Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
5 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 

ความขัดแย้งจากทิฏฐิที่ต่างกัน-2

(ต่อ)

[๓๐๒] ชื่อว่า ผู้ฉลาด ในคำว่า ผู้ฉลาดย่อมไม่กล่าวความหมดจดเพราะวิวาทนั้น
ความว่า ผู้ฉลาดในขันธ์ ฉลาดในธาตุ ฉลาดในอายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ฉลาดใน
สติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน ฉลาดในอิทธิบาท ฉลาดในอินทรีย์ ฉลาดในพละ ฉลาดใน
โพชฌงค์ ฉลาดในมรรค ฉลาดในผล ฉลาดในนิพพาน ผู้ฉลาดเหล่านั้น ย่อมไม่กล่าว ไม่บอก
ไม่พูด ไม่แสดง ไม่แถลงถึงความหมดจด ความหมดจดวิเศษ ความหมดจดรอบ ความพ้น
ความพ้นวิเศษ ความพ้นรอบ เพราะความทะเลาะกันเพราะทิฏฐิ ความหมายมั่นกันเพราะ
ทิฏฐิ ความแก่งแย่งกันเพราะทิฏฐิ ความวิวาทกันเพราะทิฏฐิ ความมุ่งร้ายกันเพราะทิฏฐิ เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ฉลาดย่อมไม่กล่าวความหมดจดเพราะวิวาทนั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า

ความเฟื่องฟู เป็นพื้นย่ำยีแห่งบุคคลนั้น บุคคลนั้นย่อมกล่าวความถือตัว
และความดูหมิ่น บุคคลเห็นโทษแม้นั้นแล้ว ไม่ควรวิวาทกัน ผู้ฉลาด
ย่อมไม่กล่าวความหมดจดเพราะวิวาทนั้น.
[ความเฟื่องฟูนั้นย่อมส่งให้ผู้นั้นถือตัว กล่าววาจาดูหมิ่น ข้อนี้เป็นโทษแก่เขาเอง ผู้เห็นโทษของความถือตัวและความดูหมิ่นย่อมไม่ประสงค์ความวิวาท ความขัดแย้ง ความมุ่งร้าย ผู้ฉลาดย่อมทราบว่าการวิวาทไม่ใช่การตัดสินความถูกต้องของความเห็นหรือวาทะ]

[๓๐๓] คนกล้าที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงด้วยของควรเคี้ยว ผู้คะนองปรารถนาคน
กล้าที่เป็นศัตรู ย่อมพบคนกล้าที่เป็นศัตรู ฉันใด เจ้าทิฏฐิย่อมพบเจ้า
ทิฏฐิ ฉันนั้น ดูกรปสูระ เจ้าทิฏฐิอยู่ที่ใด ท่านจงไปเสียจากที่นั้น กิเลส
ทั้งหลายของตถาคตมิได้มีในเบื้องต้นเพื่อจะรบ.

[๓๐๔] ชื่อว่า คนกล้า ในคำว่า คนกล้าที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงด้วยของควรเคี้ยว คือ
คนกล้า คนมีความเพียร คนต่อสู้ คนไม่ขลาด คนไม่หวาดเสียว คนไม่ครั่นคร้าม คนไม่หนี.
คำว่า ที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงด้วยของควรเคี้ยว ความว่า ผู้อันพระราชาทรงชุบเลี้ยง คือ
พอกเลี้ยง บำรุงเพิ่มพูนให้เจริญแล้วด้วยของควรเคี้ยว ด้วยของควรบริโภคของพระราชา เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า คนกล้าที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงด้วยของควรเคี้ยว.

[๓๐๕] คำว่า ผู้คะนองปรารถนาคนกล้าที่เป็นศัตรู ย่อมพบคนกล้าที่เป็นศัตรู
ฉันใด เจ้าทิฏฐิย่อมพบเจ้าทิฏฐิ ฉันนั้น ความว่า คนกล้านั้น ผู้คะนอง ปองท้าทาย บันลือลั่น
ผู้ปรารถนา ยินดี มุ่งหวัง ประสงค์ พอใจ ซึ่งคนกล้าผู้เป็นศัตรู คือ บุรุษที่เป็นปฏิปักษ์
ศัตรูเป็นข้าศึก นักรบที่เป็นปฏิปักษ์ ย่อมพบ คือ ถึง เข้าถึง ซึ่งคนกล้าผู้เป็นศัตรู เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ผู้คะนองปรารถนาคนกล้าที่เป็นศัตรู ย่อมพบคนกล้าที่เป็นศัตรู ฉันใด เจ้าทิฏฐิย่อมพบ
เจ้าทิฏฐิ ฉันนั้น.

[๓๐๖] คำว่า ดูกรท่านผู้กล้า เจ้าทิฏฐิอยู่ที่ใด ท่านจงไปเสียจากที่นั้น ความว่า
เจ้าทิฏฐินั้นอยู่ที่ใด ท่านจงไป คือ จงดำเนิน เดินก้าวไปเสียจากที่นั้นนั่นแหละ เพราะเจ้าทิฏฐิ
นั้นเป็นคนกล้าที่เป็นศัตรู เป็นบุรุษที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรูที่เป็นข้าศึก เป็นนักรบที่เป็นปฏิปักษ์
ต่อท่าน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ดูกรท่านผู้กล้า เจ้าทิฏฐิอยู่ที่ใด ท่านจงไปเสียจากที่นั้น.

[๓๐๗] คำว่า กิเลสทั้งหลายของตถาคตมิได้มีในเบื้องต้นเพื่อจะรบ ความว่า กิเลสเหล่า
ใด อันทำความขัดขวาง ทำความเป็นข้าศึก ทำความเป็นเสี้ยนหนาม ทำความเป็นปฏิปักษ์
กิเลสเหล่านั้น มิได้มี คือ ย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ คือ เป็นบาปธรรมอันตถาคต ละ
ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ ในเบื้องต้น คือ
ที่โคนโพธิพฤกษ์. คำว่า เพื่อจะรบ คือ เพื่อประโยชน์ที่จะรบ เพื่อความทะเลาะ เพื่อความหมายมั่น
เพื่อความแก่งแย่ง เพื่อความวิวาท เพื่อความมุ่งร้าย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กิเลสทั้งหลาย
ของตถาคตมิได้มีในเบื้องต้นเพื่อจะรบ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

คนกล้าที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงด้วยของควรเคี้ยว ผู้คะนองปรารถนาคน
กล้าที่เป็นศัตรู ย่อมพบคนกล้าที่เป็นศัตรู ฉันใด เจ้าทิฏฐิย่อมพบเจ้าทิฏฐิ
ฉันนั้น ดูกรปสูระ เจ้าทิฏฐิอยู่ที่ใด ท่านจงไปเสียจากที่นั้น กิเลส
ทั้งหลายของตถาคตมิได้มีในเบื้องต้นเพื่อจะรบ.
[ผู้มีวาทะอันข่มขี่ปรปักษ์มามากมาย ย่อมเผชิญเจ้าลัทธิอย่างหลีกไม่พ้น แต่คำสอนของพระผู้มีพระภาคมิได้มีไว้เพื่อการรบ อันความแข่งขัน แก่งแย่ง ปรารถนาตำสรรเสริญ ยกตน ดูหมิ่นผู้อื่น มุ่งร้าย มิได้มีในพระทัยของพระผู้มีพระภาคเลย พระองค์ละเสียได้ตั้งแต่ครั้งพระองค์ตรัสรู้ที่โคนโพธิพฤกษ์]

[๓๐๘] ก็ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ว ย่อมวิวาทกัน และย่อมกล่าวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง
ดังนี้ ท่านจงกล่าวกับชนเหล่านั้น เพราะกิเลสที่ทำความขัดขวางกัน
ในเมื่อวาทะเกิดแล้ว ย่อมไม่มีในที่นี้.

ว่าด้วยวิวาทกันเพราะทิฏฐิ

[๓๐๙] คำว่า ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ว ย่อมวิวาทกัน ความว่า ชนเหล่าใด ถือ คือ
จับถือ ถือเอา ถือมั่น ยึดมั่นซึ่งทิฏฐิ ๖๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมวิวาทกัน คือ
ทำความทะเลาะ ความหมายมั่น ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความมุ่งร้ายกันว่า ท่านไม่รู้
ธรรมวินัยนี้ เรารู้ธรรมวินัยนี้ ท่านจักรู้ธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติชอบ
คำของเรามีประโยชน์ คำของท่านไม่มีประโยชน์ คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวทีหลัง
คำที่ควรกล่าวทีหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน คำที่คล่องแคล่วของท่านกลับขัดข้องไป เราใส่โทษ
ท่านแล้ว ท่านถูกเราปราบแล้ว ท่านจงเที่ยวไป หรือจงแก้ไขเพื่อเปลื้องวาทะ ถ้าท่านสามารถ
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ว ย่อมวิวาทกัน.

[๓๑๐] คำว่า และย่อมกล่าวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง ดังนี้ ความว่า ย่อมกล่าว คือ
ย่อมบอก พูด แสดง แถลงว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า โลกไม่เที่ยง ฯลฯ
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง
สิ่งอื่นเปล่า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า และย่อมกล่าวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง ดังนี้.

[๓๑๑] คำว่า ท่านจงกล่าวกับชนเหล่านั้น เพราะกิเลสที่ทำความขัดขวางกันในเมื่อ
วาทะเกิดแล้ว ย่อมไม่มีในที่นี้ ความว่า ท่านจงกล่าวกับชนเหล่านั้น ผู้เป็นเจ้าทิฏฐิ คือ ท่าน
จงทำความข่มด้วยความข่ม ทำกรรมตอบด้วยกรรมตอบ ทำกรรมแปลกด้วยกรรมแปลก ทำกรรม
แปลกเฉพาะด้วยกรรมแปลกเฉพาะ ทำความผูกมัดด้วยความผูกมัด ทำความปลดเปลื้องด้วยความ
ปลดเปลื้อง ทำความตัดด้วยความตัด ทำความขนาบด้วยความขนาบ ชนเหล่านั้น เป็นคนกล้า
ที่เป็นศัตรู เป็นบุรุษที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรูที่เป็นข้าศึก เป็นนักรบที่เป็นปฏิปักษ์ต่อท่าน
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านจงกล่าวกับชนเหล่านั้น.

คำว่า เพราะกิเลสที่ทำความขัดขวางกันในเมื่อวาทะเกิดแล้ว ย่อมไม่มี ความว่า เมื่อ
วาทะเกิดแล้ว เกิดพร้อม บังเกิด บังเกิดเฉพาะ ปรากฏแล้ว กิเลสเหล่าใดที่ทำความขัดขวาง
กัน ความขัดแย้งกัน ความเป็นเสี้ยนหนามกัน ความเป็นปฏิปักษ์กัน พึงทำความทะเลาะ
หมายมั่น แก่งแย่ง วิวาท มุ่งร้ายกัน กิเลสเหล่านั้นย่อมไม่มี คือ ย่อมไม่มีพร้อม ไม่ปรากฏ
ไม่เข้าไปได้ ย่อมเป็นบาปธรรมอันตถาคต ละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น
เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านจงกล่าวกับชนเหล่านั้น เพราะกิเลส
ที่ทำความขัดขวางกันในเมื่อวาทะเกิดแล้ว ย่อมไม่มีในที่นี้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า

ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ว ย่อมวิวาทกัน และย่อมกล่าวว่า สิ่งนี้
เท่านั้นจริง ดังนี้ ท่านจงกล่าวกับชนเหล่านั้น เพราะกิเลสที่ทำความ
ขัดขวางกันในเมื่อวาทะเกิดแล้ว ย่อมไม่มีในที่นี้.
[แต่หากท่านเป็นผู้ละได้แล้วซึ่งกิเลสทั้งหลาย จงกล่าวเถิดต่อหน้าผู้มีวิวาทะกับท่าน เพราะว่าท่านไม่มีความมุ่งร้าย ไม่มีความดูหมิ่น ความยกตน ตลอดจนความหลงผิดทั้งปวง]

[๓๑๒] ก็พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด กำจัดเสนาแล้ว ไม่กระทบทิฏฐิด้วยทิฏฐิ
ย่อมเที่ยวไป ดูกรปสูระ ท่านจักได้อะไรในพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น
ผู้ไม่มีความถือว่า สิ่งนี้ประเสริฐ.

ว่าด้วยมารเสนา

[๓๑๓] พึงทราบอธิบายในคำว่า ก็พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด กำจัดเสนาแล้ว ...
ย่อมเที่ยวไป ดังต่อไปนี้ มารเสนา เรียกว่าเสนา. กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ราคะ
โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่
ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา
ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง
ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง เป็นมารเสนา.

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า กิเลสกาม เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่หนึ่งของท่าน ฯลฯ
ส่วน (คนกล้าย่อมชนะได้) ครั้นชนะแล้ว ย่อมได้สุข ดังนี้. เมื่อใด มารเสนาทั้งหมด และ
กิเลสอันทำความเป็นปฏิปักษ์ทั้งหมด อันบุคคลนั้นชนะแล้ว ไม่แพ้แล้ว ทำลายเสีย กำจัด
เสีย ทำให้ไม่สู้หน้าแล้ว ด้วยอริยมรรค ๔ เมื่อนั้น บุคคลนั้นเรียกว่า เป็นผู้กำจัดเสนา. คำว่า
เหล่าใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ. คำว่า ย่อมเที่ยวไป คือ ย่อมเที่ยวไป อยู่ เปลี่ยนอิริยาบถ
ประพฤติ รักษา เป็นไป ให้อัตภาพเป็นไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ก็พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด
กำจัดเสนาแล้ว ย่อมเที่ยวไป.

[๓๑๔] คำว่า ไม่กระทบทิฏฐิด้วยทิฏฐิ ความว่า ทิฏฐิ ๖๒ อันพระอรหันตขีณาสพ
เหล่านั้นละแล้ว ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ
พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น ไม่กระทบ คือ ไม่กระทั่ง ไม่บั่นรอน ไม่ทำลายทิฏฐิ เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ไม่กระทบทิฏฐิด้วยทิฏฐิ.

[๓๑๕] คำว่า ดูกรปสูระ ท่านจักได้อะไรในพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น ความว่า
ดูกรปสูระ ผู้กล้าหาญ ผู้เป็นบุรุษปฏิปักษ์ ผู้เป็นศัตรูปฏิปักษ์ ผู้เป็นนักรบปฏิปักษ์ ท่านจักได้
อะไรในพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ดูกรปสูระ ท่านจักได้อะไรใน
พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น.

[๓๑๖] คำว่า ผู้ไม่มีความถือว่า สิ่งนี้ประเสริฐ ความว่า ความถือ ความยึดมั่น
ความติดใจ ความน้อมใจไปว่า สิ่งนี้ประเสริฐ คือ เลิศ เป็นใหญ่ วิเศษ เป็นประธานสูงสุด
บวร ย่อมไม่มี คือ ย่อมไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้แก่พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด คือ เป็นกิเลส
อันพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้นละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้ว
ด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ไม่มีความถือว่า สิ่งนี้ประเสริฐ. เพราะเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ก็พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด กำจัดเสนาแล้ว ไม่กระทบทิฏฐิด้วยทิฏฐิ
ย่อมเที่ยวไป ดูกรปสูระ ท่านจักได้อะไรในพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น
ผู้ไม่มีความถือว่า สิ่งนี้ประเสริฐ.
[พระอรหันตขีนาสพเจ้าผู้ไม่ยึดถือในความเห็นใดๆเลย ตลอดจนไม่ยึดถือว่าสิ่งใดดียิ่ง เป็นเลิศ ท่านกำจัดเสียได้แล้วซึ่งกิเลสทั้งหลายอันเป็นเสนาแห่งมาร ท่านจะหวังความเฟื่องฟูใจใดเล่าจากพระอรหันตขีนาสพเจ้าเหล่านั้น]

[๓๑๗] ก็ท่านตรึกคิดถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจมาแล้ว ท่านมาแข่งคู่ด้วยพระพุทธ
เจ้า ผู้มีปัญญาชื่อโธนา ท่านไม่อาจเพื่อเทียมทันได้เลย.

ว่าด้วยพระปัญญาของพระพุทธเจ้า

[๓๑๘] บทว่า อถ ในคำว่า ก็ท่านตรึก ... มาแล้ว เป็นบทสนธิ เป็นบทเกี่ยวเนื่อง
เป็นบทบริบูรณ์ เป็นศัพท์ประชุมอักษร เป็นศัพท์ทำพยัญชนะให้สละสลวย บทว่า อถ นี้
เป็นลำดับบท. คำว่า ท่านตรึก ... มาแล้ว คือ ท่านตรึก ตรอง ดำริ คือ ตรึก ตรอง
ดำริอย่างนี้ว่า เราจักมีชัยหรือไม่หนอ หรือเราจักปราชัย เราจักข่มเขาอย่างไร จักทำลัทธิ
ของเราให้เชิดชูอย่างไร จักทำลัทธิของเราให้วิเศษอย่างไร จักทำลัทธิของเราให้วิเศษเฉพาะ
อย่างไร จักทำความผูกพันเขาอย่างไร จักทำความปลดเปลื้องอย่างไร จักทำความตัดรอน
วาทะเขาอย่างไร จักขนาบวาทะเขาอย่างไร ดังนี้ เป็นผู้มาแล้ว คือ เข้ามา มาถึง มา
ประจวบแล้วกับเรา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ก็ท่านตรึก ... มาแล้ว.

[๓๑๙] ชื่อว่า ใจ ในคำว่า คิดถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ ความว่า ใจ คือ จิต ใจ
มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณ
ธาตุที่เกิดแต่ผัสสะเป็นต้นนั้น. ท่านคิดนึกถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยจิตว่า โลกเที่ยงบ้าง โลกไม่
เที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า คิดถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ.

[๓๒๐] พึงทราบอธิบายในคำว่า ท่านมาแข่งคู่ด้วยพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาชื่อโธนา
ท่านไม่อาจเพื่อเทียมทันได้เลย ดังต่อไปนี้ ปัญญา เรียกว่าโธนา ได้แก่ ความรู้ ความรู้ทั่ว ฯลฯ
ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม ความเห็นชอบ. เพราะเหตุไร ปัญญาจึงเรียกว่าโธนา. เพราะ
ปัญญานั้น เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งกายทุจริต ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวง.
อีกอย่างหนึ่ง สัมมาทิฏฐิเป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งมิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาวิมุติ
เป็นเครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งมิจฉาวิมุติ. อีกอย่างหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็น
เครื่องกำจัด ล้าง ชำระ ซักฟอกซึ่งอกุศลทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง
ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง. พระผู้มีพระภาคเข้าถึง
เข้าถึงพร้อมแล้ว เข้าไป เข้าไปพร้อมแล้ว เข้าชิด เข้าชิดพร้อมแล้ว ประกอบแล้วด้วยธรรมทั้ง
หลายอันเป็นเครื่องกำจัดนี้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่า มีปัญญาเป็นเครื่องกำจัด.
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงกำจัดราคะ บาป กิเลส ความเร่าร้อนเสียแล้ว เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า มีปัญญาเป็นเครื่องกำจัด.

คำว่า ท่านมาแข่งคู่ด้วยพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาชื่อโธนา ท่านไม่อาจเพื่อเทียมทันได้เลย
ความว่า ปสูรปริพาชก ไม่อาจมาแข่งคู่ คือ มาเพื่อถือคู่ เพื่อสนทนาปราศรัยโต้ตอบกับ
ด้วยพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้มีปัญญาชื่อโธนา. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร. เพราะ
ปสูรปริพาชกเป็นคนเลว ทราม ต่ำช้า ลามก สกปรก ต่ำต้อย. ส่วนพระผู้มีพระภาคพระ
องค์นั้น เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นประธาน บวร. ปสูรปริพาชกไม่อาจมาแข่งคู่ คือ
มาเพื่อถือคู่ เพื่อสนทนาปราศรัยโต้ตอบกับด้วยพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้มีปัญญา
ชื่อโธนา เปรียบเหมือนกระต่ายไม่อาจมาแข่งคู่ คือ มาเพื่อถือคู่กับด้วยช้างใหญ่ซับมัน
เหมือนสุนัขจิ้งจอกแก่ ไม่อาจมาแข่งคู่ คือ มาเพื่อถือคู่กับด้วยสีหะผู้เป็นมฤคราช เหมือนลูก
โคตัวเล็กยังดื่มน้ำนม ไม่อาจมาแข่งคู่ คือ มาเพื่อถือคู่กับด้วยโคใหญ่ผู้มีกำลังมาก เหมือนกา ไม่
อาจมาแข่งคู่ คือ มาเพื่อถือคู่กับด้วยพวกครุฑเวนไตยโคตร เหมือนคนจัณฑาล ไม่อาจมาแข่งคู่
คือ มาเพื่อถือคู่กับด้วยพระเจ้าจักรพรรดิ และเหมือนปีศาจเล่นฝุ่น ไม่อาจมาแข่งคู่ คือ มาเพื่อถือ
คู่กับด้วยพระอินทร์ผู้เทวราชา ฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะปสูรปริพาชก มีปัญญาเลว
มีปัญญาทราม มีปัญญาต่ำช้า มีปัญญาลามก มีปัญญาสกปรก มีปัญญาต่ำต้อย. เพราะพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น มีปัญญามาก มีปัญญากว้างขวาง มีปัญญารื่นเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญา
เฉียบแหลม มีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้ฉลาดในประเภทปัญญา มีญาณแตกฉาน ทรงบรรลุ
ปฏิสัมภิทาแล้ว ถึงแล้วซึ่งเวสารัชชญาณ ๔ ทรงทศพลญาณ เป็นบุรุษผู้องอาจ เป็นบุรุษสีหะ เป็น
บุรุษนาค เป็นบุรุษอาชาไนย เป็นบุรุษนำธุระไปเป็นปกติ มีญาณหาที่สุดมิได้ มีเดชหาที่สุดมิได้
มียศหาที่สุดมิได้ เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีปัญญาเป็นทรัพย์ เป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปวิเศษ
เป็นผู้นำไปเนื่องๆ ให้รู้จักประโยชน์ ให้เพ่งพินิจ เป็นผู้เห็นประโยชน์ ให้แล่นไปด้วย
ปสาทะ. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ให้มรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ผู้ให้มรรคที่ยังไม่เกิด
พร้อมให้เกิดพร้อม ผู้ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรงรู้ซึ่งมรรค ทรงทราบซึ่งมรรค ทรง
ฉลาดในมรรค. ก็แหละในบัดนี้ พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ดำเนิน
ตามมรรคอยู่ เป็นผู้ประกอบด้วยสีลาทิคุณ ในภายหลัง. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้
ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรมเป็นพรหม เป็นผู้
ตรัสบอก เป็นผู้แนะนำ เป็นผู้นำออกซึ่งอรรถ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นพระธรรมสามี เป็น
พระตถาคต. สิ่งที่ไม่รู้ สิ่งที่ไม่เห็น สิ่งที่ไม่ทราบชัด สิ่งที่ไม่ทำให้แจ้ง สิ่งที่มิได้ถูกต้องด้วย
ปัญญา ย่อมไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น. ธรรมทั้งปวง รวมทั้งอดีต อนาคต และ
ปัจจุบัน ย่อมมาสู่คลองในมุขะคือพระญาณของพระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสรู้แล้วโดยอาการทั้งปวง.
ชื่อว่าประโยชน์ที่ควรแนะนำทุกๆ อย่าง อันชนควรรู้มีอยู่ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น
ประโยชน์ทั้ง ๒ อย่าง ประโยชน์ในชาตินี้ ประโยชน์ในชาติหน้า ประโยชน์ตื้น ประโยชน์ลึก
ประโยชน์ที่ลี้ลับ ประโยชน์ปกปิด ประโยชน์ที่ควรแนะนำ ประโยชน์ที่บัณฑิตแนะนำแล้ว
ประโยชน์ที่ไม่มีโทษ ประโยชน์ที่ไม่มีกิเลส ประโยชน์อันผ่องแผ้ว ประโยชน์อย่างยิ่ง
ประโยชน์ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ. กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทั้งหมด
ย่อมเป็นไปตามพระญาณของพระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสรู้แล้ว. พระญาณของพระผู้มีพระภาค ผู้ตรัส
รู้แล้ว มิได้ขัดข้องในอดีต อนาคต ปัจจุบัน. บทธรรมที่ควรแนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น
พระญาณเท่าใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็เท่านั้น พระญาณมีส่วนสุดรอบแห่งบทธรรมที่ควร
แนะนำ บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีส่วนสุดรอบแห่งพระญาณ. พระญาณย่อมไม่เป็นไปเกินบท
ธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มิได้เกินพระญาณไป. ธรรมทั้งหลายนั้น
มีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน. เมื่อชั้นผะอบ ๒ ชั้น ปิดสนิทพอดีกัน ชั้นผะอบ
ข้างล่างก็ไม่เกินชั้นผะอบข้างบน ชั้นผะอบข้างบนก็ไม่เกินชั้นผะอบข้างล่าง ชั้นผะอบทั้ง ๒
มีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน ฉันใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็ดี พระญาณก็ดี
ของพระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสรู้แล้ว มีความตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน บทธรรมที่ควร
แนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น พระญาณเท่าใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็เท่านั้น พระญาณมี
ส่วนสุดรอบแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำ บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีส่วนสุดรอบแห่งพระญาณ พระ
ญาณย่อมไม่เป็นไปเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มิได้เกินพระญาณไป
ธรรมเหล่านั้น มีความตั้งอยู่ในที่สุดรอบของกันและกัน ฉันนั้น. พระญาณของพระผู้มีพระภาค
ผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปในธรรมทั้งสิ้น. ธรรมทั้งสิ้น เนื่องด้วยความนึก เนื่องด้วยความหวัง
เนื่องด้วยมนสิการ เนื่องด้วยจิตตุบาท แห่งพระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสรู้แล้ว. พระญาณของพระผู้
มีพระภาค ผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปในสัตว์ทั้งปวง. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบอัธยาศัย อนุสัย
จริต อธิมุติ แห่งสัตว์ทั้งปวง ย่อมทรงทราบซึ่งเหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักขุ มีกิเลส
ธุลีมากในญาณจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ควรแนะนำ
ได้โดยง่าย ผู้แนะนำได้โดยยาก เป็นภัพพสัตว์ เป็นอภัพพสัตว์. โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ. ปลา
และเต่าทุกชนิด รวมทั้งปลาติมิ ปลาติมิงคละ และปลาติมิติมิงคละ โดยที่สุด ย่อมเป็นไปใน
ภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ ฉันนั้น. นกทุกชนิด
รวมทั้งครุฑเวนไตยโคตร โดยที่สุด ย่อมเป็นไปในประเทศอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวก
ผู้เสมอด้วยพระสารีบุตรเถระโดยปัญญา ย่อมเป็นไปในประเทศแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้น.
พระพุทธญาณ ย่อมแผ่คลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตั้งอยู่. พวกบัณฑิต ผู้เป็นกษัตริย์
พราหมณ์ คหบดี สมณะ มีปัญญาละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูยิงขนหางสัตว์แม่น
เที่ยวไปดุจทำลายทิฏฐิของผู้อื่นด้วยปัญญาของตน บัณฑิตเหล่านั้น ปรุงแต่งปัญหาแล้ว เข้าไปเฝ้า
พระตถาคต ทูลถามปัญหา. ปัญหาเหล่านั้น อันพระผู้มีพระภาคตรัสย้อนถามและตรัสแก้แล้ว
เป็นปัญหามีเหตุที่ทรงแสดงออกและทรงสลัดออก. บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมเลื่อมใสต่อพระผู้มี
พระภาค. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงไพโรจน์ยิ่งด้วยพระปัญญาในที่นั้นโดยแท้แล เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ท่านมาแข่งคู่ด้วยพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาชื่อโธนา ท่านไม่อาจเทียมทันได้เลย. เพราะ
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ก็ท่านตรึกคิดถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจมาแล้ว ท่านมาแข่งคู่ด้วยพระพุทธ
เจ้า ผู้มีปัญญาชื่อโธนา ท่านไม่อาจเพื่อเทียมทันได้เลย.
[ความเห็นทั้งหลายที่ท่านไตร่ตรองมา ท่านยึดถือมานั้น ย่อมไม่อาจเทียบทันพระปัญญาอันยิ่งของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เลย]

จบ ปสูรสุตตนิทเทสที่ ๘.

**********************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 05 มิถุนายน 2549
0 comments
Last Update : 5 มิถุนายน 2549 23:40:09 น.
Counter : 473 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.