images by free.in.th
"
Group Blog
 
All blogs
 
เปลี่ยนลูกน้องให้เปี่ยมแรงบันดาลใจ : ปลุกไฟการทำงานของทีมให้ลุกโชน

เคยสงสัยไหมคะว่า ทำไมลูกน้องหรือทีมงานจึงดูเซื่องซึม ไม่กระตือรือร้น หรือไม่มีใจอยากจะทำงานเอาเสียเลย

เคยคิดไหมคะว่า สิ่งที่คุณที่เป็น “หัวหน้า” กำลังทำอยู่มีผลต่อการกระทำและจิตใจของลูกน้องมากแค่ไหนและส่งผลกระทบต่อการทำงานของลูกน้องอย่างไร

หรือเคยรู้สึกไหมคะว่า สิ่งที่คุณเชื่อหรือทำอยู่เพราะคิดว่าดีและเหมาะสมแล้ว อาจเป็นสิ่งที่ผิดและไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งในฐานะหัวหน้าก็ได้

หากคำตอบของคุณคือ “เคย” แล้ว 3 สิ่งต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณเคยคิดจะทำ อยากทำได้ หรือกำลังพยายามทำอยู่ใช่หรือไม่

คุณต้องการ “รู้และเข้าใจ” ว่าทำไมลูกน้องหรือทีมงานจึงไม่มีไฟในการทำงาน
คุณต้องการ “สร้างและปลุก” พลังและแรงบันดาลใจให้ทุกคนในทีม
คุณต้องการ “แก้ไขและหลีกเลี่ยง” ความเชื่อ ความคิด หรือพฤติกรรมผิด ๆ ที่บั่นทอนกำลังใจของพวกเขา

หากคุณตอบว่า “ใช่” และเห็นด้วยกับข้อความทั้งสาม บ.ก. เชื่อว่าหนังสือเล่มที่นำมาแนะนำในวันนี้จะมีประโยชน์กับคุณอย่างแน่นอนค่ะ




เปลี่ยนลูกน้องให้เปี่ยมแรงบันดาลใจ
โดย Shogo SASAKI
แปลโดย สินี แสงเดือนฉาย
จำนวนหน้า 192 หน้า

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารและจัดการแรงบันดาลใจของลูกน้องหรือทีมงานของคุณอย่างถูกวิธีซึ่งจะทำให้คุณกลายเป็นหัวหน้าที่ครองทั้ง “ใจของทีม” และ “ผลสำเร็จของงาน”

ทำไม “แรงบันดาลใจ” จึงเป็นสิ่งจำเป็น
ลักษณะอย่างหนึ่งของแรงบันดาลใจคือสิ่งที่ไม่สามารถบังคับให้เกิดขึ้นได้ แม้คุณจะพูดกับลูกน้องด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและปรารถนาดีว่า “ตั้งใจทำงานกันหน่อยนะ สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานกันหน่อย” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือลูกน้องจำต้องทำงานอย่างเสียมิได้ เพราะลูกน้องจะตีความประโยคดังกล่าวว่า “หากพวกเขาไม่สร้างแรงบันดาลใจแล้ว จะต้องมีเรื่องร้ายเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”

ซึ่งในกรณีที่เป็นพนักงานในองค์กร “เรื่องร้าย” ที่ว่าก็คงหนีไม่พ้น ถูกว่ากล่าวตักเตือน ถูกทำโทษ หรือร้ายแรงที่สุดคือถูกไล่ออก ซึ่งแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นในที่นี้ก็คือ “แรงบันดาลใจเชิงลบ” ค่ะ

เราลองมาดูตัวอย่างง่าย ๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นกันค่ะ
สมมติมีสิงโต กระต่ายน้อย 2 ตัว และแครอท กระต่ายน้อยต่างกำลังวิ่งไปยังโพรงต้นไม้ที่อยู่ไกลออกไป แต่สิ่งที่ต่างกันคือ

กระต่ายน้อยตัวที่ 1 กำลังวิ่งไปที่โพรงต้นไม้เพื่อหลบหนีสิงโตที่กำลังหิวโหย
กระต่ายน้อยตัวที่ 2 กำลังวิ่งไปยังแครอทที่อยู่ไกลออกไป

คุณผู้อ่านน่าจะเดาคำตอบได้ไม่ยากใช่ไหมคะว่า กระต่ายตัวไหนเกิดแรงบันดาลใจเชิงลบและกระต่ายตัวไหนเกิดแรงบันดาลใจเชิงบวก แน่นอนค่ะ คำตอบคือ ตัวที่ 1 และตัวที่ 2 ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีดังกล่าว ถ้าเราจำต้องทำงานเพราะกลัวว่าจะถูกดุหรือถูกไล่ออก เราก็ไม่ต่างอะไรกับกระต่ายตัวที่ 1 เลย ซึ่งมีแรงบันดาลใจทำงานเพื่อหลบหนีจากเหตุการณ์เชิงลบ เพราะเราไม่อยากให้เรื่องร้ายเกิดขึ้นกับตนเอง จึงจำต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นอย่างเสียมิได้

แล้วแรงบันดาลใจเชิงบวกล่ะ ?
แม้กระต่ายน้อยตัวที่ 2 จะวิ่งไกลออกไปเพราะเจอสิ่งที่ชอบ (แครอท) แต่เราไม่สามารถรู้หรือไม่มีอะไรมารับประกันได้เลยนะคะว่ากระต่ายน้อยตัวนี้มีความสุขในการวิ่ง เรารู้เพียงแต่ว่า แครอท เป็น แรงจูงใจภายนอก (การถูกจูงใจด้วยสิ่งตอบแทนเท่านั้น) เพราะเป็นแรงผลักที่ทำให้กระต่ายตัวนี้ “วิ่ง” ถ้าเปรียบการ “วิ่ง” เป็นการ “ทำงาน” คุณผู้อ่านเดาออกไหมคะว่า “แครอท” จะเปรียบกับอะไร

ใช่แล้วค่ะ สิ่งที่ว่านี้ก็คือเงินเดือนค่ะ และการทำงานด้วยความรู้สึกมุ่งหวังเพียงแต่เงินเดือนนั้นก็ไม่มั่นคงเป็นอย่างยิ่ง ลองนึกภาพกระต่ายตัวที่ 2 ที่ไม่เห็น “แครอท” แล้วไม่ออก “วิ่ง” ดูสิคะ เมื่อไม่มี “แครอท” เขาก็จะหยุด “วิ่ง”

ประเด็นที่หนังสือเล่มนี้ต้องการบอกหัวหน้าทุกคนก็คือ การทำให้กระต่ายน้อย “วิ่ง” เพราะอยาก “วิ่ง” ไม่ใช่วิ่งเพราะ “หนีสิงโต” หรือวิ่งเพราะ “ต้องการแครอท” ค่ะ

พูดง่าย ๆ ก็คือ การทำให้ลูกน้อง “ทำงาน” เพราะ “รู้สึกอยากทำงาน” ซึ่ง “แรงบันดาลใจเชิงบวก” ก็คือสิ่งนั้นค่ะ

ทำไม “แรงบันดาลใจเชิงบวก” จึงไม่เกิดขึ้น ?
แม้คุณจะพูดด้วยความปรารถนาดีอย่างแท้จริงว่า “ตั้งใจทำงานนะ สร้างแรงบันดาลใจโดยไม่ต้องให้บอก” โดยคิดว่าการตั้งใจทำงานจะมีผลดีกับตัวลูกน้อง แต่พวกเขาอาจไม่ได้ตีความลึกขนาดนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะรู้สึกว่าเป็นการพูดที่แฝงนัยข่มขู่ ผลที่ได้ก็มีแต่จะเกิดแรงบันดาลใจเชิงลบดังเช่นกระต่ายน้อยที่วิ่งหนีสิงโตก็เท่านั้น

คุณลักษณะอย่างหนึ่งของจิตใจและสมองคือ “คนเรามักหลีกหนีจากความลำบากก่อน แล้วค่อยมองหาความยินดี” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่ไวต่อความเจ็บปวดมากกว่าความสุข และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้สร้างแรงบันดาลใจเชิงลบได้ง่ายกว่าการสร้างแรงบันดาลเชิงบวก เพราะแม้ไม่สร้างแรงบันดาลใจเชิงบวกก็ไม่ส่งผลร้ายอะไร แต่หากไม่สร้างแรงบันดาลใจเชิงลบก็อาจเกี่ยวพันถึงชีวิตเราได้นั่นเองค่ะ

ลองนึกถึงเวลาทานอาหารเพราะหิวกับทานเพราะเจออาหารที่ชอบก็ได้ค่ะ เรายังมีชีวิตอยู่ได้หากไม่ได้ทานอาหารที่ชอบ แต่เราไม่อาจอดทนต่อความหิวโหยได้ และแม้ทนหิวต่อไปก็มีแต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายค่ะ

ดังนั้นหากคุณเป็นหัวหน้าที่พูดแต่สิ่งที่สามารถตีความได้ทั้งนัยเชิงบวกและเชิงลบ ก็คงไม่แปลกอะไรถ้าคนฟังอย่างลูกน้องของคุณจะตีความไปในทางลบเสียก่อน นี่คือคำตอบว่าทำไมแรงบันดาลใจเชิงบวกจึงไม่เกิดขึ้น

ทำอย่างไรให้เกิดแรงบันดาลใจ ?
หนังสือเล่มนี้แนะนำเทคนิคเพิ่มพลังใจและไฟทำงานให้ลูกน้องไว้อยู่หลายข้อค่ะ สิ่งสำคัญคือแรงบันดาลใจเชิงบวกจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมี “แรงจูงใจภายใน (การถูกจูงใจจากการกระทำนั้น ๆ)” ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากเจ้าตัวเอง

คุณผู้อ่านบางท่านอาจเกิดคำถามขึ้นในใจแล้วสินะคะว่า “อ้าว ในเมื่อเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวเขาก็เท่ากับเป็นปัญหาส่วนตัวของเขา แล้วหัวหน้าอย่างฉันจะไปทำอะไรได้ล่ะ” (ฮั่นแน่ คุณกำลังคิดในสิ่งที่เป็น 1 ในความเข้าใจผิด 5 ประการที่หนังสือเล่มนี้อ้างถึงค่ะ อยากรู้รายละเอียดหาอ่านได้ใน “บทที่ 3 ความเข้าใจผิด 5 ประการเกี่ยวกับแรงบันดาลใจ” นะคะ )

แม้ “แรงบันดาลใจเชิงบวก” ที่เกิดจาก “แรงจูงใจภายใน” เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้ยาก แต่ไม่ใช่ว่าทำอะไรไม่ได้เลยนะคะ บ.ก. ขอเรียกเทคนิคเพิ่มแรงบันดาลใจให้ทีมงานว่า “ปฏิบัติการซุ่มเติมเชื้อไฟแบบไม่ให้เป้าหมายรู้ตัว” ล่ะกันนะคะ เพราะอย่างที่ทราบว่าเรากำลังปฏิบัติการทำให้ทีมของคุณเกิดแรงบันดาลใจในแบบที่ต้องทำให้เขารู้สึกได้ขึ้นมาด้วยตัวเองเท่านั้น !

หนึ่งในเทคนิคที่หนังสือเล่มนี้แนะนำไว้คือ “การยอมรับในตัวลูกน้อง” ค่ะ หลายคนอาจสงสัยว่าการยอมรับที่ว่าทำได้อย่างไรบ้าง บ.ก. ขอยกเรื่องพื้นฐานที่สุดที่ทำได้ง่าย ๆ อย่างแน่นอน นั่นคือ “การทักทาย” ค่ะ

การทักทายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปทำกันเป็นปกติ จึงไม่จำเป็นต้องคิดถึงหน้าที่ของการกระทำดังกล่าวให้ยุ่งยากแต่อย่างใด แต่ในสถานการณ์ที่ตามปกติแล้วควรทักทายกัน แต่ถ้ากลับละเลยมองข้ามไป จะเป็นอย่างไร ในสถานการณ์เช่นนั้น ฝ่ายที่ไม่ถูกทักทายก็คงรู้สึกว่า “ตัวตนของตนถูกมองข้าม” กล่าวคือ เสียความรู้สึกในเรื่องความต้องการการยอมรับนั่นเอง(ส่วนหนึ่งจากเทคนิคที่ 1 จากบทที่ 2 เทคนิค 9 ประการในการ “ทำให้ลูกน้องเกิดความท้าทายในจิตใจ”)

สรุปสั้น ๆ ก็คือ หัวหน้าไม่ควรมองข้ามตัวตนของลูกน้องนั่นเองค่ะ ซึ่งเมื่อพูดถึงตัวตนแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือ การทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกว่าการกระทำหรือการทำงานของเขาเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นค่ะ เมื่อหัวหน้ายอมรับการทำงานของเขาก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าลูกน้องมีประโยชน์ต่อหัวหน้า และนั่นทำให้เกิดพลังและไฟในการทำงานอย่างต่อเนื่องค่ะ

แม้จะบอกว่ามี 9 เทคนิค แต่ในแต่ละเทคนิคยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่คุณอาจไม่เคยรู้ ไม่เคยทำ หรืออาจทำอยู่แต่คิดไม่ถึงว่ามีประโยชน์และส่งผลดีถึงเพียงนั้น ที่สำคัญคืออย่าเผลอทำในสิ่งที่จะบั่นทอนแรงบันดาลใจของลูกน้องนะคะ

(แน่นอนว่า หนังสือเล่มนี้พูดถึงความเข้าใจผิด 5 ประการที่คุณผู้เป็นหัวหน้าอาจเผลอทำอยู่ ลองเปิดหาอ่านได้จากในเล่มค่ะ) อ่านจบแล้วก็มาเริ่มปฏิบัติการเติมไฟทำงานและแรงบันดาลใจให้ลูกน้องและทีมงานกัน บ.ก.เชื่อว่าคนเป็นหัวหน้าน่าจะรู้ดีที่สุดว่าพลังของทีมเป็นพลังสุดแกร่งที่ทำให้ก้าวผ่านอุปสรรคและเดินหน้าคว้าความสำเร็จค่ะ

--------------------------------------------------------------------------------
เติมเต็มความรู้และแรงบันดาลใจกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 40






Create Date : 27 มีนาคม 2555
Last Update : 29 มีนาคม 2555 9:25:55 น. 0 comments
Counter : 5101 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

textbook
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]




สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. สรรค์สร้างสาระสู่สังคม
มุ่งมั่นผลิตตำราวิชาการและหนังสือเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ การบริหารจัดการ ด้านส่งเสริมการศึกษา เพื่อการพัฒนาตนเองและองค์กร สำหรับภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม
Friends' blogs
[Add textbook's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.