Group Blog
 
<<
มกราคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
18 มกราคม 2549
 
All Blogs
 
แนวคิดเปรียบเทียบว่าโลกเป็นดังสมุทร

พระสูตรที่จะยกมาแสดงในวันนี้มาจากสมุทรวรรค กล่าวโดยรวบรัดคือเปรียบเทียบว่าด้วยอายตนะ6 คือตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ นี้นั้น ย่อมปรากฏโลกอันวิจิตรพิสดาร กว้างใหญ่ราวกับห้วงน้ำอันโอฬาร นี่คือสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้าทั้งหลาย โลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ มีอยู่ในสมุทรนี้ กำลังอันเกิดจากรูปที่รับรุ้ได้ด้วยตา ของเสียงที่รับรู้ได้ด้วยหู ฯลฯ นั้นดังกับคลื่นในสมุทร มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ มีทั้งหลุมพราง คอยครอบงำบุคคลทั้งหลายไว้ให้มีแต่ความเศร้าหมองเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นบุคคลทั้งหลายย่อมยากจะหลีกเลี่ยงนรก และทุคติทั้งหลาย นี่คือมหันตภัยอันเกิดจากอายตนะ6 ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก สุขและทุกข์ของบุคคลหนึ่งๆย่อมเกิดโดยตา หู จมูก ลิ้น กายและใจของบุคคลนั้นๆเอง บุคคลผู้ไม่ประมาท อดกลั้นซึ่งกำลังอันเกิดจากรุป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้ได้ ข้ามห้วงสมุทรนี้บรรลุถึงฝั่ง เรียกกันว่าพราหมณ์ บัดนี้ขอเชิญทุกท่านที่สนใจในพระธรรมคำสอนในพระศาสนา ศึกษาเนื้อความโดยละเอียด คิดว่าคงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมครับ

พระสูตรยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 10 สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

************************************
สมุททวรรคที่ ๓

สมุทรสูตรที่ ๑

[๒๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมกล่าวว่า สมุทรๆ ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้นไม่ชื่อว่า เป็นสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้นเรียกว่า เป็นแอ่งน้ำใหญ่ เป็นห้วงน้ำใหญ่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของจักษุนั้นเกิดจากรูป บุคคลใดย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากรูปนั้นได้ บุคคลนี้เรียกว่าเป็นพราหมณ์ ข้ามสมุทรคือจักษุ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก ฯลฯ ใจเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของใจนั้นเกิดจากธรรมารมณ์ บุคคลใดย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากธรรมารมณ์นั้นได้ บุคคลนี้เรียกว่าเป็นพราหมณ์ข้ามสมุทรคือใจได้ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
[๒๘๖] บุคคลใดข้ามสมุทรนี้ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้ง
สัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ น่าหวาดกลัว ข้ามได้แสนยาก ได้
แล้ว บุคคลนั้นเราเรียกว่า เป็นผู้เรียนจบเวท อยู่จบ
พรหมจรรย์ ถึงที่สุดแห่งโลก ข้ามถึงฝั่งแล้ว ฯ

จบสูตรที่ ๑

สมุทรสูตรที่ ๒

[๒๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนไม่ได้สดับแล้ว ย่อมกล่าวว่า สมุทรๆ ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้นไม่ชื่อว่าเป็นสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้นเรียกว่า เป็นแอ่งน้ำใหญ่ เป็นห้วงน้ำใหญ่ รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด นี้เรียกว่าเป็นสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า โลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ มีอยู่ในสมุทรนี้ โดยมากเป็นผู้เศร้าหมอง เกิดเป็นผู้ยุ่งประดุจด้ายของช่างหูก เกิดเป็นปมประหนึ่งกระจุกด้าย เป็นดุจหญ้าปล้องและหญ้ามุงกระต่าย หาล่วงอบาย ทุคติ วินิบาต สงสารไปได้ไม่ ฯลฯ ธรรมารมณ์อันจะพึงรู้ได้ด้วยใจ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด นี้เรียกว่าเป็นสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า โลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ มีอยู่ในสมุทรนี้ โดยมากเป็นผู้เศร้าหมอง เกิดเป็นผู้ยุ่งดุจด้ายของช่างหูก เกิดเป็นปมประหนึ่งกระจุกด้าย เป็นดุจหญ้าปล้องและหญ้ามุงกระต่าย หาล่วงอบาย ทุคติ วินิบาต สงสารไปได้ไม่ ฯ
[๒๘๘] บุคคลใดคลายราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว บุคคล
นั้นชื่อว่าข้ามสมุทรนี้ ซึ่งมีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ มีทั้ง
คลื่นและภัย ที่ข้ามได้แสนยาก ได้แล้ว เรากล่าวว่า
บุคคลนั้นล่วงพ้นเครื่องข้อง ละมัจจุ ไม่มีอุปธิ ละทุกข์ได้
ขาดเพื่อไม่เกิดต่อไป ถึงความดับสูญ ไม่กลับมาเกิดอีก
ลวงพระยามัจจุราชให้หลงได้ ฯ

จบสูตรที่ ๒

พาลิสิกสูตร

[๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรานเบ็ดหย่อนเบ็ดที่มีเหยื่อลงในห้วงน้ำลึก ปลาที่เห็นแก่เหยื่อตัวใดตัวหนึ่งกลืนกินเบ็ดนั้น ปลานั้นชื่อว่ากลืนกินเบ็ดของนายพรานเบ็ด ถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ พรานเบ็ดพึงกระทำได้ตามชอบใจฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในโลกมีเบ็ดอยู่ ๖ ชนิดเหล่านี้ เพื่อจะนำสัตว์ทั้งหลายไป เพื่อจะฆ่าสัตว์ทั้งหลายเสีย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เบ็ด ๖ ชนิด คืออะไรบ้าง คือ รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่นในรูปนั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า กลืนกินเบ็ดของมาร ถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ มารใจบาปพึงกระทำได้ตามชอบใจ เสียง ... กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ... ธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน สรรเสริญ หมกมุ่นธรรมารมณ์นั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า กลืนกินเบ็ดของมาร ถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ มารใจบาปพึงกระทำได้ตามชอบใจ ฯ

[๒๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่นรูปนั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า ไม่กลืนกินเบ็ดของมาร ได้ทำลายเบ็ด ย่ำยีเบ็ด ไม่ถึงความวิบัติ ไม่ถึงความพินาศ มารใจบาปไม่พึงกระทำได้ตามชอบใจ เสียง ... กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ... ธรรมารมณ์อันจะพึงรู้ได้ด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่นธรรมารมณ์นั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า ไม่กลืนกินเบ็ดของมาร ได้ทำลายเบ็ด ย่ำยีเบ็ด ไม่ถึงความวิบัติ ไม่ถึงความพินาศ มารใจบาปไม่พึงกระทำได้ตามชอบใจ ฯ

จบสูตรที่ ๓

ขีรรุกขสูตร

[๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีอยู่ในรูปทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าแม้รูป อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ซึ่งเป็นของเล็กน้อย ผ่านคลองจักษุของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไป ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นได้แท้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงรูปอันใหญ่ยิ่ง จักไม่ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นยังมีอยู่ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นยังละราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่ได้ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีอยู่ในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าแม้ธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ซึ่งเป็นของเล็กน้อย ผ่านทางใจของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไป ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นได้แท้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงธรรมารมณ์อันใหญ่ยิ่ง จักไม่ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นยังมีอยู่ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นยังละราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่ได้ ฯ

[๒๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นกร่าง หรือต้นมะเดื่อ เป็นต้นไม้มียาง ขนาดเขื่อง ขนาดรุ่น ขนาดเล็ก บุรุษเอาขวานอันคมสับต้นไม้นั้น ณ ที่แห่งหนึ่ง ยางพึงไหลออกหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ข้อนั้น เพราะอะไร ฯ

ภิ. เพราะยางมีอยู่ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีอยู่ในรูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าแม้รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุซึ่งเป็นของเล็กน้อย ผ่านคลองจักษุของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไป ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีได้แท้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงรูปอันใหญ่ยิ่ง จักไม่ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นยังมีอยู่ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นยังละราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่ได้ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งมีอยู่ในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าแม้ธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจซึ่งเป็นของเล็กน้อย ผ่านทางใจของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไป ย่อมครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นได้แท้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงธรรมารมณ์อันใหญ่ยิ่ง จักไม่ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราคะ โทสะ โมหะ ยังมีอยู่ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นยังละราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่ได้ ฯ

[๒๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ไม่มีอยู่ในรูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าแม้รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุซึ่งเป็นของใหญ่ยิ่ง ผ่านคลองจักษุของภิกษุหรือภิกษุณีนั้น ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ได้เลย จะป่วยกล่าวไปไยถึงรูปอันเล็กน้อย จักครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่มี ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะ โทสะ โมหะนั้นได้แล้ว ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งไม่มีอยู่ในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ซึ่งเป็นของใหญ่ยิ่ง ผ่านมาทางใจของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ได้เลย จะป่วยกล่าวไปไยถึงธรรมารมณ์อันเล็กน้อย จักครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่มี ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะ โทสะ โมหะนั้นได้แล้ว ฯ

[๒๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นกร่าง หรือต้นมะเดื่อซึ่งเป็นไม้มียาง เป็นต้นไม้แห้ง เป็นไม้ผุ ภายนอกฤดูฝน บุรุษเอาขวานอันคมสับต้นไม้นั้น ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ยางพึงไหลออกมาหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ข้อนั้น เพราะเหตุไร ฯ

ภิ. เพราะยางไม่มี พระเจ้าข้า ฯ

พ. ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ไม่มีอยู่ในรูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าแม้รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุซึ่งเป็นของใหญ่ยิ่ง ผ่านคลองจักษุของภิกษุหรือภิกษุณีนั้น ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ได้เลย จะป่วยกล่าวไปไยถึงรูปอันเล็กน้อย จักครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่มี ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ไม่มีอยู่ในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะ โทสะ โมหะนั้นแล้ว ถ้าธรรมารมณ์อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจซึ่งเป็นของใหญ่ยิ่ง ผ่านมาทางใจของภิกษุหรือภิกษุณีนั้น ก็ครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นไม่ได้เลย จะป่วยกล่าวไปไยถึงธรรมารมณ์อันเล็กน้อย จักครอบงำจิตของภิกษุหรือภิกษุณีนั้นเล่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราคะ โทสะ โมหะนั้นไม่มี ภิกษุหรือภิกษุณีนั้นละราคะ โทสะ โมหะนั้นได้แล้ว ฯ

จบสูตรที่ ๔

โกฏฐิกสูตร

[๒๙๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิกะ อยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระมหาโกฏฐิกะออกจากที่พักผ่านแล้วเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรท่านพระสารีบุตร จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ หูเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของเสียง เสียงเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของหู จมูกเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของกลิ่น กลิ่นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจมูก ลิ้นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรส รสเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของลิ้น กายเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของกาย ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจหรือ ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่านโกฏฐิกะ จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น หูเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของเสียง เสียงเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของหูหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยหูและเสียงทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในหูและเสียงนั้น จมูกเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของกลิ่น กลิ่นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจมูกหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจมูกและกลิ่นทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจมูกและกลิ่นนั้น ลิ้นเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรส รสก็เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของลิ้นหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นกับรสทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในลิ้นและรสนั้น กายเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะก็เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของกายหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในกายและโผฏฐัพพะนั้น ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธรรมารมณ์นั้น ฯ

[๒๙๖] ดูกรท่านโกฏฐิกะ โคดำกับโคขาว เขาผูกติดกันด้วยสายทามหรือด้วยเชือกเส้นเดียวกัน หากจะมีบุคคลใดกล่าวว่า โคดำเกี่ยวเนื่องกับโคขาว โคขาวเกี่ยวเนื่องกับโคดำ ดังนี้ บุคคลนั้นกล่าวชอบหรือ ฯ

ก. ดูกรท่านพระสารีบุตร ไม่ใช่อย่างนั้น โคดำไม่เกี่ยวเนื่องกับโคขาว ทั้งโคขาวก็ไม่เกี่ยวเนื่องกับโคดำ โคดำกับโคขาวนั้นเขาผูกติดกันด้วยสายทามหรือด้วยเชือกเส้นเดียวกัน สายทามหรือเชือกนั้นเป็นเครื่องเกี่ยวเนื่องในโคทั้งสองนั้น ฉันใด ฯ

สา. ดูกรท่านโกฏฐิกะ ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น ฯลฯ ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธรรมารมณ์นั้น ฯ

[๒๙๗] ดูกรท่านโกฏฐิกะ จักษุจักเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป หรือรูปจักเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ย่อมไม่ปรากฏ แต่เพราะจักษุไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น เพราะฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏ ฯลฯ ใจจักเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ หรือธรรมารมณ์จักเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ย่อมไม่ปรากฏ แต่เพราะใจไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธรรมารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏ ดูกรท่านโกฏฐิกะ ข้อนี้พึงทราบโดยปริยายแม้นี้ จักษุไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น ฯลฯ ใจไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธรรมารมณ์นั้น ฯ

[๒๙๘] ดูกรท่านโกฏฐิกะ พระเนตรของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงเห็นรูปด้วยพระเนตร แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่เลย พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระโสตของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ยังทรงฟังเสียงด้วยพระโสต แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระนาสิกของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงสูดกลิ่นด้วยพระนาสิก แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระชิวหาของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงลิ้มรสด้วยพระชิวหา แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระกายของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยพระกาย แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระมนัสของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยพระมนัส แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นแล้ว ดูกรท่านโกฏฐิกะ ข้อนี้พึงทราบโดยปริยายนี้ จักษุไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น ฯลฯ ใจไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธรรมารมณ์นั้น ฯ

จบสูตรที่ ๕

กามภูสูตร

[๒๙๙] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระกามภูอยู่ ณ โฆสิตารามใกล้พระนครโกสัมพี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระกามภูออกจากที่พักผ่อนแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรท่านพระอานนท์ จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุ ฯลฯ ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจหรือ ฯ

ท่านพระอานนท์ตอบว่า ดูกรท่านพระกามภู จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น ฯลฯ ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธรรมารมณ์นั้น ดูกรท่านพระกามภู โคดำกับโคขาว เขาผูกติดกันด้วยสายทามหรือด้วยเชือกเส้นเดียวกัน หากจะมีบุคคลใดกล่าวว่า โคดำเกี่ยวเนื่องกับโคขาว โคขาวเกี่ยวเนื่องกับโคดำ ดังนี้ บุคคลนั้นกล่าวชอบหรือ ฯ

กา. ดูกรท่านพระอานนท์ ไม่ใช่เช่นนั้น โคดำไม่เกี่ยวเนื่องกับโคขาว ทั้งโคขาวก็ไม่เกี่ยวเนื่องกับโคดำ โคดำกับโคขาวนั้น เขาผูกติดกันด้วยสายทามหรือด้วยเชือกเส้นเดียวกัน สายทามหรือเชือกเส้นเดียวกันนั้น เป็นเครื่องเกี่ยวเนื่องในโคทั้งสองนั้น ฉันใด ฯ

อา. ดูกรท่านกามภู ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักษุเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของรูป รูปก็เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของจักษุหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในจักษุและรูปนั้น ฯลฯ ใจเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจหามิได้ ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธรรมารมณ์นั้น ฯ

จบสูตรที่ ๖

อุทายีสูตร

[๓๐๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระอุทายีอยู่ ณ โฆสิตารามใกล้พระนครโกสัมพี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระอุทายีออกจากที่พักผ่อนแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรท่านพระอานนท์ กายนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอก เปิดเผย ประกาศแล้วโดยปริยายต่างๆ ว่า แม้เพราะเหตุนี้ กายนี้เป็นอนัตตา ดังนี้ ฉันใด แม้วิญญาณนี้ ท่านอาจจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ฉันนั้นหรือ ฯ

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรท่านพระอุทายี กายนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอก เปิดเผย ประกาศแล้วโดยปริยายต่างๆ ว่า แม้เพราะเหตุนี้ กายนี้เป็นอนัตตา ดังนี้ ฉันใด แม้วิญญาณนี้ ผมอาจจะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ฉันนั้น ฯ

[๓๐๑] ดูกรท่านพระอุทายี จักษุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปหรือ ฯ

อุ. อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ

อา. เหตุและปัจจัยที่อาศัยจักษุวิญญาณเกิดขึ้น พึงดับไปหมดสิ้น หาส่วนเหลือมิได้ จักษุวิญญาณจะปรากฏบ้างหรือหนอ ฯ

อุ. ไม่ปรากฏเลย ท่านผู้มีอายุ ฯ

อา. แม้โดยปริยายนี้แล จักษุวิญญาณนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอก เปิดเผย ประกาศแล้วว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ดังนี้ ฯลฯ ดูกรท่านพระอุทายี มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์หรือ ฯ

อุ. อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ

อา. เหตุและปัจจัยที่อาศัยมโนวิญญาณเกิดขึ้น พึงดับไปหมดสิ้น หาส่วนเหลือมิได้ มโนวิญญาณจะปรากฏบ้างหรือหนอ ฯ

อุ. ไม่ปรากฏเลย ท่านผู้มีอายุ ฯ

อา. ดูกรท่านผู้มีอายุ แม้โดยปริยายนี้แล มโนวิญญาณนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอก เปิดเผย ประกาศแล้วว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ฯ

[๓๐๒] ดูกรท่านพระอุทายี บุรุษต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ ถือเอาขวานอันคมเข้าไปสู่ป่า พบต้นกล้วยใหญ่ ตรง ใหม่ ไม่รุงรัง ในป่านั้น พึงตัดที่โคนต้นแล้วตัดที่ปลาย ครั้นแล้วลอกกาบอก แม้กระพี้ที่ต้นกล้วยนั้นก็ไม่พบ ที่ไหนจะพบแก่นได้ ฉันใด ดูกรท่านพระอุทายี ภิกษุจะพิจารณาหาตัวตนหรือสิ่งที่เป็นตัวตนในผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเล็งเห็นอยู่อย่างนี้ ก็ไม่ยึดถือสิ่งใดในโลก เมื่อไม่ยึดถือ ก็ไม่ดิ้นรน เมื่อไม่ดิ้นรน ก็ปรินิพพานโดยแน่แท้ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ

จบสูตรที่ ๗

อาทิตตปริยายสูตร

[๓๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอาทิตตปริยายและธรรมปริยายแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาทิตตปริยายและธรรมปริยายเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงจักขุนทรีย์ด้วยหลาวเหล็กอันร้อน ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรูป อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงกล่าวอย่างนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเกี่ยวโสตินทรีย์ด้วยขอเหล็กอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในเสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยหู จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิตหรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลคว้านฆานินทรีย์ด้วยมีดตัดเล็บอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในกลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเฉือนชิวหินทรีย์ด้วยมีดโกนอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรส อันจะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงกายยินทรีย์ด้วยหอกอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่า การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในโผฏฐัพพะ อันจะพึงรู้แจ้งด้วยกาย จะดีอะไร วิญญาณอันเนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ พึงตั้งอยู่ ถ้าบุคคลทำกาลกิริยาในสมัยนั้น พึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้ จึงได้กล่าวอย่างนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความหลับยังดีกว่า แต่เรากล่าวความหลับว่าเป็นโทษ ไร้ผล เป็นความโง่เขลา ของบุคคลผู้เป็นอยู่ ตนลุอำนาจของวิตกเช่นใดแล้ว พึงทำลายสงฆ์ให้แตกกันได้ บุคคลไม่ควรตรึกถึงวิตกเช่นนั้นเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเห็นโทษอันนี้แลว่าเป็นอาทีนพของบุคคลผู้เป็นอยู่ จึงกล่าวอย่างนี้ ฯ

[๓๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า จักขุนทรีย์ที่บุคคลแทงด้วยหลาวเหล็กอันร้อน ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า จักษุไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง จักษุวิญญาณไม่เที่ยง จักษุสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยไม่เที่ยง โสตินทรีย์ที่บุคคลเกี่ยวด้วยขอเหล็กอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า หูไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยง โสตวิญญาณไม่เที่ยง โสตสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัยไม่เที่ยง ฆานินทรีย์ที่บุคคลคว้านด้วยมีดตัดเล็บอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า จมูกไม่เที่ยง กลิ่นไม่เที่ยง ฆานวิญญาณไม่เที่ยง ฆานสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง ชิวหินทรีย์ที่บุคคลเฉือนด้วยมีดโกนอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า ลิ้นไม่เที่ยง รสไม่เที่ยง ชิวหาวิญญาณไม่เที่ยง ชิวหาสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง กายินทรีย์ที่บุคคลแทงด้วยหอกอันคม ไฟติดลุกโพลงแล้ว จงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า กายไม่เที่ยง โผฏฐัพพะไม่เที่ยง กายวิญญาณไม่เที่ยง กายสัมผัสไม่เที่ยง แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง ความหลับจงงดไว้ก่อน ผิฉะนั้น เราจะทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า ใจไม่เที่ยง ธรรมารมณ์ไม่เที่ยง มโนวิญญาณไม่เที่ยง มโนสัมผัสไม่เที่ยง สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ แม้ในรูป แม้ในจักษุวิญญาณ แม้ในจักษุสัมผัส แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ แม้ในธรรมารมณ์ แม้ในมโนวิญญาณ แม้ในมโนสัมผัส แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเรียกว่าอาทิตตปริยาย และธรรมปริยาย ฉะนี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๘

หัตถปาทปัพพสูตรที่ ๑

[๓๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมือทั้ง ๒ มีอยู่ การจับและการวางก็ปรากฏ เมื่อเท้าทั้ง ๒ มีอยู่ การก้าวไปและถอยกลับก็ปรากฏ เมื่อข้อทั้งหลายมีอยู่ การคู้เข้าและเหยียดออกก็ปรากฏ เมื่อท้องมีอยู่ ความหิวและความระหายก็ปรากฏ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจักษุมีอยู่ สุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ เมื่อใจมีอยู่ สุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

[๓๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมือทั้ง ๒ ไม่มี การจับและการวางก็ไม่ปรากฏ เมื่อเท้าทั้ง ๒ ไม่มี การก้าวไปและถอยกลับก็ไม่ปรากฏ เมื่อข้อทั้งหลายไม่มี การคู้เข้าและเหยียดออกก็ไม่ปรากฏ เมื่อท้องไม่มี ความหิวและความระหายก็ไม่ปรากฏ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจักษุไม่มี สุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ เมื่อใจไม่มี สุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

จบสูตรที่ ๙

หัตถปาทปัพพสูตรที่ ๒

[๓๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมือทั้ง ๒ มี การจับและการวางก็มี เมื่อเท้าทั้ง ๒ มี การก้าวไปและถอยกลับก็มี เมื่อข้อทั้งหลายมี การคู้เข้าและเหยียดออกก็มี เมื่อท้องมี ความหิวและความระหายก็มี ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจักษุมีอยู่ สุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ เมื่อใจมีอยู่ สุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

[๓๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมือทั้ง ๒ ไม่มี ไม่จับและการวางก็ไม่มี เมื่อเท้าทั้ง ๒ ไม่มี การก้าวไปและถอยกลับก็ไม่มี เมื่อข้อทั้งหลายไม่มี การคู้เข้าและเหยียดออกก็ไม่มี เมื่อท้องไม่มี ความหิวและความระหายก็ไม่มี ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจักษุไม่มี สุขและทุกข์อันเป็นภายในไม่เกิดขึ้น เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ เมื่อใจไม่มี สุขและทุกข์อันเป็นภายในก็ไม่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

จบสูตรที่ ๑๐

จบสมุททวรรคที่ ๓

************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้าอ่านครับ


Create Date : 18 มกราคม 2549
Last Update : 18 มกราคม 2549 15:08:04 น. 0 comments
Counter : 443 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.