images by free.in.th
"
Group Blog
 
All blogs
 

สื่อสารอย่างมีเสน่ห์ ในยุค Social Media (2)

แหะ ๆ...หายไปซะนาน ไม่ทราบว่าลืมไปแล้วหรือยัง ว่าเราคุยกันค้างไว้เรื่องของการสื่อสารในยุค Social Media ซึ่งช่วงนี้ก็พอเหมาะพอดีกับช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ต่างฝ่ายต่างก็งัดไม้เด็ดมาใช้เพื่อแย่งชิงคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (แถมยังใช้เป็นช่องทางระดมเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนตัวเองได้อีกต่างหาก Smiley ) เพราะสมัยนี้ ใคร ๆ ก็นิยมติดตามข่าวสารผ่าน Social Media มากกว่าสื่อกระแสหลักเสียอีก ...จนตอนนี้ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสื่อหลัก หรืออะไรเป็นสื่อรองกันแน่  Smiley

 

เอาละ...กลับมาที่เรื่องของเรากันต่อดีกว่า ว่าแต่ เป็นอย่างไรบ้างคะ มีใครได้ลองนำทริกที่ให้ไว้ 2 ข้อ ไปใช้บริหารเสน่ห์ เอ๊ย... ไปสร้างเสน่ห์ให้การสื่อสารของตัวเองกันบ้างแล้วหรือยัง ?

แต่เอ...สงสัยหัวข้อที่ฝากไว้จะน้อยไป ไอเดียเลยยังไม่บรรเจิด ถ้างั้นคราวนี้ขอนำอีก 3 ข้อที่เหลือมาเสนอเลยแล้วกัน... Smiley

 

3. รู้จักเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม

 

เพราะการจะสร้างแบรนด์หรือธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากคนหมู่มาก ดังนั้นก็ต้องรู้จักออกแบบสื่อโฆษณาและทำการตลาดในแบบที่จะดึงให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของเราได้อย่างแนบเนียน อย่างเช่น มีบริษัทรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ได้ออกรถยนต์รุ่นใหม่ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเลือกสเปกรถยนต์ได้ตามใจชอบ ทั้งตัวถัง เบาะนั่ง ล้อ ยาง ฯลฯ ก็สามารถเลือกได้เอง ผลก็คือ เป็นที่ถูกอกถูกใจบรรดาวัยรุ่นทั้งหลาย

ก็ทำไมจะไม่ล่ะ...ในเมื่อพวกเขามีส่วนร่วมในการออกแบบมันมากับมือ แถมยังได้รถแบบที่เป็นของตัวเองคันเดียวในโลก แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ตกหลุมรักและผูกพันกับแบรนด์นี้ไหวหรือ ? Smiley

 

ลองมาดูตัวอย่างแคมเปญโฆษณาที่ดึงผู้คนให้เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเนียน ๆ อีกสักตัวอย่างดีกว่า เชื่อว่าคุณจะอดรู้สึกทึ่งไม่ได้ว่าช่างคิดมาได้จริง ๆ

แคมเปญโฆษณาชิ้นนี้คว้ารางวัลกรังด์ปรีซ์มาได้ถึง 2 สาขาด้วยกันจากงานประกวดโฆษณานานาชาติที่เมืองคานส์เมื่อปี 2010  เหตุเกิดของงานนี้มาจากการที่บริษัท Gatorade สำรวจพบว่า ชาวอเมริกันที่อายุเกิน 30 ปีแล้วจะออกกำลังกายน้อยลงมาก ซึ่งแน่นอน เรื่องนี้ย่อมส่งผลถึงอนาคตของเครื่องดื่มเกลือแร่ให้พลอยดับวูบลงไปด้วย Smiley  พวกเขาจึงคิดแคมเปญดี ๆ ขึ้นมา โดยหยิบเอาเอาการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลระดับไฮสกูลแมตช์ที่เป็นตำนานและเป็นที่ค้างคาใจผู้คนมายาวนานตั้งแต่ปี 1993 ด้วยผลเสมอกัน 7 ต่อ 7 มาเนรมิตให้เกิดขึ้นอีกครั้ง

จากวันนั้นถึงวันนี้ ทั้งนักกีฬาและทีมเชียร์ต่างก็ล่วงเข้าสู่วัย 30 กันแล้ว (ตรงกลุ่มเป้าหมายพอดีเป๊ะ!! Smiley ) บริษัท Gatorade ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนและจัดการทุกอย่าง ทั้งประชุมทีม ฝึกซ้อมนักกีฬา ซ้อมเชียร์ ขายตั๋วเข้าชม เรียกว่าจริงทุกอย่างสำหรับการแข่งขัน โดยบันทึกภาพเก็บไว้ทุกขั้นตอน คนทั้งเมืองต่างก็ตื่นเต้นดีใจและเข้ามาร่วมชมร่วมเชียร์ แว่ว ๆ ว่า พอประกาศแคมเปญนี้ออกไป ตั๋วกว่าหมื่นใบก็ขายหมดเกลี้ยงใน 90 นาที 

โอ้ว...เล่ามาซะขนาดนี้แล้ว ไปดูให้เห็นกับตาเลยดีกว่า ว่าแคมเปญนี้สามารถชักชวนคนทั่วไปให้มาร่วมกิจกรรมได้อย่างคึกคักขนาดไหน.... Smiley

   

4. มีการสื่อสารโต้ตอบอย่างสม่ำเสมอ  

  

ในอดีต การโฆษณาและการตลาดทำได้เพียงส่งสารออกไปทางเดียว หากอยากทราบผลตอบรับ อย่างมากก็ใช้วิธีสำรวจตลาด หรือดูจากแบบสอบถามหรือไม่ก็จดหมายร้องเรียนเท่านั้น 

แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว Social Media ได้พลิกโฉมโลกของการสื่อสารไปอย่างไม่เหลือเค้าเดิม ทุกวันนี้ องค์กรธุรกิจสามารถรับฟังเสียงของผู้คนได้ตลอดเวลา ทั้งความเห็น ข้อติชม ทรรศนะ หรือเรื่องจิปาถะต่าง ๆ ก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้อย่างไม่จำกัด ยิ่งติดต่อ ยิ่งมีปฏิสัมพันธ์ ก็ยิ่งมีโอกาสสร้างความผูกพันที่ลึกซึ้ง

ขอยกตัวอย่าง Best Buy เชนสโตร์เครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของอเมริกาที่ออกแคมเปญที่ชื่อว่า “TWELPFORCE” ชื่ออาจจะแปลก แต่ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน (มาจาก Tweet + Help ก็เลยออกมาเป็น Twelp Smiley ) เขาใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางสื่อสารเพื่อให้ความช่วยเหลือใครก็ตามที่มีข้อข้องใจเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า เพียงแค่ทวีตข้อความมาที่ TWELPFORCE บรรดาพนักงานนับพันของ Best Buy ที่มีอยู่ทั่วประเทศจะกรูกันเข้ามาตอบข้อสงสัยให้ทันที (โอ...แม่เจ้า) จะใช่ลูกค้าหรือไม่ใช่ก็ไม่เกี่ยง พวกเขายินดีแบ่งปันข้อมูลสด ๆ จากหน้าร้าน ที่ไม่ใช่การตอบตามสคริปต์หรือเป็นการยัดเยียดขาย เพียงแต่ให้ข้อมูลไปตามที่ถามมาเท่านั้น

นี่เป็นการสื่อสารแบบ Many to One ซึ่ง One คนนั้นก็คือคนทั่วไปอย่างเรา ๆ นั่นเอง...มันน่าทึ่งมั้ยล่ะ   แม้ตอนแรกอาจจะไม่ใช่ลูกค้า แต่เมื่อให้ใจ Smiley กันมาขนาดนี้ ก็ย่อมได้ใจกลับไปเป็นกระบุงโกย Smiley เป็นใครก็อยากแวะเวียนไปหา ไปให้ช่วยเหลือ หรือกลับไปอุดหนุนกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นแน่

ว่าแล้ว เราก็มีคลิปโฆษณาของแคมเปญนี้มาฝากด้วยนะ ซึ่งสื่อถึงความอุ่นหนาฝาคั่งของการยินดีตอบคำถามได้อย่างน่ารักน่าชังเชียวแหละ  Smiley

 

5. สื่อสารอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง

สำหรับเรื่องสุดท้ายที่อยากฝากไว้ก็คือ เรื่องของการสื่อสารที่อบอุ่นเป็นกันเอง ความจริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ด้วยความที่บางทีเราต้องดูแลลูกค้าจำนวนมากให้ได้รับบริการที่เป็นมาตรฐานเหมือน ๆ กัน ก็เลยกลายเป็นว่า ท่าทีที่แสดงออกมา หรือบทสนทนาโต้ตอบ เป็นเหมือนกับการตั้งโปรแกรมที่ดูแข็งทื่อ ขาดความจริงใจ ไร้ความรู้สึก...ลืมไปแล้วหรืองัย!! Smiley ว่าคนที่เราติดต่อหรือให้บริการอยู่ก็เป็นคนที่มีเลือดเนื้อ มีจิตใจและความรู้สึกเหมือนเรานั่นแหละ

บางครั้งบางหนคนเราก็ใช้เทคโนโลยีอย่างผิดที่ผิดทาง... มันช่วยให้สะดวกก็จริง แต่มันเติมความอบอุ่นทางใจไม่ได้หรอกนะ คนเราด้วยกันเองต่างหากที่จะมอบความรู้สึกนี้ให้แก่กันได้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง Smiley จะไม่ยกตัวอย่างก็ดูจะขาดอะไรไป ขอเล่าเรื่องบริการอันเป็นเลิศที่เป็นที่กล่าวขานจนทุกวันนี้ของ Zappos หน่อยละกัน

เรื่องมาจากว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งซื้อรองเท้าของ Zappos ไปเพื่อจะเอาไปให้แม่เป็นของขวัญ แต่แม่ของเธอเกิดเสียชีวิตกะทันหัน เธอจึงโทรไปขอคืนสินค้า ซึ่งตามปกติลูกค้าจะต้องนำสินค้าไปคืนที่ศูนย์รวบรวมสินค้า (ก็เป็นเรื่องธรรมดา...ใคร ๆ ก็ต้องทำแบบนี้ทั้งนั้น)  แต่เผอิญว่า พนักงานของ Zappos ใช้ “ใจ” รับสายลูกค้ารายนี้ จึงสัมผัสถึงความทุกข์ใจของเธอไปเต็ม ๆ และได้จัดการให้คนไปรับสินค้าคืนถึงบ้าน พร้อมกับส่งช่อดอกไม้และการ์ดแสดงความเสียใจไปให้ด้วย...ฟังแล้วน้ำตาจะไหล น่าซาบซึ้งใจจริง ๆ ... Smiley  ลูกค้ารายนี้ก็เช่นกัน เธอประทับใจมาก จึงนำเรื่องนี้มาเล่าลงในบล็อก และข่าวนี้แพร่สะพัดไปทั่วในเวลาไม่นาน จนเข้ามาถึงหูพวกเราให้ได้ชื่นชมไปด้วยนี่แหละ

เห็นมั้ยว่า ความอบอุ่นเป็นกันเองส่งผลได้มากมายขนาดไหน ความจริงก็เป็นเรื่องง่าย ๆ เพียงแต่เราหลงลืมไป...เอาเป็นว่า ลองกลับมาคิดถึงเรื่องพวกนี้อีกสักครั้ง ลองนำธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในตัวเราทุกคนนี่แหละ สะท้อนออกมาผ่านงานการที่ทำ หรือจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ รับรองว่าเวิร์กแน่...ก็เราอยู่ในสังคม จะสังคมจริงหรือสังคมในโลกออนไลน์ก็แวดล้อมไปด้วยผู้คน การติดต่อและปฏิสัมพันธ์กับคนก็ต้องใช้ “หัวใจของคน” จึงจะสร้างความผูกพันได้ไม่รู้ลืม  Smiley

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้คิดเอาเองหรอกนะคะ แต่ต้องขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากหนังสือเล่มนี้ต่างหาก .... เปลี่ยน Friend เป็น Fan ผูกใจไว้กับแบรนด์ตลอดกาล

 

ความจริงยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสื่อสารและการตลาดในยุคโซเชียลมีเดีย และมีอีกหลายตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า เทรนด์ของโฆษณาในยุคต่อจากนี้จะไปในทิศทางใด ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ที่น่าจับตาสำหรับนักโฆษณาและนักการตลาดบ้านเราไม่น้อย

แต่เท่าที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้ ก็หวังว่าคงจะพอเป็นประโยชน์ให้นำไปปรับใช้กับกิจการหรือเรื่องส่วนตัวได้ไม่มากก็น้อยนะคะ หรือถ้าใครนำไปใช้แล้วเวิร์กไม่เวิร์กอย่างไร หากนำมาแบ่งปันให้ทราบก็จะดีใจมากเลย

ครั้งหน้าถ้ามีโอกาส ก็จะนำข้อมูลมานำเสนอ ให้ได้อ่านกันเล่น ๆ เผื่อเป็นประโยชน์กันอีกนะค๊า.... Smiley 




 

Create Date : 13 กันยายน 2555    
Last Update : 14 กันยายน 2555 16:04:24 น.
Counter : 3266 Pageviews.  

สื่อสารอย่างมีเสน่ห์ ในยุค Social Media (1)

ไม่ต้องบอกก็ทราบกันดีว่าทุกวันนี้ Social Media มีอิทธิพลมากแค่ไหนในชีวิตประจำวันของคนเรา

รู้มั้ยว่า...ปัจจุบันมีคนใช้งาน Social Media อย่าง Facebook ถึง 900 ล้านคน หรือทุก ๆ 7-8 คนบนโลกใบนี้ จะมี 1 คนที่ใช้ Facebook  Smiley  ส่วน Twitter เองก็ไม่น้อยหน้า มีผู้ใช้งานถึงกว่า 550 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 13 ของประชากรโลกเชียวนะ!! แล้วก็มีคนนับล้านที่ใช้เวลามากกว่า 16 ชม./วันบนโลกออนไลน์ และเกือบทั้งหมดนี้สื่อสารกันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เฉพาะ Facebook อย่างเดียว ในแต่ละวันมีการอัพโหลดรูปภาพถึง 250 ล้านภาพ และทุกวันก็มีคนกด “Like” ถึง 3,000 ล้านครั้ง!!!

ลองคิดดูสิว่า จะมีข้อมูล รูปภาพ หรือข่าวสารปริมาณมหาศาลขนาดไหนที่ไหลเวียนในระบบนี้อยู่ทุก ๆ นาที แล้วข่าวสารทางการตลาด ข้อมูลประชาสัมพันธ์ หรือแผนโปรโมทต่าง ๆ ที่คุณอุตส่าห์นำเสนอออกมาจะไปอยู่ตรงไหน หรือทำออกมาแล้วใครจะเหลียวแล Smiley

แน่นอน ใครก็อยากนำพาธุรกิจให้แทรกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงกับผู้คนจำนวนมหาศาลในชุมชนแห่งนี้ แม้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะแสดงตัวตนให้เป็นที่รู้จัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้พวกเขายอมรับ ยอมสนิทสนมคุ้นเคย หรือยอมหันมาฟังในสิ่งที่คุณอยากบอก และที่สำคัญ ทำอย่างไรพวกเขาจึงจะยอมติดต่อคบค้ากับคุณหรือธุรกิจของคุณไปนาน ๆ (ก็เค้ามีทางเลือกตั้งมากมาย เรื่องอะไรที่จะต้องสนคุณด้วยล่ะ!! Smiley ) ทางออกสำหรับเรื่องนี้ก็คือ ต้องรู้จักเข้าหาพวกเขาให้ถูกที่ ถูกเวลา และในแบบที่พวกเขาชอบ

วันนี้เรามีเคล็ดลับดี ๆ มาฝาก ถึงวิธีการโฆษณา รวมถึงการสื่อสารการตลาดอย่างมีเสน่ห์ ที่จะทำให้ใคร ๆ ก็อยากเข้ามา Like & Share อยากติดตามและสนับสนุนธุรกิจของคุณไปเรื่อย ๆ แม้ว่าคุณจะไม่ได้ทำธุรกิจ ไม่ใช่นักโฆษณาหรือนักการตลาด เพียงแค่มี Blog ส่วนตัว ใช้ Twitter, Facebook  หรือใช้สื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ก็สามารถหยิบเอาทริกดี ๆ เหล่านี้ไปใช้สร้างแฟนประจำของตัวเองได้ไม่ยาก

เอาละ...เรามาเริ่มจากเคล็ดลับข้อแรกกันเล้ย  Smiley

1.  ให้ดึงความสนใจด้วยความรู้สึกร่วม 

ที่ผ่านมา เรามักเห็นโฆษณาที่เน้นความสะดุดตาเร้าใจ ยิ่งแปลกใหม่น่าตื่นตาตื่นใจได้ยิ่งดี แต่แบบนี้ถือเป็นการดึงดูดความสนใจระยะสั้นที่ฉาบฉวย กระตุ้นความสนใจได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว สมัยนี้ต้องดึงความสนใจด้วย “ความรู้สึกร่วม” …แล้วความรู้สึกร่วมคืออะไรล่ะ ? ถ้าให้บอกง่าย ๆ คืออะไรก็ตามที่ “โดนใจ Smiley” เพราะมันตรงกับค่านิยม ความชอบ รสนิยม ความถูกต้อง หรือความดีงามที่อยู่ในตัวคนเรานั่นแหละ

จริง ๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เราก็มีพื้นฐานที่คล้าย ๆ กัน อย่างเช่น ถ้ามีสินค้า 2 ชิ้นที่คุณภาพใกล้เคียงกัน ชิ้นหนึ่งอาจจะแพงกว่า แต่มีเรื่องราวเบื้องหลังว่าผลิตขึ้นมาโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร ใช้สินค้านี้แล้วจะมีส่วนช่วยโลกช่วยสังคมได้อย่างไร ก็แน่นอนว่าย่อมมีหลายคนที่จะยอมจ่ายแพงกว่า เพราะรู้สึกดี ภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือสังคม (ก็แหม...ลึก ๆ แล้วใครก็อยากเป็นคนดีทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่ติดเรื่องตังค์ในกระเป๋าซะอย่าง Smiley)

รู้อย่างนี้แล้ว ครั้งหน้าหากจะโฆษณาหรือสื่อสารอะไรออกไป ก็อย่าลืมนำ “ความรู้สึกร่วม” มาเป็นตัวชูโรง สอดแทรกแทนการโฆษณาคุณสมบัติอันเลอเลิศของผลิตภัณฑ์ที่จะนำเสนอด้วยก็แล้วกัน  

แต่แหม...เล่าแล้วก็ไม่เห็นภาพ ว่าเจ้าความรู้สึกร่วมนี้จะมีผลต่อความรู้สึกของคนเราได้แค่ไหน ถ้าอย่างนั้นเราลองมาดูตัวอย่างจริงกันหน่อยดีกว่า ซึ่งตัวอย่างที่ว่านี้เป็นโฆษณาระดับโลกที่คว้ารางวัล Gold Lion มาจากงานประกวดโฆษณานานาชาติที่เมืองคานส์ เมื่อปี 2010 เชียวนะ Smiley ...แต่เดี๋ยวจะชมกันไม่สนุกเพราะเป็นภาษาอิตาเลียน จึงต้องขอเล่าความเป็นมาก่อนว่า เป็นแคมเปญโฆษณาเบียร์ไฮเนเกน Smiley ที่ต้องการเรียกคืนบรรยากาศความครื้นเครงของการซดเบียร์พร้อมกับส่งเสียงเชียร์บอลของคนอิตาลีให้กลับมาอีกครั้ง หลังจากดูท่าว่าจะซบเซาลงไป Smiley  จึงวางแผนแกล้งจัดคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกขึ้นมา ในวันเดียวกับที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกส์ที่มีทีมโปรดจากสโมสรอีตาลีอย่างทีม A.C.Milan ลงชิงชัย แล้วก็ให้คนรอบตัวของบรรดาแฟน ๆ A.C.Milan อย่างเพื่อน แฟนสาว หรือแม้แต่อาจารย์ ไปขอร้อง (อืมม...อาจจะแกมบังคับด้วยก็ได้นะ  Smiley) ให้ดาราจำเป็นกลุ่มนี้ไปชมคอนเสิร์ตเป็นเพื่อนหน่อย Smiley

และแล้วพอถึงวันงาน สาวกทีม A.C.Milan นับพันต่างเดินหน้าตูมเข้ามาในงานกันเป็นแถว ฟังดนตรีคลาสสิกไปก็หาวหวอดกันไป Smiley....ปล่อยให้เบื่อสุด ๆ ไปสักพัก แล้วคำเฉลยก็ค่อย ๆ เผยขึ้นมาว่า...

"ไม่กล้าปฏิเสธหัวหน้าใช่มั้ยล่ะ” 

"ไหนจะแฟนอีก”

"แต่ยังไง ๆ ก็ยังคาใจกับแมตซ์นั้นอยู่ล่ะสิ”

"ทำใจแล้วใช่มั้ยว่าอดดูแน่ ๆ”

จากนั้น…… ถึงตรงนี้ก็ลองติดตามชมกันเองแล้วกัน ว่าอารมณ์ความรู้สึกร่วมและความประทับใจสำหรับคนคอเดียวกันจะพีคขึ้นมาสุด ๆ ขนาดไหน  Smiley

  

2. แบ่งปันปรัชญาการดำเนินธุรกิจ 

พอพูดว่าปรัชญาการดำเนินธุรกิจอาจฟังดูยากไป ถ้าจะให้ง่ายหน่อยก็อาจจะบอกว่าเป็นจุดมุ่งหมาย ความมุ่งมั่น หรือสิ่งดี ๆ ที่อยากนำเสนอผ่านการดำเนินธุรกิจหรือสิ่งที่เราทำนั่นเอง ถ้าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ลงมาหน่อยก็อย่างเช่น เว็บนี้ บล็อกนี้ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ระดมทุนช่วยน้องหมาจรจัด หรืออะไรก็ว่าไป

ทีนี้ พอมีปรัชญาการดำเนินธุรกิจแล้ว ก็ต้องรู้จักถ่ายทอดและแบ่งปันสิ่งนี้ให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ด้วย เพื่อให้เขาเกิดความเข้าใจ เกิดความรู้สึกร่วม (Smiley เหมือนข้อแรกนั่นแหละ) แล้วสุดท้ายก็อยากสนับสนุนกิจกรรมหรือสิ่งที่คุณทำไปตลอด ขอยกตัวอย่างคลาสสิกระดับตำนาน ที่ถ้าไม่พูดถึงคงเอาต์แย่ นั่นคือปรัชญาการดำเนินธุรกิจของ Apple Inc. ที่เรียกว่า “Think Different” ของ สตีฟ จอบส์ ซึ่งนอกจากจะออกแคมเปญโฆษณาที่สร้างความฮือฮาในสมัยนั้นแล้ว  สิ่งที่ Apple ทำออกมาทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ นำเสนอบริการ ไปจนถึงการตกแต่งร้านค้า ล้วนตอกย้ำถึงการปฏิวัติสิ่งเก่า สร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเพื่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติอย่างชัดเจน

ลองมาดูโฆษณาชิ้นนี้กันเลยดีกว่า...

แต่ถ้าใครฟังไม่ทัน ก็มีบทบรรยายของนักแปลฝีมือเยี่ยมมาให้ดูด้วยนะ จะได้ดื่มด่ำกับปรัชญาการดำเนินธุรกิจของ Apple ให้เต็มที่ และรู้ซึ้งว่าทำไม Apple ถึงเข้าไปอยู่ในใจผู้คนได้มากมายถึงเพียงนี้  Smiley 

“นี่คือพวกคนเพี้ยน คนประหลาด คนกบฏ พวกคนตัวปัญหา คนที่ยืนยันจะตอกหมุดกลมลงในรูเหลี่ยมให้ได้ คนที่มองโลกด้วยสายตาที่ไม่เหมือนใคร พวกเขาเกลียดชังกฎเกณฑ์ พวกเขาไม่เคยพอใจสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีคนสะเทือนใจในคำกล่าวของพวกเขา และก็มีคนที่ค้านหัวชนฝา มีคนชื่นชมพวกเขา และก็มีคนที่ตำหนิติเตียน แต่ไม่ว่าใครก็มองข้ามพวกเขาไปไม่ได้ เพราะพวกเขาเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ในโลกไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขาทำให้มนุษยชาติก้าวไปข้างหน้า แม้ใครจะมองว่าพวกเขาแปลกประหลาด แต่สำหรับเรา...พวกเขาคืออัจฉริยะที่แท้จริง เพราะคนที่เชื่ออย่างสุดหัวใจว่าตัวเองจะเปลี่ยนโลกได้ คือคนที่เปลี่ยนโลกได้จริง ๆ” - Think Different - แปลโดย ประวัติ เพียรเจริญ

...

โอ๊ะ!! พอก่อนดีกว่า...เยอะไปเดี๋ยวจะเบื่อกันซะก่อน Smiley

ยังไงก็ได้ข้อมูลดี ๆ ไป 2 ข้อแล้ว ลองนำไปใช้ดูก่อน แต่ยังเหลือเคล็ดลับสร้างเสน่ห์สำหรับการประชาสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ อีก 3 ข้อ ขอให้อดใจรอติดตามตอนต่อไปกันหน่อยน้า...Smiley

 




 

Create Date : 30 สิงหาคม 2555    
Last Update : 13 กันยายน 2555 17:36:01 น.
Counter : 2318 Pageviews.  

ตัวอย่างการทำไคเซ็นของไทย : เปลี่ยนวิธีการทำ Blank Mold Item B16315

บริษัท โอเชียนกลาส จำกัด (มหาชน)



สำหรับแนวคิดการปรับปรุง การเปลี่ยนวิธีการทำ Item B16315 มาจากข้อมูลการ Scrap Solid Blank จำนวนเฉลี่ย 30 ตัว/ปี จึงคิดหาวิธีการลดการใช้วัสดุ และใช้วัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากสภาพการผลิตปัจจุบัน มีแนวโน้มในการผลิตแก้ว Item นี้สูง ทำให้มีอัตราการใช้งาน Solid Blank ค่อนข้างสูง จึงมีแนวคิดที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ให้ได้มากขึ้น โดยการนำ Solid Blank ที่ Scrap แล้วมาประยุกต์ใช้เป็น Blank Case แทน แล้วทำการสั่งทำตัว Blank Mold Insert มาประกอบใช้ในการผลิตโดยไม่ส่งผลต่อ Product หลังจากไคเซ็น ทำให้บริษัทฯ มีต้นทุนในการสั่ง Mold Equipment ต่ำลง จากเดิมที่เคยต้องจ่ายค่า Solid Mold สูงถึงประมาณตัวละ 17,000 บาท จะจ่ายค่า Blank Mold Insert เพียงตัวละไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของการผลิตลดลง และมีประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น

ดูเนื้อหาวารสารเล่มอื่น ได้ที่ วารสาร Kaizen




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2552    
Last Update : 10 มีนาคม 2554 14:17:58 น.
Counter : 6505 Pageviews.  

เรียนรู้ไคเซ็น (Kaizen) จากการ์ตูน

วันนี้หยิบเรื่องมีสาระมาประเดิมชั้นบทความค่ะ (ซึ่งต่อไปก็จะมีมาให้อ่านกันอีกเรื่อย ๆ ค่ะ)



ไคเซ็น (改善) Smiley




ไคเซ็นคืออะไร แล้วอะไรคือไคเซ็น เป็นคำถามยอดฮิต


พูดถึงที่มาที่ไปของคำว่าไคเซ็น ไคเซ็นเป็นศัพท์ภาษาญี่ปุ่น หมายถึง การเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงในที่นี้ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ดีขึ้น จะเรียกว่าเป็น การปรับปรุงให้ดีขึ้น ก็ว่าได้ หลักการง่าย ๆ ที่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของการทำไคเซ็นมีอยู่ 3 ข้อ นั่นก็คือ เลิก ลด และ เปลี่ยน


การทำไคเซ็น คือ การลดหรือเลิกขั้นตอนส่วนเกิน ส่วนที่ไม่จำเป็น ด้วยการเปลี่ยนวิธีการทำงาน เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย ที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และต้องอาศัยการพลิกแพลงเพื่อให้หลุดพ้นจากข้อจำกัดในความเป็นจริงต่าง ๆ เช่น งบประมาณ เวลา อุปกรณ์ เทคโนโลยี ฯลฯ


ไคเซ็นจากงานตัวเองก่อน เพราะเรารู้จักงานของตัวเองดีที่สุด และเริ่มเปลี่ยนเพียงบางส่วน เพราะการเปลี่ยนทั้งหมดเป็นเรื่องยาก !!


ลองสรุปง่ายๆ

ไคเซ็น ไม่ใช่งานส่วนเกินนอกเหนือจากงานประจำ
ไคเซ็น คือการลดขั้นตอนส่วนเกิน แต่ลดจากเรื่องที่ไม่จำเป็น ด้วยการเปลี่ยนวิธีการทำงาน ทำด้วยความตั้งใจจริง
ไคเซ็น คือ

1. เปลี่ยนวิธีการ...เปลี่ยนวิธีการทำงาน ลดขั้นตอนส่วนที่ไม่จำเป็นออก
2. เปลี่ยนเรื่องเล็ก...เปลี่ยนเรื่องเล็ก ๆ หรือปัญหาที่พบเห็นในแต่ละวัน
3. รับมือกับความเป็นจริง...ทำเรื่องที่ทำได้ก่อน รับมือกับความเป็นจริงที่มีข้อจำกัด










ไคเซ็นถือกำเนิดและเติบโตที่ประเทศญี่ปุ่น และเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทยมานานพอสมควรแล้ว แนวคิดนี้ได้รับการตอบรับจากภาคอุตสาหกรรมไทยในฐานะเครื่องมือช่วยในการบริหารให้ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน จากการลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ


การทำไคเซ็นปรากฏให้เราได้เห็นกันทุกที่ ไม่ใช่แค่ในโรงงาน เพราะไม่ว่าจะเป็นใน สายการผลิต ในสำนักงาน หรือแม้แต่ใน ชีวิตประจำวัน ก็สามารถทำไคเซ็นได้เหมือนกัน.......


Smiley ทางสำนักพิมพ์ยังมีอีกหลายสาระน่ารู้หากเพื่อน ๆ สนใจที่จะอ่านต่อ ก็เชิญได้ตามลิงก์นะคะ อ่านวารสารน่ารู้




 

Create Date : 14 มกราคม 2552    
Last Update : 14 มกราคม 2552 9:11:50 น.
Counter : 25909 Pageviews.  


textbook
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]




สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. สรรค์สร้างสาระสู่สังคม
มุ่งมั่นผลิตตำราวิชาการและหนังสือเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ การบริหารจัดการ ด้านส่งเสริมการศึกษา เพื่อการพัฒนาตนเองและองค์กร สำหรับภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม
Friends' blogs
[Add textbook's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.