Children’s express

Children’s express : สำนักข่าวเยาวชน


     ในปี 1976 ระหว่างการสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้น ขณะที่นักข่าวทั่วโลกกำลังตั้งตารอคอยคว้าข่าวใหญ่ว่าใครจะสมัครรับเลือกตั้งคู่กับจิมมี คาร์เตอร์ ไม่มีใครสนใจเด็กชายจิลเบิร์ต จิลล์ อายุ 12 ปี ผู้บังเอิญเข้าไปในลิฟต์เดียวกับคณะผู้อาวุโสที่ปรึกษาการเลือกตั้งของคาร์เตอร์ วันต่อมา สำนักข่าวชิลเดรน เอ็กซแพรส ก็เป็นสำนักข่าวที่ลงข่าว คาร์เตอร์ลงสมัครรับเลือกตั้งคู่กับมอนเดล เป็นสำนักข่าวแรก

     “พวกผู้ใหญ่นึกไม่ถึงว่าเด็กๆกำลังฟังพวกเขาคุยกันอยู่และพวกแกยังเข้าใจด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น” แน่นอนว่าคนที่พูดประโยคนี้ออกมาไม่ใช่เด็ก เพราะพวกผู้ใหญ่นอกจากจะไม่คิดว่าเด็กๆฟังพวกเขาอยู่ พวกเขายังไม่ฟังเด็กๆพูดอีกด้วย ยกเว้นผู้ใหญ่คนนี้ นอกจากเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่ฟังเด็กแล้ว เขายังทำให้ผู้ใหญ่คนอื่นๆหันมาฟังเด็กๆมากขึ้นด้วยโดยการก่อตั้งสำนักข่าวเด็กขึ้นมาเพื่อนำเสนอข่าวซึ่งเขียนโดยนักข่าวรุ่นจิ๋วเพื่อแสดงความคิดเห็นของตนให้ผู้ใหญ่อ่านตามหน้าหนังสือพิมพ์ของผู้ใหญ่เอง

     ชายผู้นี้ชื่อบ๊อบ แคลมพิทท์ อดีตทนายความประจำตลาดหุ้นวออล์สตรีทและนักธุรกิจ เขาเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เด็กๆคิดและพูดออกมานั้นมีความหมาย แคลมพิทท์ฝันจะสร้างวิธีการให้เด็กๆได้รายงานข่าวและก่อตั้งนิตยสารชื่อ ชิลเดรน’ส เอ๊กสเพรซ (Children’s express) ขึ้น แรกเริ่มก็ยังเป็นนิตยสาร “โดยเด็กๆ เพื่อเด็กๆ” (by chrildren, for chrildren) หลังจากนั้นก็ขยับขยายไปเป็นสำนักข่าวที่ส่งบทความ ข่าวย่อย ไปยังสถานีวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ต่างๆทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักข่าวแห่งนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลพูลิทเซอร์ในปี 1982 ได้รับรางวัลเอ็มมีและพีบอดีจากข่าวโทรทัศน์เรื่องนโยบายหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1988

     นอกจากการนำเสนอข่าวแล้ว สำนักข่าวแห่งนี้ยังบุกเบิกกิจกรรมต่างๆตามโรงเรียนและเข้าร่วมฟังการประชุมสภาคองเกรซ ทั้งยังเปิดโอกาสให้เด็กๆนักข่าวของตนออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อทำข่าวต่างประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ดี ในปี 2001 สำนักงานชิลเดรน’ส เอ๊กสเพรซที่นิวยอร์ก วอชิงตัน ดีซี มิชิแกนและโตเกียวต้องปิดตัวลงเนื่องจากประสบปัญหาเรื่องเงินสนับสนุน

     แต่ข่าวร้ายนั้นก็ไม่ได้กระทบกระเทือนสำนักข่าวชิลเดรน’ส เอ็กสเพรซ ประจำประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งการกุศลจดทะเบียนต่างหากในประเทศอังกฤษ สำนักข่าวแห่งนี้ยังคงดำเนินกิจการกับทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่อไปจนถึงทุกวันนี้ โดยสำนักงานใหญ่ ณ กรุงลอนดอนก่อตั้งขึ้นในปี 1995 ต่อด้วยสาขาเมืองนิวคาสเทิลในปี 1997 เมืองเชฟฟิลด์ในปี 1998 เมืองเบลฟาสต์ในปี 2000 และล่าสุดเมืองฟอยล์ทางไอร์แลนด์เหนือในปี 2003 สำนักข่าวเหล่านี้นำเสนอความเห็นของเยาวชนไปยังสื่อในระดับชาติเช่นเดียวกับในระดับท้องถิ่น เพื่อให้ผู้อ่านซึ่งเป็นผู้ใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญ เปิดใจรับฟังเสียงจากเด็กๆ ให้สมกับคำขวัญของสำนักข่าวแห่งนี้ที่ว่า “ข่าวและความเห็นของเยาวชนสำหรับทุกๆคน” (News and comment by young people for everyone)

     เหตุที่องค์กรกึ่งการกุศลแห่งนี้เลือกนำเสนองานนักข่าวให้กับเด็กๆที่มาร่วมงานก็เนื่องจากเล็งเห็นว่า งานนักข่าวเป็นเครื่องมือซึ่งเหมาะสมที่สุดในการพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ นักข่าวรุ่นจิ๋วของชิลเดรน’ส เอ็กสเพรซ อายุตั้งแต่ 8 – 18 ปี จากทุกพื้นเพจะได้มาทำงานร่วมกัน เสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองและความสามารถในการอ่าน เขียน และวิเคราะห์เรื่องราว โดยเริ่มจากการนำเสนอความเห็นต่อหัวข้อข่าวในมุมมองต่างๆ รู้จักวิธีการค้นหาข้อมูล เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การเตรียมคำถาม ประสานงานตระเตรียมงานภาคสนามจนถึงขั้นตอนลงสัมภาษณ์ หลังจากนั้นก็นำข้อมูลที่ได้มาคัดเลือก เรียบเรียงประเด็นหลักเพื่อสรุปเนื้อหาของบทความข่าวที่จะใช้ โดยมีนักข่าวผู้ใหญ่มืออาชีพเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา

     ตั้งแต่ปี 1995 ชิลเดรน’ส เอ็กสเพรซ อังกฤษได้ฝึกอบรมเยาวชนไปแล้วไม่น้อยกว่า 450 คน นำเสนอข่าวออกไปจำนวนมากกว่า 600 ชิ้น โดยประเด็นหัวข้อข่าวมีตั้งแต่เรื่องสิทธิเด็ก การศึกษา สิ่งแวดล้อม ครอบครัวและความสัมพันธ์ สุขภาพและเพศ กฎหมายและอาชญากรรม การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ไปจนถึงศาสนาและเหตุการณ์รอบโลก ข่าวเหล่านี้ถูกตีพิมพ์ให้หนังสือพิมพ์มากมาย อาทิ The Guardian, The Daily Mirror, The Observer, The Belfast Telegraph, The Highbury & Islington Express, The Newcastle Evening Chronicle, The Birmingham Post, The Plymouth Evening Herald และ The Sheffield Star เป็นต้น รวมไปถึงข่าวที่ออกอากาศตามสื่อวิทยุและโทรทัศน์ต่างๆ ในปี 2000 ชิลเดรน’ส เอ็กสเพรซ ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรายการโทรทัศน์พิลาร์บอกซ์ โปรดักชัน (Pillarbox Productions) ผลิตรายการ 'Sex 8-18' ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ชาแนล 4 (Channel 4) และเข้าร่วมรายงานข่าวในสถานีโทรทัศน์สกายนิวส์ (Skynews) ด้วย

     นอกเหนือจากกิจการสำนักข่าวแล้ว ชิลเดรน’ส เอ็กสเพรซ ยังเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนข่าวและบทความในเมืองต่างๆ โดยให้ความสนับสนุนองค์กรที่มีโครงการเรียนรู้ผ่านการเขียนข่าวและบทความสำหรับเยาวชนในท้องถิ่นที่มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้อ่านอย่างกว้างขวางทั่วถึงขึ้นเพราะไม่จำกัดอยู่แค่งานในขอบข่ายของสำนักข่าวเท่านั้น

     ในกรุงลอนดอน ชิลเดรน’ส เอ็กสเพรซ เข้าร่วมในการจัดทำนิตยสารลาวด์’ น เคลียร์ (Loud 'n Clear) ซึ่งจัดทำโดยเด็กๆในเขตพื้นที่อิสลิงตัน (Islington) คอลัมน์ที่น่าสนใจคือ If I were in charge of … (ถ้าฉันเป็นผู้ดูแล...) ตัวอย่างเช่น เด็กชายวัยสิบเอ็ดปีส่งความเห็นมาบอกว่าถ้าเขาได้เป็นผู้ดูแลอินเตอร์เน็ตเขาจะให้มีคนคอยควบคุมดูแลโปรแกรมแชทต่างๆไม่ให้มีคนมาหลอกเด็กๆ ให้มีการดาวน์โหลดหนังสือ เพลง โปรแกรมต่างๆฟรีและไม่มีแถมไวรัส หรือเด็กหญิงวัยสิบสี่บอกว่าถ้าเธอเป็นผู้ดูแลประเทศอังกฤษเธอจะไม่ให้มีผู้อพยบเพราะคนที่มาอยู่ที่ประเทศอังกฤษจะได้รับการต้อนรับมีงานการทำเหมือนคนอังกฤษทุกคนและจะไม่สนับสนุนให้มีสงครามเกิดขึ้น

     เช่นเดียวกับที่เขตแฮคนีย์ กรุงลอนดอน ชิลเดรน’ส เอ็กสเพรซร่วมมือกับกองทุนเพื่อเด็กเขตแฮคนีย์ (Hackney Children's Fund) ออกนิตยสารโดยนักเขียนรุ่นเยาว์อายุตั้งแต่ 5 – 13 ปี ชื่อ วอท’ส อัพ (What's Up ?) เด็กๆที่เข้าร่วมจะได้หันกลับมาตั้งคำถามว่าพวกเขาเป็นใคร เขาอยู่ตรงจุดไหนของสังคมและพวกเขาจะแสดงความสามารถในการสื่อสารความคิดของตนออกมาอย่างไรได้บ้างซึ่งจะทำให้เด็กมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเอง นิตยสารเล่มนี้จะกระจายไปตามโรงเรียนและหน่วยราชการต่างๆทั่วเขตพื้นที่นั้น

     อีกโครงการหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือโครงการ Our Roots. Our Heritage. (รากของเรา มรดกของเรา) ซึ่งกำหนดเวลาการทำข่าวไว้สองปี ผู้สื่อข่าวจากสำนักงานสาขาต่างๆทั่วประเทศของชิลเดรน’ส เอ็กสเพรซ ร่วมกันเจาะประเด็นว่ามรดกทางวัฒนธรรมที่เราได้รับสืบทอดมาคืออะไร การเป็นคนอังกฤษมีความหมายกับเราอย่างไรบ้าง เราชอบ[รรดาพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีต่างๆไหม และเราต้องการทิ้งอะไรเป็นมรดกสืบไป โดยเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า ทำไมโลกของเราวันนี้จึงเป็นเช่นนี้ ต่อด้วยความเห็นของเด็กในหัวข้อต่างๆเช่น เด็กๆต้องการที่จะใช้เงินยุโรเช่นเดียวกับประเทศในสหภาพยุโรปอื่นๆหรือไม่ ไปจนถึงการสืบค้นว่าทำไมการล่าอาณานิคมจึงไม่รวมอยู่ในประวัติผลงานของชาติ นักข่าวรุ่นเยาว์จะได้เข้าพบเพื่อสัมภาษณ์บุคคลสำคัญที่เป็นแกนหลักทางวัฒนธรรมของชาติ หลังจากนั้นก็นำเสนอผลงานการทำข่าวออกมาทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ โครงการนี้สนับสนุนโดย Heritage Lottery Fund โดยเมื่อสิ้นสุดโครงการจะมีการออกนิตยสารฉบับพิเศษที่รวบรวมผลงานการทำข่าวของโครงการไว้

     กลับมายังแผ่นดินสยามบ้านเรากันบ้าง ถึงเด็กไทยผู้เป็นอนาคตของสังคมนี้ พวกคุณนั้นเองก็เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมนี้ ช่วยพูดออกมาดังๆให้พวกผู้ใหญ่เขาได้ยิน ให้พวกเขาได้รู้ว่าพวกคุณกำลังฟังอยู่และแสดงให้พวกเขาเห็นว่าพวกคุณก็เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในขณะนี้...เช่นกัน


ที่มา : ลิงค์จากเวบไซต์นิตยสาร The Observer (UK) คอลัมน์ Focus ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 (//observer.guardian.co.uk/magazine/)
รายละเอียดเพิ่มเติม : //www.childrens-express.org/







 

Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2550 14:23:29 น.
Counter : 735 Pageviews.  

The other voices of America

The other voices of America : เสียงอื่นๆจากอเมริกา




     สหรัฐอเมริกา มีอะไรมากกว่าที่เห็นในข่าวทางทีวี บนจอหนัง และจากร้านเฟรนไชส์แดกด่วนที่ทะลักมาผุดขึ้นทุกหัวระแหงในบ้านเรา หากเปรียบข้อมูลที่เราได้จากสถานีวิทยุ ว๊อยซ์ ออฟ อเมริกา (Voice of America) คลื่นวิทยุของรัฐบาลสหรัฐซึ่งส่งกระจายเสียงไปทั่วโลกเป็นเสียงที่ดังสนั่นมาเข้ารูหูให้เราได้รับรู้เรื่องราวของประเทศนี้ได้ง่ายๆ เสียงที่คุณจะได้ยินต่อไปนี้ก็จะเป็นเสียงเล็กๆอื่นๆจากอเมริกาที่กระจายด้วยกำลังส่งต่ำต้องใส่ใจเงี่ยหูฟังดีๆจึงจะได้ยิน

     กระนั้นเสียงเล็กๆเหล่านี้ก็เป็นข้อมูลสะท้อนให้เห็นภาพของอเมริกาที่ต่างออกไปจากที่อยู่ในใจของเราไม่มากก็น้อยและเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

     เสียงแรกส่งมาจากรัฐโคโลราโด เป็นเสียงปรบมือโห่ร้องจากแฟนๆชาวนีโอ-ฮิปปี้ในคอนเสิร์ตของวงดนตรีที่ตั้งขึ้นในโคโลราโดชื่อ สตริง ชีส อินสิเดนท์ (The String Cheese Incident) ซึ่งออกอัลบั้มล่าสุดชื่อ ออน เดอะ โรด (On the road) อันเป็นชื่อหนังสือของ แจ๊ค เครูแอค (Jack Kerouac ค.ศ. 1922-1969) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนักเขียนและกวีขบถกลุ่มเล็กๆในยุค 50 ที่ได้รับขนานนามว่ากลุ่มบีท เจเนเรชั่น (Beat generation) หนังสือเล่มนี้นับเป็นแรงบันดาลใจของพวกฮิปปี้ในยุค 70

     พวกฮิปปี้รุ่นหลังหรือ นีโอ ฮิปปี้ ที่โคโลราโดรวมตัวกันสืบสานความคิดของพวกฮิปปี้ในยุค 70 ชูสโลแกนสันติภาพและความรัก (Peace and love) ต่อต้านการครอบงำทางความคิดและการคุกคามของระบบทุนนิยม แสวงหาโลกในอุดมคติ ต่อต้านสงครามและเน้นการปฏิวัติเพื่อสิ่งที่ดีกว่า แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่มีสันแบบฮิปปี้ มุ่งเน้นการใช้ชีวิตที่แตกต่างและนิยมการเดินทางเพื่อเปิดจิตใจให้กว้างอยู่ในสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับมาจากศาสนาพุทธ

     เสียงที่สองเป็นเสียงปะทะกันของชาวบ้านดั้งเดิมชาวเวอร์มอนต์กับชาวเมืองหัวใหม่ที่ย้ายมาอยู่และกลายเป็นหัวหอกนำแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและการแต่งงานระหว่างรักร่วมเพศเข้ามา ชาวนาท้องถิ่นผู้ขัดเคืองกับสภาพชีวิตที่เปลี่ยนไปติดป้ายเขียนข้อความประท้วงว่า “Take back Vermont” (เอาเวอร์มอนต์กลับคืนมา) ส่วนอีกฝ่ายก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันโต้กลับด้วยข้อความว่า “Take Vermont forward” (นำเวอร์มอนต์ก้าวไปข้างหน้า) และดูเหมือนเวอร์มอนต์จะก้าวล้ำไปกว่ารัฐไหนๆด้วยการจดทะเบียนแต่งงานให้กับคู่แต่งงานเลสเบี้ยนคู่แรกของสหรัฐอเมริกา

     ไม่ว่าจะมีความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มนี้มากแค่ไหน แต่ผลผลิตจากการผสมผสานของคนสองกลุ่มนี้ ก็ทำให้เกิดสิ่งดีๆกับแวร์มอนต์เหมือนกัน ดูได้จากเรื่องราวของ ไอศกรีมยี่ห้อ เบนแอนด์เจอรี่ (Ben & Jerry) ซึ่งก่อตั้งโดยสองสหายชาวนิวยอร์กที่มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่และใช้นมจากเวอร์มอนต์ผลิตไอสกรีมจนเลื่องชื่อ เบนแอนด์เจอรี่เป็นบริษัทเล็กๆที่มีจิตสำนึกในสังคม พวกเขาเสนอที่จะแจกไอสกรีมฟรีให้กับผู้ที่เขียนจดหมายไปทำเนียบขาวเพื่อคัดค้านการเพิ่มงบประมาณทางการทหาร ในแต่ละปีจะมีอยู่วันหนึ่งซึ่งพวกเขาจะจัดงานแจกไอสกรีมฟรีตลอดวันและสาขาต่างๆทั่วโลกของเบนแอนด์เจอรี่ก็รับธรรมเนียมนี้ไปปฏิบัติเรื่อยมา นอกจากนั้นยังมีการนำผลกำไรที่ได้มาตั้งองค์กรการกุศลเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางสังคมกลับคืนสู่รัฐ

     เสียงที่สามมาจากเมืองซีแอทเทิล เมืองซึ่งไม่ต้อนรับคนเหยียดสีผิว คนกีดกันเพศ ผู้รังเกียจเกย์-เลสเบี้ยนและพวกงี่เง่า ที่นี่เป็นบ้านเกิดของบริษัทไอทีชั้นนำหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟ เรียลเน็ตเวิร์ก หรือ เอทีแอนด์ที นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่บ้านพักอาศัยกว่า 80% ในเมืองนี้มีอินเตอร์เน็ตกำลังเร็วใช้ ซีแอทเทิลเป็นเมืองใหญ่เมืองแรกของสหรัฐอเมริกาที่เทศบาลเมืองมีเวบไซต์ให้ประชาชนเข้ามาค้นข้อมูลเรื่องการบริหารเมือง ชาวเมืองสามารถตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นกับผู้แทนของตน แจ้งซ่อมแซมสมบัติสาธารณะ จ่ายค่าสาธารณูปโภคและจ่ายภาษีออนไลน์ จากจำนวนคนเข้าไปในเวบไซต์แห่งนี้มากมายถึงหกแสนครั้งต่อเดือน ซีแอทเทิลจึงถือเป็นเมืองที่เป็นผู้นำด้าน “ประชาธิปไตยอิเลคโทรนิคส์” (Electronics Democracy) ของประเทศ

     ชาวซีแอทเทิลชื่นชอบความทันสมัยแต่ก็ไม่ละเลยการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม พวกเขาภูมิใจในความเป็นคน “ที่แตกต่าง” มีศักยภาพและจิตใจเปิดกว้างเป็นตัวของตัวเองของตน ที่นั่นตามหน้าต่างบ้านเรือนร้านค้ามีป้ายที่เขียนว่า “No Iraq war” (ไม่เอาสงครามอิรัก) “Not in our name” (อย่าใช้ชื่อของพวกเรา) ให้เห็นมากกว่าธงชาติสหรัฐ พวกเขาปกป้องร้านค้าท้องถิ่นไม่ยอมให้บริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาตั้งอยู่ในเมืองเกินความจำเป็น

     แทนที่จะนั่งจมจ่อหน้าจอโทรทัศน์อย่างอเมริกันชนทั่วไป คนที่นี่พอใจที่จะดำเนินชีวิตต่างออกไป โรงละครโอเปร่าที่นั่นมีโปรแกรมยาวตลอดปีและคนที่นั่นก็ไปดูละครกันอย่างคึกคัก และที่น่าสนใจมากคือจิตสำนึกเรื่องการศึกษาและการส่งเสริมการอ่านหนังสือ ชาวซีแอทเทิลลงคะแนนเสียงยอมจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปเป็นงบประมาณบำรุงห้องสมุดประชาชนสูงสิบเอ็ดชั้นซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นห้องสมุดที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกา ประชาชนมาใช้บริการยืมหนังสือกันปีละหกล้านเล่ม จึงไม่น่าแปลกใจที่ระดับการศึกษาเฉลี่ยของประชากรที่นี่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (47% ของประชากรได้รับการศึกษาขั้นสูง ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศคือ 25 %) นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นเรื่องการวางผังเมืองและเอาใจใส่ในคุณภาพชีวิตกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างเคร่งครัด กล่าวกันว่าเป็นเมืองอเมริกันที่รู้จักให้เวลาในการใช้ชีวิต

     อีกเสียงมาจากซานฟรานซิสโก ที่นี่ไม่ปฏิเสธบริษัทใหญ่ๆ แต่เรียกร้องให้บริษัทเหล่านั้นเป็นทุนนิยมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (responsible capitalisme) มุ่งใช้เทคโนโลยีและกลไกของบริษัทในกิจกรรมการกุศล ต่อต้านการกดขี่ใช้แรงงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศยากจน ส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมและนำมาใช้งานใหม่ได้ ที่นี่มีองค์กรอิสระเพื่อสังคมไม่มุ่งเน้นผลกำไรและไม่สังกัดหน่วยงานรัฐบาลหรือ NGO อย่างน้อย 9000 แห่งซึ่งดำเนินการเรียกร้องให้บริษัทต่างๆมีจรรยาบรรณกันอย่างแข็งขัน

     เมืองซานฟรานซิสโกมีเป้าหมายในเรื่องการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์ธรรมชาติเด่นชัด โดยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับอาคารสาธารณะ เพิ่มการขนส่งที่ไม่เป็นพิษ รีไซเคิลสิ่งของจนกระทั่งไร้ขยะทิ้งสูญเปล่า และใช้พลังน้ำจากแม่น้ำที่ไหลใต้สะพานโกลเด้น เกทมาผลิตไฟฟ้า ในส่วนของบริษัทเอกชนก็เน้นในเรื่องนี้ไม่แพ้กัน บริษัท นิว ลีฟ (New leaf Paper) ซึ่งดำเนินกิจการสิ่งพิมพ์จากกระดาษที่เป็นมิตรกับธรรมชาติชั้นนำของอเมริกานำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำมาช่วยองค์กร NGO ในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ “บริษัทของเรายิ่งโตขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรักษาต้นไม้ได้มากขึ้นเท่านั้น” บริษัทนี้เป็นผู้จัดพิมพ์แฮรี่ พอตเตอร์ภาคห้าสำหรับประเทศแคนาดาด้วยกระดาษรีไซเคิลปราศจากขั้นตอนฟอกย้อม เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้กระดาษธรรมดา การพิมพ์ครั้งนี้ทำให้ต้นไม้ 30,000 ต้น รอดพ้นจากการถูกตัด ประหยัดน้ำไปได้ 47 ล้านลิตร และเก็บแก๊สไว้ใช้อย่างอื่นได้หนึ่งล้านสองแสนกิโล

     และที่ซานฟรานซิสโกนี่เองที่นิตยสารมาเธอร์ โจนส์ (Mother Jones) ได้ถือกำเนิดขึ้น เป็นนิตยสารรายปักษ์ที่ไม่มีวัตถุประสงค์เชิงการค้า นำเสนอบทความและข่าวคราวต่อต้านการครอบงำจากรัฐและการเอาเปรียบสังคมบริษัทยักษ์ใหญ่และเปิดรับบทความจากผู้อ่านเพื่อจะได้ข้อมูลที่หลากหลายและกระจายทั่วถึง

     นอกจากนี้อเมริกายังไม่ขาดบุคคลทางเลือกอื่นๆที่อยู่ในวงการเมืองซึ่งน่าจับตามอง เริ่มจาก วิโนนา ลาดุ๊ก (Winona LaDuke) ผู้หญิงอเมริกันอินเดียนผู้ต่อสู้เรียกร้องเพื่อชาวอเมริกันอินเดียนและเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติผู้มีบทบาทระดับชาติ เธอเคยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 1996 และปี 2000 อีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวด้วยเช่นกัน ผู้นั้นคือ ราล์ฟ เนดเดอร์ (Ralph Nader) เขาเป็นเช เกวาราของผู้บริโภค เป็นดอน กิโอเต้ของการเลือกตั้ง เขางัดข้อต่อสู้กับบริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ทั้งบริษัทรถยนต์ บริษัทเคมี และบริษัทประกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 จนได้รับฉายาว่า ราษฎรเต็มเวลา (Ful-time citizen) คนสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ เทเรซา ไฮน์ เคอร์รี่ (Teresa Heinz Kerry) ภริยาของ จอห์น เคอร์รี่ (John Kerry) ผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกคนหนึ่ง เทเรซาได้รับยกย่องว่าเป็นสตรีผู้มุ่งมั่นส่งเสริมทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตลอดมาและเป็นความหวังว่าจะเป็นผู้นำเสนอปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมจะเข้าสู่ใจกลางทำเนียบขาวอย่างจริงๆจังๆหากว่าสามีเธอได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

     เสียงเหล่านี้อาจจะเป็นเสียงจากอเมริกาที่ไม่ค่อยแว่วมาให้เราได้ยินบ่อยนัก แต่พอได้ยินแล้วก็ทำให้เราเบาใจขึ้นมาได้นิดนึงว่าอย่างน้อยก็ยังมีเสียงอื่นๆที่เราจะพอหาฟังได้จากประเทศยักษ์ใหญ่เจ้าตำรับลัทธิทุนนิยมแห่งนี้ นอกเหนือไปจากเสียงของชายผู้นั้น ผู้ที่สั่งเสียงดังก้องโลกให้ค้นหาอาวุธทำลายล้างในประเทศอิรักและจนป่านนี้ก็ยังหาไม่เจอกันเสียที


ที่มา : นิตยสาร GEO (France) ฉบับ 304 ประจำเดือนมิถุนายน 2004
ขอขอบคุณ : ศูนย์ข้อมูลและห้องสมุดสมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ ที่ให้ยืมนิตยสาร
ข้อมูลเพิ่มเติม : //www.benjerry.com, //www.mojones.com, //www.freestateproject.org, //www.issues2000.org







 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2550 14:32:44 น.
Counter : 1017 Pageviews.  

My path leads to Tibet

My path leads to Tibet : ทางชีวิตสู่ทิเบต


     ลองหลับตานึกภาพผู้หญิงคนหนึ่งเดินทางเพียงลำพังไปประเทศเนปาล ข้ามไปถึงทิเบต โดยไม่อาศัยไกด์บุ๊กหรือคนนำทาง พาหนะที่ใช้คือม้า ขึ้นขี่บุกบั่นไปตามภูเขา ลัดเลาะไปในหมู่บ้านต่างๆ เมื่อเธอไปถึงทิเบตที่ซึ่งคนตาบอดได้รับการปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์ ถูกมองว่าตาบอดเพราะทำกรรมเก่ามาจากชาติก่อน หรือต้องคำสาปจากภูตผีปิศาจ

     เธอเกิดแรงบันดาลใจอยากช่วยเหลือคนเหล่านั้น เธอเข้าไปสมัครทำงานเป็นอาสาสมัครในองค์กรการกุศลหลายต่อหลายแห่งตั้งใจจะทำงานเพื่อสังคมในทิเบต แต่ทุกองค์กรล้วนปฏิเสธไม่ยอมรับเธอเข้าทำงาน ต่างเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่เธอจะลงทำงานในพื้นที่ แม้ว่าเธอพูดภาษาจีนและภาษาทิเบตได้ดี ทั้งนี้เพียงเพราะเหตุผลเดียวคือเธอเป็นคน “ตาบอด”

     การถูกปฏิเสธความหวังดีและความตั้งใจจริงมิได้ทำให้เธอย่อท้อแต่อย่างใด เมื่อไม่มีองค์กรไหนรับเธอเข้าทำงาน เธอก็ตั้งองค์กรการกุศลของตนขึ้นมาเอง โดยก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดและฝึกวิชาชีพ ชื่อ เบรลล์ วิธเอาท์ บอร์เดอร์ (Braille without Border เบรลล์ไร้เขตแดน) ณ เมืองลาซา ทิเบต

     “คนตาบอดทำแทบทุกสิ่งที่คนตาดีทำได้ อาศัยแค่วิธีการและเทคนิคเท่านั้น” นี่คือหลักการเบื้องต้นของซาเบรีย เทนเบอร์เกน อายุ 33 ปี หญิงสาวชาวเยอรมันเจ้าของเรื่องราวที่กล่าวถึงตั้งแต่ต้น

     ลักษณะการเป็นคนมุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรคของซาเบรียแบบนี้มิได้แสดงให้เห็นในครั้งนี้เป็นครั้งแรก ตอนที่เธอศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยบอนน์ ประเทศเยอรมันนี ซาเบรียเลือกเรียนสาขาทิเบตศึกษา และเนื่องจากเธอเป็นนักศึกษาตาบอดคนแรกและคนเดียวของภาควิชานี้ จึงติดปัญหาว่าภาษาทิเบตยังไม่มีระบบอักษรเบรลล์ แทนที่เธอจะยอมแพ้หันไปเรียนวิชาอื่นสะดวกสบายเพียบพร้อมกว่า เธอกลับคิดค้นระบบอักษรเบรลล์ภาษาทิเบตขึ้นมาด้วยตัวเอง เพื่อจะได้ศึกษาภาษาทิเบตได้ตามที่ตั้งใจไว้ และระบบอักษรเบรลล์ภาษาทิเบตที่เธอคิดขึ้นก็ได้รับการยอมรับ และใช้ในการเรียนการสอนโดยทั่วไป โดยเฉพาะที่โรงเรียน เบรลล์ วิธเอาท์ บอร์เดอร์ ของเธอ

     ชีวิตในวัยเยาว์ของซาเบรีย อาจจะดู “โชคดี” กว่าคนตาบอดหลายๆคนบนโลกนี้ แต่ความโชคดีของเธอนั้นคงจะเทียบไม่ได้กับโชคของคนตาดีที่โชคร้ายที่สุด เธอเกิดและเติบโตที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมันนี พ่อเป็นนักเปียโน แม่เป็นผู้อำนวยการโรงละครเด็ก เมื่อเธออายุได้สองขวบ พ่อแม่ของเธอได้รู้ว่าตาของเธอกำลังจะตาลงทีละน้อย พวกเขาเก็บงำข่าวร้ายนี้ไว้จนเธออายุได้ 13 ปีและตาเธอก็บอดสนิท

     ช่วงเวลาระหว่างที่ตาของเธอค่อยๆบอดลงนั้น พ่อแม่ของเธอพยายามใช้เวลาที่เหลืออยู่บรรจุภาพต่างๆลงในสมองของลูกสาวตัวน้อย โดยการพาเธอไปพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆมากมาย เพื่อเติมดวงตาเธอด้วยสรรพสีสรร “ฉันมีภาพทั้งหมดอยู่ในหัว” เธอเห็นดีด้วยที่พ่อแม่ไม่บอกว่าเธอกำลังจะตาบอด เพราะถ้าได้รู้เรื่องนี้เธอคงจะหวาดกลัวจนไม่กล้าทำอะไรทั้งสิ้น แต่การที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นทำให้เธอสับสนงุนงงไปหมด เธอเดินชนข้าวของตลอดเวลาโดยไม่รู้ว่าทำไม เมื่อเธอได้พบกับเด็กหญิงตาบอดอีกคนหนึ่ง เธอถึงได้รู้ว่าปัญหาน่ารำคาญใจที่เธอประสบอยู่เรียกว่าอะไร

     เมื่อเธอยอมรับกับสภาวะใหม่ได้แล้ว พ่อแม่ของเธอเป็นกำลังใจผลักดันให้เธอเผชิญหน้ากับข้อจำกัดในฐานะคนตาบอด ความคิดนี้ได้ตอกย้ำในใจเธอมากขึ้นอีกเมื่อเธอเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมสำหรับคนตาบอดที่ดีที่สุดในเยอรมัน เธอเรียนขี่ม้า เล่นสกี และล่องเรือคายักในน้ำตื้น ซึ่งเป็นการสอนให้รู้จักทำอะไรได้ด้วยตัวเอง “พวกครูสอนวิธีการทำแล้วพูดว่า เอาล่ะ เธอต้องลงมือทำแล้วล่ะ โลกทั้งโลกเปิดให้กับเรา ถ้าเรารู้หลักและวิธีการ”

     เธอเก็บเอาหลักการสอนลักษณะนี้มาสอนนักเรียนทิเบตที่โรงเรียนของเธอ พวกเขาจะมีกิจกรรมภาคสนามอยู่เสมอ เมื่อปีที่แล้วเธอพานักเรียนของเธอไปล่องแพน้ำตื้น และปีหน้ามีโครงการจะไปปีนเขาหิมาลัย หลักสูตรการเรียนการสอนที่โรงเรียนนี้จะเน้นไปในเรื่องทักษะการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การทำอาหาร การทำความสะอาดร่างกาย การดูแลตัวเอง และสอนวิชาทั่วไป เช่น คอมพิวเตอร์ ภาษาทิเบต ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ รวมทั้งวิชาชีพอย่าง การนวดบำบัดและดนตรี โดยมีจุดประสงค์หลักคือการค่อยๆซึมซาบความมั่นใจในตัวเอง และความเคารพตัวเองให้กับนักเรียน เพื่อพวกเขาจะได้เลิกรู้สึกอับอายที่เป็นคนตาบอด

     “ฉันอยากจะสร้างศูนย์ฝึกหัดที่นักเรียนตาบอดทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะได้รับการฝึกด้านเทคนิคและวิชาการต่างๆ แต่ที่นอกเหนือไปจากนั้นและเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าคือการทำให้เขามั่นใจในตัวเอง” ซาเบรียกล่าว

     เธอเปิดโรงเรียนประจำสำหรับคนตาบอดโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียนแห่งนี้ในปี 1998 เริ่มต้นด้วยครูหนึ่งคน กับนักเรียน 6 คน พวกเขาเคยถูกไล่ออกจากอาคารเรียนหลังจากเริ่มการเรียนการสอนไม่นานนัก เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า เรื่องเงินยังคงเป็นปัญหาให้ต้องขบคิดจนถึงทุกวันนี้ ค่าใช้จ่ายของโรงเรียนในหนึ่งเดือนสูงถึง 1900 ดอลลาร์ โชคยังดีที่รายได้ส่วนหนึ่งมาจากการขายหนังสือซึ่งเธอเขียนจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น (หรือที่เธอทำขึ้น) ในชีวิตของเธอ ชื่อว่า "My Path Leads to Tibet " (เส้นทางของฉันมุ่งสู่ทิเบต) ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้การกล่าวขวัญถึงว่าเป็นหนังสือซึ่งเล่าเรื่องอันสะท้อนถึงผลของความคิดด้านบวกที่ไม่น่าเป็นไปได้ที่สุด แต่ก็ได้เป็นไปแล้ว เป็นแรงบันดาลใจที่ดีแห่งยุคสมัย

     หนังสือของเธอติดอันดับขายดีในประเทศเยอรมัน และได้รับการแปลไปแล้วสิบเอ็ดภาษา เช่น ฝรั่งเศส อิตาเลียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สเปน เป็นต้น เงินจากยอดขายและค่าลิขสิทธิ์ของหนังสือเล่มนี้ช่วยให้ซื้ออาคารเรียนที่ใช้ในปัจจุบันได้ นอกจากนั้นยังได้จากเงินบริจาคจากเยอรมันนี เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ หรือไม่ก็ผ่านมาทางเวบไซต์ //www.braillewithoutborders.org ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรการกุศลของเธอไว้อย่างละเอียด รวมทั้งความมุ่งมั่นที่จะสร้างเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ที่เบาลงและถูกขึ้นเพื่อขจัดขอบแดนของคนตาบอดให้หายไปทีละด้านสองด้าน

     ในพื้นที่แถบเทือกเขาหิมาลัยซึ่งรู้จักกันในาม “หลังคาโลก” เป็นพื้นที่สูงทำให้ดวงอาทิตย์ส่องแสงมาถึงแรงกว่าพื้นที่อื่นและเป็นเหตุให้เกิดโรคทางสายตา อีกทั้งสภาพสุขอนามัยอันย่ำแย่และอาหารการกินที่ขาดแคลนของคนในท้องถิ่น เหล่านี้ทำให้จำนวนคนตาบอดในทิเบตมีสูงถึงสามหมื่นสามพันคนต่อจำนวนประชากรเพียงสองล้านหกแสนสองหมื่นคน เด็กตาบอดบางคนไม่สามารถเดินได้เพราะพ่อแม่ไม่สอน หนำซ้ำยังถูกมัดไว้ที่เตียงไม่ให้ออกจากบ้านตั้งแต่เด็กเนื่องจากพ่อแม่หลายคนอับอายที่มีลูกตาบอด

     "สิ่งแรกที่ฉันเรียนรู้เมื่อแรกเข้าโรงเรียนนี้ คือ อย่าเสียใจที่เป็นคนตาบอด " คิอิยา อายุ 17 ปี นักเรียนคนหนึ่งกล่าว เธอมาจากหมูบ้านเล็กๆทางเหนือของทิเบต ก่อนหน้าจะมาเข้าเรียน เธออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ “พ่อแม่ของเราดีใจมาก พวกเขาพูดว่า ถึงลูกจะตาบอดแต่ลูกก็ยังได้เรียน” ตอนนี้เธอเรียนจบแล้ว และมีโครงการเปิดร้านนวดเพื่อการบำบัด ขณะที่น้องชายฝาแฝดของเธอซึ่งตาบอดเช่นเดียวกัน ชื่อ จามปา และดอร์จี ซึ่งเรียนสำเร็จแล้วเช่นกัน ตั้งใจจะเปิดร้านน้ำชา “เราจะชงกาแฟและชาเขียวให้กับแขกชาวต่างชาติ สำหรับคนทิเบต เราจะชงชาหวานและชาเนยให้ดื่ม” พ่อของพวกเขาจะเลิกทำนาแล้วมาช่วยพวกเขาดูแลร้านในเมืองลาซา ซึ่งจะสร้างขึ้นด้วยเงินทุนจำนวน 1 000 ดอลลาร์ ที่พวกเขาได้รับจากโรงเรียนและจากเงินบริจาค

     ทุกวันนี้ ที่โรงเรียนเบรลล์ วิธเอาท์ บอร์เดอร์ ที่เมืองลาซา มีนักเรียนประจำทั้งสิ้น 30 คน ทั้งเด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 4 ถึง 22 ปี อาจารย์หลายคนเป็นคนทิเบตและเมื่อไม่นานมานี้ทางโรงเรียนเพิ่งเริ่มผลิตเนยแข็งได้ และมีโครงการพานักเรียนออกท้องไร่ท้องนา พวกนักเรียนจะได้ฝึกทำงานในสถานที่จริงเพื่อให้สามารถกลับไปอยู่ร่วมสังคมคนตาดีได้อย่างมีคุณค่า ต้นปีหน้าโรงเรียนเบรลล์ วิธเอาท์ บอร์เดอร์แห่งที่สองจะเปิดที่ภาคเหนือของอินเดีย ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการขยายงานไปในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆต่อไปตามวัตถุประสงค์หลักขององค์กรเล็กๆที่จุดมุ่งหมายไม่เล็กเลย

     เมื่อทุกอย่างกระจ่างชัดว่าแม้จะเป็นคนตาบอดแต่ก็สามารถทำเกือบทุกสิ่งที่คนตาดีทำได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือความมั่นใจในตัวเองและความตั้งใจเท่านั้น แล้วคนตาดีที่อ่านอยู่จะนิ่งรอเฉย ไม่ลงมือทำอะไรดีๆในชีวิตได้ลงคอหรือไร

ข้อมูลจาก Marie claire France mai 04
ข้อมูลเพิ่มเติม //braillewithoutborders.org







 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2550 14:15:11 น.
Counter : 924 Pageviews.  

Beyond Olympic : Olimpick

Beyond Olympic : Olimpick เหนือโอลิมปิค ยังมี โอลิมปิ๊ก


     ใครๆก็คงรู้ว่าเดือนสิงหาคมปีนี้ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน (Summer Olympic Games) จะจัดขึ้น ณ ประเทศกรีซ บ้านเกิดของการแข่งขันระดับโลกรายการนี้ แต่คงมีไม่กี่คนรู้ว่า งานแข่งขันกีฬาโอลิมปิ๊ก (Olimpick Games) ประจำปีนี้จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน คือในเดือนนี้แหล่ะ ส่วนสถานที่จัดงานก็เดิมๆเหมือนทุกปี คือ ที่เมืองชิปปิง แคมป์เดน ประเทศอังกฤษ

     ชิปปิง แคมป์เดน (Chipping Campden – ชาวเมืองเขาเน้นนักเน้นหนาว่าของแท้ต้องมีตัว p หลังตัว m ในคำว่า Campden คาดว่ามีคนเขียนผิดบ่อย เลยต้องรีบบอกกันไว้ก่อน) เป็นเมืองเล็กๆน่ารักแต่ไม่ธรรมดาเลยสักนิด ด้วยมีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ย้อนไปได้ถึงยุคกลางเลยทีเดียว เมืองแห่งนี้สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวมาแล้วมากมายจากการที่คนในเมืองนี้ใส่ใจดูแลบ้านและเมืองของตนให้สวยงามมีเอกลักษณ์จนเลื่องลือ

     ลักษณะของอาคารบ้านเรือนที่นี่เป็นบ้านแบบเก่าทำด้วยหินตามสไตล์เมืองบ้านนอกโบราณของอังกฤษ ในเมืองนี้มีบ้านแบบอังกฤษในสมัยต่างๆให้เยี่ยมชมมากมาย ย้อนไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ทั้งสถาปัตยกรรมยุคกลาง เอลิซาเบเทียน จอร์เจียน จาคอเบียน รีเจนซี จนถึงแบบวิคตอเรียน รวมกันอยู่ในเมืองเล็กๆแห่งนี้แห่งเดียว กลางใจเมืองมีถนนเส้นหลักแบบ high street อันเป็นถนนแบบที่ลาดขึ้นเนินและมีร้านค้าบ้านช่องเรียงกันไปตามรายทางที่ถือว่าสวยงามสมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่ง ชื่อว่าถนนไฮ สตรีท (ก็คงเหมือนที่เราเรียกสะพานแขวนว่าสะพานแขวนมั้ง) มีคนพูดว่า เวลาเดินขึ้นถนนเส้นนี้ไปจะมีความรู้สึกเหมือนเดินย้อนกลับไปในอดีต ชาวเมืองที่นี่รู้ซึ้งถึงคุณค่าของความงามของบ้านเมืองตนและพยายามคงรูปแบบดั้งเดิมไว้ไม่เแต่งเติมแบบไร้ทิศทาง จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมืองเล็กๆแห่งนี้ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นหมู่บ้านที่สวยที่สุดในอังกฤษ

     แค่เพียงบ้านเรือนแปลกตาน่ารัก เมืองสะอาดสวยงามมีเอกลักษณ์น่าเยี่ยมชมก็คงจะไม่เท่าไหร่ สิ่งที่น่าทึ่งไปกว่านั้นก็เห็นจะเป็นการจัดเทศกาลมีการละเล่น การแข่งขัน การประกวด งานออกร้านกลางแจ้ง อย่างที่เคยจัดมาในอดีตตลอดทั้งปี โดยทุกคนในเมืองรวมทั้งจากเมืองข้างเคียงพากันมาร่วมกิจกรรมลงเล่นแข่งขันด้วยกายและใจเหมือนสมัยที่ปู่ย่าตายายเคยทำมิใช่เพียงการจัดฉากหลอกขายของเอาเงินคนหลงทางผ่านมา

     หนึ่งในกิจกรรมต่างๆของชาวเมืองนี้และถือเป็นงานเฉลิมฉลองใหญ่ประจำฤดูร้อนของเมือง คือ Robert Dover’s Olimpick Games ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายโรเบิร์ต โดเวอร์ (ค.ศ1582-1652) ผู้ริเริ่มจัดงานนี้เมื่อสามร้อยกว่าปีที่แล้ว งานครั้งแรกจัดขึ้นในปี ค.ศ 1612 โดยได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดงานอย่างเป็นทางการจากพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง สถานที่จัดในครั้งนั้นคือ เนินเขาโดเวอร์ (Dover Hill) ข้างๆเมืองชิปปิง แคมป์เดน บริเวณเดียวกับที่จัดงานในปัจจุบัน

     การแข่งขันสมัยแรกๆประกอบด้วยเกมประลองทักษะของร่างกายทั้งด้านพละกำลัง ความแม่นยำ และความอึด บางเกมรุนแรงหวาดเสียวถึงเลือดตกยางออก อย่างเช่นการแข่งขันฟันดาบและเตะหน้าแข้ง รวมทั้งเกมหมูสู้หมี ซึ่งปล่อยหมูกับหมีมากัดกันจนกว่าจะล้มไปข้างนึง

     ต่อมาในปัจจุบัน เกมเหล่านี้ก็ถูกตัดออกการแข่งขันไปหรือไม่ก็ถูกปรับกติกามารยาทให้ลดความรุนแรงลงตามมาตรฐานสังคมปัจจุบันไม่ให้ดูเป็นเกมป่าเถื่อนเกินไป คงเหลือไว้แต่การแข่งขันกีฬาแบบโบราณเรียบง่ายแต่ยังเรียกเสียงเฮฮาโห่ร้องได้เหมือนเดิม เพราะคนมาร่วมงานดื่มกันเพียบ เมากันแปล้ ตามประสางานรื่นเริงสังสรรค์ของคนอังกฤษ

     คำว่า 'Olimpick' มีหลักฐานว่าถูกนำมาใช้เรียกงานแข่งขันงานนี้ครั้งแรก ในหนังสือ Annalia Dubrensia ตีพิมพ์ในปี ค.ศ 1636 มีกล่าวถึงทั้งในบทบรรณาธิการและในบทกวีในหนังสือทั้งสิ้นสิบแปดบท นอกจากนั้นหนังสือเล่มนี้ยังลงภาพวาดกิจกรรมต่างๆในงาน โดยมี Robert Dover ใส่ชุดพระราชทานจากพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งขี่ม้ายืนเด่นเป็นประธานของงานอยู่ในภาพ เป็นเพราะความหลากหลายของการแข่งขันที่รวบรวมมาประลองกันในงานนี้ กวีหลายคนจึงเปรียบการแข่งขันรายการนี้กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยุคเก่าซึ่งจัดขึ้นทุกๆสี่ปีในประเทศกรีซตั้งแต่ปี 776 ก่อนคริสตกาลจนถึงปี ค.ศ 396 ว่ากันว่า Pierre de Coubertin เจ้าของความคิดและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยุคใหม่ได้เดินทางมาชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิ๊กของโรเบิร์ต โดเวอร์และได้แรงบันดาลใจจัดการแข่งขันโอลิมปิกยุคใหม่ขึ้นในปี ค.ศ 1896

     ในวันงาน เริ่มจากพิธีเปิดการแข่งขันตอนเจ็ดโมงเช้า พิธีเปิดนอกจากจะสวยงามตระการตาน่าประทับใจแล้วยังเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวเมืองเพราะเป็นพิธีต้นแบบให้กับพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกด้วย พิธีเริ่มด้วยขบวนแห่แหน May Queen หรือเทพีเดือนพฤษภา (หญิงสาวที่ได้รับการแต่งตั้งสวมมงกุฎดอกไม้ในวันแรกของเดือนพฤษภาตามธรรมเนียมอังกฤษ) ไปยังประรำพิธีบนเนินเขาเพื่อจุดคบเพลิงเปิดการแข่งขัน มีประธานพิธีเป็นผู้ทรงเกียรติของเมืองแต่งตัวย้อนยุคเป็นโรเบิร์ต โดเวอร์ ในชุดพระราชทานอยู่บนหลังม้าพร้อมอัศวินผู้ติดตาม

     เมื่อจบพิธี การแข่งขันกีฬาก็เริ่มขึ้น ณ บริเวณที่ราบเชิงเขา ประเดิมรายการแรกด้วยการวิ่งกระสอบโดยมัดปากกระสอบที่คอผู้วิ่ง ส่วนผู้ชมก็ปักหลักนั่งกันบนลาดเขาชมและเชียร์การแข่งขันพร้อมไปกับชมทัศนียภาพอันสวยงามของหุบเขา

     หลังจากนั้นทีมนักกีฬาตัวแทนจากเมืองโดยรอบเข้าแข่งขันกีฬาแบบโบราณ ทั้งมวยปล้ำ ชักเย่อ พุ่งหลาว ปีนบันได (ลื่นๆ) ยืนกระโดดไกล ปาเป้า ขว้างค้อน ดึงรถบรรทุก และที่เพิ่มเติมมาเมื่อปีที่แล้วคือการงมโคลนหาทอง พระเอกของแข่งขันซึ่งถือเป็นรายการเด็ดของงานคือ การชิงแชมป์เตะหน้าแข้งแห่งชาติประจำปี (Shin kick Championship of Britain) กติกาเบาะๆสำหรับการแข่งขันในปัจจุบันคือ ผู้เข้าแข่งขันสองคนหันหน้าเข้าหากันเอาคางพาดบนไหล่ของคู่ต่อสู้และพยายามใช้ขาของตนเตะหน้าแข้งซึ่งพันด้วยฟางหรือผ้าไว้แน่นหนาของคู่ต่อสู้เพื่อตัดกำลังก่อนจะจับลำตัวของผู้เพลี่ยงพล้ำกดลงกับพื้น ชาวบ้านบอกว่ากติกานี้ลดความรุนแรงลงจากเดิมมากแล้ว เพราะสมัยก่อน ผู้เข้าแข่งขันจริงจังกับเรื่องแพ้ชนะระหว่างเมืองมากถึงกับมีการฝึกให้หน้าแข้งแข็งแกร่งด้วยการตีด้วยค้อนตีถ่านหิน (น่าจะเป็นทฤษฎีเดียวกับการฝึกนิ้วเหล็กด้วยการจิ้มทรายร้อนๆของวัดเส้าหลิน) ยิ่งไปกว่านั้นผู้เข้าแข่งขันในสมัยก่อนยังใส่รองเท้าบู๊ตหุ้มเหล็ก เวลาโดนเตะคงจะเจ็บไม่น้อยเลย

     หลังจากทีมผู้ชนะประจำปีการแข่งขันขึ้นรับถ้วยรางวัลและเหรียญเป็นแชมป์เปี้ยนประจำเนินเขาแล้ว ฝูงชนก็จะถือคบเพลิงเคลื่อนขบวนกลับไปที่จตุรัสกลางเมืองชิปปิง แคมป์เดน และเริ่มควงแขนเต้นรำแบบโบราณ เฉลิมฉลองดื่มกิน จุดพลุ ดอกไม้ไฟกันจนถึงดึกดื่นมืดค่ำ

     Olimpick ของชาวเมืองชิปปิง แคมป์เดนนั้นผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อยกว่า Olympic ของชาวกรีกเลย มีการเว้นช่วงขาดตอนการจัดงานไปภายหลังปี ค.ศ.1852 สองร้อยปีล่วงมาหลังการเสียชีวิตของนายโดเวอร์ในปี ค.ศ 1682 สาเหตุที่หยุดจัดก็เนื่องจากหุบเขาโดเวอร์ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานถูกปิด จนกระทั่งปี ค.ศ.1951 ซึ่งเป็นปีที่ทั่วประเทศอังกฤษจัดงาน Festival of Britain การแข่งขันรายการนี้ก็ถูกจับมาปัดฝุ่นแข่งขันกันอีกรอบ หลังจากนั้นก็มีการจัดงานนี้กันต่อมาแบบต่อเนื่องบ้างไม่ต่อเนื่องบ้างเรื่อยจนถึงปี ค.ศ.1965 และนับแต่นั้นมามีการจัดตั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจัดงานนี้อย่างจริงๆจังๆ เพื่อให้งานนี้มีขึ้นทุกๆปี Olimpick จึงรอดพ้นการถูกลืมเลือนไปได้อย่างหวุดหวิดโดยประการฉะนี้

     ถึงจะกระท่อนกระแท่นขาดๆหายไปบ้างแต่กระนั้นชาวเมืองก็ยังภาคภูมิใจเพราะเมื่อดูจากความต่อเนื่องและจำนวนครั้งในการจัดงานก็จะเห็นว่าบ่อยครั้งและยาวนานไม่แพ้รายการแข่งขันกีฬาอื่นใดเลย

     ครั้นถามชาวเมืองถึงเหตุผลที่จัดงานนี้ต่อไป คำตอบที่ได้ก็คือ - For the fun of it! (ก็มันสนุกดี)

     เหตุผลเรียบง่ายไม่ต้องลำบากสรรคำสวยๆแจงเป็นวัตถุประสงค์มานำเสนอให้ฟังเพราะๆ และน่าจะเป็นเหตุผลที่ไม่ไกลไปจากเหตุผลในการจัดครั้งแรกเมื่อสามร้อยปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นฟูกิจกรรมโบร่ำโบราณที่บรรพบุรุษคนสมัยก่อนทำกันมา ถ้าหากต้องการให้ยั่งยืนแท้จริง ต้องไม่ทำเพื่อ “โชว์” ชั่วครั้งชั่วคราว หรือถนอมเทิดทูนเหมือนเครื่องถ้วยชามสังคโลกตั้งฝุ่นจับในตู้กระจก แต่เป็นการ “ใช้” จานชามให้ตรงตามประโยชน์ หรือสนุกไปกับมันด้วยใจจริงเหมือนที่คนสมัยก่อนเค้าทำกัน

     และถ้าจานเก่าๆใบไหนไม่เหมาะกับการใช้งานในปัจจุบัน เราก็มีสิทธิ์ดัดแปลงปรับแต่งหรือแม้แต่ลงมือปั้นจานของยุคเราขึ้นมาใหม่ได้

ที่มา : “Oddball Olympics” in the Apr. 12, 2004 issue of TIME Europe magazine
ข้อมูลเพิ่มเติม : //www.olimpickgames.co.uk , //www.chippingcampden.co.uk , //www.chipping-campden.net







 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2550 2:10:57 น.
Counter : 862 Pageviews.  

Printemps des Poètes

Printemps des Poètes (ฤดูใบไม้ผลิแห่งบทกวี)


     เช้าวันหนึ่งในต้นฤดูใบไม้ผลิ อากาศสดใสด้วยแสงแดดอ่อนๆ ฤดูหนาวอันเย็นเยียบผันผ่านไปแล้ว เปิดทางให้กับฤดูกาลแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ๆหมุนเวียนมาอีกรอบ ฤดูใบไม้ผลินำสีสันของดอกไม้และสายลมบางเบามาทำให้รู้สึกว่าโลกนี้ไม่ได้โหดร้ายหนาวเหน็บอยู่ตลอดเวลา เมื่อตื่นนอนขึ้นมาเปิดวิทยุ ก็แว่วเสียงกวีคนโปรดร่ายกลอนให้ฟังเพิ่มรสละมุนละไมให้อาหารเช้า ออกไปเปิดกล่องรับจดหมายหน้าบ้าน ก็เจอบทกลอนกินใจจากผู้ส่งนิรนามปะปนมากับแคทตาล๊อกจากซุปเปอร์มาเก็ต ใบทวงหนี้จากการประปา การไฟฟ้า โทรศัพท์ และบัตรเครดิต หลังจากนั้นก็หยิบกลอนที่เขียนขึ้นเมื่อคืนมาอ่านอีกรอบก่อนจะบรรจงสอดใส่ซอง ตั้งใจว่าเย็นนี้จะเอาไปติดบน กำแพงบทกวี ในเมืองให้คนทั่วไปร่วมชื่นชม ก่อนที่จะไปงาน ปาร์ตี้ร่ายลำนำ ที่จัดขึ้นที่บ้านของเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งในงานเลี้ยงนี้จะมีกวีรับเชิญมาอ่านกลอนและแลกเปลี่ยนความเห็นเสวนาปราศรัยกับนักรักเพลงกลอนที่มาในงานเลี้ยง

     ออกจากบ้าน เดินผ่าน ต้นไม้แห่งบทกลอน เห็นเด็กนักเรียนจากโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในละแวกนั้นกำลังขมีขมันช่วยกันประดับต้นไม้ด้วยบทกลอนที่เขียนลงกระดาษแผ่นเล็กๆสีสันสดใส เดินต่อไปผ่านกระจกร้านค้าก็เห็นบทกวีสอดแทรกอยู่ในการประดับตกแต่ง เดินต่อไปเรื่อยๆก็สะดุดตากับป้ายชื่อถนนและนึกถึงคำพูดของพิธีกรรายการโทรทัศน์ที่ดูเมื่อคืนที่บอกว่า ชื่อถนนนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติกับกวีผู้ล่วงลับ อืม..แถวบ้านเราก็เคยมีกวีอาศัยอยู่เหมือนกัน ดีจัง

     เมื่อลงไปในสถานีรถไฟใต้ดิน ระหว่างที่รอรถไฟอยู่ ก็ฆ่าเวลาด้วยการอ่านโปสเตอร์ซึ่งตีพิมพ์บทกวีอมตะของกวีเลื่องชื่อบนป้ายที่ปกติจะเป็นป้ายโฆษณายั่วกิเลสให้ควักกระเป๋าจ่ายเงิน ขณะที่นั่งในรถไฟก็เหลือบเห็นคนที่นั่งข้างๆกำลังซึ้งกับบทกลอนที่ตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์ พอถึงที่ทำงาน เปิดเช็คเมล์ มีเพื่อนส่งเมล์มาชวนไปงานอ่านกลอนที่นักร้องคนโปรดจะไปร่วมอ่านด้วย คลิ๊กไปเปิดเวบไซต์ของเทศบาลเมืองที่จัดประกวดกลอนเพื่อดูว่ามีกลอนใหม่ๆส่งเข้ามาร่วมประกวดบ้างหรือเปล่า แล้วกลอนของเราได้คะแนนโหวตเพิ่มขึ้นบ้างมั้ยเนี่ย

     เพื่อนร่วมงานที่นั่งข้างขวาเล่าให้ฟังว่าเมื่อคืนไปงานเทศกาลหนังเกี่ยวกับกวีมา ส่วนคนที่นั่งข้างซ้ายบอกว่าเมื่อคืนไปดูละครที่โรงละครและได้ดูละครประกอบการฟังนักแสดงอ่านกลอนด้วย คนที่นั่งข้างหน้าไปร้านหนังสือใกล้บ้านที่จัดงานพบกวี ส่วนคนที่นั่งข้างหลังไปดูนิทรรศการศิลปะเชิดชูกวีร่วมสมัยคนหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่มา

     ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศฝรั่งเศสในช่วงเจ็ดวันของเทศกาล Printemps de Poètes หรือ เทศกาลฤดูใบไม้ผลิแห่งบทกวี ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปีภายในช่วงหนึ่งอาทิตย์ใดอาทิตย์หนึ่งของเดือนมีนาคม โดยช่วงนั้นที่ประเทศฝรั่งเศสกำลังหมดหน้าหนาวเตรียมตัวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิพอดี

     งานระดับชาติงานนี้เป็นความคิดริเริ่มของเมอร์ซิเออร์ Jack Lang ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสารของประเทศฝรั่งเศสในปี 1999 อันเป็นปีแรกที่มีการจัดงานนี้ขึ้น แม่งานของงานนี้คือกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสาร กระทรวงศึกษาและเยาวชน สำนักงานการศึกษาแห่งชาติ โดยได้รับความร่วมมือเพิ่มขึ้นทุกปีๆจากชมรมคนรักกลอนต่างๆทั่วประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ โรงภาพยนต์ โรงละคร ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ร้านหนังสือ โรงเรียน มหาวิทยาลัย และองค์การขนส่งมวลชน

     วัตถุประสงค์ของงานนี้คือเพื่อทำนุบำรุง กวีวรรณศิลป์ และเชิดชูนักกลอน เพื่อให้บทกลอนเข้ามาสู่ชีวิตประจำวัน ให้ประชาชนได้ชื่นชมคุณค่าบทกวี โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆจัดขึ้นในเมืองของตน ไม่เว้นแม้แต่ในคุกต่างๆที่ถือโอกาสนี้กล่อมเกลาจิตใจและเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ซาบซึ้งไปกับบทกวี รวมไปถึงหน่วยงานฝรั่งเศสอย่างสมาคมฝรั่งเศส โรงเรียนฝรั่งเศส และสถานทูตฝรั่งเศสที่ร่วมกันจัดกิจกรรมร่วมงานนี้ในช่วงเวลาเดียวกันตามประเทศต่างๆ โดยในประเทศไทยได้มีการจัดงานนี้ขึ้นปีนี้เป็นปีแรกที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ

     ในทุกๆปี หัวข้อหลักของงานจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และจะเป็นหัวข้อของการจัดประกวดกลอนด้วย อย่างปี 2000 เป็นชื่อหัวข้อ “Poésie en liberté กลอนกวีอันอิสระ” ส่วนปีนี้ 2004 หัวข้อคือ “ Espoir - ความหวัง” ในบางปีก็จะมีหัวข้อพิเศษเข้ามาเช่น ปี 2002 เป็นปีที่ครบสองร้อยปีการกำเนิดของวิกโต ฮูโก นักเขียน-กวี ผู้ยิ่งใหญ่แห่งชาติฝรั่งเศส มีการอ่านผลงานของวิกโต ฮูโก แบบมาราธอนยี่สิบสี่ชั่วโมงในหลายๆเมืองทั่วประเทศฝรั่งเศส และในแต่ละปีจะมีการรวบรวมรายชื่อกวีและผลงานของกวีที่สาบสูญเพื่อเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐานข้อมูลให้สืบค้นในภายภาคหน้าด้วย

     ในคืนแรกจะมีการเปิดงานอย่างเป็นทางการที่ยิ่งใหญ่ด้วยการอ่านบทกวี โดยกวีและผู้มีชื่อเสียง นักร้อง นักแสดง ในสวนบริเวณห้องสมุดแห่งชาติ บรรยากาศในคืนนั้นจะเรียบง่ายแต่อลังการเพื่อทำให้ผู้ร่วมในงานได้รู้สึกถึงความงามของถ้อยคำ และพลังของสารที่สื่อออกมาผ่านบทกลอน ตลอดช่วงหนึ่งสัปดาห์นั้น ประชาชนทุกคนสามารถร่วมเป็น ผู้นำสาส์นกวี ซึ่งสาส์นนั้นอยู่ในรูปแบบของโปสเตอร์

     โปสการ์ดขนาดต่างๆที่สามารถติดต่อขอรับได้ฟรีจากผู้จัดงาน และสามารถดาวน์โหลดได้จากเวบไซต์ของงานนี้ ทุกคนที่สนใจจะช่วยกันแจกจ่ายบทกวีนั้นๆโดยไปวางในสถานที่สาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ตลาด กล่องรับจดหมายตามบ้าน เคาท์เตอร์ร้านค้าต่างๆ

     ในระหว่างงานจะมีการจัดประชุมเสวนาผู้ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงกวี หนังสือ และเชิญกวีต่างๆมาให้ความเห็น และข้อเสนอแนะในการหาทางทำนุบำรุงวงการกลอนกวี มีการเชิญกวีชาวต่างประเทศมาร่วมงาน เพื่อเชิดชูและเผยแพร่ผลงาน และกวีชาวฝรั่งเศสจะได้รับเชิญไปในงานที่จัดให้ประเทศต่างๆเพื่อสานสายสัมพันธ์อันดีในวงการกวีโลกต่อไป

     ครั้นสัปดาห์ที่มีงานผ่านไป แต่งานก็ไม่ได้จบลงแค่มีสำนักพิมพ์สลับสับเปลี่ยนกันมาช่วยพิมพ์ผลงานต่างๆที่เข้าร่วมในงานเพื่อเผยแพร่เท่านั้น ตามโรงเรียนในทุกระดับชั้นจะมีกิจกรรมที่ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี เพื่อเตรียมการประกวดเขียนกลอนสำหรับเข้าประกวดในปีต่อไป โดยให้นักเรียนร่วมส่งกลอนเข้าประกวดในระดับโรงเรียนก่อนและแต่ละโรงเรียนจะแลกเปลี่ยนกลอนกันผ่านเวบไซต์อินเตอร์เน็ต และตั้งคณะกรรมการเพื่อลงคะแนนตัดสิน นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้นักเรียนและนักศึกษาจัดกิจกรรมแปลบทกลอนภาษาต่างประเทศและแลกเปลี่ยนบทกลอนกับเพื่อนต่างชาติด้วย

     โอ้…ฟังแล้วช่างสวยหรู ดูราวกับว่าแวดวงกลอนกวีในประเทศฝรั่งเศสนั้นเฟื่องฟูรุ่งเรืองสะดวกดายจนน่าอิจฉา แต่เปล่าเลย ไม่มีงานยิ่งใหญ่งานใดที่จะเนรมิตให้สำเร็จลงได้เพียงชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเกี่ยวกับกลอนกวีที่คนทั่วไปแค่ได้ยินชื่อก็ขอผ่านแล้ว ผู้จัดงานเองก็ยอมรับว่าการกระตุ้นให้คนทั่วไปมาสนใจงานนี้นั้นต้องใช้เวลาและความอดทน แต่ก็ยังน่าชื่นใจที่มีหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือมากขึ้นทุกปี ก่อนหน้าที่จะมีการจัดงานระดับชาตินี้ แวดวงกลอนกวีของฝรั่งเศสจำกัดอยู่ในวงแคบ ซบเซาและขาดคนสนใจจริงๆจัง หน่วยงานต่างๆก็ต่างคนต่างทำกันไปไม่มีใครสนใจใคร (เหมือนประเทศไหนหว่า) และถึงแม้จะมีการจัดงานนี้ถึงหกครั้งแล้ว ผู้จัดงานก็ยังมุ่งหวังให้มีกิจกรรมที่หลากหลายกระจายออกไปอย่างทั่วถึง และมีผู้สนใจร่วมงานเพิ่มขึ้นอีกในปีต่อๆไป ทั้งยังตั้งใจจะขยายกิจกรรมนี้ให้เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วทวีปยุโรป

     เมื่อเห็นกิจกรรมที่บ้านอื่นเมืองอื่นเค้าตั้งใจทำอย่างนี้ ก็ให้รู้สึกว่าเรื่องดีๆแบบนี้มันสำคัญที่ว่าคนในชาติจะสามารถคิด และรวบรวมพลังความรักบทกวีที่ซ่อนเร้นอยู่ในหลืบต่างๆออกมาได้มากขนาดไหน ขอบังอาจสรุปว่า ความร่วมมือกันเป็นหัวใจของงานนี้ แล้วก็เลยพลอยอยากจะกระซิบผ่าน (ถึงใครดีหว่า) ว่า

     หาเคยมีคำว่าสาย หากใคร่ริเริ่ม แลร่วมลงมือทำ มิใช่ฤา ท่านเอย

- ที่มา : โปสการ์ดบทกวีใบหนึ่งซึ่งจัดพิมพ์โดยผู้จัดงานนี้ที่ได้รับแจกมาโดยบังเอิญ
- ข้อมูลเพิ่มเติม : //www.printempsdespoetes.com, //www.poesie-en-liberte.org
- ขอขอบคุณ : Mr. Fabien REYMONDON หัวหน้าศูนย์ข้อมูล-ห้องสมุด สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ







 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2550 1:55:11 น.
Counter : 1158 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.