Group Blog
 
<<
มีนาคม 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
17 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 
แม้ทิฏฐิชองพระโสดาบันยังสามารถข่มขี่ชนนอกพระศาสนา

เนื้อหาที่กล่าวในวันนี้กล่าวถึงเรื่องความขัดแย้งทางทิฏฐิระหว่างพระอริยเจ้าในพระศาสนานี้กับเหล่าปริพาชกผู้เป็นอัญญเดียรถีย์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วยพระสูตรในวรรคนี้ว่า ไม่ต้องให้พระองค์ทรงโต้แย้งเองหรอกครับ แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นคือพระโสดาบันก็สามารถข่มขี่ทิฏฐิของเหล่าปริพาชกให้ถึงความอับจนได้

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปัณณาสก์ที่ 2 ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*****************************************************
อุบาสกวรรคที่ ๕

กามโภคีสูตร

[๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค
แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี กามโภคีบุคคลมีอยู่ในโลก ๑๐ จำพวก ๑๐ จำพวกเป็นไฉน คือ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ ๑ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ ๑ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่ายกระทำบุญ ๑ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม และไม่ชอบธรรม โดยทารุณบ้าง ไม่ทารุณบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ ๑ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรม โดยทารุณบ้าง ไม่ทารุณบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ ๑ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม และไม่ชอบธรรม โดยทารุณบ้าง ไม่ทารุณบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้วย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่ายกระทำบุญ ๑ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ ๑ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ ๑ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่ายกระทำบุญ แต่เป็นผู้กำหนัด หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น ๑ กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่าย กระทำบุญ และเป็นผู้ไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น ๑ ฯ

ดูกรคฤหบดี ในกามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวกนั้น กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ ควรติเตียนโดย ๓ สถาน คือ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ ว่า แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ ว่า ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๓ ว่า ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ควรติเตียนโดย ๓ สถานนี้ ฯ

กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ ควรติเตียนโดย ๒ สถาน ควรสรรเสริญโดย ๑ สถาน คือ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ ว่า แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวว่า เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ ว่า ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ ควรติเตียนโดย ๒ สถานนี้ ควรสรรเสริญโดย ๑ สถานนี้ ฯ

กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่ายกระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ ควรติเตียนโดย ๑ สถาน ควรสรรเสริญโดยสถาน ๒ คือ ควรติเตียนโดย ๑ สถานว่า แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ ว่า เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ ว่า แจกจ่าย กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ควรติเตียนโดย ๑ สถาน ควรสรรเสริญโดย ๒ สถานนี้ ฯ

กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์ โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรม โดยทารุณบ้าง ไม่ทารุณบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๑ สถาน ควรติเตียนโดย ๓ สถาน คือ ควรสรรเสริญโดย ๑ สถานว่า แสวงหาโภคทรัพย์ โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ ว่าแสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ ว่าไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๓ ว่า ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๑ สถานนี้ ควรติเตียนโดย ๓ สถานนี้ ฯ

กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์ โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรม โดยทารุณบ้าง ไม่ทารุณบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน ควรติเตียนโดย ๒ สถาน คือ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ ว่า แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ ว่า แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ ว่า เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ ว่า ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๒ สถานนี้ ควรติเตียนโดย ๒ สถานนี้ ฯ

กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์ โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรม โดยทารุณบ้าง ไม่ทารุณบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่าย กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน ควรติเตียนโดย ๑ สถาน ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ ว่า แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ควรติเตียนโดย ๑ สถานว่า แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ ว่า ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๓ ว่า แจกจ่าย กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๓ สถานนี้ ควรติเตียนโดย ๑ สถานนี้ ฯ

กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๑ สถาน ควรติเตียนโดย ๒ สถาน คือ ควรสรรเสริญโดย ๑ สถานว่า แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ ว่า ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ ว่า ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๑ สถานนี้ ควรติเตียนโดย ๒ สถานนี้ ฯ

กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน ควรติเตียนโดย ๑ สถาน คือ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ ว่า แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ ว่า ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ควรติเตียนโดย ๑ สถานว่า ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๒ สถานนี้ ควรติเตียนโดย ๑ สถานนี้ ฯ

กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่าย กระทำบุญ แต่เป็นผู้กำหนัด หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน ควรติเตียนโดย ๑ สถาน คือ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ ว่า แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ ว่า ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๓ ว่า แจกจ่าย กระทำบุญ ควรติเตียนโดย ๑ สถานว่า เป็นผู้กำหนัด หมกมุ่น พัวพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๓ สถานนี้ ควรติเตียนโดย ๑ สถานนี้ ฯ

กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่ายกระทำบุญ และไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๔ สถาน คือ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ ว่า แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ ว่า ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๓ ว่า แจกจ่าย กระทำบุญ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๔ ว่า เป็นผู้ไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพัน เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๔ สถานนี้ ฯ

ดูกรคฤหบดี กามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก บรรดากามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวกนี้ กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่าย กระทำบุญ และเป็นผู้ไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น นี้เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นใหญ่ สูงสุด ดีกว่ากามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวกนี้ ดูกรคฤหบดี นมสดเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส หัวเนยใสโลกกล่าวว่า เลิศกว่านมสดเป็นต้นเหล่านั้น ฉันใด กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่าย กระทำบุญ และเป็นผู้ไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น นี้เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นใหญ่สูงสุด ดีกว่ากามโภคี บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ ฉันนั้น ฯ
[บุคคลผู้บริโภคกามในโลกมี10ประเภทคือ
1.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยมิชอบ แล้วไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ไม่ทำบุญ
2.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยมิชอบ แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ไม่ทำบุญ
3.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยมิชอบ แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ทำบุญ
4.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยมิชอบบ้าง โดยชอบบ้าง แล้วไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ไม่ทำบุญ
5.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยมิชอบบ้าง โดยชอบบ้าง แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ไม่ทำบุญ
6.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยมิชอบบ้าง โดยชอบบ้าง แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ทำบุญ
7.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยชอบ แล้วไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ไม่ทำบุญ
8.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยชอบ แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ไม่ทำบุญ
9.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยชอบ แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ทำบุญ แต่เป็นผู้กำหนัด ไม่มีปัญญาเห็นโทษเป็นเครื่องสลัดออกต่อการบริโภคทรัพย์
10.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยชอบ แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ทำบุญ และไม่เป็นผู้กำหนัด มีปัญญาเห็นโทษเป็นเครื่องสลัดออกต่อการบริโภคทรัพย์

ในบุคคล10ประเภทนี้
*ผู้แสวงหาทรัพย์โดยชอบ ควรสรรเสริญสถานหนึ่ง
*ผู้แสวงหาทรัพย์โดยมิชอบ ควรติเตียนสถานหนึ่ง
*ผู้แสวงหาทรัพย์โดยชอบบ้าง โดยมิชอบบ้าง ควรสรรเสริญสถานหนึ่ง ควรติเตียนสถานหนึ่ง
*ผู้เลี้ยงตนให้เป็นสุข ควรสรรเสริญสถานหนึ่ง
*ผู้ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ควรติเตียนสถานหนึ่ง
*ผู้ทำบุญ ควรสรรเสริญสถานหนึ่ง
*ผู้ไม่ทำบุญ ควรติเตียนสถานหนึ่ง
*ผู้มีกำหนัดกล้า บริโภคทรัพย์โดยปราศจากปัญญาเครื่องสลัดออก ควรติเตียนสถานหนึ่ง
*ผู้ไม่กำหนัดกล้า บริโภคทรัพย์โดยมีปัญญาเครื่องสลัดออก ควรสรรเสริญสถานหนึ่ง

ดังนั้น กล่าวถึงบุคคล10ประเภทอีกครั้งในฐานะของความเป็นผู้ควรสรรเสริญและความเป็นผู้ควรติเตียน
1.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยมิชอบ แล้วไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ไม่ทำบุญ ควรติเตียนสามสถาน
2.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยมิชอบ แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ไม่ทำบุญ ควรสรรเสริญหนึ่งสถาน ควรติเตียนสองสถาน
3.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยมิชอบ แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ทำบุญ ควรสรรเสริญสองสถาน ควรติเตียนหนึ่งสถาน
4.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยมิชอบบ้าง โดยชอบบ้าง แล้วไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ไม่ทำบุญ ควรสรรเสริญหนึ่งสถาน ควรติเตียนสามสถาน
5.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยมิชอบบ้าง โดยชอบบ้าง แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ไม่ทำบุญ ควรสรรเสริญสองสถาน ควรติเตียนสองสถาน
6.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยมิชอบบ้าง โดยชอบบ้าง แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ทำบุญ ควรสรรเสริญสามสถาน ควรติเตียนหนึ่งสถาน
7.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยชอบ แล้วไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ไม่ทำบุญ ควรสรรเสริญหนึ่งสถาน ควรติเตียนสองสถาน
8.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยชอบ แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ไม่ทำบุญ ควรสรรเสริญสองสถาน ควรติเตียนหนึ่งสถาน
9.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยชอบ แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ทำบุญ แต่เป็นผู้กำหนัด ไม่มีปัญญาเห็นโทษเป็นเครื่องสลัดออกต่อการบริโภคทรัพย์ ควรสรรเสริญสามสถาน ควรติเตียนหนึ่งสถาน
10.ผู้แสวงหาทรัพย์โดยชอบ แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ทำบุญ และไม่เป็นผู้กำหนัด มีปัญญาเห็นโทษเป็นเครื่องสลัดออกต่อการบริโภคทรัพย์ ควรสรรเสริญสี่สถาน บุคคลนี้เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นใหญ่ สูงสุด]


จบสูตรที่ ๑

เวรสูตร

[๙๒] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุที่อริยสาวกเข้าไประงับภัยเวร ๕ ประการเสียได้แล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการ และเป็นผู้เห็นแจ้งแทงตลอดญายธรรมอันเป็นอริยะด้วยปัญญา อริยสาวกนั้น เมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบันมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในภายหน้าดังนี้ ภัยเวร ๕ ประการที่อริยสาวกเข้าไประงับแล้วเป็นไฉน คือ บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปทางใจ เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย บุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ย่อมไม่ประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปทางใจ บุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาตแล้ว เป็นอันระงับภัยเวรด้วยประการฉะนี้ บุคคลผู้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ... บุคคลผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ... บุคคลผู้กล่าวคำเท็จ ... บุคคลผู้ดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท ย่อมประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปในทางใจ บุคคลผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท ย่อมไม่ประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปทางใจ บุคคลผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาทแล้ว เป็นอันระงับภัยเวรนั้นด้วยประการฉะนี้ ภัยเวร ๕ ประการนี้ ย่อมสงบระงับไป ฯ

อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ เครื่องบรรลุ กระแสนิพพาน ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ... อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ... เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิลูบคลำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ ๑ อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการนี้ ฯ

ก็ญายธรรมที่เป็นอริยะ อันอริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญาเป็นไฉน ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมี ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ก็เพราะอวิชชาดับโดยสำรอกหาส่วนเหลือมิได้ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับนามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับสฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ญายธรรมที่เป็นอริยะนี้อันอริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ฯ

ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุที่อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการนี้ และเป็นผู้เห็นแจ้งแทงตลอดญายธรรมที่เป็นอริยะด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นเมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติและวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ
[พระโสดาบัน ผู้เข้าถึงกระแสพระนิพพาน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา ประกอบด้วยธรรม10ประการคือการระงับภัยเวร5ประการ มีองค์เครื่องบรรลุกระแสพระนิพพาน4ประการ และเห็นแจ้งญายธรรมที่เป็นอริยะด้วยปัญญา กล่าวโดยรวม ธรรม10ประการคือ
1.เป็นผู้เว้นการฆ่าสัตว์ ย่อมไม่มีภัยเวรทั้งชาตินี้และชาติหน้า ไม่ต้องพบความทุกข์เวทนาทางใจ
2.เป็นผู้เว้นการลักทรัพย์ ย่อมไม่มีภัยเวรทั้งชาตินี้และชาติหน้า ไม่ต้องพบความทุกข์เวทนาทางใจ
3.เป็นผู้เว้นการประพฤติผิดในกาม ย่อมไม่มีภัยเวรทั้งชาตินี้และชาติหน้า ไม่ต้องพบความทุกข์เวทนาทางใจ
4.เป็นผู้เว้นการพูดเท็จ ย่อมไม่มีภัยเวรทั้งชาตินี้และชาติหน้า ไม่ต้องพบความทุกข์เวทนาทางใจ
5.เป็นผู้เว้นการดื่มน้ำเมาอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ย่อมไม่มีภัยเวรทั้งชาตินี้และชาติหน้า ไม่ต้องพบความทุกข์เวทนาทางใจ
6.เป็นผู้มีความศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องบรรลุกระแสนิพพาน
7.เป็นผู้มีความศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระธรรม เป็นเครื่องบรรลุกระแสนิพพาน
8.เป็นผู้มีความศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ เป็นเครื่องบรรลุกระแสนิพพาน
9.เป็นผู้ประกอบด้วยศีลของพระอริยะอันตัณหาและทิฏฐิลูบคลำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ เป็นเครื่องบรรลุกระแสนิพพาน
10.เป็นผู้มีปัญญาเห็นตามความเป็นจริงในหลักปฏิจจสมุปบาท]


จบสูตรที่ ๒

ทิฏฐิสูตร

[๙๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ออกจากพระมหานครสาวัตถีแต่ยังวัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น ท่านได้มีความคิดเช่นนี้ว่า มิใช่เวลาเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน เพราะพระผู้มีพระภาคยังทรงหลีกเร้นอยู่ มิใช่กาลเพื่อจะเยี่ยมภิกษุทั้งหลายผู้ยังใจให้เจริญ เพราะพวกภิกษุผู้ยังใจให้เจริญยังหลีกเร้นอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี จึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ก็สมัยนั้นแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังร่วมประชุมกัน บันลือเสียงเอ็ดอึง นั่งพูดกันถึงดิรัจฉานกถาหลายอย่าง พอได้เห็นท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงยังกันและกันให้หยุดด้วยกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงเบาเสียง อย่าได้เปล่งเสียง อนาถบิณฑิกคฤหบดีคนนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดม กำลังเดินมา อนาถบิณฑิกคฤหบดีนี้เป็นสาวกคนหนึ่ง บรรดาคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาว ซึ่งเป็นสาวกของพระสมณโคดม อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี ก็ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่ในเสียงเบา ได้รับแนะนำในทางเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา แม้ไฉนเขาทราบบริษัทผู้มีเสียงเบา พึงสำคัญที่จะเข้ามาหา ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นได้นิ่งอยู่ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปหาปริพาชกเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี ขอท่านจงบอก พระสมณโคดมมีทิฐิอย่างไร อนาถบิณฑิกคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฐิทั้งหมดของพระผู้มีพระภาค ฯ

ป. ดูกรคฤหบดี นัยว่า บัดนี้ท่านไม่ทราบทิฐิทั้งหมดของพระสมณโคดม ขอท่านจงบอก ภิกษุทั้งหลายมีทิฐิอย่างไร ฯ

อ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฐิทั้งหมด แม้ของภิกษุทั้งหลาย ฯ

. ดูกรคฤหบดี นัยว่า ท่านไม่ทราบทิฐิทั้งหมดของพระสมณโคดม ทั้งไม่ทราบทิฐิทั้งหมดของพวกภิกษุด้วยประการดังนี้ ขอท่านจงบอก ตัวท่านมีทิฐิอย่างไร ฯ

ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าบอกทิฐิของข้าพเจ้าว่ามีทิฐิอย่างใดนี้ไม่ยาก เชิญท่านทั้งหลายบอกทิฐิของตนเสียก่อน ข้าพเจ้าจึงจะบอกทิฐิของข้าพเจ้าว่ามีทิฐิอย่างใดในภายหลัง ซึ่งเป็นการทำไม่ยาก ฯ

เมื่อท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกคนหนึ่งได้กล่าวกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ฯ

ปริพาชกอีกคนหนึ่งได้กล่าวกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า แม้ปริพาชกอีกคนหนึ่งได้กล่าวกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า โลกมีที่สุด ... อีกคนหนึ่งพูดว่า โลกไม่มีที่สุด ... อีกคนหนึ่งพูดว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ... อีกคนหนึ่งพูดว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ... อีกคนหนึ่งพูดว่า สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีก ... อีกคนหนึ่งพูดว่า สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก ... อีกคนหนึ่งพูดว่า สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ไม่เป็นอีกก็มี ... อีกคนหนึ่งพูดว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกหามิได้ ไม่เป็นอีกหามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ฯ

เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีได้กล่าวกะปริพาชกเหล่านั้นว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านผู้มีอายุได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ทิฐิของท่านผู้มีอายุนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายของตน หรือเพราะโฆษณาของผู้อื่นเป็นปัจจัย ก็ทิฐินั้น เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านผู้มีอายุนั้นเป็นผู้ติดสิ่งนั้นแหละ ท่านผู้มีอายุนั้นเข้าถึงสิ่งนั้นแหละ แม้ท่านผู้มีอายุรูปใดกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ทิฐิของท่านผู้มีอายุแม้นี้ ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายของตน หรือเพราะการโฆษณาของผู้อื่นเป็นปัจจัย ก็ทิฐินั้นเกิดขึ้นแล้ว อันอาศัยปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านผู้มีอายุนั้นเป็นผู้ติดสิ่งนั้นแหละ ท่านผู้มีอายุนั้นเป็นผู้เข้าถึงสิ่งนั้นแหละ แม้ท่านผู้มีอายุรูปใดกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ทิฐิของท่านผู้มีอายุนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายของตน หรือเพราะการโฆษณาของผู้อื่นเป็นปัจจัย ก็ทิฐินั้นเกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านผู้มีอายุนั้นเป็นผู้ติดสิ่งนั้นแหละ ท่านผู้มีอายุนั้นเข้าถึงสิ่งนั้นแหละ ฯ

เมื่อท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี พวกเราทั้งหมดบอกทิฐิของตนแล้ว ขอท่านจงบอก ท่านมีทิฐิอย่างไร ฯ

อ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ข้าพเจ้ามีความเห็นสิ่งนั้นอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ

ป. ดูกรคฤหบดี สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านเป็นผู้ติดสิ่งนั้นแหละ ท่านเข้าถึงสิ่งนั้นแหละ ฯ

อ. ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ข้าพเจ้าเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ทั้งรู้ชัดอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งสิ่งนั้นอย่างยอดเยี่ยมตามเป็นจริง ฯ

เมื่อท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นพากันนั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีทราบปริพาชกเหล่านั้นเป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลถึงเรื่องที่สนทนากับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบทุกประการ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละๆ คฤหบดี ท่านพึงข่มขี่พวกโมฆบุรุษเหล่านั้นให้เป็นการข่มขี่ด้วยดี โดยกาลอันควร โดยชอบธรรมอย่างนี้แล ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดแลเป็นผู้มีธรรมอันไม่หวั่นไหวในธรรมวินัยตลอดกาลนาน ภิกษุแม้นั้นพึงข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ให้เป็นการข่มขี่ด้วยดีโดยชอบธรรมอย่างนี้ เหมือนท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีข่มขี่แล้ว ฉะนั้น ฯ
[เหล่าปริพาชกแสดงทิฏฐิแก่ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีต่างๆ มีอาทิ
*โลกเที่ยงโดยแท้
*โลกไม่เที่ยงโดยแท้
*โลกมีที่สุดโดยแท้
*โลกไม่มีที่สุดโดยแท้
*ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นโดยแท้
*ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่งโดยแท้
*สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกโดยแท้
*สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่เป็นอีกโดยแท้
*สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ไม่เป็นอีกก็มีโดยแท้
*สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกหามิได้ ไม่เป็นอีกหามิได้โดยแท้

เมื่อพวกปริพาชกกล่าวดังนี้ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกล่าวว่าที่แต่ละคนกล่าวดังนี้เป็นเพราะการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายของตน หรือเพราะหลงเชื่อคำกล่าวผู้อื่น ทิฏฐิแต่ละข้อเกิดขึ้น มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยก่อขึ้น สิ่งใดอาศัยปัจจัยก่อขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านติดสิ่งนั้นแหละ ท่านเข้าถึงสิ่งนั้นแหละ

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกล่าวว่าสิ่งใดมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ของท่าน ไม่ใช่ท่าน ไม่ใช่ตัวตนของท่าน ปริพาชกกล่าวย้อนว่า สิ่งใดมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านเป็นผู้ติดสิ่งนั้น ท่านเข้าถึงสิ่งนั้นแหละ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกล่าวว่าท่านเห็นสิ่งอันมีปัจจัยปรุงแต่งว่าเป็นทุกข์ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบ ตามตวามเป็นจริงว่านั่นไม่ใช่ของท่าน ไม่เป็นท่าน ไม่ใช่ตัวตนของท่าน ทั้งรู้ชัดอุบายเครื่องสลัดออกตามความเป็นจริง เหล่าปริพาชกได้ฟังพากันคอตก ซบเซา หมดปฏิภาณ

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลเรื่องนี้แก่พระศาสดา พระองค์ตรัสว่า ดีละๆ ท่านข่มขี่พวกโมฆบุรุษเหล่านั้นด้วยดี โดยการอันควร โดยชอบธรรมอย่างนี้แล พระองค์ตรัสสอนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้ร่าเริงในธรรมีกถา ในธรรม ครั้นแล้วท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป

ครั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่าภิกษุใดเป็นผู้มีธรรมอันไม่หวั่นไหว พึงข่มขี่อัญญเดียรถีย์เหล่านั้นได้ด้วยดีโดยชอบธรรมอย่างนี้ เหมือนเช่นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีข่มขี่แล้ว ฉะนั้น]


จบสูตรที่ ๓

วัชชิยสูตร

[๙๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัคครา ใกล้เมืองจัมปา ครั้งนั้นแล วัชชิยมาหิตคฤหบดีได้ออกจากเมืองจัมปาแต่ยังวันเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น วัชชิยมาหิตคฤหบดีได้มีความคิดว่า มิใช่เวลาเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน เพราะพระผู้มีพระภาคยังทรงหลีกเร้นอยู่ มิใช่กาลเพื่อจะเยี่ยมภิกษุทั้งหลายผู้ยังใจให้เจริญ เพราะภิกษุทั้งหลายผู้ยังใจให้เจริญยังหลีกเร้นอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปยังอารามของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด ลำดับนั้น วัชชิยมาหิตคฤหบดีได้เข้าไปยังอารามของอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ก็สมัยนั้นแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังร่วมประชุมกัน บันลือเสียงเอ็ดอึง นั่งพูดกันถึงดิรัจฉานกถาหลายอย่าง พวกเขาเห็นวัชชิยมาหิตคฤหบดีกำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงยังกันและกันให้หยุดด้วยกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงเบาเสียง อย่าได้เปล่งเสียง วัชชิยมาหิตคฤหบดีคนนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดม กำลังเดินมา วัชชิยมาหิตคฤหบดีนี้เป็นสาวกคนหนึ่ง บรรดาคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวซึ่งเป็นสาวกของพระสมณโคดม อาศัยอยู่ในเมืองจัมปา ก็ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่ในเสียงเบา ได้รับแนะนำในทางเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา แม้ไฉน เขาทราบบริษัทผู้มีเสียงเบา พึงสำคัญที่จะเข้ามาหา ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นได้นิ่งอยู่ วัชชิยมาหิตคฤหบดีก็เข้าไปหาพวกปริพาชกถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับปริพาชกเหล่านั้น ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกะท่านวัชชิยมาหิตคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี ได้ยินว่า พระมหาสมณโคดมทรงติเตียนตบะทั้งหมด เข้าไปด่า เข้าไปว่าร้ายผู้มีตบะ ผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยอาการเศร้าหมองทั้งหมด โดยส่วนเดียว จริงหรือ ฯ

วัชชิยมาหิตคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนตบะทั้งหมดหามิได้ เข้าไปด่า เข้าไปว่าร้ายผู้มีตบะ ผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยอาการเศร้าหมองทั้งหมด โดยส่วนเดียวก็หามิได้ พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ทรงสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนผู้ที่ควรติเตียนอยู่ ทรงสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงมีปรกติตรัสแยกกัน ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคนั้นมิใช่มีปรกติตรัสโดยส่วนเดียว ฯ

เมื่อวัชชิยมาหิตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกคนหนึ่ง จึงพูดกะวัชชิยมาหิตคฤหบดีว่า ท่านหยุดก่อน คฤหบดี พระสมณโคดมที่ท่านกล่าวสรรเสริญ เป็นผู้แนะนำในทางฉิบหาย เป็นผู้ไม่มีบัญญัติ ฯ

ว. ท่านผู้เจริญ แม้ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจะกล่าวกะท่านผู้มีอายุทั้งหลายโดยชอบธรรม พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า สิ่งนี้เป็นกุศล สิ่งนี้เป็นอกุศล เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศลไว้ดังนี้ จึงชื่อว่าทรงเป็นผู้มีบัญญัติ พระผู้มีพระภาคนั้นมิใช่ผู้แนะนำในทางฉิบหาย ไม่ใช่ผู้ไม่มีบัญญัติ ฯ

เมื่อวัชชิยมาหิตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกทั้งหลายได้เป็นผู้นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ ลำดับนั้น วัชชิยมาหิตคฤหบดีทราบว่า ปริพาชกเหล่านั้นเป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ แล้วลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลเรื่องที่สนทนากับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบทุกประการ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ คฤหบดี ท่านพึงข่มขี่พวกโมฆบุรุษให้เป็นการข่มขี่ด้วยดี โดยกาลอันควร โดยชอบธรรมอย่างนี้แล ดูกรคฤหบดี เราไม่กล่าวตบะทั้งหมดว่า ควรบำเพ็ญ เราไม่กล่าวตบะทั้งหมดว่าไม่ควรบำเพ็ญ เราไม่กล่าวการสมาทานทั้งหมดว่า ควรสมาทาน เราไม่กล่าวการสมาทานทั้งหมดว่า ไม่ควรสมาทาน เราไม่กล่าวการเริ่มตั้งความเพียรทั้งหมดว่าควรเริ่มตั้งความเพียร เราไม่กล่าวการเริ่มตั้งความเพียรทั้งหมดว่า ไม่ควรเริ่มตั้งความเพียร เราไม่กล่าวการสละทั้งหมดว่า ควรสละ เราไม่กล่าวการสละทั้งหมดว่า ไม่ควรสละ เราไม่กล่าวการหลุดพ้นทั้งหมดว่า ควรหลุดพ้น เราไม่กล่าวการหลุดพ้นทั้งหมดว่า ไม่ควรหลุดพ้น ดูกรคฤหบดี เมื่อบุคคลบำเพ็ญตบะอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญ กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวตบะเห็นปานนี้ว่า ไม่ควรบำเพ็ญ ก็เมื่อบุคคลบำเพ็ญตบะอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวตบะเห็นปานนี้ว่า ควรบำเพ็ญ เมื่อบุคคลสมาทานการสมาทานอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวการสมาทานเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรสมาทาน เมื่อบุคคลสมาทานการสมาทานอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวการสมาทานเห็นปานนั้นว่า ควรสมาทาน เมื่อบุคคลเริ่มตั้งความเพียรอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวการเริ่มตั้งความเพียรเห็นปานนั้นว่า ควรสมาทาน เมื่อบุคคลเริ่มตั้งความเพียรอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวการเริ่มตั้งความเพียรเห็นปานนั้นว่า ควรเริ่มตั้ง เมื่อบุคคลสละซึ่งการสละอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวการสละเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรสละ เมื่อบุคคลสละการสละอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวการสละเห็นปานนั้นว่า ควรสละ เมื่อบุคคลหลุดพ้นการหลุดพ้นอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวการหลุดพ้นเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรหลุดพ้น เมื่อบุคคลหลุดพ้นการหลุดพ้นอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวการหลุดพ้นเห็นปานนั้นว่าควรหลุดพ้น ลำดับนั้น วัชชิยมาหิตคฤหบดีอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อวัชชิยมาหิตคฤหบดีหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดแล ผู้มีกิเลสเพียงดังว่าธุลีในปัญญาจักษุน้อยในธรรมวินัยนี้ตลอดกาลนาน ภิกษุแม้นั้น พึงข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายให้เป็นการข่มขี่ด้วยดีโดยชอบธรรม เหมือนอย่างวัชชิยมาหิตคฤหบดีข่มขี่แล้ว ฉะนั้น ฯ
[เหล่าปริพาชกสอบถามท่านวัชชิยมาหิตคฤหบดีว่า ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนตบะทั้งหมด ด่า ว่าร้ายผู้มีตบะ จริงหรือ ท่านวัชชิยมาหิตคฤหบดีตอบว่าหามิได้ พระองค์ทรงติเตียนผู้ควรติเตียน ทรงสรรเสริญผู้ควรสรรเสริญตามที่เป็นจริง เรื่องตบะนี้ พระองค์ย่อมทรงสรรเสริญในส่วนที่ควรสรรเสริญ ย่อมทรงติเตียนในส่วนที่ควรติเตียน มิได้ทรงสรรเสริญหรือทรงติเตียนไปทั้งหมดเพียงประการเดียว

เมื่อท่านวัชชิยมาหิตคฤหบดีกล่าวดังนี้ ปริพาขกคนหนึ่งกล่าวว่า ท่านหยุดก่อน พระสมณโคดมที่ท่านสรรเสริญเป็นผู้แนะนำในทางฉิบหาย เป็นผู้ไม่มีหลักธรรมแท้จริง

ท่านวัชชิยมาหิตคฤหบดีกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะกล่าวแก่พวกท่านตามที่เป็นจริง พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า สิ่งนี้เป็นกุศล สิ่งนี้เป็นอกุศล พระองค์บัญญัติกุศลและอกุศลไว้ดังนี้ จึงชื่อว่าทรงเป็นผู้บัญญัติหลักธรรมที่แท้จริง พระองค์มิใช่ผู้แนะนำในทางฉิบหาย ไม่ใช่ผู้ไม่มีบัญญัติ เหล่าปริพาชกได้ฟังต่างคอตก ซบเซา หมดปฏิภาณ โต้ตอบไม่ได้

ท่านวัชชิยมาหิตคฤหบดีกราบทูลเรื่องทั้งหมดนี้แก่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสว่า ดีละ ดีละ คฤหบดี ท่านพึงข่มขี่พวกโมฆบุรุษให้เป็นการข่มขี่ด้วยดี โดยกาลอันควร โดยชอบธรรมอย่างนี้แล พระองค์ไม่กล่าวตบะทั้งหมดว่าควรบำเพ๊ญหรือไม่ ไม่กล่าวการสมาทานทั้งหมดว่าควรสมาทานหรือไม่ ไม่กล่าวการเริ่มตั้งความเพียรทั้งหมดว่าควรเริ่มตั้งความเพียรหรือไม่ ไม่กล่าวการสละทั้งหมดว่าควรสละหรือไม่ ไม่กล่าวการหลุดพ้นทั้งหมดว่าควรหลุดพ้นหรือไม่ แต่เมื่อบุคคลบำเพ๊ญตบะ หรือสมาทาน หรือเริ่มตั้งความเพียร หรือกระทำการสละ หรือถึงความหลุดพ้นใดอยู่แล้ว กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป พระองค์กล่าวการบำเพ๊ญตบะ หรือการสมาทาน หรือการเริ่มตั้งความเพียร หรือการสละ หรือการหลุดพ้นนั้นว่า ควรเจริญให้สมบูรณ์โดยชอบ แต่บุคคลเมื่อบำเพ๊ญตบะ หรือสมาทาน หรือเริ่มตั้งความเพียร หรือกระทำการสละ หรือถึงความหลุดพ้นใดอยู่แล้ว อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป พระองค์กล่าวการบำเพ๊ญตบะ หรือการสมาทาน หรือการเริ่มตั้งความเพียร หรือการสละ หรือการหลุดพ้นนั้นว่า ไม่ควรทำให้เจริญ ลำดับนั้น พระองค์ทรงเทศนาท่านวัชชิยมาหิตคฤหบดีให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อวิชชิยมาหิตคฤหบดีหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดมีกิเลสน้อยดังว่าธุลีในปัญญาจักษุน้อยในธรรมวินัยนี้ ภิกษุนั้น พึงข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายให้เป็นการข่มขี่ด้วยดีโดยชอบธรรม เหมือนอย่างวัชชิยมาหิตคฤหบดีข่มขี่แล้ว ฉะนั้น]


จบสูตรที่ ๔

(ยังมีต่อ)


Create Date : 17 มีนาคม 2549
Last Update : 17 มีนาคม 2549 18:06:33 น. 0 comments
Counter : 381 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.