัตว์เหล่าใดละตัณหาได้แล้ว และ
ละความกลัวและความขาดได้แล้ว สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่า ผู้มั่นคง.

เหตุไรท่านจึงกล่าวว่าผู้มั่นคง? สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่สะดุ้ง ไม่หวาดเสียว ไม่ครั่นคร้าม
ไม่ถึงความสยดสยอง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ผู้มั่นคง.

อาชญามี ๓ อย่าง คือ อาชญาทางกาย ๑ อาชญาทางวาจา ๑ อาชญาทางใจ ๑. กาย
ทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่า อาชญาทางกาย. วจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่า อาชญาทางวาจา. มโนทุจริต ๓
อย่าง ชื่อว่า อาชญาทางใจ.

คำว่า วางอาชญาในสัตว์ทั้งปวง ความว่า วาง ปลง ละ ทิ้ง ระงับ อาชญาในสัตว์
ทั้งปวง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วางอาชญาในสัตว์ทั้งปวง.

[๖๖๕] คำว่า ไม่เบียดเบียนสัตว์เหล่านั้น แม้แต่ผู้ใดผู้หนึ่ง ความว่า ไม่เบียดเบียน
สัตว์แม้แต่ผู้เดียว ด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ท่อนไม้ ศาตรา ด้วยสิ่งที่ทำให้เป็นแผลหรือเชือก
ไม่เบียดเบียนสัตว์แม้ทั้งปวง ด้ายฝ่ามือ ... หรือเชือก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่เบียดเบียน
สัตว์เหล่านั้นแม้แต่ผู้ใดผู้หนึ่ง.

[๖๖๖] ศัพท์ว่า น ในอุเทศว่า น ปุตฺตมิฺเฉยฺย โต สหายํ ดังนี้ เป็นศัพท์ปฏิเสธ.
บุตร ๔ จำพวก คือ บุตรที่เกิดแก่ตน ๑ บุตรที่เกิดในเขต ๑ บุตรที่เขาให้ ๑ บุตรที่
อยู่ในสำนัก ๑ ชื่อว่า บุตร.

ความไปสบาย ความมาสบาย ความไปและความมาสบาย ความนั่งสบาย ความนอน
สบาย ความพูดทักกันสบาย ความสนทนากันสบาย ความปราศรัยกันสบาย กับชนเหล่าใด
ชนเหล่านั้นท่านกล่าวว่า สบาย ในคำว่า สหายํ.

คำว่า ไม่พึงปรารถนาบุตร จักปรารถนาสหายแต่ไหน ความว่า ไม่พึงปรารถนา ไม่
พึงยินดี ไม่พึงรักใคร่ ไม่พึงชอบใจบุตร จักปรารถนายินดี รักใคร่ ชอบใจ คนที่มีไม่ตรีกัน
มิตรที่เห็นกันมา มิตรที่คบกันมาหรือสหาย แต่ที่ไหน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงปรารถนา
บุตร จักปรารถนาสหายแต่ที่ไหน.

[๖๖๗] คำว่า ผู้เดียว ในอุเทศว่า เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป ดังนี้ ความว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า ผู้เดียวโดยส่วนแห่งบรรพชา ชื่อว่า ผู้เดียวเพราะอรรถว่าไม่มี
เพื่อนสอง เพราะอรรถว่าละตัณหา เพราะปราศจากราคะโดยส่วนเดียว เพราะปราศจากโทสะ
โดยส่วนเดียว เพราะปราศจากโมหะโดยส่วนเดียว เพราะไม่มีกิเลสโดยส่วนเดียว เพราะไป
ตามเอกายนมรรค เพราะตรัสรู้ปัจเจกสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยมแต่ผู้เดียว.

พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า ผู้เดียวโดยส่วนแห่งบรรพชาอย่างไร? พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้น ตัดกังวลในฆราวาส ตัดกังวลในบุตรและภรรยา ตัดกังวลในญาติ ตัดกังวล
ในความสั่งสม ปลงผมและหนวดแล้ว ครองผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความ
เป็นผู้ไม่มีกังวล เป็นผู้เดียวเที่ยวไป เที่ยวไปทั่ว เดินไป พักผ่อน รักษา บำรุง เยียวยา
เพราะฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้เดียวโดยส่วนแห่งบรรพชาอย่างนี้.

พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า ผู้เดียวเพราะอรรถว่าไม่มีเพื่อนสองอย่างไร? พระ-
*ปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้เดียวเสพอาศัยเสนาสนะ คือ ป่าและป่าชัฏ
อันสงัด มีเสียงน้อย ปราศจากเสียงกึกก้อง ปราศจากลม แต่ชนผู้สัญจรไปมา สมควรทำกรรม
ลับแห่งมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่ง
ผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐาน
จงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวเที่ยวไป เที่ยวไปทั่ว เดินไป พักผ่อน รักษา บำรุง เยียวยา
เพราะฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่า ผู้เดียวเพราะอรรถว่า ไม่มีเพื่อนสองอย่างนี้.

พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า ผู้เดียวเพราะอรรถว่าละตัณหาอย่างไร? พระปัจเจก-
*สัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้เดียวไม่มีใครเป็นเพื่อนอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิต
ไปอยู่ เริ่มตั้งความเพียรมาก กำจัดมารพร้อมทั้งเสนามารที่ไม่ปล่อยสัตว์ให้พ้นอำนาจ เป็นพวก
พ้องของผู้ประมาท ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งตัณหาอันมีข่าย แล่นไป
ซ่านไป ในอารมณ์ต่างๆ.
บุรุษผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนาน ย่อม
ไม่ล่วงพ้นสงสาร อันมีความเป็นอย่างนี้และมีความเป็น
อย่างอื่น. ภิกษุผู้มีสติ รู้โทษนี้และตัณหาเป็นแดนเกิด
แห่งทุกข์แล้ว พึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ถือมั่น
เว้นรอบ.
[บุคคลเล็งเห็นโทษของวัฏฏสงสารจึงเป็นเหตุของการมุ่งความหลุดพ้น การจะหลุดพ้นได้โดยละตัณหาซึ่งเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์นั่นเอง]
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า ผู้เดียวเพราะอรรถว่าละตัณหาอย่างนี้.

พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า ผู้เดียวเพราะปราศจากราคะโดยส่วนเดียวอย่างไร?
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียว เพราะปราศจากราคะโดยส่วนเดียว เพราะท่านละราคะ
เสียแล้ว ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากโทสะโดยส่วนเดียว เพราะท่านละโทสะเสียแล้ว ชื่อว่า
ผู้เดียวเพราะปราศจากโมหะโดยส่วนเดียว เพราะท่านละโมหะเสียแล้ว ชื่อว่าผู้เดียวเพราะไม่มี
กิเลสโดยส่วนเดียว เพราะท่านละกิเลสเสียแล้ว. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียวเพราะ
ปราศจากราคะโดยส่วนเดียวอย่างนี้.

พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียวเพราะไปตามเอกายนมรรคอย่างไร? สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ท่านกล่าวว่า
เอกายนมรรค.
พระผู้มีพระภาค ทรงเห็นธรรมเป็นส่วนสุดแห่งความสิ้นไป
แห่งชาติ ทรงอนุเคราะห์ด้วยพระทัยเกื้อกูล ย่อมทรงทราบ
ธรรมอันเป็นทางเป็นที่ไปแห่งบุคคลผู้เดียว. พุทธาทิบัณฑิต
ข้ามก่อนแล้ว จักข้ามและข้ามอยู่ซึ่งโอฆะด้วยธรรมอันเป็น
ทางนั้น ดังนี้.
[พระบรมศาสดาเป็นแต่ผู้เดียวที่ตรัสรู้ในธรรมอันเป็นที่กำจัดตัณหาแล้วทรงประกาศให้ชาวโลกทราบด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระทัย ทางกำจัดซึ่งตัณหานั้นเป็นทางเอกซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลายดำเนินไปในอดีตจวบจนปัจจุบัน ตลอดจนในอนาคต แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้โดยชอบก็อาศัยเอกายนมรรคนี้คืออิทธิบาท4 สัมมัปปธาน4 สติปัฏฐาน4 อินทรีย์5 พละ5 โพชฌงค์7 อริยมรรคมีองค์8]
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียวเพราะไปตามเอกายนมรรคอย่างนี้.

พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียวเพราะตรัสรู้ซึ่งปัจเจกสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม
อย่างไร? ญาณในมรรค ๔ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญา
เป็นเครื่องพิจารณา ปัญญาเป็นเครื่องเห็นแจ้งสัมมาทิฏฐิ ท่านกล่าวว่า ปัญญาเครื่องตรัสรู้.
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นตรัสรู้แล้ว ซึ่งสัจจะทั้งหลายด้วยปัจเจกพุทธญาณ ตรัสรู้ว่า สังขาร
ทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ตรัสรู้ว่า เพราะอวิชชาเป็น
ปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็น
ปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและ
มรณะ. ตรัสรู้ว่า เพราะอวิชชาดับสังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ
นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับสฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะ
ดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทาน
ดับภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับชราและมรณะจึงดับ. ตรัสรู้ว่า นี้ทุกข์
นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา. ตรัสรู้ว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิด
อาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับอาสวะ. ตรัสรู้ว่า ธรรมเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง
ธรรมเหล่านี้ควรละ ธรรมเหล่านี้ควรให้เจริญ ตรัสรู้เหตุเกิด ความดับ โทษและอุบายเป็น
เครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ... แห่งอุปาทานขันธ์ ๖ ตรัสรู้เหตุเกิด ความดับ โทษและ
อุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งมหาภูตรูป ๔. ตรัสรู้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ตรัสรู้ ตามตรัสรู้ ตรัสรู้พร้อม ถูกต้อง ทำให้แจ้ง
ซึ่งธรรมที่ควรตรัสรู้ ควรตามตรัสรู้ ควรตรัสรู้พร้อม ควรถูกต้อง ควรทำให้แจ้ง ทั้งหมดนั้น
ด้วยปัจเจกโพธิญาณ เพราะฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่า ผู้เดียวเพราะตรัสรู้
ปัจเจกสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมอย่างนี้.

จริยา (การเที่ยวไป) ในคำว่า จเร ดังนี้ มี ๘ อย่าง คือ อิริยาปถจริยา ๑ อายตน-
*จริยา ๑ สติจริยา ๑ สมาธิจริยา ๑ ญาณจริยา ๑ มัคคจริยา ๑ ปฏิปัตติจริยา ๑ โลกัตถ-
*จริยา ๑.

การเที่ยวไปในอิริยาบถ ๔ ชื่อว่าอิริยาปถจริยา. การเที่ยวไปในอายตนะภายในภายนอก ๖
ชื่อว่าอายตนจริยา. การเที่ยวไปในฌาน ๔ ชื่อว่าสมาธิจริยา. การเที่ยวไปในอริยสัจ ๔ ชื่อว่า
ญาณจริยา. การเที่ยวไปในมรรค ๔ ชื่อว่ามัคคจริยา. การเที่ยวไปในสามัญญผล ๔ ชื่อว่า
ปฏิปัตติจริยา. โลกัตถจริยา คือ ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก ในพระตถาคตอรหันต-
*สัมมาสัมพุทธเจ้า ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก ในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย
เฉพาะบางส่วน ความประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก ในพระสาวกทั้งหลายเฉพาะบางส่วน.

ความประพฤติของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยการตั้งตนไว้ชอบ ชื่อว่าอิริยาปถจริยา. ความ
ประพฤติของบุคคลผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ชื่อว่าอายตนจริยา. ความประพฤติของ
บุคคลผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ชื่อว่าสติจริยา. ความประพฤติของบุคคลผู้ขวนขวายในอธิจิต
ชื่อว่าสมาธิจริยา. ความประพฤติของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาเครื่องตรัสรู้ ชื่อว่าญาณจริยา.
ความประพฤติของบุคคลผู้ปฏิบัติชอบ ชื่อว่ามัคคจริยา. ความประพฤติของบุคคลผู้ได้บรรลุผล
แล้ว ชื่อว่าปฏิปัตติจริยา. ความประพฤติของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความประพฤติ
ของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเฉพาะบางส่วน ความประพฤติของพระสาวกทั้งหลายเฉพาะบางส่วน
ชื่อว่าโลกัตถจริยา. จริยา ๘ ประการนี้.

จริยาแม้อีก ๘ ประการ บุคคลผู้น้อมใจเชื่อย่อมประพฤติด้วยศรัทธา. ผู้ประคองใจย่อม
ประพฤติด้วยความเพียร. ผู้เข้าไปตั้งไว้ย่อมประพฤติด้วยสติ. ผู้ไม่ทำความฟุ้งซ่านประพฤติด้วย
สมาธิ. ผู้รู้ทั่วย่อมประพฤติด้วยปัญญา. ผู้รู้แจ้งย่อมประพฤติด้วยวิญญาณ. บุคคลผู้มนสิการว่า
กุศลธรรมทั้งหลายย่อมดำเนินไปทั่วแก่บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ย่อมประพฤติด้วยอายตนจริยา.
บุคคลผู้มนสิการว่า ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ย่อมบรรลุคุณวิเศษ ย่อมประพฤติด้วยวิเศษจริยา. จริยา ๘
ประการนี้.

จริยาแม้อีก ๘ ประการ การประพฤติสัมมาทิฏฐิ ชื่อว่าทัสสนจริยา ๑. การประพฤติ
สัมมาสังกัปปะ ชื่อว่าอภิโรปนจริยา ๑. การประพฤติสัมมาวาจา ชื่อว่าปริคคหจริยา ๑.
การประพฤติสัมมากัมมันตะ ชื่อว่าสมุฏฐานจริยา ๑. การประพฤติสัมมาอาชีวะ ชื่อว่าโวทาน-
*จริยา ๑. การประพฤติสัมมาวายามะ ชื่อว่าปัคคหจริยา ๑. การประพฤติสัมมาสติ ชื่อว่าอุปัฏฐาน-
*จริยา ๑. การประพฤติสัมมาสมาธิ ชื่อว่าอวิกเขปจริยา ๑. จริยา ๘ ประการนี้.

คำว่า เหมือนนอแรด ความว่า ขึ้นชื่อว่าแรดมีนอเดียว มิได้มีนอที่สอง ฉันใด
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมเป็นเหมือนนอแรด เช่นกับนอแรด เปรียบด้วยนอแรด
ฉันนั้นเหมือนกัน.

รสเค็มจัด กล่าวกันว่าเหมือนเกลือ รสขมจัด กล่าวกันว่าเหมือนของขม รสหวานจัด
กล่าวกันว่าเหมือนน้ำผึ้ง ของร้อนจัด กล่าวกันว่าเหมือนไฟ ของเย็นจัด กล่าวกันว่าเหมือนหิมะ
ห้วงน้ำใหญ่ กล่าวกันว่าเหมือนสมุทร พระสาวกผู้บรรลุมหาอภิญญาและพลธรรม กล่าวกันว่า
เหมือนพระศาสดา ฉันใด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นเหมือนนอแรด เช่น
กับนอแรด เปรียบด้วยนอแรด เป็นผู้เดียว ไม่มีเพื่อน มีเครื่องผูกอันเปลื้องแล้ว ย่อมเที่ยวไป
เที่ยวไปทั่ว เดินไป พักผ่อน รักษา บำรุง เยียวยา ในโลก โดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
บุคคลวางแล้วซึ่งอาชญาในสัตว์ทั้งปวง ไม่เบียดเบียนสัตว์
เหล่านั้นแม้แต่ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่พึงปรารถนาบุตร จักปรารถนา
สหายแต่ไหน พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป เหมือนนอแรด
ฉะนั้น.
[พระปัจเจกพุทธเจ้าละแล้วซึ่งความเบียดเบียนทั้งหลาย ตลอดจนละโดยสิ้นเชิงในอกุศลธรรมอันเป็นเหตุแห่งความเบียดเบียนเหล่านั้น ตัดซึ่งความผูกพันทางโลกและกาม ไม่ปรารถนาความเป็นเพื่อน เที่ยวสร้างบารมีธรรมไปแต่ผู้เดียวดุจนอแรด มุ่งหวังในพระปัจเจกโพธิญาณอันยอดเยี่ยม]

[๖๖๘] ความรักทั้งหลายย่อมมีแก่บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้อง. ทุกข์นี้
เป็นไปตามความรัก ย่อมปรากฏ. บุคคลเมื่อเห็นโทษอันเกิด
แต่ความรัก พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.

[๖๖๙] ความเกี่ยวข้องมี ๒ อย่าง คือ ความเกี่ยวข้องเพราะได้เห็น ๑ ความเกี่ยวข้อง
เพราะได้ฟัง ๑ ชื่อว่าสังสัคคะ ในอุเทศว่า สํสคฺคชาตสฺส ภวนฺติ เสฺนหา ดังนี้.

ความเกี่ยวข้องเพราะได้เห็นเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นสตรีหรือกุมารีที่มี
รูปสวย น่าดู น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณงามอย่างยิ่ง ครั้นพบเห็นแล้ว ก็ถือ
นิมิตเฉพาะส่วนๆ ว่า ผมงาม หน้างาม นัยน์ตางาม หูงาม จมูกงาม ริมฝีปากงาม ฟันงาม
ปากงาม คิ้วงาม นมงาม อกงาม ท้องงาม เอวงาม ขางาม มืองาม แข้งงาม นิ้วงาม
หรือว่าเล็บงาม ครั้นพบเห็นเข้าแล้ว ย่อมพอใจ รำพันถึง ปรารถนา ติดใจ ผูกพันด้วยอำนาจ
ความรัก. นี้ชื่อว่าความเกี่ยวข้องเพราะได้เห็น.

ความเกี่ยวข้องเพราะได้ฟังเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ฟังว่า ในบ้าน
หรือในนิคมโน้น มีสตรีหรือกุมารีรูปสวย น่าดู น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม
อย่างยิ่ง ครั้นได้ยินได้ฟังแล้ว ย่อมชอบใจ รำพันถึง ปรารถนา ติดใจ ผูกพันด้วยอำนาจ
ความรัก. นี้ชื่อว่าความเกี่ยวข้องเพราะได้ฟัง.

ความรัก ในคำว่า เสนหา มี ๒ อย่าง คือ ความรักด้วยอำนาจตัณหา ๑ ความรัก
ด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑.

ความรักด้วยอำนาจตัณหาเป็นไฉน? สิ่งที่ทำให้เป็นเขต ทำให้เป็นแดน ทำให้เป็นส่วน
ทำให้มีส่วนสุดรอบ การกำหนดถือเอา ความยึดถือว่าของเราโดยส่วนแห่งตัณหาเท่าใด คือ
บุคคลถือเอาว่า สิ่งนี้ของเรา นั่นของเรา สิ่งเท่านั้นของเรา ของๆ เราโดยส่วนเท่านี้ รูปของเรา
เสียงของเรา กลิ่นของเรา รสของเรา โผฏฐัพพะของเรา เครื่องลาดของเรา เครื่องนุ่งห่มของเรา
ทาสีของเรา ทาสของเรา แพะของเรา แกะของเรา ไก่ของเรา สุกรของเรา ช้างของเรา
โคของเรา ม้าของเรา ลาของเรา ไร่นาของเรา ที่ดินของเรา เงินของเรา ทองของเรา
บ้านของเรา นิคมของเรา ราชธานีของเรา แว่นแคว้นของเรา ชนบทของเรา ฉางข้าวของเรา
คลังของเรา ย่อมยึดถือแผ่นดินใหญ่แม้ทั้งสิ้นว่าของเราด้วยอำนาจตัณหา. ตัณหาวิปริต ๑๐๘
นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจตัณหา.

ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิเป็นไฉน? สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ อันตคา-
*หิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ทิฏฐิเห็นปานนี้ ทิฏฐิไปแล้ว ทิฏฐิรกชัฏ ทิฏฐิกันดาร ทิฏฐิเป็นเสี้ยนหนาม
ทิฏฐิกวัดแพว่ง ทิฏฐิเป็นสังโยชน์ ความถือ ความถือเฉพาะ ความถือมั่น ความลูบคลำ ทาง
ผิด คลองผิด ความเป็นผิด ลัทธิแห่งเดียรถีย์ ความถือด้วยการแสวงหาผิด ความถืออันวิปริต
ความถืออันวิปลาส ความถือผิด ความถือว่าจริงในวัตถุอันไม่จริง ทิฏฐิ ๖๒ ประการ. นี้ชื่อว่า
ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ.

คำว่า ความรักทั้งหลายย่อมมีแก่บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้อง ความว่า ความรักด้วยอำนาจ
ตัณหา และความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ย่อมมี คือ ย่อมเกิด ย่อมเกิดพร้อม ย่อมบังเกิด ย่อม
บังเกิดเฉพาะ ย่อมปรากฏ เพราะเหตุแห่งวิปัลลาส และเพราะเหตุแห่งความเกี่ยวข้องด้วยการ
ได้เห็นและการได้ยิน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความรักทั้งหลายย่อมมีแก่บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้อง.

[๖๗๐] ชื่อว่า ความรัก ในอุเทศว่า เสฺนหนฺวยํ ทุกฺขมิทํ ปโหติ ดังนี้ ความรักมี
๒ อย่าง คือ ความรักด้วยอำนาจตัณหา ๑ ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑. ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรัก
ด้วยอำนาจตัณหา. ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ. ฯลฯ

คำว่า ทุกข์นี้ ... ย่อมปรากฎ ความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกาย
ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจ ฆ่าสัตว์บ้าง ถือเอาทรัพย์ ที่เขามิได้ให้บ้าง
ตัดที่ต่อบาง ปล้นหลายเรือนบ้าง ทำการปล้นเฉพาะเรือนหลังเดียวบ้าง ดักตีชิงในทางเปลี่ยว
บ้าง คบชู้ภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง. พวกราชบุรุษจับบุคคลผู้นั้นได้แล้ว ทูลแด่พระ-
*ราชาว่า ขอเดชะ ผู้นี้เป็นโจรประพฤติชั่ว ขอพระองค์ทรงลงอาชญาตามพระประสงค์แก่ผู้นั้น.
พระราชาก็ทรงบริภาษผู้นี้. ผู้นั้นย่อมเสวยทุกขโทมนัส แม้เพราะเหตุแห่งบริภาษ. ทุกข์โทมนัส
อันน่ากลัวนี้เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความยินดี เพราะ
เหตุแห่งความกำหนัด เพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของผู้นั้น. พระราชา
ยังไม่พอพระทัยแม้ด้วยอาชญาเท่านั้น ยังรับสั่งให้จองจำผู้นั้นด้วยการตอกขื่อบ้าง ด้วยการผูก
ด้วยเชือกบ้าง ด้วยการจำด้วยโซ่บ้าง ด้วยการผูกด้วยเถาวัลย์บ้าง ด้วยการกักไว้ในที่ล้อมบ้าง
ด้วยการกักไว้ในบ้านบ้าง ด้วยการกักไว้ในนิคมบ้าง ด้วยการกักไว้ในนครบ้าง ด้วยการกักไว้
ในแว่นแคว้นบ้าง ด้วยการกักไว้ในชนบทบ้าง ทรงทำให้อยู่ในถ้อยคำเป็นที่สุด (ทรงสั่งบังคับเป็น
ที่สุด) ว่า เจ้าจะออกไปจากที่นี้ไม่ได้. ผู้นั้นย่อมเสวยทุกข์โทมนัสแม้เพราะเหตุแห่งพันธนาการ.
ทุกข์โทมนัสอันน่ากลัวนี้ เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความ
ยินดี เพราะเหตุแห่งความกำหนัด และเพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของผู้
นั้น. พระราชายังไม่พอพระทัยด้วยอาชญาเท่านั้น ยังรับสั่งให้ริบทรัพย์ของผู้นั้น ร้อยหนึ่งบ้าง
พันหนึ่งบ้าง. ผู้นั้นย่อมเสวยทุกข์โทมนัสแม้เพราะเหตุแห่งความเสื่อมจากทรัพย์. ทุกข์โทมนัส
อันน่ากลัวนี้เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความยินดี เพราะ
เหตุแห่งความกำหนัด และเพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของผู้นั้น. พระ-
*ราชายังไม่พอพระทัย แม้ด้วยอาชญาเท่านั้น ยังรับสั่งให้ทำกรรมกรณ์ต่างๆ แก่ผู้นั้น คือ
ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ให้ตอกคาบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้ง
มือทั้งเท้าบ้าง ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูทั้งจมูกบ้าง ทำให้เป็นผู้มีหม้อข้าว
เดือดบนศีรษะบ้าง ให้ถลกหนังศีรษะโล้นมีสีขาวเหมือนสังข์บ้าง ให้มีหน้าเหมือนหน้าราหูบ้าง
ทำให้มีไฟลุกที่มือบ้าง ให้ถลกหนังแล้วผูกเชือกฉุดไปบ้าง ให้ถลกหนังเป็นริ้วเหมือนนุ่งผ้า
คากรองบ้าง ทำให้มีห่วงเหล็กที่ศอกและเข่า แล้วใส่หลาวเหล็กตรึงไว้บ้าง ให้เอาเบ็ดเกี่ยว
ติดที่เนื้อปากบ้าง ให้เอาพร้าถากตัวให้ตกไปเท่ากหาปณะบ้าง ให้เอาพร้าถากตัวแล้วทาด้วย
น้ำแสบบ้าง ให้นอนลงแล้วตรึงหลาวเหล็กไว้ในช่องหูบ้าง ให้ถลกหนังแล้วทุบกระดูกพันไว้
เหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมันอันร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินเนื้อที่ตัวบ้าง เอาหลาวเสียบ
เป็นไว้บ้าง และย่อมตัดศีรษะด้วยดาบ. ผู้นั้นย่อมเสวยทุกข์โทมนัส แม้เพราะเหตุแห่งกรรมกรณ์.
ทุกข์โทมนัสอันน่ากลัวนี้เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความยินดี
เพราะเหตุแห่งความกำหนัด และเพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของผู้นั้น.
พระราชาเป็นใหญ่ในการลงอาชญาทั้ง ๔ อย่างนี้. ผู้นั้น เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมของตน. พวกนายนิรยบาลย่อมให้ทำกรรมกรณ์ ซึ่งมีเครื่องจำ
๕ ประการกะสัตว์นั้น คือ ให้ตรึงหลาวเหล็กแดงที่มือ ๒ ข้าง ที่เท้า ๒ ข้าง ที่ท่ามกลางอก.
สัตว์นั้นเสวยทุกขเวทนาอันกล้าแสบเผ็ดร้อนในนรกนั้น แต่ก็ยังไม่ทำกาลกิริยา ตลอดเวลาที่
บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด. ทุกขโทมนัสอันน่ากลัวนี้เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะเหตุแห่งความ
รัก เพราะเหตุแห่งความยินดี เพราะเหตุแห่งความกำหนัด และเพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วย
อำนาจความยินดีของผู้นั้น. พวกนายนิรยบาลให้สัตว์นั้นนอนลงแล้วเอาผึ่งถาก และจับเอาเท้าขึ้น
เอาศีรษะลงแล้วเอาพร้าถาก และให้เทียมสัตว์นั้นเข้าที่รถแล้วให้วิ่งไปบ้าง วิ่งกลับไปบ้าง บน
แผ่นดินที่ไฟติดโชนมีเปลวลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงบ้าง ต้อนให้ขึ้นภูเขาถ่านเพลิงใหญ่ไฟติดโชน
มีเปลวลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงบ้าง ให้กลับลงมาบ้าง และจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นเอาศีรษะลงแล้ว
เหวี่ยงไปในหม้อเหล็กแดงอันไฟติดโชนมีเปลวรุ่งโรจน์โชติช่วง. สัตว์นั้นย่อมเดือดพล่านอยู่ใน
หม้อเหล็กแดงเหมือนฟองน้ำข้าวที่กำลังเดือด สัตว์นั้นเมื่อเดือดร้อนพล่านอยู่ในหม้อเหล็กแดง
เหมือนฟองน้ำข้าวที่กำลังเดือด ไปข้างบนคราวหนึ่งบ้าง ไปข้างล่างคราวหนึ่งบ้าง หมุนขวางไป
คราวหนึ่งบ้าง. สัตว์นั้นเสวยทุกขเวทนาอันกล้าแสบเผ็ดร้อนอยู่ในหม้อเหล็กแดงนั้น แต่ก็ยัง
ไม่ทำกาลกิริยา ตลอดเวลาที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้น. ทุกข์โทมนัสอันน่ากลัวนี้เกิดเพราะอะไร?
เกิดเพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความยินดี เพราะเหตุแห่งความกำหนัด และเพราะ
เหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของผู้นั้น. พวกนายนิรยบาลเหวี่ยงสัตว์นั้นลงในนรก.
ก็แหละนรกนั้นเป็นมหานรก
สี่เหลี่ยม มีสี่ประตู อันบาปกรรมจัดแบ่งออกเป็นส่วนๆ
มีกำแพงเหล็กกั้นไว้เป็นที่สุด ปิดครอบด้วยแผ่นเหล็ก มี
พื้นล้วนเป็นเหล็กไฟลุกโคลงอยู่ แผ่ไปร้อยโยชน์โดยรอบ
ตั้งอยู่ทุกสมัย. นรกใหญ่ ร้อนจัด มีเปลวไฟรุ่งโรจน์ ยากที่จะ
เข้าใกล้ น่าขนลุก น่ากลัว มีภัยเฉพาะหน้า มีแต่ทุกข์.
กองเปลวไปตั้งขึ้นแต่ฝาด้านหน้า เผาเหล่าสัตว์ที่มีกรรม
ลามก ผ่านไปจนจดฝาด้านหลัง. กองเปลวไฟตั้งขึ้นแต่ฝา
ด้านหลัง เผาเหล่าสัตว์ที่มีกรรมลามก ผ่านไปจดฝาด้านหน้า.
กองเปลวไฟตั้งขึ้นแต่ฝาด้านใต้ เผาเหล่าสัตว์ที่มีกรรมลามก
ผ่านไปจนจดฝาด้านเหนือ. กองเปลวไฟตั้งขึ้นแต่ฝาด้านเหนือ
เผาเหล่าสัตว์ที่มีกรรมลามก ผ่านไปจนจดฝาด้านใต้. กอง
เปลวไฟตั้งขึ้นแต่ฝาด้านล่าง น่ากลัว เผาเหล่าสัตว์ที่มีกรรม
ลามก ผ่านไปจนจดฝาปิด. กองเปลวไฟตั้งขึ้นแต่ฝาปิด
น่ากลัว เผาเหล่าสัตว์ที่มีกรรมลามก ผ่านไปจนจดด้านพื้น
ล่าง. แผ่นเหล็กที่ไฟติดทั่ว แดงโชน ไฟโพลง ฉันใด
อเวจีนรกข้างล่าง ก็ปรากฏแก่สัตว์ที่เห็นอยู่ในข้างบน
ฉันนั้น. เหล่าสัตว์ในอเวจีนรกนั้นชั่วช้ามาก ทำกรรมชั่วมาก
มีแต่กรรมลามกอย่างเดียว ถูกไฟไหม้อยู่แต่ไม่ตาย. กาย
ของเหล่าสัตว์ที่อยู่ในนรกนั้นเสมอด้วยไฟ. เชิญดูความ
มั่นคงของกรรมทั้งหลายเถิด. ไม่มีเถ้า แม้แต่เขม่าก็ไม่มี.
เหล่าสัตว์วิ่งไปทางประตูด้านหน้า (ที่เปิดอยู่) กลับจากประตู
ด้านหน้าวิ่งมาประตูด้านหลัง วิ่งไปทางประตูด้านเหนือ
กลับจากประตูด้านเหนือวิ่งมาทางประตูด้านใต้. แม้จะวิ่งไป
ทิศใดๆ ประตูทิศนั้นๆ ก็ปิดเอง. สัตว์เหล่านั้นหวังจะ
ออกไป แสวงหาทางที่จะพ้นไป แต่ก็ออกจากนรกนั้นไป
ไม่ได้ เพราะกรรมเป็นปัจจัย. ด้วยว่ากรรมอันลามก สัตว์
เหล่านั้นทำไว้มาก ยังมิได้ให้ผลหมด ดังนี้.
ทุกข์โทมนัสอันน่ากลัวนี้เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความยินดี
เพราะเหตุแห่งความกำหนัด และเพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของสัตว์นั้น.

ทุกข์อันมีในนรกก็ดี ทุกข์อันมีในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็ดี ทุกข์อันมีในเปรตวิสัยก็ดี
ทุกข์อันมีในมนุษย์ก็ดี เกิดแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว
เพราะเหตุอะไร? ทุกข์เหล่านั้น ย่อมมี ย่อมเป็น ย่อมเกิด เกิดพร้อม บังเกิด บังเกิดเฉพาะ
ย่อมปรากฏ เพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความยินดี เพราะเหตุแห่งความกำหนัด
และเพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของสัตว์นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทุกข์
นี้เป็นไปตามความรักย่อมปรากฏ.

[๖๗๑] ชื่อว่า ความรัก ในอุเทศว่า อาทีนวํ เสฺนหชํ เปกฺขมาโน ดังนี้ ความรัก
มี ๒ อย่าง คือ ความรักด้วยอำนาจตัณหา ๑ ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑. ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรัก
ด้วยอำนาจตัณหา. ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ.

คำว่า เมื่อเห็นโทษอันเกิดแต่ความรัก ความว่า เมื่อเห็น เมื่อแลเห็น เมื่อเพ่งดู
เมื่อพิจารณาเห็น ซึ่งโทษในความรักด้วยอำนาจตัณหา และในความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ เพราะ
ฉะนั้นจึงชื่อว่า เมื่อเห็นโทษอันเกิดแต่ความรัก พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
ความรักทั้งหลายย่อมมีแก่บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้อง. ทุกข์นี้
เป็นไปตามความรัก ย่อมปรากฏ. บุคคลเมื่อเห็นโทษอันเกิด
แต่ความรัก พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
[บุคคลผุ้ยังมีความรักย่อมต้องผูกพันกับผู้อื่นเพราะความรัก ด้วยหวังครอบครองบ้าง ความหลงผิดบ้าง เป็นเหตุให้ประพฤติทุจริตมากมายทางกาย วาจา ใจ ย่อมรับผลกรรมอันเดือดร้อน สาหัสในโลกนี้และโลกหน้า นี้คือเหตุแห่งทุกข์ เมื่อละเสียได้ซึ่งความผูกพัน พึงเที่ยวอบรมบารมีธรรมไปแต่ผู้เดียวประดุจนอแรด]

*************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 08 มิถุนายน 2549
0 comments
Last Update : 8 มิถุนายน 2549 22:17:40 น.
Counter : 3494 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.