ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

รถไฟฟ้ารางเบาประเภทวิ่งบนผิวทางเกิดแน่นอนแล้วในจังหวัดภูเก็ต



เครดิตภาพ //pantip.com/topic/33090774

รถไฟฟ้ารางเบาประเภทวิ่งบนผิวทางเกิดแน่นอนแล้วในจังหวัดภูเก็ต

ภาคส่วนต่างๆ ไม่รอช้าเตรียมการรองรับการพัฒนาอย่างเต็มที่ โมเดลการสร้างความพร้อมของภาคเอกชนในครั้งนี้จังหวัดอื่นๆ ควรนำไปเป็นแบบอย่าง อย่ารอภาครัฐเพียงอย่างเดียว ภาครัฐลงทุนแค่โครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน ภาคเอกชนต้องเป็นผู้ขับเคลื่อน




สมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต


ขอเชิญผู้ประกอบการพี่น้องประชาชน และผู้ที่สนใจ ร่วมการเสวนาวิชาการ เรื่อง

ภูเก็ตไปทางไหน รถไฟมาแล้ว

เปิดการเสวนาและบรรยายพิเศษเรื่อง

แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่งจังหวัดภูเก็ตเพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน

โดย นายนิสิตจันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

ฟังการบรรยายวิชาการ เรื่อง

การวางแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน(Transit-Oriented Development) ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต

โดย อาจารย์ฐาปนาบุณยประวิตร สถาบันวิจัยการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทย

ร่วมค้นหาอนาคตการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตหลังจากเปิดบริการรถไฟฟ้า

กับการเสวนาเรื่อง

การพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานตามแนวคิดผังเมืองรวมเมืองภูเก็ตฉบับใหม่

วิทยากร

นายนิรันดร์ เกตุแก้ว

รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมระบบการขนส่งการจราจรในภูมิภาค

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

นายอนวัช สุวรรณเดช

ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะกรมโยธาธิการและผังเมือง

ดำเนินรายการ โดย นายธนันท์ตัณฑ์ไพบูลย์ กรรมการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต

ร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาจังหวัดดำเนินการรายการ

โดย นายสัจจพล ทองสม กรรมการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต

สรุปผลการเสวนา โดย นายธนูศักดิ์พึ่งเดช นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2558 เวลา 13.00-17.00 น. ห้องดาราเธียรเตอร์ ชั้น G โรงแรม New Dara Boutique Hotel& Residence (แยกห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล ภูเก็ต)

สอบถามรายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่สมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต โทร 086 4714874/093 996 7808

รับผู้ร่วมเสวนาไม่เกิน 200 คน สมาคมฯ จะปิดรับสมัครทันทีที่มีผู้ลงทะเบียนครบจำนวน พิเศษ :ไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียน





 

Create Date : 09 สิงหาคม 2558    
Last Update : 9 สิงหาคม 2558 7:39:04 น.
Counter : 1530 Pageviews.  

“แสงสว่างที่ปากอุโมงค์”ประสบการณ์จริงจากความพยายามในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน ของหน่วยงานไทย


“แสงสว่างที่ปากอุโมงค์”ภาคประสบการณ์จริงจากความพยายามในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน(TOD) ของหน่วยงานขนส่งมวลชนไทย

โดย ฐาปนา บุณยประวิตร

อีเมล์ thapana.asia@gmail.com

www.asiamuseum.co.th www.smartgrowthasia.com


บทนำ

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development) ตามแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) ระหว่างวันที่ 3- 5 พฤศจิกายน 2557มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็นและสร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนของประเทศโดยมีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมจำนวน 50 คนประกอบด้วย ตัวแทนคณะผู้บริหารของ สนข. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด สำนักขนส่งและจราจรกรุงเทพมหานคร สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง




ผู้ร่วมเสวนาในวันแรก

ในการสัมมนาวันแรก (เฉพาะภาคบ่าย)เป็นการสรุปประสบการณ์สำคัญจากตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาโดยผู้บริหารจากหน่วยงานขนส่งมวลชนร่วมเสวนา ดังนี้

1. นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

2. ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลีผู้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

3. นายปัตตะพงษ์ บุญแก้วผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย

4. นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง ผู้แทนบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด

5. ดร.กฤษ อนุรักษ์กมลกุล ผู้แทนบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด

ดำเนินการโดย ผศ.ดร.สญชัย ลบแย้ม

สาระสำคัญจากเสวนา




นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช ผู้แทนสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร


นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช วิทยากรตัวแทนจาก สนข. ได้กล่าวสรุปภารกิจการของ สนข.ในช่วงเวลาที่ผ่านมาโดยได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนซึ่ง สนข.ได้ริเริ่มศึกษาและออกแบบในช่วงของรัฐบาลที่ผ่านมาโดยดำเนินการในพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงของจังหวัดเชียงใหม่และพิษณุโลกแต่ได้ชะลอไว้หลังจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสนข. ได้มองเห็นผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศจากพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ดำเนินการควบคู่กับการวางผังพัฒนาเมืองดังนั้น จึงมีนโยบายในการส่งเสริมให้การศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบในพื้นที่ที่มีศักยภาพเช่น พื้นที่ย่านถนนพหลโยธินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และพื้นที่ในบริเวณอื่นๆซึ่งจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 




ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี ผู้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย


สำหรับประสบการณ์การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี ได้กล่าวถึงความสำคัญในการพัฒนาเมืองตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด(Smart Growth) ว่าเป็นแนวทางหลักของโลกในขณะนี้ที่จะสามารถนำพัฒนาเมืองไปสู่ความยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกณฑ์การพัฒนาเมืองไปสู่เมืองแห่งการเดินหรือ walkable City นั้นนับเป็นแนวทางเดียวที่จะสร้างโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจและความมั่งคั่งให้เกิดกับเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสุขภาวะให้กับประชาชน สำหรับภารกิจของรฟม.ในการสร้างแนวทางในการลดปัญหาการคับคั่งการจราจรด้วยระบบขนส่งมวลชนนั้น รฟม.เห็นว่า หน่วยงานต่างๆต้องบูรณาการแผนเพื่อให้เกิดสภาพของ BMW ซึ่งได้แก่ Bus, Metro และ walk อย่างสมดุล ต้องพัฒนาระบบการเข้าถึงพื้นที่ TOD ด้วยการเดินและการปั่นจักรยานให้ได้ นอกจากนั้น ต้องสร้างการพัฒนาที่ใช้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยควรให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างแท้จริงโดยภาครัฐเป็นผู้ดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน 





คุณสุเทพ พันธุ์เพ็ง (คนกลาง)

ตัวแทนจากบริษัท รถไฟฟ้า รฟม.จำกัด (คุณสุเทพ พันธุ์เพ็ง) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า Airport Link ได้กล่าวถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เด่นชัดของ TOD โดยนำกรณีศึกษาการเกิดขึ้นของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระรามเก้าว่าจากเดิมสถานีมักกะสันมีผู้ใช้บริการต่อวันเพียงแค่ 2,000 คนได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 4,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มในการเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ และได้ยกตัวอย่างการลงทุนของภาคเอกชนในการสร้างทางเดินขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับสถานีรามคำแหงซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สถานีดังกล่าวเพิ่มปริมาณผู้โดยสารขึ้นอีกมาก กรณีของสถานีทับช้างซึ่งปัจจุบันอยู่ในลักษณะถูกขัดขวางจากอุปสรรคทางกายภาพบริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาและหาแนวทางในการสร้างพื้นที่เชื่อมต่อสองฝั่งทั้งคลองและถนนมอเตอร์เวย์ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ 




ดร.กฤษ อนุรักษ์กมลกุล ผู้แทนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด


สำหรับข้อเสนอของ ดร.กฤษ อนุรักษ์กมลกุล ตัวแทนจากบริษัท รถไฟฟ้ารฟม.จำกัดอีกท่าน ที่เป็นวิทยากรร่วมเสวนา ได่ให้แนวคิดการพัฒนาโครงการ TOD ว่าควรศึกษาตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นเป็นหลักและให้ใช้หลักการสร้างความมีชีวิตชีวาแก่พื้นที่ด้วยการสร้างเศรษฐกิจและการลงทุนที่ชัดเจน

สำหรับปัญหาในการพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับการกล่าวถึงมากในวันนี้คือ ข้อกำหนดและกฎหมายหลายฉบับที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาพื้นที่เช่น การอนุญาตให้ รฟม.ทำการพัฒนาพื้นที่ได้ในกิจการของ รฟม.เท่านั้นตามการตีความของกฤษฎีกา ได้ทำให้รฟม.ไม่อาจพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งเพื่อการพาณิชย์หรือที่อยู่อาศัยได้หรือแม้แต่ข้อกำหนดจากกฎหมายฉบับต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคซึ่งจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อไป




คุณปัตตะพงษ์บุญแก้ว ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (คนกลาง)


สำหรับคุณปัตตะพงษ์บุญแก้ว ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนา TOD รอบสถานีรถไฟ ในช่วงที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้พยายามมองหาศักยภาพของพื้นที่ในบริเวณต่างๆในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของการรถไฟ โดยเชื่อว่าหากสามารถพัฒนาพื้นที่รอบสถานีได้จะเป็นผลดีต่อการสร้างเสถียรภาพในการเดินทางด้วยรถไฟ และพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังเช่นในขณะนี้ การรถไฟกำลังมีโครงการร่วมกับ สนข.ในการพัฒนาพื้นที่บริเวณที่ดินของการรถไฟฯ เชิงสะพานสารสิน จังหวัดพังงาซึ่งอยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาดำเนินการออกแบบพร้อมไปกับการพัฒนารถไฟฟ้าเชื่อมต่อภายในเขตจังหวัดภูเก็ต และจะใช้รูปแบบเดียวกันนี้ในการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางรถไฟของจังหวัดขอนแก่น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการรถไฟฯได้ประสบปัญหาอย่างมากจากการบุกรุก การใช้พื้นที่ของประชาชน โดยการรถไฟฯไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ตามนโยบายที่คาดหวังไว้ได้สำหรับความต้องการที่แท้จริงของการรถไฟฯ การรถไฟฯ ประสงค์จะพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างเศรษฐกิจโดยรวมให้กับเมือง โดยยังคงเอกลักษณ์และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆไว้ ดังเช่นการปรับปรุงฟื้นฟูสถานีรถไฟหัวหิน การรถไฟฯ ได้มีนโยบายให้คงเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของสถานีไว้ เพื่อให้เป็นจุดหมายตา เป็นเอกลักษณ์ที่ดีของชาวเมืองหัวหินต่อไป



ภาพการบรรยายเรื่อง “แนวทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและเมืองอย่างยั่งยืน”

โดย ผศ.ดร.สญชัย ลบแย้ม

กลุ่มวิชาการวางแผนภาคและเมืองคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

สถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง





อาจารย์ฐาปนาบุณยประวิตร และ อาจารย์ ดร.ฐกลพัศ เจนวิวัฒนกุล

ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันการเติบโตอย่างชาญฉลาด



ตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมจำนวน 50 คนประกอบด้วย ตัวแทนคณะผู้บริหารของ สนข.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้าร.ฟ.ท.จำกัด สำนักขนส่งและจราจร กรุงเทพมหานคร สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานครกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



ท่านใดสนใจ แนวความคิด Smarth Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด)เข้าไป กด like fanpage ตามลิ้งก์ Facebook นี้ครับ //www.facebook.com/smartgrowththailand

อ่านบทความ “ย้อนหลัง” เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านผังเมืองที่ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่าง 2 ลิ้งก์นี้

//www.oknation.net/blog/smartgrowth

//www.oknation.net/blog/smartgrowththailand





 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2557    
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2557 23:30:54 น.
Counter : 1608 Pageviews.  

ที่พิษณุโลก : ปฏิบัติการผังเมือง: นวัตกรรมการผังสำหรับทศวรรษแห่งความร่วมมือของรัฐและประชาชน


ปฏิบัติการผังเมือง:นวัตกรรมการผังสำหรับทศวรรษแห่งความร่วมมือของรัฐและประชาชนในการสร้างยุทธศาสตร์เมือง

กรณีศึกษาผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลก

โดย ฐาปนา บุณยประวิตร (thapana.asia@gmail.com)

www.asiamuseum.co.th/ www.smartgrowthasia.com/ www.smartgrowththailand.com



ภาพการปฏิบัติการผังเมืองของกลุ่มเกษตรกรรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

วันที่ 16 ตุลาคม 2557 ณ.โรงแรมแกรนด์ ริเวอร์ไซด์ จังหวัดพิษณุโลก


ความเป็นมาของปฏิบัติการผังเมือง

การปฏิบัติการผังเมืองหรือ Hand-On Public Workshop for UrbanPlanning) เป็นปฏิบัติการร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเพื่อระดมความคิดการพัฒนาเมืองที่หลากหลายให้แปรสภาพเป็นแผนผังทางกายภาพและเป็นแนวทางในการออกแบบรายละเอียดย่านชุมชน เมือง มหานคร และภูมิภาค พร้อมกฎหมาย ระเบียบและข้อกำหนดที่ใช้ในการบริการจัดการทางกายภาพซึ่งเป็นไปตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่การปฏิบัติการผังเมืองนับเป็นปฏิบัติการเดียวในขณะนี้ที่ถือว่าทรงประสิทธิภาพสูงสุดในการสรุปความคิดเห็นเชิงลึกของประชาชนผู้บริหารเมืองและผู้บริหารภาครัฐที่นำมาใช้ในการบูรณการเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและการออกแบบผังทางกายภาพสำหรับการวางแผนอนาคตการใช้ประโยชน์ที่ดินการลงทุนและบริหารจัดการโครงการคมนาคมและขนส่ง การลงทุนและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุล มีประสิทธิภาพและได้รับความเห็นชอบจากทุกภาคส่วนจากการตรวจสอบเอกสารการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการวางผัง พบว่า ทุกประเทศ มลรัฐเมือง และเทศบาลที่ใช้เกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) ต่างใช้เทคนิคการปฏิบัติการผังเมืองเป็นเครื่องมือในการรับฟังความคิดเห็นและแสวงหาความเห็นร่วมเพื่อใช้เป็นแนวทางหลักในการกำหนดแผนและผังโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์และโปรแกรมการพัฒนาซึ่งต้องได้รับการอนุมัติงบประมาณจากตัวแทนของประชาชน


สำหรับโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งคณะที่ปรึกษาได้กำหนดให้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในขั้นตอนการยกร่างผังและได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเทคนิคการปฏิบัติการผังเมืองมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ลงลึกในรายละเอียดและสามารถกำหนดเป้าหมายในการรับฟังความคิดเห็นได้อย่างรอบด้านสอดคล้องกับข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ของโครงการดังนั้น จึงได้นำมาประยุกต์ใช้ อย่างไรก็ตามที่ปรึกษาได้พิจารณางดเว้นการใช้เทคนิคการปฏิบัติบางส่วนที่เป็นรายละเอียดการออกแบบทางกายภาพและการออกแบบข้อกำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดเหมาะสมกับข้อมูลและสภาพปัจจุบันมีความสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ รวมทั้งไม่ขัดแย้งกับข้อกำหนดและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน พ.ศ.2548



ภาพการปฏิบัติการผังเมืองของกลุ่มเกษตรกรรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

วันที่ 16 ตุลาคม 2557 ณ.โรงแรมแกรนด์ ริเวอร์ไซด์ จังหวัดพิษณุโลก


วัตถุประสงค์

ได้ใช้ตัวอย่างการกำหนดรายละเอียดการจัดทำแผนการมีส่วนร่วมประชาชนจากโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดพิษณุโลกเป็นกรณีศึกษาสำหรับบทความนี้ซึ่งโครงการได้กำหนดให้รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องจำนวน 3 กลุ่มเป้าหมายโดย

กลุ่มแรก เป็นตัวแทนหน่วยงานราชการส่วนกลางหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา

กลุ่มที่สอง เป็นภาคประชาชนซึ่งรับฟังผ่านตัวแทนองค์กรที่รัฐให้การรับรองประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยงจังหวัดพิษณุโลก และ

กลุ่มที่สาม เป็นตัวแทนจากองค์กรอิสระของภาคประชาชนได้แก่องค์กรพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) ตัวแทนปราชญ์ท้องถิ่นและตัวแทนจากชุมชนซึ่งบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของสาธารณะสำหรับในการปฏิบัติการผังเมืองด้วยความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ครั้งที่ 1 นี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเกษตรกรรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการสงวนรักษาและอนุรักษ์พื้นที่เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาซึ่งที่ปรึกษาได้รับความร่วมมือคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากหน่วยงานภาครัฐจำนวน 4 หน่วยงานประกอบด้วย สภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลกสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลกและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 (พิษณุโลก)และการประสานงานโดยตรงกับปราชญ์ท้องถิ่นด้านการเกษตร พร้อมตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดพิษณุโลก



ภาพการปฏิบัติการผังเมืองของกลุ่มเกษตรกรรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

วันที่ 16 ตุลาคม 2557 ณ.โรงแรมแกรนด์ ริเวอร์ไซด์ จังหวัดพิษณุโลก


เป้าหมายการปฏิบัติการผังเมือง

การปฏิบัติการผังเมืองตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาดได้กำหนดเป้าหมายไว้ 2 ประการ ประกอบด้วย

1. การรับฟังและปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับภาคและเมืองเพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาโดยกลุ่มองค์ความรู้ที่ต้องการจำแนกตามลักษณะการปฏิบัติการ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

1.1การสร้างยุทธศาสตร์และบทบาทของแต่ละภาคการผลิตและบริการของจังหวัดพิษณุโลกช่วง 20 ข้างหน้า

1.2การสร้างแนวทางการปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการตลาดและการกระจายสินค้าการวางผังและออกแบบพื้นที่ชนบทและเมืองเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและการสร้างนโยบายและข้อกำหนดการบริหารจัดการ

1.3 การกำหนดลำดับชั้นและขอบเขตพื้นที่เสี่ยงภัยพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่อ่อนไหวเชิงนิเวศพร้อมข้อเสนอการบริหารจัดการเชิงในเชิงผัง

2. การสรุปความคิดเห็นด้านปัญหาอุปสรรค และแนวทางที่สามารถนำไปสู่การวางผังและออกแบบผังเมืองรวม แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

2.1 การสรุปแนวทางและยุทธศาสตร์การวางผังที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ การโรงแรมและท่องเที่ยวการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานและการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2.2การสรุปนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดินในสาขาเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ การโรงแรมและท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากตัวแทนภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชน

4.2.3การสรุปแนวทางในการสร้างหรือปรับปรุงข้อกำหนดในการบริหารจัดการด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ การโรงแรมและท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



ภาพการปฏิบัติการผังเมืองของกลุ่มอุตสาหกรรมวันที่ 20 ตุลาคม 2557ห้องคอนเวนชั่น 2 โรงแรมท๊อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก


ตัวอย่างประเด็นการสร้างความเห็นร่วม

เป้าหมายสำคัญของการปฏิบัติการผังเมืองต้องการความแสวงหาความเห็นร่วมจากกลุ่มตัวแทนทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมการประชุมในการสร้างยุทธศาสตร์และแนวทางร่วมกันในการขับเคลื่อนแผนทั้งนี้หมายถึงแผนงานและโครงการที่แต่ละกลุ่มต้องกลับไปดำเนินการหลังการประชุมตัวอย่างประเด็นที่หาข้อสรุปดังตารางด้านล่าง

ตัวอย่างการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยและข้อกำหนดการจัดการของแต่ละภาคส่วน




ภาพการชี้แจงผลการปฏิบัติการผังเมืองของกลุ่มพาณิชยกรรม

โดยคุณชโยดม ฉันทวรางค์ รองประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก

วันที่ 20 ตุลาคม 2557ห้องคอนเวนชั่น 2 โรงแรมท๊อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก


สรุป

ผลที่ต้องการจากการปฏิบัติการผังเมืองที่สำคัญที่สุดคือการสรุปความคิดเห็นเชิงลึกที่มีความหลากหลายของประชาชน ผู้บริหารเมืองและผู้บริหารภาครัฐโดยแปรความเป็นแผนและผังทางกายภาพใช้การบูรณการเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากร การออกแบบผังทางกายภาพสำหรับการกำหนดอนาคตการใช้ประโยชน์ที่ดินการลงทุนและบริหารจัดการโครงการคมนาคมและขนส่งการลงทุนและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุล มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน ในทางปฏิบัติ กระบวนการปฏิบัติการผังเมืองจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทและวัตถุประสงค์ของแต่ละพื้นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องพัฒนาแนวทางในการแสวงหาความเห็นร่วมและแปรสภาพจากข้อคิดเห็นนำลงบนแผนผังหรือแผนที่ให้ได้ต่อจากนั้น จึงให้เสนอระบบการบริหารจัดการและวิธีการขับเคลื่อนแผนซึ่งทุกภาคส่วนต้องรับผิดชอบในการดำเนินการต่อไป


ท่านใดสนใจ แนวความคิด Smart Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด)เข้าไป กด like fanpage ตามลิ้งก์ Facebook นี้ครับ //www.facebook.com/smartgrowththailand

อ่านบทความ “ย้อนหลัง” ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่างนี้(เพื่อจะได้รับทราบข้อมูล “ผังเมือง” ในระดับโลกเค้าไปถึงไหนกันแล้ว //www.oknation.net/blog/smartgrowth




 

Create Date : 27 ตุลาคม 2557    
Last Update : 27 ตุลาคม 2557 6:47:34 น.
Counter : 1726 Pageviews.  

เดินหน้าประเทศไทย สนข.กับการสัมมนา “การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน” ตามแนวคิด Smart Growth

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง“การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit – Oriented Development) ตามแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth)”




Smart GrowthThailand

ขอขอบคุณสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ที่ให้ความสำคัญในการนำแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) เพื่อเผยแพร่และสร้างความเข้าใจสำหรับการนำสู่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยใช้กลยุทธ์การวางผังการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่ง (Transit-Oriented Development) เป็นธงนำในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญของ Smart Growth Thailand เป็นผู้ร่วมบรรยาย ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ฐาปนา บุณยประวิตรผศ.ดร.สญชัย ลบแย้ม ดร.ฐกลพัศ เจนจิวัฒนกุล และอาจารย์ศิวพงศ์ ทองเจือ


การสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างเป็นระบบและยั่งยืนโดยการพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนตามแผนการพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งจำเป็นจะต้องพัฒนาพื้นที่สำหรับการเชื่อมต่อระบบการเดินทางให้มีประสิทธิภาพและต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสมตลอดจนเพื่อให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่ความเป็นเมืองน่าอยู่


กรณีของการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งนั้น กระทรวงคมนาคมโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนเนื่องจากพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนมีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นย่านพาณิชยกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นเป็นพื้นที่ที่ควรส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อทางกายภาพกับตัวสถานีขนส่งมวลชนด้วยทางเดินและทางจักรยานหรืออาจเรียกพื้นที่บริเวณบริเวณนี้ว่า เป็นชุมชนแห่งการเดิน (Walkable Community) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นแหล่งงานแหล่งการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญให้กับประชาชนและยังสามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนได้มากขึ้นในอนาคต


สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ซึ่งมีวิสัยทัศน์เป็นองค์กรนำในการกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการจราจรของประเทศซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์การเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อประสาน ติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการขนส่งและจราจร และแผนงาน/โครงการไปสู่การปฏิบัติรวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการขนส่งและจราจรให้กับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรด้านการขนส่งและจราจรและเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ


จากภารกิจดังกล่าว สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)โดยสำนักพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร (สพร.)ได้เห็นถึงประโยชน์และความจำเป็นของการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรด้านการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการจราจรอย่างต่อเนื่องดังนั้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรให้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development) ตามแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth)” ขึ้น


สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2557 โดยมีคณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายและแผนการขนส่งมวลชนระบบราง และหน่วยการพัฒนาเมืองเข้าร่วม ประกอบด้วย คณะผู้บริหารจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กรมธนารักษ์กรมโยธาธิการและผังเมือง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และตัวแทนจากสถาบันการศึกษา


ทั้งนี้ หากมีเนื้อหาและสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ และได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ Smart Growth Thailand จะนำเสนอให้สาธารณะทราบในโอกาสต่อไป









ท่านใดสนใจ แนวความคิด Smarth Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด)เข้าไป กด like fanpage ตามลิ้งก์ Facebook นี้ครับ //www.facebook.com/smartgrowththailand

อ่านบทความ “ย้อนหลัง” ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่างนี้(เพื่อจะได้รับทราบข้อมูล “ผังเมือง” ในระดับโลกเค้าไปถึงไหนกันแล้ว //www.oknation.net/blog/smartgrowth




 

Create Date : 26 ตุลาคม 2557    
Last Update : 26 ตุลาคม 2557 7:35:47 น.
Counter : 1340 Pageviews.  

Streetcar เครื่องกระตุ้นการพัฒนาเมืองสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ แปลสรุปโดย ฐาปนา บุณยประวิตร



Streetcar เครื่องกระตุ้นการพัฒนาเมืองสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ

แปลสรุปโดย ฐาปนา บุณยประวิตร

Smart GrowthThailand Institute Email: thapana.asia@gmail.com

//www.asiamuseum.co.th/ //www.smartgrowthasia.com





ที่มา: //www.courier-journal.com/story/opinion/contributors/2014/09/27/streetcar-put-city-track-success/16277515/

บทนำ

บทความนี้ของ TheCourier-Journal เรื่อง Streetcar could put cityon track for success ที่เขียนโดย Porter Stevensมีสาระสำคัญที่ควรกล่าวถึงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประโยคนี้ Themunicipalities that were first to install modern streetcar systems arediscovering that streetcars are not just transportation systems — they'reeconomic development engines เทศบาลทั่วไปไม่ได้มอง streetcar เป็นเพียงแค่ระบบขนส่งมวลชนแต่มองว่ามันคือเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ผู้เขียนเห็นว่า Stevens เขียนบทความนี้ด้วยใจที่เป็นกลางเขาไม่ได้สนับสนุน streetcar เสียจนเลอเลิศแต่เขาได้ชี้ให้เห็นจุดเด่นสำคัญๆ ที่ streetcar มีและเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ก่อให้เกิดการยกระดับทางเศรษฐกิจสาระสำคัญดังต่อไปนี้

Mass Transit กับความท้าทายของ Louisville

Louisville กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญในก้าวย่างเข้าสู่ศตวรรษที่21 บรรดาผู้บริหารเมืองได้สรุปร่วมกันว่าในการก้าวสู่มั่นคงทางเศรษฐกิจพวกเขาคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการลงทุนระบบขนส่งสาธารณะไปได้ที่เรียกว่าเป็นความท้าทายนั้นก็เนื่องจาก ปัจจุบันประชากรใน Louisville เพียงร้อยละ 2.7 เท่านั้นที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะในขณะที่ร้อยละ 81.7 ยังคงพึ่งพารถยนต์ส่วนบุคคล แม้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประชาชนจะมีความยากลำบากด้านการครองชีพเนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งของราคาน้ำมันและเมืองได้ใช้งบประมาณอย่างมหาศาลในการลงทุนโครงข่ายถนนแต่นั่นก็ไม่ได้ยืนยันได้ว่า เป็นวิธีการพัฒนาเมืองที่ถูกต้องผลการศึกษาและประสบการณ์การพัฒนาจากหลายๆ เมืองได้ชี้ให้เห็นว่า หาก Louisville ต้องการดึงดูดให้เกิดการลงทุนของบริษัทใหม่ๆและที่อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่เขตเมือง Louisville มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องลงทุนระบบขนส่งสาธารณะและรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

Louisville มีทางเลือกมากมายในการลงทุนระบบขนส่งสาธารณะทั้งbus rapid transit, light rail, commuter rail, หรือระบบขนส่งมวลชนอื่นๆแต่ที่มีความเหมาะสมภายใต้ลักษณะสภาพแวดล้อมของเมือง ทั้งปัจจัยด้านขนาดของถนนความหนาแน่นประชากรและความต้องการคุณภาพทางเศรษฐกิจที่มีชีวิตชีวาภายในพื้นที่ใจกลางเมืองน่าจะมีเพียงระบบการขนส่งมวลชนเพียงชนิดเดียวที่สามารถตอบสนองความต้องการของ Louisville ได้ และนั่นก็คือ modern streetcar

เป็นที่ทราบกันดีว่า streetcar ได้หายไปจากท้องถนนในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปีค.ศ.1960 ระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่สหรัฐฯได้ลงทุนอย่างบ้าคลั่งในการขยายโครงข่ายถนน ทางด่วนและทางพิเศษเพื่อสนับให้ประชาชนเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลและสนับสนุนให้ประชาชนก่อตั้งบ้านเรือนในย่านชานเมือง ซึ่งจากปรากฏการณ์นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า สภาพของท้องถนนและสภาพการจราจรของสหรัฐฯในปัจจุบันมีลักษณะเป็นเช่นไร

หลายๆ เมืองในสหรัฐฯ ได้สรุปประสบการณ์นี้ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมืองใหญ่อย่าง Phoenix, St. Louis, Cincinnati , Atlanta, หรือแม่แต่ Portland พวกเขาได้เดินล่างหน้าไปแล้วสำหรับการลงทุน streetcar จากการสำรวจพบว่าอีก 7 เมืองกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงข่าย streetcar และที่สำคัญ อีก 21เมืองกำลังอยู่ระหว่างการวางแผนและออกแบบโครงข่าย streetcar นี่คือข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นสำหรับบริการขนส่งมวลชนที่เมืองมอบให้กับประชาชนในการสัญจรที่สะดวกปลอดภัยและต้นทุนต่ำ






ที่มา: Portlandstreetcar: //uyau.com/usa-western/or-portland/index.html

Louisville กับคำถามสำหรับการก้าวเดิน

Louisville เป็นอีกเมืองหนึ่งที่อยู่ระหว่างถามตัวเองว่าstreetcar คือคำตอบในการก้าวเดินเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 หรือไม่ และกับประสบการณ์ของ Portland ที่ได้รับการยอมรับจากวงวิชาการว่า streetcar คือเครื่องมือในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงงานวิจัยหลายชิ้นรายงานตรงกันว่า Portland ใช้งบประมาณลงทุนสำหรับ streetcar และโครงข่ายไป 55.2 ล้านเหรียญ โดยเขาได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสำหรับการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญ ประชาชนมีความพึงพอใจในการใช้ streetcar โดยมากว่าร้อยละ 70 ของการเดินทางระหว่างย่าน ประชาชนได้ใช้ streetcar ในการสัญจรไม่รวมการลงทุนใหม่ของภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจใหม่ๆที่เกิดขึ้นทั้งในย่านและเก่าและใหม่ที่เส้นทาง streetcar พาดผ่าน ปรากฏการณ์นี้จะสามารถนำมาเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จของ Louisville ได้หรือไม่ 





ที่มา //bikewalkkc.org/streetcar

อย่างไรก็ตาม แม้ streetcar จะเป็นคำตอบที่ Louisville มีอยู่ในขณะนี้ แต่ Louisville ยังต้องตอบคำถามสำคัญ 2 ประการและต้องพิจารณาให้ละเอียดว่า streetcar คือเครื่องมือที่สามารถปรับเปลี่ยนเมืองไปสู่ความยั่งยืนและทรงประสิทธิภาพจริงหรือไม่

1.streetcar ไม่ได้เป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในตัวของมันเองstreetcar ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์ที่จะดึงดูดทุกสิ่งทุกอย่างมาไว้บริเวณสองฝั่งcorridor ที่จริง streetcar น่าจะเป็นเพียงแค่แรงผลักดันสำคัญตัวหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจมันคือตัวเชื่อมที่มีประสิทธิภาพระหว่างสองหรือหลายๆ ศูนย์เศรษฐกิจใช่หรือไม่หรือมันคือเครื่องมือที่กระตุ้นพื้นที่ที่รอการพัฒนาอยู่แล้วให้มีพลังและพร้อมที่จะเดินหน้าสู่ความสำเร็จใช่หรือไม่หรือมันคือเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและเจ้าของแปลงที่ดินให้เกิดความฮึกเหิมในการลงทุนปรับปรุงฟื้นฟูและลงทุนในกิจการหรือมันคือเครื่องกระตุ้นให้ประชาชนจอดรถยนต์ส่วนบุคคลและหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

2.รูปแบบโครงข่าย modern streetcar ในสหรัฐฯ ทั้งจาก Portland, Cincinnati, และ Albuquerque ได้บอกให้เราทราบว่า streetcar เป็นยวดยานที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างย่านพาณิชยกรรมใจกลางเมืองกับย่านพาณิชยกรรมรอบมหาวิทยาลัยซึ่งแน่นอนที่สุด ย่านพาณิชยกรรมที่กล่าวมาต่างมีประชากรที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่นอยู่แล้วและที่สำคัญประชากรในย่านพาณิชยกรรมรอบมหาวิทยาลัยเป็นประชากรที่ไม่พร้อมจะซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลเนื่องจากส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและไม่ได้อยู่อาศัยในย่านนั้นอย่างถาวรนี่คือปัจจัยที่ Louisville ต้องพิจารณาให้รอบคอบ

สรุป

กล่าวโดยสรุป Louisville คงมีทางเลือกไม่มากนักในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจในพื้นที่ใจกลางเมืองและศูนย์พาณิชยกรรมที่เมืองได้กำหนดวางผังสร้างขึ้นใหม่ประสบการณ์การบังเกิดขึ้นของพื้นที่แห่งการเดิน (Walkable Urban Areas) ย่านการค้าปลีก อาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัยผสมผสานพาณิชยกรรมที่คึกคักมีชีวิตชีวาในเมืองต่างๆ ที่ streetcar วิ่งผ่านน่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับผู้บริหารเมืองและประชาชนชาว Louisville ที่ต้องพิจารณากันต่อไป

ชมคลิปภาพ



เอกสารอ้างอิง

Porter Stevens, StreetcarCould Put City on Track for Success, The Courier-Journal. September, 28, 2014, //www.courier-journal.com/story/opinion/contributors/2014/09/27/streetcar-put-city-track-success/16277515/

ท่านใดสนใจ แนวความคิด Smarth Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด)เข้าไป กด like fanpage ตามลิ้งก์ Facebook นี้ครับ //www.facebook.com/smartgrowththailand

อ่านบทความ “ย้อนหลัง” ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่างนี้(เพื่อจะได้รับทราบข้อมูล “ผังเมือง” ในระดับโลกเค้าไปถึงไหนกันแล้ว //www.oknation.net/blog/smartgrowth




 

Create Date : 02 ตุลาคม 2557    
Last Update : 2 ตุลาคม 2557 9:01:33 น.
Counter : 1647 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.