อ่านเรื่อยๆ มาเรียง ๆ ทุกวันของ หนี่งหน่อง นะครับ

‘ทำไมคนชอบฟังเรื่องผี?’ กับ 4 เหตุผลทางจิตวิทยา และสังคม

‘ทำไมคนชอบฟังเรื่องผี?’ กับ 4 เหตุผลทางจิตวิทยา และสังคม 

                

เดี๋ยวนี้การฟังเรื่องผีกลายมาเป็นกิจกรรมทั้งในยามว่าง และยามไม่ว่างของหลายคน ภาพลักษณ์ของเรื่องผีที่เป็นเรื่องสยองขวัญถูกปรับเปลี่ยนตามค่านิยมตามยุคใหม่ และถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิงในมุมมองใหม่ และยังคงมอบความสยองขวัญ แต่ในรูปแบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าจะเป็นคนกลัวผีก็ตาม

เห็นได้จากยอดการเติบโตของเหล่า เดอะโกสเตอร์ จากช่อง The Ghost Radio หรือช่องจำนวนมากที่ผลิตรายการเล่าเรื่องผีออกมามากมาย เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์การฟังเรื่องผีในทุกที่ทุกเวลา เวลาขับรถ เวลาทำงาน หรือแม้แต่ก่อนนอน จากเดิมที่รายการผีตามโทรทัศน์จะต้องมาหลังละครหลังข่าวจบ พร้อมกับความรู้สึกกลัว และอยากดูในเวลาเดียวกัน

สิ่งที่น่าสนใจของปรากฏการณ์นี้ คือ เรื่องสยองขวัญ เรื่องผี เรื่องคุณไสยมนตร์ดำ และเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติในสังคมไทยสามารถเติบโตไปพร้อมวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่มาพร้อมกับคนเจเนเรชันใหม่ได้อย่างลงตัว ว่าแต่ทำไมเรื่องผีที่เคยน่ากลัวจนต้องหลับตาปิดหูถึงกลายมาเป็นเรื่องที่สามารถฟังได้ทุกที่ทุกเวลาแบบนี้กันนะ บทความนี้รวบรวมทฤษฎีด้านจิตวิทยา และสังคมที่มีคนอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้ได้อ่านกัน 
                                         4 เหตุผลที่อธิบายว่าทำไมคนชอบฟังเรื่องผี 
                                                                 A Ghost Story (2017)  
คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกหลงใหลในเรื่องราวอันแปลกประหลาดที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ จนบางครั้งอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักเหตุผล หรือถูกเรียกว่าไร้สาระเลยก็ว่าได้ ซึ่งทฤษฎีทางจิตวิทยา และองค์ความรู้ด้านสังคมวัฒนธรรมอาจใช้ในการอธิบายเหตุการณ์นี้ได้ 
                                              เหตุผลที่ 1: ความกระหายใคร่รู้ที่ไม่ถูกเติมเต็ม 

ความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ถูกฝังอยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์ ที่ทำให้เราศึกษา และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จนวิวัฒนาการได้เร็วกว่าสัตว์อื่น ซึ่งเรื่องลึกลับที่มนุษย์คุ้นเคยมาแต่โบราณก็เป็นหนึ่งในความกระหายใคร่รู้ของมนุษย์ที่ไม่เคยถูกเติมเต็มด้วยการพิสูจน์ หรืออธิบายได้อย่างชัดเจน มนุษย์ทำได้เพียงตั้งสมมติฐาน และทฤษฎีต่าง ๆ ออกมาในรูปแบบของปรัชญา เรื่องเล่า หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่าผีคืออะไร? โลกหลังความตายมีจริงรึเปล่า?

การฟังเรื่องผีได้นำพามนุษย์ล่องลอยไปในห้วงความไม่รู้ที่ไม่รู้จบ ซึ่งนั่นเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์มากขึ้นกว่าเดิมจนกลายเป็นความหลงใหล อีกด้านหนึ่งเรื่องราวสยองขวัญมักมีปม และการหักมุมบางอย่างที่ทำให้เรื่องราวดูน่าสนใจ น่าติดตาม และอาจเป็นอีกผลหนึ่งที่หลายคนฟังเรื่องผีได้ตลอดเวลา 
                                  เหตุผลที่ 2: สารเคมีในสมองเมื่อเกิดความกลัว  

ความกลัวเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเราได้ฟังเรื่องผี เมื่อตัวละครในเรื่องเล่าสยองขวัญเจอกับวิญญาณมักจะต้องเผชิญกับความกลัว ตื่นตระหนก และสับสนเกินจินตนาการ เหงื่อออก ตัวเย็น ก้าวขาไม่ออก ไปจนถึงการเป็นลมล้มพับไป

ซึ่งการฟังเรื่องผีช่วยให้คุณเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีคนมาเล่าโดยที่คุณไม่ต้องไปเผชิญกับความอันตรายที่ลึกลับนั้นด้วยตัวเอง เมื่อถึงจุดที่เกิดความตื่นเต้นสมองของเราจะหลั่งสารสื่อประสาท อย่างอะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมาทำให้หัวใจเต้นเร็ว เลือดสูบฉีดมากขึ้น รู้สึกลุ้นระทึก เลือดไหลเวียนไปที่สมองมากขึ้นเพื่อหาทางออกร่วมกับตัวละคร

เมื่อช่วงเวลานั้นผ่านพ้นไปได้ สมองเราจะหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) หรือฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาเพื่อเฉลิมฉลองการรอดพ้นจากช่วงเวลาที่น่ากลัวมาได้ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และโล่งใจ การฟังเรื่องผีจึงเหมือนโรลเลอร์โคสเตอร์ทางอารมณ์ที่ทั้งแม้ระทึก และน่ากลัว แต่กลับทำให้ตื่นเต้น กระชุ่มกระชวย และรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก แม้ว่าในช่วงเวลาที่ฟังจะรู้สึกกลัวมากก็ตาม 

                          เหตุผลที่ 3: ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณที่ฝังลึก 

หากพูดถึงความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะความเชื่อเรื่องผี ศาสนา หรือความเชื่อเรื่องอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หยั่งรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของเราทุกคน เราเห็นศาลพระภูมิทุกครั้งที่ออกจากหมู่บ้าน เราชื่นชอบการดูดวง เราทำพิธีศพตามหลักศาสนา แม้ไม่ได้มีความเชื่อเรื่องศาสนา เราจะนึกถึงน้ำแดง ผ้า 3 สี ชุดสไบ และตุ๊กตานางรำในทันทีที่พูดว่า ‘ต้นไทร’ ทั้งที่ต้นไทรก็เป็นไม้ใหญ่ชนิดหนึ่งที่พบได้ในประเทศร้อนชื้น 
                                    ต้นไทร ต้นไม้เกี่ยวกับความเชื่อของคนไทย

ในทฤษฎีการสื่อสาร มีสิ่งที่เรียกว่า ‘Field of Experience’ หรือ ‘พื้นฐานประสบการณ์’ ซึ่งช่วยให้คนที่มีประสบการณ์ร่วมกันสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนที่มาเล่าเรื่องผีก็เป็นคนไทยที่เล่าเรื่องผีด้วยคติความเชื่อแบบไทย ผู้รับสารก็เป็นคนไทย จึงทำให้ผู้ฟังสามารถผสานตัวเองเข้ากับเรื่องราวของผู้เล่าได้อย่างไร้รอยต่อ

นอกจากวัฒนธรรมความเชื่อที่ฝังลึกแล้ว ตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง และวิถีปฏิบัติแบบไทย ๆ ก็เป็นสิ่งที่คนไทยด้วยกันเองสามารถเชื่อมต่อ เข้าถึงได้ และจินตนาการได้ไม่ยาก แม้จะเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน 
                         เหตุผลที่ 4: หลีกหนีความเป็นจริงสู่ความบันเทิงของเรื่องเล่า 

การฟังเรื่องผี หรือเรื่องลี้ลับเหมือนกับการดูหนัง ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือที่จะช่วยพาคุณหลบหนีจากโลกความเป็นจริงที่แสนเครียด หรือชวนให้อารมณ์หม่นหมอง ไปสู่สิ่งที่อยู่ในโลกของสื่อ โลกของจินตนาการที่คุณไม่ต้องเครียด ไม่ต้องตัดสินใจ แถมยังสนุกอีกด้วย

นอกจากความสนุก และความผ่อนคลายที่ได้จากเรื่องผีแล้ว คุณยังเพลินไปกับสไตล์การเล่าของผู้เล่าแต่ละคน ความแปลกใหม่ของเรื่องราว ไหวพริบในการแก้ไขปัญหา เกร็ดความรู้ รวมไปถึงแง่คิดบางอย่างที่สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนชอบฟังเรื่องผี 
                                       ทำไมการฟังเรื่องผีช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น?  

หากพอดแคสต์ และเสียงฝนไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของการกล่อมนอน เรื่องผีอาจพอช่วยได้ หากไปดูในช่องคอมเมนต์ หรือสอบถามคนที่ชอบฟังเรื่องผีบางคนจะพบว่าคนเหล่านั้นเปิดฟังเรื่องระทึกขวัญเหล่านี้ในช่วงก่อนนอน ซึ่งดูเหมือนว่าจะทำให้บางคนหลับได้ง่ายขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่เฉพาะเจาะจงที่บอกว่าทำไมเรื่องผีที่น่าจะทำให้กลัวจนนอนไม่หลับถึงทำให้บางคนหลับได้ง่ายกว่าเดิม แต่อาจพออธิบายได้ด้วยทฤษฎีง่าย ๆ อย่าง ASMR หรือระบบของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเสียงเล่าที่มีความดังพอดี ประกอบกับดนตรีในเรื่องเหล่าที่คลอไปอาจช่วยผ่อนคลายความคิดในช่วงก่อนนอน และพาให้ผู้ฟังเข้าสู่นิทราได้

อีกเหตุผลอาจมาจากการเปิดเสียงอะไรก็ตามไว้ใกล้ตัวในช่วงก่อนนอนจะช่วยตัดเสียงรบกวนจากภายนอก เช่น เสียงรถบนถนน เสียงพูดคุยจากห้องถัดไป และทำให้หลับได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

ในขณะเดียวกันทฤษฎีเหล่านี้อาจนำมาใช้อธิบายว่าทำไมบางคนถึงฟังเวลาทำงานได้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งเสียงการเล่าจะช่วยตัดปัจจัยภายนอกที่รบกวนสมาธิ ช่วยให้คุณโฟกัสงาน และเสียงเรื่องเล่าเพียงสองอย่างเท่านั้นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพื่อหาเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมเรื่องผีถึงสร้างความสงบ สมาธิ และความผ่อนคลายให้กับสมองได้

จากทั้งหมดนี้พอจะเห็นได้ว่าเรื่องผี และเรื่องเล่าเหนือธรรมชาตินั้นเชื่อมโยงกับมนุษย์ในหลายด้าน ทั้งในด้านความเชื่อ วัฒนธรรม จิตวิทยา และการใช้ชีวิต ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าทำไมคนถึงชอบฟังเรื่องผี และสามารถฟังได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างที่เราได้เห็นกันแบบทุกวันนี้ นอกจากเหตุผลเหล่านี้แล้ว การฟังเรื่องผียังสามารถเชื่อมผู้คนที่เข้าหากันด้วยเรื่องเล่าที่เคยฟังเหมือนกัน เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกิดการพัฒนาด้านความสัมพันธ์ทางสังคมได้ด้วย

สุดท้ายนี้ การฟังเรื่องผีจึงเป็นกิจกรรมที่กลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนยุคนี้ ไม่ต่างจากการฟังเพลง หรือดูหนัง และสามารถผ่อนคลายความเครียดได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรฟังอย่างมีวิจารณญาณ และฟังเพื่อความบันเทิงเท่านั้น 

                                                        ที่มา: 12345  

 

                                                     พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส

 

 


 




 

Create Date : 30 มกราคม 2567    
Last Update : 30 มกราคม 2567 11:09:32 น.
Counter : 354 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

จาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” แล้วทำไม “ไทย” จึงต้องมี “ย”

จาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” แล้วทำไม “ไทย” จึงต้องมี “ย” 

กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง (ลายเส้นฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1873) 

“ไท” เป็นชื่อของกลุ่มชนที่ใช้ภาษาตระกูลไท รวมถึงกลุ่มชนบางส่วนในภาคอีสานของอินเดีย (อาหม) ที่ปัจจุบันมิได้พูดภาษาตระกูลไทแล้ว และชาวไทยในประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไทเช่นกัน ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศ “สยาม” กลายมาเป็นประเทศ ไทย ด้วยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องการเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับ “เชื้อชาติ” ของคนในประเทศ

คำแถลงต่อสภาในปี พ.ศ. 2482 ของจอมพล ป. หรือ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ตามยศถาบรรดาศักดิ์ในขณะนั้น ถึงเหตุที่ต้องเปลี่ยนชื่อประเทศมีอยู่ว่า 

“…นามประเทศของเราที่ใช้เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ได้ด้วยความเคยชิน หรือได้จดจำเรียกกันต่อๆ มา และได้พยายามให้เจ้าหน้าที่ค้นในทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ปรากฏว่า ใครเป็นคนที่ได้ตั้งขึ้นคราวแรก และตั้งแต่ครั้งใดก็ไม่ทราบ เป็นแต่ว่าเราได้เรียกมาเรื่อยๆ เรียกว่าประเทศสยาม และคำว่า ประเทศสยามนั้น ก็มักจะใช้แต่ในวงราชการ และนอกจากนั้นก็ในวงของชาวต่างประเทศเป็นส่วนมาก ส่วนประชาชนคนไทยของเราโดยทั่วไป เฉพาะอย่างยิ่งตามชนบทด้วยแล้ว เราจะไม่ค่อยใช้คำว่า ประเทศสยาม เราใช้คำว่าไทย…”

“…การที่เราได้เปลี่ยนให้ขนานนามว่า ประเทศไทยนั้น ก็เพราะเหตุว่าได้พิจารณาดูเป็นส่วนมากแล้วนามประเทศนั้น เขามักเรียกกันตามเชื้อชาติของชาติที่อยู่ในประเทศนั้น เพราะฉะนั้นของเราก็เห็นว่าเป็นการขัดกันอยู่ เรามีเชื้อชาติเป็นชาติไทย แต่ชื่อประเทศของเราเป็นประเทศสยาม จึงมีนามเป็นสองอย่าง ดังนี้ ส่วนมากในนานาประเทศเขาไม่ใช้กัน…”

อีกเหตุผลสำคัญของจอมพล ป. ที่ “สยาม” จำต้องเปลี่ยนเป็น “ไทย” ก็เพราะเกรงว่า หากยังคงชื่อสยามไว้ ภายหลังอาจมีชนชาติอื่นอพยพเข้ามามากขึ้นแล้ว “ประเทศสยาม” อาจถูกชนชาตินั้นๆ อ้างเอาได้ว่า ประเทศนี้เป็นของตน

อย่างไรก็ดี คำแถลงของจอมพล ป. ไม่ได้บอกถึงเหตุผลว่าทำไมคำว่า “ไทย” ใน ชนชาติไทยที่ตนอ้างถึงจึงต้องมี “ย” ด้วย 
โปสเตอร์วัฒนธรรมไทย สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม (ภาพจากหนังสือ อนุสรณ์ ครบรอบ ๑๐๐ ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐) 

แต่เบาะแสอันเป็นสาเหตุนั้น ปรากฏอยู่ในบทความ “เนื่องด้วยประวัติศาสตร์ชาติไทย” โดย สมภพ ภิรมย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรที่กล่าวว่า ก่อนจะมีตกลงใช้คำว่า “ไทย” เป็นชื่อประเทศแทนคำว่า “สยาม” นั้น ได้มีการถกเถียงกันในสภามาก่อน โดยผู้ที่สนับให้ใช้คำว่า “ไทย” มี “ย” เป็นผู้ชนะในการลงมติไปด้วยคะแนนเสียง 64 ต่อ 57 ด้วยเหตุผลว่า

“‘ไทย มี ย เปรียบเหมือนผู้หญิงที่ดัดคลื่นแต้มลิปสติค เขียนคิ้ว ส่วนไทย ไม่มี ย เปรียบเหมือนผู้หญิงที่งามโดยธรรมชาติ แต่ไม่ได้ตกแต่ง’ จาก น.ส.พ. สุภาพบุรุษ 30 กันยายน 2482 (จากหนังสือชุดประวัติศาสตร์ไทย “เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2” โดย แถมสุข นุ่มนนท์ หน้า 33)”

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ สมภพกล่าวว่าตน “รู้สึกงงและจะขับขันก็ทำไม่ได้ถนัดได้เพียงปลงอนิจจัง” ก่อนกล่าวว่า การจะใช้คำว่า “ไท หรือ ไทย” นั้น “ควรต้องอาศัยหลักภาษาศาสตร์ หลักอักษรศาสตร์ และหลักนิรุกติศาสตร์ เป็นข้อพิจารณาเป็นข้อตัดสินตกลงใจทางวิชาการ มิใช่การออกเสียงเอาชนะกันในสภาผู้แทนราษฎร”

ภายหลังการเปลี่ยนชื่อประเทศ ราชบัณฑิตยสถานจึงได้บัญญัติความหมายของคำว่า “ไท” และ “ไทย” ไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 โดยให้คำว่า “ไท” แปลว่า “ไทย” ได้หนึ่งความหมาย และ “ผู้เป็นใหญ่” ในอีกหนึ่งความหมาย ส่วนคำว่า “ไทย” แปลว่า “ชื่อประเทศและชนชาติที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…; ความมีอิสระในตัว, ความไม่เป็นทาส;…” 
ซึ่งการให้ความหมายของราชบัณฑิต ดูจะขัดกับความรู้สึกคนทั่วไปที่มักใช้คำว่า “ไท” แทนความหมายถึงการมีอิสรภาพ และการไม่เป็นทาสมากกว่า คำว่า “ไทย” 
        ที่มา : สยาม มาเป็น ไทย แล้วทำไมคำว่า ไทย จึงต้องมีตัว “ย” (silpa-mag.com) 
 


 




 

Create Date : 30 มกราคม 2567    
Last Update : 30 มกราคม 2567 10:52:50 น.
Counter : 49 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

ห้างดังระดับตำนาน สู้เศรษฐกิจไม่ไหว ประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่ 11,000 คน

ห้างดังระดับตำนาน สู้เศรษฐกิจไม่ไหว ประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่ 11,000 คน 

เรียกได้ว่าสร้างความระส่ำหนัก กรณีที่ จอห์น ลิวอิส แอนด์ พาร์ทเนอร์ ( John Lewis & Partner) ยักษ์เครือข่ายห้างสรรพสินค้าชื่อดังระดับตำนานที่มีอายุมายาวนานถึง 160 ปีในสหราชอณาจักร ประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่ราว 10% ขึ้นไป หรือกว่า 11,000 คนจากพนักงานทั้งหมด โดยจะเป็นการทยอยปลดเริ่มต้นปีนี้จนถึงปี 2028 

โดยมีรายงานเพิ่มเติมว่าพนักงานที่เข้าข่ายถูกปลดในครั้งนี้ ประกอบด้วย พนักงานประจำระดับสำนักงาน พนักงานในห้างสรรพสินค้าทุกสาขา พนักงานในซุปเปอร์มาร์เก็ต เมื่อปลดได้ครบตามเป้าหมาย จะไม่มีนโยบายรับพนักงานใหม่เพิ่มแต่อย่างใด

ฝ่ายบริหารของห้างสรรพสินค้าจอห์น ลิวอิส แอนด์ พาร์ทเนอร์ เปิดเผยต่อไปว่า ธุรกิจของห้างฯ ตั้งเป้าหมายในการสร้างผลกำไร ด้วยการปรับจุดแข่งขันด้วยการตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยเทคโนโลยี สาขาที่ต้องปรับปรุงใหม่ และบริหารจัดการรวมถึงปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคยมีมา

ซึ่งในขณะนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรชะลอตัวต่อเนื่อง และถูกคาดการณ์ต่อไปว่าจะชะลอตัวในอนาคต เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารอังกฤษที่ยังทรงตัวในระดับสูงผู้บริโภคล้วนตัดลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การปรับตัวไปสู่การค้าปลีกออนไลน์ของห้างสรรพสินค้ามีต้นทุนสูงกว่าแพลทฟอร์มขายปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงมายาวนาน ท่ามกลางการแข่งขันด้วยกลยุทธ์ราคาที่เข้มข้นมาตลอดเวลา

 ทั้งนี้ ห้างสรรพสินค้าจอห์น ลิวอิส แอนด์ พาร์ทเนอร์ เคยประกาศเตือนเมื่อเดือนมีนาคมในปีผ่านมาว่า จำเป็นต้องปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก และยกเลิกการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2023 ให้กับพนักงานทุกคน


 




 

Create Date : 30 มกราคม 2567    
Last Update : 30 มกราคม 2567 10:41:48 น.
Counter : 55 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

การสร้างสรรค์งานไม้ที่ยอดเยี่ยม.

สำรวจโลกแห่งงานฝีมือที่ไม่มีใครเทียบได้ด้วยคอลเลกชั่นผลงานสร้างสรรค์งานไม้สุดพิเศษของเรา ผลงานแต่ละชิ้นถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเชี่ยวชาญของช่างผู้มีทักษะ แสดงให้เห็นความแม่นยำ ความคิดสร้างสรรค์ และ ความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับความงามของวัสดุธรรมชาติครับ.











เครดิตและภาพจาก https://www.klyker.com




 

Create Date : 29 มกราคม 2567    
Last Update : 29 มกราคม 2567 13:36:42 น.
Counter : 94 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

แผนภูมิสุ่มและแผนที่ที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ.

คุณสนใจที่จะค้นพบแผนภูมิ และ แผนที่ที่น่าสนใจซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลที่น่าสนใจหรือไม่? ไม่ต้องมองอีกต่อไป?.












เครดิตภาพจาก https://www.klyker.com

 




 

Create Date : 29 มกราคม 2567    
Last Update : 29 มกราคม 2567 12:59:44 น.
Counter : 80 Pageviews.  
(โหวต blog นี้) 

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  

หนี่งหน่อง
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




pub-1485477287124314
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add หนี่งหน่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.