Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
26 ธันวาคม 2548
 
All Blogs
 

มิจฉาทิฏฐิคือความเห็นอันสุดโต่ง

เรื่องของปฎิจจสมุปบาทและสัมมาทิฏฐินั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ดังจะได้ยกเอาพระสูตรมาแสดง ครั้งนี้จะขยายความในเนื้อหาพระสูตรมากสักหน่อยครับ ดังนั้นจะไม่กล่าวตรงบทนำนี้มากกว่านี้ นอกจากบอกว่าจุดประสงค์ของพระสูตรในวันนี้นั้นคือเพิ่มเติมความเข้าใจในเรื่องของสัมมาทิฏฐิขึ้นแก่ผู้ที่สนใจเข้ามาอ่านครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ อาหารวรรคที่ ๒ ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

**********************************
อาหารวรรคที่ ๒

๑. อาหารสูตร

[๒๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ เหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ เป็นไฉน คือ [๑] กวฬีการาหารหยาบ หรือละเอียด [๒] ผัสสาหาร [๓] มโนสัญเจตนาหาร [๔] วิญญาณาหาร อาหาร ๔ เหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด ฯ
[สิ่งมีชีวิตจะดำรงอยู่ได้ย่อมต้องอาศัยอาหารเป็นปัจจัยคอยบำรุง พระผู้มีพระภาคทรงอธิบายไว้ว่าอาหารมี 4 ประการ มีอาทิเช่นกวฬิการาหาร (อาหารที่บริโภค) ผัสสาหาร(อาหารที่เป็นต้นเหตุแห่งเวทนา คือความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์) เป็นต้น]

[๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาหาร ๔ เหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด อาหาร ๔ เหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด ก็ตัณหานี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ตัณหามีเวทนาเป็นเหตุ มีเวทนาเป็นที่ตั้งขึ้น มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด ก็เวทนานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เวทนามีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นที่ตั้งขึ้น มีผัสสะเป็นกำเนิด มีผัสสะเป็นแดนเกิด ก็ผัสสะนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ผัสสะมีสฬายตนะเป็นเหตุ มีสฬายตนะเป็นที่ตั้งขึ้น มีสฬายตนะเป็นกำเนิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด ก็สฬายตนะนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด สฬายตนะมีนามรูปเป็นเหตุ มีนามรูปเป็นที่ตั้งขึ้น มีนามรูปเป็นกำเนิด มีนามรูปเป็นแดนเกิด ก็นามรูปนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด นามรูปมีวิญญาณเป็นเหตุ มีวิญญาณเป็นที่ตั้งขึ้น มีวิญญาณเป็นกำเนิด มีวิญญาณเป็นแดนเกิด ก็วิญญาณนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด วิญญาณมีสังขารเป็นเหตุ มีสังขารเป็นที่ตั้งขึ้น มีสังขารเป็นกำเนิด มีสังขารเป็นแดนเกิด ก็สังขารเหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นที่ตั้งขึ้น มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ ... ดังพรรณนามาฉะนี้ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
[อาหาร 4 ที่กล่าวนี้มีตัณหาเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น เมื่อกล่าวไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทกก็มาสรุปได้ว่ามีที่มาเป็นเบื้องต้นคืออวิชชานั่นเอง]

[๓๐] ก็เพราะอวิชชานั้นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๑

๒. ผัคคุนสูตร

[๓๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ เหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ เป็นไฉน คือ [๑] กวฬีการาหาร หยาบหรือละเอียด [๒] ผัสสาหาร [๓] มโนสัญเจตนาหาร [๔] วิญญาณาหาร อาหาร ๔ เหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด ฯ

[๓๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระโมลิยผัคคุนะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมกลืนกินวิญญาณาหาร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า กลืนกิน [วิญญาณาหาร] ถ้าเรากล่าวว่ากลืนกิน [วิญญาณาหาร] ควรตั้งปัญหาในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมกลืนกิน [วิญญาณาหาร] แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ใดพึงถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า วิญญาณาหารย่อมมีเพื่ออะไรหนอ อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่างในปัญหานั้นว่าวิญญาณาหารย่อมมีเพื่อความบังเกิดในภพใหม่ต่อไป เมื่อวิญญาณาหารนั้นเกิดมีแล้ว จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ฯ
[นอกจากกวิฬิการาหารแล้ว เรื่องของวิญญาณาหาร และอาหารอีกสองข้อนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ศึกษาพระศาสนาหลายท่านไม่คุ้นเคย ดังนั้นเอง ท่านพระโมลิยผัคคุนะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ใครย่อมเป็นผู้กลืนกินวิญญาณาหาร พระองค์ตรัสว่าคำถามไม่ถูกต้อง เพราะพระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสว่าวิญญาณาหารนั้นถูกกลืนกิน คำถามที่ควรถามคือวิญญาณาหารนั้นย่อมมีเพื่ออะไร พระองค์เฉลยว่า วิญญาณาหารมีเพื่อความบังเกิดในภพใหม่ต่อไป เมื่อมีวิญญาณาหารแล้วจึงเกิดอายตนะทั้งหก และเมื่อมีอายตนะทั้งหกแล้วจึงจึงเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ แต่หากตัณหาดับลงสนิท วิญญาณาหารย่อมไม่บังเกิด เพราะวิญญาณาหารไม่บังเกิด อายตนะทั้งหกก็ไม่บังเกิด เพราะอายตนะทั้งหกไม่บังเกิด ผัสสะก็ไม่บังเกิด]

[๓๓] ม. พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมถูกต้อง ฯ

ภ. ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่าย่อมถูกต้อง ถ้าเรากล่าวว่าย่อมถูกต้อง ควรตั้งปัญหาในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมถูกต้อง แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ใดพึงถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ จึงมีผัสสะ อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่างในปัญหานั้นว่า เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ฯ
[ท่านพระโมลิยผัคคุนะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคอีกว่า ใครย่อมเป็นผู้ถูกต้องโดยผัสสะ พระองค์ตรัสว่าคำถามไม่ถูกต้อง เพราะพระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสว่าผัสสะนั้นย่อมถูกต้อง คำถามที่ควรถามคือผัสสะมีอะไรเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น พระองค์เฉลยว่า ผัสสะมีปัจจัยให้เกิดขึ้นโดยอายตนะทั้งหก และเพราะมีผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา แต่หากตัณหาดับลงสนิท วิญญาณาหารย่อมไม่บังเกิด เพราะวิญญาณาหารไม่บังเกิด อายตนะทั้งหกก็ไม่บังเกิด เพราะอายตนะทั้งหกไม่บังเกิด ผัสสะก็ไม่บังเกิด เพราะผัสสะไม่บังเกิด เวทนาก็ไม่บังเกิด]


[๓๔] ม. พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมเสวยอารมณ์ ฯ

ภ. ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า ย่อมเสวยอารมณ์ ถ้าเรากล่าวว่า ย่อมเสวยอารมณ์ ควรตั้งปัญหาในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมเสวยอารมณ์ แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ใดถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้นอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ จึงมีเวทนา อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่างในปัญหานั้นว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ฯ
[ท่านพระโมลิยผัคคุนะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคอีกว่า ใครย่อมเป็นผู้เสวยอารมณ์โดยเวทนา พระองค์ตรัสว่าคำถามไม่ถูกต้อง เพราะพระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสว่าเวทนานั้นย่อมถูกต้อง คำถามที่ควรถามคือเวทนามีอะไรเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น พระองค์เฉลยว่า เวทนามีปัจจัยให้เกิดขึ้นโดยผัสสะ และเพราะมีเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา แต่หากตัณหาดับลงสนิท วิญญาณาหารย่อมไม่บังเกิด เพราะวิญญาณาหารไม่บังเกิด อายตนะทั้งหกก็ไม่บังเกิด เพราะอายตนะทั้งหกไม่บังเกิด ผัสสะก็ไม่บังเกิด เพราะผัสสะไม่บังเกิด เวทนาก็ไม่บังเกิด เพราะเวทนาไม่บังเกิด ตัณหาก็ไม่บังเกิดขึ้นอีก]

[๓๕] ม. พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมทะเยอทะยาน ฯ

ภ. ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า ย่อมทะเยอทะยาน ถ้าเรากล่าวว่า ย่อมทะเยอทะยาน ควรตั้งปัญหาในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมทะเยอทะยาน แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ใดถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้นอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ จึงมีตัณหา อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่างในปัญหานั้นว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ฯ
[ท่านพระโมลิยผัคคุนะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคอีกว่า ใครย่อมเป็นผู้ทะเยอทะยานโดยตัณหา พระองค์ตรัสว่าคำถามไม่ถูกต้อง เพราะพระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสว่าตัณหานั้นย่อมทะเยอทะยาน คำถามที่ควรถามคือตัณหามีอะไรเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น พระองค์เฉลยว่า ตัณหามีปัจจัยให้เกิดขึ้นโดยเวทนา และเพราะมีตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน แต่หากตัณหาดับลงสนิท วิญญาณาหารย่อมไม่บังเกิด เพราะวิญญาณาหารไม่บังเกิด อายตนะทั้งหกก็ไม่บังเกิด เพราะอายตนะทั้งหกไม่บังเกิด ผัสสะก็ไม่บังเกิด เพราะผัสสะไม่บังเกิด เวทนาก็ไม่บังเกิด เพราะเวทนาไม่บังเกิด ตัณหาก็ไม่บังเกิดขึ้นอีก เพราะตัณหาไม่บังเกิดขึ้นอีก ในส่วนหนึ่งวิญญาณาหารย่อมไม่บังเกิดขึ้นอีก อีกส่วนหนึ่งอุปาทานก็ไม่บังเกิดขึ้นอีก]

[๓๖] ม. พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมถือมั่น ฯ

ภ. ตั้งปัญหายังไม่ถูก เรามิได้กล่าวว่า ย่อมถือมั่น ถ้าเราพึงกล่าวว่าย่อมถือมั่น ควรตั้งปัญหาในข้อนั้นได้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ใครหนอย่อมถือมั่น แต่เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ใดถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะอะไรเป็นปัจจัยหนอ จึงมีอุปาทาน อันนี้ควรเป็นปัญหา ควรชี้แจงให้กระจ่างในปัญหานั้นว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
[ท่านพระโมลิยผัคคุนะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคอีกว่า ใครย่อมเป็นผู้ถือมั่นโดยอุปาทาน พระองค์ตรัสว่าคำถามไม่ถูกต้อง เพราะพระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสว่าอุปาทานนั้นย่อมถือมั่น คำถามที่ควรถามคืออุปาทานมีอะไรเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น พระองค์เฉลยว่า อุปาทานมีปัจจัยให้เกิดขึ้นโดยตัณหา และเพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ แต่หากตัณหาดับลงสนิท วิญญาณาหารย่อมไม่บังเกิด เพราะวิญญาณาหารไม่บังเกิด อายตนะทั้งหกก็ไม่บังเกิด เพราะอายตนะทั้งหกไม่บังเกิด ผัสสะก็ไม่บังเกิด เพราะผัสสะไม่บังเกิด เวทนาก็ไม่บังเกิด เพราะเวทนาไม่บังเกิด ตัณหาก็ไม่บังเกิดขึ้นอีก เพราะตัณหาไม่บังเกิดขึ้นอีก ในส่วนหนึ่งวิญญาณาหารย่อมไม่บังเกิดขึ้นอีก อีกส่วนหนึ่งอุปาทานก็ไม่บังเกิดขึ้น เพราะอุปาทานไม่บังเกิด ภพก็ไม่บังเกิดขึ้น]

[๓๗] ดูกรผัคคุนะ ก็เพราะบ่อเกิดแห่งผัสสะทั้ง ๖ ดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๒

๓. สมณพราหมณสูตรที่ ๑

[๓๘] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่รู้จักชราและมรณะ ไม่รู้จักเหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ไม่รู้จักความดับแห่งชราและมรณะ ไม่รู้จักปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ ไม่รู้จักชาติ ... ไม่รู้จักภพ ... ไม่รู้จักอุปาทาน ... ไม่รู้จักตัณหา ... ไม่รู้จักเวทนา ... ไม่รู้จักผัสสะ ... ไม่รู้จักสฬายตนะ ... ไม่รู้จักนามรูป ... ไม่รู้จักวิญญาณ ... ไม่รู้จักสังขาร ไม่รู้จักเหตุเกิดแห่งสังขาร ไม่รู้จักความดับแห่งสังขาร ไม่รู้จักปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับแห่งสังขาร สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นจะสมมติว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือสมมติว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ หาได้ไม่ แลท่านเหล่านั้นมิได้กระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะ หรือประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ

[๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้จักชราและมรณะ รู้จักเหตุเกิดแห่งชราและมรณะ รู้จักความดับแห่งชราและมรณะ รู้จักปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ รู้จักชาติ ... รู้จักภพ ... รู้จักอุปาทาน ... รู้จักตัณหา ... รู้จักเวทนา ... รู้จักผัสสะ ... รู้จักสฬายตนะ ... รู้จักนามรูป ... รู้จักวิญญาณ ... รู้จักสังขาร ... รู้จักเหตุเกิดแห่งสังขาร รู้จักความดับแห่งสังขาร รู้จักปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับแห่งสังขาร สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นแล สมมติได้ว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และสมมติได้ว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้นได้กระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะและประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ

จบสูตรที่ ๓

๕. กัจจานโคตตสูตร

[๔๒] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระกัจจานโคตต์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะชื่อว่าสัมมาทิฐิ ฯ

[๔๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรกัจจานะ โลกนี้ โดยมากอาศัยส่วน ๒ อย่าง คือ ความมี[สัสตทิฏฐิ] ๑ ความไม่มี[อุจเฉททิฏฐิ] ๑ ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความไม่มีในโลก ย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความมีในโลก ย่อมไม่มี โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบายอุปาทานและอภินิเวส แต่พระอริยสาวก ย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ซึ่งอุบายและอุปาทานนั้น อันเป็นอภินิเวสและอนุสัยอันเป็นที่ตั้งมั่นแห่งจิตว่า อัตตาของเรา ดังนี้ ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า ทุกข์นั่นแหละ เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับ ย่อมดับ พระอริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล กัจจานะจึงชื่อว่าสัมมาทิฐิ ฯ
[สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นความเกิดและความดับของโลกด้วยปัญญา เมื่อเห็นถึงความเกิด ย่อมไม่เข้าไปสู่อุจเฉททิฏฐิ เมื่อเห็นถึงความดับ ย่อมไม่เข้าไปสู่อุจเฉททิฏฐิ และเมื่อเห็นความเกิดและความดับด้วยปัญญาโดยถูกต้อง ย่อมไม่เข้าถึง ไม่ยึดมั่น เมื่อละอุปาทานและอภินิเวส(การเข้าไปยึดถืออาศัยอย่างยิ่ง)ได้ ย่อมเห็นในอริยสัจจ์ 4]

[๔๔] ดูกรกัจจานะ ส่วนสุดข้อที่ ๑ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ส่วนสุดข้อที่ ๒ นี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้ง ๒ นั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
[ข้อนี้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างหลักปฏิจจสมุปบาทกับสัมมาทิฏฐิครับ คือเมื่อไม่เข้าไปสู่อุจเฉททิฏฐิและสัสตทิฏฐิข้างใดข้างหนึ่ง และเห็นในอริยสัจจ์ 4 แล้ว ต่อคำถามว่าโลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง ทุกข์เกิดขึ้นด้วยตนเองหรือผู้อื่นทำให้เกิด ฯลฯ เหล่านี้ ก็อธิบายด้วยหลักปฏิจจสมุปบาท คือเมื่อมีตัณหาอยู่ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ เพราะตัณหาดับลงสนิท ก็ดับภพ ชาติ ชรามรณะ]

จบสูตรที่ ๕

๖. ธรรมกถิกสูตร

[๔๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่เรียกว่าธรรมกถึก ธรรมกถึก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะชื่อว่าธรรมกถึก ฯ

[๔๖] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่าภิกษุธรรมกถึก ถ้าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัดเพื่อความดับชาติ ... ภพ ... อุปาทาน ... ตัณหา ... เวทนา ... ผัสสะ ... สฬายตนะ ... นามรูป ... วิญญาณ ... สังขาร ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุธรรมกถึก ถ้าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน ฯ

จบสูตรที่ ๖

๗. อเจลกัสสปสูตร

[๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ อเจลกัสสปได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ สถานที่นั้น ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๔๘] ครั้นแล้ว อเจลกัสสปได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพเจ้าจะขอถามเหตุบางอย่างกะท่านพระโคดม ถ้าท่านพระโคดมจะทรงกระทำโอกาส เพื่อทรงตอบปัญหาแก่ข้าพเจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรกัสสป ยังมิใช่เวลาจะตอบปัญหา เรากำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ อเจลกัสสปก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพเจ้าจะขอถามเหตุบางอย่างกะท่านพระโคดม ถ้าท่านพระโคดมจะทรงกระทำโอกาส เพื่อทรงตอบปัญหาแก่ข้าพเจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรกัสสป ยังมิใช่เวลาตอบปัญหา เรากำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน ฯ

[๔๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อเจลกัสสปได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ก็ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะถามท่านพระโคดมมากนัก ฯ

ภ. ดูกรกัสสป ท่านจงถามปัญหาตามที่ท่านจำนงไว้เถิด ฯ

ก. ข้าแต่ท่านพระโคดม ความทุกข์ตนกระทำเองหรือ ฯ

ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป ฯ

ก. ความทุกข์ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม ฯ

ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป ฯ

ก. ความทุกข์ตนกระทำเองด้วย ผู้อื่นกระทำให้ด้วยหรือ ท่านโคดม ฯ

ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป ฯ

ก. ความทุกข์บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม ฯ

ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป ฯ

ก. ความทุกข์ไม่มีหรือ ท่านพระโคดม ฯ

ภ. ความทุกข์ไม่มีหามิได้ ความทุกข์มีอยู่ กัสสป ฯ

ก. ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดม ย่อมไม่รู้ไม่เห็นความทุกข์ ฯ

ภ. เราย่อมไม่รู้ไม่เห็นความทุกข์หามิได้ เรารู้เห็นความทุกข์อยู่ กัสสป ฯ

ก. เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ความทุกข์ตนกระทำเองหรือ ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ความทุกข์ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสป เมื่อข้าพเจ้าถามว่าความทุกข์ไม่มีหรือ ท่านพระโคดม ท่านตรัสว่า ความทุกข์ไม่มีหามิได้ ความทุกข์มีอยู่ กัสสป เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดม ย่อมไม่รู้ไม่เห็นความทุกข์ ท่านตรัสว่า เราย่อมไม่รู้ไม่เห็นความทุกข์หามิได้ เรารู้เห็นความทุกข์อยู่ กัสสป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงตรัสบอกความทุกข์แก่ข้าพเจ้า และขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงความทุกข์แก่ข้าพเจ้าด้วย ฯ

[๕๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสป เมื่อบุคคลถืออยู่ว่า นั่นผู้กระทำ นั่นผู้เสวย [ทุกข์] เราจะกล่าวว่า ทุกข์ตนกระทำเองดังนี้ อันนี้เป็นสัสสตทิฐิไป เมื่อบุคคลถูกเวทนาทิ่มแทง [รู้] อยู่ว่าผู้กระทำคนหนึ่ง ผู้เสวยเป็นอีกคนหนึ่ง เราจะกล่าวว่า ทุกข์ผู้อื่นกระทำให้ดังนี้ อันนี้เป็นอุจเฉททิฐิไป ดูกรกัสสป ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
[แสดงถึงเหตุที่พระพุทธองค์ไม่ทรงพยากรณ์ว่า ความทุกข์ตนกระทำเอง หรือความทุกข์ผู้อื่นกระทำให้ หรือความทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ หรือความทุกข์ไม่มี]

[๕๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อเจลกัสสปได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยประสงค์ว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสป ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชา หวังอุปสมบท ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน เมื่อล่วง ๔ เดือน ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว หวังอยู่ จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุ ก็แต่ว่า เรารู้ความต่างแห่งบุคคล ฯ

อเจลกัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้ที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์หวังบรรพชา หวังอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน เมื่อล่วง ๔ เดือน ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้วหวังอยู่ จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุไซร้ ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาส ๔ ปี เมื่อล่วง ๔ ปี ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุเถิด ฯ

[๕๒] อเจลกัสสปได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้นท่านกัสสปอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตแน่วแน่ ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย ผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านกัสสปได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ

จบสูตรที่ ๗

๘. ติมพรุกขสูตร

[๕๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ปริพาชก ชื่อติมพรุกขะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๕๔] ครั้นแล้ว ติมพรุกขปริพาชกได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม สุขและทุกข์ ตนกระทำเองหรือ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ ฯ

ต. สุขและทุกข์ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม ฯ

ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ ฯ

ต. สุขและทุกข์ ตนกระทำเองด้วย ผู้อื่นกระทำให้ด้วยหรือท่านพระโคดม ฯ

ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ ฯ

ต. สุขและทุกข์บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม ฯ

ภ. อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ ฯ

ต. สุขและทุกข์ไม่มีหรือ ท่านพระโคดม ฯ

ภ. สุขและทุกข์ไม่มีหามิได้ สุขและทุกข์มีอยู่ ติมพรุกขะ ฯ

ต. ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดม ย่อมไม่รู้ ไม่เห็นสุขและทุกข์ ฯ

ภ. เราย่อมไม่รู้ไม่เห็นสุขและทุกข์หามิได้ เรารู้เห็นสุขและทุกข์อยู่ ติมพรุกขะ ฯ

ต. เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม สุขและทุกข์ตนกระทำเองหรือ ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สุขและทุกข์ผู้อื่นกระทำให้หรือ ท่านพระโคดม ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สุขและทุกข์ตนกระทำเองด้วย ผู้อื่นกระทำให้ด้วยหรือ ท่านพระโคดม ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ เมื่อข้าพเจ้าถามว่าสุขและทุกข์บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ หรือท่านพระโคดม ท่านตรัสว่า อย่ากล่าวอย่างนั้น ติมพรุกขะ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สุขและทุกข์ไม่มีหรือ ท่านตรัสว่า สุขและทุกข์ไม่มีหามิได้ สุขและทุกข์มีอยู่ ติมพรุกขะ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดม ย่อมไม่รู้ไม่เห็นสุขและทุกข์ ท่านตรัสว่า เราย่อมไม่รู้ไม่เห็นสุขและทุกข์หามิได้ เราเห็นสุขและทุกข์อยู่ ติมพรุกขะ ขอท่านพระโคดมจงตรัสบอกสุขและทุกข์แก่ข้าพเจ้า ขอท่านพระโคดมจงทรงแสดงสุขและทุกข์แก่ข้าพเจ้า ฯ

[๕๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรติมพรุกขะ เมื่อบุคคลถืออยู่ว่านั่นเวทนา นั่นผู้เสวย [เวทนา] ดังนี้ แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์ตนกระทำเอง เมื่อบุคคลถูกเวทนาทิ่มแทง [รู้] อยู่ว่าเวทนาอย่างหนึ่ง ผู้เสวย[เวทนา] เป็นอีกคนหนึ่ง ดังนี้ แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์ผู้อื่นกระทำให้ ดูกรติมพรุกขะ ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

[๕๖] พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ติมพรุกขปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยประสงค์ว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิตจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

จบสูตรที่ ๘

๑๐. ปัจจัยสูตร

[๖๐] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปฏิจจสมุปบาท และธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นแก่พวกเธอ พวกเธอจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดีเถิด เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ

[๖๑] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิจจสมุปบาทเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ พระตถาคตทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ธัมมฐิติ(ความตั้งอยู่ตามธรรมดา) ๑ ธัมมนิยาม(ความแน่นอนของธรรมดา) ๑ อิทัปปัจจัย(มูลเหตุอันแน่นอน) ๑ ก็ยังดำรงอยู่ พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ย่อมตรัสรู้ทั่วถึงซึ่งธาตุอันนั้น ครั้นแล้ว ย่อมตรัสบอก ทรงแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น และตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงดู ดังนี้ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ ... เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ... เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ... เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ... เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ... เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ... เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ... เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ ... เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ... เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร พระตถาคตทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้นคือ ธัมมฐิติ ธัมมนิยาม อิทัปปัจจัย ก็ยังดำรงอยู่ พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ย่อมตรัสรู้ทั่วถึงซึ่งธาตุอันนั้น ครั้นแล้วย่อมตรัสบอก ทรงแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น และตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงดู ดังนี้ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ภิกษุทั้งหลาย ความจริงแท้ ความไม่คลาดเคลื่อน ความไม่เป็นอย่างอื่น มูลเหตุอันแน่นอนในธาตุอันนั้น ดังพรรณนามาฉะนี้แล เราเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท

[๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชราและมรณะเป็นของไม่เที่ยง อันปัจจัยประชุมแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา ชาติ ... ภพ ... อุปาทาน ... ตัณหา ... เวทนา ... ผัสสะ ... สฬายตนะ ... นามรูป ... วิญญาณ ... สังขาร ... อวิชชา เป็นของไม่เที่ยง อันปัจจัยประชุมแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าธรรมอาศัยกันเกิดขึ้น ฯ

[๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล อริยสาวกเห็นด้วยดีซึ่งปฏิจจสมุปบาทนี้ และธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นจักแล่นเข้าถึงที่สุดเบื้องต้นว่า ในอดีตกาลเราได้เป็นหรือหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอย่างไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไร แล้วได้มาเป็นอะไรหนอ หรือว่าจักแล่นเข้าถึงที่สุดเบื้องปลายว่า ในอนาคตกาลเราจักเป็นหรือหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอย่างไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไร แล้วจึงจักเป็นอะไรหนอ หรือว่าจักยังมีความสงสัยในปัจจุบันกาลเป็นภายใน ณ บัดนี้ว่า เราเป็นอยู่หรือหนอ หรือไม่เป็นอยู่หนอ เราเป็นอะไรอยู่หนอ เราเป็นอย่างไรอยู่หนอ สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ เขาจักไปในที่ไหน ดังนี้ ข้อนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะเหตุไร เพราะว่าอริยสาวกเห็นด้วยดีแล้วซึ่งปฏิจจสมุปบาท และธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง ฯ

จบสูตรที่ ๑๐

***********************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 26 ธันวาคม 2548
0 comments
Last Update : 26 ธันวาคม 2548 16:39:01 น.
Counter : 669 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.