โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย

ทุกข์ของวันนี้ก็มากพอแล้ว




นาฬิกาที่ศาลาวัดตีบอกเวลา ๒ ทุ่ม สีกาวัยกว่า ๕๐ ปี นั่งพับเพียบพนมมืออยู่หน้าหลวงพ่อ เธอมีสีหน้าแววตาที่เศร้าหมองทุกข์ระทมนัก แล้วก็เอ่ยขึ้นว่า

"หลวงพ่อเจ้าขา อิฉันทุกข์เหลือเกินเจ้าค่ะ"
"ลูกแบกทุกข์อะไรไว้นักหนาเล่า?" หลวงพ่อถาม
"ก็ครอบครัวอิฉันซิเจ้าคะ อะไรๆก็ดูแย่ไปเสียหมด...”
เธอหยุดชั่วครู่ คล้ายว่ามีลูกอะไรมาตันอยู่ที่ลำคอ จนพูดไม่ออก

"ตั้งแต่สามีอิฉันตายไป ก็เหมือนหมดสิ้นทุกๆอย่าง ธุรกิจที่เขาทำไว้ก็ถูกเพื่อนๆของเขาโกงเอาไปหมดเลย ทั้งบ้าน ทั้งรถของอิฉัน ก็โดนยึดไปหมดแล้วเจ้าค่ะ ไม่รู้เวรกรรมอะไรหนักหนาที่มาเกิดกับอิฉันนะคะหลวงพ่อ" จากนั้นเธอก็เริ่มร้องไห้ฟูมฟายยกใหญ่

หลวงพ่อนิ่งฟัง และปล่อยให้สีกาคนนั้นร้องให้ไปพักใหญ่ จึงเอ่ยขึ้นว่า...
"ทุกข์ของวันนี้ ก็มากพอแล้วนะลูก... ทำไมเจ้าต้องเอา ทุกข์ของเมื่อวานนี้ มาทุกข์วันนี้อีกเล่า เมื่อวานนี้เจ้าก็ทุกข์ไปแล้วไม่ใช่หรือ?"

"ท่านหมายความว่าอย่างไรเจ้าคะ อิฉันไม่เข้าใจเจ้าค่ะ" สีกาถามด้วยความสงสัย
"อ้าว! ก็เมื่อตอนที่สามีเจ้าตายไปน่ะ เจ้าเสียใจทุกข์ใจไหมล่ะ?"
"ทุกข์ซิเจ้าคะ ทุกข์เหลือเกินเลย" เธอตอบ
"แล้วตอนที่ถูกเพื่อนๆเขาโกงเอาธุรกิจไปล่ะ เจ้าทุกข์หรือยัง"
"ทุกข์แล้วเจ้าค่ะ ก็เราเสียของๆเราไปนี่เจ้าคะ"
"งั้นตอนที่เขามายึดบ้าน ยึดรถไปล่ะ เจ้าทุกข์หรือเปล่า?"
"ทุกข์เจ้าค่ะ บ้านที่เคยอยู่ รถที่เคยใช้ จะไม่ทุกข์ได้อย่างไรคะ"
หลวงพ่อจึงเอ่ยต่อไปว่า
"สรุปว่า เจ้าได้ทุกข์ไปแล้วนะ ทุกข์มากเสียด้วย จริงไหม?"
"จริงเจ้าค่ะ ทุกข์มากเหลือเกินเจ้าค่ะ"

เมื่อสีกายอมรับ หลวงพ่อจึงพูดว่า
"ลูกเอ๋ย 'ทุกข์ของวันนี้' ก็มากพอแล้วนะลูก อย่าเอา 'ทุกข์ของเมื่อวานนี้' มาทุกข์วันนี้ซ้ำอีก เพราะเมื่อวานเจ้าก็ได้ทุกข์อย่างสาหัสไปแล้วนะลูก"

สีกาก้มกราบหลวงพ่อ แล้วเอ่ยขึ้นอีกว่า
"แต่ท่านเจ้าขา... จะไม่ให้อิฉันทุกข์ได้อย่างไรเจ้าคะ เพราะ 'วันพรุ่งนี้' อิฉันยังไม่รู้ว่าจะอยู่อย่างไรเลย จะเจออะไรที่เลวร้ายไปกว่านี้อีกหรือเปล่า ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปเลยค่ะ"

หลวงพ่อจึงตอบอีกว่า...
"ลูกเอ๋ย...ทุกข์ของวันนี้ ก็มากพอแล้วนะลูก... ทำไมเจ้าต้องเอา ทุกข์ของวันพรุ่งนี้ มาทุกข์วันนี้ก่อนเล่า พรุ่งนี้ค่อยทุกข์ก็ยังทันอยู่ไม่ใช่หรือ?"

"ใช่เจ้าค่ะ แต่เดี๋ยวพอฟ้าสว่างวันพรุ่งนี้ก็มาถึงแล้วนะเจ้าคะ วันเวลามันเร็วเหลือเกินเจ้าค่ะ อิฉันกังวลใจจริงๆ เป็นห่วงก็แต่ลูกๆล่ะเจ้าค่ะ เขายังเล็กนัก" สีกาเอ่ยขึ้นอย่างกังวล
หลวงพ่อจึงกล่าวว่า "ลูกเอ๋ย... ชีวิตของเรา จะตายวันตายพรุ่งก็ยังไม่รู้เลย ถ้าพรุ่งนี้ ไม่ได้ตื่นขึ้นมา ก็คงไม่ต้องทุกข์อะไรต่อไปอีก แต่ถ้าพรุ่งนี้ได้ตื่นขึ้นมา ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีนะ เพราะเจ้าจะได้มีโอกาสทำหน้าที่ของ 'แม่' อีกครั้งหนึ่ง จริงไหม?"
"เจ้าค่ะ" เธอตอบเบาๆ

หลวงพ่อจึงสอนว่า
"จำไว้นะลูก...ทุกข์ของวันนี้ ก็มากพอแล้ว... เจ้าต้องไม่เอา ทุกข์ของเมื่อวานนี้ มาทุกข์วันนี้อีก ทั้งนี้ก็เพราะ เจ้าได้ทุกข์ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันวาน และเจ้าต้องไม่เอา ทุกข์ของวันพรุ่งนี้ มาทุกข์เสียก่อนในวันนี้ เพราะพรุ่งนี้เจ้าค่อยทุกข์ก็ยังไม่ช้าเกินไป
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ.... วันพรุ่งนี้ จะดีหรือจะร้าย ก็ไม่มีใครรู้ หรอกลูก อาจจะไม่เลวร้ายอย่างที่เจ้าคิดก็ได้...จริงไหม?"

ขอบคุณเรื่องราวดีๆ จาก
https://www.facebook.com/nuttawudk?fref=ts




 

Create Date : 12 พฤษภาคม 2557   
Last Update : 12 พฤษภาคม 2557 14:05:34 น.   
Counter : 1872 Pageviews.  

การฟังอย่างลึกซึ้งและการใช้วาจาแห่งรัก



เมื่อการสื่อสารสิ้นสุดลง พวกเราทั้งหมดเป็นทุกข์ เมื่อไม่มีใครสามารถที่จะรับฟังหรือเข้าใจเรา เราก็คล้ายกับลูกระเบิดที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อ การฟังด้วยความกรุณาจะนำมาซึ่งการเยียวยา บางครั้งการฟังอย่างลึกซึ้งเพียงแค่สิบนาทีก็สามารถแปรเปลี่ยนตัวเราและนำรอยยิ้มกลับมาที่ริมฝีปากได้อีกครั้ง

พวกเราหลายคนสูญเสียความสามารถในการฟังและการใช้วาจาแห่งความรักในครอบครัว อาจเป็นเพราะไม่มีใครสามารถที่จะรับฟังผู้อื่นได้เลย เราจึงรู้สึกอ้างว้างมากแม้ว่าจะอยู่ในครอบครัวของตัวเอง เราไปพบนักบำบัดหวังว่าเขาจะรับฟังเรา แต่นักบำบัดหลายคนก็มีความทุกข์อย่างลึกซึ้งอยู่ภายในตนเช่นกัน บางครั้งพวกเขาจึงไม่สามารถรับฟังได้อย่างลึกซึ้งเท่าที่ควร ดังนั้นหากเรารักใครสักคนอย่างแท้จริง เราจำเป็นต้องฝึกตัวเราให้เป็นผู้รับฟังอย่างลึกซึ้ง

เราควรฝึกตัวเราให้ใช้วาจาแห่งความรักด้วย เราสูญเสียความสามารถในการพูดอย่างสงบ ใจเย็น เราหงุดหงิดง่ายมาก ดังนั้นทุกครั้งที่เราอ้าปากวาจาของเราก็มีแต่ความขมขื่นและเผ็ดร้อน เราสูญเสียความสามารถในการพูดด้วยความใจดี

หากปราศจากความสามารถในการฟังอย่างลึกซึ้งและการใช้วาจาแห่งรักแล้ว เราจะไม่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูความปรองดองสมานฉันท์ ความรัก และความสุขได้เลย

พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์




 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2557   
Last Update : 6 พฤษภาคม 2557 14:25:12 น.   
Counter : 1059 Pageviews.  

กินอย่างมีสติ




ในโลกทุกวันนี้ การกินอาหารอย่างไร้สติและการดำรงชีวิตอย่างไร้สติเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนส่วนใหญ่ทำกัน เราถูกขับเคลื่อนโดยชีวิตไฮเทคอันรีบเร่ง เช่น อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง อีเมล เอสเอ็มเอส โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งความคาดหวังของผู้คนที่ต้องการให้เราเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ให้เราพร้อมอยู่เสมอที่จะตอบกลับในทันที เราตอบสนองสิ่งเร้าจากภายนอกและการเรียกร้องอย่างไม่หยุดหย่อน เราไม่มีเวลาที่จะหยุด จดจ่อ และใคร่ครวญสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่มีเวลาที่จะสัมผัสตัวตนภายในของเรา เรากลายมาเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร

เวลาเรากินแอปเปิ้ล เราแทบจะไม่มองแอปเปิ้ลที่เรากำลังกิน เราคว้าแอ็ปเปิ้ลขึ้นมา อ้าปาก กัด เคี้ยวอย่างรวดเร็ว แล้วก็กลืนลงท้องไป

ขอให้เธอลองให้เวลากับแอปเปิ้ล แอปเปิ้ลผลนี้เป็นแอปเปิ้ลชนิดใด สีอะไร กลิ่นเหมือนอะไร เมื่อเธอสำรวจรายละเอียดเหล่านี้แล้ว เธอจะเริ่มตระหนักว่าแอปเปิ้ลนั้นไม่ใช่เพียงแค่ของว่างที่เธอหยิบใส่ปากเพื่อดับเสียงท้องร้องโครกคราก แต่แอปเปิ้ลเป็นอะไรบางอย่างที่ซับซ้อนกว่านั้น เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่ 

ขอให้เธอยิ้มให้แอปเปิ้ล ค่อยๆกัด ค่อยๆ เคี้ยว ตระหนักรู้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก สักสองสามครั้ง เธอรู้สึกอย่างไรต่อเนื้อแอปเปิ้ลที่กำลังเคี้ยวอยู่ รสชาติเหมือนอะไร

ไม่มีสิ่งอื่นใดขณะที่เธอกำลังเคี้ยวแอปเปิ้ล ไม่มีแผนงาน ไม่มีโครงการ ไม่มีเส้นตายที่ต้องส่งงาน ไม่มีความกังวล ไม่มีรายการ ‘สิ่งที่ต้องทำ’ ไม่มีความกลัว ไม่มีความโศกเศร้า ไม่มีความโกรธ ไม่มีอดีต และไม่มีอนาคต มีเพียงตัวเธอกับแอปเปิ้ลเท่านั้น

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์




 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2557   
Last Update : 6 พฤษภาคม 2557 14:20:51 น.   
Counter : 1198 Pageviews.  

แบบฝึกหัด ๔ บทแรกใน อานาปานสติสูตร



แบบฝึกหัดแรกที่พระพุทธเจ้าทรงสอนใน อานาปานสติสูตร คือ 
หายใจเข้า ฉันรู้ ว่านี่คือลมหายใจเข้าของฉัน เธอเพียงรับรู้ว่า หายใจเข้า คือ หายใจเข้า รู้ว่าเธออยู่กับลมหายใจเข้า และเธอเบิกบานกับลมหายใจเข้า ผู้ฝึกปฏิบัติที่ดี จะเบิกบานกับการตามลมหายใจเข้าได้ในทันที ไม่ต้องหายใจเข้าด้วยความทุกข์ และเมื่อหายใจออกก็รู้วิธีที่จะเบิกบานกับลมหายใจออก ยิ้มในขณะที่กำลังหายใจออก ความเบิกบานและความสุขของเธอนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยลมหายใจเข้าและออก ประโยชน์จากการรู้ลมหายใจเข้าและออกนั้นยิ่งใหญ่มาก เราจะกลายเป็นคนที่อิสระ และ สัมผัสได้ถึงความมหัศจรรย์ของชีวิต เพราะคนที่ตายไปแล้วไม่สามารถที่จะหายใจเข้า-ออกได้อีกต่อไป เธอจะรับรู้ได้ด้วยตัวของเธอเองว่า เธอยังมีชีวิตอยู่และนั่นเป็นความมหัศจรรย์อย่างยิ่ง


แบบฝึกหัดที่สอง คือ ให้เราตามลมหายใจเข้าและออกตั้งแต่ต้นจนปลายตลอดช่วงของลมหายใจนั้น สมมุติว่าลมหายใจเข้าของเธอใช้เวลา 4 วินาที จิตของเธออยู่กับลมหายใจเข้าเต็มร้อยอย่างสิ้นเชิง เธอเบิกบานกับลมหายใจเข้าตลอดช่วงของลมหายใจเข้าเท่านั้น การปฏิบัตินี้จะทำให้สมาธิของเธอลึกซึ้งมาก เธอจะเบิกบานมากขึ้น การรู้ลมหายใจในแบบฝึกหัดแรกคือสติ การติดตามลมหายใจในแบบฝึกหัดที่สองคือสมาธิ สติและสมาธิ คือ แหล่งแห่งความสุข การตามลมหายใจเข้าและออกอย่างมีสติ และติดตามลมหายใจเข้าและออกของเธอตลอดช่วงตั้งแต่ต้นจนปลาย จะช่วยให้เธอสร้างพลังแห่งสติ พลังแห่งสมาธิขึ้นมา


แบบฝึกหัดที่สาม คือ อยู่กับร่างกายของเธอ หายใจเข้า ฉันตระหนักรู้ถึงร่างกายของฉัน นำจิตของเธอกลับมาสู่ร่างกาย แล้วเธอก็จะจำได้ว่าเธอยังมีร่างกายอยู่ ร่างกายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ บรรจุจักรวาลเอาไว้ทั้งหมด ร่างกายของเธอมีพระแม่ธรณี ผืนดินท้องฟ้า ดวงดาว พระอาทิตย์ ถ้าเธอสัมผัสร่างกายของเธออย่างแท้จริง เธอจะสัมผัสจักรวาลทั้งหมด จักรวาลทั้งหมดมารวมกันอยู่ตรงนี้เพื่อให้ร่างกายของเธอปรากฏขึ้นอย่างมหัศจรรย์ และนั่นเป็นสิ่งที่น่ายินดี เบิกบาน และน่าชื่นชม


แบบฝึกหัดที่สี่ จะช่วยทำให้ร่างกายของเธอผ่อนคลาย ทำกายให้สงบ หายใจเข้า ฉันปล่อยให้ร่างกายของฉันคลายความตึงเครียดทั้งหมด

เราควรจะต้องฝึกแบบฝึกหัดทั้งสี่นี้ให้ชำนาญ เพราะจะทำให้เรามีพลังแห่งสติ แหล่งแห่งความสุขอันยิ่งใหญ่ เราสามารถที่จะฝึกแบบนี้ได้ทั้งในขณะที่เรานั่ง เดิน ยืน ขับรถ ทำอาหาร หรืออาบน้ำ เราฝึกได้ในทุกกิจกรรม และจะทำให้เราได้รับความสุข และ สงบเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเราเรียนรู้วิธีที่จะตามลมหายใจของเราไม่ว่าในอิริยาบถใด ลมหายใจของเธอจะกลายเป็นลมหายใจแห่งการเยียวยาและบำรุงหล่อเลี้ยงในทุกชั่วขณะ 


ในปัจจุบันนี้ การมีเวลาได้นั่งนิ่งๆ เป็นเรื่องยาก เป็นความหรูหราอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นหากได้รับโอกาสนั้น เราควรจะเบิกบาน เมื่อเราสามารถที่จะฝึกตามแบบฝึกหัด 4 ข้อนี้อย่างชำนาญคล่องแคล่ว เราจะมีความเบิกบาน มีความสุขกับการปฏิบัติ การนั่งนิ่งๆ การนั่งสมาธิคือการสัมผัสกับชีวิตที่ยังมีชีวิตอยู่ ปลดปล่อยความตึงเครียดทั้งหมด สัมผัสกับความเบิกบานที่เรายังมีชีวิตอยู่ รับรู้ร่างกายของเรา สัมผัสความมหัศจรรย์ของชีวิตที่อยู่รอบข้างเรา 


พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์





 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2557   
Last Update : 6 พฤษภาคม 2557 14:14:28 น.   
Counter : 597 Pageviews.  

ดังตฤณ : เริ่มต้นใช้ชีวิตให้คุ้ม

• ต้นชีวิตมนุษย์
คือช่วงของการถูกกรรมเก่าหลอก
ว่าตัวเองเป็นอะไรอย่างหนึ่

กลางชีวิตมนุษย์

คือช่วงของโอกาสตัดสินใจใหม่
ว่าจะถูกหลอกให้เป็นตัวเดิมต่อหรือเปล่า

ปลายชีวิตมนุษย์
คือช่วงของการเตรียมเสวยผล
อันเกิดจากการตัดสินใจที่ผ่านมา

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• เรื่องดีๆในวันหน้า
มักมีรากจากการที่วันนี้
คุณต้องผ่านเรื่องไม่ดี
ด้วยความพยายามทำให้มันลงเอยดี

• ชีวิตที่คุ้มที่สุด
คือชีวิตที่มีแต่ปัจจุบันดีๆ อยู่ในใจมากที่สุด
ไม่ปล่อยให้ใจกำอดีตเน่าๆ
ตลอดจนอนาคตเสียๆไว้อย่างสูญเปล่า

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• จุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตให้คุ้ม
คือการทุ่มเทกับการ "ใช้ชีวิตขณะนี้"
ไม่ใช่ "ใช้ชีวิตซ้ำอยู่ในหัว"
และไม่ใช่ "ใช้ชีวิตล่วงหน้าอยู่ในฝัน"

: ถ้าแต่ละวัน
คุณเอาแต่เฝ้าเสียดายอดีต เป็นเวลาสัก 3 ชั่วโมง
แล้วใช้เวลาอีก ร่วม 3 ชั่วโมง
ในการฟุ้งซ่านถึงอนาคต

: สิริรวมแล้ว
คุณปล่อยให้อีก 6 ชั่วโมงหายไปเปล่าๆ
โดยไม่มีการ ‘ใช้ชีวิต’ แต่อย่างใด

• เพราะการใช้ชีวิต
คือการ "เอาปัจจุบันไปทำอะไรเพิ่ม"
ไม่ใช่การนึกถึงสิ่งที่ "เคยทำไว้แล้ว" แก้ไขไม่ได้แล้ว
และยิ่งไม่ใช่ การนึกถึงสิ่งที่ยังไม่มีสิทธิ์ทำ
ไม่รู้จะได้ทำหรือเปล่า

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• นโยบายที่เหมาะสำหรับการ ‘เริ่มต้นใช้ชีวิตให้คุ้ม’
ควรออกตัวจากการตกลงกับตนเองชัดๆ
ว่าเราจะ ‘สูญเสียปัจจุบัน’ ให้กับอดีต
และอนาคตน้อยที่สุด
เท่าที่จะเป็นไปได้

: จี้ลงไปให้ชัดๆ
พอรู้ตัวว่าบ่นอะไร เช่น
‘สมมุติว่าย้อนเวลากลับไปได้นะ...’
ต้องรีบแก้ใหม่ สั่งตัวเองทันที

• อย่ามัวสมมุติว่า
ย้อนเวลาได้จะแก้อะไรดี
แต่สมมุติว่าถ้าสำนึกได้เดี๋ยวนี้
มีความคิดไหนให้เปลี่ยนบ้าง

อีกอย่าง คือการตกลงกับตัวเองว่า
จะไม่กังวลเกี่ยวกับพรุ่งนี้ หรือวันหน้า
แต่จะขยันทำทุกอย่างในวันนี
เพื่อให้สบายใจว่า
ได้ทำรากของวันพรุ่งนี้ไว้ดีที่สุดแล้ว

: ถ้าจะต้องเอาวันนี้ไปเกี่ยวข้องกับวันหน้า
ก็คือคิดอ่านวางแผน
ไม่ใช่ให้ถูกพรุ่งนี้ปล้นด้วยอาการกลุ้มเปล่า

หลังจากตกลงใจได้ว่า
จะเอาแต่วันนี้ เมื่อวานไม่เอา พรุ่งนี้ไม่เอา

: คุณจะพบว่าการหลงใช้ชีวิตแบบ ‘สมมุติว่า’ หายไป
กลายเป็นใช้ชีวิตแบบ ‘มีอะไรต้องทำ’ เสียได้


#ดังตฤณ
 //www.facebook.com/dungtrin






 

Create Date : 31 ธันวาคม 2556   
Last Update : 31 ธันวาคม 2556 15:57:50 น.   
Counter : 2882 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

sriphat
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย
New Comments
[Add sriphat's blog to your web]