images by free.in.th
"
Group Blog
 
All blogs
 
ผลิตอย่างไรให้ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง 50% : ก้าวสู่การเป็นที่หนึ่งเรื่องราคาและคุณภาพ

ปัจจุบันทุกคนต่างก็ต้องการ “สินค้าคุณภาพดี ราคาถูก” ผู้ประกอบการจึงแข่งกันลดต้นทุนเพื่อนำเสนอสินค้าที่มีคุณสมบัติดังกล่าวให้กับลูกค้า โดยปรับปรุงการผลิตเพื่อลดต้นทุนลง 5-10% แต่การลดต้นทุนได้เพียงแค่นี้ ในไม่ช้าคู่แข่งจะไล่ตามทันจนต้องลดต้นทุนลงอีก ทำให้ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการปรับปรุงการผลิตอยู่ตลอดเวลา

นอกจากต้องพะวงกับเรื่องที่คู่แข่งไล่ตามทันแล้ว การลดราคาจูงใจลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่ก็มีแต่จะทำให้สูญเสียกำไรและบริษัทอ่อนแอลงเรื่อย ๆ เพราะเป็นการยอมลดราคาตามคำสั่งของลูกค้าหรือเสนอลดราคาเองในเวลาที่ไม่มีลูกค้า เพื่อจูงใจลูกค้าให้ซื้อสินค้า พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นการลดราคาแบบก้าวถอยหลังหรือถูกต้อนให้ลดราคานั่นเอง

ดังนั้นก่อนที่จะ “ถูกต้อนให้ลดราคา” คุณต้องพยายามหาวิธีลดราคาให้ได้ ซึ่งการลดราคาที่จะทำให้ชนะคู่แข่งได้อย่างขาดลอยในสภาพการแข่งขันสูงอย่างปัจจุบัน ก็คือ การลดราคาให้ได้ถึง 50%





ผลิตอย่างไรให้ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง 50%
โดย Yoshihito Wakamatsu
แปลโดย ธนัญ พลแสน
จำนวนหน้า 200 หน้า


“ผลิตอย่างไรให้ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง 50%” เล่มนี้เป็นผลงานโดยมืออาชีพด้านไคเซ็น ซึ่งจะเปิดเผยแนวคิดและเทคนิคการปรับปรุงการผลิตที่ไม่ใช่ชนะคู่แข่ง “แค่ปลายจมูก” แต่ต้อง “ชนะขาด” เพื่อเป้าหมายให้ขายสินค้าได้ใน “ราคาลด 50%” แต่ยังคงคุณภาพและกำไรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย


คิดราคาขายอย่างไรให้ชนะคู่แข่ง ?


ก่อนจะผลิตสินค้าสัก 1 อย่าง สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ จะต้องคิดว่าจะกำหนดราคาขายเท่าไร ไม่ใช่แค่คิดว่า “ต้นทุนเท่าไร” แล้วค่อยหาวิธีลดต้นทุนเพื่อให้ขายได้ในราคาลด 50%

มีหลายบริษัทที่ผลิตสินค้าโดยไม่เคยคิดเรื่องต้นทุน หรือบางบริษัทแม้โดยรวมจะมีผลกำไร แต่เมื่อลองแยกเป็นรายรับของแต่ละฝ่าย กลับทำกำไรได้แค่เสมอตัว ถ้าเป็นแบบนี้ต่อให้บอกว่า “เพิ่มยอดขายสิ” “ทำให้มีกำไรให้ได้” หรือ “ลดต้นทุนสิ” ก็หาวิธีปรับปรุงที่ถูกต้องไม่ได้ ดังนั้น “การรู้ต้นทุน” และ “การจับความเคลื่อนไหวของต้นทุน” จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับการปรับปรุง

ถ้าให้ฝ่ายผลิตคำนวณต้นทุน ส่วนใหญ่มักออกมาในทำนองที่ว่า “ผลิตสินค้า 100 ชิ้น ใช้เงิน 10,000 บาท แสดงว่าต้นทุนชิ้นละ 100 บาท” แน่นอนว่าการคำนวณเช่นนี้ไม่ผิด แต่สิ่งที่ควรตั้งคำถามก็คือ สินค้าที่ผลิตนั้นขายได้จริงกี่ชิ้น

ถ้าผลิตสินค้า 100 ชิ้น แต่ขายได้เพียง 50 ชิ้น แสดงว่าขายได้จริงแค่ 50 ชิ้น แต่ใช้เงิน 10,000 บาท แสดงว่าต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ชิ้นละ 200 บาท การผลิตโดยคิดว่า “สินค้าที่ขายไม่ได้จะขายได้” เช่นนี้เป็นความสูญเปล่าอย่างใหญ่หลวง ถ้าใช้เงิน 7,000 บาท ผลิตของ 50 ชิ้น ต้นทุนก็จะตกชิ้นละ 140 บาท ซึ่งจะถูกกว่าการผลิตออกมา 100 ชิ้น แต่ขายได้แค่ 50 ชิ้น ดังนั้นการมองต้นทุนจึงไม่ควรมองว่า “ผลิตได้กี่ชิ้น” แต่ต้องมองว่า “ขายได้กี่ชิ้น” หรือ “จำนวนที่ต้องการมีกี่ชิ้น”


ลด 50% ทำได้อย่างไรบ้าง ?


“การลดราคา 50%” ในหนังสือเล่มนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การลดต้นทุนการผลิตสินค้าและสร้างระบบที่ทำกำไรได้แม้จะต้องลดราคาลงครึ่งหนึ่งก็ตาม ด้วยเหตุนี้คุณจะต้องทบทวนเรื่องต่าง ๆ ในบริษัทเสียใหม่ เช่น กระบวนการผลิตและการพัฒนาสินค้า โดยต้องให้ทุกรายการค่าใช้จ่ายของทุกหน่วยงานลดลงครึ่งหนึ่ง

เวลาที่จะลดต้นทุนของสินค้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นั้นจะให้ความสำคัญกับการหาวิธีลดต้นทุน โดยไม่ได้ใส่ใจเลยว่าในบริษัทของตัวเองมีความสูญเปล่าอยู่หรือไม่ ซึ่งแม้จะปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือพัฒนาสินค้าสักเท่าไร หากละเลยความสูญเปล่า ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำกำไรได้

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่คุณต้องเอาใจใส่เป็นอันดับแรกก็คือ 1. การขุดรากถอนโคนความสูญเปล่าที่อยู่ตรงหน้า 2. การค้นหาความสูญเปล่าที่ซ่อนอยู่ โดยทุกคนในบริษัทต้องรับรู้และหาวิธีกำจัดความสูญเปล่าร่วมกัน

ความสูญเปล่าดังกล่าวมีอยู่ 8 ประเภท ได้แก่ ของเสียและงานซ่อม, การผลิตมากเกินไป, ขั้นตอนการผลิตที่ไร้ประสิทธิภาพ, การขนย้าย, การจัดเก็บสินค้า, การเคลื่อนไหว, การรอคอย และของเหลือทิ้งในอุตสาหกรรม

ขอยกตัวอย่างความสูญเปล่าจากการผลิตมากเกินไปสัก 1 ตัวอย่าง เช่น บริษัทที่คิดว่า “ถ้าไม่ผลิตสินค้าเผื่อไว้ในสต็อก แล้วเกิดส่งมอบช้าหรือของขาดขึ้นมาจะทำให้ลูกค้าไม่พอใจได้” มีแนวโน้มที่จะ “ผลิตตุน” เพราะเข้าใจว่าการผลิตตุนช่วยป้องกันการส่งมอบที่ล่าช้าได้ หรือถ้าเครื่องจักรชำรุด ก็ใช้สินค้าในสต๊อกส่งไปก่อนได้ แต่ตราบใดที่ยังผลิตตุนไว้ ก็จะกลายเป็นการผลิตที่ต้องสต๊อกชิ้นส่วนและสินค้าไว้จำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถลดต้นทุนลงได้

ดังนั้นหากกังวลว่า “ถ้าเครื่องจักรชำรุดจะลำบาก” ก็ให้บำรุงรักษาประจำวันอย่างจริงจังและรักษาประสิทธิภาพการทำงานให้สูงอยู่เสมอ หรือหากเกรงว่า “ถ้าส่งมอบช้าขึ้นมาจะทำอย่างไร” ก็ให้หาวิธีผลิตที่ไม่ให้เกิดความล่าช้า ซึ่งวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการผลิตให้ได้ตามเวลาที่กำหนดเพื่อการลดต้นทุนก็คือ “ผลิตแค่เท่าที่ขายได้” หรือ “ผลิตของที่จำเป็น ในเวลาที่จำเป็น และเท่าที่จำเป็น” ซึ่งระบบการผลิตแบบโตโยต้าเรียกวิธีนี้ว่า “การผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just in Time)” หากลด lead time หรือระยะเวลาตั้งแต่การนำวัตถุดิบมาผลิตจนเป็นสินค้า 1 ชิ้น และสามารถผลิตโดยแทบไม่ต้องมีสินค้าค้างในสต๊อกได้ จะช่วยลดต้นทุนได้อีกมาก


แล้วปรับปรุงอย่างไร ?


หากพูดคำว่าการปรับปรุงการผลิต คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายผลิตเท่านั้น แต่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เน้นปฏิรูปการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนถึงการส่งมอบให้ลูกค้า ทั้งฝ่ายออกแบบและพัฒนาสินค้า- ฝ่ายผลิต – ฝ่ายขาย – ฝ่ายขนส่ง จนถึงผู้รับจ้างผลิต (Supplier) โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประสิทธิภาพของ “ทั้งองค์กร” ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท H เคยปรับปรุงเฉพาะกระบวนการผลิตอย่างจริงจังจนสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างมาก ทำให้ผู้บริหารและพนักงานรู้สึกพึงพอใจ แต่ก็มีผู้บริหารของบริษัทจัดจำหน่ายเข้ามาพูดคุยด้วยว่า

“ไม่รู้เป็นเพราะระยะหลังอุปกรณ์สำนักงานมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเปล่านะครับ เวลาที่นำสินค้าไปส่งลูกค้าแต่ละครั้ง มักจะแบกขึ้นบันไดหรือขนเข้าประตูไม่ได้ ทำให้บางครั้งต้องรื้อชิ้นส่วนก่อนขนเข้าไปแล้วค่อยประกอบใหม่ในสำนักงานของลูกค้า แต่กว่าจะประกอบเสร็จแต่ละครั้งก็ใช้เวลานาน หลายครั้งพอประกอบเสร็จ เครื่องก็ไม่ทำงานอีก จึงต้องทำให้ลูกค้าลำบากใจอยู่บ่อย ๆ ”

เมื่อได้ยินดังนั้น ผู้บริหารของบริษัท H จึงคิดว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องเสี่ยงเกินไปที่จะให้คนทั่วไปรื้อสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบจากโรงงานแล้วนำมาประกอบใหม่ เพราะอาจเกิดปัญหาด้านคุณภาพตามมา ดังนั้นจึงขอให้บริษัทจัดจำหน่ายส่งข้อมูลมาก่อน เช่น ขนาดทางเข้าและวิธีขนส่ง หากสภาพเดิมไม่เหมาะสมก็จะปรับเปลี่ยน และคิดหาวิธีขนย้ายให้ง่ายขึ้น รวมถึงแนบวิธีประกอบสินค้าไปด้วยในตอนที่จัดส่งสินค้า

ฝ่ายผลิตมักมองว่า “การผลิตคืองานของเรา ผลิตเสร็จก็จบ” แต่ในการผลิตที่มองแบบครบวงจร ฝ่ายผลิตควรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยพยายามนำเสนอวิธีการผลิตที่ดีขึ้นให้ต้นทางอย่างฝ่ายพัฒนาสินค้า และประสานกับปลายทางอย่างฝ่ายขายและฝ่ายขนส่ง ซึ่งถ้าแต่ละฝ่ายตระหนักว่า “กระบวนการถัดไปคือลูกค้า” และหาวิธีทำให้กระบวนการถัดไป “ทำงานง่ายขึ้น” ความพึงพอใจของลูกค้าก็จะเพิ่มขึ้นและความสามารถในการแข่งขันก็จะสูงขึ้นด้วย

แน่นอนว่าเทคนิคและแนวคิดการปรับปรุงการผลิตในหนังสือเล่มนี้ยังมีอีกมากมาย ให้คุณได้นำไปประยุกต์ใช้ภายในองค์กร เพื่อเข้าใจที่มาของต้นทุนและตระหนักถึงความสำคัญของการลดต้นทุน เพื่อกำจัดความสูญเปล่าที่ทำให้ต้นทุนสูง และเพื่อปฏิรูปการผลิต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้บุคลากรทั้งองค์กรของคุณร่วมแรงร่วมใจปรับปรุงระบบการผลิตให้เข้มแข็ง เพื่อก้าวสู่การเป็นที่หนึ่งเรื่องราคาและคุณภาพ

นอกจาก “ผลิตอย่างไรให้ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง 50%” เล่มนี้แล้ว ยังมีอีก 1 ผลงานโดยผู้เขียนท่านนี้ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ “ไคเซ็นตามวิถีโตโยต้า” เชิญแวะเข้าไปอ่านรายละเอียดของ “ไคเซ็นตามวิถีโตโยต้า”

--------------------------------------------------------------------------

พบกับหนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์ ส.ส.ท.

เตรียมพบกับหนังสือ “เปลี่ยนลูกน้องให้เปี่ยมแรงบันดาลใจ” เร็ว ๆ นี้


Create Date : 24 มกราคม 2555
Last Update : 24 มกราคม 2555 16:37:25 น. 0 comments
Counter : 5727 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

textbook
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]




สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. สรรค์สร้างสาระสู่สังคม
มุ่งมั่นผลิตตำราวิชาการและหนังสือเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ การบริหารจัดการ ด้านส่งเสริมการศึกษา เพื่อการพัฒนาตนเองและองค์กร สำหรับภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม
Friends' blogs
[Add textbook's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.