Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
15 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 

การปฏิบัติธรรม4ลักษณะ

วันนี้จะกล่าวถึงการปฏิบัติธรรม4ลักษณะครับ สาเหตุของการปฏิบัติแตกต่างกันออกไปเป็น4แนวทางเช่นนี้ก็เพราะว่าบุคคลมีกิเลสคือราคะ โทสะ โมหะ เบาบางหรือหนาแน่นแตกต่างกัน อีกประการหนึ่งคือบุคคลนั้นๆก็มีความแก่กล้าของอินทรีย์5(ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) แตกต่างกัน ขอเชิญท่านที่สนใจศึกษารายละเอียดดังจะแสดงต่อไปนี้ครับ

พระสูตรยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 13 อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

**************************************
ปฏิปทาวรรคที่ ๒

[๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า ๑ ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว ๑ สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้า ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ
[๑๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปรกติเป็นคนมีราคะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติเป็นคนมีโทสะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติเป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ของเขาปรากฏว่าอ่อน เขาย่อมบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า เพราะอินทรีย์ ๕ เหล่านี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญาเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปรกติเป็นผู้มีราคะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติเป็นผู้มีโทสะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติเป็นผู้มีโมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ของเขาปรากฏว่าแก่กล้า เขาย่อมบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะเร็วพลันเพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขาปฏิปทาทันธาภิญญาเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปรกติไม่เป็นคนมีราคะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติไม่เป็นผู้มีโทสะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติไม่เป็นผู้มีโมหะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ของเขาปรากฏว่าอ่อน เขาย่อมได้บรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะช้า เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าสุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปรกติไม่เป็นผู้มีราคะกล้า ไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติเป็นผู้ไม่มีโทสะกล้า ไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ บ้าง โดยปรกติเป็นผู้ไม่มีโมหะกล้า ไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ของเขาปรากฏว่าแก่กล้า เขาย่อมบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้ฉับพลัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ
[การปฏิบัติธรรมมี4ลักษณะคือ
1.ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา - ปฏิบัติโดยลำบากและรู้ธรรมได้ช้า สำหรับบุคคลผู้มีราคะ โทสะ โมหะกล้า มักเสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากกิเลส และอินทรีย์5ของเขาก็ปรากฏว่าอ่อน จึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า
2.ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา - ปฏิบัติโดยลำบากแต่รู้ธรรมได้เร็ว สำหรับบุคคลผู้มีราคะ โทสะ โมหะกล้า มักเสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากกิเลส และอินทรีย์5ของเขาก็ปรากฏว่าแก่กล้า จึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว
3.สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา - ปฏิบัติโดยสะดวกแต่รู้ธรรมได้ช้า สำหรับบุคคลผู้ไม่เป็นคนมีราคะ โทสะ โมหะกล้า ไม่ได้เป็นผู้มักเสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากกิเลส และอินทรีย์5ของเขาก็ปรากฏว่าอ่อน จึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า
4.สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา - ปฏิบัติโดยสะดวกและรู้ธรรมได้เร็ว สำหรับบุคคลผู้ไม่เป็นคนมีราคะ โทสะ โมหะกล้า ไม่ได้เป็นผู้มักเสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากกิเลส และอินทรีย์5ของเขาก็ปรากฏว่าแก่กล้า จึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว]


[๑๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ๔ ประการเป็นไฉน คือ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม มีความสำคัญในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล มีความสำคัญในโลกทั้งปวงว่าไม่น่ายินดี พิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวงว่าไม่เที่ยง อนึ่ง มรณสัญญาของเธอตั้งอยู่ดีแล้วในภายใน เธอเข้าไปอาศัยธรรมอันเป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการนี้ คือ สัทธา หิริ โอตัปปะ วิริยะ ปัญญา อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าอ่อน เธอได้บรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะช้า เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญาเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม ... แต่อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าแก่กล้า เธอย่อมได้บรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะเร็วพลัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขาปฏิปทาทันธาภิญญาเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ดังนี้ บรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขเพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธออาศัยธรรมอันเป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการนี้ คือ สัทธา หิริ โอตัปปะ วิริยะ ปัญญาอยู่ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าอ่อน เธอบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะช้าเพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ เธออาศัยธรรมอันเป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการนี้ คือ สัทธา หิริ โอตัปปะ วิริยะ ปัญญา ทั้งอินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าแก่กล้า เธอย่อมได้บรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะเร็วพลัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ
[สำหรับบุคคลผู้มีราคะ โทะ โมหะหนาแน่นดังข้อ1และข้อ2 แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับบุคคลนี้คือ การพิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม มีความสำคัญในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล มีความสำคัญต่อสิ่งต่างๆในโลกว่าไม่น่ายินดี เห็นความไม่เที่ยงในสังขาร มีมรณัสสติ เข้าไปอาศัยธรรมอันเป็นกำลังของพระเสขะ5ประการคือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา

สำหรับบุคคลผู้มีราคะ โทสะ โมหะเบาบางดังข้อ3และข้อ4 แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับบุคคลนี้คือ การบรรลุฌาน4 อาศัยธรรมอันเป็นกำลังของพระเสขะ5ประการคือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา]


[๑๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ การปฏิบัติไม่อดทน ๑ การปฏิบัติอดทน ๑ การปฏิบัติข่มใจ ๑ การปฏิบัติระงับ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติไม่อดทนเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เขาด่า ย่อมด่าตอบ เขาขึ้งโกรธ ย่อมขึ้งโกรธตอบ เขาทุ่มเถียง ย่อมทุ่มเถียงตอบ นี้เรียกว่าการปฏิบัติไม่อดทน ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติอดทนเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เขาด่า ไม่ด่าตอบ เขาขึ้งโกรธ ไม่ขึ้งโกรธตอบ เขาทุ่มเถียง ไม่ทุ่มเถียงตอบ นี้เรียกว่าการปฏิบัติอดทน ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติข่มใจเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว เป็นผู้ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการปฏิบัติข่มใจ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติระงับเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมไม่รับรอง ย่อมละ ย่อมบรรเทาซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ระงับไป กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ย่อมไม่รับรอง ย่อมละ ย่อมบรรเทาซึ่งพยาบาทวิตก ... วิหิงสาวิตก ... ย่อมไม่รับรอง ย่อมละ ย่อมบรรเทาซึ่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้ระงับไป กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการปฏิบัติระงับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ
[๑๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ การปฏิบัติไม่อดทน ๑ การปฏิบัติอดทน ๑ การปฏิบัติข่มใจ ๑ การปฏิบัติระงับ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติไม่อดทนเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย ต่อถ้อยคำอันหยาบคาย ร้ายแรง เป็นผู้ไม่อดทนต่อทุกขเวทนาทางกายอันเกิดขึ้นแล้ว กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่าชื่นใจ ไม่น่าพอใจ อาจปลงชีวิตเสียได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การปฏิบัติไม่อดทน ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติอดทนเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการปฏิบัติอดทน ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติข่มใจเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยจักษุ ... ฟังเสียงด้วยหู ... สูดกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว เป็นผู้ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการปฏิบัติข่มใจ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การปฏิบัติระงับเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมไม่รับรอง ย่อมละ ย่อมบรรเทาซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้วให้ระงับไป กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ย่อมไม่รับรอง ย่อมละ ย่อมบรรเทาซึ่งพยาบาทวิตก ... วิหิงสาวิตก ... ธรรมอันเป็นบาปอกุศล ที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้ระงับไป กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการปฏิบัติระงับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ
[การปฏิบัติของบุคคลมี4ลักษณะคือ
1.การปฏิบัติไม่อดทน คือยึดถือราคะ โทสะ โมหะ มาเป็นอารมณ์ เช่นเขาด่าก็ด่าตอบ
2.การปฏิบัติอดทน คือไม่ยึดถือราคะ โทสะ โมหะ มาเป็นอารมณ์ เช่นเขาด่าก็ไม่ด่าตอบ
3.การปฏิบัติข่มใจ คือมีความสำรวมในอินทรีย์6(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เช่นเมื่อตาเห็นรูปก็ไม่ยึดมั่น ไม่ถูกครอบงำโดยความโลภและความทุกข์ใจ
4.การปฏิบัติระงับ คือมีความระงับในความคิดกรุ่นไปในเรื่องกาม เรื่องความพยาบาท เรื่องความเบียดเบียน

อีกประการหนึ่ง การปฏิบัติของบุคคลมี4ลักษณะคือ
1.การปฏิบัติไม่อดทน คือไม่อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม ฯลฯ
2.การปฏิบัติอดทน คืออดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม ฯลฯ
3.การปฏิบัติข่มใจ คือมีความสำรวมในอินทรีย์6(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เช่นเมื่อตาเห็นรูปก็ไม่ยึดมั่น ไม่ถูกครอบงำโดยความโลภและความทุกข์ใจ
4.การปฏิบัติระงับ คือมีความบรรเทาในความคิดกรุ่นไปในเรื่องกาม เรื่องความพยาบาท เรื่องความเบียดเบียน ที่เกิดขึ้นแล้วให้ระงับ สิ้นสุด ไม่มีอีกต่อไป]


[๑๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในปฏิปทา ๔ ประการนั้น ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา บัณฑิตกล่าวว่า เลวโดยส่วนทั้งสองทีเดียว คือ กล่าวว่าเลวแม้ด้วยการปฏิบัติลำบาก กล่าวว่าเลวแม้ด้วยการรู้ช้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทานี้บัณฑิตกล่าวว่าเลวโดยส่วนทั้งสองทีเดียว ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา บัณฑิตกล่าวว่าเลวเพราะปฏิบัติลำบาก สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา บัณฑิตกล่าวว่าเลวเพราะรู้ได้ช้า สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา บัณฑิตกล่าวว่าประณีตโดยส่วนทั้งสองทีเดียว คือ กล่าวว่าประณีตแม้ด้วยการปฏิบัติสะดวก กล่าวว่าประณีตแม้ด้วยการรู้ได้เร็ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทานี้บัณฑิตกล่าวว่าประณีตโดยส่วนทั้งสองทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ
[การปฏิบัติธรรมมี4ลักษณะคือ
1.ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา - ปฏิบัติโดยลำบากและรู้ธรรมได้ช้า สำหรับบุคคลผู้มีราคะ โทสะ โมหะกล้า มักเสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากกิเลส และอินทรีย์5ของเขาก็ปรากฏว่าอ่อน จึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า บัณฑิตกล่าวว่าเลวโดยส่วนทั้งสองทีเดียว เพราะเลวโดยปฏิบัติลำบาก และเลวโดยการรู้ได้ช้า
2.ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา - ปฏิบัติโดยลำบากแต่รู้ธรรมได้เร็ว สำหรับบุคคลผู้มีราคะ โทสะ โมหะกล้า มักเสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากกิเลส และอินทรีย์5ของเขาก็ปรากฏว่าแก่กล้า จึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว บัณฑิตกล่าวว่าเลวโดยปฏิบัติลำบาก
3.สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา - ปฏิบัติโดยสะดวกแต่รู้ธรรมได้ช้า สำหรับบุคคลผู้ไม่เป็นคนมีราคะ โทสะ โมหะกล้า ไม่ได้เป็นผู้มักเสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากกิเลส และอินทรีย์5ของเขาก็ปรากฏว่าอ่อน จึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า บัณฑิตกล่าวว่าเลวโดยรู้ได้ช้า
4.สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา - ปฏิบัติโดยสะดวกและรู้ธรรมได้เร็ว สำหรับบุคคลผู้ไม่เป็นคนมีราคะ โทสะ โมหะกล้า ไม่ได้เป็นผู้มักเสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากกิเลส และอินทรีย์5ของเขาก็ปรากฏว่าแก่กล้า จึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว บัณฑิตกล่าวว่าประณีตโดยส่วนทั้งสองทีเดียว กล่าวคือประณีตโดยการปฏิบัติสะดวก และประณีตโดยการที่รู้ได้เร็ว]


[๑๖๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุโมคคัลลานะ ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ๑ ดูกรท่านผู้มีอายุ ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ จิตของท่านหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน เพราะอาศัยปฏิปทาข้อไหน ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุสารีบุตร ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ฯลฯ บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ จิตของผมหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน เพราะอาศัยทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ฯ
[๑๖๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรท่านผู้มีอายุสารีบุตร ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ... ดูกรท่านผู้มีอายุ บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ จิตของท่านหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน เพราะอาศัยปฏิปทาข้อไหน ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุโมคคัลลานะ ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ... ดูกรท่านผู้มีอายุ บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ จิตของผมหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานเพราะอาศัยสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ฯ
[ท่านพระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้ายผู้เป็นเลิศในทางฤทธิ์กล่าวตอบปุจฉาของท่านพระสารีบุตรว่าจิตของท่านหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะอาศัยทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

ท่านพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาผู้เป็นเลิศในทางปัญญากล่าวตอบปุจฉาของท่านพระมหาโมคคัลลานะว่าจิตของท่านหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะอาศัยสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา]


[๑๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสสังขารปรินิพพายี จะปรินิพพานด้วยต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรงในปัจจุบันเทียว บางคนเมื่อกายแตกจึงเป็นสสังขารปรินิพพายี บางคนเป็นอสังขารปรินิพพายี จะปรินิพพานด้วยไม่ต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรงในปัจจุบัน บางคนเมื่อกายแตกจึงเป็นอสังขารปรินิพพายี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นสสังขารปรินิพพายีในปัจจุบันอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม มีความสำคัญในอาหารว่าปฏิกูล มีความสำคัญในโลกทั้งปวงว่าไม่น่ายินดี พิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวงว่าไม่เที่ยง และมรณสัญญาของเธอตั้งอยู่ดีแล้วในภายใน เธออาศัยธรรมเป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการนี้อยู่ คือ ศรัทธา หิริ โอตัปปะ วิริยะ ปัญญา ทั้งอินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ของเธอปรากฏว่าแก่กล้า เธอย่อมเป็นสสังขารปรินิพพายีในปัจจุบันเทียว เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นสสังขารปรินิพพายีในปัจจุบันอย่างนี้แล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเมื่อกายแตกจึงเป็นสสังขารปรินิพพายีอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม ฯลฯ อินทรีย์ ๕ ประการ คือ สัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ... ของเธอปรากฏว่าอ่อน เธอเมื่อกายแตกจึงเป็นสสังขารปรินิพพายี เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อกายแตกจึงเป็นสสังขารปรินิพพายีอย่างนี้แล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นอสังขารปรินิพพายีในปัจจุบันอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน เธออาศัยธรรมเป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการนี้ คือ ศรัทธา ... ปัญญา อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าแก่กล้า เธอเป็นอสังขารปรินิพพายีในปัจจุบัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นอสังขารปรินิพพายีในปัจจุบันอย่างนี้แล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเมื่อกายแตกจึงเป็นอสังขารปรินิพพายีอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ แต่อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าอ่อน เธอเมื่อกายแตกจึงเป็นอสังขารปรินิพพายี เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อกายแตกจึงเป็นอสังขารปรินิพพายี อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
[การปฏิบัติธรรมมี4ลักษณะคือ
1.ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา - ปฏิบัติโดยลำบากและรู้ธรรมได้ช้า สำหรับบุคคลผู้มีราคะ โทสะ โมหะกล้า มักเสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากกิเลส และอินทรีย์5ของเขาก็ปรากฏว่าอ่อน จึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับบุคคลนี้คือ การพิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม มีความสำคัญในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล มีความสำคัญต่อสิ่งต่างๆในโลกว่าไม่น่ายินดี เห็นความไม่เที่ยงในสังขาร มีมรณัสสติ เข้าไปอาศัยธรรมอันเป็นกำลังของพระเสขะ5ประการคือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา นี้คือเป็นสสังขารปรินิพพายีเมื่อกำลังจะเสียชีวิต
2.ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา - ปฏิบัติโดยลำบากแต่รู้ธรรมได้เร็ว สำหรับบุคคลผู้มีราคะ โทสะ โมหะกล้า มักเสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากกิเลส และอินทรีย์5ของเขาก็ปรากฏว่าแก่กล้า จึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับบุคคลนี้คือ การพิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม มีความสำคัญในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล มีความสำคัญต่อสิ่งต่างๆในโลกว่าไม่น่ายินดี เห็นความไม่เที่ยงในสังขาร มีมรณัสสติ เข้าไปอาศัยธรรมอันเป็นกำลังของพระเสขะ5ประการคือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา นี้คือเป็นสสังขารปรินิพพายีในปัจจุบัน
3.สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา - ปฏิบัติโดยสะดวกแต่รู้ธรรมได้ช้า สำหรับบุคคลผู้ไม่เป็นคนมีราคะ โทสะ โมหะกล้า ไม่ได้เป็นผู้มักเสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากกิเลส และอินทรีย์5ของเขาก็ปรากฏว่าอ่อน จึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับบุคคลนี้คือ การบรรลุฌาน4 อาศัยธรรมอันเป็นกำลังของพระเสขะ5ประการคือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา นี้คือเป็นอสังขารปรินิพพายีเมื่อกำลังจะเสียชีวิต
4.สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา - ปฏิบัติโดยสะดวกและรู้ธรรมได้เร็ว สำหรับบุคคลผู้ไม่เป็นคนมีราคะ โทสะ โมหะกล้า ไม่ได้เป็นผู้มักเสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากกิเลส และอินทรีย์5ของเขาก็ปรากฏว่าแก่กล้า จึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับบุคคลนี้คือ การบรรลุฌาน4 อาศัยธรรมอันเป็นกำลังของพระเสขะ5ประการคือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา นี้คือเป็นอสังขารปรินิพพายีในปัจจุบัน]


[๑๗๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ณ ที่นั้นแล ท่านพระอานนท์เรียกภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัตในสำนักของเราด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดามรรค ๔ ประการนี้ มรรค ๔ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า เมื่อเธอเจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า เมื่อเธอเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป เมื่อเธอเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ
อีกประการหนึ่ง ใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรม สมัยนั้น จิตนั้นย่อมตั้งมั่น สงบ ณ ภายใน เป็นจิตเกิดดวงเดียว ตั้งมั่นอยู่ มรรคย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ เธอย่อมเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัตในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ ประการนี้ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดามรรค ๔ ประการนี้ ฯ
[ท่านพระอานนท์กล่าวว่าในการปฏิบัติธรรมในสำนักของท่านนั้นมี4ลักษณะคือ
1.ภิกษุเจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า กระทำให้มากซึ่งโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค
2.ภิกษุเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า กระทำให้มากซึ่งโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค
3.ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป กระทำให้มากซึ่งโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค
4.ภิกษุมีใจแน่วแน่ในธรรม จิตก็ตั้งมั่น สงบ เป็นจิตดวงเดียว ตั้งมั่นอยู่ กระทำให้มากซึ่งโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค]


จบปฏิปทาวรรคที่ ๒

***************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2549
0 comments
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2549 14:53:42 น.
Counter : 513 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.