Group Blog
 
<<
มีนาคม 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
30 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 
การปฏิบัติเพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า(ต่อ)

(ต่อ)

วสลสูตรที่ ๗

[๓๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ก่อไฟแล้วตกแต่งของที่ควรบูชา อยู่ในนิเวศน์ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ในพระนครสาวัตถี เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอัคคิกภารทวาชพราหมณ์ อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลทีเดียว ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนโล้น หยุดอยู่ที่นั่นแหละสมณะ หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนถ่อย ฯ

เมื่ออัคคิกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรพราหมณ์ ก็ท่านรู้จักคนถ่อย หรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยหรือ ฯ

อ. ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนถ่อยหรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อย ดีละ ขอท่านพระโคดมจงแสดงธรรมตามที่ข้าพเจ้าจะพึงรู้จักคนถ่อยหรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยเถิด ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาประพันธ์นี้ว่า
[๓๐๖] ๑. คนมักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่อย่างเลว มีทิฐิวิบัติ และ
มีมายา พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย
๒. คนผู้เบียดเบียนสัตว์ที่เกิดหนเดียว แม้หรือเกิดสองหน
ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๓. คนเบียดเบียน เที่ยวปล้น มีชื่อเสียงว่า ฆ่าชาวบ้าน
และชาวนิคม พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๔. คนลักทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน ไม่ได้อนุญาตให้ ใน
บ้านหรือในป่า พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๕. คนที่กู้หนี้มาใช้แล้วกล่าวว่า หาได้เป็นหนี้ท่านไม่ หนี
ไปเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๖. คนฆ่าคนเดินทาง ชิงเอาสิ่งของ เพราะอยากได้สิ่งของ
พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๗. คนถูกเขาถามเป็นพยาน แล้วกล่าวคำเท็จ เพราะเหตุ
แห่งตนก็ดี เพราะเหตุแห่งผู้อื่นก็ดี เพราะเหตุแห่งทรัพย์
ก็ดี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๘. คนผู้ประพฤติล่วงเกิน ในภริยาของญาติก็ตาม ของ
เพื่อนก็ตาม ด้วยข่มขืนหรือด้วยการร่วมรักกัน พึงรู้ว่าเป็น
คนถ่อย ฯ
๙. คนผู้สามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่าผ่านวัย
หนุ่มสาวไปแล้ว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๐. คนผู้ทุบตีด่าว่ามารดาบิดา พี่ชายพี่สาว พ่อตาแม่ยาย
แม่ผัวหรือพ่อผัว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๑. คนผู้ถูกถามถึงประโยชน์ บอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
พูดกลบเกลื่อนเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๒. คนทำกรรมชั่วแล้ว ปรารถนาว่าใครอย่าพึงรู้เรา ปกปิด
ไว้ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๓. คนผู้ไปสู่สกุลอื่นแล้ว และบริโภคโภชนะที่สะอาด
ย่อมไม่ตอบแทนเขาผู้มาสู่สกุลของตน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๔. คนผู้ลวงสมณะ พราหมณ์ หรือแม้วณิพกอื่น ด้วย
มุสาวาท พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๕. เมื่อเวลาบริโภคอาหาร คนผู้ด่าสมณะหรือพราหมณ์
และไม่ให้โภชนะ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๖. คนในโลกนี้ ผู้อันโมหะครอบงำแล้ว ปรารถนา
ของเล็กน้อย พูดอวดสิ่งที่ไม่มี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๗. คนเลวทราม ยกตนและดูหมิ่นผู้อื่น ด้วยมานะ
ของตน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๘. คนฉุนเฉียว กระด้าง มีความปรารถนาลามก มี
ความตระหนี่ โอ้อวด ไม่ละอาย ไม่สะดุ้งกลัว
พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๙. คนติเตียนพระพุทธเจ้า หรือติเตียนบรรพชิต หรือ
คฤหัสถ์สาวกของพระพุทธเจ้า พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๒๐. ผู้ใดแลไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ปฏิญาณว่าเป็นพระ-
อรหันต์ ผู้นั้นแลเป็นคนถ่อยต่ำช้า เป็นโจรในโลกพร้อม
ทั้งพรหมโลก คนเหล่าใด เราประกาศแก่ท่านแล้ว
คนเหล่านั้นนั่นแล เรากล่าวว่าเป็นคนถ่อย ฯ
บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติ
แต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ท่าน
จงรู้ข้อนั้น ตามที่เราแสดงนี้ บุตรของคนจัณฑาลเลี้ยง
ตัวเองได้ ปรากฏชื่อว่าตังมาคะ เป็นคนกินของที่ตนให้
สุกเอง เขาได้ยศอย่างสูงที่ได้แสนยาก กษัตริย์และ
พราหมณ์เป็นอันมากได้มาสู่ที่บำรุงของเขา เขาขึ้นยานอัน
ประเสริฐ ไปสู่หนทางใหญ่อันไม่มีฝุ่น เขาสำรอกกาม-
ราคะเสียได้แล้ว เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ชาติไม่ได้
ห้ามเขาให้เข้าถึงพรหมโลก พราหมณ์เกิดในสกุลผู้สาธยาย-
มนต์ เป็นพวกร่ายมนต์ แต่พวกเขาปรากฏในบาปกรรม
อยู่เนืองๆ พึงถูกติเตียนในปัจจุบันทีเดียว และภพหน้า
ก็เป็นทุคติ ชาติห้ามกันพวกเขาจากทุคติหรือจากครหาไม่ได้
บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติ
แต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ฯ

[๓๐๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์ทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

จบวสลสูตรที่ ๗

เมตตสูตรที่ ๘

[๓๐๘] กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้สันตบท
พึงบำเพ็ญไตรสิกขา กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นผู้
ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ
เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบ
แล้ว มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุล
ทั้งหลาย และไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่ง
เป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้ พึงเจริญเมตตาใน
สัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม
มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็น
ผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ไม่มีส่วนเหลือ สัตว์เหล่าใดมี
กายยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือสั้น ผอมหรือพี ที่เรา
เห็นแล้วหรือไม่ได้เห็น อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ที่เกิด
แล้วหรือแสวงหาที่เกิด ขอสัตว์ทั้งหมดนั้นจงเป็นผู้มีตน
ถึงความสุขเถิด สัตว์อื่นไม่พึงข่มขู่สัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่น
อะไรเขาในที่ไหนๆ ไม่พึงปรารถนาทุกข์ให้แก่กันและกัน
เพราะความโกรธ เพราะความเคียดแค้น มารดาถนอมบุตร
คนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด
กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มี
ประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น กุลบุตรนั้นพึงเจริญ
เมตตามีในใจไม่มีประมาณ ไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน
เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู
กุลบุตรผู้เจริญเมตตานั้นยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี
นอนอยู่ก็ดี พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็พึง
ตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าววิหารธรรมนี้
ว่าเป็นพรหมวิหารในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้ และกุลบุตร
ผู้เจริญเมตตาไม่เข้าไปอาศัยทิฐิ เป็นผู้มีศีลถึงพร้อมแล้ว
ด้วยทัศนะ นำความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้ว ย่อม
ไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้แล ฯ

จบเมตตสูตรที่ ๘

เหมวตสูตรที่ ๙

สาตาคิรยักษ์กล่าวว่า
[๓๐๙] นี้วันเป็นอุโบสถที่ ๑๕ ราตรีอันเป็นทิพย์ปรากฏแล้ว มาเรา
ทั้งสองจงไปเฝ้าพระโคดมผู้เป็นพระศาสดามีพระนามอันไม่
ทรามเถิด ฯ

เหมวตยักษ์ถามว่า
พระโคดมผู้คงที่ทรงตั้งพระทัยไว้ดีแล้ว ในสัตว์ทั้งปวงแลหรือ
พระโคดมทรงกระทำความดำริในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ให้อยู่ในอำนาจแลหรือ ฯ

สาตาคิรยักษ์ตอบว่า
ก็พระองค์เป็นผู้คงที่ ทรงตั้งพระทัยไว้ดีแล้วในสัตว์ทั้งปวง
อนึ่ง พระองค์ทรงกระทำความดำริในอิฏฐารมณ์และ
อนิฏฐารมณ์ ให้อยู่ในอำนาจแล้ว ฯ

เหมวตยักษ์ถามว่า
พระโคดมไม่ทรงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้แลหรือ
ทรงสำรวมแล้วในสัตว์ทั้งหลายแลหรือ ทรงห่างไกลจาก
ความประมาทแลหรือ ย่อมไม่ทรงละทิ้งฌานแลหรือ ฯ

สาตาคิรยักษ์ตอบว่า
พระองค์ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ทรงสำรวม
แล้วในสัตว์ทั้งหลาย และทรงห่างไกลจากความประมาท
พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมไม่ทรงละทิ้งฌาน ฯ

เหมวตยักษ์ถามว่า
พระโคดมไม่ตรัสคำเท็จแลหรือ มีพระวาจาไม่หยาบคาย
แลหรือ ไม่ตรัสคำส่อเสียดแลหรือ ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อ
แลหรือ ฯ

สาตาคิรยักษ์ตอบว่า
พระองค์ไม่ตรัสคำเท็จ มีพระวาจาไม่หยาบคาย และไม่ตรัส
คำส่อเสียด ตรัสคำที่เป็นประโยชน์อย่างเดียว เพราะทรง
กำหนดด้วยพระปัญญา ฯ

เหมวตยักษ์ถามว่า
พระโคดมไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลายแลหรือ พระหฤทัย
ของพระโคดมไม่ขุ่นมัวแลหรือ พระโคดมทรงล่วงโมหะ
ได้แล้วหรือ พระโคดมทรงมีพระจักษุในธรรมทั้งหลาย
แลหรือ ฯ

สาตาคิรยักษ์ตอบว่า
พระองค์ไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลาย และพระหฤทัยของ
พระองค์ไม่ขุ่นมัว พระองค์ทรงล่วงโมหะได้ทั้งหมด พระองค์
ตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระจักษุในธรรมทั้งหลาย ฯ

เหมวตยักษ์ถามว่า
พระโคดมทรงถึงพร้อมแล้ว ด้วยวิชชาแลหรือ ทรงมี
จรณะบริสุทธิ์แลหรือ อาสวะทั้งหลายของพระองค์นั้นสิ้น
ไปแล้วแลหรือ ภพใหม่ไม่มีแลหรือ ฯ

สาตาคิรยักษ์ตอบว่า
พระองค์ทรงถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชา และทรงมีจรณะบริสุทธิ์
อาสวะทั้งหลายของพระองค์สิ้นไปหมดแล้ว ภพใหม่ของ
พระองค์ไม่มี ฯ

เหมวตยักษ์กล่าวว่า
พระหฤทัยของพระโคดมผู้เป็นมุนี ถึงพร้อมแล้ว กายกรรม
วจีกรรม และมโนกรรม มาเราทั้งสองจงไปเฝ้าพระโคดม
ผู้ทรงถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะกันเถิด ฯ

เหมวตยักษ์ชมเชยพระผู้มีพระภาคว่า
มาเถิดเราจงไปเฝ้าพระโคดมผู้มีพระชงฆ์เพียงปลีแข้งเนื้อทราย
ผู้ซูบผอม เป็นนักปราชญ์ มีพระกระยาหารน้อย ไม่โลภ
เป็นมุนี ทรงฌานอยู่ในป่า เราเข้าไปเฝ้าพระโคดม ผู้ดุจ
ราชสีห์ เสด็จเที่ยวไปพระองค์เดียว ไม่เสด็จมาสู่ภพใหม่
ไม่มีความห่วงใย ในกามทั้งหลาย แล้วจงทูลถามถึงธรรม
เป็นเครื่องพ้นจากบ่วงมาร เราจงทูลถามพระโคดมผู้ตรัสบอก
ผู้ทรงแสดง ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ผู้ตรัสรู้แล้ว
ผู้ทรงล่วงเวรภัยได้แล้ว ฯ

เหมวตยักษ์ทูลถามว่า
เมื่ออะไรเกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้น โลกย่อมกระทำความ
เชยชิดในอะไร โลกยึดถืออะไร เมื่ออะไรมี โลก
จึงเดือดร้อน ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรเหมวตะ
เมื่ออายตนะภายในและภายนอก ๖ เกิดขึ้น โลกจึงเกิด
ขึ้น โลกย่อมกระทำความเชยชิดในอายตนะภายในและภาย
นอก ๖ โลกยึดถืออายตนะภายในและภายนอก ๖ นั่น
แหละ เมื่ออายตนะภายในและภายนอก ๖ มี โลกจึง
เดือดร้อน ฯ
อุปาทานที่เป็นเหตุให้โลกต้องเดือดร้อนเป็นไฉน ข้าพระองค์
ทูลถามแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอก ซึ่งธรรมชาติเป็นเครื่อง
ออกจากโลก บุคคลจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร ฯ
กามคุณ ๕ ในโลกมีใจเป็นที่ ๖ เราประกาศแล้ว บุคคล
คลายความพอใจในกามคุณ ๕ นี้ได้แล้วย่อมพ้นจากทุกข์ได้
ด้วยอาการอย่างนี้ เราบอกซึ่งธรรมชาติเป็นเครื่องออกจาก
โลกนี้ ตามความเป็นจริง แก่ท่านทั้งหลายแล้ว ถ้าแม้ท่าน
ทั้งหลายพึงถามเราพันครั้ง เราก็จะบอกข้อนี้แก่ท่านทั้งหลาย
เพราะบุคคลย่อมพ้นจากทุกข์ได้ด้วยอาการอย่างนี้ ฯ
ในโลกนี้ใครเล่าข้ามโอฆะได้ ในโลกนี้ใครเล่าข้ามอรรณพ
ได้ ใครย่อมไม่จมลงในอรรณพที่ลึกซึ้ง ไม่มีที่พึ่ง ไม่มี
ที่ยึดเหนี่ยว ฯ
ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล มีปัญญา มีใจตั้งมั่นดีแล้ว มีความ
หมายรู้ ณ ภายใน มีสติทุกเมื่อ ย่อมข้ามพ้นโอฆะที่ข้ามได้
แสนยาก ผู้นั้นเว้นจากกามสัญญา ล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย
ได้ มีความเพลิดเพลินและภพหมดสิ้นแล้ว ย่อมไม่จมลงใน
อรรณพ คือ สงสารอันลึก ฯ
เชิญท่านทั้งหลาย ดูพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้มีพระปัญญา
ลึกซึ้ง ผู้ทรงแสดงเนื้อความละเอียด ไม่มีความกังวล
ไม่ข้องแล้วในกามภพ พ้นวิเศษแล้วในอารมณ์ทั้งปวง ทรง
ดำเนินไปในทางอันเป็นทิพย์ ทรงแสวงหาคุณอันใหญ่
เชิญท่านทั้งหลายดูพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้มีพระนามไม่-
ทราม ผู้ทรงแสดงเนื้อความละเอียด ผู้ทรงให้ปัญญา
ไม่ข้องแล้วในอาลัยในกาม ทรงรู้ธรรมทั้งปวง มีพระปัญญาดี
ทรงดำเนินไปในทางอันเป็นอริยะ ทรงแสวงหาคุณอันใหญ่ ฯ
วันนี้เราทั้งหลายเห็นดีแล้วหนอ สว่างไสวแล้ว ตั้งขึ้นดีแล้ว
เพราะเราทั้งหลายได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าผู้ทรงข้ามโอฆะได้
แล้ว หาอาสวะมิได้ ฯ
ยักษ์หนึ่งพันทั้งหมดเหล่านี้ มีฤทธิ์ มียศ ย่อมถึงพระผู้มี-
พระภาคพระองค์นั้น เป็นสรณะด้วยคำว่า พระองค์เป็น
พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมของข้าพระองค์ทั้งหลาย ข้าพระองค์
ทั้งหลาย จักขอนอบน้อมซึ่งพระสัมพุทธเจ้าและความที่พระ
ธรรมเป็นธรรมดี เที่ยวไปจากบ้านสู่บ้าน จากภูเขาสู่ภูเขา ฯ

จบเหมวตสูตรที่ ๙

อาฬวกสูตรที่ ๑๐

[๓๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ ใกล้เมืองอาฬวี ครั้งนั้นแล อาฬวกยักษ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า จงออกไปเถิดสมณะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละท่าน แล้วได้เสด็จออกไป อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า จงเข้ามาเถิดสมณะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละท่าน แล้วได้เสด็จเข้าไป แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ ... แม้ครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า จงออกไปเถิดสมณะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรท่าน เราจักไม่ออกไปละ ท่านจงกระทำกิจที่ท่านจะพึงกระทำเถิด ฯ

อา. ดูกรสมณะ ข้าพเจ้าจะถามปัญหากะท่าน ถ้าว่าท่านจักไม่พยากรณ์แก่ข้าพเจ้าไซร้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้ง จักฉีกหัวใจของท่าน หรือจักจับที่เท้าทั้งสองของท่านแล้วขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ฯ

พ. เรายังไม่มองเห็นบุคคลผู้ที่จะพึงควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้ง จะพึงฉีกหัวใจของเรา หรือจะพึงจับที่เท้าทั้งสองแล้วขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคาได้ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ดูกรท่าน ก็และท่านหวังจะถามปัญหาก็จงถามเถิด ฯ

ลำดับนั้น อาฬวกยักษ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๓๑๑] อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐที่สุดของบุรุษใน
โลกนี้ อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้
อะไรเล่าเป็นรสยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารสทั้งหลาย นัก
ปราชญ์ทั้งหลาย ได้กล่าวชีวิตของบุคคลผู้เป็นอยู่อย่างไรว่า
ประเสริฐที่สุด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า
ศรัทธาเป็นทรัพย์ เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐที่สุดของบุรุษใน
โลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้
สัจจะแลเป็นรสยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารสทั้งหลาย นัก
ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของบุคคลผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประ
เสริฐที่สุด ฯ
บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้อย่างไร บุคคลย่อมข้ามอรรณพได้
อย่างไร บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้อย่างไร ย่อมบริสุทธิ์ได้
อย่างไร ฯ
บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามอรรณพได้
ด้วยความไม่ประมาท ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ย่อม
บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ฯ
บุคคลย่อมได้ปัญญาอย่างไร ย่อมหาทรัพย์ได้อย่างไร ย่อม
ได้ชื่อเสียงอย่างไร ย่อมผูกมิตรทั้งหลายไว้ได้อย่างไร บุคคล
ละจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศกอย่างไร ฯ
บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย เพื่อบรรลุนิพพาน
เป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่อง ฟังอยู่ด้วยดี
ย่อมได้ปัญญา บุคคลผู้มีธุระ กระทำสมควร มีความหมั่น
ย่อมหาทรัพย์ได้ บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงด้วยสัจจะ ผู้ให้ย่อม
ผูกมิตรไว้ได้ ผู้ใดมีศรัทธาอยู่ครองเรือน มีธรรม ๔ ประการ
นี้ คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ ผู้นั้นแลละจากโลกนี้
ไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ถ้าว่าเหตุแห่งการได้ชื่อเสียงยิ่งไป
กว่าสัจจะก็ดี เหตุแห่งถารได้ปัญญายิ่งไปกว่าทมะก็ดี เหตุ
แห่งการผูกมิตรยิ่งไปกว่าจาคะก็ดี เหตุแห่งการหาทรัพย์
ได้ยิ่งไปกว่าขันติก็ดี มีอยู่ในโลกนี้ไซร้ เชิญท่านถามสมณ-
พราหมณ์เป็นอันมากแม้เหล่าอื่นดูเถิด ฯ
บัดนี้ ข้าพระองค์จะพึงถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากทำไม
เล่า วันนี้ ข้าพระองค์ทราบชัดประโยชน์อันเป็นไปในภพ
หน้า พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่เมืองอาฬวีเพื่อประทับอยู่ เพื่อ
ประโยชน์แก่ข้าพระองค์หนอ วันนี้ ข้าพระองค์ทราบชัด
พระทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ ที่บุคคลถวายทานแล้วเป็นทาน
มีผลมาก ข้าพระองค์จักนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้า และ
ความที่พระธรรมเป็นธรรมดี เที่ยวไปจากบ้านสู่บ้าน
จากเมืองสู่เมือง ฯ

จบอาฬวกสูตรที่ ๑๐

วิชยสูตรที่ ๑๑

[๓๑๒] ถ้าว่าบุคคลเที่ยวไป ยืนอยู่ นั่ง นอน คู้เข้าหรือเหยียดออก
นั่นเป็นความเคลื่อนไหวของกาย กายประกอบแล้วด้วย
กระดูกและเอ็นฉาบด้วยหนังและเนื้อ ปกปิดด้วยผิว เต็ม
ด้วยไส้ อาหาร มีก้อนตับ มูตร หัวใจ ปอด ม้าม ไต
น้ำมูก น้ำลาย เหงื่อ มันข้น เลือด ไขข้อ ดี เปลวมัน
อันปุถุชนผู้เป็นพาล ย่อมไม่เห็นตามความเป็นจริง อนึ่ง ของ
อันไม่สะอาดย่อมไหลออกจากช่องทั้งเก้าของกายนี้ทุกเมื่อ คือ
ขี้ตาจากตา ขี้หูจากหู และน้ำมูกจากจมูก บางคราวย่อม
สำรอกออกจากปาก ดีและเสลดย่อมสำรอกออก เหงื่อและ
หนองฝีซึมออกจากกาย อนึ่ง อวัยวะเบื้องสูงของกายนี้เป็น
โพลง เต็มด้วยมันสมอง คนพาลถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ย่อม
สำคัญกายนั้นโดยความเป็นของสวยงาม ก็เมื่อใด เขาตาย
ขึ้นพอง มีสีเขียว ถูกทิ้งไว้ในป่า เมื่อนั้น ญาติทั้งหลาย
ย่อมไม่ห่วงใย สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก หมาป่า หมู่หนอน
กา แร้ง และสัตว์เหล่าอื่น ย่อมกัดกินกายนั้น ภิกษุ
ในศาสนานี้ ได้ฟังพระพุทธพจน์แล้ว มีความรู้ชัด เธอ
ย่อมกำหนดรู้กายนี้ ย่อมเห็นตามความเป็นจริงทีเดียว สรีระ
ที่มีวิญญาณนี้เหมือนสรีระที่ตายแล้วนั่น สรีระที่ตายแล้วนั้น
เหมือนสรีระที่มีวิญญาณนี้ ภิกษุพึงคลายความพอใจในกาย
เสียทั้งภายในและภายนอก ภิกษุนั้นมีความรู้ชัดในศาสนา
นี้ ไม่ยินดีแล้วด้วยฉันทราคะ ได้บรรลุอมฤตบท สงบ
ดับไม่จุติ กายนี้มีสองเท้า ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น อันบุคคล
บริหารอยู่ เต็มไปด้วยซากศพต่างๆ ถ่ายของไม่สะอาด
มีน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้นให้ไหลออกจากทวารทั้งเก้า และ
ขับเหงื่อไคลให้ไหลออกจากขุมขนนั้นๆ ผู้ใดพึงสำคัญเพื่อ
ยกย่องตัวหรือพึงดูหมิ่นผู้อื่น จักมีอะไร นอกจากการไม่เห็น
อริยสัจ ฯ

จบวิชยสูตรที่ ๑๑

มุนีสูตรที่ ๑๒

[๓๑๓] ภัยเกิดแต่ความเชยชม ธุลีคือราคะ โทสะ และโมหะ
ย่อมเกิดแต่ที่อยู่ ที่อันมิใช่ที่อยู่และความไม่เชยชมนี้แล
พระพุทธเจ้าผู้เป็นมุนีทรงเห็น (เป็นความเห็นของมุนี)
ผู้ใดตัดกิเลสที่เกิดแล้ว ไม่พึงปลูกให้เกิดขึ้นอีก เมื่อกิเลส
นั้นเกิดอยู่ ก็ไม่พึงให้หลั่งไหลเข้าไป บัณฑิตทั้งหลายกล่าว
ผู้นั้นว่าเป็นมุนีเอก เที่ยวไปอยู่ ผู้นั้นเป็นผู้แสวงหาคุณ
อันใหญ่ ได้เห็นสันติบท ผู้ใดกำหนดรู้ที่ตั้งแห่งกิเลส
ฆ่าพืชไม่ทำยางแห่งพืชให้หลั่งไหลเข้าไป ผู้นั้นแลเป็นมุนี
มีปรกติเห็นที่สุดแห่งความสิ้นไปแห่งชาติ ละอกุศลวิตกเสีย
แล้ว ไม่เข้าถึงการนับว่าเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ผู้ใดรู้ชัดภพ
อันเป็นที่อาศัยอยู่ทั้งปวง ไม่ปรารถนาภพอันเป็นที่อาศัยอยู่
เหล่านั้นแม้ภพหนึ่ง ผู้นั้นแลเป็นมุนี ปราศจากกำหนัด
ไม่ยินดีแล้ว ไม่ก่อกรรม เป็นผู้ถึงฝั่งโน้นแล้วแล อนึ่ง
ผู้ครอบงำธรรมได้ทั้งหมด รู้แจ้งธรรมทุกอย่าง มีปัญญาดี
ไม่เข้าไปติด (ไม่เกี่ยวเกาะ) ในธรรมทั้งปวง ละธรรมได้
ทั้งหมด น้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา นักปราชญ์
ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี อนึ่ง ผู้มีกำลังคือปัญญาประกอบด้วย
ศีลและวัตร มีจิตตั้งมั่น ยินดีในฌาน มีสติ หลุดพ้นจาก
เครื่องข้อง ไม่มีกิเลสดุจหลักตอ ไม่มีอาสวะ นักปราชญ์
ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี หรือผู้เป็นมุนี (มีปัญญา) ไม่
ประมาท เที่ยวไปผู้เดียว ไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและ
สรรเสริญ ไม่สะดุ้งหวาดเพราะโลกธรรม เหมือนราชสีห์
ไม่สะดุ้งหวาดเพราะเสียง ไม่ข้องอยู่ในตัณหาและทิฐิ
เหมือนลมไม่ข้องอยู่ในตาข่าย ไม่ติดอยู่กับโลก เหมือน
ดอกบัวไม่ติดอยู่กับน้ำ เป็นผู้นำ ไม่ใช่ผู้ที่ใครๆ อื่นจะพึง
นำไปได้ นักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี หรือแม้ผู้ใดไม่ถึง
ความยินดีหรือยินร้าย ในเรื่องที่ผู้อื่นกล่าววาจาด้วยอำนาจ
การชมหรือการติ เหมือนเสามีอยู่ที่ท่าเป็นที่ลงอาบน้ำ ผู้นั้น
ปราศจากราคะ มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว นักปราชญ์ย่อมประกาศ
ว่าเป็นมุนี หรือแม้ผู้ใดแลดำรงตนไว้ซื่อตรงดุจกระสวย
เกลียดชังแต่กรรมที่เป็นบาป พิจารณาเห็นกรรมทั้งที่ไม่เสมอ
และที่เสมอ (ทั้งผิดทั้งชอบ) ผู้นั้นนักปราชญ์ย่อมประกาศว่า
เป็นมุนี หรือแม้ผู้ใดยังหนุ่มแน่นหรือปูนกลาง สำรวมตน
ไม่ทำบาป เป็นมุนี มีจิตห่างจากบาป ไม่โกรธง่าย ไม่ว่าร้าย
ใครๆ ผู้นั้นนักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี หรือแม้
ผู้ใดอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เป็นอยู่ ได้ก้อนข้าวแต่ส่วนที่ดี
ส่วนปานกลางหรือส่วนที่เหลือ ไม่อาจจะกล่าวชม ทั้งไม่
กล่าวทับถมให้ทายกตกต่ำ ผู้นั้นนักปราชญ์ย่อมประกาศว่า
เป็นมุนี หรือแม้ผู้ใดไม่หมกมุ่นอยู่ในรูปแห่งหญิงอะไรๆ
ที่กำลังเป็นสาวเป็นผู้รู้เที่ยวไปอยู่ ปราศจากความยินดีใน
เมถุน ไม่กำหนัด หลุดพ้นแล้วจากความมัวเมาประมาท
ผู้นั้นนักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี หรือแม้ผู้รู้จักโลก
เห็นปรมัตถประโยชน์ ข้ามพ้นโอฆะและสมุทร เป็นผู้คงที่
ตัดกิเลสเครื่องร้อยรัดได้ขาดแล้ว อันทิฐิหรือตัณหาอาศัยไม่
ได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ผู้นั้นนักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี
คนทั้งสองไม่เสมอกัน มีที่อยู่และความเป็นอยู่ไกลกัน คือ
คฤหัสถ์เลี้ยงลูกเมีย ส่วนภิกษุไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
มีวัตรงาม คฤหัสถ์ไม่สำรวมเพราะบั่นรอนสัตว์อื่น ภิกษุเป็น
มุนี สำรวมเป็นนิตย์ รักษาสัตว์มีชีวิตไว้ นกยูงมีสร้อยคอ
เขียว บินไปในอากาศ ยังสู้ความเร็วของหงส์ไม่ได้ในกาล
ไหนๆ ฉันใด คฤหัสถ์ทำตามภิกษุผู้เป็นมุนี สงัดเงียบ
เพ่งอยู่ในป่าไม่ได้ ฉันนั้น ฯ

จบมุนีสูตรที่ ๑๒

จบอุรควรรคที่ ๑

****************************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ


Create Date : 30 มีนาคม 2549
Last Update : 30 มีนาคม 2549 18:06:47 น. 0 comments
Counter : 734 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.