Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
2 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 
พระรัตนตรัย

ในวันนี้จะเสนอพระสูตรว่าด้วยเรื่องสัจจะ กล่าวคือความจริงแท้ เป็นวิชชาอันเที่ยงแท้ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ ขอน้อมจิตอัญเชิญพระธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรอันเป็นการสั่งสอนพระธรรมเป็นครั้งแรกในโลกของพระศรีศากยมุนีโคดมผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระสูตรนี้พระองค์เทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสีแก่ปัญจวัคคีย์ประกอบด้วยท่านโกณฑัญญะ ท่านวัปปะ ท่านภัททิยะ ท่านมหานามะ ท่านอัสสชิ ทั้งห้าท่านผู้คอยอุปัฏฐากแก่พระพุทธองค์ตั้งแต่ยังมิได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ เมื่อพระผู้มีพระภาคเทศนาพระสูตรนี้จบลง ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยสาวกรูปแรกในพระศาสนานี้ พระรัตนตรัยอันประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ครบองค์สามนับแต่นั้น แสงสว่างอันยิ่ง ล่วงเทวานุภาพทั้งหลายได้ปรากฏขึ้นในโลก พระพุทธองค์ยังมรรคแห่งความหลุดพ้นและธรรมจักรอันไม่มีผู้ใดกระทำได้ให้ปรากฏในโลก เหล่าเทวดาในโลกตลอดจนในสวรรค์ทั้งหลาย จนถึงเหล่าพรหมผู้สถิต ณ พรหมโลกต่างได้ทราบถึงความบริบูรณ์แห่งพระรัตนตรัยนี้ ต่างส่งเสียงแซร่ซร้องสาธุการว่าบัดนี้ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก จักเผยแพร่พระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ ขนย้ายสัตว์ทั้งหลายผู้ท่องไปในวัฏฏสงสารอันไม่ปรากฏเบื้องต้นและเบื้องปลายไปสู่พระนิพพานด้วยพระปัญญาอันยิ่ง ขอเชิญท่านผู้มีศรัทธา ศึกษาพระสูตรต่างๆที่ยกมาในวันนี้ครับ

พระสูตรยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 11 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สัจจะสังยุตต์ ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

******************************************
ธัมมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒

ตถาคตสูตรที่ ๑

ทรงแสดงพระธรรมจักร

[๑๖๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์มาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุด ๒ อย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ ส่วนสุด ๒ อย่างนั้นเป็นไฉน? คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ การประกอบความลำบากแก่ตน เป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุด ๒ อย่างเหล่านี้ อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนั้น ... เป็นไฉน? คือ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ ซึ่งได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนี้แล อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว กระทำจักษุ กระทำญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

[๑๖๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจนี้แล คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้ข้อนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ก็ทุกขสมุทยอริยสัจนี้แล คือ ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็ทุกขนิโรธอริยสัจนี้แล คือ ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้แล คือ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งได้แก่สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.

[๑๖๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขอริยสัจนั้นควรกำหนดรู้ ฯลฯ ทุกขอริยสัจนั้นเรากำหนดรู้แล้ว.

[๑๖๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เราในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ ฯลฯ ทุกขสมุทยอริยสัจนั้นควรละ ฯลฯ ทุกขสมุทัยอริยสัจนั้นเราละแล้ว.

[๑๖๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เราในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้นควรกระทำให้แจ้ง. ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้นเรากระทำให้แจ้งแล้ว

[๑๖๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นควรเจริญ จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นเราเจริญแล้ว.

[๑๖๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริงมีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา ยังไม่บริสุทธิ์เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น ก็เมื่อใด ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริง มีวนรอบ ๓ อย่างนี้ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา บริสุทธิ์ดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ก็ญาณทัสสนะได้บังเกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค.

[๑๖๗๑] ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรแล้ว พวกภุมมเทวดาได้ประกาศว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ประกาศไม่ได้ พวกเทพชั้นจาตุมหาราชได้ฟังเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ... พวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว ... พวกเทพชั้นยามาได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว ... พวกเทพชั้นดุสิตได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นยามาแล้ว ... พวกเทพชั้นนิมมานรดีได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นดุสิตแล้ว ... พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นนิมมานรดีแล้ว ... พวกเทพที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ได้ประกาศว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันพระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ประกาศไม่ได้.

[๑๖๗๒] โดยขณะนั้น โดยครู่นั้น เสียงได้ระบือขึ้นไปจนถึงพรหมโลกด้วยประการฉะนี้ ก็หมื่นโลกธาตุนี้สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ทั้งแสงสว่างอันยิ่ง หาประมาณมิได้ ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของพวกเทพดาทั้งหลาย.

[๑๖๗๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเปล่งอุทานว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้นคำว่า อัญญาโกณฑัญญะ จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะด้วยประการฉะนี้แล.

จบ สูตรที่ ๑

ตถาคตสูตรที่ ๒

จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง เกิดแก่ตถาคต

[๑๖๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระตถาคตทั้งหลาย ในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขอริยสัจนั้นควรกำหนดรู้ ฯลฯ ทุกขอริยสัจนั้น พระตถาคตทั้งหลาย กำหนดรู้แล้ว.

[๑๖๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระตถาคตทั้งหลาย ในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ ฯลฯ ทุกขสมุทัยอริยสัจนั้นควรละ ฯลฯ ทุกขสมุทยอริยสัจนั้น พระตถาคตทั้งหลายละได้แล้ว.

[๑๖๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระตถาคตทั้งหลาย ในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้น ควรกระทำให้แจ้ง ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจนั้น พระตถาคตทั้งหลายกระทำให้แจ้งแล้ว.

[๑๖๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระตถาคตทั้งหลาย ในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นควรเจริญ จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระตถาคตทั้งหลาย ในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้น พระตถาคตทั้งหลาย เจริญแล้ว.

จบ สูตรที่ ๒

ขันธสูตร

ว่าด้วยอริยสัจ ๔

[๑๖๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน? คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.

[๑๖๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน? ควรจะกล่าวได้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? ได้แก่อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ นี้เรียกว่าทุกขอริยสัจ.

[๑๖๘๐] ก็ทุกขสมุทยอริยสัจเป็นไฉน? ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ.

[๑๖๘๑] ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน? ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัยตัณหานั้น นี้เรียกว่าทุกขนิโรธอริยสัจ.

[๑๖๘๒] ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน? อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.

[๑๖๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบ สูตรที่ ๓

อายตนสูตร

ว่าด้วยอริยสัจ ๔

[๑๖๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน? คือทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.

[๑๖๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน? ควรจะกล่าวว่า อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายใน ๖ เป็นไฉน? คือ อายตนะคือตา ฯลฯ อายตนะคือใจ นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ.
[ทุกข์ในอริยสัจจ์อาจกล่าวได้ว่าคืออายตนะภายใน6 คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ]

[๑๖๘๖] ก็ทุกขสมุทยอริยสัจเป็นไฉน? ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ.
[เหตุแห่งทุกข์คือตัณหาอันเป็นปัจจัยแห่งภพ]

[๑๖๘๗] ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน? ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัยตัณหานั้น นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ.

[๑๖๘๘] ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน? อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.

[๑๖๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบ สูตรที่ ๔

ธารณสูตรที่ ๑

ว่าด้วยการทรงจำอริยสัจ ๔

[๑๖๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงไว้เถิด. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำซึ่งอริยสัจที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว.

พ. ดูกรภิกษุ เธอทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงแล้วอย่างไร?

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำทุกขอริยสัจเป็นข้อที่ ๑ ทุกขสมุทยอริยสัจเป็นข้อที่ ๒ ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นข้อที่ ๓ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นข้อที่ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำอริยสัจ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วอย่างนี้แล.

[๑๖๙๑] พ. ดูกรภิกษุ ดีละๆ เธอทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงแล้วได้ถูกต้อง เราแสดงทุกขอริยสัจเป็นข้อที่ ๑ เธอทรงจำได้ เราแสดงทุกขสมุทยอริยสัจเป็นข้อที่ ๒ เธอก็ทรงจำได้ เราแสดงทุกขนิโรธอริยสัจเป็นข้อที่ ๓ เธอก็ทรงจำได้ เราแสดงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นข้อที่ ๔ เธอก็ทรงจำได้ เธอจงทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงแล้วอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
[แม้เพียงทรงจำว่าอริยสัจจ์4 คืออะไรได้ก็เป็นกุศลธรรมแล้ว]

จบ สูตรที่ ๕

ธารณสูตรที่ ๒

ว่าด้วยการทรงจำอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้อง

[๑๖๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงไว้แล้วเถิด เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำได้ ซึ่งอริยสัจ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว.

พ. ดูกรภิกษุ เธอทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงแล้วอย่างไร?

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำทุกขอริยสัจเป็นข้อที่ ๑ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ก็สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า นี้ไม่ใช่ทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจักบอกเลิกทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ นั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฯลฯ ข้าพระองค์ทรงจำทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นข้อที่ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ก็สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า นี้มิใช่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจักบอกเลิกทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ นั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจที่ ๔ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำอริยสัจ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วอย่างนี้แล.

[๑๖๙๓] พ. ดูกรภิกษุ ดีละๆ เธอทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงแล้วได้ถูกต้อง เราแสดงทุกขอริยสัจเป็นข้อที่ ๑ เธอก็ทรงจำได้ ก็สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า นี้มิใช่ทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจักบอกเลิกทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ นั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฯลฯ เราแสดงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นข้อที่ ๔ เธอก็ทรงจำได้ ก็สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า นี้มิใช่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจักบอกเลิกทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ นั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เธอจงทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงแล้วอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบ สูตรที่ ๖

อวิชชาสูตร

ว่าด้วยอวิชชา

[๑๖๙๔] ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า อวิชชาๆ ดังนี้ อวิชชาเป็นไฉน และด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงจะชื่อว่าตกอยู่ในอวิชชา? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ความไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุให้เกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางที่จะให้ถึงความดับทุกข์ นี้เรียกว่าอวิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมชื่อว่าตกอยู่ในอวิชชา ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบ สูตรที่ ๗

วิชชาสูตร

ว่าด้วยวิชชา

[๑๖๙๕] ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า วิชชาๆ ดังนี้ วิชชาเป็นไฉน และด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงจะชื่อว่าถึงวิชชา? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ความรู้ในทุกข์ ในเหตุให้เกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางที่ให้ถึงความดับทุกข์ นี้เรียกว่า วิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมชื่อว่าถึงวิชชา ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบ สูตรที่ ๘

สังกาสนสูตร

ว่าด้วยบัญญัติแห่งอริยสัจ ๔

[๑๖๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติว่า นี้เป็นทุกขอริยสัจ อักขระ พยัญชนะ การจำแนกในทุกขอริยสัจนั้น หาประมาณมิได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ นี้เป็นทุกขอริยสัจ ฯลฯ เราบัญญัติว่า นี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ อักขระ พยัญชนะ การจำแนกทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้น หาประมาณมิได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ นี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
[คำว่าทุกขอริยสัจจ์ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาที่อาศัยอักขระแสดงขึ้นนั้น มีเนื้อความภายในอันมากมายหาประมาณมิได้ ภิกษุพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริง]

จบ สูตรที่ ๙

ตถสูตร

ว่าด้วยของจริงแท้ ๔ อย่าง

[๑๖๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๔ อย่างนี้ เป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น สิ่ง ๔ อย่างเป็นไฉน? สิ่งนี้ว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ เป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น สิ่ง ๔ อย่างนี้ เป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบ สูตรที่ ๑๐

จบ ธรรมจักกัปปวัตตนวรรคที่ ๒

*****************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ


Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2549
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2549 14:05:41 น. 0 comments
Counter : 395 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.