Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
21 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 

พระผู้มีพระภาคเป็นผู้บริสุทธิ์ในธรรม

พระสูตรวันนี้กล่าวถึงพระผู้มีพระภาคว่าทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ในปฏิปทา สมควรยึดถือเป็นแบบอย่างโดยแท้จริง ไม่ต้องอาศัยผู้ใด มีอาทิภิกษุผู้แวดล้อมที่จะต้องคอยมาปกปิดในความไม่บริสุทธิ์ในทางใดทั้งสิ้น

ความนัยข้อนี้ตรงกับพระคุณ3ประการของพระผู้มีพระภาค อันได้แก่
1.พระปัญญาคุณ
2.พระมหากรุณาธิคุณ
3.พระบริสุทธิคุณ

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเรื่องพระบริสุทธิคุณของพระผู้มีพระภาคนั้นเป็นหัวข้ออันสำคัญครับ ขอให้ท่านผู้ที่สนใจจงทำจิตให้เลื่อมใสแล้วศึกษา ณ บัดนี้ครับ

พระสูตรยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

****************************************
กกุธวรรคที่ ๕

๑. สัมปทาสูตรที่ ๑

[๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัทธาสัมปทา สีลสัมปทา สุตสัมปทา จาคสัมปทา ปัญญาสัมปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้แล ฯ
[สัมปทาหรือความถึงพร้อมมี5ประการคือ
1.สัทธาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา
2.สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล
3.สุตสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการฟังธรรม
4.จาคสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน
5.ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา]


จบสูตรที่ ๑

๒. สัมปทาสูตรที่ ๒

[๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สีลสัมปทา สมาธิสัมปทา ปัญญาสัมปทา วิมุตติสัมปทา วิมุตติญาณทัสสนสัมปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้แล ฯ
[อีกนัยหนึ่ง สัมปทาหรือความถึงพร้อมมี5ประการคือ
1.สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล
2.สมาธิสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการตั้งจิตมั่น
3.ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา
4.วิมุตติสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความหลุดพ้น
5.วิมุตติญาณทัสสนสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความรู้แจ้งอันเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น]


จบสูตรที่ ๒

๓. พยากรณสูตร

[๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การพยากรณ์อรหัต ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมพยากรณ์อรหัต เพราะความเป็นผู้เขลา เพราะความเป็นผู้หลง ๑ บุคคลผู้มีความอิจฉาลามก ผู้ถูกความอิจฉาครอบงำ ย่อมพยากรณ์อรหัต ๑ บุคคลย่อมพยากรณ์อรหัต เพราะความบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑ บุคคลย่อมพยากรณ์อรหัต เพราะความสำคัญว่าได้บรรลุ ๑ บุคคลย่อมพยากรณ์อรหัตโดยถูกต้อง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การพยากรณ์อรหัต ๕ ประการนี้แล ฯ
[การพยากรณ์ของพระภิกษุว่าตนถึงความหลุดพ้นเป็นพระอรหันตขีณาสพนั้น มีเหตุที่เป็นไปได้5ประการคือ
1.พยากรณ์เพราะความเขลา ความหลง
2.พยากรณ์ด้วยความอิจฉาครอบงำว่าตนก็เป็นพระอรหันต์เช่นเดียวกับพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบท่านอื่นๆ
3.พยากรณ์เพราะความบ้า มีจิตฟุ้งซ่าน
4.พยากรณ์เพราะความสำคัญผิด
5.พยากรณ์โดยถูกต้องว่าตนสำเร็จเป็นพระอรหันต์จริง]


จบสูตรที่ ๓

๔. ผาสุสูตร

[๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ๑ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ๑ ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ๑ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ๑ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้แล ฯ
[ธรรมอันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขของภิกษุ5ประการคือ
1.ปฐมฌาน
2.ทุติยฌาน
3.ตติยฌาน
4.จตุตถฌาน
5.การทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ละอาสวะให้สิ้นไป]


จบสูตรที่ ๔

๕. อกุปปสูตร

[๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบ ต่อกาลไม่นานนัก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้บรรลุอัตถปฏิสัมภิทา ๑ เป็นผู้ได้บรรลุธรรมปฏิสัมภิทา ๑ เป็นผู้ได้บรรลุนิรุตติปฏิสัมภิทา ๑ เป็นผู้ได้บรรลุปฏิภาณปฏิสัมภิทา ๑ ย่อมพิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบต่อกาลไม่นานนัก ฯ
[ภิกษุประกอบด้วยธรรม5ประการย่อมรู้แจ้งในธรรมในเมื่อละกิเลสได้แล้วในเวลาไม่นาน ธรรม5ประการนั้นคือ
1.อัตถปฏิสัมภิทา-ความแตกฉานในวิบากแห่งธรรม
2.ธรรมปฏิสัมภิทา-ความแตกฉานในธรรมมีอาทิ ฌาน วิมุติ ญาณ ญาณทัสสนะ อริยสัจจ์ ฯลฯ
3.นิรุตติปฏิสัมภิทา-ความแตกฉานในบัญญัติแห่งธรรมโดยเนื้อความต่างๆ
4.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา-ความแตกฉานในปฏิภาณ
5.การตามพิจารณาจิตที่หลุดพ้นแล้ว]


จบสูตรที่ ๕

๖. สุตสูตร

[๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เสพอานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบต่อกาลไม่นานนัก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีธุระน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย ยินดียิ่งในบริขารแห่งชีวิต ๑ ย่อมเป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ๑ ย่อมเป็นผู้มีความง่วงนอนน้อย ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ๑ ย่อมเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑ ย่อมพิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เสพอานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบ ต่อกาลไม่นานนัก ฯ
[ภิกษุผู้เจริญอานาปานสติ ย่อมรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมในเมื่อละกิเลสได้แล้วในเวลาไม่นาน โดบธรรม5ประการนี้คือ
1.ความเป็นภิกษุมีธุระน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย ยินดีในบริขารเท่าที่มี
2.ความเป็นภิกษุผู้มีอาหารน้อย
3.ความเป็นภิกษุผู้ง่วงนอนน้อย มีสติรักษาความเพียร
4.ความเป็นพหูสูต ได้สดับมาก จำได้ขึ้นใจ มีความเห็นอันแทงตลอดซึ่งธรรมทั้งหลาย
5.ตามพิจารณาจิตที่หลุดพ้นแล้ว]


จบสูตรที่ ๖

๗. กถาสูตร

[๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เจริญอานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบ ต่อกาลไม่นานนัก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีธุระน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย ยินดียิ่งในบริขารแห่งชีวิต ๑ ย่อมเป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ๑ ย่อมเป็นผู้มีความง่วงนอนน้อยประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ๑ ย่อมเป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากซึ่งกถาอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายแก่ธรรมเครื่องโปร่งจิต คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ๑ ย่อมพิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เจริญอานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบ ต่อกาลไม่นานนัก ฯ
[อีกนัยหนึ่ง ภิกษุผู้เจริญอานาปานสติ ย่อมรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมในเมื่อละกิเลสได้แล้วในเวลาไม่นาน โดบธรรม5ประการนี้คือ
1.ความเป็นภิกษุมีธุระน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย ยินดีในบริขารเท่าที่มี
2.ความเป็นภิกษุผู้มีอาหารน้อย
3.ความเป็นภิกษุผู้ง่วงนอนน้อย มีสติรักษาความเพียร
4.ความเป็นผู้ได้โดยไม่ยากซึ่งธรรมอันเป็นที่ขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายแก่จิต ยังจิตให้สบาย เพราะว่าสดับมามากและปฏิบัติมามาก
5.ตามพิจารณาจิตที่หลุดพ้นแล้ว]


จบสูตรที่ ๗

๘. อรัญญสูตร

[๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ทำให้มากซึ่งอานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบ ต่อกาลไม่นานนัก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีธุระน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย ยินดียิ่งในบริขารแห่งชีวิต ๑ ย่อมเป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ๑ ย่อมเป็นผู้มีความง่วงนอนน้อย ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ๑ ย่อมเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด ๑ ย่อมพิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ทำให้มากซึ่งอานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบ ต่อกาลไม่นานนัก ฯ
[ภิกษุผู้เจริญอานาปานสติ ย่อมรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมในเมื่อละกิเลสได้แล้วในเวลาไม่นาน โดบธรรม5ประการนี้คือ
1.ความเป็นภิกษุมีธุระน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย ยินดีในบริขารเท่าที่มี
2.ความเป็นภิกษุผู้มีอาหารน้อย
3.ความเป็นภิกษุผู้ง่วงนอนน้อย มีสติรักษาความเพียร
4.ความเป็นภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร อาศัยเสนาสนะในที่อันสงัด
5.ตามพิจารณาจิตที่หลุดพ้นแล้ว]


จบสูตรที่ ๘

๙. สีหสูตร

[๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีหมฤคราชออกจากที่อยู่ในเวลาเย็น แล้วย่อมเยื้องกราย เหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วออกเที่ยวไปหากิน สีหมฤคราชนั้น ถ้าแม้จะจับช้าง ย่อมจับโดยแม่นยำ ไม่พลาด ถ้าแม้จะจับกระบือ ย่อมจับโดยแม่นยำ ไม่พลาด ถ้าแม้จะจับโค ย่อมจับโดยแม่นยำ ไม่พลาด ถ้าแม้จะจับเสือเหลือง ย่อมจับโดยแม่นยำ ไม่พลาด ถ้าแม้จะจับเหล่าสัตว์เล็กๆ โดยที่สุดกระต่ายและแมว ย่อมจับโดยแม่นยำ ไม่พลาด ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสีหมฤคราชนั้นคิดว่า ทางหากินของเราอย่าพินาศเสียเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าสีหะนั้นแล เป็นชื่อแห่งตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ที่ตถาคตแสดงธรรมแก่บริษัทนี้แล เป็นสีหนาทของตถาคต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ตถาคตจะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ ถ้าแม้จะแสดงธรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ ถ้าแม้จะแสดงธรรมแก่อุบาสกทั้งหลาย ย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ ถ้าแม้จะแสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลาย ย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ ถ้าแม้จะแสดงธรรมแก่ปุถุชนทั้งหลาย ย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ โดยที่สุดแม้แก่คนขอทานและพรานนก ย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตเป็นผู้หนักในธรรม เคารพในธรรม ฯ
[พระผู้มีพระภาคนั้นประดุจดังสีหะอันสง่างามด้วยอิริยาบท เมื่อจะจับสัตว์ใหญ่น้อยดังนี้ย่อมจับโดยไม่พลาด แม่นยำ สัตว์นั้นมีอาทิ
1.ช้าง
2.กระบือ
3.โค
4.เสือเหลือง
5.สัตว์เล็กๆโดยที่สุดกระต่ายและแมว
ข้อนี้โดยเหตุว่าสีหะมฤคราชนั้นคิดว่าทางหากินของเราอย่าพินาศเสียเลย

ฉันใดก็ฉันนั้น พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมแก่บริษัทเหล่านี้ ย่อมประสบผลสมดังตั้งใจ เป็นไปเพื่อความบรรลุธรรมของชนในบริษัท บริษัทนั้นคือ
1.ภิกษุ
2.ภิกษุณี
3.อุบาสก
4.อุบาสิกา
5.ปุถุชนทั้งหลาย โดยที่สุดแม้แก่คนขอทานและพรานนก
ข้อนี้แลเป็นสีหนาทของพระตถาคต เพราะเหตุว่าพระองค์แสดงธรรมแก่บริษัทใด ย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ พระตถาคตนั้นเป็นผู้ทรงหนักในธรรม เคารพในธรรม]


จบสูตรที่ ๙

๑๐. กกุธสูตร

[๑๐๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตารามใกล้เมืองโกสัมพี ก็สมัยนั้นแล บุตรเจ้าโกลิยะนามว่ากกุธะ ผู้อุปัฏฐากท่านพระมหาโมคคัลลานะ กระทำกาละไม่นาน ได้บังเกิดในหมู่เทพชื่อว่าอโนมยะหมู่หนึ่ง เป็นผู้ได้อัตภาพ [ใหญ่] เหมือนคามเขตในแว่นแคว้นมคธสองสามหมู่ เพราะการได้อัตภาพนั้น เขาย่อมไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ครั้งนั้นแล กกุธเทพบุตรได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเทวทัตเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ และพระเทวทัตได้เสื่อมจากฤทธิ์นั้น พร้อมกับจิตตุปบาท ครั้นกกุธเทพบุตรได้กล่าวดังนี้แล้ว อภิวาทท่านพระมหาโมคัลลานะ ทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้น ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุตรแห่งเจ้าโกลิยะนามว่ากกุธะผู้อุปัฏฐากข้าพระองค์ กระทำกาละไม่นาน ได้บังเกิดในหมู่เทพชื่อว่าอโนมยะหมู่หนึ่ง เป็นผู้ได้อัตภาพ [ใหญ่] เหมือนคามเขตในแว่นแคว้นมคธสองสามหมู่ เพราะการได้อัตภาพนั้น เขาย่อมไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ครั้งนั้น กกุธเทพบุตรได้เข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเทวทัตเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ พระเทวทัตได้เสื่อมจากฤทธิ์นั้น พร้อมกับจิตตุปบาท กกุธเทพบุตรครั้นได้กล่าวดังนี้แล้วอภิวาทข้าพระองค์ ทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้น ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรโมคคัลลานะ ก็กกุธเทพบุตรเธอกำหนดรู้ใจด้วยใจดีแล้วหรือว่า กกุธเทพบุตรกล่าวสิ่งใด สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมเป็นอย่างนั้นทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น ฯ

ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กกุธเทพบุตรข้าพระองค์กำหนดรู้ใจด้วยใจดีแล้วว่า กกุธเทพบุตรกล่าวสิ่งใด สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมเป็นอย่างนั้นทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น ฯ

พ. ดูกรโมคคัลลานะ เธอจงรักษาวาจานั้น บัดนี้ โมฆบุรุษนั้นจักทำตนให้ปรากฏด้วยตนเอง ดูกรโมคคัลลานะ ศาสดา ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ

ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ศีลของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมทราบเขาอย่างนี้ว่า ท่านศาสดานี้ เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ศีลของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง แต่ถ้าพวกเราจักบอกพวกคฤหัสถ์ก็ไม่พึงเป็นที่พอใจของท่าน ก็พวกเราจะพึงกล่าวด้วยความไม่พอใจของท่านนั้นอย่างไรได้ อนึ่ง มหาชนย่อมยกย่องด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ด้วยคิดว่า ศาสดานี้จักทำกรรมใด เขาเองจักปรากฏด้วยกรรมนั้น ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้โดยศีล และศาสดาเช่นนี้ย่อมหวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวกโดยศีล ฯ

อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ อาชีวะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมทราบเขาอย่างนี้ว่า ท่านศาสดานี้ เป็นผู้มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ อาชีวะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง แต่ถ้าพวกเราพึงบอกพวกคฤหัสถ์ ก็ไม่พึงเป็นที่พอใจของท่าน ก็พวกเราจะพึงกล่าวด้วยความไม่พอใจของท่านนั้นอย่างไรได้ อนึ่ง มหาชนย่อมยกย่องด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ด้วยคิดว่า ศาสดานี้จักทำกรรมใด เขาเองจักปรากฏด้วยกรรมนั้น ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้โดยอาชีวะ และศาสดาเช่นนี้ย่อมหวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวกโดยอาชีวะ ฯ

อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมทราบเขาอย่างนี้ว่า ท่านศาสดานี้ เป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง แต่ถ้าพวกเราพึงบอกพวกคฤหัสถ์ ก็ไม่พึงเป็นที่พอใจของท่าน ก็พวกเราจะพึงกล่าวด้วยความไม่พอใจของท่านนั้นอย่างไรได้ อนึ่ง มหาชนย่อมยกย่องด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ด้วยคิดว่า ท่านศาสดานี้จักทำกรรมใด เขาเองก็จักปรากฏด้วยกรรมนั้น ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้โดยธรรมเทศนา และศาสดาเช่นนี้ย่อมหวังเฉพาะการรักษาจากสาวกโดยธรรมเทศนา ฯ

อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ ไวยากรณ์ของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมทราบเขาอย่างนี้ว่า ท่านศาสดานี้ เป็นผู้มีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ ไวยากรณ์ของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง แต่ถ้าพวกเราพึงบอกพวกคฤหัสถ์ ก็ไม่พึงเป็นที่พอใจของท่าน ก็พวกเราจักกล่าวด้วยความไม่พอใจของท่านนั้นอย่างไรได้ อนึ่ง มหาชนย่อมยกย่องด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ด้วยคิดว่าศาสดานี้จักทำกรรมใด เขาเองจักปรากฏด้วยกรรมนั้น ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้โดยไวยากรณ์ และศาสดาเช่นนี้ย่อมหวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวกโดยไวยากรณ์ ฯ

อีกประการหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมทราบเขาอย่างนี้ว่า ท่านศาสดานี้ เป็นผู้มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง แต่ถ้าพวกเราพึงบอกพวกคฤหัสถ์ก็ไม่พึงเป็นที่พอใจของท่าน ก็พวกเราจะพึงกล่าวด้วยความไม่พอใจของท่านนั้นอย่างไรได้ อนึ่ง มหาชนย่อมยกย่องด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ด้วยคิดว่า ศาสดานี้จักทำกรรมใด เขาเองจักปรากฏด้วยกรรมนั้น ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้โดยญาณทัสสนะ และศาสดาเช่นนี้ย่อมหวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวกโดยญาณทัสสนะ ดูกรโมคคัลลานะ ศาสดา ๕ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

ดูกรโมคคัลลานะ เราเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ศีลของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมไม่รักษาเราโดยศีล และเราก็ไม่หวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวกโดยศีล เราเป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ อาชีวะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมไม่รักษาเราโดยอาชีวะ และเราก็ไม่หวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวกโดยอาชีวะ เราเป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่าเป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมไม่รักษาเราโดยธรรมเทศนา และเราก็ไม่หวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวกโดยธรรมเทศนา เราเป็นผู้มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ ไวยากรณ์ของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมไม่รักษาเราโดยไวยากรณ์ และเราก็ไม่หวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวกโดยไวยากรณ์ เราเป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง พวกสาวกย่อมไม่รักษาเราโดยญาณทัสสนะ และเราก็ไม่หวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวกโดยญาณทัสสนะ ฯ
[ศาสดา5จำพวกนี้มีปรากฏในโลก คือ
1.ศาสดาบางคนในโลกมีศีลไม่บริสุทธิ์ แม้สาวกก็รู้อยู่ แต่สาวกนั้นช่วยปกปิดด้วยความเกรงใจและตนก็อาศัยในศาสดานั้นในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่ทายกให้มาด้วยความเลื่อมใสและหวังในบุญ ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้โดยศีล และศาสดาเช่นนี้ก็หวังการรักษาจากพวกสาวกโดยศีล
2.ศาสดาบางคนในโลกมีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ แม้สาวกก็รู้อยู่ แต่สาวกนั้นช่วยปกปิดด้วยความเกรงใจและตนก็อาศัยในศาสดานั้นในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่ทายกให้มาด้วยความเลื่อมใสและหวังในบุญ ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้โดยอาชีวะ และศาสดาเช่นนี้ก็หวังการรักษาจากพวกสาวกโดยอาชีวะ
3.ศาสดาบางคนในโลกมีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ แม้สาวกก็รู้อยู่ แต่สาวกนั้นช่วยปกปิดด้วยความเกรงใจและตนก็อาศัยในศาสดานั้นในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่ทายกให้มาด้วยความเลื่อมใสและหวังในบุญ ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้โดยธรรมเทศนา และศาสดาเช่นนี้ก็หวังการรักษาจากพวกสาวกโดยธรรมเทศนา
4.ศาสดาบางคนในโลกมีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ แม้สาวกก็รู้อยู่ แต่สาวกนั้นช่วยปกปิดด้วยความเกรงใจและตนก็อาศัยในศาสดานั้นในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่ทายกให้มาด้วยความเลื่อมใสและหวังในบุญ ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้โดยไวยากรณ์ และศาสดาเช่นนี้ก็หวังการรักษาจากพวกสาวกโดยไวยากรณ์
5.ศาสดาบางคนในโลกมีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ แม้สาวกก็รู้อยู่ แต่สาวกนั้นช่วยปกปิดด้วยความเกรงใจและตนก็อาศัยในศาสดานั้นในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่ทายกให้มาด้วยความเลื่อมใสและหวังในบุญ ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้โดยญาณทัสสนะ และศาสดาเช่นนี้ก็หวังการรักษาจากพวกสาวกโดยญาณทัสสนะ

พระผู้มีพระภาคทรงบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง ใน ศีล อาชีวะ ธรรมเทศนา ไวยากรณ์ ญาณทัสสนะ สาวกย่อมไม่รักษาพระองค์โดยศีล อาชีวะ ธรรมเทศนา ไวยากรณ์ ญาณทัสสนะ และพระองค์ไม่ต้องมุ่งหวังให้สาวกรักษาพระองค์โดยศีล อาชีวะ ธรรมเทศนา ไวยากรณ์ ญาณทัสสนะ]


จบสูตรที่ ๑๐

จบกกุธวรรคที่ ๕

****************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2549
0 comments
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2549 16:25:45 น.
Counter : 631 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.