Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2548
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
10 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 
พระมหากัสสป พระอริยสาวกองค์หนึ่งในพระศาสนา

ขอกล่าวถึงพระสงฆ์สาวกท่านหนึ่งครับ ท่านพระมหากัสสปท่านนี้นั้นได้รับคำยกย่องจากพระพุทธองค์เป็นอย่างมาก ในความคิดของผมนั้นนอกจากพระอัครสาวกทั้งสองคือพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะแล้ว ยากจะหาพระสงฆ์รูปอื่นทัดเทียมได้แม้กระทั่งพระอานนท์ผู้เป็นพระอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ เนื้อหาตรงนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

******************************
กัสสปสังยุตต์

๑. สันตุฏฐสูตร

[๔๖๒] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กัสสปนี้เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้และเป็นผู้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ไม่ถึงการแสวงหาอันไม่ควร เพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ได้จีวร ก็ไม่สะดุ้ง ครั้นได้จีวรแล้ว ก็ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่พัวพัน มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมใช้สอย ดูกรภิกษุทั้งหลาย กัสสปนี้เป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และเป็นผู้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ไม่ถึงการแสวงหาอันไม่ควร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่สะดุ้ง ครั้นได้บิณฑบาตแล้ว ก็ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่พัวพัน มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภค ดูกรภิกษุทั้งหลาย กัสสปนี้เป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และเป็นผู้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ไม่ถึงการแสวงหาอันไม่ควร เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ ไม่ได้เสนาสนะ ก็ไม่สะดุ้ง ครั้นได้เสนาสนะแล้ว ก็ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่พัวพัน มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมใช้สอย ดูกรภิกษุทั้งหลาย กัสสปนี้เป็นผู้สันโดษด้วยเภสัชบริขารซึ่งเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ตามมีตามได้ และเป็นผู้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษด้วยเภสัชบริขาร ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ตามมีตามได้ ไม่ถึงการแสวงหาอันไม่ควร เพราะเหตุแห่งเภสัชบริขารซึ่งเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ ไม่ได้เภสัชบริขารซึ่งเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ ก็ไม่สะดุ้ง ครั้นได้เภสัชบริขารซึ่งเป็นปัจจัยแห่งคนไข้แล้ว ก็ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่พัวพัน มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภค ฯ

[๔๖๓] เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และจักเป็นผู้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ จักไม่ถึงการแสวงหาอันไม่ควร เพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ได้จีวรแล้ว ก็จักไม่สะดุ้ง ครั้นได้จีวรแล้ว จักไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่พัวพัน จักเป็นผู้มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ใช้สอย [พึงทำอย่างนี้ทุกบท] เราทั้งหลายจักเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ฯลฯ จักเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ฯลฯ จักเป็นผู้สันโดษด้วยเภสัชบริขารซึ่งเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ตามมีตามได้ จักเป็นผู้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษด้วยเภสัชบริขาร ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ตามมีตามได้ จักไม่ถึงการแสวงหาอันไม่ควรเพราะเหตุแห่งเภสัชบริขารซึ่งเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ ไม่ได้เภสัชบริขารซึ่งเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ ก็ไม่สะดุ้ง ครั้นได้เภสัชบริขารซึ่งเป็นปัจจัยแห่งคนไข้แล้ว ก็ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่พัวพัน จักเป็นผู้มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออกบริโภค ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เราจักกล่าวสอนพวกเธอตามอย่างกัสสป ก็หรือผู้ใดพึงเป็นผู้เช่นกัสสป และพวกเธอเมื่อได้รับโอวาทแล้ว พึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๑

๓. จันทูปมาสูตร

[๔๗๐] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นประดุจพระจันทร์ จงพรากกาย พรากจิตออก เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ เป็นผู้ไม่คนองในสกุลทั้งหลาย เข้าไปสู่สกุลเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงพรากกาย พรากจิต แลดูบ่อน้ำซึ่งคร่ำคร่า หรือที่เป็นหลุมเป็นบ่อบนภูเขา หรือแม่น้ำที่ขาดเป็นห้วงๆ ฉันใด พวกเธอจงเป็นประดุจพระจันทร์ จงพรากกาย พรากจิตออก เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ไม่คนองในสกุล เข้าไปสู่สกุล ฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย กัสสปเปรียบประดุจพระจันทร์ พรากกาย พรากจิตออกแล้ว เป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิตย์ ไม่คนองในสกุลทั้งหลาย เข้าไปสู่สกุล ฯ

[๔๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุชนิดไร จึงสมควรเข้าไปสู่สกุล ฯ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้ ดังนี้ ฯ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงโบกฝ่าพระหัตถ์ในอากาศ ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ามือนี้ ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่พัวพันในอากาศ ฉันใด จิตของภิกษุผู้เข้าไปสู่สกุล ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่พัวพัน ฉันนั้นเหมือนกัน โดยตั้งใจว่า ผู้ปรารถนาลาภ จงได้ลาภ ส่วนผู้ปรารถนาบุญ จงทำบุญ ดังนี้ ภิกษุเป็นผู้พอใจ ดีใจ ด้วยลาภตามที่เป็นของตน ฉันใด ก็เป็นผู้พลอยพอใจ ดีใจ ด้วยลาภของชนเหล่าอื่น ฉันนั้น ภิกษุผู้เห็นปานนี้แล จึงควรเข้าไปสู่สกุล ภิกษุทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้เข้าไปสู่สกุล ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย โดยคิดว่า ผู้ปรารถนาลาภ จงได้ลาภ ส่วนผู้ปรารถนาบุญ จงทำบุญ ดังนี้ กัสสปเป็นผู้พอใจ ดีใจ ด้วยลาภตามที่เป็นของตน ฉันใด ก็เป็นผู้พลอยพอใจ ดีใจ ด้วยลาภของชนเหล่าอื่น ฉันนั้น ฯ

[๔๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเทศนาของภิกษุชนิดไร ไม่บริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของภิกษุชนิดไร บริสุทธิ์ ฯ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้เนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้ ดังนี้ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีความคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ก็แลครั้นฟังแล้วพึงเลื่อมใสซึ่งธรรม ผู้ที่เลื่อมใสแล้วเท่านั้น จะพึงทำอาการของผู้เลื่อมใสต่อเรา ดังนี้ ย่อมแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของภิกษุเห็นปานนี้แล ไม่บริสุทธิ์ ส่วนภิกษุใดแล เป็นผู้มีความคิดอย่างนี้ว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เป็นข้อปฏิบัติอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน โอหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ก็แลครั้นฟังแล้ว จะพึงรู้ทั่วถึงธรรม ก็แลครั้นรู้ทั่วถึงแล้ว จะพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ดังนี้ จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความที่แห่งพระธรรมเป็นธรรมอันดี จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความกรุณา จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความเอ็นดู จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความอนุเคราะห์ จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น ด้วยประการฉะนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของภิกษุเห็นปานนี้แล บริสุทธิ์ ฯ

[๔๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กัสสปเป็นผู้มีความคิดอย่างนี้ว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เป็นข้อปฏิบัติอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน โอหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ก็แลครั้นฟังแล้ว จะพึงรู้ทั่วถึงธรรม ก็แลครั้นรู้ทั่วถึงแล้ว จะพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ดังนี้ จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความที่ธรรมเป็นธรรมอันดี จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความกรุณา จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความเอ็นดู จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความอนุเคราะห์ จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักกล่าวสอนพวกเธอตามอย่างกัสสป หรือผู้ใดพึงเป็นเช่นกัสสป เราก็จักกล่าวสอนให้ประพฤติตามผู้นั้น ก็แลพวกเธอได้รับโอวาทแล้ว พึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๓

๕ ชิณณสูตร

[๔๗๘] ข้าพเจ้าสดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน ฯลฯ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๔๗๙] เมื่อพระมหากัสสปนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า กัสสป บัดนี้เธอชราแล้ว ผ้าป่านบังสุกุลเหล่านี้ของเธอหนัก ไม่น่านุ่งห่ม เพราะเหตุนั้นแล เธอจงทรงคฤหบดีจีวร จงบริโภคโภชนะที่เขานิมนต์ แลจงอยู่ในสำนักของเราเถิด ฯ

ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นเวลานานมาแล้ว ข้าพระองค์เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร เป็นผู้มีความมักน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย เป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษ เป็นผู้สงัดจากหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดจากหมู่ เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลี เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร ดังนี้ ฯ

[๔๘๐] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรกัสสป ก็เธอเล็งเห็นอำนาจประโยชน์อย่างไร จึงเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร สิ้นกาลนาน ฯ
[เปยยาลอย่างเดียวกัน]
เป็นผู้เที่ยวไปบิณฑบาตเป็นวัตร ... เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... เป็นผู้มักน้อย ... เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ...เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ... เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร ดังนี้ ฯ

[๔๘๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการ จึงอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรสิ้นกาลนาน ฯลฯ เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... มีความปรารถนาน้อย ... เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ...เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความปรารภความเพียร เล็งเห็นการอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม และอนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลังว่า ทำไฉน ประชุมชนในภายหลังพึงถึงทิฏฐานุคติว่า ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าและพระสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ที่ได้มีมาแล้ว ท่านเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความอยู่ป่าเป็นวัตรสิ้นกาลนาน ฯลฯ เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ...เป็นผู้มักน้อย ... เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ... เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ...เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียรมาแล้วสิ้นกาลนาน ท่านเหล่านั้นจักปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ข้อปฏิบัติของท่านเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนานดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการเหล่านี้ จึงอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความอยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... มีความปรารถนาน้อย ...เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ... เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ... ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียรสิ้นกาลนาน ฯ

[๔๘๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ กัสสป ได้ยินว่า เธอปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดูกรกัสสป เพราะเหตุนั้นแล เธอจงทรงผ้าป่านบังสุกุลอันไม่น่านุ่งห่ม จงเทียวบิณฑบาต และจงอยู่ในป่าเถิด ฉะนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๕

๙. ฌานาภิญญาสูตร

[๔๙๗] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน ฯ

[๔๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเข้าถึงทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน ฯ

[๔๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป เข้าถึงตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุขได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าถึงตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุขได้เท่านั้นเหมือนกัน ฯ

[๕๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขเพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน ฯ

[๕๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ มีอารมณ์ว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ มีอารมณ์ว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่ใส่ใจนานัตตสัญญาอยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน ฯ

[๕๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ มีอารมณ์ว่าวิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้ โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ มีอารมณ์ว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน ฯ

[๕๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ มีอารมณ์ว่าหน่อยหนึ่งไม่มี เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ มีอารมณ์ว่า หน่อยหนึ่งไม่มี เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้ โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน ฯ

[๕๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะเพราะล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง อยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน ฯ

[๕๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะได้ โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน ฯ

[๕๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดถึงพรหมโลกก็ได้ อย่างใด แม้กัสสปก็หวังอย่างนั้นได้เหมือนกันคือ กัสสปบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดถึงพรหมโลกก็ได้ ฯ

[๕๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังว่า เราได้ยินเสียงสองชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลทั้งอยู่ใกล้ได้อย่างใด แม้กัสสปก็หวังอย่างนั้นได้เหมือนกัน คือกัสสปได้ยินเสียงสองชนิดคือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งอยู่ที่ไกลทั้งอยู่ใกล้ ฯ

[๕๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังว่า เราย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าจิตเป็นมหัคคตะ จิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหัคคตะจิตที่ยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตที่ยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ จิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตยังไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตยังไม่หลุดพ้นได้อย่างใด แม้กัสสปก็หวังอย่างนั้นได้เหมือนกัน คือ กัสสปย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ ฯลฯ หรือจิตยังไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตยังไม่หลุดพ้น ฯ

[๕๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังว่า เราตามระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือตามระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอเนกบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอเนกบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอเนกบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ ย่อมตามระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ได้อย่างใด แม้กัสสปก็หวังอย่างนั้นได้เหมือนกัน คือกัสสปตามระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือตามระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง ฯลฯ ย่อมตามระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ฯ

[๕๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังว่า เราย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ที่ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เราย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอยู่ด้วยประการฉะนี้ได้อย่างใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้กัสสปก็หวังอย่างนั้นได้เหมือนกัน คือกัสสปเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ฯ

[๕๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรมเข้าถึงอยู่ได้อย่างใด แม้กัสสปก็ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่อย่างนั้นได้เหมือนกัน ฯ
จบสูตรที่ ๙

๑๐. ภิกขุนูปัสสยสูตร

[๕๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านไปยังที่พำนักของภิกษุณีด้วยกันเถิด ท่านพระมหากัสสปจึงกล่าวว่า ท่านไปเถิด อาวุโสอานนท์ ท่านเป็นผู้มีกิจมาก มีธุระมาก แม้ครั้งที่สอง ท่านพระอานนท์ก็พูดกับท่านพระมหากัสสปว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านไปยังที่พำนักของภิกษุณีด้วยกันเถิด ท่านพระมหากัสสปก็กล่าวว่า ท่านไปเถิดอาวุโสอานนท์ ท่านเป็นผู้มีกิจมาก มีธุระมาก แม้ครั้งที่สาม ท่านพระอานนท์ก็พูดกับท่านพระมหากัสสปว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านไปยังที่พำนักของภิกษุณีด้วยกันเถิด ฯ

[๕๑๓] ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระมหากัสสปนุ่งแล้วถือบาตรและจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังที่พำนักของภิกษุณี ครั้นเข้าไปแล้วจึงนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ ครั้งนั้นภิกษุณีเป็นอันมาก พากันเข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่พัก ครั้นเข้าไปแล้วจึงกราบท่านพระมหากัสสป แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นภิกษุณีเหล่านั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระมหากัสสปยังภิกษุณีเหล่านั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปครั้นยังภิกษุณีเหล่านั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงลุกจากอาสนะหลีกไป ฯ

[๕๑๔] ครั้งนั้นแล ภิกษุณีชื่อถุลลติสสาไม่พอใจ ถึงเปล่งคำแสดงความไม่พอใจว่า เพราะเหตุไรเล่า พระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปจึงสำคัญธรรมที่ตนควรกล่าวต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ เปรียบเหมือนพ่อค้าเข็มสำคัญว่าควรขายเข็มในสำนักของช่างเข็มผู้ชำนาญ ฉันใด พระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปย่อมสำคัญธรรมที่ตนควรกล่าวต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า อานนท์ผู้เป็นมุนี เปรื่องปราชญ์ ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านพระมหากัสสปได้ยินภิกษุณี ถุลลติสสากล่าววาจานี้แล้ว จึงกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า อาวุโสอานนท์ เราเป็นพ่อค้าเข็ม ท่านเป็นช่างเข็ม หรือเราเป็นช่างเข็ม ท่านเป็นพ่อค้าเข็ม ท่านพระอานนท์จึงตอบว่า ข้าแต่ท่านพระมหากัสสปผู้เจริญ ขอท่านโปรดประทานโทษเถิด มาตุคามเป็นคนโง่ ฯ

[๕๑๕] งดไว้ก่อนอาวุโสอานนท์ หมู่ของท่านอย่าเข้าไปสอดเห็นให้เกินไปนัก ดูกรอาวุโสอานนท์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านถูกนำเข้าไปเปรียบในหมู่ภิกษุ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคบ้างหรือว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดวิเวกอยู่ได้เท่าใด แม้อานนท์ก็หวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน ฯ

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านผู้เจริญ ฯ

ก. ดูกรท่านผู้มีอายุ เราเองถูกนำเข้าไปเปรียบในหมู่ภิกษุเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ได้เท่าใด แม้กัสสปก็หวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ได้เท่านั้นเหมือนกัน ฯ
[อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ และอภิญญา ๕ มีเปยยาลอย่างนี้]

[๕๑๖] อาวุโสอานนท์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านถูกนำเข้าไปเปรียบในหมู่ภิกษุ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคบ้างหรือว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่ได้อย่างใด แม้อานนท์ก็ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญายิ่งเองในทิฏฐธรรมเข้าถึงอยู่ได้อย่างนั้นเหมือนกัน ฯ

อา. หาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านผู้เจริญ ฯ

ดูกรอาวุโส เราเองถูกนำเข้าไปเปรียบในหมู่ภิกขุเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรมเข้าถึงอยู่ได้อย่างใด แม้กัสสปก็ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่ได้อย่างนั้น เหมือนกัน ฯ

[๕๑๗] ดูกรอาวุโส ผู้ใดสำคัญเราว่า ควรปกปิดได้ด้วยอภิญญา ๖ ผู้นั้นก็ควรสำคัญช้าง ๗ ศอกหรือ ๗ ศอกครึ่งว่า จะพึงปกปิดด้วยใบตาลได้ ฯ

ก็แลภิกษุณีชื่อถุลลติสสาเคลื่อนจากพรหมจรรย์เสียแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๑๐

๑๑. จีวรสูตร

[๕๑๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปอยู่ ณ พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิรีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ก็โดยสมัยนี้แล ภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริกของท่านประมาณ ๓๐ รูป โดยมากยังเป็นเด็กหนุ่ม พากันลาสิกขา เวียนมาเพื่อความเป็นหินเพศ ฯ

[๕๑๙] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวจาริกไปตามชอบใจในทักขิณาคิรีชนบท แล้วกลับไปสู่พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว อภิวาทมหากัสสปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระมหากัสสปได้กล่าวปราศรัยกะท่านพระอานนท์ว่า อาวุโสอานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยอำนาจประโยชน์เท่าไรหนอ จึงทรงบัญญัติการขบฉันถึง ๓ หมวดในตระกูลเข้าไว้ ฯ

[๕๒๐] ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านกัสสปผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๓ ข้อ จึงได้ทรงบัญญัติการขบฉันถึง ๓ หมวดในตระกูลเข้าไว้ คือเพื่อข่มคนหน้าด้าน เพื่อให้ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักอยู่เป็นสุขและเพื่ออนุเคราะห์ ตระกูลโดยเหตุ ที่พวกมีความปรารถนาลามก อาศัยสมัครพรรคพวกแล้วจะพึงทำสงฆ์ให้แตกกันไม่ได้ พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๓ ข้อเหล่านี้แล จึงได้ทรงบัญญัติการขบฉันถึง ๓ หมวดในตระกูลเข้าไว้ ฯ

[๕๒๑] ก. อาวุโสอานนท์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเที่ยวไปกับภิกษุเหล่านี้ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร เพื่อประโยชน์อะไรเล่า เธอมัวแต่จาริกไปเหยียบย่ำข้าวกล้า มัวแต่จาริกไปเบียดเบียนตระกูล อาวุโสอานนท์ บริษัทของเธอย่อมลุ่ยหลุดไป สัทธิวิหาริกของเธอซึ่งโดยมากเป็นผู้ใหม่ ย่อมแตกกระจายไป เธอนี้ยังเป็นเด็ก ไม่รู้จักประมาณ ฯ

อ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บนศีรษะของกระผม ผมหงอกแล้วมิใช่หรือ ถึงอย่างนั้น พวกกระผมก็ยังไม่พ้นจากท่านพระมหากัสสปว่าเป็นเด็ก ฯ

ก. ก็เป็นจริงอย่างนั้น อาวุโสอานนท์ เธอยังไปเที่ยวกับภิกษุใหม่ๆเหล่านี้ ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร เธอมัวแต่จาริกไปเหยียบย่ำข้าวกล้า มัวแต่จาริกไปเบียดเบียนตระกูล อาวุโสอานนท์ บริษัทของเธอย่อมลุ่ยหลุดไป สัทธิวิหาริกของเธอซึ่งโดยมากเป็นผู้ใหม่ ย่อมแตกกระจายไป เธอนี้ยังเป็นเด็ก ไม่รู้จักประมาณ ฯ

[๕๒๒] ภิกษุณีถุลลนันทาได้ยินแล้วคิดว่า ทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ ถูกพระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปรุกรานด้วยวาทะว่าเป็นเด็ก ไม่พอใจ จึงเปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจว่า อะไรเล่าพระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ จึงสำคัญพระคุณเจ้าอานนท์ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ว่า ตนควรรุกรานด้วยวาทะว่าเป็นเด็ก ท่านพระมหากัสสปได้ยินภิกษุณีถุลลนันทากล่าววาจานี้แล้ว ฯ

[๕๒๓] ครั้งนั้นแล ท่านมหากัสสปจึงกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่าอาวุโสอานนท์ ภิกษุณีถุลลนันทายังไม่ทันพิจารณา ก็กล่าววาจาพล่อยๆ เพราะเราเองปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่นึกเลยว่า เราบวชอุทิศศาสดาอื่น นอกจากพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ครั้งก่อน เมื่อเรายังเป็นคฤหัสถ์เคยคิดว่า ฆราวาสช่างคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาปลอดโปร่ง ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ประดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่ายนัก ทางที่ดี เราควรปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เราทำผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่า ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อุทิศเฉพาะท่านผู้เป็นพระอรหันต์ในโลก เมื่อบวชแล้วยังเดินไปสิ้นระยะทางไกล ได้พบพระผู้มีพระภาคระหว่างเมืองราชคฤห์กับบ้านนาฬันทคาม กำลังประทับนั่งอยู่ ณ พหุปุตตเจดีย์ พอพบเข้าแล้วก็รำพึงอยู่ว่า เราพบพระศาสดา ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคด้วย เราพบพระสุคต ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคด้วย เราพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคด้วย อาวุโส เรานั้นจึงซบเศียรเกล้าลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้นเอง ได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ดังนี้ ฯ

[๕๒๔] เมื่อเรากราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเราว่า ดูกรกัสสป ผู้ใดเล่ายังไม่ทราบชัดถึงสาวกผู้ประมวลมาด้วยจิตทั้งหมด อย่างนี้แล้ว จะพึงพูดว่ารู้ ยังไม่เห็นเลย จะพึงพูดว่าเห็น ศีรษะของบุคคลนั้นพึงแตก ดูกรกัสสป แต่เรารู้อยู่ จึงพูดว่ารู้ เห็นอยู่ จึงพูดว่าเห็น เพราะเหตุนั้นแหละกัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปตั้งหิริโอตตัปปะอย่างแรงกล้าในภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ผู้นวกะ ผู้มัชฌิมะ ... เราจักฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล จักกระทำธรรมนั้นทั้งหมดให้เกิดประโยชน์ ใส่ใจถึงธรรมนั้นทั้งหมด จักประมวลมาด้วยจิตทั้งหมด เงี่ยโสตสดับพระธรรม ... เราจักไม่ละกายคตาสติที่สหรคตด้วยกุศลความสำราญ ดูกรกัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ดูกรอาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทเราด้วยพระโอวาทนี้เสด็จลุกจากอาสนะแล้วทรงหลีกไป ดูกรอาวุโส เราเป็นหนี้ บริโภคก้อนข้าวของราษฎรถึงหนึ่งสัปดาห์ วันที่ ๘ พระอรหันตผลจึงปรากฏขึ้น คราวนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกจากหนทางตรงไปยังโคนต้นไม้แห่งหนึ่ง เราจึงเอาผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าปูเป็นสี่ชั้นถวาย แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนาน ดูกรอาวุโส พระผู้มีพระภาคก็ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวาย ครั้นประทับนั่งแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเราว่า กัสสปผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าของเธอผืนนี้อ่อนนุ่ม เราก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอนุเคราะห์ทรงรับผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าของข้าพระองค์เถิด พระองค์ตรัสว่า ดูกรกัสสป เธอจักครองผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่หรือ เราก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักครองผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้ ฯ

[๕๒๕] ดูกรอาวุโส เราได้มอบถวายผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าแด่พระผู้มีพระภาค และได้รับผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ของพระผู้มีพระภาค ดูกร อาวุโส ก็เมื่อบุคคลจะพูดให้ถูก พึงพูดถึงผู้ใดว่า บุตรผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอฐ ของพระผู้มีพระภาค เกิดแต่พระธรรม อันธรรมนิรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท จึงรับผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ เขาเมื่อจะพูดให้ถูก พึงพูดถึงผู้นั้นคือเราว่า บุตรผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอฐ ของพระผู้มีพระภาค เกิดแต่พระธรรม อันธรรมนิรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท รับผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ ฯ

[๕๒๖] ดูกรอาวุโส เราหวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูกรอาวุโส เราหวัง ฯลฯ
[อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ และอภิญญา ๙ มีเปยยาลอย่างนี้]

[๕๒๗] ดูกรอาวุโส เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งเองในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่ ผู้ใดสำคัญเราว่า ควรปกปิดด้วยอภิญญา ๖ ผู้นั้นก็ควรสำคัญช้าง ๗ ศอกหรือ ๗ ศอกครึ่งว่า จะพึงปกปิดด้วยใบตาลได้ ฯ

ก็และภิกษุณีถุลลนันทาเคลื่อนจากพรหมจรรย์เสียแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๑๑

******************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ ผมไปพบเว็บไซต์ที่น่าสนใจเข้าแห่งหนึ่งคือ //www.thummada.com และก็กำลังศึกษาเนื้อหาในเว็บนั้นอยู่ครับ ขอเชิญท่านทั้งหลายที่มิได้ละเลยการรับฟังเหตุผลกันด้วยข้อธรรมะไปทักทายกันครับ


Create Date : 10 ตุลาคม 2548
Last Update : 10 ตุลาคม 2548 11:31:18 น. 0 comments
Counter : 444 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.