Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
10 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 
ภิกษุผู้เป็นนักรบอาชีพในพระศาสนา

พระสุตรในวันนี้มาจากโยธาชีววรรคครับ คือว่าด้วยเรื่องของภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมสามประการ เปรียบดังนักรบอาชีพในพระศาสนา (คือเป็นผู้จรรโลงพระศาสนาให้ยั่งยืน)ครับ

พระสูตรยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 12 อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ตติยปัณณาสก์ ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

****************************************
โยธาชีววรรคที่ ๔

โยธสูตร

[๕๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพประกอบด้วยองค์ ๓ ประการสมควรแก่พระราชา เหมาะแก่พระราชา ถึงการนับว่าเป็นองค์ของพระราชาโดยแท้ องค์ ๓ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพในโลกนี้ ยิงลูกศรไปได้ไกล ๑ ยิงไม่พลาด ๑ ทำลายกายขนาดใหญ่ได้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้แล สมควรแก่พระราชา เหมาะแก่พระราชา ถึงการนับว่าเป็นองค์ของพระราชาโดยแท้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า องค์ ๓ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยิงลูกศรไปได้ไกล ๑ ยิงไม่พลาด ๑ ทำลายกายขนาดใหญ่ได้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุยิงลูกศรไปได้ไกลอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... ย่อมพิจารณาเห็นสังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ... ย่อมพิจารณาเห็นวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิงลูกศรไปได้ไกลอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุยิงไม่ผิดพลาดอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้ทุกข์เกิด นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังไม่ผิดพลาดอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำลายกองอวิชชาใหญ่ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทำลายกายขนาดใหญ่ได้อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
[นักรบอาชีพประกอบด้วยองค์สามประการ ถึงการนับว่าสมควรแก่พระราชา องค์สามประการนั้นคือ
1.ยิงลูกศรไปได้ไกล
2.ยิงไม่พลาด
3.ทำลายกายขนาดใหญ่ได้

ฉันใดก็ฉันนั้น ภิกษุในธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยองค์สามประการ ย่อมนับว่าสมควรแก่การสืบทอดพระศาสนา องค์สามประการนั้นคือ
1.ยิงลูกศรไปได้ไกล กล่าวคือ พิจารณาเห็นขันธ์ห้า ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ในที่ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนี้ด้วยปัญญาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
2.ยิงไม่พลาด กล่าวคือ รู้ในอริยสัจจ์4
3.ทำลายกายขนาดใหญ่ได้ กล่าวคือ ทำลายกองอวิชชาใหญ่ได้]


ปริสสูตร

[๕๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๓ จำพวกนี้ ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บริษัทที่แนะนำได้ยาก ๑ บริษัทที่แนะนำได้ง่าย ๑ บริษัทที่แนะนำแต่พอประมาณก็รู้ได้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๓ จำพวกนี้แล ฯ
[บริษัท (หมายถึงกลุ่มคนที่สมาชิกต่างถือกันว่ามีความคิดในทางเดียวกัน สอดคล้องกัน) ในพระศาสนามีสามชนิดคือ
1.บริษัทที่แนะนำได้ยาก
2.บริษัทที่แนะนำได้ง่าย
3.บริษัทที่แนะนำแต่พอประมาณก็รู้ได้]


มิตตสูตร

[๕๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิตรผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ควรคบไว้ องค์ ๓ เป็นไฉน คือ ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก ๑ ช่วยทำสิ่งที่ทำได้ยาก ๑ อดทนสิ่งที่ทนได้ยาก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิตรผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล ควรคบไว้ ฯ
[มิตรที่ประกอบด้วยองค์ครบสามประการนี้ควรคบไว้ องค์สามประการคือ
1.มิตรผู้ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก
2.มิตรผู้ช่วยทำสิ่งที่ทำได้ยาก
3.มิตรผู้อดทนสิ่งที่ทนได้ยาก]


อุปปาทสูตร

[๕๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดาก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯ
[พระผู้มีพระภาคตรัสว่าไม่ว่าพระองค์จะตรัสรู้ อุบัติขึ้นในโลกหรือไม่ก็ตาม สัจธรรมทั้งหลายที่มีความตั้งอยู่ เป็นไปตามธรรมดา ก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้น พระองค์ตรัสรู้ในธรรมว่า
1.สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
2.สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
3.ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
สิ่งที่พระองค์ทรงกระทำคือการบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายในธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ เพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์นั้นเอง]


เกสกัมพลสูตร

[๕๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมมนุษย์ บัณฑิตกล่าวว่าเลวกว่าผ้าที่ช่างหูกทอแล้วทุกชนิด ผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมมนุษย์ในฤดูหนาวก็เย็น ในฤดูร้อนก็ร้อน สีน่าเกลียด กลิ่นเหม็น สัมผัสไม่สบาย แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาทะของเจ้าลัทธิชื่อว่ามักขลิ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล บัณฑิตกล่าวว่าเลวกว่าวาทะของสมณะทุกพวก เจ้าลัทธิชื่อว่ามักขลิเป็นโมฆบุรุษ มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้มีแล้วในอดีตกาล ก็เป็นผู้ตรัสกรรม ตรัสกิริยา และตรัสความเพียร ถึงพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็ถูกโมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิคัดค้านว่า กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จักมีในอนาคตกาล ก็จักเป็นผู้ตรัสกรรม ตรัสกิริยา ตรัสความเพียร ถึงพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็ถูกโมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิคัดค้านว่า กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี แม้เราผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็กล่าวกรรม กล่าวกิริยา กล่าวความเพียร แม้เราก็ถูกโมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิคัดค้านว่า กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลพึงวางไซดักปลาไว้ที่ปากอ่าว เพื่อใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ เพื่อความฉิบหาย เพื่อความพินาศแก่ปลาเป็นอันมาก แม้ฉันใด โมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เป็นเหมือนไซดักมนุษย์ เกิดขึ้นในโลกแล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ เพื่อทุกข์ เพื่อความฉิบหาย เพื่อความพินาศแก่สัตว์เป็นอันมาก ฯ
[พระผู้มีพระภาคตรัสถึงวาทะของเจ้าลัทธิชื่อมักขลิว่ามีวาทะเลวกว่าของสมณะทุกพวก เป็นโมฆบุรุษ เปรียบเหมือนผ้าอันทำด้วยเส้นผม มีสี กลิ่น และสัมผัสอันเลวกว่าผ้าชนิดอื่น วาทะของมักขลิคือ
1.กรรมไม่มี - บุญกุศลตลอดจนบาปไม่มี
2.กิริยาไม่มี - การกระทำดีไม่มีประโยชน์ การทำชั่วก็ไม่มีโทษ
3.ความเพียรไม่มี - การปรารภความเพียรไม่มีผล

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้มีแล้วในอดีตกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จักมีในอนาคตกาล แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ทรงเป็นผู้ตรัสกรรม ตรัสกิริยา ตรัสความเพียร พระผู้มีพระภาคทุกพระองค์เหล่านั้น ถูกโมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิคัดค้านว่า กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี เปรียบเหมือนบุคคลวางไซดักปลาไว้ที่ปากอ่าวเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เพื่อความฉิบหาย เพื่อความพินาศแก่ปลาเป็นอันมาก ฉันใดก็ฉันนั้น โมฆบุรุษชื่อมักขลิเป็นเหมือนไซดักมนุษย์ เกิดขึ้นในโลกแล้วเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เพื่อความฉิบหาย เพื่อความพินาศแก่สัตว์เป็นอันมาก]


สัมปทาสูตร

[๕๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ สัทธาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา ๑ สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล ๑ ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๓ อย่างนี้แล ฯ
[สัมปทา(ความถึงพร้อม)สามประการ คือ
1.สัทธาสัมปทา-ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา
2.สีลสัมปทา-ความถึงพร้อมด้วยศีล
3.ปัญญาสัมปทา-ความถึงพร้อมด้วยปัญญา]


วุฑฒิสูตร

[๕๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วุฑฒิ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ สัทธาวุฑฒิ ความเจริญแห่งศรัทธา ๑ สีลวุฑฒิ ความเจริญแห่งศีล ๑ ปัญญาวุฑฒิ ความเจริญแห่งปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย วุฑฒิ ๓ อย่างนี้แล ฯ
[วุฑฒิ(ความเจริญ)สามประการ คือ
1.สัทธาวุฑฒิ-ความเจริญแห่งศรัทธา
2.สีลวุฑฒิ-ความเจริญแห่งศีล
3.ปัญญาวุฑฒิ-ความเจริญแห่งปัญญา]


อัสสสูตรที่ ๑

[๕๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงม้ากระจอก ๓ จำพวกและบุรุษกระจอก ๓ จำพวก เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ม้ากระจอก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ เป็นสัตว์สมบูรณ์ด้วยกำลังเครื่องวิ่งเร็ว แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยสี ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ เป็นสัตว์สมบูรณ์ด้วยกำลังเครื่องวิ่งเร็ว สมบูรณ์ด้วยสี แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ เป็นสัตว์สมบูรณ์ด้วยกำลังเครื่องวิ่งเร็ว สมบูรณ์ด้วยสี และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้ากระจอก ๓ จำพวกนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุรุษกระจอก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุรุษกระจอกบางคนในโลกนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ บุรุษกระจอกบางคนในโลกนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ และสมบูรณ์ด้วยวรรณะ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ บุรุษกระจอกบางคนในโลกนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษกระจอกเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรากล่าวว่านี้เป็นเชาวน์ของเขา แต่เมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็จนปัญญา วิสัชนาไม่ได้ เรากล่าวว่า นี้ไม่ใช่วรรณะของเขา และเขาย่อมไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เรากล่าวว่า นี้ไม่ใช่ความสูงและความใหญ่ของเขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษกระจอกสมบูรณ์ด้วยเชาวน์ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษกระจอกเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ และสมบูรณ์ด้วยวรรณะ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรากล่าวว่า นี้เป็นเชาวน์ของเขา และเมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาได้ ไม่จนปัญญา เรากล่าวว่า นี้เป็นวรรณะของเขา แต่เขาไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เรากล่าวว่า นี้ไม่ใช่ความสูงและความใหญ่ของเขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษกระจอกเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ และสมบูรณ์ด้วยวรรณะ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษกระจอกสมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรากล่าวว่า นี้เป็นเชาวน์ของเขา และเมื่อถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาได้ ไม่จนปัญญา เรากล่าวว่า นี้เป็นวรรณะของเขา และเขามักได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เรากล่าวว่า นี้เป็นความสูงและความใหญ่ของเขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษกระจอกเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษกระจอก ๓ จำพวกนี้แล ฯ
[พระผู้มีพระภาคทรงอธิบายถึงม้ากระจอก(หมายถึงม้าพันธ์เลว)สามจำพวกคือ
1.ม้ากระจอกวิ่งเร็ว มีวรรณคือสีไม่ดี ไม่มีความสูงใหญ่
2.ม้ากระจอกวิ่งเร็ว มีวรรณคือสีดี ไม่มีความสูงใหญ่
3.ม้ากระจอกวิ่งเร็ว มีวรรณคือสีดี มีความสูงใหญ่

ฉันใดก็ฉันนั้น บุรุษกระจอกในพระศาสนานี้มีสามจำพวกคือ
1.บุรุษกระจอกสมบูรณ์ด้วยเชาวน์ ไม่สมบูรณ์ด้วยวรณะ ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ กล่าวคือภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ในอริยสัจจ์4นี้คือมีเชาวน์ดี เมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาไม่ได้พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีวรรณะไม่ดี เขาไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (หมายถึงไม่สามารถยังความศรัทธา
แก่ทายก)พระผู้มีพระภาคตรัสว่าไม่มีความสูงใหญ่
2.บุรุษกระจอกสมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรณะ สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ กล่าวคือภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ในอริยสัจจ์4นี้คือมีเชาวน์ดี เมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาได้พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีวรรณะดี เขาไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (หมายถึงไม่สามารถยังความศรัทธาแก่ทายก)พระผู้มีพระภาคตรัสว่าไม่มีความสูงใหญ่
3.บุรุษกระจอกสมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรณะ สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ กล่าวคือภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ในอริยสัจจ์4นี้คือมีเชาวน์ดี เมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาได้พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีวรรณะดี เขาได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (หมายถึงสามารถยังความศรัทธาแก่ทายก)พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีความสูงใหญ่]


(ยังมีต่อ)


Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2549
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2549 16:18:47 น. 0 comments
Counter : 444 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.