Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2548
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
11 พฤศจิกายน 2548
 
All Blogs
 
เรื่องของนิโครธปริพาชก

กล่าวถึงความแตกต่างของการบำเพ็ญเพียรเพื่อความหน่ายจากกิเลส หรือที่เรียกว่าตบะในลัทธิต่างๆกับในพระศาสนาครับ จุดที่น่าสนใจคือบำเพ็ญตบะแล้วกลับก่อเอากิเลสขึ้นมามากมาย เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากครับ พระพุทธองค์ได้ทรงบันลือพระสีหนาทในท่ามกลางเหล่าชนนอกศาสนาถึงตบะที่พระองค์บัญญัติขึ้น ขออัญเชิญเนื้อความมาลง ณ โอกาสนี้ครับ ยกเอาพระสูตรนี้มาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

************************************
๒. อุทุมพริกสูตร (๒๕)

[๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น นิโครธปริพาชก อาศัยอยู่ในปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ประมาณ ๓,๐๐๐ ครั้งนั้น สันธานคฤหบดีออกจากพระนครราชคฤห์ในเวลาบ่ายวันหนึ่งเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค สันธานคฤหบดีดำริว่า เวลานี้ยังไม่เป็นเวลาอันสมควรเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน พระผู้มีพระภาคยังกำลังทรงหลีกเร้นอยู่ แม้ภิกษุทั้งหลายผู้อบรมใจ ก็ไม่ใช่สมัยที่จะพบ ภิกษุทั้งหลายผู้อบรมใจก็ยังหลีกเร้นอยู่ ถ้ากระไร เราควรจะเข้าไปหานิโครธปริพาชกยังปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา จึงเข้าไป ณ ที่นั้น ฯ

[๑๙] สมัยนั้น นิโครธปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ กำลังสนทนาติรัจฉานกถาต่างเรื่อง ด้วยเสียงดั่งลั่นอึกทึก คือพูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องชนบท เรื่องนคร เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องดื่มสุรา เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ พอนิโครธปริพาชกได้เห็นสันธานคฤหบดีมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนให้สงบว่า ขอท่านทั้งหลายเบาๆ เสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอึงนัก สันธานคฤหบดีนี้ เป็นสาวกของพระสมณโคดมกำลังมา สาวกของพระสมณโคดมที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาวมีประมาณเท่าใด อาศัยอยู่ในเมืองราชคฤห์ บรรดาสาวกเหล่านั้น สันธานคฤหบดีนี้เป็นสาวกคนหนึ่ง ท่านเหล่านั้นชอบเสียงเบาและกล่าวสรรเสริญคุณของเสียงเบา บางทีสันธานคฤหบดีนี้ทราบว่า บริษัทมีเสียงเบาแล้ว พึงสำคัญที่จะเข้ามาก็ได้ เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นได้พากันนิ่งอยู่ ฯ
[สันธานคฤหบดีผู้เป็นอุบาสก สาวกแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แวะไปสนทนากับนิโครธปริพาชกกับพวกในเวลาเช้าตรู่]

[๒๐] ครั้งนั้นแล สันธานคฤหบดีเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับนิโครธปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวกะนิโครธปริพาชกว่า พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้เจริญเหล่านี้ มาพบมาประชุมพร้อมกันแล้วมีเสียงดังลั่นอึกทึก ขวนขวายติรัจฉานกถาต่างเรื่องอยู่โดยประการอื่นแล คือขวนขวายเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ ด้วยประการนั้นๆ ส่วนพระผู้มีพระภาคนั้น พระองค์ทรงเสพราวไพรในป่า เสนาสนะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย ปราศจากลมแต่ชนผู้เดินเข้าออก สมควรแก่การทำกรรมอันเร้นลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกเร้นโดยประการอื่นแล เมื่อสันธานคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กล่าวกะสันธานคฤหบดีว่า เอาเถิด คฤหบดี ท่านพึงรู้พระสมณโคดมจะทรงเจรจากับใคร จะถึงการสนทนาด้วยใคร จะถึงความเป็นผู้ฉลาดด้วยพระปัญญา กว่าใคร พระปัญญาของพระสมณโคดมฉิบหายเสียในเรือนอันสงัด พระสมณโคดมไม่กล้าเสด็จเที่ยวไปในบริษัท ไม่สามารถเพื่อจะทรงเจรจา พระองค์ท่านทรงเสพที่อันสงัด ณ ภายในอย่างเดียว อุปมาเหมือนแม่โคบอดเที่ยววนเวียน เสพที่อันสงัด ณ ภายใน ฉะนั้น เอาเถิด คฤหบดี พระสมณโคดมพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ พวกข้าพเจ้าพึงสนทนากะพระองค์ท่านด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เห็นจักพึงบีบรัดพระองค์ท่านเหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่า ฉะนั้น ฯ
[สันธานคฤหบดีกล่าวว่าพวกปริพาชกมาประชุมกันแล้วส่งเสียงดังอึกทึก ส่วนพระศาสดาทรงประทับในที่อันสงัด พอใจในราวป่าซึ่งมีเสียงน้อย นิโครธปริพาชกกล่าวว่าตนมีปัญญาเหนือกว่าพระศาสดา จักทำให้พระพุทธองค์อับจนด้วยถ้อยคำและเหตุผลได้โดยง่าย]

[๒๑] พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับการเจรจาของสันธานคฤหบดี กับนิโครธปริพาชกนี้ด้วยพระทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏ แล้วเสด็จเข้าไปยังที่ให้เหยื่อแก่นกยูงที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา ครั้นแล้ว เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ ที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา พอนิโครธปริพาชกได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ ที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา จึงห้ามบริษัทของตนให้สงบว่า ขอท่านทั้งหลายเบาๆ เสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอึงนัก พระสมณโคดมนี้ เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ ที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา พระองค์ท่านโปรดเสียงเบา และกล่าวสรรเสริญคุณของเสียงเบา บางทีพระองค์ท่านทรงทราบว่า บริษัทนี้มีเสียงเบาแล้ว พึงสำคัญที่จะเสด็จเข้ามาก็ได้ ถ้าว่าพระสมณโคดมจะพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ไซร้ เราจะพึงทูลถามปัญหากะพระองค์ท่านว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของพระผู้มีพระภาคสำหรับทรงแนะนำพระสาวกนั้นชื่ออะไร ธรรมชื่ออะไร สำหรับรู้แจ้งชัดอาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพระสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำ แล้วถึงความยินดี เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นได้พากันนิ่งอยู่ ฯ
[พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เขาคิชฌกฏ ทรงทราบความนี้ด้วยพระทิพยยโสต ได้เสด็จลงมา ณ ที่นั้น นิโครธปริพาชกเห็นแล้วได้เชิญพระองค์เสด็จมาเพื่อจะได้ทูลถามถึงข้อธรรมว่าพระองค์แนะนำธรรมใดแก่พระสาวกเพื่อความหลุดพ้น]

[๒๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหานิโครธปริพาชก ถึงที่อยู่แล้ว นิโครธปริพาชกจึงกราบทูลเชิญพระผู้มีพระภาคว่า ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเสด็จมาเถิด พระเจ้าข้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว นานๆ พระองค์จึงจะมีโอกาสเสด็จมาที่นี่ ขอเชิญประทับนั่ง นี้อาสนะที่จัดไว้ พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ ฝ่ายนิโครธปริพาชกถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ฯ

พระผู้มีพระภาครับสั่งถามนิโครธปริพาชกว่า ดูกรนิโครธะ บัดนี้ พวกท่านนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ และเรื่องอะไรเล่าที่พวกท่านสนทนาค้างอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ ที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าว่าพระสมณโคดมจะพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ไซร้ พวกเราจะพึงถามปัญหานี้กะพระองค์ท่านว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของพระผู้มีพระภาคสำหรับทรงแนะนำพระสาวกนั้นชื่ออะไร ธรรมชื่ออะไรสำหรับรู้แจ้งชัด อาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพระสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำ แล้วถึงความยินดี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้แลที่พวกข้าพระองค์สนทนาค้างอยู่ พอดีพระองค์เสด็จมาถึง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ การที่ท่านมีความเห็นไปทางหนึ่ง มีความพอใจไปทางหนึ่ง มีความชอบใจไปทางหนึ่ง ไม่มีความพยายาม ไม่มีลัทธิอาจารย์ ยากที่จะรู้ธรรมที่เราแนะนำพระสาวก ยากที่จะรู้ธรรมสำหรับรู้แจ้งชัด อาทิ พรหมจรรย์อันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพระสาวกที่เราแนะนำ แล้วถึงความยินดี เชิญเถิดนิโครธะ ท่านจงถามปัญหาในการหน่ายบาปอย่างยิ่ง ในลัทธิอาจารย์ของตนกะเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ การหน่ายบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์ มีอย่างไรหนอแล ที่ไม่บริบูรณ์ มีอย่างไร เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นได้เป็นผู้มีเสียงดังลั่นอึกทึกขึ้นว่า อัศจรรย์นัก ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมา ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดมมีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก พระองค์จักหยุดวาทะของพระองค์ไว้ จักปวารณาด้วยวาทะของผู้อื่น ฯ
[พระผู้มีพระภาคทราบถึงความประสงค์ของนิโครธปริพาชกแล้ว ตรัสว่านิโครธปริพาชกปราศจากความเพียร ไม่มีลัทธิของตน ยากจะเข้าใจธรรมของพระองค์ จึงให้นิโครธปริพาชกถามปัญหาข้อแนะนำเรื่องการบำเพ็ญตบะเพื่อละกิเลส]

[๒๓] ครั้งนั้น นิโครธปริพาชกห้ามพวกปริพาชกเหล่านั้นให้เบาเสียงแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์แล กล่าวการหน่ายปาปด้วยตบะ ติดการหน่ายบาปด้วยตบะอยู่ การหน่ายบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์มีอย่างไรหนอแล ที่ไม่บริบูรณ์ มีอย่างไร ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้เป็นคนเปลือย ไร้มรรยาท เลียมือ เขาเชิญให้รับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่รับภิกษาที่เขานำมาไว้ก่อน ไม่รับภิกษาที่เขาทำเฉพาะ ไม่รับภิกษาที่เขานิมนต์ เขาไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากหม้อข้าว ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมธรณีประตูนำมา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมครกนำมา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมสากนำมา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมท่อนไม้นำมา ไม่รับภิกษาของคน ๒ คนที่กำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กำลังให้ลูกดื่มนม ไม่รับภิกษาที่เขานัดแนะกันทำไว้ ไม่รับภิกษาในที่ซึ่งสุนัขได้รับเลี้ยงดู ไม่รับในที่แมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ภิกษา ไม่ดื่มยาดอง เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๒ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง ๒ ใบบ้าง ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่มีระหว่างเว้นวันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมา มีระหว่างเว้นตั้งกึ่งเดือนเช่นนี้บ้าง เขาเป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มียางหรือสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีกำยานเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเง่าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นเองเยียวยาอัตภาพ เขาทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้างหนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอกรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์บ้าง ผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือประกอบความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ยืนคือห้ามอาสนะบ้าง เป็นผู้กระโหย่ง คือประกอบความเพียรในการกระโหย่งบ้าง เป็นผู้นอนบนหนามคือสำเร็จการนอนบนหนามบ้าง สำเร็จการนอนบนแผ่นกระดานบ้าง สำเร็จการนอนบนเนินดินบ้าง เป็นผู้นอนตะแคงข้างเดียวบ้าง เป็นผู้หมักหมมด้วยธุลีบ้าง เป็นผู้อยู่กลางแจ้งบ้าง เป็นผู้นั่งบนอาสนะตามที่ลาดไว้บ้าง เป็นผู้บริโภคคูถ คือประกอบความขวนขวายในการบริโภคคูถบ้าง เป็นผู้ห้ามน้ำเย็น คือขวนขวายในการห้ามน้ำเย็นบ้าง เป็นผู้อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือประกอบความขวนขวายในการลงน้ำบ้าง ดูกรนิโครธะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยตบะ เป็นการหน่ายบริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์ ฯ
[เมื่อนิโครธปริพาชกถามแล้ว พระพุทธองค์ตรัสยกตัวอย่างถึงตบะของลัทธิต่างๆมากมายซึ่งไม่เป็นไปเพื่อความสิ้นกิเลส มีประโยชน์น้อย ยกตัวอย่างเช่นการตั้งบัญญัติอันเคร่งครัดในการรับอาหารจากผู้ถวาย ข้อบัญญัติในการรับประทานอาหาร ข้อบัญญัติเรื่องการแต่งตัว ข้อบัญญัติเรื่องการนอน เป็นต้น ถามความเห็นนิโครธปริพาชกว่ามีประโยชน์อันบริบูรณ์หรือไม่]

นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยตบะ เป็นการหน่ายบริบูรณ์หามิได้ ฯ
[นิโครธปริพาชกแสดงความเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์โดยบริบูรณ์แก่ผู้ปฏิบัติ]

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ เรากล่าวอุปกิเลสมากอย่างในการหน่ายบาปด้วยตบะ แม้ที่บริบูรณ์แล้ว อย่างนี้แล ฯ
[พระพุทธองค์ตรัสว่า ถึงแม้ตบะใดมีประโยชน์บริบูรณ์ก็ตามที ก็เป็นเหตุที่มาแห่งอุปกิเลสมากมายเมื่อไปยึดถือเอาเป็นข้อปฏิบัติอันสำคัญยิ่ง ดังพระองค์จะยกตัวอย่าง]

[๒๔] นิโครธปริพาชกทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสอุปกิเลสมากอย่างในการหน่ายบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ อย่างไรเล่า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ย่อมถือมั่นตบะ เขาเป็นผู้ดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[ความดีใจ อิ่มใจในความบริบูรณ์แห่งตบะนั้นเป็นกิเลสในเบื้องต้น]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ยกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เมื่อเป็นดังนี้ เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมเมา ย่อมลืมสติ ย่อมถึงความเมาด้วยตบะนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ เมา ลืมสติ ถึงความเมาด้วยตบะนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เขามัวเมา ลืมสติในตบะข้อนั้น]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาเป็นผู้ดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เขาได้รับลาภ ความเคารพ คำสรรเสริญเพราะตบะที่เขายึดมั่น ดีใจ อิ่มใจในลาภ ความเคารพ คำสรรเสริญเพราะตบะนั้น]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วยสักการะและความสรรเสริญนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น ยกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้นนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เขายกตนข่มผู้อื่นจากการที่ได้รับลาภ ความเคารพ คำสรรเสริญเพราะตบะนั้น]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาย่อมเมา ย่อมลืมสติ ย่อมถึงความเมาด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เมา ลืมสติ ถึงความเมาด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เขาลุ่มหลง มัวเมา ขาดสติเพราะลาภ ความเคารพ คำสรรเสริญเพราะตบะนั้น]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมถือมั่นตบะ ย่อมถึงส่วน ๒ ในโภชนะทั้งหลายว่า สิ่งนี้ควรแก่เรา สิ่งนี้ไม่ควรแก่เรา ก็สิ่งใดแลไม่ควรแก่เขา เขามุ่งละสิ่งนั้นเสีย แต่ส่วนสิ่งใดควรแก่เขา เขากำหนัด ลืมสติ ติดสิ่งนั้น ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภคอยู่ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เขาตั้งข้อรังเกียจในลาภสักการะที่เขาไม่พึงใจ สิ่งที่เขาพึงใจนั้น เขายึดติด มีความกำหนัด]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมถือมั่นตบะด้วยคิดว่า พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชากษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี เดียรถีย์ จักสักการะเรา เพราะเหตุแห่งความใคร่ลาภสักการะและความสรรเสริญ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เขามีความคิดว่า เมื่อบริบูรณ์ด้วยตบะเช่นนี้ แม้พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชากษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี เดียรถีย์ ย่อมสักการะเขา]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมเป็นผู้รุกรานสมณะหรือพราหมณ์อื่นแต่ที่ไหนๆ ว่า ก็ไฉน ผู้นี้เลี้ยงชีพด้วยวัตถุหลายอย่าง กินวัตถุทุกๆ อย่าง คือพืชเกิดแต่เง่า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ครบห้า ปลายฟันของผู้นี้คมประดุจสายฟ้า คนทั้งหลายย่อมจำกันได้ด้วยวาทะว่าเป็นสมณะ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาย่อมรุกรานสมณะและพราหมณ์อื่นๆ เพราะไม่มีตบะบางข้อที่เคร่งครัดเช่นเขา]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่น ที่เขาสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ในสกุลทั้งหลาย เขาดำริอย่างนี้ว่า คนทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา สมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้แล ผู้เลี้ยงชีพด้วยวัตถุหลายอย่าง ในสกุลทั้งหลาย แต่ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาเราผู้มีตบะ เลี้ยงชีพด้วยวัตถุเศร้าหมอง เขาเป็นผู้ให้ความริษยาและความตระหนี่เกิดขึ้นในสกุลทั้งหลาย ดังนี้ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เขาริษยาและตระหนี่ในผู้ที่เคารพ สักการะในสมณะ พราหมณ์อื่น ทั้งที่สมณะและพราหมณ์นั้นไม่มีตบะอันเคร่งครัดเช่นเขา]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ เป็นผู้นั่งในที่เป็นทางที่คนแลเห็น แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เขายินดีต่อการให้ผู้คนแลเห็น]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ย่อมเที่ยวแสดงตนไปในสกุลทั้งหลายว่า กรรมแม้นี้อยู่ในตบะของเรา กรรมแม้นี้อยู่ในตบะของเรา แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เขาเที่ยวแสดงผลกรรมอันดีในตบะของตนแก่บรรดาผู้มีสกุล]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมเสพโทษอันปกปิดบางอย่าง เขาถูกผู้อื่นถามว่า โทษนี้ควรแก่ท่านหรือ กล่าวโทษที่ไม่ควรว่าควรกล่าวโทษที่ควรว่าไม่ควร เขาเป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ ดังนี้ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เขาลักลอบทำความผิดโดยปกปิดแก่ผู้อื่น บิดเบือนข้อเท็จจริงในสิ่งที่ควรและไม่ควร กล่าวความเท็จโดยจงใจ]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ เมื่อพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตแสดงธรรมอยู่ ย่อมไม่ผ่อนตามปริยายซึ่งควรจะผ่อนตามอันมีอยู่ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เมื่อพระตถาคตหรือพระสาวกแสดงธรรม ผู้ยึดมั่นในตบะของตนก็ไม่รับฟังและไม่คล้อยตาม]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้มักโกรธ มักผูกโกรธ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เชายึดมั่นในตบะของตน เป็นคนผูกความโกรธโดยง่าย]

ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้มีความลบหลู่ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด มีมารยา กระด้าง ถือตัวจัด เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไปสู่อำนาจแห่งความปรารถนาอันลามก เป็นมิจฉาทิฐิ ประกอบด้วยทิฐิอันดิ่งถึงที่สุด เป็นผู้ลูบคลำทิฐิเอง เป็นผู้ถือมั่น สละคืนได้ยาก แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
[เขาถึงพร้อมด้วยการดูถูกผู้อื่น ตีเสมอผู้อื่น ริษยาผู้อื่น ตระหนี่ ชอบโอ้อวด มักแสดงมารยา เป็นคนไม่มีอัธยาศัยอันนุ่มนวล ถือตัว มีความปรารถนาอันลามก คล้อยไปตามความปรารถนาอันลามก มีความเห็นผิด มีความเห็นอันสุดโต่ง ยึดถือความเห็นของตนว่าถูกด้วยเหตุผลที่ตนเองคิดขึ้น ยากที่จะเปลี่ยนความคิด]

ดูกรนิโครธะ ท่านจะพึงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การหน่ายบาปด้วยตบะเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสหรือไม่เป็นอุปกิเลส ฯ

นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การหน่ายบาปด้วยตบะเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสแน่แท้ ไม่เป็นอุปกิเลสหามิได้ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ พึงเป็นผู้ประกอบด้วยอุปกิเลสเหล่านี้มีครบทุกอย่าง ข้อนี้แล เป็นฐานะที่จะมีได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงอุปกิเลสเพียงบางข้อๆ ฯ
[นิโครธปริพาชกมีความเห็นว่าที่พระพุทธองค์กล่าวมานั้นว่าเป็นกิเลสจริงๆสำหรับผู้ยึดมั่นในตบะ]

(ยังมีต่อ)


Create Date : 11 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 11 พฤศจิกายน 2548 15:51:12 น. 0 comments
Counter : 653 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.