*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 

Bakery House In My Dream!

ที่สหรัฐฯ นี่จะมีร้านกาแฟ และร้านขายขนมปัง เรียงรายเต็มไปหมด ร้านดัง ๆ ก็จะคล้ายเมืองไทยนั่นแหละครับ ผมชอบไปนั่งเล่น ที่ร้านกาแฟ เพราะเป็นคนติดกาแฟ แต่ไม่ชอบกินขนมปังเขาเท่าไหร่ เพราะขนมปังที่สหรัฐฯ นี่มีรสหวานจัด แป้งแข็งกระด้าง ไม่มีความอร่อยแม้แต่น้อย แต่กาแฟหอมดี



ตอนอยู่เมืองไทย เจอร้านกาแฟ ก็จะต้องแวะซื้อกินซะหน่อยดูว่าอร่อยขนาดไหน แต่ก็ซื้อกินเฉพาะกาแฟไทยเท่านั้น ตั้งแต่ กาแฟรถเข็น ที่เรียกตัวเองว่า "กาแฟโบราณ" กับ บ้านไร่กาแฟ (ที่แพงมาก แต่กัดฟันซื้อกิน) ที่ตั้งเรียงรายตามถนนหลวง



มาอยู่สหรัฐฯ นี่เข้าแต่ร้านกาแฟของฝรั่งมัน (ก็มันไม่มีกาแฟรถเข็น กับบ้านไร่ให้กินนี่ครับ) ร้านกาแฟของฝรั่งนี่ มันจัดดี นอกจากจะมีโต๊ะเก้าอี้ นั่งกันสบายแล้ว ยังมีโซฟาให้นั่งเรื่อยเปื่อย พร้อมมีอินเตอร์เน็ต ให้ต่อเล่นได้ฟรีอีก กินกาแฟแก้วหนึ่ง ราคาประมาณ ๒ เหรียญ กับขนมปังชิ้นหนึ่ง นั่งได้ตราบนานเท่านั้น ตั้งแต่เช้ายันร้านปิดก็ได้ (ถ้าไม่กลัวเขาด่าในใจ)



นักเรียนก็จะไปร้านกาแฟนี่แหละ อ่านหนังสือไปเรื่อย มีเสียงเพลงเบา ๆ ฟังไป มีอินเตอร์เน็ตให้ใช้ มีโทรทัศน์ให้ดูในบางร้าน คนที่ทำงานแล้ว มักจะไปรวมตัวกันสนทนา ปรึกษาหารือ หรือพบปะสังสรรค์ที่ร้านกาแฟ ไม่ว่ามันจะตั้งไกลสักเท่าใด ก็จะมีคนไปนั่งกันแออัด อย่างสม่ำเสมอ



อีกสถานที่หนึ่งที่ นักเรียนและคนทำงานมักจะชอบไป คือ ร้านขายหนังสือ ที่ไม่ได้มีแค่หนังสือขาย แต่มีความบันเทิงรูปแบบอื่นให้ซื้อหาด้วย ไม่ว่าจะเป็นหนังแผ่น (ซีดี ดีวีดี) และที่สำคัญที่สุด ก็คือ ร้านกาแฟ ของโปรดของผมนั่นแหละ ชอบใจหนังสือเล่มไหน ก็หยิบมันมาอ่านได้ทั้งวัน กาแฟแก้วหนึ่ง ขนมปังสักชิ้น หรือ หิวจัด ๆ ก็มีพวกแซนวิชกับเนื้อประเภทต่าง ๆ อีกด้วย ส่วนใหญ่แล้ว คนที่อ่านสักพัก ก็ชอบใจซื้อหาหนังสือเล่มนั้นกลับบ้านเสมอ



ผมเขียนเรื่องนี้ เพราะเห็นร้านประเภทนี้ แล้วผมชอบใจกับบรรยากาศ ไม่รู้ที่เมืองไทยเรามีร้านแบบนี้เยอะขนาดไหนแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ผมรู้สึกว่า การทำงานราชการนี่ มันยากจนเสียจริง ๆ ข้าราชการระดับหัวหน้าแผนกอย่างผม ( ซี ๖) ซึ่งผมได้รับแต่งตั้งเป็น ซี ๖ มาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๓ แล้ว ต้องทำงานหนักเกิน ๑๐ ชั่วโมงในแต่ละวัน มาสิบกว่าปี เงินเดือนปัจจุบันแค่ ๑๖,๐๐๐ (หนึ่งหมื่นหกพัน) บาทเท่านั้น มันช่างกระจอกเสียจริง ๆ จนสิ้นดีเลย ข้าราชการไทยนี่ ขาดความมั่นคงในชีวิตอย่างมาก หากมีร้านเล็ก ๆ อย่างนี้ สักร้าน เอาไว้เป็นที่พบปะสังสรรค์หลังเลิกงาน อ่านหนังสือ กินกาแฟ ก็คงจะดี เพราะมันจะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตเราได้



ผมอยากเห็นระบบราชการไทย ขยันขันแข็ง แบบญี่ปุ่น ข้าราชการระดับล่างสุด ยันรัฐมนตรี ติดต่อสื่อสารด้วยอีเมลล์กันได้อย่างรวดเร็ว ข้าราชการทำงานวันละ ๑๒ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย และเงินเดือนน้อยกว่าภาคเอกชน ไม่เกิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ อยู่อย่างมีเกียรติสูงสุด ด้วยเหตุที่เขาได้เงินสูงมากนี่เอง หากข้าราชการทำงานอื่นนอกจากการอุทิศตนให้องค์กรราชการแล้ว ถือว่า คอรัปชั่น โทษร้ายแรงยิ่งนัก .... บ้านเราจะมีโอกาสได้เห็นไหมครับเนี่ย ....


...เอ่อ ....แล้วคุณว่า

"ฝันของผม จะมีทางเป็นจริงได้ไหม" แล้ว

"บรีส กับคุณไตรภพฯ จะแจกรถเข็น พร้อมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท"

ให้ผมในรายการฝันที่เป็นจริงหรือเปล่าครับ




 

Create Date : 30 มกราคม 2549    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:12:37 น.
Counter : 1104 Pageviews.  

แด่ผู้มีพระคุณทางการศึกษา

ผมอยากจะกล่าวถึงผู้มีพระคุณทางการศึกษาของผมตั้งแต่เด็กมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวนมากมายเหลือเกิน ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ภาคประเทศไทย กับภาคสหรัฐฯ




ผมเข้าโรงเรียนครั้งแรก ในยุคนั้น ประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๑ ในจังหวัดบ้านเกิดผม ยังไม่มีโรงเรียนอนุบาล การเริ่มเรียนของเด็กส่วนใหญ่จะเริ่มค่อนข้างช้ามาก เช่นตัวผมเองนี่ เริ่มเรียนตอน ๗ ขวบบริบูรณ์ ขอเน้นนะครับว่า "บริบูรณ์" จริง ๆ เท่านั้น โรงเรียนจะไม่ยอมรับเด็กที่มีอายุ ๖ ขวบนิด ๆ เข้าเรียนโดยเด็ดขาด ต้องบริบูรณ์แบบไม่ขาดไปเลยแม้แต่วันเดียวเท่านั้น

ผมได้เฝ้ารอวันที่จะเข้าโรงเรียนอย่างใจจดใจจ่อ เท่าที่จำได้ ผมรอนานมาก เพราะเห็นพี่ ๆ ที่บ้านผม เดินทางไปโรงเรียนแต่เช้าทุกวัน ผมได้แต่รอว่าพี่ ๆ เมื่อไหร่จะกลับมา แล้วก็ถามพี่ ๆ ว่า วันนี้เรียนอะไรกันบ้าง มีอะไรสนุกบ้าง รออยู่อย่างนั้น ถามอยู่อย่างนั้นอยู่หลายปีก่อนที่ตัวเองจะได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตการเรียนจริง ๆ

ครูคนแรก ชื่อ คุณครูทิพย์วรรณ หมุยจินดา ท่านสอนจับดินสอแบบที่ทำด้วยไม้แล้วก็ลากมือผมไปตามตัวอักษร ก. ข. ฯลฯ ดินสอสมัยนั้น ต้องใช้มีดเล็ก ๆ เหลาไส้ดินสอให้คม เพื่อนบางคนผมเขามีวิทยาที่ล้ำหน้าหน่อย ในสมัยนั้น ก็จะใช้กบเหลาดินสอตัวเล็ก ๆ ซึ่งมันน่าตื่นเต้นไม่น้อยเลย เพราะครูคนนี้แหละ ที่ทำให้ผมอ่านออกเขียนได้มาจนถึงปัจจุบัน ขอบพระคุณท่านครับ ไม่มีท่านแล้ว ผมคงอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ครับ

ตอนไปเรียนใหม่ ๆ เห็นเพื่อนนั่งร้องไห้ เพราะต้องมาโรงเรียน กว่าพ่อแม่จะกลับบ้านได้ ก็แทบย่ำแย่ ผมแปลกใจไม่น้อย และไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมเพื่อน ๆ ผม เขาต้องร้องไห้นะ นอกจากนี้ ยังสะเออะ เข้าไปปลอบเขาอีก ตัวผมเองดีใจแทบตายที่ได้เข้าโรงเรียนเสียที ทำไมเพื่อนผมมันร้องไห้ที่ต้องมาโรงเรียนฟะ .... งงนะเนี่ย

รุ่นผมเป็นรุ่นแรก ที่มีการวัดผลการเรียนแบบตัดเกรด (ตั้งแต่เกรด ๑ ถึงเกรด ๔) รุ่นพี่ชั้น ป. ๒ เขาเรียนแบบคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ตอนเล็ก ๆ นี่ ตั้งใจเรียนมาก ได้เกรด ๔ หมดทุกตัว ... รุ่นพี่ผมที่อยู่ ป.๒ เขารู้สึกแปลกใจกับระบบเกรดมาก มาขอดูแบบบันทึกการเรียนของรุ่นน้อง ๆ กันใหม่ แล้วเขาก็บอกว่า

คนที่ได้เกรด ๑ คือ ได้ที่ ๑ ส่วนคนที่ได้เกรด ๔ คือ คนที่ได้ที่ ๔


เวรกรรมเลยครับ รุ่นพี่ผมเขาว่าอย่างนั้น .... เฮ้อ..... ผมยังทันแบบเรียน ปิติ มานะ มานี กับเจ้าแก่ ที่พวกเขาเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เริ่มไปโรงเรียนตั้งแต่เด็ก ๆ แบบผม จนกระทั่งเจ้าแก่มันแก่ตายไป ตอนนี้ แบบเรียนนี้ คงไม่ได้ใช้แล้ว แต่ผมชอบแบบเรียนแบบนี้ วิธีการสอนแบบที่ผมเรียน โดยเฉพาะการเรียนวิชาภาษาไทย ที่เน้นการผสมคำและผสมเสียง ทำให้สะกดคำได้อย่างถูกต้อง

ผมเห็นวิธีการอ่านหนังสือของหลาน ๆ ผมแล้ว ผมตกใจมากกับวิธีการสอนของครูสมัยใหม่ ในการสอนสะกดคำ เช่นคำว่า "โรงเรียน"

ถ้าเป็นสมัยผม ก็สอนว่า

"ร" - "โอ" - "โร" - ง" - "โรง", "ร" - "เอีย" - "เรีย" - "น" - "เรียน"

แต่ครูสมัยใหม่ สอนให้อ่านแบบเรียงตัวแบบภาษาอังกฤษ คือ

"โอ - รอ - ง" = "โรง", "เอ- รอ- อี- ยอ- นอ" = "เรียน"


ไม่รู้สิครับ สอนแบบนี้ ผมว่าเด็กอ่านและผสมคำใหม่ ๆ ด้วยตัวเองไม่ได้แน่ ๆ ไม่รู้ว่าใครคิด ให้สอนแบบนี้ น่ากังวลจริง ๆ ผมเห็นเด็กยุคใหม่หลายคน (ไม่รู้ว่าจะเป็นเฉพาะแค่หลาน ๆ ผมหรือเปล่า) อ่านหนังสือ และเขียนสะกดคำไม่ค่อยถูก น่าแปลกมาก

ที่จริงยังมีครูอีกหลายท่านที่อยู่ในความทรงจำที่ดีของผม โดยเฉพาะคุณครู "สมสมัย" และคุณครู "เพ็ญศรี" ที่โรงเรียนทวีธาภิเศก ทั้งสองท่านนี้ มีความเมตตากรุณาต่อลูกศิษย์เป็นอย่างมาก ท่านแรกสอนวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนท่านที่สองสอนวิชาคณิตศาสตร์ ผมต้องขอขอบคุณครูทุกท่านที่สอนสั่งผมมาโดยตลอด

ที่ธรรมศาสตร์ ก็มีอาจารย์หลายท่านที่กรุณาผมมาก ๆ โดยเฉพาะก่อนผมมาเรียนที่สหรัฐฯ นี่ เป็นช่วงที่ผมจะต้องทำอะไรเร่งด่วนให้เสร็จสิ้นหลายประการ เช่น ต้องส่งเอกสารวิจัย สำหรับหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ที่ธรรมศาสตร์ ให้เสร็จสิ้น ไม่งั้นผมก็ต้องทิ้งมันไป ซึ่งแน่นอนครับ ได้ความเมตตาจากอาจารย์ ช่วยเหลือ แนะนำ แก้ไข งานวิจัยจนสำเร็จลงจนได้ ขอบคุณครับ

อีกท่านที่ผมต้องขอบคุณ คือ อาจารย์สงวนฯ ที่เสาชิงช้า อาจารย์สงวน เป็นเพื่อนกับผู้บังคับบัญชาของ ท่านเห็นผมจะมาเรียนที่สหรัฐฯ ท่านก็ให้โอกาสผมไปเรียนที่โรงเรียนเสริมหลักสูตร ที่เสาชิงช้า โดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายเลย แต่บังเอิญผมมียังต้องทำงานในตำแหน่งหัวหน้านิติกร ฝ่ายตรวจสอบสำนวนคดีอาญา (เสนอความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ) จึงทำให้มีเวลาไปเรียนน้อย เพียงสองเดือนก่อนมาเรียนในสหรัฐฯ แต่ก็ได้อะไรมากมาย โดยเฉพาะภาคคำศัพท์ ซึ่งเป็นพื้นฐานอย่างดีในการอ่านหนังสือเรียนในสหรัฐฯ



ที่กล่าวมาเป็นเพียงเศษเสี้ยวนะครับ เพราะยังมีอีกมากมายหลายท่าน ที่ผมไม่ได้เอ่ยนาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ได้เคารพรักท่านนะครับ


Professor Hoffmann


ส่วนในสหรัฐฯ นี้ อาจารย์คนแรกของผม คือ Professor Hoffmann ที่ Indiana Law School นอกจากท่านจะมีประวัติโดดเด่น ตั้งแต่เริ่มชีวิตการทำงานของท่าน โดยเป็นเลขาของ Justice William H. Rehnquist อดีตประธานศาลสูงสุดสหรัฐฯ ผู้เพิ่งล่วงลับไปไม่นาน แล้ว ท่านเข้าใจเด็กต่างชาติดี ท่านจึงจัดการเรียนการสอนเป็นพิเศษ นอกหลักสูตร เพื่อปูพื้นฐานให้แก่เด็กต่างชาติที่เป็นกะเหรี่ยงอย่างพวกผมนี่แหละ Professor Hoffmann สอนหลายวิชาในเรื่องกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายอาญา และกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีความสามารถในการอธิบายและหยิบยกปัญหามากระตุ้นให้นักเรียนได้คิด นำประเด็นใหม่ ที่น่าสนใจและท้าทายมาให้คิดเสมอ ท่านยังสามารถพูดได้หลายภาษา เข้าใจวัฒนธรรมของเด็กต่างชาติเป็นอย่างดี มีน้ำใจเอื้ออาทร จัดงานเลี้ยงตอนรับพวกเรา ตอนแรกเข้า และงานแสดงความยินดีตอนสำเร็จการศึกษา น่ารักมากครับ


Professor Thomas Ulen


ลักษณะที่โดดเด่นอย่าง Professor Hoffmann นี้ ผมได้มาเจออีกครั้งที่ University of Illinois College of Law คือ Professor (Dr.) Tom Ginsburg และ Professor (Dr.) Thomas Ulen ซึ่งปัจจุบัน ท่านทั้งสองคนเป็น Advisor ของผมในหลักสูตรปริญญาเอกทางกฎหมาย (JSD Program)


Professor Ginsburg


เพื่อน ๆ ของผมจะทราบดีว่า ผมไม่ได้เป็นคนเก่งอะไรมากมาย แต่อาจจะเป็นคนที่มีความพยายาม (ในระดับหนึ่ง) เท่านั้น ซึ่งผมก็ตระหนักดีเสมอมา ยิ่งเป็นการสมัครเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาเอก (JSD Program) ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญยิ่งนัก มีคนที่ฉลาดปราชญ์เปรื่องจำนวนมากมาย ที่ไม่อาจจะต่อปริญญาเอกทางกฎหมายในสหรัฐฯ ได้ จะสังเกตได้จากอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในประเทศไทย มีจำนวนน้อยมากที่สำเร็จปริญญาเอกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ด้วยเหตุนี้ที่มันสมัครเข้าเรียนยากมาก เพราะแต่ละ Law School จะรับเด็กของตัวเอง เข้าเรียนปีละ ๒ หรือ ๓ คน เป็นอย่างมาก มีข้อยกเว้นบ้าง ที่จะรับเด็กที่จบปริญญาโทจาก Law School อื่น ที่สำคัญมีเพียงไม่กี่ Law School ที่เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญเอกอีกต่างหาก

ผมเป็นคนโชคดี ที่ได้อาจารย์สองท่านนี่แหละสนับสนุน หากปราศจากสองท่านนี้แล้ว ผมก็คงได้ขนกระเป๋ากลับเมืองไทยไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.๒๕๔๘ แล้ว ในโอกาสนี้ จึงขอเขียนบล๊อกขอบคุณท่านทั้งสองครับ แม้ท่านจะไม่อ่านภาษาไทยได้ ก็ตาม

Professor Tom Ginsburg จบการศึกษาระดับปริญญาเอก จาก UC Berkeley เคยไปการศึกษาวิจัยที่ญี่ปุ่นและประเทศไทย เป็นเวลา ๑ ปี พูดและเข้าใจภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าใจภาษาจีนและภาษาเกาหลีได้ดีอีกระดับหนึ่งด้วย ผมว่าท่าน Professor Tom กับ Professor Hoffmann เหมือนกันหลายจุด โดยเฉพาะการเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีการเลี้ยงต้อนรับ และ เลี้ยงแสดงความยินดีกับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาที่บ้านของท่าน เหมือน ๆ กัน สอนให้เข้าใจได้ดีเหมือนกัน ๆ

ส่วนท่าน Professor Ulen นี่ ท่านจบปริญญาเอก จาก Stanford University งานวิจัยของท่านเน้นทางด้าน Law and Economics ที่นักกฎหมายส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศไทย มองข้าม เพราะวิชาเศรษฐศาสตร์ มันช่างล้ำลึกเข้าใจยากยิ่งนัก ปัจจุบันท่านได้รับแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เป็น Swanlund Chair ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจมาก เพราะ ตำแหน่ง Chair เป็นตำแหน่งสูงสุดทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐจะมอบให้ได้

ผมได้มีโอกาสเรียนกับ Professor Ulen ตอนเรียนปริญญากฎหมาย(ใบที่สอง) ที่อิลลินอยส์ นี่แหละ ท่านได้บรรยายกฎหมายให้พวกเราฟัง พร้อมยกงานวิจัยของศาสตราจารย์ทางกฎหมายและสาขาอื่น ๆ อย่างรอบด้านมาเปรียบเทียบ ทำให้เรามองกฎหมายในด้านต่าง ๆ กว้างขึ้นโดยเฉพาะ แนวคิดทางกฎหมาย ที่วิเคราะห์วิจัยโดยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ท่านยังพาพวกเราไปดูงานและกระบวนพิจารณาคดีของศาลในสหรัฐฯ ทั้งระดับ State Court & Federal Court พร้อมกับมีงานเลี้ยงมากมาย ที่ท่านออกค่าใช้จ่ายเอง

ท่านเป็นคนมีน้ำใจอย่างมาก นอกจากท่านจะรับเป็นที่ปรึกษาของผมอย่างเต็มใจและกระตือรือร้นแล้ว เมื่อท่านทราบว่า ผมจะขออนุญาตเดินทางไประเทศญี่ปุ่น เพื่อดูงานกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก โดยเฉพาะแนวคิด และทางปฏิบัติในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงแนวคิดในด้านตำรวจชุมชนสัมพันธ์นั้น ท่านได้เสนอให้เงินช่วยเหลือผมทันที เป็นเงินจำนวน ๕๐๐ เหรียญ (ซึ่งความจริงท่านให้ผมมากกว่านั้นเยอะ ตอนไปจริง ๆ ครับ) โดยผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมีใครที่ใจดีต่อเราได้ถึงเพียงนี้

ผมแทบน้ำตาไหลพราก ๆ ออกมาเลยก็ว่าได้ เพราะอะไรหรือครับ .... ก็ไอ้โครงการที่ผมจะไปดูงานและเก็บข้อมูลในประเทศญี่ปุ่นนี่แหละครับ ผมได้ทำเรื่องถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อร้องขอรับการสนับสนุน ให้ช่วยจัดทำหนังสือถึงประเทศญี่ปุ่น (ผ่านสถานฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย) เพื่อให้ผมได้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายหน่อย ทั้งนี้ เพื่อนผมชาวญี่ปุ่นของผม ซึ่งเป็นพนักงานอัยการ ได้เมตตาต่อผม ติดต่อรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ของญี่ปุ่น จนได้รับคำยืนยันว่า รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่น ยินดีต้อนรับ และอำนวยความสะดวก พร้อมจะจัดหาล่ามแปล ฯลฯ ทุกประการแก่ผมแล้ว เพียงแต่ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหนังสืออย่างเป็นทางการ ในทำนองยืนยันว่า ผมเป็นตำรวจ และขอความช่วยเหลือทางวิชาการเท่านั้น ................ แต่ผมกลับได้รับการตอบสนองแบบแปลก ๆ จากองค์กร ที่ผมรักมากที่สุดของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณขององค์กรเลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว

ผมได้แต่คิดและหวังว่าหลายอย่างจะสดใสขึ้น เพราะหากจะเปรียบเทียบกันแล้ว ดูเหมือนอะไร ๆ ของญี่ปุ่นมันจะง่ายไปหมด เพื่อนผม ติดต่อรัฐมนตรีของเขา ผ่านระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) ..... รัฐมนตรีของเขาตอบกลับมาทันควัน ผ่านระบบอีเมลล์เช่นกัน ว่ายินดีต้อนรับ พร้อมให้รายชื่อ เจ้าหน้าที่ในการติดต่อ ทั้งประเทศญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่ที่สถานทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่นมาพร้อมสรรพ .... หลายเหตุการณ์ เช่น ความวุ่นวายในเมืองไทย แนวคิดผู้บริหาร และระบบราชการไทย ทำให้ผมชักคิดย้อนหลังไปเสมอ ๆ ว่า ผมคิดถูกหรือผิดนะที่ปฏิเสธโอกาสที่สวยงามของตัวเอง ที่ครั้งหนึ่งได้รับการเสนอจาก World Bank ในฐานะนักกฎหมายไป

ผมชักเชื่อคำพูดของเพื่อนผมซะแล้วว่า พนักงานอัยการประเทศญี่ปุ่น ซื่อสัตย์ และขยันทำงานอย่างมาก โดยญี่ปุ่นมีอัยการมากกว่าประเทศไทยเพียงเล็กน้อย แต่ประชากรมากกว่าประเทศไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อนผมบอกว่า พนักงานอัยการของญี่ปุ่น ตั้งแต่ระดับเล็กสุด จนถึงอัยการสูงสุด ทำงานวันละไม่น้อยกว่า ๑๔ ชั่วโมง ไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ ในขณะที่ได้เงินเดือนมากกว่าข้าราชการอื่น ๆ เพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ คงจะจริงครับ เพราะเขาสามารถติดต่อกันทางอีเมลล์ ในทุกระดับ ตั้งแต่เพื่อนผมที่เป็นอัยการใหม่ ๆ ใช้อีเมลล์ ติดต่อสื่อสารกับรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของเขาได้ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของเขาเคยเป็นพนักงานอัยการด้วยกันหรือเป็นเพราะเขามีระบบการทำงานที่ดีนะครับ

เอ่อ .... ผมกล่าวนอกเรื่องไปเสียนาน ใจจริง อยากจะกล่าวขอบคุณอาจารย์ของผมเท่านั้นครับ ส่วนปัญหาอุปสรรค มันเป็นเรื่องธรรมดาครับ ทุกคนต้องเจอ โดยเฉพาะผม ยังต้องเจอปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ คือ Professor Ginsburg มีแนวโน้มกำลังจะย้ายไปสอนที่ University of Pennsylvania Law School แล้ว เฮ้อ ...... ไม่มันส์เลยครับ .......

ปีก่อน เห็นรุ่นน้องที่ คณะเศรษฐศาสตร์ ต้องยุติการเรียนระดับปริญญาเอก เพราะอาจารย์ย้ายมหาวิทยาลัยนี่แหละ หวังว่าผมจะไม่ต้องมีชะตากรรมแบบเดียวกัน และผมหวังว่า ผมคงคิดไม่ผิดที่ทิ้งโอกาสอันงดงามกับ World Bank ในครั้งนั้น



ปล. ผมได้อัพเดทบล๊อกกฎหมาย ที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไว้ด้วย หากสนในขอเชิญ คลิ๊กที่นี่ ได้เลยครับ




 

Create Date : 28 มกราคม 2549    
Last Update : 2 มิถุนายน 2553 14:42:38 น.
Counter : 743 Pageviews.  

ฝันร้าย กับสิ่งเพี้ยน ๆ ของผม

เมื่อคืนวันที่ ๑๖ ม.ค. ๔๙ ผมฝันว่า ประเทศไทย มีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย สู้รบกัน แบบสงครามกลางเมือง ฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ รบพุ่งกัน ถึงขั้นเกือบจะแตกหัก กองกำลังฝ่ายเหนือ กับฝ่ายใต้ สู้รบกันมันหยดติ๋ง ๆ มีเพียงลำน้ำกั้นระหว่างสองฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายระดมยิงเข้าหากันตลอดเวลา จำไม่ได้ว่า ฝ่ายใด ที่รวบรวมนักปราชญ์ เพื่อเตรียมหลบหนีแล้วไปสร้างชาติใหม่ ......




ตกใจตื่นทันที ไม่ทราบว่า ทำไมจึงฝันแปลกประหลาดเช่นนั้นได้ ไม่ทราบว่าผมฟังรายการ ที่คุณสนธิฯ พูด มากเกินไปหรือเปล่า หรือ ไม่เช่นนั้น ผมก็คงจะศึกษาเกี่ยวกับ Civil war ที่มีฝ่าย Confederation กับ Federation ของสหรัฐฯ มากเกินไปเป็นแน่แท้ จนทำให้ผมฝันเช่นนั้นไปได้

ที่จริง ผมก็ทั้งอ่าน และฟังรายการของคุณสนธิฯ หลายครั้ง แต่อาจจะทำให้ผมฝันร้าย ก็ตอนที่เขานำผู้คนไปชุมนุมหน้าสถานที่สำคัญ แล้วมีการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ถ้อยคำตอนหนึ่งของคุณสนธิฯ บอกว่า นายกพูดจาหยาบคายไม่ได้ พูด "มึง มา พา โวย วะ" อะไรไม่ได้ เพราะมีวุฒิภาวะสูง ไม่เหมือน คุณสนธิฯ ที่จะพูดจาหยาบคาย อะไร อย่างไร ก็ได้ทั้งนั้น ฟัง ๆ ดูแล้ว ก็เข้าท่าดี เพราะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องมีความอดทนสูง และมีวุฒิภาวะสูง

แต่อย่างไรก็ตาม ผมไม่ค่อยคล้อยตามกับเหตุผลของคุณสนธิฯ ที่ว่า ตัวเขาเองนั้นจะพูดอย่างไรก็ได้ จะหยาบคาย แค่ไหน เพียงใด หรือจะพูดไม่ตรงกับความจริง หรือ จริงแต่ไม่จริงทั้งหมด อย่างไรก็ได้ ผมไม่สบายใจเท่าไหร่ ที่เขาจะคิดเช่นนั้น เพราะเขาคือ "สื่อมวลชน" ซึ่งแม้แต่อดีตพระมหากษัตริย์ของเรา ยังยอมรับว่า เขาคือ ฐานันดรที่ ๔ ของสังคมเลยทีเดียว

สื่อมวลชน มีอิทธิพลสูงต่อสังคมอย่างมาก เพราะสามารถสร้างกระแสต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมได้โดยง่าย โดยเฉพาะในภาวะที่คนอยู่ในภาวะไร้เหตุผล หรือถึงขึ้นบ้าคลั่งแล้ว ยิ่งสามารถถูกชักจูงได้ง่าย อีกทั้ง เยาวชน ยังจับจ้องมองสื่อมวลชนอย่างไร หากเขาเห็นว่า การพูดจาหยาบคาย โป้ปด มดเท็จ เป็นเรื่องธรรมดา ที่คนที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี สามารถกระทำได้แล้ว ผมว่าจะเป็นอันตรายต่อสังคมอย่างมาก

ผมได้ฟังคุณสนธิฯ พูดอีกครั้ง ตอนที่มีครูไปชุมนุมกัน คุณสนธิฯ ใช้สไตล์ การพูดเช่นเดิม ทั้งหยาบคายและไม่จริงหลายส่วน เช่นว่า คุณสนธิฯ ว่า หลังจาก นายกรัฐมนตรีฯ จบการศึกษา ระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัย Sam Houston แล้ว มหาวิทยาลัย ได้ยุบคณะ Criminal Justice ที่นายกฯ จบมาทันที โดยนายสนธิฯ อ้างหลายเหตุผล .... ผมตกใจ รีบคลิ๊ก อินเตอร์เนต ดูข้อมูลทันที นอกจากจะไม่จริงแล้ว มหาวิทยาลัย แห่งนี้ ยังได้ขยายปริญญาเอกทาง Criminal Justice ไปอีกหลายสาขา มีคณาจารย์กว่า ๔๐ คน ซึ่งถือ เป็นคณะอาชญาวิทยา ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ คณะหนึ่ง เลยก็ว่าได้

อีกส่วนหนึ่งที่ นายสนธิฯ พูดถึง คือ นายกรัฐมนตรีฯ ไม่เคยดื่มพิพัฒน์สัตยา ผมเอง ยังเคยดื่มเลย ผมเชื่อว่า ท่านก็เคยดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา ที่มีคมหอกคมดาบ ปักไว้อยู่ ที่ผมเคยเข้าพิธีอันสำคัญอย่างนี้ ไม่ใช่เพราะผม ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อะไรตามที่นายสนธิ อ้างหรอก แต่เพราะ นักเรียนนายร้อยตำรวจ นายร้อย จปร. ฯลฯ ต้องฝึกหลักสูตรกระโดดร่ม หากใครเข้าฝึกหลักสูตรนี้ ก่อนจะได้เป็นนักเรียนพลร่ม จะต้องเข้าสู่พิธีนี้ทั้งสิ้น

ตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร (ประจวบคีรีขันธ์) ที่ผมไปฝึกมา ตอนอยู่ปี ๑ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้จัดพิธีนี้ ต่อหน้าพระบรมสาธิตลักษณ์ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะตำรวจพลร่ม มีภารกิจสำคัญ นอกจากจะรบเพื่อชาติแล้ว ยังต้องถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์เสมอมาด้วย นักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคนที่ผ่านหลักสูตรกระโดดร่ม จึงต้องเข้าพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ทั้งสิ้น .... สิ่งที่คุณสนธิฯ พูดจึงคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงไปอย่างมาก

ผม ฟังคุณสนธิ หลายครั้ง แต่ที่แน่ ๆ ผมว่า คนที่ฟังคุณสนธิฯ มาก ๆ จะทำให้มีความอดทนต่อการใช้คำหยาบคาย และการพูดจริง ไม่หมด มากยิ่งขึ้นเป็นแน่แท้ ขนาดผม ยังเก็บเอาไปฝันร้าย ได้ถึงขนาดนั้น ....ไม่น่าเลยครับ ผมจะสรรเสริญ คุณสนธิฯ ในฐานะสื่อมวลที่เปิดหูเปิดตาประชาชนให้ได้รับข้อมูลข่าวสารในอีกด้านหนึ่ง มากขึ้น หากคุณสนธิฯ ไม่ใช่ภาษาหยาบคาย ส่อเสียด ไม่พูดเท็จ หรือ ไม่พูดจาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ที่สามารถตรวจสอบได้ก่อนพูด แต่ไม่ยอมทำ ซึ่งมีอีกหลายอย่างมาก ไม่อาจนำมาพรรณนาในที่นี้ได้

ผลของการฝันร้าย ทำให้เกิดสิ่งเพี้ยน ๆ ในชีวิตของผมเลย คือ ตอนเดินทางกลับมาอิลลินอยส์ ในวันนี้ (๑๗ ม.ค. ๔๙) เบลอเลยครับ เช็คอินเสร็จ เดินเข้าประตูเครื่องบินของสายการบิน United Airline ก็เดินตรงไป Gate ๑๕ ทันที ทั้ง ๆ ที่ตาก็อ่านในบัตรว่าเป็น Gate ๑๓ รอไปซิครับ ..จนได้เวลา ทำไม ไม่มีคนมาเลย .... ลองควัก(ตั๋ว) ขึ้นมาดูใหม่ แย่เลยครับ รอผิดที่ ..... วิ่งตาเหลือก ไปยัง Gate ๑๓ โชคดีที่ยังทันในวินาทีสุดท้าย เฮ้อ ...ผม ไม่น่าเลยครับ .....

ปล. ผมไม่อยากให้ฝันร้ายกลายเป็นจริง เพราะถ้าบ้านเมืองเกิดสภาวะไร้กติกา ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสังคมโดยรวมเป็นแน่ กติกาของประชาธิปไตย คือ การขับไล่คนเลวออกจากระบบการเมืองเป็นระยะ ๆ เช่น บ้านเมืองไทยของเรา ก็มีระบบเลือกตั้งที่ขับไล่ผู้แทนเลว ออกจากรัฐสภาทุก ๔ ปี หากเห็นว่าเขาไม่ดี ไม่ได้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ สมัยหน้าก็อย่าเลือกเขา น่าจะดีกว่า เดินขบวน ทำลายทรัพย์สินส่วนรวม หรือปลุกระดมเป็นแน่ ... อดีตนายกชวนฯ พูดว่า "ผมเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา" คำพูดนี้ ยังอยู่ในใจผมเสมอ .....




 

Create Date : 18 มกราคม 2549    
Last Update : 17 ตุลาคม 2550 4:21:31 น.
Counter : 508 Pageviews.  

Count Down ที่จอร์เจีย

ช่วงปีใหม่ หลายแห่งก็คงจะมีเทศกาลนับถอยหลัง เพื่อเริ่มต้นปี ค.ศ. ๒๐๐๖ ใหม่กันอย่างสนุกสนาน ตัวอย่างเช่น ที่เมืองนิวยอร์ก ก็จะมีเทศกาลปีใหม่ที่ยิ่งใหญ่ เรียกว่าเทศกาลทิ้งลูกบอล ลงมา ณ จุดเริ่มต้นของปี ค.ศ. ใหม่ หรือ Time Ball ซึ่งปีนี้ มีการคาดการณ์กันว่าว่าจะมีคนไปร่วมนับถอยหลังประมาณ ๗๕๐,๐๐๐ คน เลยทีเดียว



Times Square, New York City


ส่วนที่เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย ซึ่งผมอาศัยอยู่ในขณะนี้ ก็มีเทศกาล ทิ้งลูกพีช (Peach drop) ณ จุดเริ่มต้นของเวลาปีใหม่ ในดาวน์ทาวน์ แอตแลนต้า เหมือนกัน เหตุที่ทิ้งลูกพีช (ไม่ใช่ลูกพีชจริง ๆ นะครับ แต่เขาทำสัญลักษณ์เป็นรูปลูกพีช ครับ) ก็เพราะว่า รัฐจอร์เจีย ปลูกผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะลูกพีช อันเลื่องชื่อนี้ การจัดงานทั้งที่ นิวยอร์กและที่แอตแลนต้า ก็มีลักษณะการจัดงานที่ไม่แตกต่างกัน



เทศกาล ทิ้งลูกพีช ที่ดาวน์ทาว แอตแลนต้า


จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าเทศกาลนับถอยหลังที่ไหน ผมก็ไม่เคยไปหรอกครับ เพราะมันดูจะแออัด เบียดเสียด ยัดเยียดกันจนเกินไป ปีใหม่แต่ละปี ผมจึงอยู่บ้านดูทีวีแทน ไม่เคยไปร่วมพิธีการนับถอยหลังกับเขาสักที แม้แต่ปีที่แล้วจะอยู่ที่ แคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีกระบวนรถบุปผาชาติ ที่เมือง Pasadena เมืองเก่าที่สวยงามมาก ซึ่งประเทศไทยเคยเป็นแชมป์อยู่หลายปี แต่สองปีมานี้ ประเทศไทยไม่ได้จัดส่งประกวดกับเขาด้วย ผมก็ไม่ได้ไปกับเขาด้วย



ขบวนรถดอกไม้ ที่เมือง Pasadena, Old Town, California



City Hall Pasadena


แต่สำหรับปีนี้แล้ว ผมมีโอกาสร่วมพิธีนับถอยหลังเหมือนกับคนอื่นเขาเหมือนกันครับ การนับถอยหลังของผมนับเป็นครั้งแรกที่น่าประทับใจมาก พี่สุธรรม พี่จุ๊ และครอบครัว พาผมไปทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารจีน จนถึงเวลาสองทุ่ม จึงเดินทางไปร่วมพิธีนับถอยหลังทันที การนับถอยหลังครั้งนี้ จัดขึ้นในที่ที่สงบที่สุด คือ ที่วัดพุทธบูชาครับ



วัดพุทธบูชา ที่จอร์เจีย


พิธีการนับถอยหลัง ก็ทำกันง่าย คือ การสวดมนตร์ บทอิติปิโส ภควา ....ฯลฯ.... ไปเรื่อย ๆ จากเวลา ๒ ทุ่มเศษ ยาวไปจนข้ามวันใหม่ ของปีใหม่ ของปี ค.ศ. ๒๐๐๖ หลังจากนั้น พระราชสิทธิโมลี ก็ให้พรพวกเรา

จะว่ากันไปแล้ว วัดพุทธบูชาฯ นี้ เป็นศูนย์กลางของคนไทยในแอตแลนต้า และเมืองใกล้เคียง โดยเฉพาะคนในแอตแลนต้า ประมาณ ๓,๐๐๐ คน ส่วนคนมาวัด ก็ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่สูงอายุ กับเด็กเล็ก ๆ ไปเลย (ลองทัศนาภาพครับ)



ผู้เฒ่าผู้แก่ หลังสวดมนตร์ ก็ถ่ายภาพร่วมกัน


วันรุ่งขึ้นก็มีพิธีทำบุญตักบาตร ปีใหม่กัน ตอนเช้า และมีพิธีมอบประกาศนียบัตร สำหรับเด็กไทยที่เกิดในสหรัฐฯ แต่มาเรียนภาษาไทยและพระพุทธศาสนา หลังจากรับพรแล้ว ก็มีการแสดงดนตรี และการแสดงของเด็กไทยที่เกิดในสหรัฐฯ นี้หลายอย่าง น่าสนุกสนานดีครับ



พิธีมอบประกาศนียบัตร ของวัดพุทธบูชา


หลังจากทำบุญ ดูการแสดงเสร็จแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำ คือ การเก็บเต้นท์ที่กางไว้สำหรับการเก็บอาหาร ให้คนที่มาทำบุญได้รับประทานกันแล้ว



ประชาชนที่มาร่วมทำบุญขึ้นปีใหม่


การเก็บเต้นท์ ก็ได้แรงจากอาสาสมัคร ที่ผลัดเปลี่ยนกันมาตามอารมณ์ ไม่แน่นอน คือ อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำ ก็ไม่ทำ บางทีหาคนช่วยไม่ได้ คนที่ยังหลงเหลืออยู่ ก็ต้องออกแรงเยอะหน่อย ผมมาครั้งแรก ก็รับรู้ถึงความรู้สึกนั่นได้ เหอ เหอ เพราะอาสาอยู่ช่วยจนเกือบวินาทีเหมือนกัน



เด็กไทยที่เกิดในสหรัฐฯ ร้องเพลง พร้อมเต้น น่ารักมาก ... คงจำได้เพลงนี้กันได้นะครับ .... "ผมเอาแคร้อตมาฝาก .. อยากให้เธอได้กิน"


ผมเพิ่งทราบตอนมาเป็นเด็กวัดชั่วคราว ที่วัดพุทธบูชา นี่แหละว่า ทางราชการไทย ไม่ได้สนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เลย นอกจากการช่วยเหลือในการออกหนังสือเดินทางเท่านั้น เงินหรือทรัพย์สิน ฯลฯ พระที่เดินทางมาเผยแผ่ศาสนา จะต้องออกเองทั้งสิ้น .... มันก็แปลกเหมือนกัน ผมว่า ที่จริงวัดไทยในหลายประเทศ หากมีความพร้อมเรื่องเงินมากกว่าปัจจุบัน คือ ไม่ต้องเอ่ยปากขอญาติโยมทั้งหลายแล้ว กิจการทางศาสนา การเป็นที่พึ่งทางใจ การสั่งสอนพระธรรม การปฏิบัติธรรมของพระ และประชาชนในท้องถิ่น ก็จะมากขึ้นและเป็นผลดีมากขึ้นต่อสังคมโดยรวมครับ ใครที่ห่างไกลวัด ลองเข้าไปสนทนา และสนับสนุนวัดฯ ก็คงจะดีนะครับ

สุดท้าย คงจะไม่มีอะไรมากครับ เริ่มต้นปีใหม่แล้ว คิดดี ทำดี พูดดี ชีวีเป็นสุข ครับ




 

Create Date : 04 มกราคม 2549    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:12:15 น.
Counter : 1979 Pageviews.  

บันทึก Atlanta Georgia

ปีเก่ากำลังผ่านพ้นไป พร้อมกับปีใหม่ได้คืบคลานเข้ามาทุกขณะ เวลามันช่างผ่านไปรวดเร็วเหมือนโกหกเลย แป๊บเดียวชีวิตผมก็ใกล้ภาวะที่จะเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาวเข้าไปทุกทีครับ ผมไม่ค่อยมีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์สักเท่าไหร่ฯ แต่วันนี้มีโอกาส เลยถือโอกาสมาอัพเดท เล่าเรื่องราวให้ฟังครับ ...อีกอย่างก็ประกาศว่าผมยังไม่ตายครับ




การเดินทางไกลช่วงฤดูหนาวของผมได้เริ่มต้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ผมได้นั่งรถโดยสารจากเมืองเล็ก ๆ อย่างเออบาร์น่าแชมเปญจ์ สู่สนามบินโอแฮร์ ที่ชิคาโก้ โดยใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๙ โมงเช้า มาถึงสนามบิน ต้องตกใจอย่างมาก เพราะมีคนเข้าแถวรอคิวเพื่อเช็คอิน และ จองตั๋วเครื่องบินใหม่ เพราะมีเครื่องบินหลายเที่ยวของยูไนเต็ด ได้ถูกยกเลิกไป บางคนใช้เวลารอนานกว่า ๔ ชั่วโมง ถ้านั่งสบาย ๆ ก็คงไม่เป็นไร แต่ที่ลำบาก คือ ต้องยืนต่อคิวกันรอนี่นะซิ ลำบากมาก ๆ ผมโชคดีหน่อย จองแบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ เช็คอินได้ด้วยตนเอง ซึ่งปกติ ก็ใช้ได้เฉพาะผู้ที่จะมีกระเป๋าเดินทางใบเล็ก ๆ เท่านั้น แบบออกแรงถือเองได้ ทำให้ผมไม่ต้องรอนาน ๔ ชั่วโมงแบบคนอื่น



เมือง Atlanta ในยามค่ำคืน


มาถึงเมือง Atlanta ประมาณ ทุ่มเศษ ท่านภานุพงษ์ฯ เพื่อนนายตำรวจที่เรียน ป.เอก ที่ Georgia State U ได้มารับ พร้อมตรงดิ่งไปยังงานประจำปีของสมาคมคนไทยในรัฐจอร์เจีย ทันที อาหารอร่อยมาก ที่สำคัญ คนไทยที่นี่เขารวมตัวกันหนาแน่นมาก การแสดงส่วนใหญ่ ก็เป็นของคนกันเองทั้งนั้น ที่ประทับใจที่สุด ก็คงจะเรียกว่า "แฟชั่นพันปี" ที่เขาแสดงชุดประจำชาติไทยตั้งแต่โบราณกาลมาจนถึงยุคปัจจุบัน เช่น หญิงหนุ่งโจงกระเบน ห่มผ้าสะไบ จนถึงชุดไทยประยุกต์ รวมถึงชุดนักเรียนหิ้วปิ่นโตไปโรงเรียนด้วย เพื่อน ๆ คงสงสัยว่า ทำไม เรียกว่า "แฟชั่นพันปี" ไม่ใช่อะไรหรอกครับ คือ มีคนแสดงอยู่ ๒๒ คน แต่ละชุดก็สวย ๆ น่ารักทั้งนั้น คุณสมบัติของผู้แสดง คือ ต้องมีอายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป เมื่อรวมกันครบ ๒๒ คน แล้วก็ประมาณ ๑๐๐๐ ปีเศษ นั่นแหละครับ ที่มาของชื่อ และสปิริต



ครอบครัวตัวอย่างของพี่สุธรรมฯ ที่ผมไปพักอาศัยอยู่ด้วย


หลังจากมาพักบ้านพี่สุธรรมฯ แล้วสักสักวัน อยากไปดูวัดไทย วัดพุทธบูชา ประกอบด้วยอาคารไม้ชั้นเดียว ๒ อาคาร มีหอระฆัง สงบดี พระลงมือก่อสร้างเองทั้งหมด อารมณ์อยากเป็นคนดีจึงบังเกิดครับ ผมจึงขอไปนอนที่วัดอยู่ประมาณ ๔ คืน ก็ไม่ได้ทำอะไรมากหรอกครับ นอกจากจัดเตรียมอาหารถวายพระที่มีอยู่ ๒ รูป กับกวาดลานวัด ที่มีใบไม้ร่วงอยู่มากมายพอสมควรเท่านั้น ก็เป็นอันว่าไม่มีผีหรอกนะครับ ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุขดีครับ



วัดพุทธบูชา ในจอร์เจีย


ผมกลับมาอยู่บ้านพี่สุธรรมฯ อีกครั้ง พี่สุธรรมฯ พาไปท่องเที่ยวหลายแห่ง ทั้ง ๆ ที่มีงานมากมาย นี่เป็นครั้งแรกในรอบ ๑๐ ปี ที่ไม่เคยพบกับพี่สุธรรมฯ เลย เพราะครั้งแรกที่เจอพี่สุธรรมฯ ผมอยู่ รร.นายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ ๑ พี่สุธรรม เพิ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาโทจากสหรัฐฯ ในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาลไทยสำหรับผู้ที่สอบได้ที่ ๑ ของ รร. นายร้อยตำรวจ หลังจากนั้นสักสองปี พี่สุธรรมฯ ได้รับทุนของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ มาเรียนปริญญาเอก แล้วก็ลาออกจากราชการตำรวจ โดยชดใช้เงินค่าปรับไปเรียบร้อย หลังจากนั้นได้เริ่มชีวิตใหม่ในฐานะ Professor พร้อมกับมีทายาทกำเนิดในสหรัฐฯ ดำรงชีวิตอย่างอบอุ่น ผมนับเป็นตัวอย่างชีวิตที่น่าทึ่งของผมเลยทีเดียว



Kennesaw State University ซึ่ง พี่สุธรรมฯ เป็น Professor อยู่ในปัจจุบัน


นอกจากไปอยู่วัดมาหลายวัน ก็ได้ไปท่องเที่ยวหาเพื่อนเก่า ๆ ของผม คือ สวนสัตว์ของจอร์เจีย อากาศหนาวไปหน่อย สัตว์หลายชนิดถูกเก็บไปแล้ว เจอแต่หมีแพนด้าสองตัว กำลังขี้อยู่ ...... ขี้จริง ๆ นะครับ ไม่ได้พูดเล่น ยังถ่ายเก็บไว้เลย (ถ้าอยากดูช่วยบอกด้วย)



หลังจากนั้น ผมก็เดินเล่นใน สวนที่ระลึกกีฬาโอลิมปิค ที่เคยจัดที่นี่ ในช่วงที่นายสมรักษ์ คำสิงห์ มาได้เหรียญทองที่นี่แหละครับ ก็สวยงามดีไม่น้อย ลองทัศนากันสักหน่อยฯ รอบ ๆ สวนสาธารณะแห่งนี้ จะมีอาคารที่ทำการของสำนักข่าว CNN ขาประจำของผม อาคารที่เป็นแหล่งแสดงสัตว์น้ำ ฯลฯ



สวนที่ระลึกกีฬาโอลิมปิค


รัฐจอร์เจีย นับเป็นรัฐที่สำคัญในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ รัฐจอร์เจีย ได้ถูกเผาเรียบเป็นหน้ากลอง เขายังจัดทำอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นที่ระลึกไว้ที่สนามรบที่สำคัญหลายแห่ง นักเรียนระดับประถมและมัธยม รวมไปถึงมหาวิทยาลัยก็ต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของรัฐจอร์เจียด้วย



ที่ทำการของสำนักข่าว CNN ค่าเข้าชม ๑๐ เหรียญ เสียดายที่ห้ามถ่ายภาพครับ


นอกจากนี้ ยังมีสถานที่อื่น ๆ ที่นักท่องเที่ยวมักจะต้องไปดู คือ Stone Mountain, ศูนย์แสดงสินค้าและประวัติของเครื่องดื่มโค๊ก ที่ย้ายฐานการผลิตมาจากรัฐอินเดียนน่า มายังเมืองแห่งนี้ โดยเขาจะมีน้ำโค๊กจากทั่วโลก รวมถึงของประเทศไทยเราให้ดื่ม (แต่ไม่ฟรีนะครับ) รัฐนี้ ยังมีแหล่งแสดงสัตว์น้ำและปลาวาฬที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ที่เพิ่งเปิดไม่ถึงเดือนมานี้เอง รวมถึงยังมีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีอย่างจอร์เจียเทค ที่โด่งดังระดับต้น ๆ ของสหรัฐฯ เลยทีเดียว



มหาวิทยาลัยจอร์เจีย ตั้งอยู่ที่เมืองเอเธนส์


ส่วนมหาวิทยาลัยเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ คือ มหาวิทยาลัยจอร์เจีย (๑๗๘๕) นั้น ตั้งอยู่ในเมืองเอเธนส์ ห่างจากแอตแลนต้าประมาณ ๑ ชั่วโมง ฯ รัฐจอร์เจีย ยังมีมหาวิทยาลัยอื่น ๆ โดยเฉพาะของรัฐทั้งหมด ๓๔ สถาบัน ค่าเรียนไม่สูงมากนัก เป็นต้น



สนามแข่งขันกีฬาอเมริกันฟุตบอลที่ มหาวิทยาลัยจอร์เจีย


กล่าวโดยสรุป คือ ผมสบายดีครับ มีเรื่องดี ๆ มากมายที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่มาอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน ได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ คนดี คนเก่งเพิ่มอีกมากมายด้วยครับ นับเป็นบุญของผมจริง ๆ เอาไว้มีโอกาสจะมาเล่าต่อเรื่องแล้วกันครับ สำหรับ เพื่อน ๆ ที่ยังอยู่ทางเหนือหนาว ๆ ก็รักษาสุขภาพให้ดีด้วย รวมถึงญาติมิตร ผองเพื่อน ทุกท่านที่เมืองไทย ได้ยินว่าอากาศแปรปรวน รักษาสุขภาพด้วยนะครับ ไปไหนมาไหน ก็อย่าลืมคำขวัญสำคัญ คือ "เมาไม่ขับ" นะครับ แล้วเจอกันใหม่บล๊อกหน้าครับ




 

Create Date : 28 ธันวาคม 2548    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:11:52 น.
Counter : 1338 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.