โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย

ร้านหนังสือ : ทำไม... "สามัญชน" ต้อง "ท้าชน" ยักษ์!

หลังจากที่ลากยาวเรื่อง "เคล็ดไทย" หันมารุกตลาดค้าปลีก ด้วยการทำร้านหนังสือ..ปรากฏว่าเรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร เล่นเอาคนเขียนหน้าบานเป็นจานเ

            แหม...ก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ เขียนไปก็ด้วยความรักและห่วงใย เบาบ้างแรงบ้างก็หวังว่า "ขาใหญ่" ทั้งหลายจะให้อภัยและไม่หมั่นไส้ไปกว่าเดิม (ฮา)
            ด้วยทิ้งท้ายเอาไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะแวะไปจับเข่าคุยกับ ดอนเวียง หรือ เวียง-วชิระ บัวสนธิ์ เจ้าของสำนักพิมพ์สามัญชน ที่ตอนนี้ขยับตัวมารุกด้านธุรกิจค้าปลีกเหมือนกันด้วยการเปิดร้านหนังสือสามัญชน ที่หน้าห้างคาร์ฟูร์ สาขาอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่


             ด้วยความสงสัยว่าสำนักพิมพ์มืออาชีพที่ไม่เคยแสดงท่าทีความอยากจะเป็นเจ้ายุทธจักรค้าปลีกหนังสือ...ทำไม "ดอนเวียง" ถึงหันมาสนใจลงทุนในสภาวะเศรษฐกิจดิ่งนรกอย่างนี้

              ผมเลยแอบย่องไปดูกับตาตัวเอง เห็นแล้วก็เบาใจ เพราะร้านหนังสือของพี่ท่านอยู่ในทำเลทองคำหน้าห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ ร้านหนังสือถูกรายรอบไปด้วยสำนักงานธนาคารหลายแห่ง ...ซึ่งพอจะเป็นสิ่งการันตีได้ว่า น่าจะมีลูกค้า เพราะว่าทำเลที่ธนาคารไปตั้งมักจะเป็นที่โอ่อ่า เป็นหน้าเป็นตาของสถานที่แห่งนั้น ไม่มีใครอุตริให้ธนาคารไปตั้งอยู่หลังห้างหรือว่าในที่ลับตาคนหรอกครับ  ฉะนั้น เรื่องทำเลที่ตั้งร้านหนังสือสามัญชน กินขาด!!


             คราวนี้เรื่องการออกแบบร้านก็ต้องบอกว่ารสนิยมของ "ดอนเวียง" ไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว ร้านหนังสือแบบอาคารชั้นเดียว หน้าร้านเป็นกระจกใสบานใหญ่แลดูโล่งกว้างแม้ว่าจะมีต้นไม้ใหญ่ปลูกตระหง่านให้ร่มเงาอยู่
 ภายในร้านตกแต่งด้วยโทนสีน้ำตาลตัดขาวสลับดำเล็กน้อยแต่พองาม ในสไตล์เข้มขรึมแบบร้านหนังสือโมเดิร์นคลาสสิก

เก๋ไก๋ด้วยการวางถาดผลไม้ที่อุดมไปด้วย “กล้วย”และผลไม้หลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาเดินเลือกซื้อหาหนังสืออ่านกันได้กินไปดูหนังสือไปแก้หิว-รองท้องพลางก่อน แถมยังมีม้านั่งยาวให้สามารถนั่งอ่านหนังสือ พร้อมมีหมอนขวานให้เอนหลังเอกเขนกอ่านหนังสือกันได้อีก


               นี่ไงครับ....ที่ผมเรียกว่า การสร้างจุดขาย สร้างสไตล์ที่แปลกใหม่ไปจากร้านหนังสือเดิมๆ ทั่วไป ที่มุ่งการขายหนังสือ ขายสินค้าให้มากที่สุด ไม่ค่อยเล่นกับความรู้สึกของลูกค้า

               แต่ร้านหนังสือสามัญชน ไม่สนใจที่จะทำการค้าแบบเต็มสูบ ผมเข้าใจว่า "ดอนเวียง" คงจะเครียดถ้าร้านไปได้สวยจนต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์...สู้ทำร้านหนังสือแบบสบายๆ สไตล์สามัญชนดีกว่า ไม่เครียด... อย่างมากก็แค่ปวดหัวเรื่องหาที่จอดรถเวลาจะแวะเข้าตลาดวโรรสไปซื้อแคบหมู มาให้ลูกค้านั่งเคี้ยวเพลินๆ!

              วันที่ผมแวะไปแอบดูนั้น ปรากฏว่า “ดอนเวียง” กำลังนั่งยองๆ แกะลังหนังสือจัดสินค้าเข้าชั้นอยู่พอดี เลยมีโอกาสได้สนทนากันเล็กน้อยถึงปานกลางว่า เหตุอันใด พอความรักมันเริ่มต้นจะต้องมาเริ่มต้นไกลถึงเชียงใหม่ 
 ทั้งๆ ที่กองบัญชาการอยู่ริมทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ใจกลางกรุงเทพฯ

              "ดอนเวียง" มองหน้าผมแล้วอมยิ้ม ก่อนจะสยายผมล้อลมหนาว แล้วก็บอกเสียงเรียบๆ ว่าทำเลดี ราคาไม่สูงจนเกินไปและที่สำคัญ มีพรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่ที่เชียงใหม่ เป็นเพื่อนสมัยเรียนมัธยมมาด้วยกัน จึงวางใจได้ในการดูแลกิจการ จึงลงขันกันคนละไม่กี่มากน้อย เปิดห้างหุ้นส่วนจำกัดร้านหนังสือสามัญชนขึ้นมา

อย่างน้อยเพื่อเป็นร้านหนังสือต้นแบบ...ต้นแบบสำหรับร้านหนังสือที่ไม่มุ่งการค้าแบบขายมันทุกอย่าง เพราะร้านสามัญชนเน้นหนังสือวรรณกรรม หนังสือหาอ่านยากหนังสือดี เพราะ "ดอนเวียง" เชื่อว่าการที่คนเราถ้าได้อ่านหนังสือดีๆ แล้วชีวิตจะดีไปเอง


ผมถามว่าแล้วร้านหนังสือของพี่มันจะไปรอดไหม?

              พี่ท่านมองหน้าผมด้วยสายตาเป็นคำถามว่า "ลื้อ... จะถามทำไม-ใครมันจะไปรู้ฟะ?" แต่ด้วยความเมตตาพี่ท่านก็ตอบผมเป็นการสอนสั่งประมาณว่า บางครั้งคนเราทำงานอะไร กิจการอะไรใช่ว่า คำตอบสุดท้ายมันอยู่ที่ "กำไร-ขาดทุน"

เพราะบางทีดรรชนีชี้วัด "ความสำเร็จ" มันอยู่ที่ "ความสุข" ที่เจ้าของกิจการนั้นๆ ได้รับต่างหาก ในเมื่อมีหุ้นส่วนเป็นถึงเจ้าหน้าที่สรรพากรแห่งอำเภอจอมทอง เรื่องบัญน้ำบัญชี เรื่องรั่วไหลคงจะไม่ใช่ปัญหา 

              ส่วนเรื่องการสั่งสินค้าไปวางจำหน่าย ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่เพราะหนังสือในมือของสามัญชนก็มีมากมายหลายหลาก ล้วนแล้วแต่เป็นหนังสือดีมีคุณภาพ ไหนจะมีสำนักพิมพ์พันธมิตรอีกหลายต่อหลายเจ้าให้การสนับสนุน มีสายส่งอย่างเคล็ดไทยคอยเป็นเชือกพิงหลังให้เวลาสินค้าขาดแคลน


 ผมมองว่าร้านหนังสือสามัญชนไปเปิดถูกที่ถูกทางครับ...เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ มีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนมากมาย มีปัญญาชนอยู่อาศัยจำนวนมาก รอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถมบรรยากาศ สภาพอากาศก็เอื้อกับการนั่งจิบกาแฟอ่านหนังสือเป็นที่สุด

              เพราะฉะนั้นด้วยเงื่อนไขสัญญา 3 ปี และค่าเช่ารายเดือนไม่แพงจนเกินไป ใช้พนักงานแค่ 2 คนก็เพียงพอแล้ว น้องๆ จะปั่นจักรยานมาเปิดร้านหนังสือก็ยังได้ 


 แฮ่ม....อารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้ คนทำร้านหนังสือทางเลือกโคตรชอบเลยผมจะบอกให้!!

 แต่จะบริหารร้านหนังสือยังไงให้ได้ต่อสัญญาหลังจากครบ 3 ปี...

สัปดาห์หน้า "ดอนเวียง" มีคำตอบพร้อมจะเฉลยว่า ทำไมต้อง "ท้าชน" ร้านหนังสือเครือข่ายขนาดยักษ์ ด้วยการไม่วางจำหน่ายหนังสือที่ว่ากันว่าขายดี และเป็นที่ต้องการของวัยรุ่น...ทำไม...ทำไม...และทำไม...??  แล้วพบกัน...เจ๊า....!


ทำไม... “สามัญชน” ต้อง “ท้าชน”ยักษ์! (2)


อย่างที่ผมทิ้งท้ายไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ด้วยเงื่อนไขสัญญา 3 ปี และค่าเช่ารายเดือนไม่แพงจนเกินไป ใช้พนักงานแค่ 2 คนก็พอ

 มันเป็นห้วงอารมณ์ความรู้สึกที่คนทำร้านหนังสือทางเลือกโคตรชอบเลยผมจะบอกให้!!
 แต่จะบริหารร้านหนังสือยังไงให้ได้ต่อสัญญาหลังจากครบ 3 ปี...

 

“ดอนเวียง-วชิระ บัวสนธิ์” แห่งร้านหนังสือ “สามัญชน” เมืองเชียงใหม่ บอกว่า ปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า จะบริหารอย่างไรให้ได้ต่อสัญญา เพราะทางร้านมีนโยบายอยู่แล้วว่า บริหารแบบไม่บริหาร

           หมายความ “กำไร-ขาดทุน”ไม่ใช่ดรรชนีชี้วัดความสำเร็จว่า ธุรกิจร้านหนังสือแห่งนี้จะอยู่ได้หรือไม่ได้ มันอยู่ที่ “ใจของดอนเอง” ถ้าใจยังมีสนุกอยู่ก็ไม่มีปัญหา แต่ว่าถ้า “ถอดใจ”...มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 


           ส่วนเรื่อง “ท้าชน”หรือว่า “ใครยักษ์-ใครไม่ยักษ์” หลังจากนั่งนวดหัวเข่าคุยกันแล้วก็ได้รับคำตอบว่า การเปิดร้านหนังสือคราวนี้ ไม่ได้เป็นการ “ท้าชน”หรือว่า “ท้าทายใคร” เพียงแต่คิดว่า มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยจะต้องมีร้านหนังสือเฉพาะกลุ่ม

          ไม่ใช่ปล่อยให้ร้านหนังสือเป็น “ชุมชนแออัดทางสิ่งพิมพ์” ไม่ว่า ใครจะพิมพ์หนังสืออะไรออกมาก็ ยัดมันเข้าไปในร้านหนังสือ ใครที่เขียนได้อ่านออกและมีชื่อเสียงก็เร่งผลิตกันออกมาให้มีรูปเล่มหน้าตาเป็น “หนังสือ”
 ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันแค่ “กระดาษเปื้อนหมึก”

 

           ที่สำคัญ สิ่งที่ “ดอนเวียง”มีความรู้สึกและผมพอจะสัมผัสได้คือว่า สิ่งที่ดอนเวียงรับไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆคือ ขนาดของพื้นที่ในร้านหนังสือไม่มีหลงเหลือให้กับเผ่าพันธุ์ที่เรียกว่า “งานเขียนวรรณกรรม”เลย มันกลายเป็นที่อยู่อาศัยของหนังสืออะไรก็ไม่รู้
           แต่ทะลึ่งไปจัดอยู่ใน “หมวดวรรณกรรม” เพราะสำนักพิมพ์อยากยกระดับสินค้าของตัวเองและบางทีพนักงานขายหนังสือก็ดันไม่อ่านหนังสือ ดูแต่ปกกับรายชื่อเรื่อง!!

 

           การจัดหมวดหมู่ประเภทหนังสือในร้านทั่วไปจึงเละเทะไปหมด บางเล่มบางเรื่องไม่ใช่งานวรรณกรรม มันก็แค่นิยายรักน้ำเน่าไม่ได้มีคุณค่าทางสติปัญญา ไม่ได้อ่านแล้วจะช่วยให้เกิดแง่งามของความคิดหรือมุมชีวิตใหม่ๆ
          แค่นิยายรักวัยรุ่น...ทะลึ่งไปจัดอยู่ในหมวดวรรณกรรม วางเคียงข้างกับ “พี่น้องคารามาซอฟ”....มันน่าเศร้าไหมล่ะครับพี่น้อง 

 เพราะฉะนั้น ร้านหนังสือเฉพาะกลุ่มเฉพาะแนวอย่างร้าน “สามัญชน”จึงเกิดขึ้นมา เรียกว่า มาอย่างไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำธุรกิจ เพราะถ้าตั้งใจให้เป็นธุรกิจคงจะไม่ทำ!!

 


          แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดเป็นร้านหนังสือ ก็ต้องทำธุรกิจซื้อขายกันล่ะ...ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร เพราะจากประสบการณ์วัยเยาว์ที่เคยช่วยทางบ้านขายข้าวสาร เมล็ดพันธุ์พืชไร่มาบ้างก็พอจะทำให้รู้ว่าระบบการทำบัญชีมันเป็นอย่างไรและทุกอย่างถ้าวางระบบให้เรียบร้อย

 

การบริหารงานก็น่าจะลื่นไหลไปได้ เพราะหัวใจมันอยู่ตรงที่ต้องการให้ร้านหนังสือแห่งนี้ เป็นมิตรกับคนเชียงใหม่และคนทั้งโลกที่มาเยือน ต้องการทำให้ร้านหนังสือแห่งนี้เป็นร้านต้นแบบสำหรับการทำร้านหนังสือเฉพาะกลุ่มวรรณกรรมและหนังสือดีที่มีคุณภาพ

         เขาไม่ต้องการหนังสือวัยรุ่นน้ำเน่า รักใสๆหัวใจละอ่อน ที่สำคัญไม่มีการเปิดหน้าบัญชีกับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆหรือว่าสำนักพิมพ์ยักษ์ทั้งหลาย เพราะเชื่อว่า ถึงไม่มีขายในร้านสามัญชนก็คงจะไม่ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทยักษ์เหล่านั้นดิ่งลงแต่ประการใด

         “ผมต้องการให้ร้านหนังสือสามัญชน ท้าชนกลุ่มธุรกิจสำนักพิมพ์ในแง่การท้าชนทางอุดมคติมากกว่า ท้าชนอย่างอื่น เพราะในเชิงอุดมคติแล้วนั้น หนังสือดีๆจะต้องมีพื้นที่ดีๆให้ขายด้วย มันหมดยุคที่ว่า หนังสือดีอยู่ที่ไหนคนก็ตามไปซื้อ ซึ่งมันไม่จริงและใช่ไม่ได้ในสมัยนี้ หนังสือดีเท่าไรจะต้องให้พื้นที่ดีๆกับหนังสือเล่มนั้น เพื่อให้คนดีๆจะได้พอเจอและซื้อหาไปอ่านกัน”

 

        “ดอนเวียง วชิระ”ยังยิ้มกระดิกหนวดแล้วบอกอีกว่า คงจะไม่ต้องถามเขาหรอกว่า หนังสือดีกับหนังสือไม่ดีต่างกันอย่างไร หนังสือแบบไหนคืองานวรรณกรรม หนังสือแบบไหนไม่ใช่งานวรรณกรรม
         เพราะเขาอ่านหนังสือมาจนหนวดหงอกแล้ว....น่าจะพอมีสติปัญญาแยกประเภทหนังสือและคัดสรรหนังสือเข้ามาวางจำหน่ายในร้านได้

 


        แน่นอนว่า การเปิดร้านหนังสืออย่างสามัญชนนี้ อาจจะเป็นความคิดที่ไม่ค่อยฉลาดนักถ้ามองแบบนักธุรกิจ แต่ถ้ามองแบบนักอุดมคตินี่คือ ความสำเร็จที่สามารถเปิดร้านหนังสือให้กับงานเขียนประเภทวรรณกรรมได้

        เมื่อถามว่า แล้วมองความเสี่ยงไว้มากน้อยขนาดไหน เถ้าแก่น้อยของร้านสามัญชนบอกว่า 3 ปีไม่ควรจะขาดทุนเกิน 500,000 บาท คือคำนวนจากต้นทุน ค่าเช่าพื้นที่,ค่าจ้างพนักงาน,ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯแล้วโดยเฉลี่ย น่าจะอยู่ได้

 


        เพราะหลังจากที่เปิดร้านอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาก็ปรากฏว่า มีลูกค้าหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าระยะแรกชาวเชียงใหม่จะออกอาการลังเลที่จะผลักประตูกระจกเข้ามาในร้าน

        เพราะป้ายหน้าร้านเขียนเอาไว้ว่า “ยินดีต้อนรับ...คนดี”

        เล่นเอา หลายคนชะงักเท้า...ยืนทบทวนความดีความชั่วอยู่หน้าร้านกันไปชั่วขณะ! 

 

        แต่หลังจากที่ใคร่ครวญดีแล้วว่า มีความดีมากพอก็เข้ามาในร้านแล้วก็ไม่ผิดหวังกับบรรยายกาศและการบริการที่เหมือนไม่ใช่การบริการของพนักงานร้านหนังสือทั่วไป

 

แฮ่ม...จะเป็นยังไง...มีบริการรับนวดหน้าด้วย.....มั้ย?
เอาไว้มาเล่าให้ฟังนะ....

 

   (อ่านต่อฉบับหน้า)



ทำไม “สามัญชน” ต้องท้าชน “ยักษ์” (จบ)


อย่างที่ผมได้ทิ้งประเด็นไว้สัปดาห์ที่แล้วว่า ร้านหนังสือสไตล์คนเก๋า ตราคนนอนหงายไขว้ขาอ่านหนังสือ อย่างสามัญชน น่าจะมาเปิดในกรุงเทพฯด้วย


             เพราะในฐานะที่ฐานบัญชาการใหญ่ของ “ดอนเวียง วชิระ บัวสนธิ์ ”ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองหลวงของประเทศ ชนิดนั่งจิบกาแฟดำที่สำนักงาน ได้ยินเสียงรถแล่นบนทางด่วนรามอินทร-อาจณรงค์ก็แล้วกัน...

            ปรากฏว่า หลังจากที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นซึ่งกันและกัน 


            ผมพบว่า มีร่องรอยความคิดบางอย่างในน้ำคำของผู้บริหารใหญ่คนนี้...ชายที่ “ศิริวร แก้วกาญจน์” นักเขียนรางวัลศิลปาธร ยกนิ้วให้ว่า เป็น”โอเอซิสแห่งท้องทะเลทรายวรรณกรรมไทย”

            ร่องรอยที่ว่านั้น คือ ต้องการทำร้านหนังสือแห่งนี้เป็นตัวอย่าง! เพื่อว่าจะได้ทำให้ทุกคนในวงการหนังสือในสายงานวรรณกรรมตัวเล็กๆเกิดความคิดที่จะรวมตัวกันให้ได้ ผนึกกำลังกันให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่ไม่ใช่เพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลหรือว่าจะเคลื่อนทัพนักเขียนไปยึดกระทรวงศึกษาธิการ!

เพียงเพื่อให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนนั้น มันจะสามารถแสดงพลังอะไรบางอย่างออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นพลังในการนำเสนอมุมมองความคิด การสร้างชุมชุนรักการอ่านที่มั่นคงเข้มแข็ง สามารถกระจายหนังสือดีๆที่มีคุณภาพออกไปสู่สังคม


หมายความว่า ร้านหนังสือสามัญชน อาจจะเป็นร้านต้นแบบ-ต้นร่างความคิดในโครงสร้างใหญ่ จากนั้นก็ต้องให้ทุกคนช่วยกันต่อยอดความคิดนี้และนำไปปฏิบัติใช้ 

 ไม่เฉพาะว่าจะอยู่ที่ไหน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-สุไหงปาดี-หนองคาย-จันทรบุรี ฯลฯ ที่ไหนก็ได้บนผืนแผ่นดินนี้ขอเพียงให้มีนักอ่านและมีคนต้องการทำร้านหนังสือคุณภาพ สามารถติดต่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันกับ”ดอนเวียง”ได้ตลอดเวลาที่ท่านสะดวกรับสาย(ฮา)


ถามว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่คนทำร้านหนังสือและคนทำหนังสือจะต้องแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดกัน

           คงจะต้องตอบว่า มีความจำเป็นมากและมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพราะถ้าขืนอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ฉันเขียนของฉัน นายขายของนาย ไม่เกี่ยวกับรับรองว่าตายอย่างเขียดแน่นอน เพราะว่า ร้านหนังสือในระบบเครือข่ายหรือว่าร้านใหญ่ๆก็จะเปิดแนวรุกมากขึ้น ไปยึดหัวเมืองต่างๆทั่วประเทศไทย

          ยึดไม่ยึดเปล่า...ไม่เอาหนังสือวรรณกรรมไทยไปขายด้วยอีกต่างหาก !!


          เพราะว่า การสั่งหนังสือเข้าไปขายในแต่ละร้านนั้น จะถูกกำหนดแนวทางมาจากทางกรุงเทพฯ พูดง่ายๆว่า คนคัดหนังสือเข้าร้านหนังสือนั้น นั่งพิจารณาหนังสืออยู่ที่กรุงเทพฯ

         ใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่พิจารณาว่า หนังสือเรื่องไหนของสำนักพิมพ์ไหน ควรจะสั่งเข้ามาวางจำหน่ายในร้าน ถ้าเขาชอบแบบของเขา ก็จะสั่งเข้ามา...เมื่อสั่งเข้ามาแล้วมันก็จะถูกกระจายไปวางจำหน่ายตามร้านหนังสือสาขาต่างๆของบริษัทเขา...ทั่วประเทศ!!


          ถ้ามี 300 สาขา 1,500 สาขา ก็มีมีสินค้าหรือว่าหนังสือเหมือนกันหมดทั่วประเทศ เดินไปไหนก็เจอว่างั้นเถอะ

 ถ้าคนคัดหนังสือ เป็นนักอ่านที่อ่านหนังสือคุณภาพ อ่านเป็นหรือรู้ว่าเล่มไหนคือหนังสือ เล่มไหนคือขยะ...ก็จะคัดแต่หนังสือดีๆ ซึ่งถ้าเป็นหนังสือดีมีคุณภาพ...ก็รอดไป แต่ถ้าคนคัด..คัดหนังสือห่วย ต้องบอกว่านักอ่านซวยกันทั้งประเทศเช่นกัน!

          ขณะที่หนังสือวรรณกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นรวมบทความ,รวมเรื่องสั้น,รวมบทกวี,นวนิยายเชิงความคิด ที่ไม่ใช่ตบจูบที่กำลังเป็นละครโทรทัศน์น้ำเน่ากันอยู่นั้น เป็นเรื่องจริงที่เหลือเชื่อว่ายากที่จะฝ่าด่านอรหันต์ของแก๊งค์คนคัดหนังสือเข้าร้านใหญ่ๆไปได้ง่ายๆ 


          เพราะว่ามันขายยากอยู่แล้วด้วยตัวมันเอง ยิ่งขาดเสียงเชียร์ ขาดการส่งเสริมการขาย คนคัดไม่ชอบอ่านแนวนี้อีก   แถมยังมาแพ้ภัยตัวเองอีกคือ ถ้าเขาสั่งหนังสือไปเข้าร้านใหญ่ ดันไม่มีปัญญาพิมพ์หนังสือให้ได้ตามยอดหนังสือที่เขาสั่งอีก

          เรียกว่า ไม่เฮงแล้วยังจะซวยเอาอีก!! ถ้าขืนบ้าเลือดพิมพ์ตามจำนวนของร้านใหญ่ที่สั่งออร์เดอร์มา เพราะว่าอย่าลืมว่าประเทศนี้ ทำธุรกิจหนังสือด้วยระบบฝากขาย...ทางร้านหนังสือสามารถคืนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์!!


ทางเลือกที่จะทำให้รอด ถ้ายังอยากจะผลิตหนังสือดีๆต่อไปก็คือ จะต้องเลือกร้านให้เหมาะกับหนังสือที่ตัวเองผลิต ซึ่งแน่นอนว่า หนังสือวรรณกรรมจะต้องวางในร้านวรรณกรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่ ร้านสามัญชนคิดเอาไว้และกำลังทำเป็นตัวอย่างให้ร้านหนังสือทางเลือกทั้งหลายเห็นทางรอด

ด้วยการพัฒนารูปแบบร้านหนังสือให้ทันสมัย ได้มาตราฐานเดียวกันไปร้านเครือข่ายใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการตกแต่งร้าน,การให้บริการ,ระบบฐานข้อมูลลูกค้า ฯลฯที่สำคัญเป็นการทำธุรกิจร้านหนังสือที่อยู่บนพื้นฐานกำไร-ขาดทุน แบบมีความสุข คือ หมายความว่า ได้กำไรก็มีความสุข ถ้าขาดทุนก็มีความสุข


 ถ้าใครคิดอย่างนี้ได้ ผมว่าต้องศึกษารูปแบบของร้านสามัญชนและร้านหนังสือทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ร้านหนังสือประตูสีฟ้า,ร้านหนังสือเดินทาง ฯลฯ เพราะร้านเหล่านี้คือ ร้านหนังสือทางเลือกอย่างแท้จริง

           หนังสือที่คุณไม่สามารถหาได้ในร้านหนังสือเครือข่าย คุณสามารถแวะเวียนมาเสาะหาได้ในร้านหนังสือเหล่านี้ ถ้าในจังหวัดต่างๆมีร้านหนังสือลักษณะนี้ตั้งอยู่ มีการร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน อาจจะมีกิจกรรมเดินสายของนักเขียนที่ส่งต่อกันเป็นทอดๆจัดเป็นโครงการมหกรรมหนังสือดีสัญจร  สร้างเครือข่ายนักอ่านคุณภาพในชุมชน ฯลฯ...ก็ว่ากันไป

          ผมรับรองว่า อยู่ได้ดีไม่แพ้ร้านหนังสือเครือข่ายอย่าง ซีเอ็ด,นายอินทร์,B2S อย่างแน่นอนครับ

และนี่คือเหตุผลว่า ทำไม สามัญชนจะต้องท้าชนยักษ์...เพราะแค่ต้องการให้ยักษ์ขยับพื้นที่ให้คนวรรณกรรมตัวเล็กๆบ้าง-ก็เท่านั้น!!

Tags : Mr.QC • ธุรกิจบนกองกระดาษ • ร้านหนังสือสามัญชน •


Life Style : Read & Write

//www.bangkokbiznews.com/

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552



Create Date : 27 กรกฎาคม 2557
Last Update : 27 กรกฎาคม 2557 15:56:24 น. 0 comments
Counter : 833 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sriphat
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย
New Comments
[Add sriphat's blog to your web]