Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
10 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 
ภิกษุผู้เป็นนักรบอาชีพในพระศาสนา (ต่อ)

(ต่อ)

อัสสสูตรที่ ๒

[๕๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงม้าดี ๓ จำพวกและบุรุษดี ๓ จำพวก เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ม้าดี ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ ม้าดีบางตัวในโลกนี้ เป็นสัตว์สมบูรณ์ด้วยกำลังเครื่องวิ่งเร็ว แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยสี ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ ม้าดีบางตัวในโลกนี้ เป็นสัตว์สมบูรณ์ด้วยกำลังเครื่องวิ่งเร็ว และสมบูรณ์ด้วยสี แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ ม้าดีบางตัวในโลกนี้ เป็นสัตว์สมบูรณ์ด้วยกำลังเครื่องวิ่งเร็ว สมบูรณ์ด้วยสี และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าดี ๓ จำพวกนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษดี ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ ๑. บุรุษบางคนในโลกนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๒. บุรุษดีบางคนในโลกนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๓. บุรุษดีบางคนในโลกนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะและสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษดีสมบูรณ์ด้วยเชาวน์ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ผุดเกิด จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เรากล่าวว่านี้เป็นเชาวน์ของเขา แต่เมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็จนปัญญา วิสัชนาไม่ได้ เรากล่าวว่า นี้ไม่ใช่วรรณะของเขา และเขาไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เรากล่าวว่า นี้ไม่ใช่ความสูงและความใหญ่ของเขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษดีเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษดีเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ผุดเกิด จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เรากล่าวว่า นี้เป็นเชาวน์ของเขา และเมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็แก้ได้ไม่จนปัญญา เรากล่าวว่า นี้เป็นวรรณะของเขา แต่เขาไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เรากล่าวว่านี้ไม่ใช่ความสูงและความใหญ่ของเขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษดีเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ และสมบูรณ์ด้วยวรรณะ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษดีเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะและสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ผุดเกิด จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เรากล่าวว่า นี้เป็นเชาวน์ของเขา และเมื่อถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาได้ ไม่จนปัญญา เรากล่าวว่านี้เป็นวรรณะของเขา และเขามักได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร เรากล่าวว่า นี้เป็นความสูงและความใหญ่ของเขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษดีเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษดี ๓ จำพวกนี้แล ฯ
[พระผู้มีพระภาคทรงอธิบายถึงม้าดีสามจำพวกคือ
1.ม้าดีวิ่งเร็ว มีวรรณคือสีไม่ดี ไม่มีความสูงใหญ่
2.ม้าดีวิ่งเร็ว มีวรรณคือสีดี ไม่มีความสูงใหญ่
3.ม้าดีวิ่งเร็ว มีวรรณคือสีดี มีความสูงใหญ่

ฉันใดก็ฉันนั้น บุรุษดีในพระศาสนานี้มีสามจำพวกคือ
1.บุรุษดีสมบูรณ์ด้วยเชาวน์ ไม่สมบูรณ์ด้วยวรณะ ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ กล่าวคือภิกษุในธรรมวินัยนี้สำเร็จเป็นพระอนาคามี กระทำสังโยชน์เบื้องต้นห้าประการให้สิ้นไป นี้คือมีเชาวน์ดี เมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาไม่ได้พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีวรรณะไม่ดี เขาไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร (หมายถึงไม่สามารถยังความศรัทธาแก่ทายก)พระผู้มีพระภาคตรัสว่าไม่มีความสูงใหญ่
2.บุรุษดีสมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรณะ สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ กล่าวคือภิกษุในธรรมวินัยนี้สำเร็จเป็นพระอนาคามี กระทำสังโยชน์เบื้องต้นห้าประการให้สิ้นไป นี้คือมีเชาวน์ดี เมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาได้พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีวรรณะดี เขาไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (หมายถึงไม่สามารถยังความศรัทธาแก่ทายก)พระผู้มีพระภาคตรัสว่าไม่มีความสูงใหญ่
3.บุรุษดีสมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรณะ สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ กล่าวคือภิกษุในธรรมวินัยนี้สำเร็จเป็นพระอนาคามี กระทำสังโยชน์เบื้องต้นห้าประการให้สิ้นไป นี้คือมีเชาวน์ดี เมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาได้พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีวรรณะดี เขาได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (หมายถึงสามารถยังความศรัทธาแก่ทายก)พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีความสูงใหญ่]


อัสสสูตรที่ ๓

[๕๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงม้าอาชาไนยตัวเจริญ ๓ จำพวก และบุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ๓ จำพวก เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ม้าอาชาไนยตัวเจริญ ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ เป็นสัตว์สมบูรณ์ด้วยกำลังเป็นเครื่องวิ่งเร็ว แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยสี ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ เป็นสัตว์สมบูรณ์ด้วยกำลังเครื่องวิ่งเร็ว และสมบูรณ์ด้วยสี แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ ม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ เป็นสัตว์สมบูรณ์ด้วยกำลังเครื่องวิ่งเร็ว สมบูรณ์ด้วยสี และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญ ๓ จำพวกนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ และสมบูรณ์ด้วยวรรณะ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ บุรุษอาชาไนยผู้เจริญบางคนในโลกนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษอาชาไนยผู้เจริญเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เรากล่าวว่า นี้เป็นเชาวน์ของเขา แต่เมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็จนปัญญา วิสัชนาไม่ได้ เรากล่าวว่านี้ไม่ใช่วรรณะของเขา และเขาไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร เรากล่าวว่า นี้ไม่ใช่ความสูงและความใหญ่ของเขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษอาชาไนยผู้เจริญเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ และสมบูรณ์ด้วยวรรณะ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เรากล่าวว่า นี้เป็นเชาวน์ของเขา และเมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาได้ ไม่จนปัญญา เรากล่าวว่านี้เป็นวรรณะของเขา แต่เขาไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร เรากล่าวว่า นี้ไม่ใช่ความสูงและความใหญ่ของเขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ และสมบูรณ์ด้วยวรรณะ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษอาชาไนยผู้เจริญเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เรากล่าวว่า นี้เป็นเชาวน์ของเขา และเมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาได้ ไม่จนปัญญา เรากล่าวว่า นี้เป็นวรรณะของเขา และเขามักได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร เรากล่าวว่า นี้เป็นความสูงและความใหญ่ของเขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ๓ จำพวกนี้แล ฯ
[พระผู้มีพระภาคทรงอธิบายถึงม้าอาชาไนยตัวเจริญสามจำพวกคือ
1.ม้าอาชาไนยตัวเจริญวิ่งเร็ว มีวรรณคือสีไม่ดี ไม่มีความสูงใหญ่
2.ม้าอาชาไนยตัวเจริญวิ่งเร็ว มีวรรณคือสีดี ไม่มีความสูงใหญ่
3.ม้าอาชาไนยตัวเจริญวิ่งเร็ว มีวรรณคือสีดี มีความสูงใหญ่

ฉันใดก็ฉันนั้น บุรุษอาชาไนยผู้เจริญในพระศาสนานี้มีสามจำพวกคือ
1.บุรุษอาชาไนยผู้เจริญสมบูรณ์ด้วยเชาวน์ ไม่สมบูรณ์ด้วยวรณะ ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ กล่าวคือภิกษุในธรรมวินัยนี้สำเร็จเป็นพระอรหันตขีณาสพ สมบูรณ์ด้วยเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ ทำลายกิเลสอาสวะให้หมดไปด้วยปัญญาอันยิ่ง นี้คือมีเชาวน์ดี เมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาไม่ได้พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีวรรณะไม่ดี เขาไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (หมายถึงไม่สามารถยังความศรัทธาแก่ทายก)พระผู้มีพระภาคตรัสว่าไม่มีความสูงใหญ่
2.บุรุษอาชาไนยผู้เจริญสมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรณะ สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ กล่าวคือภิกษุในธรรมวินัยนี้สำเร็จเป็นพระอรหันตขีณาสพ สมบูรณ์ด้วยเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ ทำลายกิเลสอาสวะให้หมดไปด้วยปัญญาอันยิ่ง นี้คือมีเชาวน์ดี เมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาได้พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีวรรณะดี เขาไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (หมายถึงไม่สามารถยังความศรัทธาแก่ทายก)พระผู้มีพระภาคตรัสว่าไม่มีความสูงใหญ่
3.บุรุษอาชาไนยผู้เจริญมบูรณ์ด้วยเชาวน์ สมบูรณ์ด้วยวรณะ สมบูรณ์ด้วยความสูงใหญ่ กล่าวคือภิกษุในธรรมวินัยนี้สำเร็จเป็นพระอรหันตขีณาสพ สมบูรณ์ด้วยเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ ทำลายกิเลสอาสวะให้หมดไปด้วยปัญญาอันยิ่ง นี้คือมีเชาวน์ดี เมื่อเขาถูกถามปัญหาในอภิธรรม อภิวินัย ก็วิสัชนาได้พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีวรรณะดี เขาได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (หมายถึงสามารถยังความศรัทธาแก่ทายก)พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีความสูงใหญ่]


โมรนิวาปสูตรที่ ๑

[๕๘๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปริพาชการามชื่อโมรนิวาปะ ใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการย่อมมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีปรกติประพฤติพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ ศีลขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑ สมาธิขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑ ปัญญาขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีปรกติประพฤติพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
[ภิกษุประกอบด้วยธรรมสามประการ ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยความสำเร็จ ถึงพร้อมด้วยความเป็นสุขจากการปฏิบัติ ถึงพร้อมด้วยการประพฤติอย่างบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยพระนิพพานอันเป็นที่สุด ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรมสามประการนั้นคือ
1.มีศีลของพระอรหันต์
2.มีสมาธิของพระอรหันต์
3.มีปัญญาของพระอรหันต์]


โมรนิวาปสูตรที่ ๒

[๕๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีปรกติประพฤติพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ อิทธิปาฏิหาริยะ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ ๑ อาเทสนาปาฏิหาริยะ ดักใจเป็นอัศจรรย์ ๑ อนุสาสนีปาฏิหาริยะ คำสอนเป็นอัศจรรย์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีปรกติประพฤติพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
[ภิกษุประกอบด้วยธรรมสามประการ ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยความสำเร็จ ถึงพร้อมด้วยความเป็นสุขจากการปฏิบัติ ถึงพร้อมด้วยการประพฤติอย่างบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยพระนิพพานอันเป็นที่สุด ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรมสามประการนั้นคือ
1.มีอิทธิปาฏิหาริย์ - มีฤทธิ์เป็นอัศจรรย์
2.มีอาเทสนาปาฏิหาริย์ - สามารถดักใจเป็นอัศจรรย์
3.มีอนุสาสนีปาฏิหาริย์ - มีคำสอนเป็นอัศจรรย์]


โมรนิวาปสูตรที่ ๓

[๕๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีปรกติประพฤติพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้เป็นไฉน คือ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ๑ สัมมาญาณะ ความรู้ชอบ ๑ สัมมาวิมุติ ความหลุดพ้นชอบ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีปรกติประพฤติพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
[ภิกษุประกอบด้วยธรรมสามประการ ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยความสำเร็จ ถึงพร้อมด้วยความเป็นสุขจากการปฏิบัติ ถึงพร้อมด้วยการประพฤติอย่างบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยพระนิพพานอันเป็นที่สุด ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรมสามประการนั้นคือ
1.มีสัมมาทิฏฐิ - มีความเห็นชอบ
2.มีสัมมาญาณะ - มีความรู้ชอบ
3.มีสัมมาวิมุติ - มีความหลุดพ้นชอบ]


จบโยธาชีววรรคที่ ๔

****************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ


Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2549
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2549 16:34:28 น. 0 comments
Counter : 500 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.