Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
8 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 

อกิริยทิฏฐิ 3 ประการ (ต่อ-2)

(ต่อ)

สาฬหสูตร

[๕๐๖] ๖๗. สมัยหนึ่ง ท่านพระนันทกะ อยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตา ในปุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล นายสาฬหะหลานชายของมิคารเศรษฐี กับนายโรหนะหลานชายของเปขุณิยเศรษฐี ได้ชวนกันเข้าไปหาท่านพระนันทกะจนถึงที่อยู่ กราบไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระนันทกะได้กล่าวว่า ดูกรสาฬหะและโรหนะ มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา ... สมณะนี้เป็นครูของเรา ดูกร สาฬหะและโรหนะ เมื่อใด ท่านพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความในข้อนั้นเป็นไฉน ความโลภมีอยู่หรือ นายสาฬหะและนายโรหนะรับรองว่า มี ขอรับ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า อภิชฌาบุคคลผู้โลภมากด้วยความอยากได้นี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ

สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโกรธมีอยู่หรือ ฯ

สา. มี ขอรับ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า ความพยาบาท บุคคลผู้ดุร้ายมีจิตพยาบาทนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โกรธย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ

สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความหลงมีอยู่หรือ ฯ

สา. มี ขอรับ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า อวิชชา บุคคลผู้หลงตกอยู่ในอำนาจอวิชชานี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคลผู้หลงย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ

สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ฯ

สา. เป็นอกุศล ขอรับ ฯ

น. มีโทษหรือไม่มีโทษ ฯ

สา. มีโทษ ขอรับ ฯ

น. ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ ฯ

สา. ท่านผู้รู้ติเตียน ขอรับ ฯ

น. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์หรือหาไม่ ในข้อนี้ ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร ฯ

สา. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ในข้อนี้ ผมมีความเห็นอย่างนี้ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรสาฬหะและโรหนะ มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา ... อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ผู้ใดสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านี้เสีย ดังนี้ เพราะอาศัยคำที่ได้กล่าวไว้แล้ว ฉะนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้ ดูกรสาฬหะและโรหนะ มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ายึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา ... อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ผู้ใดสมาทานให้บริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่โลภมีอยู่หรือ ฯ

สา. มี ขอรับ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า อนภิชฌาบุคคลผู้ไม่โลภไม่มากด้วยความอยากได้นี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่โลภย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ

สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่โกรธมีอยู่หรือ ฯ

สา. มี ขอรับ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า ความไม่พยาบาท บุคคลผู้ไม่โกรธมีจิตใจไม่พยาบาทนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่โกรธย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ

สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่หลงมีอยู่หรือ ฯ

สา. มี ขอรับ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ ความข้อนี้เรากล่าวว่า วิชชา บุคคลผู้ไม่หลงถึงความรู้แจ้งนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ

สา. จริงอย่างนั้น ขอรับ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ฯ

สา. เป็นกุศล ขอรับ ฯ

น. มีโทษหรือไม่มีโทษ ฯ

สา. ไม่มีโทษ ขอรับ ฯ

น. ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ ฯ

สา. ท่านผู้รู้สรรเสริญ ขอรับ ฯ

น. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข หรือไม่เล่า ในข้อนี้ ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร ฯ

สา. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ขอรับ ในข้อนี้ ผมมีความเห็นเช่นนี้ ฯ

น. ดูกรสาฬหะและโรหนะ เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรสาฬหะและโรหนะ มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือถ้อยคำสืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยความตื่นข่าวว่า เขาว่าอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยนึกเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ผู้ใดสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ดังนี้ เพราะอาศัยคำที่ได้กล่าวไว้แล้วนั้น ฉะนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้ ดูกรสาฬหะและโรหนะ อริยสาวกนั้นปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ พระอริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ขันธ์ ๕ นี้มีอยู่ ธรรมชาติชนิดทรามมีอยู่ ธรรมชาติชนิดประณีตมีอยู่ การที่สัญญานี้สลัดสังขารทุกข์เสียได้อย่างสูงมีอยู่ เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีโลภะ ข้อนั้นเป็นการไม่ดี บัดนี้ โลภะนั้นไม่มี ความไม่มีโลภะเป็นความดี เมื่อก่อนเรามีโทสะ ... เมื่อก่อนเรามีโมหะ ข้อนั้นเป็นการไม่ดี บัดนี้ โมหะนั้นไม่มี ความไม่มีโมหะนั้นเป็นความดี เธอย่อมเป็นผู้ไม่มีความทะยานอยาก ดับสนิท เยือกเย็น เสวยสุข มีตนเป็นประหนึ่งพรหมอยู่ในปัจจุบัน ฯ
[บุคคลเมื่อปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมเป็นผู้ไม่มีความทะยานอยาก ดับสนิท เยือกเย็น เสวยสุขประหนึ่งพรหมในปัจจุบัน]

กถาวัตถุสูตร

[๕๐๗] ๖๘. ดูกรภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๓ อย่างหนึ่ง ๓ อย่างเป็นไฉน คือ พูดถ้อยคำปรารภถึงอดีตกาลว่า อดีตกาลได้มีแล้วอย่างนี้ ๑ พูดถ้อยคำปรารภถึงอนาคตกาลว่า อนาคตกาลจักมีอย่างนี้ ๑ พูดถ้อยคำปรารภถึงปัจจุบันกาลว่า ปัจจุบันกาลย่อมมีอย่างนี้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จะพึงทราบบุคคลว่า ควรพูดหรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา ไม่เฉลยโดยส่วนเดียว ซึ่งปัญหาที่ควรเฉลยโดยส่วนเดียว ไม่จำแนกเฉลย ซึ่งปัญหาที่ควรจำแนกเฉลย ไม่สอบถามเฉลย ซึ่งปัญหาที่ควรสอบถามเฉลย ไม่หยุดปัญหาที่ควรหยุด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่ถ้าบุคคลถูกถามปัญหาย่อมเฉลยโดยส่วนเดียว ซึ่งปัญหาที่ควรเฉลยโดยส่วนเดียว ย่อมจำแนกเฉลย ซึ่งปัญหาที่ควรจำแนกเฉลย ย่อมสอบถามเฉลย ซึ่งปัญหาที่ควรสอบถามเฉลย ย่อมหยุดปัญหาที่ควรหยุด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ควรพูด ดูกรภิกษุทั้งหลาย จะพึงทราบบุคคลผู้ควรพูดหรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ไม่ดำรงอยู่ในฐานะและอฐานะ ไม่ดำรงอยู่ในปริกัป ไม่ดำรงอยู่ในวาทะที่ควรรู้ทั่วถึง ไม่ดำรงอยู่ในปฏิปทา เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด แต่ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ดำรงอยู่ในฐานะและอฐานะ ดำรงอยู่ในปริกัป ดำรงอยู่ในวาทะที่ควรรู้ทั่วถึง ดำรงอยู่ในปฏิปทา เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ควรพูด ดูกรภิกษุทั้งหลาย จะพึงทราบบุคคลว่า ควรพูดหรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา พูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่องนอกราว แสดงความโกรธ ความขัดเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด แต่ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ไม่พูดกลบเกลื่อน ไม่พูดนอกเรื่องนอกราว ไม่แสดงความโกรธ ความขัดเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าควรพูด ดูกรภิกษุทั้งหลาย จะพึงทราบบุคคลว่า ควรพูดหรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา พูดฟุ้งเฟ้อ พูดวุ่นวาย หัวเราะเยาะ คอยจับผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด แต่ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ไม่พูดฟุ้งเฟ้อ ไม่พูดวุ่นวาย ไม่หัวเราะเยาะ ไม่คอยจับผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ควรพูด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบบุคคลว่า มีอุปนิสัยหรือว่าไม่มีอุปนิสัย ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ผู้ไม่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนไม่มีอุปนิสัย ผู้ที่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนมีอุปนิสัย เมื่อเขาเป็นผู้มีอุปนิสัย ย่อมจะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะกำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะละธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเขารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง กำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ละธรรมอย่างหนึ่ง ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะถูกต้องวิมุตติโดยชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การสนทนามีข้อนี้เป็นประโยชน์ การปรึกษาหารือมีข้อนี้เป็นประโยชน์ อุปนิสัยมีข้อนี้เป็นประโยชน์ การเงี่ยโสตลงฟังมีข้อนี้เป็นประโยชน์ คือ จิตหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ฯ
ชนเหล่าใดเป็นคนเจ้าโทสะ ฟุ้งซ่าน โอ้อวด เจรจา
ชนเหล่านั้น มาถึงคุณที่มิใช่ของพระอริยเจ้า ต่างหาโทษ
ของกันและกัน ชื่นชมคำทุพภาษิต ความพลั้งพลาด ความ
หลงลืม และความปราชัยของกันและกัน ก็ถ้าบัณฑิตรู้จัก
กาลแล้ว พึงประสงค์จะพูด ควรเป็นคนมีปัญญา ไม่เป็น
คนเจ้าโทสะ ไม่โอ้อวด มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ใจเบาหุนหัน
พลันแล่น ไม่เพ่งโทษ กล่าวแต่ถ้อยคำที่บุคคลผู้ตั้งอยู่ใน
ธรรมพูดกัน และประกอบด้วยธรรมซึ่งพระอริยเจ้าพูดจากัน
เพราะรู้ทั่วถึงได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น เขาจึงพาทีได้ บุคคล
ควรอนุโมทนาคำที่เป็นสุภาษิต ไม่ควรรุกรานในถ้อยคำที่
กล่าวชั่ว ไม่ควรศึกษาความแข่งดี และไม่ควรยึดถือความ
พลั้งพลาด ไม่ควรทับถม ไม่ควรข่มขี่ ไม่ควรพูดถ้อยคำ
เหลาะแหละ เพื่อรู้ เพื่อเลื่อมใส สัตบุรุษทั้งหลายจึงมีการ
ปรึกษาหารือกัน พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมปรึกษาหารือกัน
เช่นนั้นแล นี้การปรึกษาหารือของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
เมธาวีบุคคลรู้เช่นนี้แล้ว ไม่ควรถือตัว ควรปรึกษาหารือกัน ฯ

ติตถิยสูตร

[๕๐๘] ๖๙. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกจะพึงถามเช่นนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ราคะ โทสะ โมหะ ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๓ อย่างนี้แล ผู้มีอายุ ธรรม ๓ อย่างนี้ผิดแผกแตกต่างกันอย่างไร เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์แก่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านี้ว่าอย่างไร ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ธรรมของพวกข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย ขอประทานพระวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนั้น จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์จะพึงถามเช่นนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ราคะ โทสะ โมหะ ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๓ อย่างนี้ ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๓ อย่างนี้ ผิดแผกแตกต่างกันอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขาถามอย่างนี้ พึงพยากรณ์แก่ปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ราคะมีโทษน้อยคลายช้า โทสะมีโทษมากคลายเร็ว โมหะมีโทษมากคลายช้า ถ้าเขาถามต่อไปอีกว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเครื่องให้ราคะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง เธอทั้งหลายควรพยากรณ์ว่า พึงกล่าวว่า สุภนิมิต คือ ความกำหนดหมายว่างาม เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคายถึงสุภนิมิต ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ราคะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ถ้าเขาถามต่อไปอีกว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โทสะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง เธอทั้งหลายควรพยากรณ์ว่า พึงกล่าวว่า ปฏิฆนิมิต คือ ความกำหนดหมายว่ากระทบกระทั่ง เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายถึงปฏิฆนิมิต โทสะที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โทสะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ถ้าเขาถามต่อไปอีกว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้โมหะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง เธอทั้งหลายควรพยากรณ์ว่า พึงกล่าวว่า อโยนิโสมนสิการ เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โมหะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ถ้าเขาถามอีกว่า ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ราคะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ เธอทั้งหลายควรพยากรณ์ว่า พึงกล่าวว่า อสุภนิมิต คือ ความกำหนดหมายว่าไม่งาม เมื่อบุคคลทำไว้ในใจโดยแยบคายถึงอสุภนิมิต ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ราคะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ ถ้าเขาถามต่อไปว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โทสะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ เธอทั้งหลายควรพยากรณ์ว่า พึงกล่าวว่า เมตตาเจโตวิมุติ เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยแยบคายถึงเมตตาเจโตวิมุติ โทสะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โทสะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ ถ้าเขาถามต่อไปอีกว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โมหะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ เธอทั้งหลายควรพยากรณ์ว่า พึงกล่าวว่า โยนิโสมนสิการ เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยแยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โมหะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ ฯ

มูลสูตร

[๕๐๙] ๗๐. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ โลภอกุศลมูล ๑ โทสอกุศลมูล ๑ โมหอกุศลมูล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลภะจัดเป็นอกุศล บุคคลผู้โลภ กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล บุคคลผู้โลภ ถูกความโลภครอบงำ มีจิตอันความโลภกลุ้มรุม ย่อมก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน การจองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล อกุศลธรรมอันลามกเป็นอันมากที่เกิดเพราะความโลภ มีความโลภเป็นเหตุ มีความโลภเป็นแดนเกิด มีความโลภเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทสะจัดเป็นอกุศล บุคคลผู้โกรธ กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล บุคคลผู้โกรธ ถูกโทสะครอบงำ มีจิตอันโทสะกลุ้มรุม ย่อมก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน การจองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือด้วยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล อกุศลธรรมอันลามกเป็นอันมากที่เกิดเฉพาะความโกรธ มีความโกรธเป็นเหตุ มีความโกรธเป็นแดนเกิด มีความโกรธเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมหะจัดเป็นอกุศล บุคคลผู้หลง กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล บุคคลผู้หลงถูกโมหะครอบงำ มีจิตอันโมหะกลุ้มรุม ย่อมก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่าฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล อกุศลธรรมอันลามกเป็นอันมาก ที่เกิดเพราะความหลง มีความหลงเป็นเหตุ มีความหลงเป็นแดนเกิด มีความหลงเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเห็นปานนี้เรียกว่า พูดไม่ถูกกาลบ้าง พูดแต่คำไม่เป็นจริงบ้าง พูดไม่อิงอรรถบ้าง พูดไม่อิงธรรมบ้าง พูดไม่อิงวินัยบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไรบุคคลเห็นปานนี้จึงเรียกว่า พูดไม่ถูกกาลบ้าง พูดแต่คำไม่เป็นจริงบ้าง พูดไม่อิงอรรถบ้าง พูดไม่อิงธรรมบ้าง พูดไม่อิงวินัยบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย จริงอย่างนั้น บุคคลนี้ย่อมก่อทุกข์ให้เกิดแก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง และเขาเมื่อถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องที่เป็นจริง ก็กล่าวคำปฏิเสธ ไม่ยอมรับรู้ เมื่อถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริง กลับไม่พยายามที่จะปฏิเสธเรื่องนั้น แม้เพราะเหตุนี้ๆ เรื่องนี้จึงไม่แท้ ไม่เป็นจริง เพราะฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงเรียกว่า พูดไม่ถูกกาลบ้าง พูดแต่คำไม่เป็นจริงบ้าง พูดไม่อิงอรรถบ้าง พูดไม่อิงธรรมบ้าง พูดไม่อิงวินัยบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเห็นปานนี้ ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งเกิดเพราะความโลภครอบงำ มีจิตอันอกุศลธรรมกลุ้มรุม ในปัจจุบันย่อมอยู่เป็นทุกข์ ลำบาก คับแค้น เดือดร้อน เมื่อแตกกายตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ บุคคลเห็นปานนี้ ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งเกิดเพราะความโกรธครอบงำ ฯลฯ ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งเกิดเพราะโมหะครอบงำ มีจิตอันอกุศลธรรมกลุ้มรุม ในปัจจุบันย่อมอยู่เป็นทุกข์ ลำบาก คับแค้น เดือดร้อน เมื่อแตกกายตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเห็นปานนี้ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งเกิดเพราะโลภะครอบงำ ... เมื่อแตกกายตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เปรียบเหมือนต้นสาละ ต้นตะแบก หรือต้นสะคร้อ ที่ถูกเครือเถาย่านทราย ๓ ชนิดคลุมยอด พันรอบต้น ย่อมถึงความเสื่อม ความพินาศ ความฉิบหาย ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล ๓ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลมูล ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ อโลภกุศลมูล ๑ อโทสกุศลมูล ๑ อโมหกุศลมูล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อโลภะก็จัดเป็นกุศล บุคคลผู้ไม่โลภ กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นกุศล บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่ถูกความโลภครอบงำ มีจิตอันความโลภไม่กลุ้มรุม ไม่ก่อทุกข์ให้เกิดแก่ผู้อื่นโดยความไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นกุศล กุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดเพราะความไม่โลภ มีความไม่โลภเป็นเหตุ มีความไม่โลภเป็นแดนเกิด มีความไม่โลภเป็นปัจจัย ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อโทสะก็จัดเป็นกุศล บุคคลผู้ไม่โกรธ กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นกุศล บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่ถูกความโกรธครอบงำ มีจิตอันความโกรธไม่กลุ้มรุม ไม่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยความไม่เป็นจริงด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม ติเตียนหรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่าฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นกุศล กุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดเพราะความไม่โกรธ มีความไม่โกรธเป็นเหตุ มีความไม่โกรธเป็นแดนเกิด มีความไม่โกรธเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อโมหะก็จัดเป็นกุศล บุคคลผู้ไม่หลง กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นกุศล บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ มีจิตอันความหลงไม่กลุ้มรุม ไม่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยความไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่าฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นกุศล กุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดเพราะความไม่หลง มีความไม่หลงเป็นเหตุ มีความไม่หลงเป็นแดนเกิด มีความไม่หลงเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเห็นปานนี้เรียกว่า พูดถูกกาลบ้าง พูดแต่คำที่เป็นจริงบ้าง พูดอิงอรรถบ้าง พูดอิงธรรมบ้าง พูดอิงวินัยบ้าง ก็เพราะเหตุไร บุคคลเห็นปานนี้เรียกว่าพูดถูกกาลบ้าง พูดแต่คำที่เป็นจริงบ้าง พูดอิงอรรถบ้าง พูดอิงธรรมบ้าง พูดอิงวินัยบ้าง จริงอย่างนั้น บุคคลนี้ย่อมไม่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่าฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง และเมื่อเขาถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องที่เป็นจริงก็ยอมรับ ไม่กล่าวคำปฏิเสธ เมื่อถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริง ก็พยายามที่จะปฏิเสธข้อที่ถูกกล่าวหานั้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ เรื่องนี้จึงไม่แท้ ไม่จริง เพราะเหตุนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงเรียกว่า พูดถูกกาลบ้าง พูดแต่คำที่เป็นจริงบ้าง พูดอิงอรรถบ้าง พูดอิงธรรมบ้าง พูดอิงวินัยบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเห็นปานนี้ละธรรมฝ่ายบาปอกุศลที่เกิดเพราะโลภะได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มีทุกข์ ไม่คับแค้น ไม่เดือดร้อน ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง บุคคลเห็นปานนี้ละธรรมฝ่ายบาปอกุศลที่เกิดเพราะโทสะได้แล้ว ฯลฯ ละธรรมฝ่ายบาปอกุศลที่เกิดเพราะโมหะได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มีทุกข์ ไม่คับแค้น ไม่เดือดร้อน ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นสาละ ต้นตะแบกหรือต้นสะคร้อ ถูกเครือเถาย่านทราย ๓ ชนิดคลุมยอด พันจนรอบ คราวนั้น บุรุษพึงถือเอาจอบและตะกร้ามา เขาตัดเครือเถาย่านทรายนั้นที่ราก แล้วพึงขุดจนรอบ แล้วถอนเอารากขึ้นโดยที่สุดแม้เพียงเท่าต้นหญ้าคา เขาพึงหั่นเครือเถาย่านทรายนั้นให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วผ่า แล้วเอารวมกันเข้าแล้วผึ่งที่ลมและแดด แล้วพึ่งเอาไฟเผาแล้วทำให้เป็นเขม่าและพึงโปรยที่ลมพาลุ หรือพึงลอยเสียในแม่น้ำที่มีกระแสไหลเชี่ยว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เครือเถาย่านทรายเหล่านั้น ถูกบุรุษนั้นตัดรากขาด ทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดาฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมฝ่ายบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแต่โลภะ บุคคลเห็นปานนี้ละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มีทุกข์ ไม่คับแค้น ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง ที่เกิดแต่โทสะ บุคคลเห็นปานนี้ละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มีทุกข์ ไม่คับแค้น ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง ที่เกิดแต่โมหะ บุคคลเห็นปานนี้ละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มีทุกข์ ไม่คับแค้น ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลมูล ๓ อย่างนี้แล ฯ

อุโปสถสูตร

[๕๑๐] ๗๑. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมารดา ในบุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับในวัดอุโบสถ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกร นางวิสาขา ท่านมาแต่ไหนแต่ยังวันอยู่ นางวิสาขากราบทูลว่า วันนี้ดิฉันเข้าจำอุโบสถ เจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรนางวิสาขา อุโบสถมี ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน คือ โคปาลกอุโบสถ ๑ นิคัณฐอุโบสถ ๑ อริยอุโบสถ ๑ ดูกรนางวิสาขา ก็โคปาลกอุโบสถเป็นอย่างไร ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนนายโคบาล เวลาเย็นมอบฝูงโคให้แก่เจ้าของแล้ว พิจารณาดังนี้ว่า วันนี้โคเที่ยวไปในประเทศโน้นๆ ดื่มน้ำในประเทศโน้นๆ พรุ่งนี้โคจักเที่ยวไปในประเทศโน้นๆ จักดื่มน้ำในประเทศโน้นๆ แม้ฉันใด ดูกรนางวิสาขา ฉันนั้นเหมือนกัน คนรักษาอุโบสถบางคนในโลกนี้ พิจารณาดังนี้ว่า วันนี้เราเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ๆ กินของชนิดนี้ๆ พรุ่งนี้เราจะเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ๆ จักกินของกินชนิดนี้ๆ เขามีใจประกอบด้วยความโลภอยากได้ของเขา ทำวันให้ล่วงไปด้วยความโลภนั้น ดูกรนางวิสาขา โคปาลกอุโบสถเป็นเช่นนี้แล ดูกรนางวิสาขา โคปาลกอุโบสถที่บุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้แล ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก ดูกรนางวิสาขา ก็นิคัณฐอุโบสถเป็นอย่างไร ดูกรนางวิสาขา มีสมณนิกายหนึ่ง มีนามว่านิครนถ์ นิครนฐ์เหล่านั้นชักชวนสาวกอย่างนี้ว่า มาเถอะ พ่อคุณ ท่านจงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศบูรพา ในที่เลยร้อยโยชน์ไป จงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศปัจจิมในที่เลยร้อยโยชน์ไป จงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศอุดรในที่เลยร้อยโยชน์ไป จงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศทักษิณในที่เลยร้อยโยชน์ไป นิครนถ์เหล่านั้นชักชวนเพื่อเอ็นดูกรุณาสัตว์บางเหล่า ไม่ชักชวนเพื่อเอ็นดูกรุณาสัตว์บางเหล่า ด้วยประการฉะนี้ นิครนถ์เหล่านั้นชักชวนสาวกในวันอุโบสถเช่นนั้นอย่างนี้ว่า มาเถอะ พ่อคุณ ท่านจงทิ้งผ้าเสียทุกชิ้นแล้วพูดอย่างนี้ว่า เราไม่เป็นที่กังวลของใครๆ ในที่ไหนๆ และตัวเราก็ไม่มีความกังวลในบุคคลและสิ่งของใดๆ ในที่ไหนๆ ดังนี้ แต่ว่ามารดาและบิดาของเขารู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบุตรของเรา แม้เขาก็รู้ว่า ท่านเหล่านี้เป็นมารดาบิดาของเรา อนึ่ง บุตรและภรรยาของเขาก็รู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบิดาสามีของเรา แม้เขาก็รู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบุตรภรรยาของเรา พวกทาสและคนงานของเขารู้อยู่ว่า ท่านผู้นี้เป็นนายของเรา ถึงตัวเขาก็รู้ว่า คนเหล่านี้เป็นทาสและคนงานของเรา เขาชักชวนในการพูดเท็จ ในสมัยที่ควรชักชวนในคำสัตย์ ด้วยประการฉะนี้ เรากล่าวถึงกรรมของผู้นั้นเพราะมุสาวาท พอล่วงราตรีนั้นไป เขาย่อมบริโภคโภคะเหล่านั้นที่เจ้าของไม่ได้ให้ เรากล่าวถึงกรรมของผู้นั้นเพราะอทินนาทาน ดูกรนางวิสาขา นิคัณฐอุโบสถเป็นเช่นนี้แล ดูกรนางวิสาขา นิคัณฐอุโบสถที่บุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก ดูกรนางวิสาขา ก็อริยอุโบสถเป็นอย่างไร ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมอง ย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม เมื่อเธอหมั่นนึกถึงพระตถาคตอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนศีรษะที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียร ก็ศีรษะที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้สะอาดได้เพราะอาศัยขี้ตะกรัน ดินเหนียว น้ำ และความพยายามอันเกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ ดูกรนางวิสาขา ศีรษะที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ... ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกนี้เรียกว่าเข้าจำพรหมอุโบสถ อยู่ร่วมกับพรหม และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภพรหม เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน เมื่อเธอหมั่นนึกถึงธรรมอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนกายที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียร ดูกรนางวิสาขา ก็กายที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้สะอาดได้เพราะอาศัยเชือก จุรณสำหรับอาบน้ำ และความพยายามที่เกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ ดูกรนางวิสาขา กายที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน ... ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกนี้เรียกว่าเข้าจำธรรมอุโบสถอยู่ อยู่ร่วมกับธรรม และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภธรรม เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ หมั่นระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติสมควร นี้คือคู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี้พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า เมื่อเธอหมั่นระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนผ้าที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียร ก็ผ้าที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้สะอาดได้เพราะอาศัยเกลือ น้ำด่าง โคมัย น้ำ กับความเพียร อันเกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ ดูกรนางวิสาขา ผ้าที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ก็ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน ... ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำสังฆอุโบสถ อยู่ร่วมกับสงฆ์ และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภสงฆ์ เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วด้วยความเพียรอย่างนี้แล ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงศีลของตนอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทยแก่ตัว ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหา ทิฐิลูบคลำ เป็นไปเพื่อสมาธิ เมื่อเธอหมั่นระลึกถึงศีลอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนกระจกเงาที่มัวจะทำให้ใสได้ด้วยความเพียร ก็กระจกเงาที่มัวจะทำให้ใสได้ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้ใสได้เพราะอาศัยน้ำมัน เถ้า แปลง กับความพยายามอันเกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ ดูกรนางวิสาขา กระจกที่มัวจะทำให้ใสได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ก็ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงศีลของตน ... ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกนี้เรียกว่าเข้าจำศีลอุโบสถ อยู่ร่วมกับศีล และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภศีล เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมอง ย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงเทวดาว่า เทวดาพวกชั้นจาตุมหาราชิกามีอยู่ เทวดาพวกชั้นดาวดึงส์มีอยู่ เทวดาพวกชั้นยามามีอยู่ เทวดาพวกชั้นดุสิตมีอยู่ เทวดาพวกชั้นนิมมานรดีมีอยู่ เทวดาพวกชั้นปรินิมมิตวสวัตตีมีอยู่ เทวดาพวกที่นับเนื่องเข้าในหมู่พรหมมีอยู่ เทวดาพวกที่สูงกว่านั้นขึ้นไปมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น ศรัทธาเช่นนั้นแม้ของเราก็มี เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น ศีลเช่นนั้นแม้ของเราก็มี เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น สุตะเช่นนั้นแม้ของเราก็มี เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น จาคะเช่นนั้นแม้ของเราก็มี เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น ปัญญาเช่นนั้นแม้ของเราก็มี เมื่อเธอระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของตนกับของเทวดาเหล่านั้นอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนทองที่หมองจะทำให้สุกได้ก็ด้วยความเพียร ทองที่หมองจะทำให้สุกได้ด้วยความเพียรอย่างไร จะทำให้สุกได้เพราะอาศัยเบ้าหลอมทอง เกลือ ยางไม้ คีม กับความพยายามที่เกิดแต่เหตุนั้นของบุรุษ ดูกร นางวิสาขา ทองที่หมองจะทำให้สุกได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน ... ดูกรนางวิสาขา อริยสาวกเช่นนี้เรียกว่า เข้าจำเทวดาอุโบสถ อยู่ร่วมกับเทวดา มีจิตผ่องใสเพราะปรารภเทวดา เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ ดูกรนางวิสาขา จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ดูกรนางวิสาขา พระอริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่จนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นคนขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่จนตลอดชีวิต แม้เราก็ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นคนขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้านจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลกจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แม้จนตลอดชีวิต แม้เราก็ละการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย ฉันหนเดียว เว้นการบริโภคในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาลจนตลอดชีวิต แม้เราก็บริโภคหนเดียว เว้นการบริโภคในราตรี งดจากการบริโภคในเวลาวิกาล ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถจักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย เว้นขาดจากฟ้อนรำขับร้อง การประโคมดนตรี และการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล จากการทัดทรงประดับและตกแต่งกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัวจนตลอดชีวิต แม้เราก็เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้องการประโคมดนตรีและดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล จากการทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ สำเร็จการนอนบนที่นอนอันต่ำ คือ บนเตียงหรือบนเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหญ้าจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ สำเร็จการนอนบนที่นอนอันต่ำ คือบนเตียงหรือบนเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหญ้า ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว ดูกรนางวิสาขา อริยอุโบสถเป็นเช่นนี้แล อริยอุโบสถอันบุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแผ่ไพศาลมาก อริยอุโบสถมีผลมากเพียงไร มีอานิสงส์มากเพียงไร มีความรุ่งเรืองมากเพียงไร มีความแผ่ไพศาลมากเพียงไร ดูกรนางวิสาขา เปรียบเหมือนผู้ใดพึงครองราชย์เป็นอิศราธิบดีแห่งชนบทใหญ่ ๑๖ แคว้นเหล่านี้ อันสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ คือ อังคะ มคธะ กาสี โกสละ วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ การครองราชย์ของผู้นั้นยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราชสมบัติที่เป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขที่เป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ดูกรนางวิสาขา ๕๐ ปีซึ่งเป็นของมนุษย์เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น ๕๐๐ ปีอันเป็นทิพย์เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ดูกรนางวิสาขา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติที่เป็นของมนุษย์ เมื่อจะนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ดูกร นางวิสาขา ๑๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นดาวดึงส์ โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น พันปีอันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ดูกรนางวิสาขา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความข้อนี้แลจึงกล่าวว่า ราชสมบัติของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ดูกรนางวิสาขา ๒๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นยามา โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น สองพันปีอันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นมายา ดูกรนางวิสาขา ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นมายา ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ดูกรนางวิสาขา ๔๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นดุสิต โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น ๔,๐๐๐ ปี อันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นดุสิต ดูกรนางวิสาขา ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือสตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดุสิต ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ดูกรนางวิสาขา ๘๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นวันหนึ่งกับคืนหนึ่งของเทวดาชั้นนิมมานรดี โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น ๘,๐๐๐ ปีอันเป็นทิพย์ เป็นประมาณของอายุของเทวดาชั้นนิมมานรดี ดูกรนางวิสาขา ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นนิมมานรดี ดูกรนางวิสาขา เราหมายเอาความข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ดูกรนางวิสาขา ๑๖,๐๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็นหนึ่งเดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น ๑๖,๐๐๐ ปีอันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี ดูกรนางวิสาขา ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี ดูกรนางวิสาขา เราหมายความเอาข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย ฯ
บุคคลไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงลักทรัพย์ ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึง
ดื่มน้ำเมา พึงงดเว้นเมถุน อันเป็นความประพฤติไม่
ประเสริฐ ไม่พึงบริโภคโภชนะในเวลาวิกาล ในกลางคืน
ไม่พึงทัดทรงดอกไม้ ไม่พึงลูบไล้ของหอม และพึงนอนบน
เตียง บนพื้น หรือบนที่ซึ่งเขาปูลาด บัณฑิตทั้งหลาย
กล่าวอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แลว่า อันพระพุทธเจ้า
ผู้ถึงที่สุดทุกข์ทรงประกาศไว้ พระจันทร์ พระอาทิตย์ ทั้งสอง
ที่น่าดู ส่องแสง โคจรไปทั่วสถานที่ประมาณเท่าใด และ
พระจันทร์ พระอาทิตย์นั้น กำจัดความมืด ไปในอากาศ
ทำให้ทิศรุ่งโรจน์ ส่องแสงอยู่ในนภากาศ ทั่วสถานที่มี
ประมาณเท่าใด ทรัพย์ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้ว
ไพฑูรย์ ทองสิงคี และทองคำ ตลอดถึงทองชนิดที่เรียกว่า
หฏกะ เท่าที่มีอยู่ในสถานที่ประมาณเท่านั้น ยังไม่ถึงแม้ซึ่ง
เสี้ยวที่ ๑๖ ของอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ และทั้งหมด
ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของแสงจันทร์และหมู่ดาว เพราะ
ฉะนั้นแหละ สตรีบุรุษผู้มีศีล เข้าจำอุโบสถประกอบด้วย
องค์ ๘ ทำบุญซึ่งมีสุขเป็นกำไร เป็นผู้ไม่ถูกนินทา ย่อม
เข้าถึงสัคคสถาน ฯ

จบมหาวรรคที่ ๒

*******************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2549
0 comments
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2549 19:07:33 น.
Counter : 506 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.