Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2548
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
14 พฤศจิกายน 2548
 
All Blogs
 
ธรรมบรรยายหนึ่งของท่านพระสารีบุตร

พระพุทธองค์ทรงมุ่งสั่งสอนสัตว์โลกโดยไม่เลือกชาติและวรรณะ สำหรับพระสงฆ์สาวกนั้นพระองค์ยังอบรมให้มีปฏิภาณในการกล่าวบรรยายธรรมด้วยทรงพระประสงค์ให้สามารถสืบทอดและสามารถดำรงพระศาสนาอยู่ได้เป็นเวลานาน พระสูตรที่ยกมานี้เป็นตัวอย่างหนึ่งถึงการที่ทรงมอบหมายให้ท่านพระสารีบุตรบรรยายธรรมแทนพระองค์ ส่วนว่าพระธรรมเสนาบดีจะบรรยายธรรมไปเช่นใดนั้นก็จะมาศึกษากันครับ

ยกเอาพระสูตรนี้มาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

******************************************
๑๐. สังคีติสูตร (๓๓)

[๒๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวจาริกไปในแคว้นมัลละ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เสด็จถึงนครของพวกมัลลกษัตริย์อันมีนามว่า ปาวา ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร เขตนครปาวา ฯ

[๒๒๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ท้องพระโรงหลังใหม่ อันมีนามว่า อุพภตกะของพวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา สร้างสำเร็จแล้วไม่นาน ยังไม่ทันที่สมณพราหมณ์หรือใครๆ ที่เป็นมนุษย์จะได้อยู่อาศัย พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวาได้สดับข่าวว่าพระผู้มีพระภาคได้เสด็จเที่ยวจาริกไปในแคว้นมัลละ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงนครปาวาโดยลำดับ กำลังประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร เขตนครปาวา ฯ

ครั้งนั้นแล พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้องพระโรงหลังใหม่ อันมีนามว่าอุพภตกะ ของพวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา สร้างสำเร็จแล้วไม่นาน ยังไม่ทันที่สมณพราหมณ์หรือใครๆ ที่เป็นมนุษย์จะได้อยู่อาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จประทับ ณ ท้องพระโรงนั้นก่อนเถิด พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับก่อนแล้ว ภายหลังพวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวาจึงจักใช้สอย การเสด็จประทับก่อนของพระผู้มีพระภาคนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวาสิ้นกาลนาน พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพแล้ว ฯ
[พระพุทธเจ้าทรงรับอาราธนาเหล่าเจ้าผู้ครองแคว้นมัลละเพื่อเสด็จประทับท้องพระโรงของพวกกษัตริย์มัลละเป็นพระองค์แรกเพื่อความเป็นสิริมงคล]

ครั้นพวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวา ได้ทราบการทรงรับของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้ว พากันไปยังท้องพระโรง ครั้นแล้วจึงปูลาดท้องพระโรงให้พร้อมสรรพ แต่งตั้งอาสนะ ให้ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมัน แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้องพระโรงพวกข้าพระองค์ปูลาดพร้อมสรรพแล้ว อาสนะก็แต่งตั้งไว้แล้ว หม้อน้ำก็ให้ตั้งไว้แล้ว ประทีปน้ำมันก็ตามไว้แล้วพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้ ฯ

[๒๒๓] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวรเสด็จไปยังท้องพระโรง พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ทรงล้างพระบาทแล้วเสด็จเข้าไปยังท้องพระโรง ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา แม้พระภิกษุสงฆ์ก็ล้างเท้าแล้วพากันเข้าไปยังท้องพระโรง นั่งพิงฝาด้านหลัง ผินหน้าไปทางทิศบูรพา แวดล้อมพระผู้มีพระภาค แม้พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวาก็พากันล้างเท้าแล้วเข้าไปยังท้องพระโรง นั่งพิงฝาด้านบูรพา ผินหน้าไปทางทิศปัจฉิมแวดล้อมพระผู้มีพระภาค ฯ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงยังพวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวาให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถาตลอดราตรีเป็นอันมาก แล้วทรงส่งไปด้วยพระดำรัสว่า ดูกรวาเสฏฐะทั้งหลาย ราตรีล่วงมากแล้ว บัดนี้พวกท่านจงสำคัญเวลาอันสมควรเถิด พวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวาได้พร้อมกันรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า แล้วพากันลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ

[๒๒๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค เมื่อพวกเจ้ามัลละแห่งนครปาวาหลีกไปแล้วไม่นาน ได้ทรงเหลียวดูหมู่ภิกษุผู้นิ่งอยู่แล้วได้รับสั่งกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนะและมิทธะ สารีบุตรจงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย เราเมื่อยหลัง ฉะนั้น เราพึงพักผ่อน ท่านพระสารีบุตรได้รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคด้วยคำว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า ดังนี้ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิเป็นสี่ชั้น แล้วทรงสำเร็จสีหไสยา โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงเหลื่อมพระบาทด้วยพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ ทรงกระทำความหมายในอันที่จะเสด็จลุกขึ้นไว้ในพระทัย ฯ
[พระผู้มีพระภาคทรงรับสั่งแก่ท่านพระสารีบุตรให้แสดงธรรมกถา]

[๒๒๕] ก็โดยสมัยนั้นแล นิครนถ์นาฏบุตรทำกาละแล้วที่นครปาวาไม่นานนัก เพราะกาลกิริยาของนิครนถ์นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกกันเป็นสองพวก เกิดบาดหมางกัน เกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้น เสียดแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ ดังนี้ เห็นจะมีแต่ความตายอย่างเดียวเท่านั้นจะเป็นไปในพวกนิครนถ์ ผู้เป็นสาวกของนาฏบุตร ถึงพวกสาวกของนิครนถ์นาฏบุตรที่เป็นคฤหัสถ์ผู้นุ่งขาวห่มขาวก็มีอาการเบื่อหน่าย คลายความรัก รู้สึกท้อถอยในพวกนิครนถ์ผู้เป็นสาวกของนาฏบุตร ทั้งนี้เพราะธรรมวินัยอันนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรมที่ท่านผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยมีที่พำนักอันทำลายเสียแล้ว เป็นธรรมวินัย ไม่มีที่พึ่งอาศัย ฯ

ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เล่ากะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย นิครนถ์นาฏบุตรทำกาละแล้วที่พระนครปาวาไม่นานนัก เพราะกาลกิริยาของนิครนถ์นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกกันเป็นสองพวก เกิดบาดหมางกัน เกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้น เสียดแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้น จงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ ดังนี้ เห็นจะมีแต่ความตายอย่างเดียวเท่านั้นจะเป็นไปในพวกนิครนถ์ ผู้เป็นสาวกของนาฏบุตร ถึงพวกสาวกของนิครนถ์นาฏบุตรที่เป็นคฤหัสถ์ผู้นุ่งขาวห่มขาว ก็มีอาการเบื่อหน่าย คลายความรัก รู้สึกท้อถอยในพวกนิครนถ์ ผู้เป็นสาวกของนาฏบุตร ทั้งนี้ เพราะธรรมวินัยอันนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรมที่ท่านผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยมีที่พำนักอันทำลายเสียแล้ว เป็นธรรมวินัยไม่มีที่พึงอาศัย ฯ

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ย่อมเป็นเช่นดังกล่าวมาสำหรับในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรมที่ท่านผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ ผู้มีอายุทั้งหลาย ส่วนธรรมนี้แล อันพระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลาย ตรัสไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว พวกเราทั้งหมดด้วยกัน พึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืนตั้งอยู่นาน นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ธรรมอะไรเล่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว พวกเราทั้งหมดด้วยกัน พึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืนตั้งอยู่นาน นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ

[๒๒๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมหนึ่ง ที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้วมีอยู่แล พวกเราทั้งหมดด้วยกันพึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืนตั้งอยู่นาน นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรมหนึ่งเป็นไฉน สัตว์ทั้งหมดตั้งอยู่ได้เพราะอาหาร สัตว์ทั้งหมดตั้งอยู่ได้เพราะสังขาร ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมหนึ่งนี้แล อันพระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว พวกเราทั้งหมดด้วยกันพึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืนตั้งอยู่นาน นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
[ท่านพระสารีบุตรได้ปรารภถึงเหตุในเวลานั้นที่นิครนถ์นาฏบุตร เจ้าลัทธิคนหนึ่งในเวลานั้นเพิ่งเสียชีวิตลง เพราะว่าธรรมที่ศาสดานิครนถ์สั่งสอนมิใช่ธรรมอันดี เมื่อศาสดาสิ้นขีวิตลง เหล่าสาวกพากันโต้แย้งกันถึงข้อธรรมจนเกิดการทะเลาะวิวาทเป็นอันมาก ท่านพระสารีบุตรได้ยกเอาหลักธรรมอันพระพุทธเจ้าสั่งสอน ตรัสไว้ดีแล้วมาทบทวนเป็นเช่นกับการสังคายนาครั้งย่อยๆ หากศึกษาพระสูตรนี้จะได้ทราบถึงพระธรรมต่างๆมากมายที่ล้วนเป็นธรรมอันดี มีเนื้อหาใจความอันวิจิตร ในลักษณะดังจะเห็นต่อไปครับ โดยในเบื้องต้น กล่าวถึงธรรมที่มีใจความอันควรศึกษาที่มีเนื้อหาเพียงส่วนเดียวสองประการคือ สัตว์ทั้งหมดตั้งอยู่ได้เพราะอาหาร และสัตว์ทั้งหมดตั้งอยู่ได้เพราะสังขาร]

[๒๒๗] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๒ ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้วมีอยู่แล พวกเราทั้งหมดด้วยกัน พึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้พึงยั่งยืนตั้งอยู่นาน นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๒ เป็นไฉน นามและรูป ๑ อวิชชาและภวตัณหา ๑ ภวทิฐิและวิภวทิฐิ ๑ ความไม่ละอายและความไม่เกรงกลัว ๑ ความละอายและความเกรงกลัว ๑ ความเป็นผู้ว่ายากและความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ๑ ความเป็นผู้ว่าง่ายและความเป็นผู้มีมิตรดี ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในอาบัติและความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากอาบัติ ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในสมาบัติและความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาบัติ ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในธาตุและความเป็นผู้ฉลาดในมนสิการ ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในอายตนะและความเป็นผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ๑ ความเป็นผู้ฉลาดในฐานะ [คือเหตุที่เป็นได้] และความเป็นผู้ฉลาดในอัฏฐานะ [คือเหตุที่เป็นไปไม่ได้] ๑ การกล่าววาจาอ่อนหวานและการต้อนรับ ๑ ความไม่เบียดเบียนและความสะอาด ๑ ความเป็นผู้มีสติหลงลืมและความเป็นผู้ไม่มีสัมปชัญญะ ๑ สติและสัมปชัญญะ ๑ ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย และความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ๑ ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย และความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ๑ กำลังที่เกิดแต่การพิจารณาและกำลังที่เกิดแต่การอบรม ๑ กำลังคือสติและกำลังคือสมาธิ ๑ สมถะและวิปัสสนา ๑ นิมิตที่เกิดเพราะสมถะและนิมิตที่เกิดเพราะความเพียร ๑ ความเพียรและความไม่ฟุ้งซ่าน ๑ ความวิบัติแห่งศีล และความวิบัติแห่งทิฐิ ๑ ความถึงพร้อมแห่งศีล และความถึงพร้อมแห่งทิฐิ ๑ ความหมดจดแห่งศีลและความหมดจดแห่งทิฐิ ๑ ความหมดจดแห่งทิฐิและความเพียรของผู้มีทิฐิ ๑ ความสลดใจและความเพียรโดยแยบคายของผู้สลดใจแล้วในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสลดใจ ๑ ความเป็นผู้ไม่สันโดษในธรรมอันเป็นกุศลและความเป็นผู้ไม่ท้อถอยในการตั้งความเพียร ๑ วิชชาและวิมุตติ ๑ ญาณในความสิ้นไปและญาณในความไม่เกิด ๑ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๒ๆ เหล่านี้แล อันพระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้โดยชอบแล้ว พวกเราทั้งหมดด้วยกันพึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืนตั้งอยู่นาน นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
จบ หมวด ๒
[ท่านพระสารีบุตรได้บรรยายธรรมข้อต่างๆโดยแบ่งเป็นสิบหมวด แต่ละหมวดรวบรวมข้อธรรมที่มีลักษณะที่มีข้อย่อยเท่ากันไว้ด้วยกัน เช่นหมวดที่ 4 ได้ยกเอาอริยสัจจ์4 อัปปมัญญา4 อิทธิบาท4 สัมมัปปธาน4 เป็นตัวอย่าง ดังนี้เเป็นต้นครับ ลองมาทบทวนข้อธรรมมากมายที่ท่านรู้จัก และทำความเข้าใจข้อธรรมใหม่ที่ท่านไม่คุ้นเคยกันครับ]

หมวด ๓
[๒๒๘] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๓ๆ ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้โดยชอบแล้วมีอยู่แล พวกเราทั้งหมดด้วยกันพึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืนตั้งอยู่นาน นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๓ๆ เป็นไฉน

อกุศลมูล ๓ อย่าง
๑. อกุศลมูล คือ โลภะ
๒. อกุศลมูล คือ โทสะ
๓. อกุศลมูล คือ โมหะ

กุศลมูล ๓ อย่าง
๑. กุศลมูล คือ อโลภะ
๒. กุศลมูล คือ อโทสะ
๓. กุศลมูล คือ อโมหะ

ทุจริต ๓ อย่าง
๑. กายทุจริต [ความประพฤติชั่วทางกาย]
๒. วจีทุจริต [ความประพฤติชั่วทางวาจา]
๓. มโนทุจริต [ความประพฤติชั่วทางใจ]

สุจริต ๓ อย่าง
๑. กายสุจริต [ความประพฤติชอบทางกาย]
๒. วจีสุจริต [ความประพฤติชอบทางวาจา]
๓. มโนสุจริต [ความประพฤติชอบทางใจ]

อกุศลวิตก ๓ อย่าง
๑. กามวิตก [ความตริในทางกาม]
๒. พยาปาทวิตก [ความตริในทางพยาบาท]
๓. วิหิงสาวิตก [ความตริในทางเบียดเบียน]

กุศลวิตก ๓ อย่าง
๑. เนกขัมมวิตก [ความตริในทางออกจากกาม]
๒. อัพยาปาทวิตก [ความตริในทางไม่พยาบาท]
๓. อวิหิงสาวิตก [ความตริในทางไม่เบียดเบียน]

อกุศลสังกัปปะ ๓ อย่าง
๑. กามสังกัปปะ [ความดำริในทางกาม]
๒. พยาปาทสังกัปปะ [ความดำริในทางพยาบาท]
๓. วิหิงสาสังกัปปะ [ความดำริในทางเบียดเบียน]

กุศลสังกัปปะ ๓ อย่าง
๑. เนกขัมมสังกัปปะ [ความดำริในทางออกจากกาม]
๒. อัพยาปาทสังกัปปะ [ความดำริในทางไม่พยาบาท]
๓. อวิหิงสาสังกัปปะ [ความดำริในทางไม่เบียดเบียน]

อกุศลสัญญา ๓ อย่าง
๑. กามสัญญา [ความจำได้ในทางกาม]
๒. พยาปาทสัญญา [ความจำได้ในทางพยาบาท]
๓. วิหิงสาสัญญา [ความจำได้ในทางเบียดเบียน]

กุศลสัญญา ๓ อย่าง
๑. เนกขัมมสัญญา [ความจำได้ในทางออกจากกาม]
๒. อัพยาปาทสัญญา [ความจำได้ในทางไม่พยาบาท]
๓. อวิหิงสาสัญญา [ความจำได้ในทางไม่เบียดเบียน]

อกุศลธาตุ ๓ อย่าง
๑. กามธาตุ [ธาตุคือกาม]
๒. พยาปาทธาตุ [ธาตุคือความพยาบาท]
๓. วิหิงสาธาตุ [ธาตุคือความเบียดเบียน]

กุศลธาตุ ๓ อย่าง
๑. เนกขัมมธาตุ [ธาตุคือความออกจากกาม]
๒. อัพยาปาทธาตุ [ธาตุคือความไม่พยาบาท]
๓. อวิหิงสาธาตุ [ธาตุคือความไม่เบียดเบียน]

ธาตุอีก ๓ อย่าง
๑. กามธาตุ [ธาตุคือกาม]
๒. รูปธาตุ [ธาตุคือรูป]
๓. อรูปธาตุ [ธาตุคือสิ่งที่ไม่มีรูป]

ธาตุอีก ๓ อย่าง
๑. รูปธาตุ [ธาตุคือรูป]
๒. อรูปธาตุ [ธาตุคือสิ่งที่ไม่มีรูป]
๓. นิโรธธาตุ [ธาตุคือความดับทุกข์]

ธาตุอีก ๓ อย่าง
๑. หีนธาตุ [ธาตุอย่างเลว]
๒. มัชฌิมธาตุ [ธาตุอย่างกลาง]
๓. ปณีตธาตุ [ธาตุอย่างประณีต]
[ธาติอย่างเลวหมายถึงธาตุในกามาวจรภูมิทั้งหก ธาตุอย่างกลางคือธาตุในรูปภูมิ ธาติอย่างประณีตคือธาตุในอรูปภูมิครับ]

ตัณหา ๓ อย่าง
๑. กามตัณหา [ตัณหาในกาม]
๒. ภวตัณหา [ตัณหาในภพ]
๓. วิภวตัณหา [ตัณหาในปราศจากภพ]
[ภวตัณหา-ความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหา-ความอยากที่จะไม่มีไม่เป็น]

ตัณหาอีก ๓ อย่าง
๑. กามตัณหา [ตัณหาในกาม]
๒. รูปตัณหา [ตัณหาในรูป]
๓. อรูปตัณหา [ตัณหาในสิ่งที่ไม่มีรูป]

ตัณหาอีก ๓ อย่าง
๑. รูปตัณหา [ตัณหาในรูป]
๒. อรูปตัณหา [ตัณหาในสิ่งที่ไม่มีรูป]
๓. นิโรธตัณหา [ตัณหาในความดับสูญ] [อุจเฉททิฏฐิ]

สัญโญชน์ ๓ อย่าง
๑. สักกายทิฏฐิ [ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน]
๒. วิจิกิจฉา [ความลังเลสงสัย]
๓. สีลัพพตปรามาส [ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยอำนาจศีลพรต]

อาสวะ ๓ อย่าง
๑. กามาสวะ [อาสวะเป็นเหตุอยากได้]
๒. ภวาสวะ [อาสวะเป็นเหตุอยากเป็น]
๓. อวิชชาสวะ [อาสวะคือความเขลา]

ภพ ๓ อย่าง
๑. กามภพ [ภพที่เป็นกามาวจร]
๒. รูปภพ [ภพที่เป็นรูปาวจร]
๓. อรูปภพ [ภพที่เป็นอรูปาวจร]

เอสนา ๓ อย่าง
๑. กาเมสนา [การแสวงหากาม]
๒. ภเวสนา [การแสวงหาภพ]
๓. พรหมจริเยสนา [การแสวงหาพรหมจรรย์]

วิธา การวางท่า ๓ อย่าง
๑. เสยโยหมสฺมีติวิธา [ถือว่าตัวเราประเสริฐกว่าเขา]
๒. สทิโสหมสฺมีติวิธา [ถือว่าตัวเราเสมอกับเขา]
๓. หีโนหมสฺมีติวิธา [ถือว่าตัวเราเลวกว่าเขา]

อัทธา ๓ อย่าง
๑. อดีตอัทธา [ระยะกาลที่เป็นส่วนอดีต]
๒. อนาคตอัทธา [ระยะกาลที่เป็นส่วนอนาคต]
๓. ปัจจุบันนอัทธา [ระยะกาลที่เป็นปัจจุบัน]

อันตะ ๓ อย่าง
๑. สักกายอันตะ [ส่วนที่ถือว่าเป็นกายตน]
๒. สักกายสมุทยอันตะ [ส่วนที่ถือว่าเป็นเหตุก่อให้เกิดกายตน]
๓. สักกายนิโรธอันตะ [ส่วนที่ถือว่าเป็นเครื่องดับกายตน]

เวทนา ๓ อย่าง
๑. สุขเวทนา [ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข]
๒. ทุกขเวทนา [ความเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์]
๓. อทุกขมสุขเวทนา [ความเสวยอารมณ์ที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข]

ทุกขตา ๓ อย่าง
๑. ทุกขทุกขตา [ความเป็นทุกข์เพราะทุกข์]
๒. สังขารทุกขตา [ความเป็นทุกข์เพราะสังขาร]
๓. วิปริฌามทุกขตา [ความเป็นทุกข์เพราะความแปรปรวน]

ราสี ๓ อย่าง
๑. มิจฉัตตนิยตราสี [กองคือความผิดที่แน่นอน]
๒. สัมมัตตนิยตราสี [กองคือความถูกที่แน่นอน]
๓. อนิยตราสี [กองคือความไม่แน่นอน]

กังขา ๓ อย่าง
๑. ปรารภกาลที่ล่วงไปแล้วนานๆ แล้วสงสัย เคลือบแคลง ไม่เชื่อลงไปได้ ไม่เลื่อมใส
๒. ปรารภกาลที่ยังไม่มาถึงนานๆ แล้ว สงสัย เคลือบแคลง ไม่เชื่อลงไปได้ ไม่เลื่อมใส
๓. ปรารภกาลปัจจุบันทุกวันนี้แล้ว สงสัย เคลือบแคลง ไม่เชื่อลงไปได้ ไม่เลื่อมใส

ข้อที่ไม่ต้องรักษาของพระตถาคต ๓ อย่าง
๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตมีกายสมาจารบริสุทธิ์ พระตถาคตมิได้มีความประพฤติชั่วทางกายที่พระองค์จะต้องรักษาไว้โดยตั้งพระทัยว่า คนอื่นๆอย่าได้รู้ถึงความประพฤติชั่วทางกายของเรานี้ ดังนี้
๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตมีวจีสมาจารบริสุทธิ์ พระตถาคตมิได้มีความประพฤติชั่วทางวาจาที่พระองค์จะต้องรักษาไว้โดยตั้งพระทัยว่า คนอื่นๆ อย่าได้รู้ถึงความประพฤติชั่วทางวาจาของเรานี้ ดังนี้
๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตมีมโนสมาจารบริสุทธิ์ พระตถาคตมิได้มีความประพฤติชั่วทางใจที่พระองค์จะต้องรักษาไว้โดยตั้งพระทัยว่า คนอื่นๆอย่าได้รู้ถึงความประพฤติชั่วทางใจของเรานี้ ดังนี้

กิญจนะ ๓ อย่าง
๑. ราคกิญจนะ [เครื่องกังวลคือราคะ]
๒. โทสกิญจนะ [เครื่องกังวลคือโทสะ]
๓. โมหกิญจนะ [เครื่องกังวลคือโมหะ]

อัคคี ๓ อย่าง
๑. ราคัคคิ [ไฟคือราคะ]
๒. โทสัคคิ [ไฟคือโทสะ]
๓. โมหัคคิ [ไฟคือโมหะ]

อัคคีอีก ๓ อย่าง
๑. อาหุเนยยัคคิ [ไฟคืออาหุเนยยบุคคล]
๒. ทักขิเณยยัคคิ [ไฟคือทักขิเณยยบุคคล]
๓. คหปตัคคิ [ไฟคือคฤหบดี]

รูปสังคหะ ๓ อย่าง
๑. สนิทัสสนสัปปฏิฆรูป [รูปที่เป็นไปกับด้วยการเห็น ทั้งเป็นไปกับด้วยการกระทบ]
๒. อนิทัสสนสัปปฏิฆรูป [รูปที่ไม่มีการเห็น แต่เป็นไปกับด้วยการกระทบ]
๓. อนิทัสสนอัปปฏิฆรูป [รูปที่ไม่เห็น ที่ไม่กระทบ]

สังขาร ๓ อย่าง
๑. ปุญญาภิสังขาร [อภิสังขารคือบุญ]
๒. อปุญญาภิสังขาร [อภิสังขารคือบาป]
๓. อเนญชาภิสังขาร [อภิสังขารคืออเนญชา]

บุคคล ๓ อย่าง
๑. เสกขบุคคล [บุคคลผู้ยังต้องศึกษา]
๒. อเสกขบุคคล [บุคคลผู้ไม่ต้องศึกษา]
๓. เนวเสกขนาเสกขบุคคล [บุคคลผู้ยังต้องศึกษาก็ไม่ใช่ ผู้ไม่ต้องศึกษาก็ไม่ใช่]

เถระ ๓ อย่าง
๑. ชาติเถระ [พระเถระโดยชาติ]
๒. ธรรมเถระ [พระเถระโดยธรรม]
๓. สมมติเถระ [พระเถระโดยสมมติ]

ปุญญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง
๑. ทานมัย [บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน]
๒. สีลมัย [บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล]
๓. ภาวนามัย [บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา]

เหตุสำหรับโจทน์ ๓ อย่าง
๑. ทิฏฺเ€น [ด้วยได้เห็น]
๒. สุเตน [ด้วยได้ยินได้ฟัง]
๓. ปริสงฺกาย [ด้วยความรังเกียจ]

กามอุปบัติ ๓ อย่าง
๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์ประเภทที่มีกามปรากฏมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นเมื่อกามปรากฏแล้ว ย่อมยังอำนาจให้เป็นไปในกามทั้งหลายเช่นมนุษย์ เทพดาบางจำพวก และวินิบาตบางจำพวก ฉะนั้น นี้เป็นกามอุปบัติข้อที่หนึ่ง
๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์ประเภทที่นิรมิตกามได้มีอยู่ สัตว์เหล่านั้นนิรมิตแล้วๆ ย่อมยังอำนาจให้เป็นไปในกามทั้งหลาย เช่นเทพดาเหล่านิมมานรตีฉะนั้น นี้เป็นกามอุปบัติข้อที่สอง
๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์ประเภทที่ผู้อื่นนิรมิตกามให้มีอยู่ สัตว์เหล่านั้น ย่อมยังอำนาจให้เป็นไปในกามที่ผู้อื่นนิรมิตให้แล้ว เช่นเทพดาเหล่าปรนิมมิตวสวตี ฉะนั้น นี้เป็นกามอุปบัติข้อที่สาม

สุขอุปบัติ ๓ อย่าง
๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์พวกที่ยังความสุขให้เกิดขึ้นๆ แล้วย่อมอยู่เป็นสุขมีอยู่ เช่น พวกเทพเหล่าพรหมกายิกา ฉะนั้น นี้เป็นสุขอุปบัติข้อที่หนึ่ง ฯ
๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์พวกที่อิ่มเอิบบริบูรณ์ถูกต้องด้วยความสุขมีอยู่ สัตว์เหล่านั้น บางครั้งบางคราว เปล่งอุทานว่า สุขหนอๆ ดังนี้ เช่น พวกเทพเหล่าอาภัสสรา ฉะนั้น นี้เป็นสุขอุปบัติข้อที่สอง ฯ
๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์พวกที่อิ่มเอิบบริบูรณ์ถูกต้องด้วยความสุขมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นสันโดษ เสวยความสุขทางจิตอันประณีตเท่านั้น เช่น พวกเทพเหล่าสุภกิณหา ฉะนั้น นี้เป็นสุขอุปบัติ ข้อที่สาม ฯ

ปัญญา ๓ อย่าง
๑. เสกขปัญญา [ปัญญาที่เป็นของพระเสขะ]
๒. อเสกขปัญญา [ปัญญาที่เป็นของพระอเสขะ]
๓. เนวเสกขานาเสกขปัญญา [ปัญญาที่เป็นของพระเสขะก็ไม่ใช่ ของพระอเสขะก็ไม่ใช่] ฯ

ปัญญาอีก ๓ อย่าง
๑. จินตามยปัญญา [ปัญญาสำเร็จด้วยการคิด]
๒. สุตามยปัญญา [ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง]
๓. ภาวนามยปัญญา [ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม] ฯ

อาวุธ ๓ อย่าง
๑. สุตาวุธ [อาวุธคือการฟัง]
๒. ปวิเวกาวุธ [อาวุธคือความสงัด]
๓. ปัญญาวุธ [อาวุธคือปัญญา] ฯ

อินทรีย์ ๓ อย่าง
๑. อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ [อินทรีย์ที่เกิดแก่ผู้ปฏิบัติด้วยคิดว่าเราจักรู้ธรรมที่เรายังไม่รู้]
๒. อัญญินทรีย์ [อินทรีย์คือความตรัสรู้]
๓. อัญญาตาวินทรีย์ [อินทรีย์คือความรู้ทั่วถึง] ฯ

จักษุ ๓ อย่าง
๑. มังสจักขุ [ตาเนื้อ ตาปรกติ]
๒. ทิพพจักขุ [จักษุทิพย์]
๓. ปัญญาจักขุ [จักษุคือปัญญา] ฯ

สิกขา ๓ อย่าง
๑. อธิศีลสิกขา [สิกขาคือศีลยิ่ง]
๒. อธิจิตตสิกขา [สิกขาคือจิตยิ่ง]
๓. อธิปัญญาสิกขา [สิกขาคือปัญญายิ่ง] ฯ

ภาวนา ๓ อย่าง
๑. กายภาวนา [การอบรมกาย]
๒. จิตตภาวนา [การอบรมจิต]
๓. ปัญญาภาวนา [การอบรมปัญญา] ฯ

อนุตตริยะ ๓ อย่าง
๑. ทัสสนานุตตริยะ [ความเห็นอย่างยอดเยี่ยม]
๒. ปฏิปทานุตตริยะ [ความปฏิบัติอย่างยอดเยี่ยม]
๓. วิมุตตานุตตริยะ [ความพ้นอย่างยอดเยี่ยม] ฯ

สมาธิ ๓ อย่าง
๑. สวิตักกวิจารสมาธิ [สมาธิที่ยังมีวิตกวิจาร]
๒. อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ [สมาธิที่ไม่มีวิตก มีเพียงวิจาร]
๓. อวิตักกวิจารสมาธิ [สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจาร] ฯ

สมาธิอีก ๓ อย่าง
๑. สุญญตสมาธิ [สมาธิที่ว่างเปล่า]
๒. อนิมิตตสมาธิ [สมาธิที่หานิมิตมิได้]
๓. อัปปณิหิตสมาธิ [สมาธิที่หาที่ตั้งมิได้] ฯ

โสเจยยะ ๓ อย่าง
๑. กายโสเจยยะ [ความสะอาดทางกาย]
๒. วจีโสเจยยะ [ความสะอาดทางวาจา]
๓. มโนโสเจยยะ [ความสะอาดทางใจ]

โมเนยยะ ๓ อย่าง
๑. กายโมเนยยะ [ธรรมที่ทำให้เป็นมุนีทางกาย]
๒. วจีโมเนยยะ [ธรรมที่ทำให้เป็นมุนีทางวาจา]
๓. มโนโมเนยยะ [ธรรมที่ทำให้เป็นมุนีทางใจ] ฯ

โกสัลละ ๓ อย่าง
๑. อายโกสัลละ [ความเป็นผู้ฉลาดในเหตุแห่งความเจริญ]
๒. อปายโกสัลละ [ความเป็นผู้ฉลาดในเหตุแห่งความเสื่อม]
๓. อุปายโกสัลละ [ความเป็นผู้ฉลาดในเหตุแห่งความเจริญและความเสื่อม]

มทะ ความเมา ๓ อย่าง
๑. อาโรคยมทะ [ความเมาในความไม่มีโรค]
๒. โยพพนมทะ [ความเมาในความเป็นหนุ่มสาว]
๓. ชาติมทะ [ความเมาในชาติ] ฯ

อธิปเตยยะ ๓ อย่าง
๑. อัตตาธิปเตยยะ [ความมีตนเป็นใหญ่]
๒. โลกาธิปเตยยะ [ความมีโลกเป็นใหญ่]
๓. ธัมมาธิปเตยยะ [ความมีธรรมเป็นใหญ่] ฯ

กถาวัตถุ ๓ อย่าง
๑. ปรารภกาลส่วนอดีตกล่าวถ้อยคำว่า กาลที่ล่วงไปแล้วได้มีแล้วอย่างนี้
๒. ปรารภกาลส่วนอนาคตกล่าวถ้อยคำว่า กาลที่ยังไม่มาถึงจักมีอย่างนี้
๓. ปรารภกาลส่วนที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในบัดนี้ กล่าวถ้อยคำว่า กาลส่วนที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าบัดนี้เป็นอยู่อย่างนี้ ฯ

วิชชา ๓ อย่าง
๑. บุพเพนิวาสานุสสติญาณวิชชา [วิชชาคือความรู้จักระลึกชาติในก่อนได้]
๒. จุตูปปาตญาณวิชชา [วิชชาคือความรู้จักกำหนดจุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย]
๓. อาสวักขยญาณวิชชา [วิชชาคือความรู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป] ฯ

วิหารธรรม ๓ อย่าง
๑. ทิพยวิหาร [ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของเทพดา]
๒. พรหมวิหาร [ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม]
๓. อริยวิหาร [ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ] ฯ

ปาฏิหาริยะ ๓ อย่าง
๑. อิทธิปาฏิหาริยะ [ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์]
๒. อาเทสนาปาฏิหาริยะ [ดักใจเป็นอัศจรรย์]
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริยะ [คำสอนเป็นอัศจรรย์] ฯ

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๓ๆ เหล่านี้แล อันพระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้โดยชอบแล้ว พวกเราทั้งหมดด้วยกันพึงสังคายนา ไม่ควรแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้พึงยั่งยืนตั้งอยู่นาน นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
จบหมวด ๓

หมวด ๔
[๒๒๙] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๔ๆ ที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นอรหันตพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นตรัสไว้โดยชอบแล้วมีอยู่แล พวกเราทั้งหมดด้วยกันพึงสังคายนา ไม่พึงแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้พึงยั่งยืนตั้งอยู่นานนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ

สติปัฏฐาน ๔ อย่าง
๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ
๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ
๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ
๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ฯ

[๒๓๐] สัมมัปปธาน ๔ อย่าง
๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิดพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งใจ เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด
๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิดพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งใจ เพื่อละธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งใจ เพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมที่เป็นกุศลที่ยังไม่เกิด
๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งใจ เพื่อความตั้งมั่นไม่เลือนลาง จำเริญยิ่ง ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งธรรมที่เป็นกุศลที่บังเกิดขึ้นแล้ว ฯ

[๒๓๑] อิทธิบาท ๔ อย่าง
๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร
๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร
๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร
๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร ฯ

[๒๓๒] ฌาน ๔ อย่าง
๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ฯ

[๒๓๓] สมาธิภาวนา ๔ อย่าง
๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนาที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมมีอยู่ ฯ
๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนาที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะมีอยู่ ฯ
๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนาที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะมีอยู่ ฯ
๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนาที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายมีอยู่ ฯ

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอย่างไหนที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา ที่สติอยู่เป็นสุข ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ฯ

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนาที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ เป็นไฉน ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มนสิการอาโลกสัญญา ตั้งสัญญาว่าเป็นเวลากลางวันไว้ กลางวันอย่างใด กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างใด กลางวันอย่างนั้น มีใจเปิดเผยไม่มีอะไรหุ้มห่ออบรมจิตให้มีแสงสว่าง ด้วยประการฉะนี้ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ ฯ

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ เป็นไฉน ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เวทนาทั้งหลายอันภิกษุในพระธรรมวินัยนี้รู้แจ้งแล้ว ย่อมบังเกิดขึ้น ย่อมตั้งอยู่ ย่อมถึงความดับ สัญญาทั้งหลายอันภิกษุในพระธรรมวินัยนี้รู้แจ้งแล้ว ย่อมบังเกิดขึ้น ย่อมตั้งอยู่ ย่อมถึงความดับ วิตกทั้งหลายอันภิกษุในพระธรรมวินัยนี้รู้แจ้งแล้ว ย่อมบังเกิดขึ้น ย่อมตั้งอยู่ ย่อมถึงความดับ ฯ

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้อันภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ ฯ

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาที่ภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เป็นไฉน ฯ

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีปรกติพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ห้าว่า ดังนี้รูป ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป ดังนี้ความดับแห่งรูป ดังนี้เวทนา ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ดังนี้ความดับแห่งเวทนา ดังนี้สัญญา ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ดังนี้ความดับแห่งสัญญา ดังนี้สังขาร ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ดังนี้ความดับแห่งสังขาร ดังนี้วิญญาณ ดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ดังนี้ความดับแห่งวิญญาณ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ฯ
[ซึ่งการบรรยายธรรมได้เป้นไปในลักษณะนี้ จะละส่วนที่เหลือไว้ครับ เนื่องจากธรรมะหลายต่อหลายข้อนั้นยากที่จะเข้าใจในเวลานี้ ดังนั้นจะขอข้ามจุดนี้ไปก่อนครับ ขอเชิญผู้สนใจดูในพระไตรปิฎกออนไลน์ที่ระบุไว้แต่ต้นครับ]

..............................

..............................

..............................

[๓๖๒] อเสกขธรรม ๑๐ อย่าง
๑. ความเห็นชอบที่เป็นของพระอเสขะ
๒. ความดำริชอบที่เป็นของพระอเสขะ
๓. เจรจาชอบที่เป็นของพระอเสขะ
๔. การงานชอบที่เป็นของพระอเสขะ
๕. การเลี้ยงชีวิตชอบที่เป็นของพระอเสขะ
๖. ความเพียรชอบที่เป็นของพระอเสขะ
๗. ความระลึกชอบที่เป็นของพระอเสขะ
๘. ความตั้งใจชอบที่เป็นของพระอเสขะ
๙. ความรู้ชอบที่เป็นของพระอเสขะ
๑๐. ความหลุดพ้นชอบที่เป็นของพระอเสขะ ฯ

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๑๐ๆ เหล่านี้แล อันพระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบแล้ว พวกเราทั้งหมดด้วยกันพึงสังคายนา ไม่พึงแก่งแย่งกัน การที่พรหมจรรย์นี้ยั่งยืนตั้งอยู่นานนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
จบ หมวด ๑๐

[๓๖๓] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นแล้วตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า ดีละ ดีละ สารีบุตร ดูกรสารีบุตร เธอได้ภาษิตสังคีติปริยายแก่ภิกษุทั้งหลาย เป็นการดีแล้ว ดังนี้ ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวสังคีติปริยายนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย และภิกษุเหล่านั้นต่างดีใจ ชื่นชมภาษิตของท่านพระสารีบุตรแล้ว ดังนี้แล ฯ
[ธรรมบรรยายของท่านพระสารีบุตรได้เป็นดังนี้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงพอพระทัย]

จบ สังคีติสูตร ที่ ๑๐

*****************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ
ธรรมะที่นำมาลงในวันนี้มีเนื้อหายาวครับ อาจจะอ่านแล้วมีเนื้อหาหนักไปบ้าง แต่นี่คือธรรมบรรยายของพระอัครสาวกเบื้องขวาผู้เป็นเลิศในทางปัญญาครับ วันศุกร์นี้ก็จะได้มากล่าวถึงพระสูตรอื่นกันครับ


Create Date : 14 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2548 10:53:13 น. 0 comments
Counter : 523 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.